แผ่นดิน
พระพุทธเลิศหล้าฯ (ที่เราไม่รู้จัก)
ภาค 3

scoop

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์ 

คลื่นใต้น้ำจาก 
“เวียงจันทน์”

ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ความสัมพันธ์กับล้านช้างก็เกิดปัญหาเช่นกัน

เรื่องนี้ผิดจากที่รับรู้มา ด้วยหลักฐานไทยที่เกี่ยวข้องมักให้ภาพความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าอนุวงศ์กับรัชกาลที่ ๒ ว่าราบรื่นตลอดรัชกาล บรรณาการจากเวียงจันทน์ถูกส่งมายังกรุงเทพฯ อย่างปรกติและต่อเนื่อง ซ้ำบางครั้งเจ้าอนุวงศ์ยังทรงคล้องช้างเผือกมาถวายรัชกาลที่ ๒ (ปี ๒๓๕๘/ค.ศ. ๑๘๑๕) ด้วยซ้ำ

แต่เค้าลางที่เจ้าอนุวงศ์มีพระดำริจะนำเวียงจันทน์ออกจากมันดาละของกรุงเทพฯ กลับปรากฏอยู่ในหลักฐานของรัฐอื่น (ซึ่งไม่ต่างจากกรณีที่พระนเรศวรทรงทำกับพระเจ้านันทบุเรงในสมัยอยุธยา)

หลักฐานเวียดนามคือเอกสาร กวี่เหิบ (Quỳ Hợp) รายงาน จากด่านสำคัญที่ป้องกันเมืองเหงะอานของเวียดนาม (ซึ่งทางด้านตะวันตกเป็นเส้นทางไปสู่กรุงเวียงจันทน์) เผยว่า เจ้าอนุวงศ์เคยติดต่อราชวงศ์เต็ยเซิน (ศัตรูของ องเชียงสือ) ตั้งแต่ปี ๒๓๓๔ (ค.ศ. ๑๗๙๑)  หลักฐานอีกชิ้นคือ บันทึกความจริงฯ ซึ่งระบุว่าเจ้าอนุวงศ์ติดต่อ องเชียงสือ (ก่อนปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิเวียดนาม) ถึงสามครั้ง คือ ปี ๒๓๕๔-๒๓๕๕ (ค.ศ. ๑๘๑๑-๑๘๑๒), ปี ๒๓๕๗ (ค.ศ. ๑๘๑๔) และปี ๒๓๖๐ (ค.ศ. ๑๘๑๗) เพื่อหาทางคานอำนาจสยาม

ปฏิบัติการทั้งหมดนี้ทรงเริ่มทำมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ โดยสยามไม่รู้

ดังนั้นเมื่อขึ้นครองราชย์ เจ้าอนุวงศ์ทรงเดินแผนยุทธศาสตร์สามประการ คือ หนึ่ง พยายามนำครัวลาวที่ถูกสยามกวาดต้อนในคราวสงครามปี ๒๓๒๒ (ค.ศ. ๑๗๗๙) กลับล้านช้างเพื่อเพิ่มกำลังคน  สอง ผูกไมตรีกับรัฐล้านช้างด้วยกันเพื่อรวมกำลัง  และสาม หาทางติดต่อกับอังกฤษที่กำลังค่อย ๆ รุกเข้ามาในภูมิภาค

ยุทธศาสตร์แรกยังไม่ได้จังหวะเดินหน้า ส่วนยุทธศาสตร์
ที่ ๒ ประวัติศาสตร์ลาว ระบุว่าเจ้าอนุทรงเริ่มตั้งแต่ครองราชย์ “ทำไมตรีติดต่อกับเจ้าแผ่นดินหลวงพระบาง ส่งบรรณาการไปถวาย...ขอให้ลืมเหตุการณ์แต่เก่าแต่หลัง” โดยงานวิจัยเรื่อง เส้นทางสู่มหาอัคคีแห่งการทำลายล้างฯ ของ มยุรี และ เผยพัน เหง้าสีวัทน์ ที่ทำกับมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา เขียนไว้ว่า กษัตริย์หลวงพระบางทรงตอบรับ อ้างถึงพระราชสาส์นเจ้าอนุวงศ์ (ที่ยังไม่เคยมีใครเห็น) ขอความร่วมมือด้านกำลังทหารจากหลวงพระบางเพื่อสู้กับสยามโดยเสนอว่าเมื่อได้ชัย “...พระองค์จะออกผนวชเช่นเดียวกับพระเจ้าฟ้างุ้มทรงทำเมื่อ ๔๐๐ ปีก่อนหน้านั้น และอาณาจักรจะอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์แห่งหลวงพระบาง”

เรื่องที่ทำให้ยุทธศาสตร์นี้ประสบความสำเร็จมากขึ้นคือกรณี “กบฏอ้ายสาเกียดโง้ง” ในปี ๒๓๖๑ (ค.ศ. ๑๘๑๘) โดย พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ฯ เล่าว่า ในปี ๒๓๖๐ (ค.ศ. ๑๘๑๗) มีศุภอักษรจากจำปาศักดิ์แจ้งว่า “อ้ายสาเกียดโง้งลาวตั้งตัวเป็นผู้วิเสศมีบุญ สำแดงวิชาให้พวกข่าเหน พวกข่าสาลวัน ข่าคำทองข่าอัตปือเข้าเกลี้ยกล้อมอ้ายสาเกียดโง้ง ประมาณแปดพันคนยกมาตั้งอยู่ณทุ่งนาทวาใลเมืองจำปาศักดิ์” ต่อมาเมืองจำปาศักดิ์ถูกเผา “ผู้คนแตกกระจัดกระจาย” จึงหนีมาตั้งอยู่บริเวณแขวงเมืองอุบลฯ

