Image
สุนทรภู่บอกไว้
บรรพชนอยู่เพชรบุรี
ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว
ผู้สอบชำระยืนยันด้วย
นิราศเมืองเพชร
Interview
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
“นิราศเมืองเพชร เป็นนิราศที่ดีที่สุด ทั้งวรรณศิลป์และสาระที่บรรจุไว้  ผมอ่านฉบับที่พิมพ์เผยแพร่อยู่ทั่วไปมาหลายเที่ยว ก็เห็นได้ชัดเจนเลยว่าข้อความมันขาด  เมื่อได้ต้นฉบับตัวเขียนมาจากหอสมุดแห่งชาติ ที่ระบุว่าได้มาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็มากางเทียบกับฉบับพิมพ์ของศิลปากร ดูว่ามันตรงกันไหม ถ้าไม่ตรง แตกต่างกันยังไง ฉบับไหนชัดกว่า 
ก็เห็นได้ชัดเจนเลยว่าสุนทรภู่นั้นท่านมาเมืองเพชรฯ บ่อย ๆ  เวลาเดือดร้อนสุนทรภู่ต้องมาเมืองเพชรฯ สาเหตุคือญาติท่านอยู่ทางนี้  เมื่อก่อนไม่มีใครเคยพูดเลยว่าบรรดาเหล่ากอ ญาติของสุนทรภู่เป็นคนเมืองเพชรฯ  พอกรมพระราชวังหลังสิ้น ทำไมบรรดาข้าคนในกรมพระราชวังหลังต้องมาทำไร่ทำนาที่เมืองเพชรฯ

แล้วกรมพระราชวังหลังเป็นใคร รู้กันแต่ว่าเป็นลูกพระพี่นางในรัชกาลที่ ๑  แต่โดยข้อเท็จจริง พ่อของกรมพระราชวังหลังที่เรียกตามภาษาชาวบ้านว่าเป็นพี่เขยของพระพุทธยอดฟ้าฯ เป็นลูกของพระยากลาโหมวังหน้า สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศรู้กันอยู่ว่ามีมเหสีเป็นสายพราหมณ์เมืองเพชรฯ สององค์ พระพันวษาใหญ่ พระพันวษาน้อย เพราะฉะนั้นการที่คนในเมืองเพชรฯ เข้าไปเป็นวังหน้า เข้าไปเป็นมเหสีของกษัตริย์ ตอนนั้นข้าคนก็ต้องติดตามเข้าไป คนเมืองเพชรฯ ก็คงไปอยู่กันเยอะแยะ พูดให้ชัดก็คือ บรรพชนของสุนทรภู่เป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยงในกรมพระราชวังหลัง

สุนทรภู่เกิดในวังหลัง แต่กรมพระราชวังหลัง เชื้อสายของท่าน ของพ่อของท่าน โตในวังหน้าของกรุงศรีอยุธยามาอย่างน้อยสองรัชกาล

บรรพบุรุษของสุนทรภู่เป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยงในวังหลังมาตลอด เพราะฉะนั้นบรรดาญาติ ๆ ของสุนทรภู่ไปเป็นข้าวังหลัง สุนทรภู่ท่านพูดถึงปู่ย่าตายายพรรณนาไว้ว่า ปู่ย่าเคยเล่าให้ฟังว่ากรุงศรีอยุธยาแต่เดิมเป็นยังไง แสดงว่าท่านอยู่ที่วังหลัง และเล่าอยู่ที่วังหลังนั่นแหละ ตอนสุนทรภู่เด็ก ๆ ก็เล่าตามประสาคนแก่

ผมก็เสนอออกไปว่าสุนทรภู่ไม่ได้อยู่แกลง คนด่าผม แต่ผมก็ไม่ว่าอะไร เป็นธรรมชาติของนักวิชาการ อะไรแปลกใหม่คนย่อมโจมตีเป็นธรรมดา 
ผมก็เสนอออกไปว่าสุนทรภู่ไม่ได้อยู่แกลง คนด่าผม แต่ผมก็ไม่ว่าอะไร เป็นธรรมชาติของนักวิชาการ อะไรแปลกใหม่คนย่อมโจมตีเป็นธรรมดา 
ตอนหลังผมค้นต่อว่าทำไมพ่อของสุนทรภู่ถึงไปบวชที่เมืองแกลง สุนทรภู่ไปเยี่ยมพ่อไปในฐานะอะไร นี่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่คนเข้าใจผิด  การเดินทางใน นิราศเมืองแกลง มีกรมการเมืองต้อนรับขับสู้ไปเป็นระยะ ๆ นั้นแสดงว่าสุนทรภู่ไม่ได้ไปอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย แต่ไปในราชการ

