Image
เหตุการณ์ขณะ "คุณฉิม" เกิดที่บ้านอัมพวา สมุทรสงคราม จิตรกรรมในพระอุโบสถ วัดอัมพวันเจติยาราม
แผ่นดิน
พระพุทธเลิศหล้าฯ (ที่เราไม่รู้จัก)
ภาค 2
scoop
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์ 
ศึกอมรปุระ
หลังเกิดกบฏเจ้าฟ้าเหม็น สถานการณ์ก็ยังไม่นิ่ง ด้วยเมื่อรัชกาลที่ ๒ ขึ้นครองราชย์ สถานการณ์บนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ในภาพรวมยังมีการแข่งขันระหว่างผู้ครองรัฐต่าง ๆ ทั้งในแง่อิทธิพลและผลประโยชน์ทางการค้า

ที่สำคัญคือคติ “จักรพรรดิราช-ราชาเหนือราชา” ยังคงเข้มข้นในหมู่กษัตริย์บนแผ่นดินภาคพื้นทวีป โดยมีต้นแบบองค์สำคัญคือพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมพูทวีป (อินเดีย)

คตินี้เชื่อว่ากษัตริย์ที่เป็น “ราชาเหนือราชา” ต้องมีรัตนะ (สมบัติ) จากบารมี คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นางแก้ว ขุนคลังแก้ว และขุนพลแก้ว จากนั้นก็จะแผ่แสนยานุภาพไปครอบครองเมืองน้อยใหญ่

นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่อธิบายเสริมว่า อำนาจของจักรพรรดิราชมิได้มีรูปแบบเป็น “เส้นเขตแดน” สมัยใหม่ หากมีลักษณะเป็นแสงจากเทียนที่กระจายออกจากศูนย์กลาง  สิ่งนี้คือ “มันดาละ” หรือ “มณฑลอำนาจ” จะแผ่ไปแค่ไหนก็ขึ้นกับ “ความจงรักภักดี” ซึ่งเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย

กรณีสยามหลังสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ ด้านทิศตะวันตก “มันดาละ” สุดอยู่บริเวณเทือกเขาตะนาวศรี แต่พอข้ามเขา กลุ่มเมือง “ทวาย มะริด ตะนาวศรี” ที่มีผลประโยชน์ค้าสำเภาริมทะเลอันดามันตกไปอยู่ในมันดาละราชสำนักอมรปุระ ทางทิศใต้ขยายลงไปจนถึงพื้นที่อดีตรัฐปาตานี ทางเหนือครอบคลุมหัวเมืองล้านนา ทางตะวันออกไปจนถึงเมืองพุทไธมาศ (ฮาเตียน) อาณาจักรล้านช้าง และกัมพูชา

หลักฐานไทยระบุว่า ช่วงก่อนสิ้นรัชกาลที่ ๑ ความกังวลหลักของราชสำนักสยามยังคงเป็นศึกกับอมรปุระ ด้วยอมรปุระเกณฑ์คนตั้งแต่ย่างกุ้งจนถึงทวายได้ ๔ หมื่นคน พระเจ้าปดุงทรงหวัง “ให้เข้ามาตีกรุงเทพฯ ลองดูอีกศักครั้งหนึ่ง” แต่เจอปัญหาเรื่องทหารหนีทัพและขุนนางกราบทูลทัดทาน

แม้จะล้มเลิกแผน มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ระบุว่าแม่ทัพที่ลงมาเตรียมกำลังคือ “อเติงวุ่น” ด้วยความเสียดาย ก็กราบทูลพระเจ้าปดุงว่า “ลงทุนเสบียงอาหารเกณฑไพร่พลมาได้มากแล้ว...ขอไปตีเมืองชุมภร เมืองตะกั่วป่าตะกั่วทุ่ง เกาะถลาง กวาดต้อนครอบครัวใช้ทุนรอนเสียก่อน...”

จากนั้นยกทัพลงไปที่เมืองทวาย ต่อเรือรบ แยกทัพเรือกำลังพล ๔,๐๐๐ คนล่องลงใต้ไปตีเมืองถลาง และส่งทัพบก ๓,๐๐๐ ไปตีระนอง กระ ชุมพร 

“สงคราม” จึงเกิดขึ้นทันทีในปีแรกของรัชกาลที่ ๒
ปี ๒๓๕๓/ค.ศ. ๑๘๑๐
ศึกถลางสมัยรัชกาลที่ ๒ ถลางต้องรับศึกด้วยตัวเองตลอดการรบจนแตกพ่าย ขณะที่สองวีรสตรีไม่ปรากฏบทบาทในศึกครั้งนี้
Image
อนุสรณ์สถานถลางชนะศึกบริเวณโคกชนะพม่า อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต  พื้นที่ละแวกนี้เคยเป็นสมรภูมิระหว่างถลางกับทัพอมรปุระหลายครั้งหลายหน 
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

“ศึกใน” ของถลาง
กรณีถลางรับศึกอมรปุระในยุครัชกาลที่ ๒ สิ่งหนึ่งที่ถูกละเลยไม่เล่าในชั้นเรียนประวัติศาสตร์คือ “การเมืองภายในของถลาง” เองที่ร้อนแรงยิ่ง

ปลายปี ๒๓๒๙ (ค.ศ. ๑๗๘๖) หลังสงคราม ๙ ทัพจบ ตำราประวัติศาสตร์ชั้นหลังมักบอกเพียง “คุณหญิงจัน” (ภรรยาม่ายของอดีตเจ้าเมืองถลาง) กับ “คุณมุก” (น้องสาว) ได้รับพระราชทานตำแหน่งท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร แล้วก็แทบไม่กล่าวถึงถลางอีก ทำให้เข้าใจว่าทุกอย่างน่าจะจบลงด้วยดี

