Image
อนุสรณ์วัยเรียนของสุนทรภู่ที่วัดชีปะขาวหรือวัดศรีสุดาราม ริมคลองบางกอกน้อย อยู่ห่างจากปากน้ำที่วังหลังไม่กี่ครั้งจ้ำแจวเรือมาเรียน
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

กลอน/แปด/เพลงยาว/
ชีวิตสุนทรภู่
ฉาก 2
scoop
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง

วัดปขาวคราวรุ่นรู้ เรียนเขียน
ทำสุรทสอนเสมียน สมุทน้อย
เดินรวางรวังเวียน หว่างวัด ปขาวเอย

คำโคลงรำพึงเมื่อแจวเรือผ่านย่านวังหลังที่ “เคยอยู่ชูชื่นเชย ค่ำเช้า” เข้าคลองบางกอกน้อยมาถึงวัดศรีสุดารามหรือวัดชีปะขาว เมื่อคราว นิราศสุพรรณ

ในตอนนั้นคงไม่ตั้งใจจะให้เป็นอัตชีวประวัติส่วนหนึ่งของตนแต่แล้วก็ช่วยแก้ไขความเข้าใจผิดให้กับผู้เขียนประวัติสุนทรภู่ในชั้นหลังได้ดี ในประเด็นที่ว่าถิ่นเกิดและเติบโตของเขาคงไม่ได้อยู่ที่ระยอง

แต่เติบโตมาในรั้ววังหลัง เรียนหนังสือที่วัดชีปะขาว ห่างจากย่านวังหลังขึ้นไปตามลำคลองบางกอกน้อยไม่ไกล

และจากการที่สุนทรภู่มีโอกาสได้รับการศึกษาในสำนักเรียนมีชื่อเสียงที่ชนชั้นสูงในยุคนั้นนิยมส่งบุตรหลานไปเรียน ทำให้เขาเติบโตมาเป็นปัญญาชนที่เชื่อมั่นในเรื่องความรู้ ซึ่งสะท้อนผ่านบางตัวละครในนิทานคำกลอนของเขา
ดูผิวพรรณสรรพางค์อย่างคุลา
แต่วิชาพางามขึ้นครามครัน
Image
จากยอดเขาบันไดอิฐ มองผ่านองค์เจดีย์ที่มีโบสถ์กับวิหารขนาบข้าง ตามตำนานว่าสร้างโดยเศรษฐีที่มีเมียสอง  มองเห็นวิวทิวทุ่งเมืองเพชรฯ ได้กว้างไกล และเห็นยอดเขาวัง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
ภาพลักษณ์ของนางวาลี หญิงสาวทึนทึกเกิดในตระกูลพราหมณ์ รูปโฉมอัปลักษณ์ แต่สำเร็จสมประสงค์ในเป้าหมายได้ด้วยวิชาความรู้  กระทั่งพระอภัยมณียอมรับให้เป็นที่ปรึกษาและเป็นสนมเอก

ใน ขุนช้างขุนแผน ตอน “กำเนิดพลายงาม” ที่แต่งโดยสุนทรภู่  คราวขุนแผนต้องฝากลูกชายคือพลายงาม ไว้กับแม่ทองประศรี ก็สั่งเสียกับแม่ให้ช่วยสอนพลายงามให้ “เรียนความรู้”
อันตำรับตำราสารพัด
ลูกเก็บจัดแจงไว้ที่ในตู้
ถ้าลืมหลงตรงไหนไขออกดู
ทั้งของครูของพ่อต่อกันมา

แล้วลูบหลังสั่งความพลายงามน้อย
เจ้าจงค่อยร่ำเรียนเขียนคาถา
รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา
ไปเบื้องหน้าเติบใหญ่จะให้คุณ
Image
ยอดเขาวัง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
สะท้อนทัศนะของคนรักความรู้ที่ให้ความสำคัญกับการเก็บสะสมหนังสือหนังหาและมุ่งเน้นต่อความรู้ของตัวผู้เขียนคือสุนทรภู่เองด้วย

แต่ขณะเดียวกันไม่ว่าด้วยโอกาสทางการศึกษา การใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่ในหมู่ปัญญาชนคนชั้นสูง สภาพแวดล้อมแบบชีวิตในเมืองกรุง ที่ทำให้สุนทรภู่ในวัยหนุ่มดูออกจะเป็นคนเจ้าสำอาง ค่อนไปทางขี้บ่น ก่นด่าตัดพ้อเมื่อเจอความยากลำบากหรือใครทำให้ไม่พอใจ ดังเห็นได้แทบตลอดเส้นทางทุกฐานถิ่นในคราวนิราศไปเมืองแกลง และบางครั้งก็ออกจะเหยียดเย้ยชีวิตบ้านป่าไปด้วย

ตั้งแต่ความไม่สบอารมณ์กับการพูดจาที่ไม่ระรื่นหูของคนบ้านกร่ำชาวบ้านนอก
Image
ถนนบันไดอิฐ เส้นทางเก่าแก่ที่สุดสายหนึ่งในเมืองเพชรบุรี มีมาตั้งแต่สมัยศรีอยุธยา สุนทรภู่ก็ได้ผ่านถนนสายนี้
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

