พาใจไปพักร้อน
Holistic
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ : zembe
ช่วงที่เกิดภาวะวุ่นวายสับสน ในหัวเรามักเต็มไปด้วยเรื่องราว “ร้อยแปดพันเก้า” สุมกันแบบจับต้นชนปลายไม่ถูก แม้จะรู้ว่ามีบางอย่างผิดปรกติ แต่ก็ยากจะมองหาจุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุด เหมือนเส้นด้ายกองมหึมาที่สุดท้ายก็ทำให้เรา “จม” อยู่ตรงนั้นเอง
ในทางร่างกาย หากทำงานหนักจนเหนื่อยล้า คนส่วนใหญ่มักเลือกวิธีไปพักร้อน บางคนไปเที่ยวต่างประเทศ บ้างไปเที่ยวป่าเที่ยวเขา แต่ถ้าระหว่างวันหยุดนั้นมีกิจกรรมแน่นทุกวัน ออกเดินทางเย็นวันศุกร์ กลับถึงบ้านเช้าวันเริ่มงาน แม้ใจจะได้พัก แต่ร่างกายกลับถูกใช้งานอย่างหนัก จึงไม่ดีต่อสุขภาพโดยรวม
มนุษย์เรานั้นหากมีเรื่องราวในใจมากเกินไป เมื่อถึงเวลาก็ต้อง “รีเซต” ใจใหม่ เหมือนการตั้งค่าเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือให้กลับไป ณ จุดเริ่มต้นตอนออกจากโรงงาน คือไม่มีข้อมูลอะไรเลย ยกเว้นโปรแกรมพื้นฐาน
สำหรับผู้ผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากมาย การรีเซตใจหรือ “ทำใจให้ว่าง” ไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนรู้ต้นเหตุที่ทำให้ว้าวุ่น แต่ไม่รู้จะหยุดคิดอย่างไร บางคนรู้ดีว่าการจมอยู่กับโซเชียลมีเดียและโทรศัพท์มือถือทำให้เสียสุขภาพกายและใจ แต่ไม่รู้จะเลิกอย่างไร ทุกครั้งที่เห็นโทรศัพท์ต้องหยิบมาดูพอไม่เห็นก็นึกถึงและหยิบมาดู แล้วก็ปล่อยใจหลงไปในทะเลข้อมูลข่าวสาร บางครั้งสนุกจนหัวเราะ บ้างเศร้าจนน้ำตาซึมมารู้ตัวอีกทีเมื่อเวลาผ่านไปเป็นชั่วโมง แล้วก็ปล่อยเลยตามเลย
ภาวะเช่นนี้ต้องมี “ตัวช่วย” ขั้นแรกเริ่มจากหาเครื่องมือช่วยเตือนสติตัวเอง อาจทำข้อตกลงกับคนใกล้ตัวว่าถ้าเห็นเราเล่นโทรศัพท์นานเกินครึ่งชั่วโมงให้ส่งสัญญาณเตือน หรือตั้งแอปพลิเคชันเตือนโดยการตั้งเวลาหรือตั้งเสียงเตือนแบบสุ่ม
อย่างไรก็ตามจิตใจเรามักมีกลไกปกป้องตัวเอง บ้างบอกว่า “ไม่เป็นไร” “อีกนิด” บ้างมีกลไกเฉไฉ ผละจากหน้าจอมือถือ หันไปหยิบแท็บเลตเพื่อเริ่มกิจกรรมเสพสื่ออีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งบ่อยครั้งสามารถ “หลอกตัวเอง” ได้ผล
แน่นอนว่าการบังคับตัวเองเป็นสิ่งดีที่สุดถ้าทำได้ แต่มีคนไม่น้อยที่จิตใจไม่มุ่งมั่น ไม่เข้มแข็ง ไม่มีวินัยมากพอ ก็มักล้มเหลว ด้วยเหตุนี้จึงมีองค์กรหรือสถาบันที่ทำหน้าที่ดูแลควบคุม อย่างเช่น ศูนย์อดเหล้า ศูนย์บำบัดยาเสพติดอื่น ๆ ซึ่งการเข้าสู่กระบวนการดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จหากผู้เข้าบำบัดเห็นพ้องแต่แรก
ในบ้านเรามีศูนย์ช่วย “ลด ละ เลิก” โซเชียลมีเดียที่ได้ผลชะงัด และยัง “รีเซต” หรือ “ดีท็อกซ์” ใจได้ดี คือวัดหรือศูนย์ปฏิบัติธรรมที่มีข้อกำหนดเข้มข้นและเคร่งครัด เหตุที่ต้องเลือกศูนย์ปฏิบัติธรรมลักษณะนี้ เพราะในคนที่ “จิตไหล” เกินจะเอาอยู่ บางครั้งก็ต้องใช้มาตรการบังคับให้อยู่ในกฎระเบียบบ้าง
ผู้เขียนเคยไปศูนย์ปฏิบัติธรรมที่กำหนดให้เข้าปฏิบัติครั้งละ ๑๐ วัน มีข้อกำหนดห้ามพูดคุยหรือส่งภาษากายต่าง ๆ เพื่อสื่อสารกัน เช่นส่งสายตาหรือภาษามือ ยกเว้นเป็นเรื่องจำเป็น การนอนในห้องเดี่ยว มีเวลาปฏิบัติชัดเจน ที่สำคัญคือทุกคนต้องฝากโทรศัพท์มือถือและเครื่องมือสื่อสารไว้ที่ผู้ดูแล โดยระหว่างนั้นไม่สามารถขอใช้โทรศัพท์มือถือได้
ช่วงวันแรก ๆ เรามักนึกถึงเรื่องราวและผู้คนที่เราพูดคุยด้วย หรือห่วงใยคนใกล้ชิด ว่าเขาจะเจ็บป่วยหรือเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือไหม สถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองจะเป็นอย่างไร แต่พอเวลาผ่านไปในวันที่ ๓-๔ เราแทบจะลืมนึกถึงโทรศัพท์มือถือและเรื่องราวเหล่านั้นไปเลย