แต่ในพื้นที่จริง เรื่องไม่ได้จบสวยงามเช่นนั้นย้อนไปช่วงสงคราม ๙ ทัพ โคลิน แมกเกย์ (Colin Mackay) นักประวัติศาสตร์ชาวสกอตแลนด์ ระบุใน A History of Phuket and the Surrounding Region ว่า เดิม “จังซีลอน” (Junkceylon/ภูเก็จ/ภูเก็ต) อยู่ในความสนใจของ บริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company - EIC) ของอังกฤษมาก่อน ผู้ผลักดันเรื่องนี้คือ ฟรานซิส ไลต์ (Francis Light) และ เจมส์ สกอตต์ (James Scott) 

ไลต์เป็นอดีตข้าราชการกองทัพเรืออังกฤษ มาแสวงโชคในสยามตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าตากสิน มีความชอบจากการจัดหาปืนให้สยามจนได้ตำแหน่ง “พระยา” คนทั่วไปเรียกเขาว่า “กปิตันเหล็ก” ในยุคหลังเรียก “พระยาราชกปิตัน” ไลต์ยังได้สิทธิ์เป็นนายหน้าส่งออกแร่ดีบุกและมาอยู่ในถลางตั้งแต่ปี ๒๓๑๕ (ค.ศ. ๑๗๗๒) และเดินทางไปปกครองปีนัง (เกาะหมาก) ก่อนเกิดสงคราม ๙ ทัพไม่นาน  ส่วนสกอตต์คือพ่อค้าชาวสกอตแลนด์ที่มาทำการค้าในถลางก่อนหลบออกจากเกาะในช่วงเดียวกัน

ตำแหน่งของทั้งสองคนที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักมักไม่ย้ำคือ พวกเขาทำงานให้ EIC ด้วย และทำรายงานถึง EIC เสนอให้ยึดภูเก็จ โดยกลุ่มผู้ปกครองถลางขณะนั้นก็สนใจข้อเสนอนี้ เพราะเบื่อหน่ายการขูดรีดภาษีจากกรุงเทพฯ อีกทั้งแนวคิดเรื่อง “รัฐชาติสมัยใหม่” ที่ว่าคนถลางคือคนของประเทศไทย ยังไม่ถือกำเนิด--ภูเก็จ คือสิ่งเดียวที่พวกเขาเกี่ยวเนื่อง
Image
อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

ในที่สุด EIC เห็นชอบแผนดังกล่าว สั่งให้ไลต์ยึดเกาะปีนังที่สุลต่านแห่งเกดะห์ (ไทรบุรี) เสนอให้เช่าก่อน แล้วค่อยยึด “จังซีลอน (ถลาง/ภูเก็ต) ที่มีคนราว ๕ หมื่นคน พร้อมยื่นข้อเสนอไลต์ให้ปกครองพวกเขา”

แมกเกย์ระบุว่า “หลังสงคราม ๙ ทัพ บนเกาะเหลือคนไม่เกิน ๘,๐๐๐ คน มากกว่าความต้องการกีดกันฝรั่งเศส อังกฤษต้องการเกาะสองแห่งนี้เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและการเดินเรือ เปิดทางไปยังหมู่เกาะทางตะวันออก และโดยอ้อมคือเข้าถึงจีน”  แต่ช่วงต่อมาผู้บริหาร EIC คำนวณว่า การยึดปีนังแห่งเดียวน่าจะคุ้มค่ากว่ายึดภูเก็จในแง่ของค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามไลต์กับสกอตต์ยังเสียดายแหล่งแร่ดีบุกบนเกาะ สกอตต์พยายามแจ้งบอร์ด EIC ว่าถ้ายึดภูเก็จได้ “กำไรจากภูเก็จจะบริหารได้ทั้งสองเกาะด้วยซ้ำ”

แต่ทัพสยามที่มุ่งลงมาขับไล่ทัพอมรปุระทางตอนใต้ของแหลมมลายูจนถึงปาตานีทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป ยังไม่นับว่าคุณหญิงจันและคุณมุกที่มีความสัมพันธ์อันดีกับไลต์ไม่ได้มีบารมีในพื้นที่เท่าก่อนหน้านี้

ด้วยรัชกาลที่ ๑ ทรงตั้งพระยาทุกรราช (ทองพูน ณ ถลาง สายตระกูลบ้านดอน) เจ้าเมืองถลางช่วงสงคราม ๙ ทัพ (แต่ไม่มีบารมีเท่าคุณหญิงจัน และไม่มีบทบาทในศึก ๙ ทัพมากเท่า) เป็น “พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์” (ฉายา “พระยาถลางเจียดทอง”) ครองถลางต่อไป แม้สองวีรสตรีจะมีความชอบโดยทรงตั้ง “เมืองภูเก็จ (เทียน)” (สายตระกูลบ้านตะเคียน) บุตรชายท้าวเทพกระษัตรีเป็น “พระยาทุกรราช” ตำแหน่ง “ปลัดเมืองถลาง” (ขณะเจ้าตัวหวังเป็น “เจ้าเมืองถลาง” มากกว่า)

แต่ยุคนั้นไม่มีทางที่ผู้หญิงจะได้เป็นเจ้าเมือง อีกทั้งหนี้สินของอดีตสามีคุณหญิงจันกับราชสำนักก็ยังคงติดค้างจ่าย ผลคือสองวีรสตรีต้องอพยพคนมาอยู่ที่ “บ้านสะปำ” คุมเชิงกับพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ กีดกันการค้าดีบุกของถลาง  พระยาณรงค์ฯ ตอบโต้ด้วยการทวงภาษีเก่าแทนราชสำนัก จนท้าวเทพกระษัตรีแก้ทาง ส่งของมีค่าไปถวายที่กรุงเทพฯ โดยตรง ทั้งยังถวายบุตรีชื่อ “ทอง” เป็นบาทบริจาริการัชกาลที่ ๑ (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็น “เจ้าจอมมารดาทอง” ในปี ๒๓๓๔/ค.ศ. ๑๗๙๑)