Image
พระนอนวัดพระพุทธไสยาสน์ องค์พระยาว ๔๓ เมตร ด้านหลังอิงติดเชิงเขาวัง ช่วงสุนทรภู่ไปนมัสการนั้นองค์พระ อาจยังอยู่กลางแจ้ง เพราะตามประวัติว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหลังคาสังกะสีคลุมขึ้นภายหลัง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

ถามราคาพร้าขวานจะวานซื้อ
ล้วนอออือเอ็งกูกะหนูกะหนี
ทีคะขาคำหวานนานนานมี
เป็นว่าขี้คร้านฟังแต่ซังตาย
และดูจะเป็นหนุ่มกรุงที่ตรงไปตรงมา รู้สึกอย่างไรก็เล่าออกมาอย่างไม่กังวลว่าคนอ่านจะมองคนเขียนอย่างไร
นางชาวนาก็ไม่น่าจะชื่นใจ
คราบขี้ไคลคร่ำคร่าดังทาคราม

อันนางในนคราถึงทาสี
ดีกว่านางทั้งนี้สักสองสาม
โอ้พลัดพรากจากบุรินแล้วสิ้นงาม
ยิ่งคิดความขวัญหายเสียดายกรุง 
เมื่อไปเจอสาวชาวไร่ก็ไม่ต่างกัน
เห็นสาวสาวชาวไร่เขาไถที่
บ้างพาทีอือเออเสียงเหนอหนอ
แลขี้ไคลใส่ตาบเป็นคราบคอ
ผ้าห่มห่อหมากแห้งตาแบงมาน

พี่สู้เมินเดินตรงเข้าดงสูง
Image
เสาชิงช้า วัดเพชรพลี สร้างขึ้นใหม่บนจุดเดิมที่เคยมีซากเสาชิงช้าโบราณปรากฏอยู่เป็นอนุสรณ์ของชุมชนพราหมณ์เมืองเพชรฯ สุนทรภู่กล่าวว่า “เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา”
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

สุนทรภู่คุ้นเคยกับทางเมืองเพชรฯ ที่เคยมาอยู่หลังจากกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตเมื่อปี ๒๓๔๙ จนถึงปี ๒๓๕๖  มีคนรักและมีความทรงจำอยู่มาก ดังที่เล่าไว้ใน นิราศเมืองเพชร ซึ่งกลับไปเขียนในภายหลัง 
ด้านอาหารการกินอยู่ก็ไม่ถูกปากถูกใจเอาเสียเลย
ทั้งแย้บึ้งอึ่งอ่างเนื้อค่างคั่ว
เขาทำครัวครั้นไปปะขยะแขยง
ต้องอดสิ้นกินแต่ข้าวกับเต้าแตง
จนเรี่ยวแรงโรยไปมิใคร่มี
กับแม่ค้าสาว ๆ ชาวเมืองแถวบางปลาสร้อย ที่กวีชาวกรุงรู้สึกว่าค่อยน่ามองขึ้นมาบ้าง
ดูรูปร่างนางบรรดาแม่ค้าเคียง
เห็นเกลี้ยงเกลี้ยงกล้องแกล้งเป็นอย่างกลาง
แม้แต่คนมีเหย้าเรือนแล้ว หากเป็นชาวเมืองก็ยังดูดี ดังที่พูดถึงแม่ค้าเขียงหมู เมียคนจีนย่านชุมชนคลองบางหลวง ในคราว นิราศเมืองเพชร
เมียขาวขาวสาวสวยล้วนรวยโป
หัวอกโอ้อายใจมิใช่เล็ก
Image
ท่าน้ำวัดพลับพลาชัย ริมฝั่งตะวันตก แม่น้ำเพชรบุรี เป็นจุดที่สุนทรภู่จอดเรือขึ้นฝั่งเดินเท้าไปยังที่ต่าง ๆ ในเมืองเพชรฯ
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

Image
ถ้ำเขาหลวง ถ้ำบนยอดเขานอกตัวเมือง ที่สุนทรภู่เขียนไว้ใน นิราศเมืองเพชร ว่าตอนมาอยู่เมืองเพชรฯ คราวก่อน (ช่วงปี ๒๓๕๐-๒๓๕๖) เคยพาสาวเมืองเพชรฯ ชื่อจันมานอนท่องกลอนให้กันฟังในถ้ำนี้จนถึงเช้า 

ชมลูกจันทน์กลั่นกลิ่นรินรินรื่น 
จนเที่ยงคืนแขนซ้ายกลายเป็นหมอน 
เห็นห้องหินศิลาเหลืออาวรณ์ 
เคยกล่าวกลอนกล่อมน้องประคองเคียง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

และแนวคิดที่สะท้อนอยู่ในงานเขียนระยะหลัง ช่วงเขียน นิราศเมืองเพชร นั้น สุนทรภู่ให้น้ำหนักกับอำนาจของเงินตามสายตาคนหัวก้าวหน้าที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงศูนย์กลางของเงินตราและการค้าขายของนานาชาติในสยาม
มีเงินงัดคัดง้างเหมือนอย่างเจ๊ก
ถึงลวดเหล็กลนร้อนอ่อนละไม 
และด้วยการศึกษาแสวงหาความรู้อย่างเท่าทันโลกยุคใหม่ทำให้สุนทรภู่เป็นคนหัวสมัยใหม่มาตั้งแต่เริ่มหนุ่ม ช่วงที่อยู่บ้านกร่ำกับบิดา สุนทรภู่ป่วยหนักถึงขั้นเพ้อจำคนไม่ได้

