Image
วาฬเบลูกา
ภาพ : 123rf.com

พระอภัยมณี 
แฟนตาซี วิทยาศาสตร์
scoop
เรื่อง : นำชัย ชีววิวรรธน์
ยักษ์มีจริงไหม ? นางเงือกล่ะ ? เรามีลูกกับยักษ์หรือนางเงือกได้ไหม ? สัตว์ประหลาดอย่างมังกรหรือ “ม้านิลมังกร” ล่ะมีจริงไหม ? ถ้าไม่มีจริง คิดขึ้นมาได้อย่างไร ? คาถาเรียกลม เรียกฝน ผูกหญ้าเป็นสำเภายนต์ เป็นจริงได้แค่ไหน ? เรือที่มีขนาดใหญ่เหมือนเอาทั้งหมู่บ้านหรือทั้งตำบลไปลอยน้ำล่ะ สร้างได้ไหม ?
บางคนที่อ่านวรรณคดีไทยเรื่อง พระอภัยมณี ของสุนทรภู่ อาจสงสัยว่าตัวละคร สัตว์แปลกประหลาด และสิ่งประดิษฐ์ รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ในวรรณคดีนี้ หากมองผ่านแว่นตาของ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” มีความเป็นไปได้ให้ชวนคิดและใคร่ครวญมากน้อยเพียงใด ?

เ ร า ม า ดู กั น
ม้านิลมังกร ผีเสื้อสมุทร 
และนางเงือก

หากพูดถึงสัตว์ประหลาดในวรรณคดีไทยและวรรณคดีโลก อาจแบ่งได้สามกลุ่มใหญ่ ๆ  กลุ่มแรกคือพวกสัตว์ประหลาดที่คล้ายสัตว์จริง ๆ ซึ่งพบเจอในชีวิตประจำวัน เช่น หมึกยักษ์ หรือคราเคน (Kraken) หรืออาจเป็นสัตว์ที่ไม่มีจริง แต่สร้างจากส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ที่มีอยู่จริง อย่างมังกรและยูนิคอร์น

กลุ่มที่ ๒ ได้แก่มนุษย์ประหลาด เช่น คนแคระ ยักษ์ โทรลล์ หรืออาจรวมถึงบรรดาเทวดา นางฟ้า เอลฟ์ และภูตพรายต่าง ๆ ด้วยก็ได้  และกลุ่มสุดท้ายได้แก่คนครึ่งสัตว์ เช่น มนุษย์หมาป่า มิโนทอร์ (ตัวเป็นคน หัวเป็นวัว) เมดูซา (มนุษย์ครึ่งสัตว์ที่มีเส้นผมเป็นงู บ้างว่าตัวก็เป็นงูด้วย) นางเงือก ฯลฯ

ในเรื่อง พระอภัยมณี มีครบทั้งสามประเภท คือ ม้านิลมังกร ผีเสื้อสมุทร และนางเงือก แถมยังมีทั้งลูกยักษ์และลูกนางเงือกที่เกิดจากฝีมือพระอภัยมณี คือ สินสมุทรและสุดสาครตามลำดับ

ม้านิลมังกรนี่เป็นสัตว์ในจินตนาการที่สุดยอดมาก ๆ นะครับ เท่ขนาดสโมสรระยอง เอฟซี สโมสรฟุตบอลในระดับไทยลีกดิวิชัน นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์และฉายา

สุนทรภู่ระบุว่า ม้านิลมังกรมี “เขี้ยวเป็นเพชรเกล็ดเป็นนิลลิ้นเป็นปาน ถึงเอาขวานฟันฟาดไม่ขาดรอน” เรียกว่ารูปร่างเท่ไม่เบา แถมอึด หนังเหนียว ขนาดขวานฟาดก็ไม่ตาย !
Image
รูปปั้นกิเลนตามคติของชาวจีน
ภาพ : 123rf.com