ชุดเอกสาร จดหมายเหตุเมืองถลาง เผยว่าเกมพลิกมาอยู่ฝ่ายท้าวเทพกระษัตรี เพราะรัชกาลที่ ๑ ทรงต้องการฟื้นฟูการค้าแถบนี้โดยอาศัยลูกหลานท้าวเทพกระษัตรีที่มีความสัมพันธ์อันดีกับไลต์ซึ่งปกครองปีนังอยู่ (หลังต้านทัพสุลต่านเกดะห์ได้ ไลต์ก็ประนีประนอมกับสุลต่าน โดยจ่ายค่าเช่าเกาะเป็นรายปี หากมองว่านี่คือการเสีย “เกาะปีนัง (เกาะหมาก)” ผู้ที่เสียจึงต้องเป็นสุลต่านเกดะห์ ไม่ใช่กษัตริย์สยาม)

พระยาทุกรราช (เทียน) จึงได้เป็นเจ้าเมืองถลางในปี ๒๓๓๒ (ค.ศ. ๑๗๘๙) มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงครามรามคำแหง” และย้ายตัวเมืองไปที่บางโรง (เมืองถลางบางโรง) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ (ปัจจุบันคือตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง)

จากนั้นผู้ที่ครองเมืองถลางต่อมาคือพระยาถลาง (ทองพูน/บุญคง) น้องชายของท้าวเทพกระษัตรี

เจ้าเมืองถลางคนนี้เองที่ต้องรับศึกอมรปุระในสมัยรัชกาลที่ ๒
Image
รูปปั้น ฟรานซิส ไลต์ บนเกาะปีนัง ยุคปัจจุบัน
ภาพ : ศรัณย์ ทองปาน

Image
“ศึกนอก” ของถลาง
เมื่อเริ่มสงครามในฤดูแล้งปี ๒๓๕๒ จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒ฯ บอกว่า อะเติงวุ่นให้ “แย้ฆ้อง” คุมพล ๔,๐๐๐ ลงเรือรบไปตีถลางกองหนึ่ง ให้ “เรียงษาละกะยอ” คุมกำลังพล ๓,๐๐๐ ไปตีระนองและชุมพร ส่วนรัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ “พระยาจ่าแสนยากร (บัว)” ยกกำลัง ๕,๐๐๐ มาที่เพชรบุรี โปรดเกล้าฯ ให้วังหน้า (เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์) ยกทัพหลวง ๒๐,๐๐๐ คนตามไปเสริม

ทัพอมรปุระไปตั้งค่ายใหญ่ที่ปากพระ (ช่องแคบที่กั้นระหว่างภูเก็ตกับพังงาและแผ่นดินใหญ่) เข้าตีกลุ่มชุมชน บ้านดอน ถลางบนเกาะ เมื่อตีไม่ได้ก็ทำอุบายถอยกลับในเดือนสิบสองข้างแรม (พฤศจิกายน ๒๓๕๒/ค.ศ. ๑๘๐๙) จากนั้นยกกลับมาขึ้นที่ปากพระและแหลมยามู “ล้อมเมืองถลางไว้เมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือนอ้าย ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ (๑๗ ธันวาคม ๒๓๕๒/ค.ศ. ๑๘๐๙)...”

ช่วงเดียวกัน พระยาราชประสิทธิ์ออกจากกรุงเทพฯ ไประดมกำลังที่ไชยา เดินทัพทางปากพนม (ช่องเขาในสุราษฎร์ธานีที่เชื่อมชายทะเลตะวันตกของคาบสมุทร) เจ้าพระยายมราช (น้อย) ระดมกำลังจากนครศรีธรรมราชไปที่ตรังแล้วต่อเรือรบ ส่งพระยาท้ายน้ำยกไปที่เกาะฉนัก

ที่นั่นเองพระยาท้ายน้ำพบทัพเรืออมรปุระและเข้าตีจนแตกแต่ระหว่างรบ “ลอองไฟปลิวไปถูกถังดินลุกขึ้นระเบิดเรือแตกออกไป พระยาท้ายน้ำแลคนในลำเรือก็ตาย”

อีกด้านหนึ่งพระยาทศโยธาตั้งค่ายอยู่ที่ปากน้ำพังงา ไม่ยกข้ามทะเลไปช่วยถลาง

ผลคือทัพอมรปุระชนะหลังล้อมถลางไว้ ๑๑ วัน  ส่วนทัพวังหน้าเข้าตีพม่าที่ชุมพรจนแตกไป พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ฯ บอกว่าถลางแพ้เพราะถูก “ล้อมอยู่ยี่สิบห้าค่าย” ดึงเกมจนทัพอมรปุระแกล้งยกกลับแล้ววกมาตีใหม่ จนเสียเมืองในวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๓๕๒ (ปฏิทินสากลคือปี ๒๓๕๓/ค.ศ. ๑๘๑๐) จากนั้นข้าศึกเลิกทัพไป วังหน้าก็ทรงให้พระยาจ่าแสนยากร (บัว) รั้งเมืองชุมพร และนำทัพหลวงกลับ

แต่แมกเกย์กลับพบว่า ทัพอมรปุระไม่ได้ถอยไปเฉย ๆ สยามต้องอาศัย “ทัพเกดะห์ (ไทรบุรี)” ช่วยโจมตี

ทั้งชี้ว่าตั้งแต่เริ่มศึก รัชกาลที่ ๒ ทรงเน้นป้องกันกรุง ส่ง “กำลังหลัก” ไปด่านเจดีย์สามองค์สกัดทัพหลักอมรปุระที่คาดว่าจะยกมา จากนั้นแบ่งกำลังมาทางใต้เพียง ๕,๐๐๐ คน ทัพที่ลงใต้นี้เองรบชนะทัพอมรปุระที่ชุมพร ทำให้ทัพอมรปุระที่เหลือถอยไปรวมกับทัพเรือที่ปากพระ