มีหมอเฒ่าชาวบ้านมาช่วยปัดเป่า คนทรงเจ้าเข้าผีบอกว่าเจ็บป่วยเพราะหนุ่มเมืองกรุงเก็บดอกไม้จากท้ายเขาโดยไม่บอกกล่าวเจ้าที่ เมื่อตาหมอขมาก็ยกโทษให้

สุนทรภู่หายป่วย แต่ก็ไม่ได้เชื่อเรื่องเจ้าป่าหมอผีและการรักษาแบบวิถีชาวบ้าน
ที่จริงใจพี่ก็รู้อยู่ว่าปด
แต่ชาวบ้านท่านถือข้างท้าวมด
จึงสู้อดนิ่งไว้ในอุรา
กระทั่งเมื่อจะลาจากเมืองแกลงกลับกรุงเทพฯ ก็ดูว่าสุนทรภู่ไม่รู้สึกอาลัยไยดีกับถิ่นที่มีคนชั้นหลังพยายามจะบอกว่าเป็นถิ่นฐานบ้านช่อง โดยเฉพาะคนบ้านพงค้อ ที่อยู่ถัดไปนั้นเป็นชาวชองคนต่างชาติพันธุ์
ดูหนุ่มสาวชาวบ้านรำคาญจิต
ไม่น่าคิดเข้าในกลอนอักษรสนอง
ล้วนวงศ์วานว่านเครือเป็นเชื้อชอง
ไม่เหมือนน้องนึกน่าน้ำตากระเด็น

แล้วไปชมกรมการบ้านดอนเด็จ
ล้วนเลี้ยงเป็ดหมูเนื้อดูเหลือเข็ญ
ยกกระบัตรคัดช้อนทุกเช้าเย็น
เมียที่เป็นท่านผู้หญิงนั่งปิ้งปลา
ตอกย้ำว่านอกจาก “เผ่าพงศ์พวกวงศา” กลุ่มที่ได้พบที่กุฏิบิดาเมื่อยามพลบค่ำที่วัดบ้านกร่ำแล้ว ตลอดเส้นทาง นิราศเมืองแกลง สุนทรภู่ดูจะไม่ได้นับเนื่องว่าเป็นญาติวงศ์กับคนในแถบถิ่นนั้น

ไปกลางย่านบ้านเรือนหามีไม่
สมุทรไทซึ้งซึกลึกหนักหนา
แต่สำเภาชาวเกาะเมืองลังกา
เขาแล่นมามีบ้างอยู่ลางปี

Image
พลังและแรงบันดาลใจจากวรรณคดี แปรรูปเป็นประติมากรรมตัวละครที่ไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดกับความสมจริงตามท้องเรื่อง ม้านิลมังกรจึงสามารถเป็นสีน้ำเงินได้
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

พร้อม ๆ กับการปักธงว่าสุนทรภู่เป็นคนระยองก็มีการปักหมุด “เกาะแก้วพิสดาร” ในนิทานเรื่อง พระอภัยมณี ว่าอยู่ที่เกาะเสม็ดเป็นการเจาะจงสถานที่จริงให้กับฉากสมมุติ ซึ่งแม้จะเข้าใจกันอยู่ว่าเป็นมโนภาพในจินตนาการของผู้เขียน แต่หากคนอ่านนึกสนุกจะสวมทับเข้ากับพื้นที่ในโลกจริง ก็ควรต้องสอดคล้องตามท้องเรื่องด้วยคนทั้งหลายถึงจะเห็นคล้อยว่าสมจริง

เรื่องการตีความสถานที่ “กาญจนาคพันธุ์” (ขุนวิจิตร-มาตรา) เขียนไว้ตั้งแต่ปี ๒๔๙๐ ว่าฉากในเรื่อง พระอภัยมณี ส่วนใหญ่อยู่ในทะเลอันดามันและหลังจากนั้นก็มีผู้จับให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่มีอยู่จริงกับเรื่องราวที่อยู่ใน พระอภัยมณี

“เมืองรัตนา” ของท้าวสุทัศน์ (พระราชบิดาของพระอภัยมณี) ถอดความจากถ้อยคำได้ความหมายเดียวกับ “กรุงรัตนโกสินทร์”

“เดือน ๘ ปีวอก ขึ้น ๑๑ ค่ำ วันพุธ” ที่ “ท้าว (สุทัศน์) สวรรคครรไล” ตรงกับวันพุธที่ ๒๑ กรกฎาคม ปี ๒๓๖๗ ที่รัชกาลที่ ๒ สวรรคต
ตามเนื้อเรื่องตีความกันว่าฉากในเรื่อง พระอภัยมณี อยู่ที่ทะเลอันดามัน แต่ปัจจุบันชายทะเลที่ไหนก็พบเห็นพระอภัยมณีและญาติวงศ์ได้ทั่วไป ไม่ว่าเกาะเสม็ด เกาะสมุย หาดจอมเทียน เพชรบุรี 
ภาพ : วีระศักร จันทร์ส่งแสง

Image
Image
ศึกส่วนใหญ่ระหว่างเมืองผลึกกับลังกา ซึ่งฝ่ายหลังเป็นฝรั่ง ตรงตามสถานการณ์จริงทางตะวันตก ที่ยุคนั้นศรีลังกากำลังตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และอยู่ห่างจากเมืองแรกในระยะแล่นเรือ ๑๕ วัน ซึ่งตรงตามเหตุการณ์จริงที่สงฆ์จากกรุงรัตนโกสินทร์เดินทางโดยเรือพ่อค้าจากเมืองตรังถึงศรีลังกา

