Image
ภูมิปัญญา
ทางวัฒนธรรม
ความสำคัญ
ของสิ่งที่จับต้องไม่ได้
scoop
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๔ ที่ประชุมคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (intangible cultural heritage) ครั้งที่ ๑๖ สำนักงานใหญ่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ประกาศขึ้นทะเบียน “โนรา นาฏศิลป์ในภาคใต้ของประเทศไทย (Nora, dance drama in southern Thailand)” ให้เป็น “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ” ลำดับที่ ๓ ของไทยต่อจาก “โขน ละครรำสวมหน้ากาก (Khon, masked dance drama in Thailand)” ปี ๒๕๖๑ และ “นวดไทย การนวดแผนไทย (Nuad Thai, traditional Thai massage)” ปี ๒๕๖๒
Image
ย้อนเวลากลับไปในปี ๒๕๖๑ “โขล” กัมพูชา ที่เรียกว่าลครโขลวัดสวายอันเด็ต (Lkhon Khol Wat Svay Andet) ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนด้วยในปีเดียวกัน โดยได้รับการลงมติก่อนโขนไทย ๑ วัน

แม้จะมีรายละเอียดทางวัฒนธรรมแตกต่าง สะกดไม่เหมือนกัน แต่การเสนอขึ้นทะเบียนแล้วผ่านการลงมติในเวลาไล่เลี่ยกันก็นำไปสู่ข้อถกเถียงตามมามากมาย จนปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิด “ดรามา” ขึ้นระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ ที่ร่วม

วงถกเถียงทวงถามถึงสถานะความเป็นเจ้าของโขนและโขล

แท้จริงแล้วมรดกทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่นี้เป็นของใคร ?


โขนไทยกับโขลกัมพูชาต่างกันตรงไหน ? เป็นหุ้นส่วนหรือคู่แข่งขัน ?


ที่สำคัญคือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติคืออะไร ?


คุณค่าและความสำคัญของ “สิ่งที่จับต้องไม่ได้” เหล่านี้ 
อยู่ตรงไหน ?
Image
เมื่อพูดถึง “มรดก” เรามักนึกถึงที่ดิน บ้าน ทรัพย์สินเงินทอง ที่บรรพบุรุษส่งมอบแก่ลูกหลาน มรดกทางวัฒนธรรมก็ไม่แตกต่าง เป็นสิ่งที่สามารถสั่งสม สืบทอด และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

นอกเหนือจากโขน นวด และโนรา มรดกทางวัฒนธรรมฯ

ของไทยที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของยูเนสโกยังมีเทศกาลสงกรานต์และอาหารต้มยำกุ้ง

ส่วนรายการที่เรากำลังศึกษาความเป็นไปได้เพื่อเสนอ
ขึ้นทะเบียนในอนาคต ได้แก่ มวยไทย ผีตาโขน กัญชาไทย ข้าวแกง และข้าวเหนียวมะม่วง

อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. ๒๐๐๓ (ปี ๒๕๔๖) ของยูเนสโก ให้คำจำกัดความ intangible cultural heritage (ICH) อย่างเป็นทางการว่า การปฏิบัติ การเป็นตัวแทน การแสดงออก ความรู้ ทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ วัตถุ สิ่งประดิษฐ์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรมอันเป็นผลจากสิ่งเหล่านั้น ซึ่งชุมชน กลุ่มชน และ
ในบางกรณีปัจเจกบุคคล ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของตน

มรดกทางวัฒนธรรมซึ่งถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นสิ่งซึ่งชุมชนหรือกลุ่มคนสร้างขึ้นอย่างสม่ำเสมอเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม เป็นปฏิสัมพันธ์ของคนที่มีต่อธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดความรู้สึกมีอัตลักษณ์ 


เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ ยูเนสโก 
จึงเปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ ยื่นเสนอชื่อ ซึ่งจะต้องไม่ขัดกับบทบัญญัติด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อกำหนดที่ต้องการให้เกิดความเคารพซึ่งกันและกัน