สุนทรภู่อธิบายที่มาของม้านิลมังกรว่า เป็นสัตว์ลูกผสมที่เกิดจากพ่อมังกรกับแม่ม้า ลูกที่ออกมาจึงมีส่วนหัวเป็นมังกร แต่ส่วนลำตัวจนถึงขาลักษณะเป็นม้าเหมือนแม่ ลำตัวนั้นเป็นเกล็ดสีดำแวววาวคล้ายปลา มีหางคล้ายหางนาคหรือหางมังกร และเป็นกะเทยคือไม่สามารถมีลูกได้

มีผู้สันนิษฐานเรื่องความเป็น “สัตว์ลูกผสม” ของม้านิลมังกรไว้อย่างน่าเป็นไปได้ว่า สุนทรภู่อาจดัดแปลงมาจากความรู้เรื่องการผสมพันธุ์ระหว่างม้ากับลาที่ได้ลูกเป็นล่อซึ่งมีลูกต่อไปไม่ได้อีก ส่วนลักษณะของม้านิลมังกรก็หยิบยืมมาจากตัว “กิเลน” ของจีน๑ ซึ่งสนุกขึ้นไปอีกขั้น เพราะมีผู้สันนิษฐานว่ากิเลนอาจมีต้นแบบมาจากยีราฟแอฟริกา !

ข้อสังเกตอีกเรื่องหนึ่งคือ ปรกติมังกรของพวกตะวันตกจะเป็นสัตว์ร้ายที่ต้องกำจัด แต่สำหรับพวกตะวันออกอย่างจีน มังกรเป็นสัญลักษณ์ของผู้ยิ่งใหญ่อย่างจักรพรรดิ จึงมีความหมายตรงกันข้ามคือ เป็นสัตว์ที่ยิ่งใหญ่และดีงาม แต่ทั้งสองฟากอารยธรรมมีสิ่งที่เหมือนกันคือ มังกรมักจะมีรูปร่างใหญ่โต

ดังนั้นหากมังกรจะไปสมสู่กับม้าก็ออกจะพิสดารอยู่ไม่น้อย อาจต้องย่อขนาดตัวได้ แบบเดียวกับผีเสื้อสมุทรจำแลงกายให้เท่าคนเพื่อสมสู่กับพระอภัยมณี

กลับมาที่เรื่องกิเลนอาจมาจากยีราฟ จะเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร ?

รัชสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อซึ่งเป็นยุคทองของการสำรวจโลกของจีน แม่ทัพเจิ้งเหอได้นำกองเรือมหาสมบัติที่ยิ่งใหญ่มากในสมัยนั้น และอันที่จริงแม้แต่ในยุคปัจจุบันก็ต้องถือว่ายิ่งใหญ่มากอยู่ดี เพราะประกอบด้วยเรือถึง ๖๓ ลำ กำลังพลราว ๒.๘ หมื่นคน ปรากฏว่าเจิ้งเหออาจได้พบทูตจากเบงกอลในมาลินดี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศเคนยา และได้รับมอบ “ยีราฟ” มาจำนวนหนึ่ง จึงนำกลับมายังประเทศจีนเพื่อถวายพระจักรพรรดิด้วยใน ค.ศ. ๑๔๑๔ รวมทั้งสัตว์อื่นอย่างสิงโต เสือดาว ม้าลาย และกวางแอฟริกา

จุดนี้เองที่ทำให้มีนักวิชาการตะวันตกตั้งสมมุติฐานว่า “กิเลน” สัตว์ในตำนานอีกชนิดหนึ่งของจีน อาจมีต้นแบบมาจากยีราฟ  มีอีกสมมุติฐานระบุว่าเขามังกรในภาพวาดจีน ก่อนหน้านั้นไม่ได้มีลักษณะเช่นนี้ และมาเปลี่ยนเป็นลักษณะดังที่เห็นคือเหมือนเขายีราฟนับตั้งแต่นั้นมา !