เมื่อปี ๒๓๕๗ เมืองผลึกจึงถูกวางลงบนแผนที่จริงว่าคือเกาะภูเก็ต

แต่เป็นไปได้ว่าสุนทรภู่ได้แรงบันดาลใจจากทะเลแถบบ้านเพ-แหลมแม่พิมพ์ เพราะเป็นแถบถิ่นชายทะเลที่ได้ไปคลุกคลีใช้ชีวิตนานนับ ๓ เดือนเมื่อเริ่มหนุ่ม ซึ่งอาจรวมถึงการได้สัมผัสเกาะเสม็ดที่หมายว่าคือเกาะแก้วพิสดารด้วย

แต่เมื่อนำมาวางต่อเชื่อมโยงเข้ากับโครงเรื่องทั้งหมด ความสมจริงตามท้องเรื่องใน พระอภัยมณี ใครก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าฉากที่กินกว้างเกือบครึ่งโลกก็น่าจะอยู่ทางฝั่งตะวันตก ไม่ใช่อ่าวไทย

การเดินทางของเจ้าชายจากเมืองรัตนาไปครองเมืองผลึก และเคลื่อนทัพไปเมืองลังกาทำศึกทางเรือกับฝรั่ง ซึ่งเป็นชาวตะวันตก เกาะแก้วพิสดารที่มีเรือฝรั่งลังกาแล่นผ่านไปมาก็ต้องอยู่ในห้วงสมุทรเดียวกันนั้นถึงจะสมจริง อ่านแล้วนึกภาพตามได้ง่ายไม่รู้สึกขัดแย้ง เพราะแต่ไหนแต่ไรฝรั่งก็เดินเรือมาจากทางทะเลอันดามัน

เกาะแก้วพิสดารอาจมีภาพจำหรือความบันดาลใจมาจากเกาะเสม็ดก็เป็นได้

และใครจะปักธงว่าอยู่ที่อ่าวไทยก็พอสนุก แต่ดูเหมือนจะไม่มีบริบทใดในโลกจริงรองรับ
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
Image
พระอภัยมณี ฤๅษี ชีเปลือย นางเงือก ปั้นง่าย ๆ แบบไม่จำเป็นต้องเนี้ยบและเป็นทางการ และอยู่ ๆ ก็อาจกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

Image
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ผลงานทั้งชีวิตของสุนทรภู่มีอยู่นับ ๖ หมื่นคำกลอน โดยมี พระอภัยมณี เป็นเรื่องเอก เป็นนิทานที่อาจเทียบได้กับนิยายในยุคนี้ ซึ่งอยู่ยงข้ามกาลเวลา
มาได้ด้วยเนื้อหาที่ล้ำยุคสมัย เล่าผ่านรูปแบบกลอนแปดอันไพเราะด้วยจังหวะเสียงสูงต่ำและคำสัมผัส  

Image
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว
ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว
เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร

เพลงยาวที่คนรุ่นเรารู้จักในวิชาภาษาไทย มีความหมายว่าจดหมายรักที่คนหนุ่มสาวยุคโบราณเขียนเป็นกลอนส่งไปมาหากัน จนถึงกับบางครอบครัวไม่ยอมให้ลูกสาวเรียนหนังสือ กลัวจะไปหลงในการสังวาส ว่าผู้หญิงรู้หนังสือทำประโยชน์ได้น้อย มีแต่นำความชั่วร้ายเข้าตัว ในทางโอ้โลมคบชู้สู่ชาย

แต่ความจริงนอกจากจดหมายรัก กลอนเพลงยาวยังใช้เขียนงานอื่น ๆ ด้วย อย่างจดหมายเหตุ งานประพันธ์ โดยเฉพาะ นิราศ ในความหมายอย่างกว้างเพลงยาวคือกลอนสุภาพ

“นักเลงทำเพลงยาว” ของสุนทรภู่ ถ้าในยุคนี้ก็น่าจะเทียบได้กับคำว่า “นักกลอน”

กลอนเพลงยาวเป็นฉันทลักษณ์ร้อยกรองที่มีมาแต่ดั้งเดิม แต่สุนทรภู่นำมาสร้างสรรค์ต่อให้ไพเราะยิ่งขึ้น จากรูปแบบกลอนแปดที่มีแปดคำในแต่ละวรรค แบ่งจังหวะการอ่านเป็น ๓-๒-๓ ให้พอดีกับพยางค์ในคำไทย ใช้วรรณยุกต์ที่ให้เสียงสูงต่ำน่าฟัง เน้นให้มีเสียงสัมผัสในวรรค เพิ่มจากสัมผัสนอกที่มีมาแล้วแต่เดิม ใช้คำธรรมดาที่ไม่ใช่บาลีสันสกฤต อ่านง่าย เข้าใจง่าย จำได้ทันที คนที่อ่านร้อยกรองเป็นจะยิ่งสนุก จนเป็นที่นิยมแพร่หลายถึงระดับชาวบ้าน บางทีจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ากลอนตลาด
จิตรกรรมลงรักปิดทอง วิจิตรศิลป์อันโดดเด่นของวัดเทพธิดาราม ตามที่สุนทรภู่บรรยายไว้ใน รำพันพิลาป ว่า “โบสถ์วิหารการเปรียญล้วนเขียนทอง”
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