อีกเรื่องหนึ่งที่เราพูดถึงเกี่ยวกับการไปบวชของพ่อสุนทรภู่ คนก็หาว่าหย่าขาดกับเมีย พูดเลอะเทอะ  แม่ของสุนทรภู่เป็นพระนมของพระธิดาในวังหลัง เป็นที่รู้กันอยู่แล้ว คนที่จะเป็นพระนมต้องสืบประวัติสารพัด ตรวจร่างกาย ดูน้ำนมว่าเป็นยังไง แล้วก็มีข้อห้ามอยู่ข้อหนึ่ง ต้องไม่หย่าร้าง เพราะฉะนั้นเรื่องที่ว่าพ่อของสุนทรภู่กับแม่สุนทรภู่หย่าร้างกัน เลิกคิดไปได้เลย 

เรื่องบวชผมก็ไปค้น หาอะไรไม่ค่อยได้นะ แต่ว่าจับมาปะติดปะต่อ  ใครก็ไม่รู้เขาพูดถึงพ่อของสุนทรภู่ว่าเป็นขุนศรีสังหาร เป็นคนประหารชีวิตในกองทัพ  ตอนตั้งกรุงเทพฯ ใหม่ ๆ จำศึก ๙ ทัพได้ไหม  ตามพงศาวดารประวัติศาสตร์ ศพพม่าลอยเต็มแม่น้ำจนน้ำใช้ไม่ได้ คนฆ่าคนมามาก ๆ คงจะเกิดสะท้อนใจอะไรบางอย่าง พอเสร็จศึกแล้วก็ไปบวช กรมพระราชวังหลังก็บวช พ่อของสุนทรภู่ก็บวช 

พอบวชแล้วทำไมต้องไปอยู่เมืองแกลง  ตอนตั้งขุนนางในสมัยพระพุทธยอดฟ้าฯ ทุกเมืองเปลี่ยนเจ้าเมืองหมด ยกเว้นหัวเมืองภาคตะวันออก ไม่เปลี่ยนเลย ทั้ง ๆ ที่แถวนั้นคือขุมกำลังพระเจ้าตาก  ทำไมไม่เปลี่ยนล่ะ เพราะกรมพระราชวังหลังค้ำอยู่ ก่อนมาเป็นวังหลังท่านเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา กินหัวเมืองฟากตะวันออกทั้งหมด พอบวชแล้วก็ให้ไปอยู่ที่นั่น คอยฟังข่าวว่ามีการเคลื่อนไหวอะไรบ้าง เป็นหัวเมืองที่ไม่เปลี่ยนเจ้าเมือง แต่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษว่าคนไหนกระด้างกระเดื่องบ้าง เพราะฉะนั้นคงจะตั้งทหารวังหลังไปอยู่ประจำอยู่หัวเมืองแถวนั้นเยอะแยะ ไม่ใช่พ่อสุนทรภู่คนเดียว แต่พอดีว่าพ่อสุนทรภู่เกี่ยวข้องกับประวัติสุนทรภู่ ก็เลยไปติดอยู่ในเอกสาร แล้วสุนทรภู่ก็ต้องไป ไปเยี่ยม ไปฟังข่าว แล้วรู้สึกตอนกรมพระราชวังหลังบวช พ่อสุนทรภู่ที่บวชอยู่แล้วก็มางานบวชด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องพ่อสุนทรภู่บวช ผมเชื่อว่าเป็นการบวชหลังศึกสงคราม แล้วคอยสอดส่องคณะกรมการเมือง หัวเมืองแถวนั้นว่าใครเป็นยังไงบ้าง 

