Image

แผ่นดิน
พระพุทธเลิศหล้าฯ
(ที่เราไม่รู้จัก)
ภาค 1

scoop

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์ 

รัชกาลที่ ๒ และกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ ๓) เสด็จฯ ทางชลมารค จิตรกรรมฝาผนังใน “ศาลาทรงยุโรป” วัดพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

ซอสายฟ้าฟาด

ยุคทองแห่งวรรณคดีและศิลปกรรม  

“สุนทรภู่” กวีเอก ...และ ฯลฯ 

คือ “ภาพจำ” เมื่อคนจำนวนมากนึกถึงยุครัชกาลที่ ๒

อาจเนื่องมาจากชั้นเรียนประวัติศาสตร์สมัยประถมฯ มัธยมฯ ที่เล่าถึงยุค “แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ” อันเต็มไปด้วยมหากวี เสียงมโหรีปี่พาทย์ของดนตรีไทย ตำนาน “ซอสายฟ้าฟาด” อันน่าตื่นใจ ทำนองเพลง “บุหลันลอยเลื่อน” ที่ฟังคล้ายเทพนิยายลึกลับจากพระสุบิน

โรแมนติกจนหลายคนจินตนาการว่า แผ่นดินรัชกาลที่ ๒ “สงบราบเรียบ” ปลอดสงคราม ผู้คนมีเวลาสร้างสรรค์ศิลปกรรมหลายด้าน

แต่ประวัติศาสตร์มีหลากแง่หลายมุม มีการค้นพบข้อมูลใหม่แก้ไขข้อมูลเก่าอยู่เสมอ

พุทธศักราช ๒๕๖๕-หลักฐานในยุค “แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ” ถูกทบทวน ตีความหลายครั้ง จนพบว่า “ระหว่างบรรทัด” มี “ข้อมูลใหม่” ที่ทำให้กรุงรัตนโกสินทร์ใน “ยุคแผ่นดินกลาง” แตกต่างจากที่เรารู้

ต่อจากนี้คือ ๑๕ ปีแห่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ซึ่งแบบเรียนชาตินิยมไทยไม่ยอมเล่าอย่างตรงไปตรงมา

Image

พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๒ ใกล้พระอุโบสถ วัดอัมพวันเจติยาราม

“ปราบดาภิเษก”
ไม่ใช่ “ราชาภิเษก”

“...เดือนสิบขึ้นสองค่ำ มีกาคาบหนังสือมาทิ้งที่ต้นแจงหน้าพระมหาปราสาท  พระยาอนุชิตราชาเปนผู้เกบได้ อ่านดูใจความว่า พระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ซึ่งเป็นกรมขุนกระษัตรานุชิต เปนบุตรเจ้ากรุงธนบุรี...จะแย่งชิงเอาราชสมบัติ...”

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒
ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ฉบับตัวเขียน)

๑๐ กันยายน ๒๓๕๒ (ค.ศ. ๑๘๐๙) สามวันหลังรัชกาลที่ ๑ สวรรคต แผ่นดินรัชกาลที่ ๒ เพิ่งเริ่มต้นก็เกิด “คลื่นใต้น้ำ” ทางการเมืองทันที โดย จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒ จ.ศ. ๑๑๗๑-๑๑๗๓ บันทึกว่า “กาคาบหนังสือมาทิ้งที่ต้นแจงหน้าพระมหาปราสาท”

ข้อความในนั้นมีว่า “พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ซึ่งเป็นกรมขุนกระษัตรานุชิต เป็นบุตรเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) กับพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันอีกสองคน คือนายหนูดำคนหนึ่ง จอมมารดาสำลีในพระบัณฑูรน้อยหนึ่ง คบคิดกับขุนนางเป็นหลายคน จะแย่งชิงเอาสมบัติ”

พูดภาษาชาวบ้านคือ หนึ่งในพระราชโอรสของพระเจ้าตากสินเตรียมชิงบัลลังก์

ปรามินทร์ เครือทอง นักวิชาการอิสระ ระบุในหนังสือกบฏเจ้าฟ้าเหม็น ว่าถ้าเชื่อหลักฐานชิ้นหลักคือ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ฯ จะมองว่าต้นคิดคือ “เจ้าฟ้าเหม็น” แต่การสอบสวนโดย “พระองค์เจ้าชายทับ” พระเจ้าลูกยาเธอองค์ใหญ่ (รัชกาลที่ ๓) กลับพบว่าเป็นคนละคน

ข้อมูลนี้ปรากฏใน โคลงยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๓ ว่า

...เหตุพระตำรวจกรม นอกซ้าย
ใจพาลพวกพาลผสม เสี้ยมพระ หลานนา...