ลีลากลอนแปลกใหม่ในสไตล์ของสุนทรภู่ได้รับการวิจารณ์จาก จิตร ภูมิศักดิ์ นักศึกษาประวัติศาสตร์วรรณคดีผู้ยิ่งใหญ่ในยุคหลังว่า “กลอนแปดของท่านไพเราะ มีสัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสอักษรครบครัน กลอนแต่ละวรรคมีการวางจังหวะของน้ำหนักคำ ให้มีที่หนัก (ครุ) และเบา (ลหุ) เหมาะแก่การอ่านเป็นทำนองเสนาะ ฟังแล้วเบาหวานลื่นไหล เสียงของกลอนที่อ่านระรื่นหวานจับหูจับใจคน  นี่คือลักษณะพิเศษของกลอนแปดแบบสุนทรภู่ ซึ่งเป็นการริเริ่มขึ้นใหม่ในวงการกาพย์กลอนของไทยในสมัยยุครัตนโกสินทร์”

แต่ในแง่เนื้อหาจิตรเห็นว่า “กวีผู้นี้ได้ใช้ศิลปะของเขารับใช้ชนชั้นศักดินาเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะสภาพชีวิตในสังคมได้เขมือบกลืนเขา จนค่อย ๆ กลายเป็นผู้รับใช้ศักดินาไป”

งาน “รับใช้ศักดินา” ที่ชัดเจนตามความหมายของ จิตร ภูมิศักดิ์ น่าจะได้แก่สุภาษิต สวัสดิรักษา กับ เพลงยาวถวายโอวาท ที่สุนทรภู่แต่งถวายเจ้านายในสมัยรัชกาลที่ ๒ และ ๓ ซึ่งยังคงสอนใจและให้แบบแผนการดำเนินชีวิตแก่คนไทยต่อมา

กับบทเห่สี่เรื่อง ที่ใช้ขับร้องเห่กล่อมพระบรรทมเจ้านายที่ทรงพระเยาว์ทุกพระองค์ในพระบรมมหาราชวัง

สุนทรภู่ยังใช้กลอนสุภาพที่เขาสร้างแบบแผนและการใช้จังหวะคำขึ้นมาใหม่ในการเขียนนิราศของเขาทั้งเก้าเรื่อง เว้นแต่ นิราศสุพรรณ ที่ใช้รูปแบบฉันทลักษณ์โคลงสี่สุภาพ และนิทานเรื่อง พระไชยสุริยา ที่ใช้รูปแบบคำประพันธ์กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘  นอกนั้นนิทานอีกสี่เรื่อง เสภาสองเรื่อง ล้วนแต่งเป็นกลอนสุภาพ
บท วรรค คำ และคำกลอน
กลอนสุภาพ ๑ บท มี ๔ วรรค
เรียกเรียงกันไปว่า สดับ รับ รอง ส่ง
๑ วรรคมี ๗-๙ คำ
๒ วรรคเรียกว่า ๑ บาท หรือ ๑ คำกลอน

ในสมัยนั้นเรียกเรื่องแต่งว่า “นิทาน” ซึ่งโดยเนื้อหาน่าจะเทียบได้กับ “นิยาย” ในยุคปัจจุบัน เพียงแต่เล่าเรื่องเป็นร้อยกรอง จึงมักเรียกกันว่า “นิทานคำกลอน” นอกจาก โคบุตร สิงหไกรภพ ลักษณวงศ์ ก็มี พระอภัยมณี ผลงานอมตะอันลือลั่นที่สุดของสุนทรภู่ ที่มีผู้นิยมอ่านตั้งแต่ชั้นเจ้านายจนถึงชาวบ้านร้านตลาด ซึ่งในยุคที่สุนทรภู่ยังมีชีวิต การเผยแพร่งานยังใช้การคัดลอก ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า ผู้อ่านจะมาขอคัดลอกโดยจ่ายเงินให้คนเขียน

จนในสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ หลังจากผู้เขียนลาโลกไปแล้วนับ ๓๐ ปี ซามูเอล จอห์น สมิท (Samuel John Smith) มิชชันนารีอเมริกัน ได้จัดพิมพ์นิทานคำกลอนสุนทรภู่ เรื่อง พระอภัยมณี ออกวางจำหน่ายเป็นครั้งแรก ได้รับการตอบรับสูงขายดีมาก

ตามที่ “ก.ศ.ร. กุหลาบ” เขียนเล่าไว้ใน สยามประเภท ว่า “เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๓๑ หมอสมิธเจ้าของโรงพิมพ์ที่บางคอแหลม พิมพ์เรื่อง พระอภัยมณี ก่อนเรื่องอื่น พิมพ์ขายคราวละเล่มสมุดไทย เรียกราคาเล่มละสลึง (๒๕ สตางค์) คนตื่นซื้อ หมอสมิธได้กำไรมาก นัยว่าสร้างตึกได้หลังหนึ่ง จนหมอสมิธคิดถึงสุนทรภู่ เที่ยวสืบถามหวังจะให้บำเหน็จ เวลานั้นนายพัดกับนายตาบบุตรสุนทรภู่ยังอยู่ แต่จะได้บำเหน็จเท่าใดหาปรากฏไม่”
Image
ต้นฉบับงานเขียนแต่เดิมเขียนบนสมุดไทย กระดาษไทยทำจากเปลือกไม้จำพวกข่อย สา ปอ สับปะรด  คัดลอกอ่านกันในหมู่ชนชั้นนำ ก่อนจะมีระบบเครื่องพิมพ์ที่ทำให้งานเขียนแพร่หลายไปถึงคนทุกระดับชั้น
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

จนทุกวันนี้ก็ยังมีคนนำผลงานของสุนทรภู่มาพิมพ์ขายอยู่โดยไม่ต้องไยดีทายาท

ด้วยกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ในปัจจุบันให้ความคุ้มครองสิทธิในวรรณกรรมแก่ทายาทในระยะเวลา ๕๐ ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต  หลังจากนั้นผลงานถือเป็นสาธารณะของแผ่นดิน ทุกคนสามารถเผยแพร่และนำไปใช้ต่อในรูปแบบใดก็ได้

ส่วนกฎหมายพระราชบัญญัตินามสกุลที่เริ่มมีขึ้นในรัชกาลที่ ๖ กล่าวกันว่าทายาทลูกหลาน เหลน ลื่อ ลืบ ฯลฯ ของสุนทรภู่ใช้นามสกุล “ภู่เรือหงส์” แต่ยังไม่เป็นที่เชื่อถือแน่ชัด

กระทั่งคุณหญิงผะอบ โปษะกฤษณะ ได้เขียนเล่าถึง แปลก ภู่เรือหงส์ ทายาทสุนทรภู่ที่มาอาศัยอยู่ในบ้าน ลงในหนังสือ อนุสรณ์สุนทรภู่ ๒๐๐ ปี เรื่องสายสกุลของสุนทรภู่จึงชัดเจนเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

แปลกรับราชการเป็นนายช่างกรมโยธาธิการ เป็นหลานปู่ของพัด เกิดปี ๒๔๐๑ ภรรยาชื่อลมุล มีบุตรคนหนึ่งชื่อน้อม นายแปลกถึงแก่กรรมเมื่อปี ๒๔๗๓

มีน้องชายร่วมบิดาชื่อ เลียบ ภู่เรือหงส์ รับราชการที่กรมแผนที่ทหารบก ตั้งบ้านเรือนอยู่แถวพรานนก มีลูกชายกับภรรยาคนแรกชื่อสวัสดิ์ และอีกสามคนกับภรรยาคนต่อมา ชื่อสมพงศ์ สมพร สมพูน  ซึ่งคนหลังสุดมีบ้านอยู่แถวสามเสน เคยมาร่วมงานวันสุนทรภู่ช่วงปี ๒๕๑๗-๒๕๑๙

ศาสตราจารย์ พันเอกหญิง มาลี ภู่เรือหงส์ ภรรยาของสมพูน ให้สัมภาษณ์เมื่อ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๒ ขณะมีอายุ ๘๕ ปี ว่าสมพูนถึงแก่กรรมราว ๒๐ ปีแล้ว และไม่มีทายาท

ส่วนทายาทลูกหลานในสายของสมพงศ์ สมพร รวมทั้งในสายของน้อม ลูกชายของแปลก ไม่ทราบข้อมูล

ไม่แน่ว่าทายาทของสุนทรภู่ในสกุลภู่เรือหงส์ ยังสืบสายกันมาจนถึงทุกวันนี้หรือไม่

แต่ชื่อสุนทรภู่ยัง “ลือฉาว” อยู่กับ “กลอนเพลงยาว” สมดังที่เขาสร้างทำและตั้งปณิธานไว้
สุนทรภู่คงเกี่ยวข้องคลุกคลีอยู่กับฝรั่งทั้งในชีวิตจริงและในงานเขียนของเขา คนตีพิมพ์งานเขาเผยแพร่คนแรกก็เป็นมิชชันนารีฝรั่ง คนที่มาแกะรอยตามหากุฏิสุนทรภู่ครั้งแรกก็ฝรั่ง และเมื่อเขาได้รับการประกาศเป็นบุคคลสำคัญของโลกจากยูเนสโก พิพิธภัณฑ์บ้านกวีที่วัดเทพธิดารามก็ยังมีฝรั่งมาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

Image
“เมื่อปี ๒๔๘๐ มีฝรั่งสองคนมาสืบหากุฏิสุนทรภู่ ที่คณะ ๗ ปรากฏว่าไม่มีใครรู้จัก จนพระยาราชสมบัติ (เอิบ บุรานนท์) นำต้นฉบับ รำพันพิลาป มามอบให้หอสมุดแห่งชาติ ประวัติชีวิตสุนทรภู่จึงชัดเจนขึ้น และเริ่มมีการจัดงานรำลึกวันสุนทรภู่ ๒๖ มิถุนายน มาตั้งแต่ปี ๒๔๙๕”
Image
พระพุทธรูปภิกษุณี ๕๒ องค์ ในวิหารวัดเทพธิดาราม อาจถูกสร้างขึ้นเนื่องด้วยเป็นวัดที่สร้างเฉลิมพระเกียรติกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระธิดาองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งต่อมาเป็นองค์อุปถัมภ์ภิกษุสุนทรภู่
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

Image
กุฏิอยู่ที่คณะ ๗ ทุกวันนี้เป็นพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ หรือที่เรียกกันว่า “บ้านกวี”
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