เมื่อไม่มีเรื่องใหม่ใส่เพิ่มเข้ามา เราก็มีโอกาสใคร่ครวญถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต หรือพุ่งความสนใจไปที่การปฏิบัติ เช่น ดูความเคลื่อนไหวของร่างกาย ดูลมหายใจ
การปฏิบัติธรรมไม่ได้ทำให้ “จิตว่าง” อย่างสิ้นเชิง แต่จะช่วยให้เกิด “สติ” หรือ “สมาธิ” ขึ้นได้ ซึ่งถือเป็น “เชื้อเพลิง” “อาวุธ” หรือ “พลัง” ที่ทำให้เรารับมือกับเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สเตฟาน จอปพิช เขียนประสบการณ์ “เคลียร์หัว” หยุดพักจากกิจวัตรการงานไป “ยาตรา” บนเส้นทาง “ซานติอาโก เดกอมโปสเตลา (Santiago de Compostela)” เส้นทางศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาคริสต์ ในประเทศสเปนเป็นเวลา ๙ วัน เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง เขาบอกว่าได้สัมผัสความรู้สึกแปลกใหม่ รู้สึกสะอาดสดชื่นเหมือนได้อาบน้ำชำระล้างร่างกายและจิตใจเป็นเวลาต่อเนื่องนานนับสัปดาห์ และเป็นวันที่มีความสุขและสงบที่สุดในชีวิต
เขากล่าวว่า “การพักร้อนแบบสั้น” ที่ตัดตัวเองออกจากหน้าที่การงานและภารกิจประจำเป็นการฟื้นฟูตัวเองที่ดี ได้พักทั้งร่างกายและจิตใจ เกิดภาวะ “สมองโล่ง” มีความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นมากมายคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและการงานมักมีช่วงเวลา “พักสั้น ๆ” ทั้งนั้น เช่น บิลล์ เกตส์ เจ้าของบริษัทไมโครซอฟท์จะหยุดพักร้อนไปอยู่เคบินในป่าปีละสองครั้ง บางคนเข้าคอร์สโยคะ ไปเดินป่า ปฏิบัติธรรม เหล่านี้ล้วนเป็นวิธี “เคลียร์หัว”
ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล อะไรก็ได้ที่ทำให้ใจสงบ ไม่ว้าวุ่น
✱ ไม่ต้องวางแผนหรือเตรียมการมากนัก ในช่วงนั้นเลือกทำเฉพาะสิ่งสำคัญ “ทำเท่าที่ทำได้” และตัดสิ่งไม่จำเป็นออกไปให้มากที่สุด
✱ หา “ที่ไป” ซึ่งต่างจากที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานประจำ โดยต้องเป็นสถานที่ที่กันเราออกจากวิถีชีวิตและความคิดประจำวัน
✱ “ตัดสัญญาณการสื่อสาร” การเคลียร์หัว จะล้มเหลว หากเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและเปิดโทรศัพท์มือถือ เพราะคุณยังเปิดช่องทางให้เจ้านาย ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หรือคนใกล้ชิดติดต่อสั่งการ ดังนั้นต้องปิด สัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ โดยกำหนดตัวเองให้เช็กข้อมูลข่าวสาร
สำคัญเพียง ๒-๓ วันครั้ง ครั้งละ ๓-๕ นาทีก็พอ
✱ หาสถานที่ที่ “สัปปายะ” สงบสบายร่มเย็น โลกยุคปัจจุบัน แม้เราจะปิดโทรศัพท์มือถือ แต่ถนนหนทางก็เต็มไปด้วยสื่อโฆษณาทั้งภาพและเสียง สถานที่ที่เงียบสงบจะช่วยตัดการรับรู้ข่าวสารใหม่ ๆ สู่สมองได้ เปิดโอกาสให้เรารับฟังเสียงของความคิด
และร่างกายเพิ่มมากขึ้น เมื่อจะ “พักใจ” ก็ควรตั้งเป้าว่าจะรับเรื่องใหม่ ๆ ให้น้อยที่สุด
✱ “อาบป่า” “อาบธรรมชาติ” งานวิจัยพบว่าการอาบป่าทำให้เราได้รับพลังทางกายภาพ เช่น จุลินทรีย์หรือฮอร์โมนในป่าที่ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ฮอร์โมนเครียดลดลง ฮอร์โมนความสุขเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อจิตใจไปพร้อม ๆ กัน
✱ “กายและใจเดินไปด้วยกัน” เช่น เดินอย่างมีสติ เล่นโยคะอย่างมีสติ เป็นต้น เพื่อสร้างสมดุลและทำให้ร่างกายและจิตใจได้เรียนรู้ความสามารถและข้อจำกัดของกันและกัน
✱ “ไม่คาดหวัง” เมื่อลงมือพักใจแล้วสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นดังหวังดังตั้งใจก็เพียงแต่เฝ้าดูและปล่อยวาง ให้มองว่าเราไม่สามารถกำหนดกะเกณฑ์ได้...ชีวิตก็เป็นเช่นนี้เอง