ส่วนที่ถลาง “เจ้าเมืองสะสมกำลังที่ ‘ป้อมถลาง’ (ดูแผนที่ศึกถลาง) สร้างแนวป้องกันที่บ้านท่าเรือ แต่ทัพอมรปุระมาถึงเร็ว ยกเข้าทางบ้านสาคู (ปัจจุบันคือหาดในยาง ใกล้สนามบินนานาชาติภูเก็ต) หลังออกจากระนองเพียง ๓ วัน” แม่ทัพอมรปุระคนหนึ่งบันทึกว่า “...เราตั้งค่ายที่บ้านตะเคียน วางค่าย ๑๕ ค่ายโดดเดี่ยวเมือง (ป้อม) ถลาง” เขาเล่าว่า “ป้อมถลางสร้างด้วยไม้ไผ่ มีปืนใหญ่ ๘๕ กระบอก ปืนใหญ่ขนาดเล็ก ๒๐ กระบอก มีปืนคาบศิลามาก ดินปืนมีจำกัด” โดยในป้อมมีคนราว ๒,๐๐๐ คน กำแพงยาวด้านละ ๔๐๐ เมตร ส่วนทางน้ำ เรือรบอมรปุระทำลายหมู่บ้านคนจีนตามชายฝั่ง อ้อมทางใต้ของเกาะย้อนขึ้นไปทางด้านทิศตะวันออกจนถึงอ่าวสะปำ ที่นั่นชาวเมืองปิดกั้นแม่น้ำ เส้นทางไปเมืองถลางและบ้านท่าเรือ แต่ไม่นานก็ถูกยึด
สมัยรัชกาลที่ ๒ ผู้คนจดจำว่า เป็นยุคทองของศิลปวัฒนธรรม แต่นี่เป็นเพียง “ภาพด้านเดียว” ของรัชสมัย
Image
ว่ากันว่าพระพักตร์ของพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานปางมารวิชัยในพระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม วัดประจำรัชกาลที่ ๒ (ทรงบูรณปฏิสังขรณ์) ปั้นโดยรัชกาลที่ ๒
การโจมตีป้อมเริ่มวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๓๕๓ (ค.ศ.๑๘๑๐) แต่กระสุนปืนใหญ่จากป้อมกลายเป็นอุปสรรค เชลยพม่าให้การว่า “(ทัพอมรปุระ) เสียคนไป ๕๐๐ คน...บาดเจ็บจำนวนมาก ต้องถอยกลับแนวป้องกัน” บันทึกแม่ทัพอมรปุระอีกคนบอกว่าที่ต้องถอยเพราะแม่ทัพใหญ่ตาย ทัพที่กำลังโจมตีถลาง “ถูกสั่งให้ถอนตัวและนำเชลยกลับ” ทัพเรืออมรปุระจึงกลับไปที่ปากจั่น เมื่อทัพบกที่กลับจากตีระนองและชุมพรถอยมาสมทบก็มีกำลังมากขึ้น ไม่นาน “ก็มีคำสั่งให้ทัพเรือกลับไปยึดป้อมถลางและภูเก็จอีกครั้ง”

ตรงนี้เองที่หลักฐานไทยมองว่าเป็น “กลศึก”  ต่อมาเชลยศึกอมรปุระให้การว่าในทัพของพวกเขาเต็มไปด้วย “ทหารป่วยเสียชีวิต ทิ้งหน้าที่ เหลือราว ๖,๐๐๐ คน”

ต่อมากำลังส่วนนี้ยกขึ้นบกที่หาดในยาง เข้าโจมตีป้อมที่มีชาวเมืองถลางเหลือป้องกันเพียง ๖๐๐ คน ส่วนในป้อมก็ขาดแคลนยุทธปัจจัยอย่างหนัก ทัพอมรปุระยังส่งเรือไปรอบเกาะสกัดคนหลบหนีและป้องกันเรือรบสยามจากแผ่นดินใหญ่ โดยทหารอมรปุระ ๑.๓ หมื่นคนอยู่บนเกาะพร้อมกองเรือร่วม ๒๐๐ ลำ

ที่แผ่นดินใหญ่ สยามรวมกำลังที่นครศรีธรรมราชและสงขลา เกณฑ์ทัพเรือเกดะห์ (ไทรบุรี) ท่ามกลางความระแวงว่าเกดะห์อาจร่วมมือกับอมรปุระ จนต้องนำกองทหารมาไว้ใกล้เมือง เมื่อโดนกดดัน เกดะห์ต้องเกณฑ์เรือรบ คนจากเกาะตะรุเตาและลังกาวีมารวมกับกองเรือจากเมืองอื่นให้สยาม

จนได้เรือรบ ๖๗ ลำ ต้นเดือนมกราคม ๒๓๕๓ (นับแบบปีปัจจุบันคือปี ๒๓๕๔/ค.ศ. ๑๘๑๑) ทัพเรือสยาม-มาเลย์ มุ่งหน้าเข้าประชิดเกาะภูเก็จทางอ่าวนาง  ฉากการรบตอนนี้ กวีนิรนามชาวมาเลเซียคนหนึ่งที่ไปกับกองเรือแต่งบทกวี บันทึกไว้โดยศาสตราจารย์ไซริล สกินเนอร์ (Prof. Cyril Skinner) ชาวออสเตรเลีย แปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ The Syair Sultan Maulana (The Syair)

ผู้แต่ง The Syair เล่าว่าถลาง “อยู่ใต้การยึดครองของพม่า มีแนวป้องกันตลอดชายฝั่ง ชาวถลาง (ในป้อม)...พยายามยิง (จากป้อม) เพื่อไม่ให้ทัพพม่าเคลื่อนไหวสะดวก แต่ทัพพม่าก็วางแนวล้อมป้อมราวตาข่ายดักยุง ไม่ว่ากำลังเสริมใหญ่โตแค่ไหนก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะฝ่าเข้าไป...”