นอกจากนั้นอาการที่ม้านิลมังกร “เดินบนน้ำ” ได้ ก็คล้าย ๆ  จะมีฤทธิ์เหาะเหินเดินอากาศได้ จึงมีผู้สันนิษฐานว่า สุนทรภู่อาจนำลักษณะม้ามีปีกของเจ้าชายอายิบในเรื่อง อาหรับราตรี มาผสมโรงด้วย ซึ่งถ้าจริงก็แสดงว่าสุนทรภู่มีความรู้เรื่องนิทานจากต่างแดนดีทีเดียว

มาดูเรื่อง “ยักษ์” กันครับ
ยักษ์ (ปลอม) แห่งคาร์ดิฟฟ์
ภาพ : https://www.messengernews.net/life/local-lifestyle/2019/10/cardiff-giant-turns-150/

ยักษ์ที่เด็ก ๆ คุ้นดีในวรรณกรรมโลก น่าจะได้แก่ยักษ์ในเรื่อง แจ็คผู้ฆ่ายักษ์ ตำนานของพวกเวลส์และพวกบรีตัน (Breton) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของคนอังกฤษ  ยักษ์อีกตนหนึ่ง ที่แพร่หลายมากเช่นกัน ได้แก่ยักษ์โกไลแอท (Goliath) ที่โดนเดวิดปราบตามเรื่องราวในพระคัมภีร์

ยักษ์พวกสุดท้ายที่โด่งดังในโลกสมัยใหม่ แต่ไม่แน่ว่าจะใช่คนหรือไม่ ได้แก่ บิ๊กฟุต (Big Foot) และเยติ มนุษย์หิมะ (Yeti Snowman) ซึ่งรายหลังมักพบแถบภูเขาสูงที่หนาวเย็นในเนปาลและทิเบต แต่...มีคนอ้างว่ามีนายพรานไทยเคยพบที่เขตอุทยานแห่งชาติแม่จริม จังหวัดน่านด้วย

สำหรับสัตว์ขนาดใหญ่ในเรื่อง พระอภัยมณี เช่นผีเสื้อยักษ์นั้น คนที่ดูสารคดีวิทยาศาสตร์บ่อย ๆ อาจเคยเห็นบรรพบุรุษแมลงปอที่ยาวเป็นเมตร หรือบรรพบุรุษของเต่าที่ใหญ่เท่า ๆ กับรถยนต์มาบ้างแล้ว  ทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุดในปัจจุบันคือ มีความเป็นไปได้ว่าเกิดจากความเข้มข้นของออกซิเจนในบรรยากาศยุคหลายสิบหลายร้อยล้านปีก่อนที่มากกว่าปัจจุบัน

สำหรับยักษ์อย่าง “ผีเสื้อสมุทร” นั้น สุนทรภู่อธิบายขนาดของร่างกายว่า “สกนธ์กายโตใหญ่เท่าไอยรา” พูดง่าย ๆ คือ ผีเสื้อสมุทรตัวเท่าช้างนั่นเอง !

มีความพยายามหาหลักฐานเรื่องมนุษย์ที่ร่างกายใหญ่เป็นยักษ์ เท่ากับช้าง หรือใหญ่เท่าภูเขา แต่ก็ได้ข้อสรุปว่า ไม่ว่ารูปภาพหรือคลิปตามเว็บไซต์ในอินเทอร์เน็ตนั้น ไม่มีอันไหนเลยเป็นของจริง นอกจากหลักฐานหักล้างต่าง ๆ แล้ว สาเหตุสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งคือ เพราะมันขัดต่อหลักการทางฟิสิกส์อย่างร้ายแรง

หากยักษ์มีโครงสร้างร่างกายทุกอย่างแบบเดียวกับมนุษย์ทุกวันนี้ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมียักษ์จริง ๆ เพราะเมื่อขนาดของวัตถุใหญ่ขึ้น พื้นที่ผิวจะเพิ่มแบบยกกำลังสอง ขณะปริมาตรของวัตถุนั้นจะเพิ่มขึ้นด้วยสัดส่วนมากขึ้นไปอีกคือเพิ่มแบบยกกำลังสาม