Image
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

หนึ่งขอฝากปากคำทำหนังสือ
ให้สืบชื่อชั่วฟ้าสุธาสถาน
สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรพาฬ

"อาลักษณ์จักรพาฬ” ที่สุนทรภู่พูดถึงตัวเองนั้น เป็นทั้งคำอธิษฐานและการประกาศต่อหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ ที่ฝากไว้ใน นิราศพระประธม ว่าขอเป็นนักเขียนหรือกวีระดับเจ้าจักราลนั่นเลยทีเดียว

ซึ่งในวันนี้นามสุนทรภู่ก็ “สืบชื่อ” ไปทั่วฟ้าหล้าโลกแล้ว หลังจากได้รับการประกาศยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกเมื่อวาระ ๒๐๐ ปีชาตกาล

“สุนทรภู่”

ที่โลกรู้จักในวันนี้กล่าวได้ว่าเป็นนามปากกา นามเดิมตั้งแต่เมื่อวัน ๒๖ มิถุนายน ๒๓๒๙ ชื่อว่า “ภู่” ต่อมาด้วยฝีมือทางจินตกวี จึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนสุนทรโวหาร” ในสมัยรัชกาลที่ ๒  และเป็น “พระสุนทรโวหาร” ในรัชกาลที่ ๔  แต่ตลอดกาลคนเรียกขานเขาว่า “สุนทรภู่” มากกว่า กล่าวกันว่าเขาได้นามนี้มาในช่วงรัชกาลที่ ๓ ที่เขาหมดยศออกจากราชการ จึงเรียกชื่อตัวเองว่า “สุนทรภู่”
ดูจากบรรดาศักดิ์ทางราชการ สุนทรภู่ไม่ใช่ขุนนางชั้นสูงหรือมีบทบาทสำคัญด้านการบริหารบ้านเมือง แต่เป็นที่รู้จักและจดจำของคนรุ่นหลังมากกว่าแม่ทัพ นักรบ ขุนนางชั้นสูง ก็ด้วยผลงานเขียนที่เขาสร้างไว้

โลกจารึกชื่อ แต่ตัวตนหน้าตาจริง ๆ ของเขาเป็นเช่นไร คนรุ่นหลังไม่มีโอกาสล่วงรู้

บันทึกเรื่องรูปร่างหน้าตาของสุนทรภู่เห็นจะมีแต่ใน ประวัติสุนทรภู่ ฉบับของ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ที่ได้จากการสัมภาษณ์นายแก้วภักดี เล่าถึงคราวที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรับสั่งให้สุนทรภู่มาเข้าเฝ้าฯ เพื่อต่อกลอนครั้งแรก พอทอดพระเนตรเห็นก็ทรงรับสั่งว่า “ฮึ รูปร่างมันเป็นครกกระเบือดินอยู่นี้พ่อเฮย เอาไหน ๆ มาแล้วก็ลองให้แก้ดูที”

แต่พอแก้และต่อกลอนไปก็เป็นที่พอพระราชหฤทัย โปรดเกล้าฯ ให้รับราชการแต่นั้นมา พระราชทานเรือประทุนให้อยู่ คนจำเรือลำนั้นได้แม่นยำจากสำรับคู่หนึ่งที่ปิดฝาชีแดงตั้งอยู่หน้าเรือ ซึ่งมีผู้เห็นโดยมากว่าจอดอยู่ที่ท่าช้างวังหลวง  นัยว่ามีราชการรับสั่งให้หาเนือง ๆ  ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องใดขึ้นก็เป็นต้องตามหาตัวมา ให้เป็นคนฟังคอยทักท้วงในบางแห่งเสมอ ๆ

ช่วงปลายชีวิตของเขาในสมัยรัชกาลที่ ๔ สยามเริ่มมีกล้องถ่ายรูปพร้อมการเข้ามาของพระสังฆราชปาลเลอกัวซ์ แต่ไม่ปรากฏว่ามีใครถ่ายภาพสุนทรภู่เอาไว้  รูปร่างหน้าตาจริงสุนทรภู่จึงคงเป็นปริศนาตลอดกาล
รูปปั้นที่แสดงหน้าตาอันหลากหลายของสุนทรภู่คงนับได้แต่ว่าเป็นภาพแทนเชิงรูปธรรม ซึ่งคงไม่สำคัญเท่าภาพจำในสำนวนรสอักษรที่ตราตรึงแจ่มชัดในใจคนอ่าน 
Image
Image
Image
Image
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง, ประเวช ตันตราภิรมย์
สุนทรภู่มีชีวิตอยู่ในช่วงที่เริ่มมีกล้องถ่ายรูปเข้ามาในสยามแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่ามีใครถ่ายรูปสุนทรภู่เอาไว้  การปั้นรูปสุนทรภู่ครั้งแรกคือที่อนุสาวรีย์สุนทรภู่ เมืองแกลง (ภาพ ๑) ก็คงมาจากจินตนาการ ของทีมประติมากรจากกรมศิลปากร  รวมถึงที่มีการสร้างต่อมาที่ท่าน้ำวัดพลับพลาชัย เพชรบุรี (ภาพ ๒) ที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย (หน้าก่อน) ก็อยู่ในช่วงวัยอาวุโสทั้งสิ้น ยกเว้นที่วัดชีปะขาว (ภาพ ๓) เป็นวัยเยาว์ และที่กุฏิสุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม (ภาพ ๔) เป็นช่วงอยู่ในเพศบรรพชิต 
จากการตระเวนตามรอยสุนทรภู่ไปทุกแห่งที่รู้ว่ามีอนุสาวรีย์ สุนทรภู่ พบว่าทุกวันนี้มีรูปปั้นสุนทรภู่อยู่อย่างน้อยห้าแห่งอยู่ในกรุงเทพฯ สองแห่ง ที่พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ วัดเทพธิดารามวรวิหาร กับอนุสาวรีย์วัยเรียนที่วัดศรีสุดารามวรวิหาร (วัดชีปะขาว) ริมคลองบางกอกน้อย  อีกสามแห่งอยู่ที่ริมท่าน้ำวัดพลับพลาชัย เพชรบุรี  อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ที่บ้านกร่ำ ระยอง และในพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย นครปฐม ซึ่งแต่ละแห่งรูปร่างหน้าตาของสุนทรภู่แทบไม่เหมือนกันเลย และเกือบทั้งหมดเป็นวัยอาวุโสที่ดูเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในขนบทางการ ไม่ค่อยมีเค้าความเท่แบบหนุ่มเจ้าเสน่ห์เหมือนอย่างที่เห็นจากตัวหนังสือของเขา

