ถึงตัวลับ
แต่ชื่อเขาลือฉาว
สุนทรภู่ในคำเล่าขาน
scoop
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ในการบันทึก ประวัติสุนทรภู่ ของพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) เมื่อปี ๒๔๕๖ นอกจากอาศัยข้อมูลลายลักษณ์อักษรจากวรรณกรรมของสุนทรภู่แล้ว ยังใช้วิธีทางคติชนวิทยาในการรวบรวมข้อมูลจากมุขปาฐะควบคู่ไปด้วย โดยสัมภาษณ์บุคคลที่ร่วมสมัยกับสุนทรภู่ หรือทายาทของบุคคลเหล่านั้น รวมถึงผู้สนใจศึกษางานของสุนทรภู่  บางเรื่องที่เล่าต่อกันอยู่ในทุกวันนี้มีต้นทางมาแต่กาลครั้งนั้น
นํ้าใสไหลเย็น
แลเห็นตัว...

จิตรกรรมในพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม
พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด ศิริสัมพันธ์) ขณะอายุ ๗๐ ปี เมื่อปี ๒๔๕๖ เล่าแก่พระยาปริยัติธรรมธาดาว่า ตอนอายุราว ๒๕ ปี นายพัด บุตรคนโตของสุนทรภู่ ในวัยราว ๔๐ ปี ได้มาอยู่ใน “สามิภักดิ์” ทำให้ได้คุ้นเคยเรื่องราวของสุนทรภู่มาแต่นั้นว่า

ครั้งหนึ่ง พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ ๓) พระราชนิพนธ์กลอนบทหนึ่งว่า
น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว
ว่ายแหวกใบบัวอยู่ไหวไหว
ให้สุนทรภู่ดูว่าดีหรือยัง ก็ทูลว่าดีแล้วเพราะแล้ว  ครั้นนำถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทอดพระเนตรและอ่านกันในที่ประชุมกวีราชสำนัก ก็รับสั่งถามความเห็นสุนทรภู่ “หาได้คิดจะชิงเหลี่ยมชิงคมอะไรไม่ดอก แต่นิสัยของท่านเป็นชาตินักเลงเพลง  ไม่ได้อย่างเขาว่านั้น จึงทูลอ่อย ๆ ว่า ‘เห็นตัว’ นั้น ความหาสู้ชัดไม่ เพราะว่าจะเป็นตัวอะไรก็ยังไม่รู้”

ก็รับสั่งให้แก้ “ท่านสุนทรภู่ก็หายใจออกมาว่า”
น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา
ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว
กล่าวกันว่าหลังรัชกาลที่ ๓ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ สุนทรภู่หนีเข้าวัด แต่หาสู้จะกริ้วอะไรนักไม่ ด้วยว่าภายหลังทรงสร้างวัดเทพธิดาราม อาราธนาให้พระสุนทรภู่มาอยู่ และถวายนิตยภัต ๖ บาทเท่าพระเปรียญ
รถศึก
ทศกัณฐ์

Image
จิตรกรรมเรื่อง รามเกียรติ์ รอบพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ห้องที่ ๒๑
ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์พรรณนาว่ารถนั้นใหญ่โตเกินประมาณที่จะใช้พาหนะใดให้พารถแล่นไปได้ นัยว่าทรงประชุมบรรดาจินตกวีก็ยังไม่มีใครต่อให้รถแล่นไปได้  ข้าราชการผู้หนึ่งกราบทูลว่ายังมีนายภู่ ก็รับสั่งให้ไปพาตัวมาเฝ้า  

พอทอดพระเนตรเห็นเข้ารับสั่งว่า “ฮึ รูปร่างมันเป็นครกกระเบือดินอยู่นี้พ่อเฮยเอาไหน ๆ มาแล้วก็ลองแก้ดูที”

สุนทรภู่แต่งต่อว่า
เทียมด้วยสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
พารถแล่น หรือรถก็แล่น
ผู้เล่าจำคำกลอนได้เท่านั้น แต่เล่าอีกว่านั่นเป็นชั้นแรกที่ทำให้โปรดเกล้าฯ ให้สุนทรภู่เข้ารับราชการตั้งแต่นั้น
สีดา
จะฆ่าตัวตาย

Image
จิตรกรรมเรื่อง รามเกียรติ์ รอบพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ห้องที่ ๓๔ วาดภาพหนุมานช่วยแก้ผ้าผูกคอนางสีดา อยู่ตรงมุมขวาบน
ขุนเจน และนายแก้วภักดี มหาดเล็ก เล่าว่า ในเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “สีดาผูกคอตาย” คำกลอนว่า
บัดนั้น ขุนกระบี่อกสั่นขวัญหาย
รับสั่งว่า “คนผูกคอตายมัวอกสั่นอยู่ได้อย่างไร ต้องรีบเร่งซีนะ แก้ใหม่”

สุนทรภู่ก็ฉวยเอาคำว่า แก้ใหม่ เข้าแก้ผ้าผูกคอสีดาในทันใดนั้นว่า
บัดนั้น วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมาย
ใน ชีวิตและงานของสุนทรภู่ ฉบับของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็บันทึกถึงเบื้องหลังฉากนางสีดาผูกคอตาย ที่มีการนำมาเป็นบทละคร ไว้ในทำนองเดียวกันว่า นางสีดาผูกคอห้อยลงมาจากกิ่งไม้ แล้วหนุมานมาช่วยไว้  ฉากพรรณนาต้องไม่ยืดยาว ไม่อย่างนั้นตัวแสดงเป็นสีดาอาจตายจริงก็ได้

ในบทละครเดิมฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ มีเนื้อความถึงสามบาท  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ว่า
จึงเอาผ้าผูกพันกระสันรัด
เกี่ยวกระหวัดกับกิ่งโศกใหญ่

แล้วต่อไม่ได้ รับสั่งให้สุนทรภู่ช่วยแต่ง ก็ต่อไปว่า
ชายหนึ่งผูกศออรไท
แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย
บัดนั้น
วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมาย

ตัวแสดงเป็นสีดาก็ไม่ลำบาก เพราะหนุมานช่วยไว้ได้อย่างรวดเร็ว