รัชกาลที่ ๒ ทรงจัดการ “กบฏผีบุญ” ด้วยการ “โปรดให้เจ้าพระยานครราชสีห์มา กับเจ้าอนุเมืองเวียงจันยกทัพขึ้นไปจับอ้ายสาเกียดโง้ง” จากนั้นอ้ายสาเกียดโง้งถูกส่งมาขังที่กรุงเทพฯ ข่าถูกส่งไปตั้งบ้านเรือนที่บางบอน (กรุงเทพฯ) ส่วนที่จำปาศักดิ์ “โปรดให้ (เจ้า) ราชบุตร (โย้) บุตรเจ้าเวียงจันไปเปนเจ้าเมือง”

ประวัติศาสตร์ลาว ให้รายละเอียดว่า เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ขณะเกิดเรื่องคือ “เจ้าหมาน้อย” (ครองราชย์ปี ๒๓๕๖-๒๓๖๐/ค.ศ. ๑๘๑๓-๑๘๑๗) “อ้ายสา” คือพระภิกษุที่นำแว่นขยายมาจุดไฟจากดวงอาทิตย์ ด้วยเป็นของที่คนสมัยนั้นไม่รู้จัก ผู้คนจึงเชื่อถือจนถึงขั้นรวมเป็นกองกำลังยกเข้าตีจำปาศักดิ์ต่อมาผู้ที่จับอ้ายสาได้คือเจ้าราชบุตรโย้ เจ้าอนุจึงขอให้ตั้งเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ “ตามแผนการ...ที่ได้กะไว้ในการจะกู้เอกราชในปี ๒๓๖๔ (ค.ศ. ๑๘๒๑)”  ส่วนเจ้าหมาน้อย “ถูกส่งตัวลงไปกรุงเทพฯ และได้ถึงแก่กรรมอยู่ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี ๒๓๗๐ (ค.ศ. ๑๘๒๗)”

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้เบาะแสว่า ผู้ที่ส่งเสริมให้เจ้าราชบุตรโย้ครองจำปาศักดิ์คนหนึ่งคือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ ๓)

ผู้คัดค้านเรื่องนี้คือเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (ขณะนั้นกำกับกรมวังและกรมมหาดไทย) โดยทรงมองว่าถ้ายอม หัวเมืองล้านช้างสามหัวเมือง (หลวงพระบาง เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์) จะตกอยู่ในอำนาจเจ้าอนุวงศ์ถึงสองเมือง โดยรับสั่งในท้องพระโรงหลังรัชกาลที่ ๒ เสด็จขึ้น (หลังว่าราชการจบ) ว่า “อยากจะรู้นัก ใครเป็นผู้จัดแจงเพ็ดทูลให้เจ้าราชบุตรเวียงจันทน์ไปเป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ แต่เพียงพ่อมีอำนาจอยู่ข้างฝ่ายเหนือก็พออยู่แล้ว ยังจะไปเพิ่มเติมให้ลูกมีอำนาจโอบลงมาข้างฝ่ายตะวันออก...ต่อไปจะได้ความร้อนใจ”

Image

เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์

มยุรีและเผยพันมองว่า กรณีอ้ายสาเกียดโง้งทำให้เจ้าอนุวงศ์ทรงตระหนักว่าโคราช (นครราชสีมา) คือหัวเมืองที่สยามใช้เป็นฐานขยายอิทธิพลในเขตลาวกลางและใต้ ขุนนางที่เป็นกำลังสำคัญคือ “ยกกระบัตรเมืองโคราช” ดังนั้นการที่ทรงเสนอพระโอรสเป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ ส่วนหนึ่งคือการ “ทดสอบกำลัง” ยกกระบัตรโคราชในราชสำนักกรุงเทพฯ ผลปรากฏว่ายกกระบัตรโคราชไม่สามารถ “ล็อบบี” ขัดขวางได้ แถมยังทรงได้แรงหนุนจากกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ที่ “สำเร็จราชการ” แทนรัชกาลที่ ๒ ในกิจการบ้านเมืองกว่าครึ่ง

พระองค์จึงทรงมีแต้มต่อในการอ้างความเป็น “เจ้าลาว” ปกครองดินแดนส่วนใหญ่ของล้านช้าง

ส่วนรัชกาลที่ ๒ หรือกระทั่งกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ทรงไม่มีทางทราบได้ว่า คำทำนายของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีจะ “แม่นยำราวจับวาง” ในอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้น

ในกรณียุทธศาสตร์สุดท้ายของเจ้าอนุ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพบในบันทึก จอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) ทูตอังกฤษที่เข้ามาเจรจาการค้ากับสยามเมื่อปี ๒๓๖๔ (ค.ศ. ๑๘๒๑) โดยเล่าว่า 

“๑๙ พฤษภาคม ๒๓๖๕ เจ้าเมืองลาวคน ๑ ไปหาครอเฟิดถึงที่พัก จะเป็นเจ้าเมืองไหน แลจะไปพูดกันด้วยเรื่องอะไร ครอเฟิดหาได้แสดงไว้ไม่ ข้าพเจ้าสันนิษฐานดู เวลานั้นเป็นฤดูแล้ง ไม่ใช่เวลาที่เจ้านายทางมณฑลพายัพ (ภาคเหนือ) จะลงมา เจ้าลาวที่ไปหาครอเฟิดนี้เห็นจะเป็นเจ้าอนุนครเวียงจันทน์” โดยทรงฟันธงว่า “เหตุที่ไปหา...ดีร้ายจะไปโดยอำเภอใจเอง เพื่อจะฟังความประสงค์ของอังกฤษ คิดดูเมื่อเวลาครอเฟิดเข้ามาก่อนเวลาเจ้าอนุขบถไม่กี่ปี และมีความปรากฏในจดหมายเจ้าอนุที่มีมาเมื่อก่อนจะเป็นขบถ อ้างถึงว่าฝรั่งจะเข้ามาย่ำยี ดูสมเหตุสมผลกันอยู่”