ล่าสุด (ธันวาคม ๒๕๖๔) ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติแล้วทั้งสิ้น 
๖๒๙ รายการ จาก ๑๓๙ ประเทศทั่วโลก

ประเทศไทยสมัครเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ในปี ๒๕๕๙ และคำว่า intangible cultural heritage ในอนุสัญญาฯ ก็มีผู้นิยามหรือ “แปล” คำนี้ไว้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้, มรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่กายภาพ, มรดกวัฒนธรรมทางจิตใจ, มรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญา ฯลฯ มีการแลกเปลี่ยนถกเถียงว่าควรใช้คำไหนถึงจะเหมาะสมที่สุด สามารถสื่อความหมายให้ผู้คนเข้าใจ และคงไว้ซึ่งความงดงามของถ้อยคำภาษา 

หลังจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมจัดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็น จึงได้ข้อสรุปให้ใช้คำว่า “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” นำมาสู่การออกพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งมีวัตถุประสงค์และหลักการสอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ของยูเนสโก
Image
แนวคิดอันนำมาสู่การประกาศมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหรือวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้คืออะไร ?

ช่วงที่ผ่านมาผู้คนจำนวนมากน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า 
“มรดกโลก”

ในเมืองไทยมีมรดกโลกทางธรรมชาติสามแห่ง ได้แก่ 
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง, กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และกลุ่มป่าแก่งกระจาน 

มีมรดกโลกทางวัฒนธรรมสามแห่ง ได้แก่ นครประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา, เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ทั้งหมดล้วนได้รับการขึ้นทะเบียนโดยยูเนสโก


อย่างไรก็ตามอนุสัญญามรดกโลกให้คำจำกัดความ 
“มรดกโลกทางวัฒนธรรม (cultural heritage)” ครอบคลุมแค่สามลักษณะสำคัญ ได้แก่ อนุสรณ์สถาน อาคาร และผลงานที่เกิดจากมนุษย์หรือธรรมชาติ จนมีการตั้งข้อสังเกตว่าอนุสัญญามรดกโลกเลือกปกป้องเฉพาะมรดกทางวัฒนธรรม
“ที่จับต้องได้” ทำให้ประเทศทางซีกโลกใต้เสียเปรียบประเทศทางซีกโลกเหนือ เมื่อคิดจะขอขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก (world heritage site) เนื่องจากมีสิ่งก่อสร้าง เช่น อนุสาวรีย์ อาคาร สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือสถาปัตยกรรมน้อยกว่า  ต่อมาประเทศต่าง ๆ จึงเริ่มให้ความสำคัญกับมรดกทางวัฒนธรรมรูปแบบอื่น ๆ ไม่ว่าขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรม วรรณกรรม ความเชื่อ วิถีปฏิบัติ ภาษา การแสดงออกทางศิลปะ ฯลฯ ซึ่งมีลักษณะเป็นนามธรรมหรือ “จับต้องไม่ได้”

ด้วยเหตุนี้ยูเนสโกจึงหันมาสนใจมรดกทางวัฒนธรรม
ที่จับต้องไม่ได้ โดยแบ่งออกเป็นสามรายการ ได้แก่

๑) รายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ 
เรียกสั้น ๆ ว่า representative list (representative list of the intangible cultural heritage of humanity) 

๒) รายการที่ต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน เรียกสั้น ๆ ว่า urgent list (intangible cultural heritage in need 
of urgent safeguarding)