ยกตัวอย่าง ถ้าขยายขนาดคนจนสูงถึง ๑๘ เมตรหรือราว ๑๐ เท่าของความสูงเฉลี่ยคนทั่วไป (มาตรฐานฝรั่ง) ปริมาตรจะเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐๐ เท่า ดังนั้นกระดูก ๑ ลูกบาศก์นิ้วจะต้องรับน้ำหนักถึง ๘,๖๐๐ กิโลกรัมหรือ ๘.๖ ตัน แต่หากเพิ่มความสูงขึ้นไปอีกจนเป็น ๑๘๐ เมตร กระดูกขนาดเดียวกันนี้ต้องรับน้ำหนักถึง ๒๕๐,๐๔๗ กิโลกรัม ซึ่งกระดูกรับน้ำหนักขนาดนั้นไม่ไหวแน่ ๆ

พวกสัตว์ยักษ์ในหนังอย่าง ก็อดซิลล่า ฉบับฮอลลีวูดจึงเป็นไปไม่ได้ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เอง
Image
โรเบิร์ต แวดโลว์ กับครอบครัวที่สูงปรกติ
ภาพ : https://www.businessinsider.com/tall-man-robert-wadlow-2016

แม้กระนั้นในประวัติศาสตร์ก็มีคนทำ “ยักษ์ปลอม” ออกมาหลอกคนเก็บเงินค่าเข้าชมหลายครั้งหลายหน ครั้งที่ดังสุดคือยักษ์ปลอมฝีมือของ วิลเลียม นิวเวลล์ (William Newell) ที่ได้ฉายาว่า “ยักษ์คาร์ดิฟฟ์” (Cardiff Giant) ซึ่งถือเป็นเรื่องหลอกลวงทางโบราณคดีที่โด่งดังที่สุดของสหรัฐฯ  ขนาดของยักษ์ตนนี้ที่ระบุไว้คือ สูง ๑๐ ฟุต (๓ เมตรกว่า) และหนัก ๓,๐๐๐ ปอนด์ (๑,๓๖๑ กิโลกรัม)

คนที่สูงที่สุดเท่าที่มีบันทึกหลักฐานไว้ชัดเจน ได้แก่ โรเบิร์ต แวดโลว์ (Robert Wadlow) สูงถึง ๒๗๒ เซนติเมตร ปรกติแล้วคนที่สูงกันทั้งครอบครัวมักเป็นผลจากพันธุกรรม และมีอีกจำนวนมากที่สูงอย่างเหลือเชื่อ โดยเกิดจากความผิดปรกติของฮอร์โมนควบคุมการเติบโต (growth hormone) ซึ่งสร้างจากต่อมใต้สมองที่หลั่งออกมามากเกินไป

กรณีนี้จะสูงผิดจากคนอื่นในครอบครัว ดังเช่นกรณีของนายโรเบิร์ต แวดโลว์

คนที่สูงมาก ๆ มักอายุสั้น เพราะความดันโลหิตที่จะส่งเลือดไปทั่วร่างกายนั้นต้องสูงมาก จึงสร้างภาระต่อหัวใจอย่างหนัก กรณีของแวดโลว์ก็เช่นกัน เขาเสียชีวิตตั้งแต่อายุเพียง ๒๒ ปี

คราวนี้มาดูเรื่องนางเงือก สัตว์ปริศนาแห่งท้องทะเลกันมีตำนานเกี่ยวกับนางเงือกอยู่มากในวรรณคดีทั่วโลก ทั้งของยุโรป แอฟริกา และเอเชีย โดยมักจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำท่วม มีพายุ เรือล่ม และลูกเรือที่จมน้ำ

นางเงือกที่เก่าแก่และรู้จักกันอย่างแพร่หลายที่สุดในโลกตะวันตกน่าจะได้แก่ไซเรน (Siren หรือ Syren) ในเทวตำนานกรีก ซึ่งเดิมมีลักษณะคนครึ่งนกก่อนจะมาเป็นคนครึ่งปลาในภายหลัง  ชื่อของนางกลายเป็นชื่อเรียก “เสียงหวอ” ของรถพยาบาลหรือรถดับเพลิงในทุกวันนี้