แต่ในทางกลับกัน รัชกาลที่ ๒ ไม่ทรงระแคะระคายเรื่องนี้และทรงมั่นพระทัยในพระสหาย

เห็นได้จากเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “สวนขวา” ที่ประพาสสำราญพระราชอิริยาบถในพระราชวังด้านตะวันออก (อยู่ทางขวาของพระราชมณเฑียร) ก็ยังทรงรำลึกถึงเจ้าอนุวงศ์ ปรากฏใน ร่างตราเมืองเวียงจันทน์ ที่ “ให้พระราชทานแผนที่ อย่างสระอย่างเก๋ง สิ่งของขึ้นไปให้เจ้าเวียงจันทน์ ณ ปีเถาะเอกศกศักราช ๑๑๘๑” (๒๗ ธันวาคม ๒๓๖๒/ค.ศ. ๑๘๑๙) 

โดย ร่างตราฯ กล่าวถึงการขุดสระและปลูกเก๋งพระที่นั่งซึ่งเจ้าอนุ “ได้ลงไปช่วย ทำการขุดสระครั้งก่อนนั้นเห็นยังคับแคบอยู่” เล่าถึงการทำสวนขวาใหม่ว่า “เพื่อจะให้พระวงษานุวงษ์ฝ่ายใน เปนที่ประพาศเล่น...แล้วจะได้ดูสติปัญญาข้าราชการ ซึ่งเปนช่างข้างจะไว้ฝีมือ...ให้เปนพระเกียรติยศ ปรากฏไปในแผ่นดิน...” ทั้งยังทรงชวนเจ้าอนุว่า “...ถ้าเทศกาลแต่งเก๋ง แลเลี้ยงดูข้าทูลละอองครั้งใด ก็มีพระราชหฤไทยคิดเถิงเจ้าเวียงจันทน์ทุกครั้ง...ถ้าเจ้าเวียงจันทน์ว่างราชการเมืองเมื่อใด จะลงไปเฝ้าทูลลอองณกรุงเทพฯ ก็ให้พาบุตรภรรยามโหรีละคร กับให้หาพายแลนกเขาครมลงไปด้วยจะได้เล่นตามสบายใจ...” โดย จดหมายเหตุความทรงจำฯ ระบุว่าเมื่อสร้างสวนขวาเสร็จก็มีการ “...เถลิงสมโภช มีดอกสร้อยสักรวา เกษมษา สำราญบานจนถึงกาล”

แน่นอนว่าการสร้าง “สถานที่ทรงพระสำราญ” สิ้นเปลืองเช่นนี้ย่อมหนีเสียงวิจารณ์ไม่พ้น 

เหตุผลเรื่อง “ดูสติปัญญาข้าราชการ” การให้ช่าง “ไว้ฝีมือ” ก็ดูเหมือนจะถูกผู้คนแอบนินทา ด้วย พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ฯ บันทึกว่า เมื่ออหิวาตกโรคระบาดในปี ๒๓๖๓ (ค.ศ. ๑๘๒๐) มีคนจำนวนมาก “...ซุบซิบกันว่า เพราะไปเอาก้อนสีลาใหญ่ ๆ ในทะเลมาก่อเขาในพระราชวัง เจ้าโกรธ ผีโกรธ จึงบันดานให้เปนไข้เจบดั่งนี้ ไม่เคยพบไม่เคยได้ยิน”

ขณะที่พระสหายเตรียมการ “กู้บ้านกู้เมือง” อย่างจริงจัง

นอกจากยุคทองของวรรณคดี แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ยังเป็นยุคที่สยามต้องรับมือกับมหาอำนาจท้องถิ่น (อังวะ, เว้) และมีปฏิสัมพันธ์กับ มหาอำนาจตะวันตก (อังกฤษ) มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ ปราชญ์ กวี ศิลปิน ในราชสำนักย่อมทราบไม่มากก็น้อย

Image

ป้อมผีเสื้อสมุทร บริเวณปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ หนึ่งในป้อมที่รัชกาลที่ ๒ ทรงมีรับสั่งให้สร้างเพื่อเตรียมรับมือกับกองเรือของเวียดนามและอังกฤษ  ต่อมากลายเป็นป้อมสำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการติดตั้งระบบปืนใหญ่แบบยุโรป

Image

การสร้างป้อมที่ปากน้ำ จินตนาการของศิลปินในศาลาทรงยุโรป วัดพระสมุทรเจดีย์

ปฐมบทของ 
“อานามสยามยุทธ”

ถึงปี ๒๓๖๓ (ค.ศ. ๑๘๒๐) สยามในรัชกาลที่ ๒ ก็ต้องเผชิญ “โรคระบาดระดับโลก”

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ฯ ระบุว่า ในเดือนเจ็ด (สิงหาคม) “เกิดไข้ป่วงมาแต่ทะเล ไข้นั้นเกิดมาแต่เมืองเกาะหมาก (ปีนัง) ก่อน แล้วข้ามมาหัวเมืองฝ่ายตะวันตก เดินขึ้นมาจนถึงปากน้ำเจ้าพระยา ชาวเมืองสมุทปราการตายลงเปนอันมาก ก็พากันอพยบขึ้นมาณกรุงเทพมหานครบ้าง แยกย้ายกันไปทิศต่าง ๆ บ้าง”

การแพทย์สมัยปัจจุบันพบแล้วว่า ต้นเหตุอหิวาตกโรคเกิดจากแบคทีเรีย Vibrio cholerae ทำให้ท้องร่วงและอาเจียน ของเสียจะปนเปื้อนในแหล่งน้ำและอาหาร ซึ่งควบคุมได้ด้วยการรักษาความสะอาด กินอาหารปรุงสุก แต่สมัยรัชกาลที่ ๒ การแพทย์ของสยามล้าหลัง ของเสียยังคงอยู่ในสภาพไร้การจัดการ

