๙ ตามรอย
นิราศสุนทรภู่
scoop
เรื่อง : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง
นิราศ มีความหมายว่า จาก พราก ไปจาก และหมายถึงงานประพันธ์อย่างหนึ่งมีมาแต่โบราณ ใช้เล่าถึงการเดินทางเป็นหลัก บอกเล่าสิ่งที่พบเห็นระหว่างทาง สอดแทรกข้อคิด เชื่อมโยงกับความรู้สึกนึกคิดข้างใน และมักสะท้อนอารมณ์อาวรณ์ถวิลหาคนรักที่ต้องห่างไกลกัน
ถ้าเทียบกับยุคสมัยนี้น่าจะคล้ายกับสารคดีบันทึกการเดินทางท่องเที่ยว แต่นิราศเขียนเป็นร้อยกรอง ดำเนินเรื่องตามอารมณ์ความรู้สึกผู้เขียน และอาจมีการแต่งเติมเพิ่มเรื่องเข้าไปได้
Image
ตามที่ “พ. ณ ประมวญมารค” กล่าวถึงนิราศของสุนทรภู่ไว้ว่า “นิราศเป็นเรื่องของการแต่งบทครวญประชันกัน... และก็ไม่ใช่ว่าท่านจะเสนอทุกอย่างตรงไปตรงมาเสียทั้งหมด บางทีท่านก็เบี้ยวไปบ้างตามวิสัยศิลปิน ไม่อย่างนั้นมันจะไปสนุกอะไรล่ะ”

ขณะที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เห็นว่านั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งของ “กลวิธี” ในการเขียน “นิราศ” เพื่อให้ถูกใจผู้อ่าน “สุนทรภู่เองเสนอมโนภาพของตนเองในเชิง ‘นักเลง’ อยู่ไม่น้อย คือกล้าผจญภัยท่องเที่ยว เมาเหล้าอยู่เป็นอาจิณ และมีความสัมพันธ์พิเศษกับผู้หญิงเกือบตลอดเวลา นับผู้หญิงที่สุนทรภู่อ้างว่ามีความสัมพันธ์พิเศษกับตนจนถึงได้เสียกันในนิราศ จะพบว่ามีกว่า ๑๐ คน อาจเป็นไปได้ว่าสุนทรภู่จะอวดความเป็นนักเลงของตนไว้เกินจริง เพื่อเสนอภาพของผู้เขียนนิราศที่ถูกใจผู้อ่านกระฎุมพี เพิ่มเสน่ห์แก่งานนิราศของตนไม่น้อย”
Image
๑ นิราศเมืองแกลง
เดินทางจากวังหลัง ไปบ้านกร่ำ ระยอง

ไปกับศิษย์สองคน น้อยกับพุ่ม และนายแสง ชาวระยองเป็นคนนำทางออกเดินทางเดือน ๗ ปี ๒๓๕๐ เวลา ๒ ยาม หรือ ๖ ทุ่ม โดยเรือประทุนใช้ถ่อหรือแจวแบบที่มีหลังคา หุงหาอาหารและหลับนอนในเรือได้
๒ นิราศพระบาท
จากวัดระฆังโฆสิตาราม ไปวัดพระพุทธบาท สระบุรี

ตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท วันมาฆบูชาปี ๒๓๕๐  ออกเดินทางตอนเช้ามืด วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๓  ใช้เวลา ๒ วัน ครึ่งถึงวัดพระพุทธบาท พักอยู่ที่วัด ๔ วัน ขากลับลงเรือพายกันทั้งวันทั้งคืน วันครึ่งถึงกรุงเทพฯ

กลอนวรรคสำคัญช่วงผ่านวังเก่ากรุงศรีอยุธยา เห็นซากปรักแล้วสะท้อนสะเทือนใจ
กำแพงรอบขอบคูก็ดูลึก
ไม่น่าศึกอ้ายพม่าเข้ามาได้

ยังให้มันข้ามเข้าเอาเวียงชัย
โอ้อย่างไรเหมือนบุรีไม่มีชาย

๓ นิราศภูเขาทอง
จากวัดราชบุรณราชวรวิหาร ไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทอง พระนครศรีอยุธยา

เมื่อเดือน ๑๑ หลังออกพรรษา ปี ๒๓๗๓ ไปกับหนูพัด ลูกชายคนโต 

เป็นนิราศเรื่องที่สั้นที่สุดของสุนทรภู่ ยาวเพียง ๑๗๖ คำกลอน แต่ได้รับการกล่าวขานว่าไพเราะที่สุดและมีคติสอนใจ มีความลึกซึ้งในการมองชีวิต ดังเมื่อเห็นเจดีย์ภูเขาทองที่หักพังรกร้าง 
กระนี้หรือชื่อเสียงเกียรติยศ
จะมิหมดล่วงหน้าทันตาเห็น