แต่เรื่องนางเงือกที่รู้จักกันกว้างขวางที่สุดในโลกสมัยใหม่ คือเรื่อง เงือกน้อยผจญภัย (The Little Mermaid) หนึ่งในเทพนิยายของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน ที่แม้แต่บริษัทดิสนีย์ก็ต้องดัดแปลงมาทำเวอร์ชันใหม่ของตัวเองด้วย

อันที่จริง คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ก็เคยรายงานถึงนางเงือกขณะแล่นเรือผ่านแถบแคริบเบียน

แม้ปัจจุบันก็ยังมีรายงานว่ามีผู้พบเห็นนางเงือกอยู่เรื่อย ๆ แต่เป็นไปได้มากว่านางเงือกที่เห็นนั้นอาจเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใดชนิดหนึ่ง อย่างวาฬเบลูกา (วาฬขาว) หรือพะยูน เป็นต้น

ไม่ว่าสัตว์ ไม่ว่าคน การผสมข้ามสปีชีส์แล้วได้ลูกหลานนั้นเป็นเรื่องยากมาก อย่างในสัตว์เราอาจเจอกรณีของสัตว์ที่มีเชื้อสายใกล้ชิดกันมาก เช่น ล่อที่เกิดจากม้าผสมกับลา ไลเกอร์ (liger) ที่เกิดจากพ่อสิงโตกับแม่เสือ หรือไทกอน (tigon) ที่เกิดจากพ่อเสือกับแม่สิงโต

แต่สัตว์พวกนี้ล้วนเป็นหมัน ไม่อาจมีลูกได้
Image
ภาพวาด นางเงือก (A Mermaid) โดย จอห์น วิลเลียม วอเทอร์เฮาส์ ใน ค.ศ. ๑๙๐๐
ภาพ : th.m.wikipedia.org

Image
ภาพวาด ชาวประมงกับไซเรน (The Fisherman and the Syren) โดย เฟรเดริก เลทัน ราว ค.ศ. ๑๘๕๖-๑๘๕๘
ภาพ : th.m.wikipedia.org

สำหรับกรณีของคนนั้น ในยุคโบราณมีมนุษย์อยู่หลายจำพวก แต่ไม่มีมนุษย์สปีชีส์อื่นเหลืออยู่อีกเลยในทุกวันนี้ คนทั้งโลกล้วนเป็นสปีชีส์ โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) ดังนั้น ไม่ว่ารูปร่างหน้าตาสีผิวภายนอกจะแตกต่างกันมากเพียงใด ชายหญิงทุกคนบนโลกก็อาจจับคู่ให้ลูกหลานได้

แต่ที่น่าสนใจคือมีงานวิจัย๙ พบว่า มีพันธุกรรมบางส่วนของนีแอนเดอร์ทัลที่พบได้ในพันธุกรรมของมนุษย์ปัจจุบันด้วย พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ครั้งหนึ่งนีแอนเดอร์ทัลและมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ อย่างบรรพบุรุษของพวกเรา เคยจับคู่มีลูกหลานด้วย !*

อย่างไรก็ตามดีเอ็นเอของนีแอนเดอร์ทัลที่ตกทอดมาถึงมนุษย์ปัจจุบันมีแค่ไม่เกิน ๔ เปอร์เซ็นต์ของพันธุกรรมทั้งหมดของมนุษย์ปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าการแบ่งสปีชีส์ที่เราใช้อยู่ในความหมายว่าไม่อาจผสมกันและให้ลูกหลานได้นั้นอาจไม่รัดกุมพอ หรือมองอีกแง่หนึ่ง นีแอนเดอร์ทัลกับโฮโมเซเปียนส์ อาจมีสายเลือดใกล้ชิดกันเกินกว่าจะแยกเป็นคนละสปีชีส์ !