เมื่อคนอพยพหนีโรคระบาดไปพื้นที่อื่นโดยไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โรคก็ระบาดหนักขึ้น กรุงเทพฯ มีคนตายมากจน “ศพทิ้งตามป่าช้าแลสาลาดินในวัดสะเกษ วัดบางลำพู วัดบพิตรภิมุข วัดประทุมคงคา...ทับกันเหมืองกองฟืน ที่เผาเสียก็มากกว่ามาก แลทิ้งลอยในแม่น้ำลำคลองเกลื่อนกลาดไปทุกแห่ง จนพระสงฆ์ก็หนีออกจากวัด คฤหัฐก็หนีออกจากบ้าน” ทั้งยังเกิดภาวะ lockdown คือ “ถนนหนทางก็ไม่มีคนเดิน ตลาดก็มิได้ออกซื้อขายกัน ต่างคนต่างรับประทานแต่ปลาแห้งพริกกับเกลือเท่านั้น น้ำในแม่น้ำก็กินไม่ได้...”

รัชกาลที่ ๒ ทรงออกมาตรการคล้าย work from home  (WFH ในปี ๒๕๖๓/ค.ศ. ๒๐๑๙) คือ “มิให้เฝ้างดกิจราชการเสีย” ให้คนไปทำบุญสวดมนต์ ไพร่หลวงที่เข้าเวรก็ “ปล่อยไปบ้านเรือน” ไปรักษาญาติพี่น้อง ราษฎร “ให้อยู่แต่บ้านเรือน ต่อเมื่อมีการร้อนควรจะต้องไปจึ่งให้ไป” นอกจากนี้ยังทรงทำพระราชพิธี “อาฏานาฏิยสูตร (พระราชพิธีอาพาธพินาศ)” ยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืนจนรุ่งเช้า เชิญพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองคือพระแก้วมรกตและพระบรมธาตุ กับพระสงฆ์ โปรยทรายและรดน้ำมนต์ทั่วเมืองเพื่อขับไล่โรคร้าย

เมื่อทรงทราบว่าโรคนี้ระบาดในบ้านเมืองอื่นด้วยจึงมีพระราชดำริว่าเกิดจาก “กรรมของสัตว์...จะรักษาแก้ไข้ด้วยคุณยาเหนจะไม่หาย” เป็นเหตุให้มีการใช้ศาสนาและความเชื่อเข้ามาด้วย

รัชกาลที่ ๕ มีพระราชวิจารณ์ภายหลังว่าเหตุครั้งนี้น่าจะมีคนตายราว ๓ หมื่นคน

ช่วงนี้เองที่คณะทูตจากเวียดนามมาแจ้งข่าวจักรพรรดิซาลองสวรรคต แต่โรคระบาดก็ทำให้คณะทูต “ตาย ๑๐ คน” รัชกาลที่ ๒ ทรงเร่งให้คณะทูตรีบกลับ โดยทรงส่งคณะทูตสยามตามออกไปในคราวเดียวกันด้วยเพื่อทรงยินดีกับการขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิองค์ใหม่คือพระเจ้ามินหม่าง (Minh Mạng, ครองราชย์ปี ๒๓๖๓-๒๓๘๒/ค.ศ. ๑๘๒๐-๑๘๓๙) โดยคณะทูตพบว่าในเวียดนามก็มีคนตายจำนวนมาก

ในภาวะโรคระบาดดังกล่าว ราชสำนักสยามได้ข่าวว่า “เลวันเสวียด” (หลักฐานไทยเรียก “องต๋ากุน”) แม่ทัพคนสำคัญของอดีตจักรพรรดิซาลอง (องเชียงสือ) ที่มีอำนาจอยู่ในซาดิ่งห์ (ไซ่ง่อน) เกณฑ์ “ญวนแลเขมรผลัดเปลี่ยนกันผลัดละหมื่นให้ขุดคลอง...ขุดตั้งแต่เมืองมัจรุกตัดผ่ามาเมืองตรัง มาทะลุคลองเอียมซิวออกทะเลสาบบรรทายมาศ (ฮาเตียน) ที่ปากคลองขุดนั้น ก็สร้างเมืองขึ้นเมืองหนึ่งให้ชื่อเมืองโจฎก”

คลองนี้ต่อมาได้ชื่อว่า “คลองวินเต๋ (Kênh Vĩnh Tế)” (หลักฐานไทยเรียก “คลองวามะนาว”)

ปัจจุบันคลองวินเต๋ยังมีอยู่และถูกใช้งานด้านคมนาคมขนส่ง จุดเริ่มต้นอยู่ที่เมืองเจิวด๊ก (Châu Đốc) ต้นคลองเชื่อมกับแม่น้ำเจิวด๊ก แล้วมุ่งตัดตรงไปทิศตะวันตกเฉียงใต้ขนานถนนหลวงสาย QLN1 ไปเชื่อมกับแม่น้ำซางแท่งห์ (Sông Giang Thạnh) ที่ไหลผ่านเมืองฮาเตียนลงอ่าวไทย

Image

พระสมุทรเจดีย์ สร้างสมัยรัชกาลที่ ๒ ตรงเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากน้ำ ปัจจุบันกลายเป็นเจดีย์บนฝั่งตะวันตกเพราะแผ่นดินงอกมาเชื่อม

เมื่อลองเดินทางตามคลองก็พอสันนิษฐานได้ว่า “มัจรุก” และ “ตรัง” น่าจะเป็นเมืองขนาดเล็กที่เคยอยู่ริมคลอง ส่วนเมืองโจฎกปัจจุบันมีฐานะเป็นเมืองเอกของจังหวัดเจิวด๊ก ส่วน “คลองเอียมซิว” น่าจะหมายถึงแม่น้ำซางแท่งห์ ที่เมื่อไหลถึงเมืองฮาเตียนจะกลายเป็นทะเลสาบใหญ่ที่พงศาวดารเรียก “ทะลสาบบรรทายมาศ” ก่อนไหลลงอ่าวไทย