แต่ว่าไปบวชแล้วเกิดไม่สึก อาจจะซาบซึ้งในรสพระธรรมขึ้นมาหรือยังไงก็แล้วแต่ ตอนหลังเขาก็ส่งสุนทรภู่ที่เป็นข้าวังหลัง ไปดูว่ามีเรื่องอะไรไหม  สุนทรภู่ไปเมืองไหนคณะกรมการเมืองก็ต้อนรับกันเป็นแถว มันก็สอดคล้องกันพอดิบพอดี  ตอนสุนทรภู่ไปเยี่ยม พ่อบวชได้ ๒๐ พรรษา ลองนับย้อนดูสิก็ตรงกับปีที่มีศึก ๙ ทัพพอดี นั่นแสดงว่าเสร็จศึก ๙ ทัพก็ไปบวช ทุกอย่างสอดคล้องกันหมด
Image
ผมก็ไม่เชื่อว่าสุนทรภู่เป็นคนที่นั่นหรอก สุนทรภู่จะว่าเป็นคนระยองอะไร ดูท่านพูดถึงคนตอนที่ไปเมืองแกลง พูดถึงยังไง บ้านนอกคอกนาบ้าง ไม่รู้หนังสือ เห็นแต่กินแย้ กินบึ้ง กินอึ่ง ท่านบอกว่ากินไม่ลง แล้วชักจะดูหมิ่นคนแถว ๆ นั้นด้วย

ประมาณปี ๒๓๗๐ ที่สุนทรภู่มาเขียน นิราศเมืองเพชร จะมาขอเมียให้พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระโอรสในรัชกาลที่ ๓  ตัวเป็นพระมาขอลูกสาวเขาเนี่ยมันก็ไม่ควร (ข้อเสนอของคุณฉันท์ ขำวิไล) ก็เลยพูด แต่ไม่บอกให้ชัดว่ามาทำอะไร รู้แต่ว่าตอนต้นเรื่องบอกอาสาเสด็จไปเมืองเพชรบุรี

เดินทางกลางคืน กลางวันมันร้อน ใช้เรืออย่างน้อยก็สี่แจว กินนอนในเรือได้ ท่านพูดชัดว่าเป็นเรือหลวง ก็พระองค์เจ้าลักขณานุคุณจัดให้

เป็นหลักฐานว่าที่ว่ารัชกาลที่ ๓ ขัดเคืองจนเจ้านายไม่กล้าอุปถัมภ์สุนทรภู่นั้น ผมยืนยันเลย โกหก คนเรา ถ้าไม่ถูกกันหรือว่าเคืองอยู่เนี่ยจะให้ลูกไปอุปถัมภ์หรือ เพียงแต่ท่านไม่ออกหน้า ตอนหลังลูกสาวอุปถัมภ์ รัชกาลที่ ๓ สร้างวัดเทพธิดารามให้ ทั้งสองพระองค์อุดหนุนเกื้อกูลสุนทรภู่ตลอด 

ทีนี้พอพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นแล้ว มีลูกคนเดียว กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพก็ขอไปเลี้ยง เมียชื่อหม่อมงิ้ว ก็เป็นม่าย สุนทรภู่ถือโอกาสเกี้ยว ท่านพูดถึงหม่อมงิ้ว มีในคำกลอน ‘ไม่อาจจับต้องเป็นของหลวง’ เวลาสุนทรภู่ไปไหนจะมีของฝากที่คนธรรมดาจัดของอย่างนั้นไม่ได้ มีแต่คนในวังเท่านั้นแหละถึงจะหาได้ นี่ก็ชัดเจน 

เวลาอ่านงานสุนทรภู่ผมพยายามคิดอย่างสุนทรภู่  ผมดีใจที่สุดตอนนั้น ผมไปพบ ‘กระตั้ว’  ก่อนนั้นผมไปทำพจนานุกรม กระตั้ว แปลว่านก พอหลังจากแปลว่านกแล้ว ต่อไปกระตั้วแทงเสือ โดยไม่เอะใจเลยว่าแล้วนกจะแทงเสือยังไง  พออ่าน นิราศสุพรรณ กระตั้วกลายเป็นคนป่าเผ่าหนึ่ง มีบ้านมีอะไรอยู่แถวอำเภอสามชุก เดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ พวกกระตั้ว พออ่านเจออันนั้นผมบอก โอ๊ย ยิ่งกว่ายูเรกา

ต้นฉบับ นิราศสุพรรณ นั่นแหละลายมือที่แท้จริงของสุนทรภู่ เพราะรอยแก้ รอยเปลี่ยน ลายมือเดียวกันตลอด แล้วใครจะไปแก้กลอนสุนทรภู่ แล้วก็ลายมือที่ตรงกับ นิราศสุพรรณ แทบไม่มีอยู่ใน นิราศเมืองเพชร นิราศเรื่องอื่นก็ไม่มี”