จากความรู้ด้านพันธุศาสตร์ปัจจุบัน ยังมองไม่เห็นว่าจะเกิดมนุษย์ครึ่งยักษ์หรือมนุษย์ครึ่งเงือก (หากมีเงือกจริง) ได้อย่างไร เพราะกลไกการสืบพันธุ์ ไม่ว่าอวัยวะเพศ รูปร่างของเซลล์สืบพันธุ์ กลไกการเจาะเข้าเซลล์ไข่ของอสุจิ การจับคู่และแบ่งตัวของโครโมโซม จำนวนโครโมโซมในเซลล์ลูก ฯลฯ

หากแตกต่างกันแม้แต่นิดเดียวก็จะให้กำเนิดลูกไม่ได้

ขอปิดท้ายส่วนของสิ่งมีชีวิตด้วยเรื่องข้าวเจ้าที่ออกรวงเป็น “ข้าวสาร” ที่สุนทรภู่เล่าไว้ว่า มีขึ้นอยู่ที่เกาะแก้วพิสดาร เรื่องนี้เท่าที่ทราบยังไม่มีนะครับ ได้ข้าวเปลือกมา อย่างไรก็ต้องผ่านกระบวนการขัดสีจึงจะได้ข้าวสาร

แต่ที่น่าสนใจคือ มนุษย์เราคัดเลือกพันธุ์เก่งมาก จนข้าวโพดป่าที่เดิมแม้แต่สัตว์ฟันแข็งแรงกว่าเรายังยากจะกินได้ ปัจจุบันเรามีข้าวโพดสายพันธุ์ใหม่ ๆ บางสายพันธุ์ที่เมล็ดอ่อนนุ่มขนาดกินสด ๆ โดยไม่ต้องนำไปต้มก่อน
* เดิมมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลจัดเป็นอีกสปีชีส์หนึ่ง คือ Homo neanderthalensis แต่จากข้อมูลพันธุกรรมบอกว่าอาจเคยมีลูกหลานกับมนุษย์ปัจจุบัน บางคนจึงจัดให้เป็น “ซับสปีชีส์” หนึ่งในสปีชีส์เดียวกับมนุษย์ปัจจุบัน เรียกว่า Homo sapiens neanderthalensis เพื่อให้ สอดคล้องกับนิยามของ “สปีชีส์” ว่าต้องให้ลูกหลานได้
Image
รูปปั้นจากตำนาน Pied Piper เมืองฮาเมลิน เยอรมนี เขาเป่าเครื่องดนตรีเรียกหนูให้ออกจากเมือง 
ภาพ : 123rf.com

ปี่พิฆาต เรือยักษ์
พูดถึงสิ่งมีชีวิตพิสดารไปแล้ว คราวนี้มาดูพวกอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ และเทคโนโลยีในเรื่อง พระอภัยมณี กันครับ พระเอกของเรื่องคือ พระอภัยมณีเป่าปี่ที่ส่งผลออกฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ สั่งให้หลับไร้สติ เคลิบเคลิ้ม หรือแม้แต่ตายก็ยังได้  ปัจจุบันเรารู้กันดีว่าดนตรีมีผลต่อจิตใจคนมาก ในการประชุมวิชาการของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด๑๐ มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า ดนตรีช่วยเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมอง และใช้รักษาความผิดปรกติทางระบบประสาทได้หลายแบบ แถมยังรักษาอาการขาดสมาธิและซึมเศร้า

อันที่จริงพวกนักดนตรีรู้มานานแล้วว่า จังหวะของกลองหรือเครื่องดนตรีอื่น ๆ รวมถึงการสร้างจังหวะอย่างช้า ๆ และสม่ำเสมอที่ใช้ท่องบ่นมนตราหรือสวดมนต์ในพิธีกรรมทางลัทธิศาสนา ช่วยให้เราผ่อนคลาย มีสมาธิ หรือเข้าสู่ “ภวังค์” ได้ และมักอ้างว่าช่วยให้เข้าถึงเทพเจ้าต่าง ๆ ได้อีกด้วย