สิ่งผิดปรกติคือ ผู้ดำรงตำแหน่งพระตำรวจกรมนอกซ้ายคือ พระอินทรเดช (กระต่าย) มีความชอบในศึกทวายสมัยรัชกาลที่ ๑ นอกจากนี้หนึ่งในขุนนางที่ร่วมก่อการยังมีเจ้าพระยาพลเทพ อดีต “นายบุนนากบ้านแมลา” ซึ่งมีส่วนทำรัฐประหารพระเจ้าตากสิน ที่เหลือก็ล้วนเป็นขุนนางผู้จงรักภักดีต่อรัชกาลที่ ๑ ทั้งสิ้น

ข้อมูลใน ศุภอักษร เรื่องหม่อมเหม็นกับพวกเป็นกบฏ จ.ศ. ๑๑๗๑ ที่ราชสำนักสยามแจ้งประเทศราชในทำนอง “เล่าให้ฟัง” ยังระบุว่า พระอินทรเดช (กระต่าย) พูดกับ “อ้ายเมืองสารวัด” ว่ากรมพระราชวังบวรฯ (รัชกาลที่ ๒) “มีบุญแล้วไม่ทรงพระเมตตาเหมือนแต่ก่อน ถึงจะเปนเจ้าแผ่นดินก็หายอมเปนข้าไม่”

นี่จึงน่าจะเป็นความไม่พอใจของขุนนางกลุ่มที่ “รู้โผแต่งตั้งตำแหน่ง” ในแผ่นดินใหม่ว่าพวกตนไม่ได้ประโยชน์ ไม่เชื่อมั่นในพระปรีชาของรัชกาลที่ ๒  ขณะสำหรับผู้ทิ้งหนังสือ นี่อาจเป็นแผนกำจัดขุนนางที่เป็นศัตรูและ “ลูกเจ้าตาก-เชื้อพระวงศ์กรุงธนบุรี” ไปในคราวเดียวกัน

จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒ฯ กับ ศุภอักษร เรื่องหม่อมเหม็นกับพวกเป็นกบฏฯ ยังให้ข้อมูลคนละทาง  ชิ้นแรกกล่าวว่าเจ้าฟ้าเหม็นเป็นต้นคิด แต่ฉบับหลังบอกว่าถูกยุ แต่พอโดนสอบด้วย “จารีตนครบาล” (ทรมาน) คงทำให้ผู้ต้องหาไม่มีทางเลี่ยง จำต้องรับสารภาพเพื่อให้พ้นความทรมานนั้น ไม่ว่าจะผิดจริงหรือไม่

หม่อมเหม็นถูกสำเร็จโทษในวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๓๕๒ “ตัดไม้ไม่ไว้หน่อ ฆ่าพ่อไม่เลี้ยงลูก สำเร็จโทษเสียด้วยกัน ณ วัดประทุมคงคา ทั้งนั้นประหารชีวิตร์ที่สำเหร่” ส่วนบุตรชายถูกถ่วงน้ำ “บุตรภรรยาอ้ายกบฏที่เป็นแต่ปลายเหตุนั้น โปรดให้ยกโทษประหารชีวิต พระราชทานให้ส่งไปเป็นโทษระบาทว์”

โดยคดีนี้มีผู้ถูกประหาร ๔๐ คน หลังจากนั้นวังท่าพระส่วนตะวันตกที่หม่อมเหม็นเคยประทับก็ถูกยกให้พระองค์เจ้าชายทับ (รัชกาลที่ ๓)

ส่วนรัชกาลที่ ๒ มีพระชนมายุ ๔๒ พรรษา ต้อง “ปราบดาภิเษก” (ขึ้นครองราชย์ด้วยการทำสงคราม) แทนที่จะ “ราชาภิเษก” (ขึ้นครองราชย์ตามปรกติ)