ในสมัยรัชกาลที่ ๒ สยามตระหนักว่าคลองนี้มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เพราะใช้เป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุงได้ ทั้งยังทำให้เกิดเครือข่ายป้องกันทางทหารระหว่างฮาเตียนกับเจิวด๊ก การขุดคลองนี้ทำให้รัชกาลที่ ๒ ทรงตัดสินพระทัยให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ สร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ (สมุทรปราการ) ที่ทำค้างมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ให้เป็นเมืองหน้าด่านรับศึกทางทะเล โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ ๓) สร้างเมืองอีกแห่งด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามนครเขื่อนขันธ์ (คือตัวเมืองสมุทรปราการปัจจุบัน) สร้างป้อมคือ ประโคนชัย นารายน์ปราบศึก ประการ-กายสิทธิ ผีเสื้อสมุท นาคราช รวมทั้งสร้างคลังอาวุธและวางเครือข่ายป้องกันปากแม่น้ำเจ้าพระยาจากการบุกรุกด้วยกองเรือรบ

ปัจจุบันป้อมบางป้อมยังคงปรากฏอยู่บริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น “ป้อมผีเสื้อสมุทร” ใกล้วัดพระสมุทรเจดีย์ ซึ่งมี “พระสมุทรเจดีย์”-เจดีย์กลางน้ำที่รัชกาลที่ ๒ มีพระบรมราชโองการให้สร้างบนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา แต่วันนี้แผ่นดินงอกออกมาจนเจดีย์กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัดที่อยู่บนฝั่ง

การมาของ
“ฝรั่งดั้งขอ”

ห้วงที่กรุงเทพฯ เริ่มลงมือป้องกันปากแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงอมรปุระก็มีการผลัดแผ่นดิน พระเจ้าจักกายแมง (บาคยีดอ) ขึ้นครองราชย์ (ปี ๒๓๖๒-๒๓๘๙/ค.ศ. ๑๘๑๙-๑๘๔๖) 

พอถึงปี ๒๓๖๖ (ค.ศ. ๑๘๒๓) กษัตริย์พม่าพระองค์นี้ก็ทรงย้ายเมืองหลวงจากอมรปุระกลับไปอังวะตามพระราชนิยมที่ต้องการสร้างอาณาบารมีเมื่อขึ้นรัชกาลใหม่ข้อมูลในหลักฐานไทยสอดคล้องกับหลักฐานพม่าและเวียดนาม ว่าพระเจ้าจักกายแมงทรงพยายามติดต่อกับอาณาจักรข้างเคียงเพื่อชักชวนมาร่วมกันโจมตีกรุงเทพฯ

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ฯ ระบุว่า สยามสืบพบว่า “พม่ามีหนังสือไปชวนฝรั่งบ้าง ญวนบ้างพระยาไซรบ้าง จเข้ามาตีกรุง ภายหลังจีนลิ่มหอยมะเกาชาวเมืองถลาง ไปค้าขายเมืองเกาะหมาก (ปีนัง) กลับมา เหนเรือพม่าผิดเรือลูกค้าสงสไยก็เข้าตีเอาเรือพม่าได้ เข้าค้นเรือได้ราชสาสนพม่าไปถึงพระยาไซร (ไทรบุรี/เกดะห์) ก็จับคนแลเรือมาส่งให้ผู้รักษาเมืองถลาง”

หนังสือที่ส่งติดต่อกันระหว่างอังวะกับเมืองต่าง ๆ จึงถูกพบและแปลออกมา

รัชกาลที่ ๒ ทรงมีท้องตราให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชเรียก “ตนกูปะแง่รัน” สุลต่านเกดะห์ (ไทรบุรี) เข้ามาสู้คดีที่กรุงเทพฯ แต่สุลต่านไทรบุรีนิ่งเสีย “จึ่งให้ยกกองทัพไปตีเอาเมืองไซรไว้เปนเมืองขึ้น มิให้เปนเมืองประเทศราชเหมือนแต่ก่อน” หลังจากนี้กรุงเทพฯ ก็ปกครองไทรบุรีโดยตรงผ่านนครศรีธรรมราช

มันดาละของสยามทางทิศใต้จึงขยายไปถึงไทรบุรีแบบเบ็ดเสร็จ

Image

ฝรั่งเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ ๒ จิตรกรรมในพระอุโบสถ วัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม

กุมภาพันธ์ ๒๓๖๖ (นับแบบสากลคือปี ๒๓๖๗/ค.ศ. ๑๘๒๔) เลวันเสวียต (องต๋ากุน) เจ้าเมืองซาดิ่งห์ (ไซ่ง่อน) ส่งหนังสือแจ้งเสนาบดีสยามเรื่องคำชวนของอังวะ โดยแจ้งว่าจักรพรรดิมินหม่างทรงปฏิเสธ รับสั่งว่า “จะคบค้าด้วยพม่าก็จะเสียทางไมตรีกับกรุง (เทพฯ) ไป จึ่งมิให้ทูตขึ้นไปเฝ้าฯ ให้กลับไปเสีย แล้วทูตพม่าอ้อนวอนให้รับเครื่องบรรณาการไว้ ขุนนางญวนพร้อมกันรับแหวนทับทิมไว้วงหนึ่ง แลของทั้งปวงนั้นคืนให้ทูตไปสิ้น”

อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์หลายคนวิเคราะห์ว่า เรื่องนี้เกิดจากขุนนางเวียดนามสองคนไปบอก องต๋ากุน ว่าในพม่ามีรังนกมาก หากเป็น “ตัวกลาง” นำสินค้าเหล่านี้ไปขายในตลาดจีนจะได้กำไรงาม และ องต๋ากุน เองมองว่าควรกำจัดอิทธิพลสยามในกัมพูชา การติดต่อกับขุนนางอังวะจึงเริ่มขึ้นโดยไม่กราบทูลจักรพรรดิมินหม่างให้ทรงทราบ ทำให้พระเจ้าจักกายแมงทรงชักชวนมาตีกรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา

ในหนังสือ เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองญวนและเมืองเขมรในรัชกาลที่ ๒ ตีพิมพ์เมื่อปี ๒๔๙๔ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงมองว่าการที่จักรพรรดิมินหม่างทรงปฏิเสธ ไม่น่าจะมีเหตุอื่นใดนอกจากรับสั่ง “สั่งเสีย” ของจักรพรรดิซาลอง (องเชียงสือ) เพราะ “มีคำที่ญวนอ้างภายหลังต่อมาว่า เมื่อพระเจ้าเวียดนามยาลองจะสิ้นพระชนม์ ได้มีรับสั่งว่าอย่าให้ลูกหลานคิดร้ายต่อกรุงศรีอยุธยา ด้วยมีพระเดชพระคุณแก่พระเจ้ายาลองในเวลาตกทุกข์ยาก ได้อุปการะอุดหนุนจนกลับเป็นใหญ่ได้...”

อย่างไรก็ตามความระแวงของราชสำนักกรุงเทพฯ ต่อเวียดนาม เห็นได้จากที่พงศาวดารไทยตั้งข้อสังเกตว่า แม้เวียดนามจะแจ้งเข้ามา “ราชสาสนพม่า (ที่เวียดนามอ้างถึง) หาได้ส่งมาไม่”

ส่วนเหตุผลว่าทำไมข้าหลวงอังกฤษที่สิงคโปร์ได้พระราชสาส์นนี้แล้วส่งต่อให้สยาม คำตอบคือ อังกฤษมีท่าทีไม่เป็นมิตรกับอังวะอยู่แล้ว เห็นได้จากหลังเหตุการณ์นี้ไม่นาน อังกฤษก็ทำสงครามกับพม่า ครั้งที่ ๑ (ปี ๒๓๖๗-๒๓๖๙/ค.ศ. ๑๘๒๔-๑๘๒๖) ผลคือพม่าเสียหัวเมืองทางใต้ (ชายฝั่งทะเลอันดามัน) และบริเวณอาระกัน (ยะไข่)  รัชกาลที่ ๒ ทรงติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ด้วยทรงมองว่า “การศึกนี้ก็ใหญ่อยู่ ไม่ไว้ใจแก่ราชการ จะต้องให้มีกองทัพ ไปตั้งขัดทัพฟังราชการอยู่”

แต่กองทัพสยามก็ไม่ได้ปฏิบัติการใด ๆ เนื่องจากทัพอังกฤษมีศักยภาพเหนือกว่าอังวะมาก เอาเข้าจริงสยามก็เริ่มตระหนักว่า “มหาอำนาจใหม่” รายนี้มีกำลังเหนือ “อังวะ” มาก ตนก็ไม่สามารถเลี่ยงการติดต่อสัมพันธ์กับอังกฤษได้ นับตั้งแต่ จอห์น ครอว์เฟิร์ด เข้ามาในปี ๒๓๖๔/ค.ศ. ๑๘๒๑ (แม้สยามจะทำให้ครอว์เฟิร์ดล้มเหลวในการทำสัญญาที่อังกฤษได้เปรียบก็ตาม)

“กรณีสวรรคต” 
รัชกาลที่ ๒

นักประวัติศาสตร์ไทยหลายท่านมักบรรยายรอยต่อของยุครัชกาลที่ ๒ สู่รัชกาลที่ ๓ ว่าเป็นไปอย่างราบรื่นโดยการมอบราชสมบัติถวายกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นั้นเป็นเอกฉันท์ แต่ก็มีจำนวนมากเช่นกันที่ตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปรกติบางอย่าง

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ฯ ระบุว่าช่วงปลายรัชกาล รัชกาลที่ ๒ ทรงว่าราชการน้อย “เช้าเสด็จออกทรงปฏิบัติพระสงฆ์แล้วว่าราชการแผ่นดิน...บ่ายห้าโมงเสด็จออกฟังรายงานบ้าง ทรงพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์บ้าง  อีเหนาบ้างแล้วก็ทรงธรรม...จบธรรมเทศนาแล้ว...เสด็จออกประทับพระที่นั่งสนามจัณฑ์ เจ้านายแลขุนนางเข้าเฝ้าทุกเวลา ว่าราชการบ้างเลกน้อย ภอย่ำยามก็เสดจขึ้นทอดพระเนตร์ลคร”

แล้วยังชัดเจนว่า กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์แทบจะบริหารราชการแผ่นดินแทนทั้งหมดในกิจการสำคัญ ทั้งการศาล กรมคลัง กรมท่า ไม่นับว่าทรงมีบทบาททางการเมืองมาตลอดตั้งแต่พิพากษาคดีกบฏเจ้าฟ้าเหม็นฯ เป็นแม่กองสร้างสวนขวา วางนโยบายต่างประเทศ จนถึงยกทัพออกศึก

สมัยรัชกาลที่ ๒ จึงมิได้มีแต่เสียงวงมโหรีปี่พาทย์และการเจรจาทางการทูต และเค้าลางของและขับลำนำกลอน หากยังเต็มไปด้วยเสียงของสงคราม “อานามสยามยุทธ” ที่จะตามมาในรัชกาลที่ ๓

Image

จิตรกรรมด้านหลังพระประธานในพระอุโบสถ วัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม แสดงภาพของกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ ๒