ที่ชายฝั่งด้านตะวันออกของเกาะ ทัพเรือสยาม-มาเลย์ทดสอบแนวป้องกันด้วยการโจมตีแหลมยามูตอนกลางคืน บนภูเขาพระแทวบนเกาะ ทัพอมรปุระยังวางปืนใหญ่ระดมยิงจากที่สูง แม้พวกเขาจะทำลายแนวป้องกันที่ชายฝั่งได้ก็ต้องถอนตัวกลับเรือ เพราะมีกำลังไม่พอ ไม่สามารถไปช่วยป้อมที่โดนล้อมได้ เพราะบนเกาะมีทัพอมรปุระจำนวนมาก

บทกวีสรุปความว่า “...เรากลับไปที่เกาะยาวใหญ่...ทัพสี่กองปะปนกันระหว่างทหารสยามและมาเลย์ เป็นคนแปลกหน้าของกันและกัน การเห็นต่างเรื่องแผนบุกทำให้ทำอะไรไม่ได้...เราต้องรอทัพจากบางกอก”
Image
บานประตูไม้แกะสลักคู่หน้าของพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม ที่มีการกล่าวถึงว่าเป็นฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ ๒ ด้วยส่วนหนึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ 
“ยุทธนาวีปากพระ”
บันทึกนอกพงศาวดาร

เมื่อกำลังเสริมไปไม่ทัน ป้อมถลางก็แตก 

The Syair เล่าว่า “คนจำนวนมากถูกฆ่า บาดเจ็บ โดนจับขังกรง น้อยคนที่หนีได้ พ่อ แม่ ลูก ภรรยา พลัดหลง...ผู้หญิงและเด็กตายราวกับเห็ดถูกถอนที่ประตูป้อม กำลังทหารพม่านับพันมากเกินกว่าจะต่อต้าน...”

คืนนั้นทัพเรือสยาม-มาเลย์ที่เกาะยาวใหญ่เห็นแสงเพลิงจากป้อมที่โดนเผา “สว่างจ้าบนท้องฟ้าจนถึงรุ่งเช้า” ต่อมาทราบจากคนที่หนีข้ามไปเกาะยาวใหญ่ว่าทั้งเกาะถูกยึด

การรุกกลับของสยามเริ่มขึ้นเมื่อพระยายมราช (น้อย) มาถึงตรัง และสั่งต่อเรือรบทั้งวันทั้งคืนภายใน ๒๐ วัน ได้เรือถึง ๘๐ ลำ (รวมกับที่มีอยู่เดิม ๕๐ ลำ) พร้อมกำลังอีก ๑,๐๐๐ คนที่เกณฑ์จากพัทลุงและปาตานี ต้นเดือนมีนาคม ๒๓๕๓ (นับแบบปัจจุบันคือปี ๒๓๕๔/ค.ศ. ๑๘๑๑) สยามก็รวมกำลังได้ ๘,๐๐๐ คน เรือรบ ๑๘๐ ลำ ขณะทัพอมรปุระที่ปากพระมีกำลัง ๙,๐๐๐ คน เรือรบราว ๑๘๐ ลำ

เมื่อพร้อม ทัพเรือสยาม-มาเลย์เริ่มโจมตีจากทะเลใน (จากชายฝั่งของกระบี่) เข้าสู่ช่องปากพระ ขณะทัพบกโจมตีจากด้านพังงา “...กองเรือพม่าเรียงตัวปิดช่องแคบรับศึก... พวกพม่าเปิดฉากยิง...เสียงปืนทำให้หลายคนนิ่งอึ้งดั่งแมวนั่งบนก้อนอิฐเผาไฟ ในฐานะทัพหน้า เรือรบมาเลย์เริ่มยิงปืนโต้ตอบ...ข้าศึกสาดกระสุนราวห่าฝน สีหน้าสหายหลายคนคล้ายกินยาผิดขนาน...นายพลไปยืนจังก้าที่หัวเรือ ตั้งมั่นว่าไม่ยอมเสียเกียรติ...ด้วยพรจากพระเจ้า กระสุนที่สาดมาไม่สร้างความเสียหาย”

ในทางกลับกัน กระสุนจากทัพเรือรบเกดะห์เข้าเป้าเป็นส่วนมาก เพราะทัพเรืออมรปุระ “จอดเรือไว้ใกล้กัน เราเห็นกระสุนที่ยิงไปตกในตำบลที่เล็งไว้แทบทุกจุด” จากนั้นสยามก็โจมตีซ้ำ กองเรืออมรปุระจึงแตก เมื่อการรบจบ มีทหารเกดะห์เพียงสองนายที่เสียชีวิต  The Syair ให้เครดิตว่า  ชัยชนะที่ปากพระมาจากความสามารถของแม่ทัพเรือเกดะห์และรองแม่ทัพ Padduka Seri Raja

แน่นอน เรื่องราวทั้งหมดข้างต้นไม่ปรากฏในหลักฐานไทย

ปัจจุบัน (ปี ๒๕๖๕) มองจากทางอากาศ ช่องปากพระคือช่องแคบที่เชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวภายใน (ชายฝั่งจังหวัดพังงา กระบี่ และสตูล) จุดเกิด “ยุทธนาวีปากพระ” มี “สะพานสารสิน” และสะพานใหม่สองสะพาน (สะพานท้าวเทพ-กระษัตรี) พาดเชื่อมแผ่นดินใหญ่ (คาบสมุทรมลายู ฝั่งจังหวัดพังงา) กับเกาะภูเก็ตเข้าด้วยกัน โดยก่อนโควิด-๑๙ ระบาด มีรถยนต์ผ่านบริเวณนี้หลายพันคันต่อวัน

ส่วนอดีตสนามรบในศึกถลางสมัยรัชกาลที่ ๒ บนเกาะแห่งอื่น ส่วนมากกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ไม่ว่าหาดท้ายเหมือง หาดในยาง แหลมสะปำ ฯลฯ ชื่ออ่าวที่ปรากฏในพงศาวดารตอนนี้เต็มไปด้วยเรือสำราญและเรือประมงพื้นบ้าน