ปี ๒๓๑๑/ค.ศ. ๑๗๖๘

คุณฉิมเกิดที่อัมพวาทำให้ได้ย้ายไปอยู่ใกล้ “วังเจ้าลาว” ก่อนที่บิดาจะรับราชการกับพระเจ้าตากสินจนเป็นสหายกับ “องค์ประกัน” จากอาณาจักรต่าง ๆ

Image

ต้นจันทน์และพระปรางค์บริเวณสถานที่พระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ ๒ ภายในวัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม

เครือข่ายของ “คุณฉิม”

สองร้อยสามสิบปีต่อมา

อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จังหวัดสมุทรสงคราม 

ที่นี่อาจเป็นที่เดียวในเมืองไทยที่เล่าพระราชประวัติรัชกาลที่ ๒ อย่างเต็มที่ผ่านสถานที่และสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ภายใต้การดูแลของวัดอัมพวันเจติยารามและมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (มูลนิธิ ร. ๒)

โดยส่วนพื้นที่วัด ในโบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนังเล่าพระราชประวัติ ร. ๒ เต็มพื้นที่ทุกด้าน ข้างโบสถ์ปรากฏพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๒ มีพระปรางค์ที่เชื่อว่าเป็นสถานที่ตั้งของบ้านอันเป็นพื้นที่ประสูติเดิม ทั้งยังมีส่วนของเรือนไทยในพื้นที่อุทยานฯ จำลองชีวิตคนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

แต่ในเชิงหลักฐานชั้นต้น โดยเฉพาะพระราชประวัติช่วงก่อนขึ้นครองราชย์มีน้อยอย่างน่าแปลก

พระราชประวัติช่วงก่อนขึ้นครองราชย์ที่ถูกผลิตซ้ำในปัจจุบัน (ปี ๒๕๖๕) เวอร์ชันที่ได้รับการอ้างมากที่สุดน่าจะได้ข้อมูลจาก พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งแทบเป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่ให้รายละเอียดเรื่องนี้  ทั้งน่าแปลกใจว่า “ต้นทาง” ของข้อมูลคือ โคลงยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๓) กลับไม่กล่าวถึงพระราชประวัติรัชกาลที่ ๒ ช่วงก่อนขึ้นครองราชย์มากนัก

เรื่องที่มาของข้อมูลจึงควรต้องสืบค้นต่อไป และการอ้างอิงก็ยังต้องระมัดระวังมาก

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าว่า รัชกาลที่ ๒ ประสูติเมื่อ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๓๑๐ (ตามปฏิทินปัจจุบันคือ
ต้นปี ๒๓๑๑/ค.ศ. ๑๗๖๘) เป็นบุตรนายทองด้วง ยกกระบัตรเมืองราชบุรี มีพระนามว่า “ฉิม”

ถ้าลองนับเวลา จะพบว่าช่วงที่ฉิมเกิด เหตุการณ์กรุง (ศรีอยุธยา) แตกผ่านไปแล้ว ๑๐ เดือน สถาปนากรุงธนบุรีแล้ว ๓ เดือน หลังจากนั้นไม่นานบิดาก็ตามพี่ชาย (บุญมา) ไปทำราชการกับพระเจ้าตากสิน

ฉิมจึงย้ายมาอยู่ย่านวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม) ในกรุงธนบุรี  พอ ๒ ขวบก็เริ่มเรียนอักขระกับสมเด็จพระวันรัต (ทองอยู่) ที่วัดบางหว้าใหญ่นั้นเอง  แปดขวบก็ติดตามบิดาไปในการสงครามทุกครั้ง ตั้งแต่ศึกเชียงใหม่ (ปี ๒๓๑๓/ค.ศ. ๑๗๗๐ และปี ๒๓๑๗/ค.ศ. ๑๗๗๔) ศึกบางแก้ว (ปี ๒๓๑๗/ค.ศ. ๑๗๗๔) ศึกอะแซหวุ่นกี้ (ปี ๒๓๑๘/ค.ศ. ๑๗๗๕) และศึกเวียงจันทน์ (ปี ๒๓๒๑-๒๓๒๒/ค.ศ. ๑๗๗๘-๑๗๗๙) ที่ทำให้กรุงธนบุรีได้พระแก้วมรกตและหัวเมืองลาวเกือบทั้งหมด จากนั้นฉิมตัดจุก (โสกันต์/เป็นผู้ใหญ่) เมื่ออายุ ๑๓ ปี (ปี ๒๓๒๓/ค.ศ. ๑๗๘๐) และติดตามบิดาไปทำศึกในกัมพูชา (ปี ๒๓๒๔/ค.ศ. ๑๗๘๑)