๓) รายการที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการสงวนรักษา เรียก
สั้น ๆ ว่า good practices list (register of good safeguarding practices)
ยกตัวอย่าง “โนรา นาฏศิลป์ในภาคใต้ของประเทศไทย” มีคุณสมบัติเข้าข่ายรายการที่ ๑ โดยมีความสอดคล้องสี่ลักษณะ ได้แก่ ธรรมเนียมและการแสดงออกทางมุขปาฐะ, ศิลปะการแสดง, การปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม งานเทศกาล และเป็นงานฝีมือช่างดั้งเดิม  ยูเนสโกยังเห็นว่าโนราเป็นศิลปะการแสดงที่ทุกเพศทุกวัยเข้าร่วมได้ มีการไหว้ครูเป็นขนบจารีตที่สำคัญ
เช่นเดียวกับ “โขน ละครรำสวมหน้ากากในประเทศไทย” และ “นวดไทย การนวดแผนไทย” ต่างก็อยู่ในรายการที่ ๑
Image
ยูเนสโกหวังว่าการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจะช่วยจุดประกายให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทำให้ผู้คนในโลกเข้าใจความแตกต่างและความคล้ายกันของมรดกภูมิปัญญา

แต่หลายครั้งพบว่าต้นตอของปัญหาขัดแย้งเกิดจากการช่วงชิงความเป็นเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมเสียเอง  ไม่เพียงเฉพาะ “โขนไทย” หรือ “โขลกัมพูชา” เท่านั้น ในอินโดนีเซียและมาเลเซีย สองชาติอาเซียนที่มีพรมแดนติดต่อกันก็เกิด
ปมขัดแย้งนี้ ยกตัวอย่างกรณีเพนเดต (pendet) นาฏกรรมท้องถิ่นของบาหลี รวมทั้งกรณีมรดกทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ตามแนวพรมแดนรัฐชาติ

ในปี ๒๕๖๑ ที่ “โขน ละครรำสวมหน้ากากในประเทศไทย” ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ รายการที่ ๑ เนื้อหาของเอกสารที่ไทยยื่นเสนอยูเนสโกระบุว่า โขนเป็นการแสดงที่มีการปฏิบัติสืบทอดกันอยู่ทั่วประเทศไทย
ขณะที่ “ลครโขลวัดสวายอันเด็ต (Lkhon Khol Wat Svay Andet)” ของกัมพูชา ซึ่งก็ได้ขึ้นทะเบียนในปีเดียวกันจัดอยู่รายการที่ ๒ ซึ่งต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน หรือ “urgent list”

หนังสือ วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของกัมพูชา ระบุว่า วัดสวายอันเด็ตตั้งอยู่ห่างจากกรุงพนมเปญไปทางทิศตะวันออกราว ๑๕ กิโลเมตร ลครโขลของวัดนี้เริ่มแสดงตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๙ โดยพัฒนาจากการร่ายรำดั้งเดิมของบรรพบุรุษเขมร แต่จะแสดงเฉพาะเรื่อง รามเกียรติ์ ฉบับภาษาเขมรเท่านั้น

แม้ในอดีตกัมพูชาจะเคยมี “คณะลครโขล” จำนวนมาก แต่เมื่อเกิดสงครามกลางเมือง ศิลปินชั้นครูก็ล้มหายตายจากจนเหลือไม่กี่คณะ หนึ่งในนั้นคือคณะลครโขลของวัดสวายอันเด็ตที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น  ล่าสุดครูลครโขลของวัดนี้เหลืออยู่เพียง ๕-๑๐ คน ซึ่งล้วนเป็นผู้สูงอายุ สุ่มเสี่ยงว่าจะไม่ได้รับการสานต่อและต้องสูญสลาย  สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงส่งผลให้ประชากรวัยแรงงานที่เป็นความหวังในการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมต้องละทิ้งชุมชนเพื่อไปทำงาน ยิ่งทำให้สถานการณ์น่าเป็นห่วง