ขณะจังหวะที่เร็วขึ้นมาอีกหน่อยทำให้ตื่นตัวและมีสมาธิจดจ่อดีขึ้น  ในคนสูงอายุยังพบว่าการรักษาด้วยจังหวะดนตรีที่เหมาะสมช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในสมอง ส่งเสริมความจำและปรับความรู้สึกนึกคิด นอกจากนี้เริ่มมีหลักฐานว่า อาจใช้ดนตรีเป็นตัวกระตุ้นการรักษาสมองที่เสียหายจากเส้นเลือดในสมองแตกได้

แค่ตัวอย่างส่วนหนึ่งที่ยกมาก็พอสนับสนุนที่สุนทรภู่รจนาว่า “อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์” นั้นเป็นเรื่องจริง !

สำหรับการใช้ดนตรีเป็นอาวุธสังหารฝ่ายตรงข้ามนี่ ผมยังหาหลักฐานไม่เจอนะครับ แต่รับรองว่าถ้ามีลำโพงพลังแรงมาก เสียงดนตรีที่ออกมาดังมาก ๆ และเล่นนานพอ จะทำให้หูหนวกชั่วคราวหรือถาวรได้ !

คราวนี้มาดูสิ่งประดิษฐ์อย่างเรือโจรสุหรั่งที่อธิบายว่า “มีกำปั่นนั้นยาวยี่สิบเส้น กระทำเป็นตึกกว้านสถานถิ่น หมากมะพร้าวส้มสูกปลูกไว้กิน ไม่รู้สิ้นเอมโอชโภชนา เลี้ยงทั้งแพะแกะไก่สุกรห่าน คชสารม้ามิ่งมหิงสา มีกำปั่นห้าร้อยลอยล้อมมา เครื่องศัสตราสำหรับรบครบทุกลำ”
Image
เรือสำราญ Wonder of the Seas และมุมมองจากด้านบน
ภาพ : https://toptravellink.com/interesting-facts-you-might-not-know-about-wonder-of-the-seas/

โอ้โฮ ๑ เส้นเท่ากับ ๔๐ เมตร เรือโจรสุหรั่งจึงยาวถึง ๘๐๐ เมตร ใหญ่เป็นหมู่ตึก มีอาคารบ้านเรือน สวนผลไม้ และสัตว์เลี้ยงบนเรือครบ ใครเกิดสมัยสุนทรภู่ได้ยินได้ฟังก็ต้องร้อง โอ้โฮ ! อะไรจะใหญ่โตขนาดนั้น

สุนทรภู่เสียชีวิตในปี ๒๓๙๘ กว่าเรือยักษ์ที่โด่งดังที่สุดในโลกจะได้สร้างก็เกือบ ๖๐ ปีต่อมา เพราะเรือ ไททานิก ออกเดินทางในวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๔๕๕ กระนั้นความยาวของเรือไททานิก ก็ยังแค่ ๒๖๙.๑ เมตร

หากไปดู “เรือสำราญ” สมัยนี้จะเห็นว่ามีขนาดใหญ่โตขึ้นทุกที โดยลำที่ครองตำแหน่งใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน๑๑ ชื่อ วอนเดอร์ออฟเดอะซีส์ (Wonder of the Seas) ยาว ๓๖๒ เมตร...ยาวกว่า ไททานิก อีก ส่วนความกว้างเท่ากับ ๖๔ เมตร ระวางขับน้ำ ๒๓๖,๘๕๗ ตัน จุผู้โดยสารได้ถึง ๖,๙๘๘ คน !