แต่มีข้อสังเกตกันมากคือ ก่อนสิ้นรัชกาล ๑๕ วัน รัชกาลที่ ๒ มีพระราชดำริว่าเจ้าฟ้ามงกุฎ “...มีพระชนม์ควรจะอุปสมบทแล้ว” หลังเจ้าฟ้ามงกุฎอุปสมบทก็ทรง “ประชวรโดยรวดเร็ว แลมีพระอาการตรัสไม่ได้มาแต่แรก จึงไม่ได้ทรงมอบราชสมบัติแก่พระราชวงศ์พระองค์ใด”

การประชวรดำเนินไป ๘ วัน (๑๔-๒๑ กรกฎาคม ๒๓๖๗/ค.ศ. ๑๘๒๔) โดยวันสุดท้าย “...มึนเมื่อยพระองค์ เรียกพระโอสถชื่อจรไนเพชร์ข้างที่ ๆ เคยเสวย...เสวยแล้วก็ให้ร้อนเปนกำลัง เรียกทิพยโอสถมาเสวยอีก พระอาการก็ไม่ถอยให้เชื่อมซึมไป แพทย์ประกอบพระโอสถถวายก็เสวยไม่ได้มิได้ตรัสสิ่งไร มาจนถึงณวันพุฒเดือนแปดแรมสิบเอดค่ำเวลาย่ำค่ำแล้วห้าบาท เสดจสวรรคต”

ทั้งนี้ ปากคำของคนร่วมสมัยคือ จอห์น ครอว์เฟิร์ด อดีตทูตอังกฤษ เขียนในจดหมายลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๓๖๗/ค.ศ. ๑๘๒๔ (หลังรัชกาลที่ ๒ สวรรคต ๔ เดือน) ว่าผู้มีสิทธิธรรมในบัลลังก์น่าจะเป็น “เจ้าฟ้ามงกุฎ” ที่ “พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงฝึกปรนหวังจะให้เป็นผู้สืบราชสมบัติมากกว่า” ด้วยทรงประสูติจากพระมเหสีคือสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์

ขณะกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ประสูติจากเจ้าจอมมารดาเรียมซึ่งมีฐานะต่ำกว่า

เหตุการณ์ทั้งหมดจึงนำมาซึ่งข้อกังขาของคนทำงานประวัติศาสตร์รุ่นหลังว่า มีการลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ ๒ หรือไม่ โดยผู้ต้องสงสัยคือเจ้าจอมมารดาเรียม (สมเด็จพระศรีสุลาไลย) มองว่าการอุปสมบทคือการลี้ภัยการเมือง  มีหลักฐานชั้นหลังสนับสนุนคือปากคำของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ว่าเจ้าฟ้ามงกุฎได้ทรงยอมถอยหลังจากปรึกษา “ผู้ใหญ่” งานของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ คือ มหามกุฎราชคุณานุสรณ์ ที่มีบทกวีเล่าว่า เจ้าฟ้ามงกุฎถูกลวงไปถวายบังคมพระบรมศพ แต่ถูกกักที่พระอุโบสถ (วัดพระแก้ว)

ส่วน “บันทึกความทรงจำ” ใน ๓๓๑ ปี สกุลอมาตย์ และ ๗๓ ปี แห่งการพระราชทานนามสกุลอมาตยกุล เล่าฉากเดียวกันว่า เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎ “...เห็น (รัชกาลที่ ๒) สวรรคตแล้วก็ทรงพระกรรแสงโฮขึ้น หม่อมไกรสรก็เข้าไปกอดไว้แล้วคลำดู ดูที่จีวรกลัวจะซ่อนพระแสง (ดาบ) เข้าไป พระจอมเกล้าฯ ก็ตกพระทัย รับสั่งว่าขอชีวิตไว้อย่าฆ่าเสียเลย...พระนั่งเกล้าฯ รับสั่งว่าท่านอย่ากลัว ไม่มีใครทำอะไรหรอกอย่าตกพระทัย พี่น้องกันทั้งนั้น ทำอย่างไรได้เวลานั้นท่านตกพระทัย พระบังคลไหลออกมาเปียกสบงเป็นครึ่งผืน”

แต่มีนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังหลายท่านมองว่า เรื่องไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ. เอกชัย โควาวิสารัช นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กลุ่มงานสูตินรีเวชศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี ได้เสนอบทความ “ประวัติศาสตร์วิเคราะห์กรณีสวรรคตพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” โดยวินิจฉัยโรคด้วยการดูอาการที่บันทึกไว้ในพงศาวดาร ว่าน่าจะมาจากโรคสมองสี่แบบ คือ สมองอักเสบจากไวรัส เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เลือดออกในสมอง และโรคเนื้องอกในสมอง ส่วนการปลงพระชนม์ไม่น่าเป็นไปได้ อีกทั้งรัชกาลที่ ๒ มิได้ทรงตั้งพระราชินีอย่างเป็นทางการตลอดรัชสมัย เรื่องสิทธิธรรมของเจ้าฟ้ามงกุฎจึงไม่น่าจะเป็นอย่างที่เข้าใจ ส่วนสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ก็เพิ่งได้สถาปนาพระยศในสมัยรัชกาลที่ ๔

ขณะอาจารย์สุเนตรมองว่า กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นั้นมีปัจจัยทางกำลังคน เศรษฐกิจ และอำนาจทางการเมืองพร้อมชัดเจนในการขึ้นครองราชย์ ข้อกล่าวหาเรื่องชิงราชสมบัติเจ้าฟ้ามงกุฎส่วนหนึ่งนั้นอาจเกิดจาก “อคติ” ของชาวตะวันตก หลังเจรจาทางการค้าล้มเหลว (เช่นกรณีของมิสเตอร์ครอว์-เฟิร์ด)  ด้วยกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์คือกุญแจสำคัญในการเจรจาการค้าจากการคุมกรมท่า อีกทั้งราชสำนักสยามยุคต้นกรุงเทพฯ ก็ไม่ต่างจากสมัยอยุธยา คือการสืบราชสมบัติไม่มีกฎตายตัว การขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ ๓ จึงไม่ผิดปรกติ
เรื่องนี้จึงยังไม่มีข้อสรุป