เป็นผู้ดีมีมากแล้วยากเย็น
คิดก็เป็นอนิจจังเสียทั้งนั้น

๔ นิราศวัดเจ้าฟ้า
จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ถึงวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์  พระนครศรีอยุธยา

ไปกับลูก คือเณรหนูพัดและตาบ กับลูกศิษย์อีกสามคน เมื่อปี ๒๓๗๕

เป็นการเดินทางตามลายแทงไปเปิดกรุยาวิเศษที่วัดเจ้าฟ้าฯ ช่วงทำพิธีพอพระสุนทรภู่ปักธงลงดิน เกิดเหตุประหลาด ฝนตก ฟ้าร้อง พายุพัดอื้ออึง ทุกคนตกใจจนหมดสติถึงเช้า เมื่อฟื้นจากสลบก็ไม่มีใครคิดจะหายาอายุวัฒนะต่อไป รีบเก็บสัมภาระลงเรือกลับทางเดิมด้วยความผิดหวัง  โดยวัดในลายแทงแห่งนั้นอาจารย์เปลื้อง ณ นคร สันนิษฐานว่าคือวัดเขาดิน ในตำบลธนู อำเภออุทัย ห่างจากวัดใหญ่ชัยมงคลราว ๓ กิโลเมตร

นิราศเรื่องนี้ลงชื่อหนูพัดเป็นผู้แต่ง
๕ นิราศสุพรรณ
จากวัดสระเกศราชวรมหาวิหารถึงป่าลึกในจังหวัดสุพรรณบุรี

ไปกับลูกสองคน พัดกับตาบ กลั่นกับชุบลูกเลี้ยง และนายรอดคนนำทาง รวมหกคน เริ่มเดินตอนราว ๕ ทุ่ม คนโบราณนิยมเดินทางกลางคืนเนื่องจากแจวเรือสะดวกไม่ร้อนแดด

ใช้เวลา ๒ วัน ๒ คืน จากท่าน้ำวัดสระเกศ คลองมหานาค เลี้ยวซ้ายเข้าคลองรอบกรุง หรือคลองบางลำพู หรือคลอง
โอ่งอ่าง ออกแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยวเข้าคลองบางกอกน้อย ผ่านบางระมาด บางกรวย คลองแม่น้ำอ้อมนนทบุรี  เข้าคลองโยงไปออกแม่น้ำนครชัยศรีที่บ้านลานตากฟ้า แล้วทวนแม่น้ำนครชัยศรีขึ้นไปยังสุพรรณบุรี เที่ยวเมืองสุพรรณฯ วันหนึ่งแล้วแจวเรือทวนน้ำไปยังสามชุก สองฝั่งชุกชุมด้วยสัตว์ป่า นายรอดลงจากเรือย่องไปขโมยเนื้อที่เสือล่ามากินแถวชายฝั่ง แล้ววิ่งกลับมาขึ้นเรือโดยเสือวิ่งตามมาติด ๆ ต้องรีบช่วยกันถ่อเรือหนีเสือ  ถึงสามชุกขึ้นบกบุกป่าไปยังหมู่บ้านกะเหรี่ยง เอาลูกปัดที่กะเหรี่ยงชอบไปฝาก ขอร้องให้นำทางไปหาแร่ปรอทและยาอายุวัฒนะ  เดินเข้าป่าลึกไปในเขตเทือกเขาตะนาวศรี ๑ วันเต็ม ถึงหมู่บ้านคนละว้า บอกว่าเคยเห็นเจดีย์ในลายแทง อยู่กลางป่าลึก ก็รับอาสาพาไป ผ่านโป่งดงเหล็กไหล พบซากเตาหลอมแร่กับกระดูกศพพระ จนไปเจอเจดีย์ แต่ไม่สามารถเปิดบานประตูได้ วันต่อมาโดนโขลงช้างไล่ และอีกวันก็ยังเปิดไม่สำเร็จ ในภวังค์ฝันมีกษัตริย์โบราณมาบอกว่ายาอายุวัฒนะที่กินแล้วไม่แก่ และแร่ที่แปรเป็นทองเหล็กไหล แร่ปรอทนั้นเรื่องเหลวไหลหาได้มีจริงไม่ อย่าได้พยายามให้เสียเวลา หันไปสร้างบุญกุศลดีกว่า
๖ นิราศพระประธม
จากท่าน้ำพระราชวังเดิม ไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ นครปฐม