การค้นคว้าในยุคต่อมาช่วยให้เราต่อจิ๊กซอว์และสันนิษฐานได้ว่า บิดาของฉิมวางแผนยึดอำนาจพระเจ้าตากสินไว้ตั้งแต่ก่อนเดินทัพไปกัมพูชา โดยช่วงปลายของยุคกรุงธนบุรี พระยาจักรีกลายเป็นศูนย์กลางของขุนนาง “ผู้ดีเก่า” ในราชสำนัก

หลักฐานเวียดนามคือ บันทึกความจริงแห่งราชอาณาจักร ด่ายนาม เล่ม ๑ ให้ภาพชัดเจนว่า เมื่อพระยาจักรี (ทองด้วง) เดินทัพไปกัมพูชาในปี ๒๓๒๔ มีการสงบศึกกับทัพของอ๋องราชวงศ์เหงวียน (องเชียงสือ) ที่ส่งมาช่วยกัมพูชาในสนามรบ ส่งผลให้พระยาจักรีกลับไปกรุงธนบุรี “ปราบยุคเข็ญ” ปราบดาภิเษกได้สำเร็จ

สันนิษฐานได้ว่าในวัยเยาว์ ฉิมคุ้นเคยกับขุนนางจำนวนมากที่แวะเวียนมาเรือนพระยาจักรี โดยเฉพาะ “เจ้าอนุวงศ์” [พระราชสมภพปี ๒๓๑๐/หลักฐานเวียดนามชิ้นหนึ่งเรียกพระนามลำลองว่า “เฉียม” (Chiêm) ซึ่งพ้องกันอย่างน่าประหลาดกับพระนาม “ฉิม” ของรัชกาลที่ ๒] พระโอรสของพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ที่ถูกนำมาเป็น “องค์ประกัน” เช่นเดียวกับรัชทายาทอาณาจักรอื่น ๆ ที่แพ้สงคราม

ปี ๒๓๕๒/ค.ศ. ๑๘๐๙

การขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ ๒ มิได้ราบรื่นอย่างที่หลายคนเข้าใจ ด้วยเกิด “กบฏเจ้าฟ้าเหม็น” ตั้งแต่ต้นรัชกาล

Image

การ “ปราบดาภิเษก” ของรัชกาลที่ ๒ จิตรกรรมฝาผนังตรงข้ามพระประธานในพระอุโบสถ วัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม

นอกจากสถานะ “องค์ประกัน” เจ้าอนุวงศ์ยังเป็น “พระสหาย-เครือญาติ” ของคุณฉิม

เพราะรัชกาลที่ ๑ ทรงมีพระสนมเชื้อสายลาวถึงสององค์คือ เจ้าจอมแว่น (ธิดาเสนาบดีกรุงเวียงจันทน์) และเจ้าจอมทองสุก พระธิดาของเจ้าอินทวงศ์ (พระเชษฐาเจ้าอนุวงศ์) โดยเจ้าจอมแว่นมีศักดิ์เป็นพระมารดาเลี้ยงคุณฉิม (เมื่อขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๒ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระราชธิดาของเจ้าจอมทองสุกกับรัชกาลที่ ๑ ยังทรงกลายมาเป็นพระมเหสีของรัชกาลที่ ๒ ด้วย)

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน เล่าว่าในแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ เมื่อคุณฉิมได้รับสถาปนาเป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร” รัชกาลที่ ๑ ทรงให้ประทับที่ “พระราชวังเดิมริมอู่กำปั่นไต้วัดระฆัง”

อิงจากตำแหน่งบ้านพระยาจักรีที่ปรากฏใน แผนที่สายลับพม่า ซึ่งเข้ามาสืบข่าวในกรุงธนบุรี จะพบว่าตำแหน่งนี้ใกล้ “บางยี่ขัน” ที่ตั้ง “วังเจ้าลาว” ในระยะที่ไปมาสะดวก (ก่อนที่ในปี ๒๓๒๘/ค.ศ. ๑๗๘๕ จะทรงย้ายไปประทับที่พระราชวังเดิมของพระเจ้าตากสิน)

