Image
Dance
จากบรรณาธิการ
ว่ากันว่าตั้งแต่เรายังเป็นมนุษย์กึ่งวานรก็น่าจะรู้จักเต้น ดุ๊กดิ๊ก ๆ แล้ว

เรียกว่าดีเอ็นเอของการกระโดดโลดเต้นฝังอยู่ในเนื้อในตัว

ก่อนการเต้นจะกลายเป็นความบันเทิง และก่อนหน้ามนุษย์จะใช้ภาษาพูด การเคลื่อนไหวร่างกายน่าจะเป็นภาษาแบบหนึ่ง ต่อมาก็กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อย่างการเต้นระบำขอฝน หรือเต้นรักษาโรคที่ปรากฏในแทบทุกมุมโลก ตั้งแต่ชนเผ่าท้องถิ่นในทวีปอเมริกา แอฟริกา และเอเชียตะวันออก

บ้านเรา คนใต้มีโนรา คนอีสานมีรำผีฟ้า คนล้านนามีฟ้อน ผีมด เป็นพิธีปัดเป่าทุกข์ รักษาโรค

แต่ปัจจุบันพิธีกรรมเหล่านี้อาจถูกคนภายนอกนิยามว่าเป็นเพียงศิลปะการแสดง และอาจดูงมงายในสายตาการแพทย์สมัยใหม่

ที่หมู่บ้านชนบทเล็ก ๆ ในมณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน หลังจากประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ จิตใจของหนุ่มเกษตรก็มีแต่ความหวาดกลัว ไม่กล้านอนคนเดียว บางครั้งก็ละเมอเดินไปไหนไม่รู้ตัว ภรรยาจึงหาวิธีช่วยสามีโดยชวนเขาเต้น shuffle dance หรือการเต้นสลับขา ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในโลกออนไลน์

ภรรยาบอกว่า “อาจเพราะฉันรักการเต้น และมีความสุขกับ
การเต้น”
Image
ผลลัพธ์ที่เหนือความคาดคิด คือเสียงเพลงช่วยสยบความว้าวุ่น และเขาก็รู้สึกถึงอิสระในการเต้นตามจังหวะเพลง

ทุกวันนี้ถ้าได้ยินเสียงเพลง ทั้งสามีและภรรยา รวมไปถึงลูก ๆ ก็จะวางจอบวางไถ เต้น shuffle dance กันกลางสวนหน้าบ้านถนนกลางหมู่บ้าน ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

คลิปวิดีโอภาพการเต้นของครอบครัวที่เผยแพร่ในช่วงโควิดกลายเป็นไวรัลที่สร้างความสุขให้ชาวจีนและคนอื่น ๆ ทั่วโลก

ที่อิตาลี เฟเดรีโก บิตติ (Federico Bitti) ป่วยด้วยโรคแปลกประหลาดที่เรียกว่าดิสโทเนีย (dystonia) มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เดินตัวเบี้ยว หน้าสั่น ศีรษะพับ จนกินอาหารหรือดื่มน้ำเองไม่ได้  สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด หมอบอกว่าเขามีทางเลือกแค่สองสามอย่าง คือ กินยา หรือผ่าตัดสมองซึ่งมีโอกาสหายหรือไม่หายได้พอ ๆ กัน แต่ถ้าไม่ผ่าตัดเขาจะเดินไม่ได้อีก

เฟเดรีโกปฏิเสธการผ่าตัด ยอมทนทรมานกับอาการนี้เป็นเวลากว่า ๗ ปี โชคดีที่เขาได้พบกับหมอที่บำบัดโรคนี้ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อฟื้นฟูประสาทการเชื่อมต่อสมอง

ใช้เวลาหลายสัปดาห์กับการบริหารคอ แขน ลำตัว เป็นจังหวะด้วยท่าต่าง ๆ ซ้ำ ๆ  การควบคุมร่างกายก็ค่อย ๆ ฟื้นคืนมาระดับหนึ่ง แต่เขาบอกว่าปาฏิหาริย์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคือการค้นพบโดยบังเอิญระหว่างเดินใส่หูฟังเพลงไปด้วยว่าเขาก้าวเท้าดีขึ้นเพราะจังหวะเสียงดนตรี  เมื่อกลับถึงบ้านเขาก็รีบเปิดเพลงและลองเต้นตามจังหวะ
นับจากนั้นเขาไม่เคยหยุดเต้นสักวัน เช่นเดียวกับหนุ่มจีนความสุขกับการเต้นช่วยบำบัดร่างกายเขาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ

หมอบอกว่าเฟเดรีโกค้นพบการรักษาของตัวเขาเอง และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ป่วยดิสโทเนียรายอื่น ๆ

ยังมีศาสตร์สมัยใหม่ที่เรียกว่า dance/movement therapy ช่วยบำบัดรักษาเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้ป่วยที่ผ่านประสบการณ์เลวร้ายทั้งภายในจิตใจหรือร่างกายภายนอก การเต้นช่วยเปิดพื้นที่อิสระ ปลดปล่อยสิ่งที่เก็บกด รับฟังเสียงภายในให้พาร่างกายเคลื่อนไหวไป  วิธีนี้ช่วยฟื้นฟูกายและใจให้รับมือกับความทุกข์และมีความสุขกับชีวิตได้อย่างสมดุล

มรดกภูมิปัญญาของคนโบราณกับการบำบัดคนปัจจุบันจึงมาบรรจบกันที่ความสัมพันธ์ลึกซึ้งของธรรมชาติมนุษย์กับการเต้น
“Dance first. Think later. It’s the natural order.” ซามูเอล เบกเกตต์ กวีและนักเขียนบทละครเคยกล่าวไว้
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com
ฉบับหน้า
Next Issue
Image
คนไทยไปอวกาศ