แต่งเมื่ออยู่วัดระฆังฯ ลงเรือไปกับลูกชายสองคน พัดกับตาบ ตอน ๒ ยาม หรือ ๖ ทุ่ม ช่วงฤดูหนาว น้ำเหนือกำลังหลาก วันจันทร์ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปี ๒๓๘๕  เข้าปากคลองบางกอกน้อย ผ่านวัดสุวรรณาราม (วัดทอง) ที่เผาศพน้องสาวสองคน  วัดศรีสุดาราม (วัดชีปะขาว) ที่เรียนหนังสือ  ผ่านย่านบางบำหรุ บางกรวย บางขนุน บางม่วง บางใหญ่ บ้านลานตากฟ้า  งิ้วราย บ้านธรรมศาลา ถึงบ้านเพนียดตอนดึกหนาวน้ำค้าง รุ่งเช้าเดินเท้าผ่านป่าที่ยังเห็นรอยเสือ ไปนมัสการพระปฐมเจดีย์
๗ นิราศเมืองเพชร
จากวัดอรุณราชวราราม ถึงเพชรบุรี

เป็นนิราศเรื่องยาวที่สุด ๔๙๘ คำกลอน แต่งคราวอาสาเจ้านายไปเมืองเพชรฯ เมื่อปี ๒๓๗๔  หลังจากเคยไปพึ่งบารมีหม่อมบุนนาค พระชายาในกรมพระราชวังหลัง ที่ทำนาอยู่เมืองเพชรฯ ช่วงก่อนปี ๒๓๕๖  เดินทางด้วยเรือตลอดเส้นทาง จากท่าน้ำวัดอรุณฯ เข้าคลองบางกอกใหญ่ คลองบางลำเจียก คลองบางขุนเทียน คลองมหาชัย ตัดแม่น้ำท่าจีน เข้าคลองอีรำ คลองลัดสามสิบสองคด คลองสุนัขหอน ออกปากน้ำแม่กลอง เลียบฝั่งอ่าวไทย ผ่านเขายี่สาร เข้าปากแม่น้ำเพชรบุรีไปขึ้นที่ท่าน้ำวัดพลับพลาชัย

บรมครูกลอนที่ว่าเป็นราชาแห่งถ้อยคำ บางทีก็จนแต้มนักเลงชาวบ้านเหมือนกัน ตอนถามทางจากชาวลูกทุ่งเมืองเพชรฯ
ถึงบ้านใหม่ไถ่ถามตามสงสัย
ว่ายังไกลอยู่หรือบ้านท่านขุนแขวง
ไม่บอกก่อนย้อนถามเป็นความแคลง
จะพายแรงหรือว่านายจะพายเบา

ถ้าพายหนักสักครู่หนึ่งก็ถึงดอก

สำนวนนอกน้ำเพชรแล้วเข็ดเขา
บ้างโห่ฉาวกราวเกรียวเกี่ยวข้าวเบา
บ้างตั้งเตาเคี่ยวตาลพานอุดม
๘ นิราศอิเหนา
แปลกพิเศษกว่าเรื่องอื่นที่ไม่ได้เดินทางไปไหน และแทนที่จะเป็นตัวผู้เขียนเองอย่างในนิราศเรื่องอื่น ๆ เรื่องนี้แต่งเป็นคำคร่ำครวญของอิเหนา  สันนิษฐานว่าแต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เมื่อปี ๒๓๘๔-๒๓๘๕

ตอนอิเหนาตามหาบุษบาไปจนถึงมะละกาก็ยังไม่พบ แต่ยังไม่อาจตัดใจจากนาง เลยตัดสินใจไปบวช เผื่อว่าบุษบาหาชีวิตไม่แล้วจะได้ช่วยอุทิศกุศลผลบุญหนุนส่งให้ไปสู่สวรรค์ชั้นฟ้า เป็นตอนหนึ่งที่ตราตรึงใจคนอ่านที่สุด
จะหักอื่นขืนหักก็จักได้  
หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก

สารพัดตัดขาดประหลาดนัก
แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ
๙ รำพันพิลาป
แต่งราวปี ๒๓๘๕ เมื่ออยู่วัดเทพธิดารามวรวิหาร

เขียนขึ้นตามนิมิตฝันว่านางฟ้ามาชวนไปอยู่สวรรค์ด้วยกัน ซึ่งวิเคราะห์กันว่าหมายถึงกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ที่สุนทรภู่มีใจใฝ่ฝันถึงอยู่ 

เป็นผลงานสุนทรภู่ที่ค้นพบล่าสุด พระยาราชสมบัติ (เอิบ บุรานนท์) นำมามอบให้หอสมุดแห่งชาติ เมื่อปี ๒๔๘๐