ร่องรอย “เมืองย่อย” ของถลาง ไม่ว่าบ้านดอน บ้านตะเคียน ฯลฯ กลายเป็นชุมชนเล็ก ๆ ปะปนกับบ้านจัดสรร
ในเขตหมู่ ๕-๙ ของตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง  พื้นที่เหล่านี้เข้าถึงได้จากถนนหลวงหมายเลข ๔๓๐๒/๔๐๒ (ถนนเทพกระษัตรี) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกระดูกสันหลังเกาะ (วางตัวแนวเหนือ-ใต้) ส่วน “ป้อมถลาง” ไม่หลงเหลือร่องรอย

แต่ที่เด่นชัดคือความทรงจำของ “ศึกถลางสมัยรัชกาลที่ ๑” และวีรกรรมของ “คุณหญิงจัน (ท้าวเทพกระษัตรี) คุณมุก (ท้าวศรีสุนทร) ยังถูกจดจำและผลิตซ้ำมากกว่าศึกถลางสมัยรัชกาลที่ ๒

หลังศึกถลางครั้งที่ ๒ เมืองถลางก็โรยรา ประชากรที่เหลือต่างย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่พังงา เพราะไม่ไว้วางใจเรื่องการรุกรานของอมรปุระ  ส่วนในเกาะภูเก็จเหลือคนราว ๑,๐๐๐ คน โดยมีขุนนางคือ “หลวงบำรุง” (ไม่ปรากฏว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มสายตระกูลผู้ปกครองเดิมของถลาง) มาดูแล

ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ-กรุงอมรปุระอยู่ในลักษณะตึงเครียดตลอดรัชกาล

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ฯ เล่าว่า หลังจากนั้นอมรปุระเดินเกมการทูตด้วยมา “แขวนหนังสือ” ที่ขอบแดนเมืองหน้าด่านอย่างกาญจนบุรี มีเนื้อความขอเป็นมิตร โดยมักเป็นหนังสือจากเสนาบดี ส่วนทางกรุงเทพฯ ก็ให้เสนาบดีแขวนหนังสือกลับ ทั้งสองฝ่ายโต้ตอบด้วยคารมโวหารเป็นระยะ

แต่การสร้างความสัมพันธ์ฉันมิตรจริง ๆ ไม่เคยเกิดขึ้น
Image
ประติมากรรมลอยตัวในอุทยาน ร. ๒ จังหวัดสมุทรสงคราม เล่าถึงวรรณคดีในพระราชนิพนธ์เรื่อง สังข์ทอง
ความอึมครึมที่ 
“แนวรบตะวันออก”

ขณะแนวรบด้านตะวันตกเกิดสงคราม แนวรบด้านตะวันออกก็ตึงเครียด

ด้วยหลัง องเชียงสือ ปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิเวียดนาม กรุงเว้กลายเป็นหนึ่งในสามมหาอำนาจบนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์เช่นเดียวกับอมรปุระและกรุงเทพฯ 

“มันดาละ” ด้านทิศตะวันออกของรัชกาลที่ ๒ จึงซ้อนทับเขตอำนาจพระสหายเก่าในมุม องเชียงสือ (จักรพรรดิซาลอง) พระองค์ทรงแบ่งรัฐอาณาจักรรายรอบเป็นประเภทต่าง ๆ เช่น รัฐบรรณาการ รัฐชนเผ่า ทั้งยังให้ “คุณค่า” ว่า “มีอารยธรรม” หรือ “ป่าเถื่อน”

ในกรณีล้านช้างและกัมพูชา หลักฐานเวียดนามบอกเราว่า จักรพรรดิทรงจัดให้อยู่ในประเภท “เถิ่นถวก (thần thộc/ ประเทศราช)” ๑ ใน ๑๓ รัฐบรรณาการ (vassal state) ที่ “ไม่อาจละทิ้งได้” 

กรณีกัมพูชา พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ฯ เล่าว่า เมื่อรัชกาลที่ ๒ ครองราชย์ นักองค์จัน (พระอุไทยราชา) เจ้ากรุงกัมพูชา “ไม่เข้ามาเฝ้า” ตามธรรมเนียมแต่ส่งนักองค์สงวน พระองค์แก้ว และพระยากลาโหม (เมือง) มาแทน

อาการ “น้อยพระทัย” นี้สืบเนื่องจากช่วงปลายรัชกาลที่ ๑ นักองค์จันขอพระญาติคือนักองค์อีกลับกัมพูชาไม่สำเร็จ ขอพระยาเดโชเมง (ที่เป็นอริกัน) ก็ไม่สำเร็จ ซ้ำก่อนรัชกาลที่ ๑ สวรรคตไม่นาน พระองค์ยังถูกกริ้วเมื่อไปถวายบังคมลา เนื่องจากไม่ทำตามธรรมเนียมเข้าเฝ้าฯ ที่ต้องมีผู้นำเข้าไป

พอขึ้นแผ่นดินใหม่ รัชกาลที่ ๒ ทรงใช้สิทธิ์ของจักรพรรดิราช ตั้งนักองค์สงวนเป็นพระมหาอุปโยราชฝ่ายหลัง ให้นักองค์อิ่ม (ที่ไม่ได้มาเฝ้าฯ) เป็นพระมหาอุปโยราชฝ่ายหน้า จัดเครื่องยศพระราชทานออกไป ทั้งยังขอ “เกนกองทับเมืองเขมรให้เข้ามาช่วยราชการ” ด้วยระแวงศึกพม่า  อย่างไรก็ตามพระองค์ทรงยอมส่ง “พระยาเดโชเมง” กลับกัมพูชาแต่ถึงอย่างนั้นพระอุไทยราชาก็ยังทรง “ขัดเคืองอยู่ในใจ” และนิ่งเฉย

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ฯ เล่าว่า กรณีที่ตามมาคือ ทูตเวียดนามที่มาถวายพระพร ขอฮาเตียน “ไปเปนเมืองขึ้นฝ่ายญวนเหมือนอย่างแต่เก่า” โดยรัชกาลที่ ๒ มีพระราชดำริว่า “จขัดขวางไว้นั้นด้วยเปนแผ่นดินใหม่การจะไม่ตลอดไปได้...จึ่งยอมให้เมืองบันทายมาศ” ซึ่งเท่ากับทรงยอมขยับ “มันดาละ” ทางด้านตะวันออกให้ถอยเข้ามา ไม่ใช่การ “เสียดินแดน” อย่างที่คนในยุคหลังเข้าใจ