หลังจากนั้นหลักฐานไทยในสมัยรัชกาลที่ ๑ บันทึกบทบาทของกรมหลวงอิศรสุนทรเป็นระยะ ที่ชัดเจนคือปี ๒๓๓๕ (ค.ศ. ๑๗๙๒) ทรงเป็น “ยกกระบัตร” ในทัพหน้าที่ไปตีเมืองทวาย

หลักฐานไทยระบุว่า ศึกครั้งนี้รัชกาลที่ ๑ ทรงตัดสินพระทัยถอยกลับเมื่อเสบียงร่อยหรอ ขณะ มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ระบุว่าสยามถอยเนื่องจากแพ้ศึก

เรื่องน่าแปลกคือ ในศึกใหญ่ที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๑ คือ สงคราม ๙ ทัพ (ปี ๒๓๒๘-๒๓๒๙/ค.ศ. ๑๗๘๕-๑๗๘๖) กลับไม่มีบันทึกถึงกรมหลวงอิศรสุนทร

เราสันนิษฐานได้แค่ว่า พระองค์น่าจะไปในกองทัพ หรืออยู่ร่วมเหตุการณ์ที่เจ้าประเทศราชอย่างเจ้าอนุวงศ์และ องเชียงสือ (เชื้อสายอ๋องตระกูลเหงวียนของเวียดนามที่มาลี้ภัยการเมือง) ยกไปช่วยการศึกด้วย เพราะภายหลังทรงได้รับแรงสนับสนุนทางการเมืองจาก “พระสหาย” เหล่านี้อย่างชัดเจน

โดยช่วงปลายรัชกาลที่ ๑ องเชียงสือ (ที่กลับไปทำสงครามกับขบวนการเต็ยเซินในเวียดนามจนได้ชัยแล้วปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิซาลอง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เหงวียน) ถึงกับมีพระราชสาส์น “เตือนพระสติ” รัชกาลที่ ๑ ให้รีบแต่งตั้งตำแหน่งวังหน้าที่ว่างลง เพราะ “ทรงพระชราลงทุกวัน” วังหน้าพระองค์เก่า (บุญมา) ก็สวรรคตแล้ว “...การข้างน่ากลัวจะไม่เรียบร้อย” โดยระบุว่า “ขอไห้ยกสมเดจพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรขึ้นดำรงเป็นที่กรมพระราชวังบวร...”

รัชกาลที่ ๑ ทรงใส่พระทัยคำแนะนำนี้เพียงใด เห็นได้จากพระราชสาส์นตอบกลับแจ้งกำหนดสถาปนากรมหลวงอิศรสุนทรเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในปี ๒๓๔๙ (ค.ศ. ๑๘๐๖) 

ไม่นับว่าก่อนหน้านั้น ๒ ปี (ปี ๒๓๔๗/ค.ศ. ๑๘๐๔) “พระสหาย” อีกคนของกรมหลวงอิศรสุนทรคือ “เจ้าอนุวงศ์” ก็ได้รับการสถาปนาจากรัชกาลที่ ๑ เป็นเจ้ากรุงเวียงจันทน์มีอำนาจเหนือหัวเมืองลาว

แน่นอนว่าเส้นทางสู่ราชบัลลังก์ของพระองค์น่าจะราบรื่น

จนมาเกิดกรณี “กบฏเจ้าฟ้าเหม็น” ขึ้น

ที่มาของพระนาม
“พระพุทธเลิศหล้าฯ

Image

พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ด้านหน้าโบสถ์วัดอรุณราชวรารามสร้างจำลองจากในพระอุโบสถ วัดพระแก้ว

ชัดเจนว่าพระนามนี้เกิดขึ้นภายหลังยุครัชกาลที่ ๒ จบลงแล้ว  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ มีพระวินิจฉัยในหนังสือ อธิบายพระนามพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี ว่า กรณีพระนามของรัชกาลที่ ๒ เป็นพระนามที่คนทั่วไปเรียกเมื่อ “รัชสมัยนั้นผ่านไปแล้ว” 

โดยสมัยต้นกรุงฯ เรียกยุครัชกาลที่ ๑ ว่า “แผ่นดิน
ต้น” รัชกาลที่ ๒ ว่า “แผ่นดินกลาง” พอถึงรัชกาลที่ ๓ พระองค์ทรงไม่พอพระทัย เพราะเป็นอัปมงคลที่คนจะเรียกว่า “แผ่นดินสุดท้าย”