เรียกว่ายกหมู่ตึกยักษ์ลงไปลอยน้ำได้อย่างเต็มปาก แม้จะยาวไม่ถึง ๘๐๐ เมตรอย่างเรือโจรสุหรั่งก็ตาม แต่ในเรือสำราญพวกนี้ก็มีห้องพัก มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีโรงหนัง โรงอาหาร บ่อนการพนัน โรงยิม ห้องลีลาศ สระว่ายน้ำ สนามสำหรับกีฬาต่าง ๆ และใช้วิ่ง ฯลฯ

แม้อาจไม่ได้นำสัตว์เลี้ยงช้างม้าวัวควายเป็น ๆ ลงเรือไปด้วย แต่น่าจะมีสัตว์ที่ใช้เป็นอาหารเตรียมไว้ในห้องเย็นและห้องแช่แข็งมากมายสารพัน ราวกับมีฟาร์มใหญ่ ๆ ในเรือเช่นกัน

ส่วนวิชาสู้รบที่พวกพราหมณ์ใช้ อย่างวิเชียรที่ยิงธนูทีละเจ็ดลูกนี่จิ๊บ ๆ ครับ เครื่องยิงจรวดสมัยนี้ยิงทีละเป็นแผงจำนวนมากกว่านั้นอีก  ขณะที่พราหมณ์โมราสามารถผูกหญ้าเป็นสำเภายนต์ พวกยานรบที่แปลงร่างได้ ยังมีแค่ต้นแบบโชว์ เรียกความฮือฮาอย่าง “กันดั้ม” ยักษ์ ตัวใหญ่ขนาดเท่ากับที่บรรยายไว้ในมังงะของญี่ปุ่น

แต่ไอ้การแปลงหญ้ามาเป็นเรือยนต์นี่ นึกไม่ออกว่าจะทำได้ยังไงนะครับ

สุดท้าย สานนที่เรียกลมฝนได้นั้น ก็ยังไม่มีเทคโนโลยีเรียกลมเรียกฝนที่ได้ผลแน่นอน แม้จะมีสูตรทางเคมีที่ใช้ระดมยิงใส่ก้อนเมฆเพื่อให้มารวมกันจนเกิดเป็น “ฝนเทียม” ซึ่งมีทำทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แต่ก็ต้องพึ่งพาปริมาณเมฆในธรรมชาติว่ามีมากพอให้ทำหรือไม่ และไม่การันตีว่าจะเกิดฝนตกเสมอไป
อ่านถึงตรงนี้ คงต้องยอมรับจริง ๆ ว่า สุนทรภู่นี่นอกจากฝีมือแต่งกลอนที่ยอดเยี่ยมหาคนทาบได้ยากระดับร้อยปี
สองร้อยปีจะมีมาสักคนแล้ว ความรู้ก็ยังเยอะ จินตนาการก็แยะ จนสามารถแต่งวรรณคดีที่วิจิตรพิสดารแฟนตาซีได้ถึงขนาดนี้ !  

เชิงอรรถ
๑ https://th.wikipedia.org/wiki/ม้านิลมังกร (เข้าถึงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕)
๒ https://www.silpa-mag.com/history/article_44986 (เข้าถึง วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕)
๓ ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. (ค.ศ. ๒๐๐๕). The Journal of the Royal Institute of Thailand, vol. 30, No. 3, July-Sep 2005. pp. 764-785.
๔ นำชัย ชีววิวรรธน์. (๒๕๖๐). อยากชวนเธอไปอำผี. สำนักพิมพ์มติชน.
๕ https://www.iflscience.com/health-and-medicine/heres-why-science-says-giant-humans-have-never-and-will-never-exist/ (เข้าถึงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕)
๖ https://en.wikipedia.org/wiki/Cardiff_Giant (เข้าถึงวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕) 
๗ https://en.wikipedia.org/wiki/Robert_Wadlow (เข้าถึง วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕)
๘ https://en.wikipedia.org/wiki/Mermaid (เข้าถึงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕)
๙ https://www.sapiens.org/column/field-trips/human-genome-project-neanderthals/ (เข้าถึงวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕)
๑๐ https://news.stanford.edu/news/2006/may31/brainwave-053106.html (เข้าถึงวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕)
๑๑ https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_largest_cruise_ships (เข้าถึงวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕)