Image
สุนทรภู่
ที่คนรุ่นใหม่รู้จัก
Small Talk
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
Image
จักรกฤต โยมพยอม เป็นชื่อจริงของเขา แต่คนรู้จักในชื่อ “ครูทอม คำไทย” 
มากกว่า  เขาเป็นแฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่ เป็นผู้เขียนหนังสือ สุนทรภู่ไม่ได้เป่าปี่ พระอภัยมณีไม่ใช่คนระยอง  ช่วงนี้เขาเป็นนักแสดง รับบทสุนทรภู่ ในละครย้อนยุคสมัยรัชกาลที่ ๓ ของช่อง Thai PBS ที่จะออกอากาศราวปีหน้าเขารู้จักตัวตนของสุนทรภู่ในเชิงลึกจากการอ่าน วิเคราะห์ความหมายจากตัวงาน และตีความต่อยอดจากที่มีคนศึกษามาก่อน  ชี้จุดและเปิดประเด็นให้คนที่สนใจเรื่องสุนทรภู่มองเห็นแง่มุมใหม่ ๆ

มรดกงานประพันธ์ของสุนทรภู่มีอยู่ทั้งสิ้นนับ ๖ หมื่นคำกลอน การที่มีใครสักคนรีวิวนำเรื่องให้บ้างก็อาจเป็นเหมือนทางลัดหรือแรงจูงใจที่ช่วยให้นักอ่านรุ่นใหม่เลือกหยิบอ่านได้ง่ายขึ้น เพื่อจะรื่นในรสถ้อยคำไทยและความนัยคำกลอนหรือแม้กระทั่งเพื่อจะก้าวขึ้นเป็นแฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่คนต่อ ๆ ไป ครูทอมก็คงพร้อมรอให้มาท้าชิง
สุนทรภู่ที่ครูทอมรู้จักเป็นคนอย่างไร
ผมรู้สึกว่าสุนทรภู่เป็นคนธรรมดาสามัญแบบเรา ๆ ไม่ได้ถือตัว กล้านำเสนอความเป็นตัวเอง ไม่ได้แคร์สายตาใคร ถ้าอยากจะรู้จักสุนทรภู่จริง ๆ ต้องอ่านนิราศ  เทียบกับปัจจุบันนิราศก็คือหนังสือแนวบันทึกการเดินทาง เรื่องที่สุนทรภู่เล่าในนิราศไม่ได้มีการรักษาภาพลักษณ์ใด ๆ  เจออะไรที่ตัวเองมีความรู้สึกดี-ไม่ดี สุนทรภู่เล่าหมดเลย ซึ่งผมว่าอันนี้แหละทำให้ได้รู้จักสุนทรภู่ในฐานะที่เขาคือคนคนหนึ่ง

นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท เป็นเรื่องแรก ๆ ที่สุนทรภู่แต่ง อายุประมาณ ๒๐ ต้น ๆ  อาจจะยังไม่ได้แคร์อะไรมากมายนัก  แต่ว่าพอโตขึ้น ช่วงที่สุนทรภู่บวช เราก็จะเห็นแง่มุม วุฒิภาวะอีกแบบหนึ่ง  การอ่านงานของสุนทรภู่ผมเห็นความเป็นมนุษย์  หลาย ๆ ครั้งคนมักจะยกย่องสุนทรภู่เป็นบรมครู ครูกวีผู้ยิ่งใหญ่ ศิลปินระดับโลก ยกย่องเชิดชูในฐานะที่สร้างคุณงามความดี สร้างผลงานศิลปะอันทรงคุณค่า แต่ผมรู้สึกว่าสุนทรภู่มีอะไรมากกว่านั้น เขาอาจจะไม่ได้อยากให้คนจำในฐานะสุดยอดบรมครูด้วยซ้ำ แต่อยากให้คนเห็นเขาในมุมที่ว่าเขาก็คือคนคนหนึ่งที่มีหลายด้าน ทั้งด้านที่เป็นคนเดินดินธรรมดา ทำเรื่องดี-ไม่ดี แต่ในขณะเดียวกันเขาก็สร้างผลงานที่มีคุณค่า ได้รับการแปลออกไปเป็นภาษาต่าง ๆ

ชีวิตที่ดูผันผวนของสุนทรภู่คือเสน่ห์อย่างหนึ่ง คือความน่าสนใจ  สุนทรภู่มักจะเล่าแง่มุมที่สอดคล้องกับพระพุทธศาสนา เรื่องความไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งชีวิตของสุนทรภู่ก็สอดคล้องกับสิ่งที่เล่าอยู่บ่อย ๆ เรื่องความไม่แน่นอนของชีวิต เดี๋ยวมีช่วงรุ่งโรจน์ เดี๋ยวก็มีช่วงตกยากต้องไปบวช ต้องระเหเร่ร่อน

สุนทรภู่อาจจะไม่ได้ตั้งใจนำเสนอแง่มุมอนิจจังผ่านชีวิตเขาแต่ชีวิตเขาเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นข้อเท็จจริงในประเด็นนี้
Image
ที่เล่าในนิราศเป็นความจริงทั้งหมดหรือ
ผมก็ตอบไม่ได้ว่าจริงหมดไหม แต่เท่าที่ศึกษา ผมรู้สึกว่าสุนทรภู่ไม่ได้นำเสนอสารคดีแบบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ สุนทรภู่เป็นจินตกวี ใช้จินตนาการ โดยส่วนตัวผมมองว่าสิ่งที่สุนทรภู่เขียนมีความจริงเป็นพื้นฐาน แต่ก็ต้องแต่งเสริมเติมสี เสริมอรรถรสเข้าไปบ้างอยู่แล้ว เพื่อให้คนอ่านรู้สึก เพราะสิ่งที่สุนทรภู่เขียนไม่ใช่งานวิชาการ ไม่ใช่ตำรา  แล้วคาแรกเตอร์ของสุนทรภู่เป็นคนที่พร้อมจะนำเสนอความสนุกสนานอยู่ด้วย ใส่เกร็ดนั่นนี่นู่น นั่นแปลว่าสิ่งที่สุนทรภู่เสริมเข้าไปก็น่ามีพอสมควรเหมือนกัน

อย่างเรื่องผู้หญิง ในนิราศทั่วไปผู้เขียนมักครวญถึงนางผู้เป็นที่รักเพียงคนเดียว แต่ในนิราศของสุนทรภู่รำพันว่ามีความผูกพันลึกซึ้งกับผู้หญิงหลายคนมาก  ผมเคยลองนับ ๆ ดูประมาณ ๒๐ กว่ารายชื่อที่ปรากฏ  จำได้ว่าตอนเรียนเรื่องนิราศสมัยอยู่มัธยมศึกษา ครูสอนว่าคุณสมบัติของนิราศอย่างหนึ่งคือจะต้องมีการพร่ำพรรณนาถึงคนรัก  งานของสุนทรภู่ชัดมาก เต็ม ๆ เลย

การพูดถึงผู้หญิงมากมายก็แสดงให้เห็นคาแรกเตอร์ของสุนทรภู่ว่าเป็นคนที่รู้สึกกับเรื่องความรัก สนุกกับเรื่องชู้สาวแบบนี้เหมือนกัน  แล้วก็แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนมีเสน่ห์ ถึงแม้ว่าสุนทรภู่มักบอกเสมอ ๆ ว่าตัวเองหน้าตาไม่ดีเลย แต่คารมดี 

ถ้าจำไม่ผิด น่าจะเป็น นิราศพระประธม ที่สุนทรภู่ไปไหว้แล้วอธิษฐานว่าชาติหน้ามีจริง ขอให้เกิดมาหน้าตาหล่อเหลา แปลว่าสุนทรภู่เองก็รู้สึกว่าตัวเองก็ไม่ใช่คนที่หน้าตาดี พออ่านหลาย ๆ เรื่องก็จะมาปะติดปะต่อได้ ทำให้ได้รู้จักสุนทรภู่มากขึ้น
ศึกษาเรื่องสุนทรภู่อย่างไรจนได้เป็นแฟนพันธุ์แท้
ผมพยายามวิเคราะห์ว่านี่ไม่ใช่รายการสารคดี แต่คือรายการบันเทิง รายการเกมโชว์ จุดประสงค์ของรายการคือคนดูต้องบันเทิง  ถ้ายากเกิน วิชาการเกิน คนดูไม่เข้าใจ ไม่อิน ไม่สนุก  ดังนั้นสิ่งที่ถามในรายการต้องเป็นสิ่งที่มีประเด็นให้เล่า  รายการชอบคนที่เล่าเรื่อง เวลาถามปั๊บ ก่อนจะตอบต้องเล่าก่อน นั่นแปลว่าสิ่งที่รายการจะเอามาถามต้องเป็นสิ่งที่เล่าได้ ต้องมีเรื่องให้เล่า คนดูถึงจะสนุก รู้สึกว้าวกับการแข่งขันนี้
คุณค่าหรือจุดเด่นในงานของสุนทรภู่อยู่ตรงไหน
พิจารณาในสองด้าน คือ คุณค่าด้านสังคมกับด้านวรรณศิลป์ วรรณศิลป์ก็คือความงามทางภาษา การใช้สัมผัส การใช้โวหารภาพพจน์ การเปรียบเปรยต่าง ๆ ซึ่งงานของสุนทรภู่ชัดมากว่าสัมผัสแพรวพราว สัมผัสนอกก็บังคับอยู่แล้ว แต่สัมผัสในนี่เยอะมาก พวกกลอนแปดเจอเยอะเป็นปรกติเลย

ฉันทลักษณ์ประเภทอื่นอย่างใน นิราศสุพรรณ เป็นวรรณคดีเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ คือในด้านวรรณศิลป์สัมผัสไพเราะ ความเปรียบเยอะ โดยปรกติโคลงจะไม่ได้ซีเรียสเรื่องสัมผัสในหรือสัมผัสระหว่างวรรคบางท่อน แต่สุนทรภู่จะใส่สัมผัสแถมเข้าไปมาก จนบางคนก็มองสุนทรภู่ว่าแต่งโคลงไม่เพราะ เพราะสัมผัสเยอะเกิน แต่ผมอ่านแล้วเพลิน มีบทหนึ่งที่ผมชอบมากใน นิราศสุพรรณ ที่เอาเสียงเครื่องดนตรีไทยมาเล่น ตรงนี้จะเห็นว่าสุนทรภู่เล่นเสียงวรรณยุกต์ด้วย แล้วก็มีสัมผัสระหว่างวรรคตรงที่ไม่ได้บังคับ

คุณค่าด้านสังคมก็เป็นสิ่งที่ผมชอบมากเหมือนกันตอนอ่านงานสุนทรภู่ อ่านบทนี้แล้วได้ความรู้ ได้ข้อคิดอะไรบ้าง วรรณคดีทุกเรื่องแทรกประเด็นข้อคิดต่าง ๆ อย่างในเรื่อง พระอภัยมณี จะเห็นว่าแทรกคำสอน ข้อคิด คติเตือนใจเยอะมากเลย  หรือถ้าเป็นพาร์ตความรู้ที่ได้คือดูว่าอ่านบทนี้แล้วได้อะไรเพิ่มบ้าง เกร็ดประวัติศาสตร์ ค่านิยม  การอ่านงานสุนทรภู่ทำให้ได้เห็นภาพในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ตอนนั้นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเป็นอย่างไร กินอยู่กันอย่างไร มีประเด็นทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม การล่าอาณานิคม ฯลฯ เพียงแต่ว่าบางแง่มุมอาจจะหนักไป คนเลยไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไรนัก

งานของสุนทรภู่ตอนผมโตแล้วกลับไปอ่านซ้ำ เจอประเด็นหลายอย่างที่ตอนเด็ก ๆ อ่านผ่าน ๆ เห็นประเด็นต่าง ๆ มากขึ้น
"แล้วอธิษฐานว่าชาติหน้ามีจริง ขอให้เกิดมาหน้าตาหล่อเหลา แปลว่าสุนทรภู่เองก็รู้สึกว่าตัวเองก็ไม่ใช่คนที่หน้าตาดี พอเราอ่านหลาย ๆ เรื่องก็จะมาปะติดปะต่อได้ ทำให้เราได้รู้จักสุนทรภู่มากขึ้น"
ได้ยินเสียงปี่พระอภัยมณี ทำไมผีเสื้อสมุทรไม่หลับ
ตอนอ่านตั้งแต่เด็ก ๆ ผมไม่สงสัยในประเด็นนี้ จนพอกลับไปอ่านซ้ำถึงเจอว่าในซีนนั้นพอพราหมณ์หนุ่มสามคน คือ วิเชียร โมรา สานน และน้องชายพระอภัยมณีคือศรีสุวรรณ หลับไปแล้ว พระอภัยมณีเปลี่ยนเพลง

ครั้งแรกนั้นผีเสื้อสมุทรได้ยินเสียงปี่เพลงหนึ่ง แต่ตอนหลังได้ยินเสียงปี่แล้วผีเสื้อสมุทรตาย นั่นแปลว่าการเป่าปี่แต่ละครั้ง แต่ละเพลง ฟังก์ชันมันต่างกัน
บางคนอาจสงสัย พระอภัยมณีมีความสัมพันธ์กับนางเงือกที่ท่อนล่างเป็นปลาได้อย่างไร
อ่านหนังสือเกี่ยวกับสุนทรภู่เจอที่หลายคนวิเคราะห์ไว้ แล้วอ่านจากตัวบทผมก็เอะใจ มีท่อนที่บอกว่านางผีเสื้อสมุทรจับพ่อแม่นางเงือกได้แล้วก็ฉีกแขนฉีกขา แปลว่าเงือกไม่ใช่แบบที่เราคิดว่าเป็นแบบ little mermaid  พอเรียนวรรณคดีไทยเยอะขึ้นก็เจออีกว่า เงือกในวรรณคดีไม่ได้แปลว่าสัตว์ที่ครึ่งบนเป็นคนครึ่งล่างเป็นปลาเท่านั้น เงือกในวรรณคดีบางเรื่องแปลว่างู พญานาคด้วย นั่นแสดงถึงคำว่า “เงือก” แปลได้หลายรูปแบบแล้วแต่คนเขียนจะจินตนาการ

ที่วัดพระแก้วจะมีนางสุพรรณมัจฉาที่ประตู เป็นภาพผู้หญิงปรกติ แต่มีหางงอก ผมก็เลยรู้สึกว่ามันก็อาจจะเชื่อมโยงกัน ตอนท้ายของเรื่อง พระอภัยมณี พระอินทร์ลงมาช่วยตัดหางนางเงือก แล้วนางเงือกกลายเป็นคนปรกติ  ลองนึกว่าถ้านางเงือกครึ่งบนเป็นคนครึ่งล่างเป็นปลา ตัดหางปั๊บก็เหลือแต่ครึ่งบนสิ แล้วจะกลายเป็นคนปรกติได้อย่างไร นั่นแปลว่าจริง ๆ แล้วนางเงือกต้องมีขา

เงือกในวรรณคดี พระอภัยมณี เหมือนคนทุกอย่าง แต่มีหางงอก ฉากที่พระอภัยมณีมีอะไรกับนางเงือก สุนทรภู่ไม่ได้เล่าถึงความพิสดารเลย บอกแค่ว่ามันรุนแรง  นั่นแปลว่านางเงือกน่าจะมีทุกอย่างเหมือนคนปรกติ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมวิเคราะห์เองว่าน่าจะเป็นไปได้ที่จะเป็นแบบนี้
ที่ว่ากษัตริย์วิกตอเรียชอบให้ช่างวาดรูปเหมือนกับนางละเวงวัณฬา เรื่องจริงกับเรื่องแต่งนี้เกี่ยวข้องกันไหม
ดูง่าย ๆ ว่าวรรณคดีในยุคเดียวกันทั้งหมดและสภาพสังคมไทยตั้งแต่อดีตค่อนข้างจะเป็นสังคมปิตาธิปไตย ผู้ชายเป็นใหญ่ เจ้าเมืองเป็นผู้ชาย คนปกครองนครต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น แต่มาในเรื่อง พระอภัยมณี มีนางละเวงวัณฬาเป็นเจ้าเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีเจ้าเมืองเป็นผู้หญิง แถมยังเป็นฝรั่งด้วย

พอศึกษาประวัติศาสตร์ก็จะเจอว่าสุนทรภู่แต่งเรื่อง พระอภัยมณี ในช่วงที่ควีนวิกตอเรียล่าอาณานิคมมาแถบเอเชียใต้ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ การที่กษัตริย์ผู้หญิงฝรั่งครองแถบเอเชียใต้สอดคล้องกันมากกับในเรื่อง พระอภัยมณีที่มีนางละเวงวัณฬาเป็นผู้หญิงฝรั่งครองเมืองลังกา

ถ้าเราลองวาดแผนผังดูแผนที่ต่าง ๆ ก็จะเห็นชัดเลยว่าเมืองลังกาในเรื่อง พระอภัยมณี ตำแหน่งมันก็คือแถบเอเชียใต้ นั่นแปลว่าข้อมูลทุกอย่างสอดคล้องกันมาก ๆ ทำให้วิเคราะห์ได้อย่างชัดเจนว่า สุนทรภู่หยิบคาแรกเตอร์ควีนวิกตอเรียมาเป็นนางละเวงวัณฬา

เจอแบบนี้ก็ทำให้เห็นว่าสุนทรภู่เป็นคนรอบรู้ ใฝ่รู้ ช่างคุย หาข้อมูลต่าง ๆ ชอบฟัง ชอบอ่าน ชอบดู แล้วก็นำมาประยุกต์เสริมจินตนาการต่อยอดมาเป็นงานของตัวเอง
Image
เกาะแก้วพิสดารอยู่ที่ไหนกันแน่
ไม่ชัดเจนว่าอยู่ตรงไหน แต่บอกได้ว่าอยู่ทางทิศตะวันตกของภูเก็ต  มีคนสันนิษฐานว่าอยู่แถบ ๆ นิโคบาร์ ไม่ใช่เกาะเสม็ดแน่นอน เพราะเรื่องราวใน พระอภัยมณี เกิดขึ้นที่ฝั่งอันดามัน

ถ้าวาดแผนที่จะเจอว่าทุกอย่างเกิดขึ้นที่ฝั่งอันดามัน ไม่ใช่อ่าวไทย เพียงแต่ว่าการเข้าใจผิดว่าสุนทรภู่เป็นคนระยอง ก็เลยตีความว่าสุนทรภู่ต้องได้เกาะแก้วพิสดารมาจากเกาะเสม็ดแน่ ๆ แต่จริง ๆ ไม่ใช่ และสุนทรภู่ก็ไม่ใช่คนระยองด้วย
ทั้งลักษณะตัวละครและฉากในเรื่อง พระอภัยมณี กล่าวกันว่าแปลกแหวกแนวจากวรรณคดีในยุคนั้น
ความก้าวหน้าในงานของสุนทรภู่ จริง ๆ ตั้งแต่ต้นเรื่องเลยด้วยซ้ำ กับประเด็นปัญหาต่าง ๆ ของเรื่องเกิดมาจากการที่พระอภัยมณีไปเรียนเป่าปี่ กับศรีสุวรรณเรียนกระบี่กระบอง ซึ่งไม่ตรงตามขนบของผู้ใหญ่สมัยนั้น พ่อไม่ได้อยากให้ลูกเรียน พอกลับมาถึงพ่อเนรเทศออกจากเมือง เลยกลายเป็นปัญหาต่าง ๆ ตามมา

นั่นแปลว่าปมปัญหาในเรื่องเกิดจากการที่พ่อไม่โอเคกับการที่ลูกไปเรียนในสิ่งที่ลูกชอบ ซึ่ง ณ ปัจจุบันปัญหานี้ก็ยังเกิดอยู่เลย เรื่องที่พ่อแม่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าชีวิตลูก ไม่ได้มองถึงสิทธิในร่างกาย ในฐานะที่เขาคือมนุษย์คนหนึ่ง

ท้าวสุทัศน์ พ่อของพระอภัยมณีกับศรีสุวรรณ มองว่าลูกต้องเชื่อฟังคำสั่ง ต้องโตมาครองเมืองต่อ ดังนั้นลูกต้องไปเรียนอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อการเป็นกษัตริย์ แต่ดันไปเรียนเป่าปี่ กระบี่กระบอง ไม่เวิร์ก ก็เลยเนรเทศไปเลย ซึ่งมันก็ไม่ต่างอะไรกับหลายครอบครัวในปัจจุบันที่พ่อแม่บังคับให้ลูกต้องเรียนอันนั้นอันนี้ตามที่พ่อแม่อยากเรียน แล้วพอลูกไม่เรียนพ่อแม่ก็โกรธ โมโห ไม่พอใจ บางครอบครัวถึงขั้นไล่ลูกออกจากบ้านก็มี ไม่ส่งค่าเทอม ปล่อยให้ลูกไปเรียนเองตามยถากรรม มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาหลาย ๆ อย่างเหมือนกัน

ถ้าพ่อแม่เข้าใจลูกและเลี้ยงดูลูกในฐานะที่ลูกคือมนุษย์คนหนึ่ง ไม่มองว่าเขาคือสมบัติของพ่อแม่ ปัญหาหลายอย่างจะไม่เกิดขึ้น
ถึงวันนี้งานฉันทลักษณ์แบบสุนทรภู่พ้นสมัยไหม
ตอบยากครับ ผมมองว่างานศิลปะแต่ละประเภทมันแล้วแต่คนชอบ วรรณกรรมประเภทร้อยกรองต้องใช้เวลา ต้องค่อย ๆ อ่าน ค่อย ๆ คิดทีละวรรค เราถึงจะได้เยอะ ได้เห็นความงามในภาษา ได้เข้าใจแง่คิดมุมมองต่าง ๆ ที่กวีต้องการจะถ่ายทอด ถ้าเราอ่านแบบรีบ ๆ มันได้ไม่ครบ หรืออาจจะได้น้อย

ไม่แปลกถ้าในยุคที่คนเร่งรีบแล้วจะอ่านกวีนิพนธ์น้อยลง ใครอยากอ่านแบบไหนก็อ่านตามนั้นไป  สมมุติว่าคนรุ่นใหม่หรือใครก็แล้วแต่ยังเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นอยู่ เดี๋ยวเขาก็อ่าน แต่ถ้าเขามองสิ่งนั้นไม่มีคุณค่า ไม่มีประโยชน์กับเขา แล้วเขาจะไม่อ่าน ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรเลย 

ลองนึกดูว่าหลาย ๆ ครั้งที่เรียนหนังสือ บางวิชาเรารู้ว่าเรียนไปแล้วมีประโยชน์กับชีวิตก็จะตั้งใจเรียน แต่บางวิชาเรารู้สึกว่าเรียนไปทำไม เรียนแล้วก็ไม่ได้จะเอาไปใช้ ก็จะไม่รู้สึกอยากเรียนเท่ากับวิชาที่เห็นประโยชน์

งานวรรณคดี งานร้อยกรอง ถ้ามีใครไม่เห็นคุณค่าแล้วเขาจะไม่อ่าน ก็จะโทษเขาไม่ได้ แต่ถ้าเราอยากให้เขาอ่าน เราต้องทำให้เขาเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นให้ได้
"เรามีวรรณคดีที่ดังและดีอยู่แล้ว ถ้าเราเอามาต่อยอดทำเป็นสื่อต่าง ๆ มันจะเป็นช่องทางในการสานต่อลมหายใจ
ให้งานของสุนทรภู่ด้วยซ้ำ คือผมรู้สึกว่าวรรณคดีต่าง ๆ ถ้าไม่มีคนเอามาใช้ เก็บไว้บนหิ้งอย่างเดียว แช่แข็งอยู่แบบนั้น เดี๋ยวมันก็หายไป"

ผลงานของสุนทรภู่จะนำมาทำอะไรต่อได้บ้างในยุคนี้
เยอะแยะมาก ถ้าทลายกรอบบางอย่างในสังคมไทยได้งานของสุนทรภู่จะมีคุณค่ามากกว่านี้ แล้วคนจะเห็นคุณค่ามากกว่านี้  พอหลายคนมองว่าสุนทรภู่คือกวีเอกของโลก คือบรมครู ผลงานมีคุณค่า หลายคนก็เลยมักจะเอางานของสุนทรภู่ไว้บนหิ้งอย่างเดียว ไม่ได้หยิบออกมาทำอย่างอื่นเลย

ผมมีพี่ที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ท่านหนึ่งทักมาว่าต้องทำโฆษณาโปรโมตเลือกตั้ง อยากเอาตัวละครจากในเรื่อง พระอภัยมณี มาทำเป็นการ์ตูนชวนคนไปเลือกตั้ง เขาปรึกษาทำนองว่าโอเคไหม ผมบอกว่าโอเคเต็มที่เลย ดีแล้ว ทำเลย น่าสนุกดีออก เพราะงานสุนทรภู่พวกวรรณคดีต่าง ๆ ทำมาเพื่อความบันเทิงอยู่แล้ว การที่จะเอามาดัดแปลง ถ่ายทอดเป็นสื่อต่าง ๆ เป็นเรื่องดี  แต่ปรากฏว่างานนี้ไม่ผ่านการอนุมัติจากลูกค้าที่เป็นกระทรวง เพราะเขามองว่ามันคือการลดทอนคุณค่าของงานสุนทรภู่

ผมสะเทือนใจมากเลย ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้วเรามีวัตถุดิบที่ดี เรามีวรรณคดีที่ดังและดีอยู่แล้ว ถ้าเอามาต่อยอดทำเป็นสื่อต่าง ๆ ก็จะเป็นช่องทางสานต่อลมหายใจให้งานของสุนทรภู่ด้วยซ้ำ คือผมรู้สึกว่าวรรณคดีต่าง ๆ ถ้าไม่มีคนเอามาใช้ เก็บไว้บนหิ้งอย่างเดียว แช่แข็งอยู่แบบนั้น เดี๋ยวมันก็หายไป คนก็จะไม่รู้จัก สู้การที่เราเอามาดัดแปลงเป็นสื่อต่าง ๆ จะดีกว่า

เราเห็นเราเจอแก๊กในการ์ตูน ขายหัวเราะ มหาสนุก ที่หยิบตัวละครจากในวรรณคดีมาใช้ เรามีพวกการ์ตูนแอนิเมชัน อย่างงานของอาจารย์ปยุต เงากระจ่าง หรือเป็นภาพยนตร์ หรือบางเรื่องเอา พระอภัยมณี มาทำเป็นภาพยนตร์แนวอีโรติกด้วยซ้ำ ผมก็รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะมันคือการเผยแพร่งานของสุนทรภู่  ลองนึกดูว่าถ้าการ์ตูน ขายหัวเราะ ไม่ได้หยิบเอา พระอภัยมณี มาใช้เลย โอกาสที่คนจะรู้จักงานสุนทรภู่ก็น้อยกว่าที่เป็นอยู่  การนำมาเผยแพร่ในหลาย ๆ รูปแบบจะเป็นประโยชน์มากกว่า

งานของสุนทรภู่ ผมรู้สึกว่าเอามาทำได้ทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน หนัง ละคร หรือแม้กระทั่งสิ่งที่ผมอยากเห็น แต่ยังไม่มีโอกาสได้เห็นก็คือ การหยิบนิราศมาทำให้เป็นภาพเคลื่อนไหว เพราะว่านิราศคือตัวตนที่เป็นบุคคลจริง ที่เป็นสุนทรภู่  ถ้าทำเป็นละคร ผมว่ากระแสก็อาจจะมีหลายด้านเหมือนกัน

บางทีเราไม่รู้เลยว่าคนเสพสื่อในไทยเขามีความคิด มีมุมมองอย่างไร เช่นบางคนมองว่าทำไมเลือกคนนี้มารับบทสุนทรภู่ หน้าไม่เห็นเหมือนเลย ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมีใครเห็นหน้าจริงของสุนทรภู่
มีวิธีทำให้ร่วมสมัยได้อย่างไร
อย่างแรกคือปรับ mindset ก่อนเลย อย่างที่ผมบอกหลายครั้งที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงชอบมองว่าวรรณคดีคือมรดกของชาติ วรรณคดีคือสิ่งสูงค่า ต้องยกย่อง เทิดทูนบูชา  เลิกคิดแบบนี้ก่อน เลิกมองว่าวรรณคดีคือสิ่งสูงค่าก่อน

เวลาเห็นคำว่ามรดกของชาติเป็นสิ่งสูงค่า เราจะไม่กล้าแตะ กลัวแตะแล้วมันจะพัง จะเสียหาย ทั้งที่ไม่จำเป็นเลย ช่วยมองมรดกของชาติให้เป็นสิ่งธรรมดาสามัญ มองว่าวรรณคดีคือสื่อบันเทิงที่นำเสนอได้ในหลากหลายรูปแบบ และควรจะมองว่ายิ่งมีการนำเสนอเยอะ ยิ่งมีคนเห็นเยอะ นี่แหละคือสิ่งที่จะต่อลมหายใจให้วรรณคดีไทย ธรรมชาติของคนไทยเราชอบความสนุกสนาน สื่อต่าง ๆ ที่มัน go viral คือสื่อที่สนุก คนชอบดู คนแชร์  ยิ่งสนุก ยิ่งแปลกใหม่คนยิ่งแชร์  ถ้าเอาวรรณคดีมาทำให้สนุก แปลกใหม่ น่าสนใจ น่าติดตาม คนจะยิ่งเห็นเยอะ 

อย่างที่ผมเขียน สุนทรภู่ไม่ได้เป่าปี่ พระอภัยมณีไม่ใช่ คนระยอง เป็นหนังสือที่เล่าเกร็ดเกี่ยวกับวรรณคดี ผมก็พยายามหยิบแง่มุมต่าง ๆ มาเล่า โดยเลือกใช้ภาษาให้เข้ากับคนรุ่นใหม่  แม้หยิบวรรณคดีมาเล่า แต่ถือว่าเหนือความคาดหมาย ติดอันดับ best seller นานมาก พิมพ์สามครั้ง แสดงให้เห็นว่าวรรณคดียังมีคนสนใจอยู่ ถ้าเลือกวิธีนำเสนอให้เข้ากับคน 

ตามธรรมชาติของการสื่อสาร เราต้องวิเคราะห์ทั้งผู้ส่งสาร ผู้รับสาร ตัวสาร ช่องทางนำเสนอสาร  ถ้ารู้ว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร และเราเลือกเนื้อหา เลือกวิธีการนำเสนอให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย จะทำให้สิ่งที่นำเสนอมุ่งตรงไปถึงกลุ่มเป้าหมายชัดเจนมากขึ้น
บางทีผู้ใหญ่มองว่านี่คือวรรณคดีไทย อยากจะนำเสนอแบบนี้ โดยที่ไม่คำนึงว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร นำเสนอวรรณคดีไทยในแบบ conservative มาก ๆ แบบวิชาการมาก ๆ มันก็ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้

ต้องปรับเนื้อหาและวิธีการนำเสนอ