รัชกาลที่ ๓ จึงมีพระบรมราชโองการประกาศให้
เรียกพระนามพระอัยกา (รัชกาลที่ ๑) และพระราชบิดา (รัชกาลที่ ๒) ตามพระพุทธรูปที่ทรงสร้างพระบรมราชูทิศให้ว่า “พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” และ “พระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย”  ต่อมารัชกาลที่ ๔ ทรงถวายพระนามรัชกาลที่ ๓ ว่า “พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” เปลี่ยนสร้อยพระนามรัชกาลที่ ๒ จาก “สุลาลัย” เป็น “นภาลัย” และให้เรียกพระนามของพระองค์ว่า “พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

“ซอสายฟ้าฟาด-บุหลันลอยเลื่อน”
มีจริงหรือไม่  ?

Image

อาจารย์อานันท์ นาคคง เปรียบเทียบ "รือบับ" (ซ้าย) กับ "ซอสามสาย" (ขวา)

เล่าต่อกันมานานว่ารัชกาลที่ ๒ ทรงมีซอสามสายคู่พระทัยอยู่คันหนึ่ง

ฉายานามพิสดารว่า “ซอสายฟ้าฟาด” เชื่อว่าทำจาก “กะโหลก
มะพร้าวซอ” ที่ดี คือมีปุ่ม (พู) สามปุ่ม รูปกะโหลกมีลักษณะคล้ายชมพู่ผ่าซีก โดยจะนำกะโหลกมะพร้าวนั้นมาตัดขวาง หุ้มด้วยหนังลูกวัวหรือหนังแพะ แล้วนำไปประกอบกับคันชัก สวนมะพร้าวใดที่มีมะพร้าวซอชนิดนี้จะได้รับตราภูมิคุ้มห้าม มิต้องเสียภาษีอากร

ตำนานดังกล่าวถูกเล่าต่อมาในหมู่นักดนตรีไทยและชาวสวนมะพร้าวในสมุทรสงครามหลายชั่วคน แต่ในแง่หลักฐานร่วมสมัยยังไม่มีผู้ใดนำเสนอที่มาของ “ซอสายฟ้าฟาด” อย่างชัดเจน ส่วนมากจะอยู่ในรูปของคำบอกเล่า (oral history) เสียมากกว่า

ทั้งนี้เรื่องที่เล่าขานเคียงคู่กันคือเพลง “บุหลันลอยเลื่อน” ว่ากันว่าช่วงหนึ่งรัชกาลที่ ๒ ทรงรวบรวมกวีเอก (รวมถึง “สุนทรภู่”) มาช่วยพระองค์พระราชนิพนธ์บทละคร  คืนหนึ่งพระองค์ทรงพระสุบิน (ฝัน) ทอดพระเนตรพบจันทร์เพ็ญเต็มดวงลอยกลางนภา มีเสียงดนตรีไพเราะลอยมา แต่ทรงตื่นบรรทมกลางดึก พระองค์จึงทรงซอสายฟ้าฟาดแล้วให้ข้าราชบริพารจดทำนองเพลงไว้ เพลงนี้จึงได้ชื่อ “บุหลัน (พระจันทร์) ลอยเลื่อน” บ้างเรียก “เพลงทรงพระสุบิน” แล้วก็มีพัฒนาการมาโดยลำดับ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการอิสระ เคยเสนอว่า ตำนานเพลงนี้พ้องกับนิทาน “พระเจ้าถังเสวียนจงประพาส
ดวงจันทร์” ใน หนังสือ หลงเฉิงลู่ (บันทึกประพาสเมืองมังกร) อย่างน่าประหลาด โดยเล่าว่า ค.ศ. ๑๒๑๖ คืนไหว้พระจันทร์ กลุ่มนักพรตสามท่านใช้เวทมนตร์เชิญจักรพรรดิประพาสดวงจันทร์ บนนั้นมีตำหนักแก้วงดงามนาม “วิมานไพศาลยะเยือก” อากาศเย็นจัด น้ำค้างตกหนัก หน้าตำหนักมีทหารถืออาวุธเฝ้า จักรพรรดิและนักพรตเข้าไปไม่ได้ นักพรตจึงเชิญเสด็จฯ ในหมู่เมฆ มีกลิ่นหอมโชยมาและมีเซียนท่องอยู่ในอากาศ แต่ก็ไปต่อไม่ได้เพราะหมอกลงหนัก เห็นนางกำนัลบนสวรรค์มาร่ายรำอยู่ใต้ต้นกุ้ยฮวาหน้าตำหนักแก้วพร้อมเสียงดนตรีประโคม จักรพรรดิเสวียนจงที่ทรงพระปรีชาด้านดนตรีจำเพลงนั้นได้แม่นยำ และทรงนำทำนองกับท่วงท่ารำมาถ่ายทอดให้วงดนตรีในราชสำนัก พระราชทานชื่อเพลงว่า “อาภรณ์ปุยเมฆของรุ้งกินน้ำ”