หลักฐานเวียดนามคือ บันทึกความจริงฯ เล่ารายละเอียดว่าเรื่องนี้เกิดในเดือนสิบสอง (พฤศจิกายน) ปี ๒๓๕๒/ค.ศ.๑๘๐๙ เมื่อจักรพรรดิซาลอง (องเชียงสือ) ทรงมองว่า หมักกงซู (Mạc Công Du) ว่าที่เจ้าเมืองฮาเตียนมีความผิดไม่เหมาะกับตำแหน่ง เพราะนำภรรยาน้อยผู้พิพากษาคนหนึ่งขายให้ชาวสยาม

แต่ด้วยเมืองนี้เคยส่งบรรณาการทั้งเวียดนามและสยาม จึงมีพระราชสาส์นมาทูล ทำให้รัชกาลที่ ๒ ทรงตอบว่าขอให้ตั้ง หมักกงซู ดังเดิม เพราะ “บิดาคือ หมักเทียนตื๋อ (เจ้าเมืองคนก่อน) ทำผลงานไว้มาก ขอให้พระทัยกว้าง มีพระเมตตา พระราชทานอภัยโทษ” แต่จักรพรรดิซาลองตอบว่า “ฮาเตียนเป็นเขตราชวงศ์เหงวียน...ตำแหน่งเจ้าเมืองไม่ใช่มรดกครอบครัว...ตั้งเจ้าเมืองเป็นเรื่องเร่งด่วน ถ้า กงซู มีความสามารถ แม้ไม่ใช่ทายาท เทียนตื๋อ ก็สมควรได้รับตำแหน่ง การคัดเลือกขุนนางมาทำงานเพื่อประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ การสืบอำนาจจากบิดาเป็นเรื่องเล็ก...”

หากตรวจสอบการติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับเว้ย้อนกลับไปสักนิดจะพบว่า ท่าทีจักรพรรดิซาลองเย็นชามาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ สวรรคต เห็นได้จากเมื่อราชทูตสยามไปแจ้งข่าวขุนนางเวียดนามก็ไม่ค่อยพอใจนัก เพราะ “พระราชสาส์น (ของสยาม) มีหลายจุดพูดจาโอ้อวด...”

หลังจากนั้นจักรพรรดิซาลองก็ทรงให้ราชทูตและขุนนางทำแผนที่ “เส้นทางจากสยามมายังเวียดนาม” สืบความเคลื่อนไหวของสงครามระหว่างสยามกับอมรปุระ (ในแหลมมลายู) อย่างใกล้ชิด

ก่อนที่ความตึงเครียดจะพัฒนาเป็น “สงครามตัวแทน” บนแผ่นดินกัมพูชา
จิตรกรรมในเรือนไทยหลังหนึ่งภายในอุทยาน ร. ๒ เล่าเรื่อง “สวนขวา”  ซึ่งการสร้างพระราชอุทยานนี้ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์แบบ “คลื่นใต้น้ำ” จนปรากฏในพระราชพงศาวดาร
กัมพูชา
“เมืองสองฝ่ายฟ้า” 

ปี ๒๓๕๓ (ค.ศ. ๑๘๑๐) สงครามย่อย ๆ ระหว่างสยามกับเวียดนามก็เริ่มขึ้น 

นักองค์จัน (พระอุไทยราชา) ส่งทูตไปกรุงเว้ ทูลจักรพรรดิซาลองว่าสยามวางแผนแบ่งกัมพูชาให้พระอนุชาคือ นักองค์สงวนและนักองค์ด้วง ทั้งรายงานว่าได้ประหารขุนนางที่เข้าข้างสยามคือ “...กลาโหมมางจ่าจี่เบียน (Cao La hâm Man Trá Tri Biện/พระยากลาโหมเมือง) ร่วมมือกับสยาม เป็นทุรยศจึงประหารเสีย”

ในราชสำนักกัมพูชาจึงแตกเป็นสองฝ่าย ที่เอนเอียงเข้าข้างสยามกลุ่มหนึ่งก็หนีมากรุงเทพฯ ทำให้นักองค์จันต้องรีบแจ้งกรุงเว้ด้วยเชื่อว่ากรุงเทพฯ จะส่งกำลังเข้าแทรกแซงกัมพูชาแน่นอน ผลคือจักรพรรดิซาลองทรงส่งทหารเข้ามาในกัมพูชาและส่งข้อความมาถึงเมืองพระตะบอง (ฐานทัพสยามในกัมพูชา) เพื่อขอเจรจา 

แต่หลักฐานเวียดนามบอกว่าทัพเวียดนามถอยกลับก่อนโดยไม่ได้ให้รายละเอียดใด ๆ

ทว่าเรื่องก็ยังไม่จบ เมื่อนักองค์สงวนหนีออกมาอยู่ที่เมืองโพธิสัตว์ ขณะนักองค์จันกับผู้ติดตาม ๑,๕๐๐ คนหนีไปที่ไซ่ง่อน 

มกราคม ๒๓๕๖ (ค.ศ. ๑๘๑๓) รัชกาลที่ ๒ ทรงตัดสินพระทัยส่งกองทัพสยามเข้าสู่กัมพูชา กดดันให้นักองค์สงวนกับนักองค์จัน สองพี่น้องหันมาเจรจากัน แต่หนังสือจากทัพสยามที่ส่งไปบันทายเพชร (อุดงค์มีชัย ราชธานีกัมพูชา) สองเที่ยวถูกกีดกันและไม่มีการตอบรับ ทัพสยามจึงยกไปประชิดเมือง นักองค์อิ่ม นักองค์ด้วงจึงหนีไปหานักองค์สงวนที่มาเข้ากับกองทัพสยาม