รูปปั้นที่แสดงหน้าตาอันหลากหลายของสุนทรภู่คงนับได้แต่ว่าเป็นภาพแทนเชิงรูปธรรม ซึ่งคงไม่สำคัญเท่าภาพจำในสำนวนรสอักษรที่ตราตรึงแจ่มชัดในใจคนอ่านนามอันแนบอยู่กับผลงานนั้นหนักแน่นยืนนานกว่าภาพจำเชิงรูปธรรมอย่างเทียบกันไม่ได้

เรื่องนี้สุนทรภู่ไม่ได้เขียนไว้ในบทร้อยกรองสุภาษิตเรื่องใด
แต่ฝากผ่านงานทุกชิ้นที่ทำไว้ ให้คนข้างหลังทั้งหลายได้ตระหนักในคุณค่าแห่งการสร้างสรรค์งาน  
เอกสารอ้างอิงและอ่านประกอบการเขียน
กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. จดหมายเหตุ การอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์, ๒๕๒๕.

กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. การเสด็จเยือนประเทศสยามของพระเจ้านิโคลาสที่ ๒ แห่งรัสเซีย,
๒๕๔๐.

คณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี. สมุดภาพเหตุการณ์สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์, ๒๕๒๕.


คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล
เฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒. สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม ๒, ๒๕๔๒.

ครูทอม คำไทย. สุนทรภู่ไม่ได้เป่าปี่ พระอภัยมณีไม่ใช่คนระยอง, ๒๕๕๙.


ชมนาด เสวิกุล. ประวัติชีวิตและผลงานของสุนทรภู่ ฉบับสมบูรณ์, ๒๕๓๕.


นฤมล วิจิตรรัตนะ. ประวัติชีวิตและผลงานสุนทรภู่, ๒๕๔๙.


ประทุมรัตน์ วงศ์ดนตรี. สยามและคณะมิสชันนารีฝรั่งเศส, ๒๕๒๘.


มานิต หล่อพินิจ. ประวัติชีวิตและผลงานสุนทรภู่, ๒๕๔๙.


ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๘ เดือนมิถุนายน ๒๕๒๙.


สมชาย ปรีชาเจริญ. ชีวิตและศิลป, ๒๕๖๔.


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ชีวิตและงานของสุนทรภู่, ๒๕๑๘.


สโมสรมิตรภาพวัฒนธรรมสากล. “มหากวี” กระฎุมพี “สุนทรภู่”, ไม่ระบุปีที่พิมพ์.


สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. โลกเล่าขานนักประพันธ์ไทย, ๒๕๕๗.

สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. วิวัฒน์การอ่านไทย, ๒๕๕๗.


สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ). เศรษฐกิจ-การเมืองเรื่องสุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพี, ๒๕๔๕.


สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ). สุนทรภู่ เกิดวังหลัง ผู้ดี “บางกอก” มหากวีกระฎุมพี มีวิชาเท่าทันโลก, ๒๕๔๗.


สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ). สุนทรภู่ อยู่วังหลัง ผู้ดี บางกอก ประวัติย่อ ๆ ง่าย ๆ, ๒๕๖๑.


สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์. พระอภัยมณี : การศึกษาในเชิงวรรณคดีวิจารณ์, ๒๕๔๙. 
หนังสือเก่าเล่าเรื่องเมืองแกลงและสุนทรภู่. อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจนางจำเนียร มุกดาสนิท, ๒๕๖๑.

องค์การค้าของคุรุสภา. ขุนช้างขุนแผน เล่ม ๒, ๒๕๓๘.


อภิลักษณ์ เกษมผลกูล (บรรณาธิการ). ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์), 
สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิมพ์ครั้งที่ ๔, ๒๕๕๔.

อาทิตยา (นามแฝง). ประวัติและคำกลอนสุนทรภู่, ๒๕๕๒.


อานนท์ จิตรประภาส. สุนทรภู่ มหากวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, ๒๕๕๑.


ขอบคุณ

ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต, ดร. เขมฤทัย บุญวรรณ และ เบญจวรรณ รุ่งศิริ