ต่อมาเรื่องนี้ปรากฏในนิยายอิงพงศาวดารจีนเรื่อง ซุยถัง ซึ่งแปลเป็นไทยในชื่อ ส้วยถัง กล่าวถึงเหตุการณ์เดียวกัน แต่รายละเอียดเหลือเพียงจักรพรรดิมีพระสุบินว่าไปเที่ยวในวิมานจันทร์แล้วได้ยินนางฟ้าขับเพลงไพเราะจึงตรัสถามชื่อเพลง ก็ได้ชื่อตามที่กล่าว  อาจารย์ศิริพจน์อธิบายว่ายังไม่ชัดว่า ส้วยถัง ได้รับการแปลครั้งแรกในรัชกาลใด แต่ให้ข้อสังเกตว่าเริ่มมีการแปลตำนานอิงพงศาวดารจีนตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ (ไซ่ฮั่น สามก๊ก)  ต่อให้ ส้วยถัง ถูกแปลล่าช้ามาจนรัชกาลที่ ๔ ก็ไม่แปลก เพราะทรงเป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ ๒ ห้วงเวลาจึงไม่ห่างกันมากนัก ตำนานเหล่านี้ยังอาจเกี่ยวข้องกับประเพณีไหว้พระจันทร์ของคนเชื้อสายจีนที่อพยพเข้ามาในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็เป็นได้

ทั้งนี้ อานันท์ นาคคง อาจารย์ประจำคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้วิเคราะห์ซอสามสายว่า น่าจะมาจาก “รือบับ” เครื่องดนตรีในการแสดง “มะโย่ง” ของชาวมุสลิม โดยมีต้นทางมาจากเครื่องดนตรี “คามานเชช์” (kamancheh) ของเปอร์เซีย (อิหร่าน) ที่เดินทางมาอินโดนีเซีย มาเลเซีย

เมื่อเข้ามาในสยามก็กลายเป็น “ซอหลวง” โดยทิ้งเรื่องพิธีกรรมของมุสลิม “มีผู้พยายามโยงซอสามสายกับซอพุงตอสมัยสุโขทัย แต่ก็ไม่มีหลักฐาน คำเล่าว่ามโหรีสมัยอยุธยาก็น่าจะเป็นการสร้างเรื่องเล่าใหม่ของดนตรีไทย ต่อมาก็กลายเป็น ร.๒ ทรงถือกรรมสิทธิ์วัฒนธรรมอยุธยา เพราะมีวงมโหรีแบบกรุงเก่า”

ส่วนเรื่องตราภูมิคุ้มห้าม น่าจะมาจากการอ้างถึงกฎหมายลูกสมัยอยุธยาฉบับหนึ่งที่กล่าวถึงซอ “ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นการแสดงความสัมพันธ์กับพื้นที่ประสูติ คิดดูว่ายุคนั้นจะมีสักกี่คนที่มีซอแบบนี้ได้ พอเริ่มมีตำรา ก็สถาปนาให้เป็นเครื่องดนตรีที่กษัตริย์โปรดปราน”