ถึงตอนนี้เกิด “บทสนทนา” ระหว่างรัชกาลที่ ๒ กับจักรพรรดิซาลองผ่านพระราชสาส์น

หลักฐานไทยบอกว่า เวียดนามอ้างว่าทัพสยามทำให้นักองค์จัน “ตกใจ” หนีไปไซ่ง่อน ตำหนินักองค์สงวนว่าไม่ซื่อตรง ปกป้องนักองค์จันที่ประหารพระยากลาโหมเมือง มองว่าที่นักองค์จันไม่ไปถวายบังคมพระบรมศพรัชกาลที่ ๑ และเฝ้าฯ รัชกาลที่ ๒ เพราะ “ตั้งแต่ตั้งอาณาจักร ยังไม่เคยมีพิธีที่กษัตริย์ไปแสดงความเคารพพระบรมศพและแสดงความยินดีกับกษัตริย์ใหม่”

ก่อนเสนอว่าจะ “...แต่งให้ขุนนางพาองค์จันกลับเข้ามาเมืองเขมร กรุงพระมหานครศรีอยุธยาจะต้องมีขุนนางผู้ใหญ่ออกไป กรุงเวียดนามจะได้ชี้แจงข้อความพร้อมด้วยขุนนางเมืองญวน ๆ จะได้พาองค์จันคืนไปเมืองเขมร อย่างนี้จึงควรกับสองพระนครเปนใหญ่จำจะปลูกฝังทำนุบำรุงเมืองน้อยขึ้น”

กล่าวอย่างย่นย่อคือเวียดนามขอให้กัมพูชาเป็น “เมืองสองฝ่ายฟ้า”
Image
จิตรกรรมภายในพระอุโบสถ วัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม เล่าเรื่อง ไกรทอง นิทานพื้นบ้านของภาคกลาง ซึ่งรัชกาลที่ ๒ ทรงนำมาพระราชนิพนธ์เป็นบทละครนอก
รัชกาลที่ ๒ ทรงประนีประนอมด้วยการแต่งทูตไปเวียดนาม ซึ่งทูตได้รับการต้อนรับเชิงข่มขู่ตลอดทาง เช่น พาไปดูเสือ ช้าง ฝึกหัดการต่อสู้  ก่อนจะได้เฝ้าฯ จักรพรรดิ ต่อมาจึงส่งกองทัพนำนักองค์จันกลับเข้ามาในกัมพูชา โดยทูตสยามก็มากับกองทัพเวียดนามด้วย

ตอนนี้เองที่นักองค์จันย้ายราชธานีมาตั้งที่พนมเปญด้วยเหตุว่า “เมืองบันทายเพชร (อุดงค์มีชัย) นั้นเป็นที่ดอนไม่ภอใจอยู่” โดยหลักฐานไทยเล่าว่าตั้งแต่นั้น “องค์จันก็มิได้เข้ามาเฝ้า ส่งแต่เครื่องบรรณาการเข้ามาถวายตามอย่างธรรมเนียมทุกปี”

จึงชัดเจนแล้วว่า ในกัมพูชาสยามมีอำนาจจริงเฉพาะพระตะบอง เสียมราบ ศรีโสภณ ส่วน “องค์จันกับเมืองเขมรทั้ง ๓๔ หัวเมืองใหญ่ ก็ไปขึ้นอยู่กับญวนฝ่ายเดียว”

ต่อมาจักรพรรดิซาลองยังทรงประท้วงที่สยามไม่ถอนทหารออกจากกัมพูชา (พระตะบอง) และการที่นักองค์สงวนยังอยู่ในราชสำนักสยาม มีพระราชสาส์นถึงรัชกาลที่ ๒ ว่า “สยามต้องการให้นักองค์จันกับนักองค์สงวนขัดแย้งกันหรือ นักองค์จันกลับบ้านเมืองแล้ว แต่เหตุใดสยามไม่ถอนกำลัง (ออกจากพระตะบอง)...”

หลักฐานเวียดนามบอกว่า สยามยังยืนยันให้นักองค์สงวนมาถวายบังคมรัชกาลที่ ๒ ทำให้จักรพรรดิซาลองทรงไม่พอพระทัย วิจารณ์ให้ขุนนางฟังว่า “...เรากับพระพุทธเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อน (รัชกาลที่ ๑) มีไมตรีต่อกัน มีไมตรีกับรุ่นพระราชบิดาแต่ต้องทำศึกกับพระราชโอรส รัฐเพื่อนบ้านอื่นจะมองอย่างไร...”

ความขัดแย้งเรื่องกัมพูชายังมีขึ้นอีกในปี ๒๓๕๘ (ค.ศ.๑๘๑๕) เมื่อเวียดนามให้นักองค์จันส่งกำลังมาที่พระตะบอง เมืองที่หลักฐานเวียดนามเผยว่าต้อง “ทำลายเสียให้ได้” โดยอ้างว่าอยากดูหินงอกหินย้อยและเก็บมูลค้างคาวหุงดินประสิว (ทำดินปืน) โดยเมื่อปะทะกับกองกำลังของพระตะบองก็ต้องถอยไปที่เมืองโพธิสัตว์ โดยจักรพรรดิซาลองทรงให้แม่ทัพบอกสยามว่านี่เป็นเหตุ “ระหว่างเขมรด้วยกัน”

บันทึกความจริงฯ รายงานท่าทีสยามว่า วังหน้าเสนอให้ทำสงคราม แต่รัชกาลที่ ๒ ทรงไม่เห็นด้วย ตรัสว่าพระองค์อาจพิจารณาเรื่องตั้งวังหน้าใหม่หากยังยืนยันว่าจะเปิดศึกกับเวียดนาม

จึงเห็นได้ชัดว่า ทางด้านตะวันออก รัชกาลที่ ๒ ทรงเน้น “ป้องกัน” และวางขอบมันดาละไว้ที่กัมพูชาฝั่งตะวันตกเท่านั้น