การขึ้นทะเบียน “โขน” และ “โขล” จึงมีทั้งความเหมือนและความแตกต่าง

Image
ตั้งแต่ก่อนเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาฯ ประเทศไทยได้ดำเนินการขึ้นบัญชีมรดกทางวัฒนธรรมของชาติมาตั้งแต่ ปี ๒๕๕๒ โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในชาติ สร้างความภาคภูมิใจ รวมทั้งช่วยปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมประจำถิ่น  จนเมื่อมีการประกาศ พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๕๙ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ” จึงแบ่งออกเป็นหกด้าน ได้แก่ วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา, ศิลปะการแสดง, แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณีและเทศกาล, ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล, งานช่างฝีมือดั้งเดิม และการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว

นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ มีรายการที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติแล้วไม่ต่ำว่า ๓๕๔ รายการ เช่น 
ศิลปะการแสดง : โขน หนังใหญ่ ละครชาตรี โนรา

วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา : นิทาน สังข์ทอง นิทานขุนช้างขุนแผน ตำนานดาวลูกไก่ ตำรายาหลวงปู่ศุข ภาษาพวน ภาษามานิ (ซาไก) ภาษามลาบรี


ด้านแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม : สงกรานต์ สารทเดือนสิบ ประเพณีตักบาตรเทโว ทำขวัญข้าว


ธรรมชาติและจักรวาล : การนวดไทย น้ำปลาไทย ทุเรียนนนท์ ขนมฝรั่งกุฎีจีน


งานช่างฝีมือดั้งเดิม : ผ้าทอกะเหรี่ยง หม้อน้ำดินเผา 
เกาะเกร็ด งานปูนปั้นสกุลช่างเมืองเพชรบุรี

การเล่นพื้นบ้าน : ว่าวไทย มวยทะเล การเล่นสะบ้า การแข่งขันว่าวดุ๊ยดุ่ย 


ฯลฯ

นักวิชาการด้านวัฒนธรรมคาดว่าในศตวรรษที่ ๒๑ ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจะเป็น “ต้นทุน” สำคัญที่นานาประเทศนำมาใช้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ต่อยอดเป็นสินค้าและบริการมูลค่าสูง รวมถึงพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการนำภูมิปัญญาดังกล่าวมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ

การประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติยังเป็นฐานการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติตามอนุสัญญาฯ รวมทั้งบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก ที่จะดำเนินงานสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

เหมือนดั่งกรณีโขน นวดไทย และโนรา ที่มีส่วนทำให้ผู้คนตระหนักถึงคุณค่าของ “สิ่งที่จับต้องไม่ได้” เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และตามหาความหมายของความหลากหลายทางวัฒนธรรม  
เอกสารประกอบการเขียนและสื่ออิเล็กทรอนิกส์
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. คู่มือการเสนอขอขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ. กรุงเทพฯ : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์, ๒๕๕๘.

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๒. กรุงเทพฯ : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์, ๒๕๖๒.


เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์. “การจัดการมรดกทางวัฒนธรรม”. CAS 
Channel (Center for ASEAN studies, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่), ๒๕๕๙. วิดีโอคลิปเข้าถึงจาก https://www.youtube.com/watch?v=5RkW4QQ6KN4

“ไทยบันเทิง” สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส. “‘โขน’ มรดกภูมิปัญญา
ทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ รายการแรกของไทย”. ๒๕๖๑. วิดีโอคลิปเข้าถึงจาก https://www.youtube.com/watch?v=0EDzdK5ESlk

ธีระพงศ์ มีลักษณ์. “โขนไทย vs. ละครโขลกัมพูชา คู่แข่ง ? 
หรือหุ้นส่วนทางวัฒนธรรมแห่งอาเซียน”. เข้าถึงจาก https://www.krisdika.go.th/data/activity/act13475.pdf

รองศาสตราจารย์ ดร. วิศปัตย์ ชัยช่วย. “แนวคิดเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรม : Cultural Heritage concept”. หลักสูตร BiS 
(โครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ) iSchool KKU, ๒๕๖๔. วิดีโอ คลิปเข้าถึงจาก https://www.youtube.com/watch?v=Fr6VrICKtzA&t=12s