ส่วนทำนองของเพลง “บุหลันลอยเลื่อน” อาจารย์อานันท์มองว่ามีทำนองเพลง “คลื่นกระทบฝั่ง” ซ่อนอยู่ ซึ่งเป็นเพลงแห่ที่นักดนตรีไทยคุ้นเคยดี ในยุคนั้นเพลงนี้เปลี่ยนจากเพลงในพิธีกรรมมาเป็นเพลงขับกล่อม  เมื่อต้องการมนตร์ขลังก็ต้องหาบทกวีที่ไพเราะมาเป็นเนื้อหา “สมัยรัชกาลที่ ๒ มีวรรณกรรมสองเรื่อง คือ อิเหนา ขุนช้าง-ขุนแผน  อิเหนา มีบทขับร้องชมถ้ำเห็นดวงจันทร์ที่บอก บุหลันลอยเลื่อนฟ้าไม่ราคี... นี่อาจเป็นแรงส่งที่กลายเป็นชื่อเพลง จากเดิมเรียกเพลง ‘ทรงพระสุบิน’ พอมีเรื่องเล่าถึงพระจันทร์ก็โรแมนติกมากขึ้น เพลงนี้จึงกลายเป็นเพลงคู่บารมีซอสามสาย แต่ซอสามสายก็มีบทบาทไม่เท่ากับ ‘รือบับ’ หรือซอสามสายในกัมพูชา”

จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ กลุ่มข้าราชบริพารนำไปเป็นวงขับไม้ คล้องช้างเผือก หลังจากนั้นลูกเจ้านายจะได้รับการสมโภชพระอู่ด้วยซอสามสาย นำไปกล่อมเศวตฉัตร “นี่คือช่วงที่กระทั่งรัชกาลที่ ๒ ทรงคาดไม่ถึงว่าซอสามสายจะกลับมาอีกในฐานะวัฒนธรรมประดิษฐ์ของราชสำนัก มีบทบาทมากกว่ายุคแรก ผมมองว่านี่คือการปฏิวัติซ้อนของซอสามสาย คือประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้และมีหลักฐานชัดเจน”

ส่วนเรื่องเล่าซอสายฟ้าฟาดที่ยังคงถูกผลิตซ้ำในวิชาประวัติศาสตร์ดนตรีไทยนั้นอาจเป็นเรื่องปรกติ เพราะ “เรายังใช้ตำนานสอนประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง เช่นเดียวกับการสอนพระพุทธศาสนาว่าพระพุทธองค์ดำเนินเจ็ดก้าวตอนประสูติ” อาจารย์อานันท์สรุป  

อ้างอิง : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. “เทศกาลไหว้พระจันทร์ กับตำนานเพลงบุหลันลอยเลื่อน” ใน “On History” มติชนสุดสัปดาห์ ๙-๑๕ กันยายน ๒๕๕๙.

Image

Image

• เกิดกบฏเจ้าฟ้าเหม็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ชำระคดี
• รัชกาลที่ ๒ ปราบดาภิเษก
• ศึกถลางครั้งที่ ๒

Image

Image

Image

• ทูตจากเวียดนามขอเมืองฮาเตียนคืน
• เริ่มขัดแย้งกับจักรพรรดิซาลอง
กรณีพระอุไทยราชา

Image

• สยามส่งกองทัพเข้าไปในกัมพูชาเพื่อยุติศึกในราชสำนัก

Image

• พระอุไทยราชาหนีไปอยู่ซาดิ่งห์ (ไซ่ง่อน)

Image

• เริ่มการทูต “แขวนหนังสือ” กับอังวะ

Image

Image

• สร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ (สมุทรปราการ)
• ส่งสมณทูตไปเกาะลังกา
• เวียดนามขุดคลองวินเต๋

Image

Image

• การรบที่พระตะบองกับพระอุไทยราชา

Image

• สยามเริ่มใช้ธงช้างเผือกในวงจักรกับกำปั่นหลวง

Image

Image

Image

• สร้าง “สวนขวา”

Image

• กบฏอ้ายสาเกียดโง้ง

Image

• จักรพรรดิซาลอง (องเชียงสือ) แห่งเวียดนามสวรรคต
• จักรพรรดิมินหม่างขึ้นครองราชย์
• โปรตุเกสเข้ามาทำหนังสือสัญญา

Image

Image

• สยามโจมตีไทรบุรี

Image

Image

• จอห์น ครอว์เฟิร์ด เข้ามาเจรจาทำหนังสือสัญญา

Image

• กรุงอังวะส่งสาส์นชวนกรุงเว้ตีกรุงเทพฯ

Image

• เริ่มสงครามอังกฤษ-อังวะ ครั้งที่ ๑
• รัชกาลที่ ๒ สวรรคต

Image