Image

พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๒ วัดอรุณราชวราราม

แต่หลักฐานต่าง ๆ ก็กำลังบอกเราชัดเจนว่า ใน “แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ” ไม่ใช่ยุคสมัยที่สงบสุขอย่างที่เราเข้าใจ และความเจริญของศิลปะและวรรณคดีในยุคนี้เกิดขึ้นท่ามกลางภัยรอบด้าน

ขุนนาง กวี นักดนตรี ที่มากมายในราชสำนักของพระองค์ย่อมต้องเคยได้ยินเรื่องเล่าบ้างว่า

ในลุ่มน้ำอิรวดี ราชวงศ์คองบองเรืองอำนาจ ควบคุมเมืองท่าสำคัญริมอ่าวเมาะตะมะ คือ ย่างกุ้ง เมาะตะมะ ทวาย มะริด และตะนาวศรี  มีอำนาจเหนือหัวเมืองอาระกัน (ยะไข่) มณีปุระ และหัวเมืองไทใหญ่

ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา “มันดาละ” กรุงเทพฯ ขยายไปทางตะวันออกครอบคลุมล้านช้างและกัมพูชา “ซ้อนทับ” (overlap) กับอิทธิพลเวียดนาม ทางเหนือควบคุมล้านนา ทางใต้มีอิทธิพลเหนือคาบสมุทรมลายูจนถึงรัฐสุลต่านบางรัฐ เช่น กลันตัน เกดะห์ (ไทรบุรี) ปะลิศ และตรังกานู 

ส่วนทางใต้สุดของแหลมมลายู อังกฤษเริ่มเข้ามาปกครองรัฐสุลต่านใต้อารักขาในนามกลุ่มสเตรตส์เซตเทิลเมนส์ หรืออาณานิคมช่องแคบ (Straits Settlements) และนำ “ระเบียบโลกใหม่” ทั้งทางการทหารและการค้าเข้ามาในภูมิภาค

ในเวียดนาม ราชวงศ์เหงวียนกำลังขยายอิทธิพลสู่ล้านช้างและกัมพูชา

นี่คือ “แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ” ที่อึกทึกครึกโครมและมีสีสัน

ซึ่งไม่ปรากฏในแบบเรียนของทางการไทย  

เอกสารประกอบการเขียน
หนังสือ
ภาษาไทย
ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ ๓ (ปรับปรุง). กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๕.

ส. ธรรมยศ. REX SIAMEN SIUM หรือพระเจ้ากรุงสยาม. พิมพ์ครั้ง
ที่ ๓. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โฆษิต, ๒๕๕๑.

สุเจน กรรพฤทธิ์. รุกตะวันออก : ความสัมพันธ์ “สยาม-เวียดนาม”
ก่อนอานามสยามยุทธ. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๖๒.

สุเนตร ชุตินธรานนท์. ฝรั่งรุกพระนั่งเกล้าฯ การทูตสยามคราวจักรวรรดิ
นิยมบุกอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๖๔.

เอกชัย โควาวิสารัช, ผศ. นพ.. “ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ กรณีสวรรคต
รัชกาลที่ ๒ มุมมองแพทย์ ทรงแพ้พระโอสถหรือทรงถูกวางยา ?”ใน ศิลปวัฒนธรรม, กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖.

ภาษาอังกฤษ
Mackay, Colin. A History of Phuket and the Surrounding Region. Bangkok : White Lotus, 2013.

Ngaosyvath, Mayoury and Ngaosyvath, Pheuiphanh. Paths to Conflagration : Fifty Years of Diplomacy and Warfare in Laos, Thailand, and Vietnam, 1778-1828. Ithaca : Southeast Asia Program Publications, Cornell University, 1998. 

Woodside, Alexander. Vietnam and the Chinese Model : A Comparative Study of Nguyên and Ching Civil Government in the First Half of the Nineteenth Century. Cambridge : Harvard University Press,1971.

เอกสารชั้นต้น
ภาษาไทย
จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒ จ.ศ. ๑๑๗๑-๑๑๗๓. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์ในวันพระบรมราชสมภพครบ ๒๐๒ ปี, ๒๕๑๓.

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. ๑๑๒๙ ถึง ๑๑๘๒ เป็นเวลา ๕๓ ปี. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, ๒๕๕๒.

ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน/นฤมล ธีรวัฒน์ ผู้ชำระต้นฉบับ, นิธิ เอียวศรีวงศ์ บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, ๒๕๓๙. 

ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน/นฤมล ธีรวัฒน์ ผู้ชำระต้นฉบับ, นิธิ เอียวศรีวงศ์ บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, ๒๕๔๘.

ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๗.

นายต่อ แปล. สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๖๐.

ประสิทธิ ชิณการณ์ เรียบเรียง. วราวุธ วิสิฐพาณิชกรรม บรรณาธิการ. จดหมายเหตุเมืองถลาง. ภูเก็ต : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต, ๒๕๕๑.

สมหมาย เปรมจิตต์ แปล. มหาสิลา วีระวงส์ เรียบเรียง. ประวัติศาสตร์ลาว. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๓๙.

ภาษาเวียดนาม
Quốc Sữ Quán Triều Nguyễn. Nhu Viễn. Translated by Tạ Quang Phát. Sài Gòn : Bộ Vàn-Hóa Giáo-Dục,/1966.

Quốc Sữ Quán Triều Nguyễn. Đại Nam Thực Lục, Tập 1. Hà Nội : Nhà Xuất bản Giáo dụ, 2007.

หมายเหตุ : สำนวนภาษาไทยจากหลักฐานเวียดนามเป็นสำนวนของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์