กลอน/แปด/เพลงยาว/
ชีวิตสุนทรภู่
ฉาก 1
scoop
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
๑
แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
นับตั้งแต่เข้าโรงเรียนเราก็ได้ท่องอาขยานบทนี้ ทำให้ได้รู้จักผู้แต่งไปด้วย ครั้นถึงวันที่ ๒๖ มิถุนายนของทุกปี นักเรียนก็มักต้องจัดบอร์ดนิทรรศการ บางทีก็มีงานเวทีแต่งแฟนซี ตัวละคร และอาจรวมทั้งเขียนเรียงความวันสุนทรภู่ ทำให้น่าเชื่อได้ว่าจนทุกวันนี้ สุนทรภู่ยังเป็นกวีที่คนไทยรู้จักมากที่สุด
เป็นบุคคลสำคัญของชาติที่สร้างสรรค์งานวรรณศิลป์ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้สัมผัสอรรถรสงดงามในศิลป์แห่งภาษา
ก็ลองนึกดูว่าหากไม่มีกลอนกานต์งานประพันธ์ของเขาอยู่ในแผ่นดินนี้ ชาติไทยจะขาดหายแล้งไร้เพียงไรในแง่ศิลป์แห่งภาษา สุนทรียรสในด้านวรรณกรรม
สุนทรภู่จึงได้รับการยอมรับเป็นบุคคลสำคัญยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งกลอนแปด ผู้สร้างรูปแบบกลอนสัมผัสใน และการสรรคำที่ให้จังหวะเสียงสูงต่ำที่ให้ความไพเราะลื่นไหลเมื่ออ่านออกเสียง
ทั้งต่อมายังได้รับการประกาศนามเป็นบุคคลสำคัญของโลก
ในวาระ ๒๐๐ ปีชาตกาล เมื่อปี ๒๕๒๙ โดยยูเนสโก ซึ่งนับเป็นสามัญชนคนแรกของเมืองไทยที่ได้รับเกียรตินี้
Sunthorn Phu หรือ Phra Sunthorn Vohara นามแห่งบรมครูกวีไทยก็ยิ่งเป็นที่รู้จักกว้างไกลออกไปไม่แพ้โลกกว้างในฉากนิทานคำกลอนที่เขาเขียนไว้เมื่อนับร้อยปีก่อน
อนุสาวรีย์แห่งแรกของสุนทรภู่ที่บ้านกร่ำ ระยอง ที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้คนรุ่นหลังเข้าใจไปว่าบ้านสุนทรภู่อยู่เมืองแกลง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เรื่องราวของพระสุนทรโวหารหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าสุนทรภู่ เป็นชีวิตคนที่มีตัวตนอยู่จริง กับเรื่องที่เขาแต่งขึ้น ซึ่งอย่างหลังดูจะเป็นที่รู้จักและจดจำของคนรุ่นหลังมากกว่า ขณะเดียวกันคนเหล่านั้นก็ได้แต่งเติมชีวิตเขา เล่าต่อกันมาราวกับเป็นนิยายเรื่องหนึ่ง
ชีวิตสุนทรภู่ที่รู้จักกันจากตำราเรียนยุคหนึ่งบอกว่าเป็นชาวเมืองแกลง ระยอง เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นอาลักษณ์เจ้าชู้และขี้เมา ชีวิตรุ่งเรืองในรัชกาลที่ ๒ แล้วกลับตกยากในรัชกาลที่ ๓ ต้องแต่งกลอนเพลงยาวขายเลี้ยงชีพ โดยมี พระอภัยมณี เป็นเรื่องเอก เป็นหนึ่งในยอดวรรณคดีในยุครัตนโกสินทร์ที่ยังอ่านกันแพร่หลายตั้งแต่ชาวบ้านจนถึงนักวิชาการวรรณกรรม และยังนำไปทำต่อในรูปแบบงานศิลปะการเล่าเรื่องแขนงต่าง ๆ อยู่เสมอ รวมทั้งเป็นบทอาขยานในหนังสือเรียน ให้เด็ก ๆ รุ่นใหม่ได้ซึมซับสัมผัสใจความและความไพเราะแห่งถ้อยคำในบทร้อยกรองของภาษาไทย
และในยุคหนึ่งยังปักหมุดระบุสถานที่จริงของฉากนิทานคำกลอนเรื่อง พระอภัยมณี ว่าอยู่แถวชายฝั่งระยอง เกาะแก้วพิสดารคือเกาะเสม็ด ตัวละครทั้งหลายโลดแล่นอยู่ในอ่าวไทยรายรอบเกาะแห่งนี้ กระทั่งเป็นชุดความรู้กระแสหลักที่ถูกส่งต่อกันผ่านระบบการศึกษาของทางการ
นัยหนึ่งก็เป็นความเคลื่อนไหวที่ก่อกระแสความน่าตื่นใจและมีสีสันดี แต่ก็ดูย้อนแย้งต่อความพยายามเอาความจริงไปสวมให้กับเรื่องสมมุติ ขณะที่ชีวิตจริงในบางด้านของผู้แต่งกลับถูกเติมต่อโดยไม่ได้ให้น้ำหนักกับข้อมูลหลักฐานจนราวกับเป็นเรื่องแต่ง แล้วกลายเป็นชุดความรู้กระแสหลักที่ใช้สอนต่อกันจริงจังในโรงเรียน
ทำให้นับวันยิ่งถูกโต้แย้งด้วยหลักฐานอ้างอิงที่มีมาตั้งแต่ต้นและการถอดรหัสจากบริบทของปัจจัยแวดล้อม
ทั้งแก่นสารและฉากในงานวรรณคดียังตีความกันได้ไม่รู้จบเช่นเดียวกับแง่มุมในชีวิตของผู้ประพันธ์ที่ไม่จำเป็นต้องสิ้นหวังต่อการเสาะหาความจริงมาเติมเต็ม แม้ว่าเขาจะจากโลกนี้ไปนานแล้ว
๒
ถึงหย่อมย่านบ้านกร่ำพอค่ำพลบ
ประสบพบเผ่าพงศ์พวกวงศา
ขึ้นกระฎีที่สถิตท่านบิดา
กลืนน้ำตาก็ไม่ฟังเฝ้าพรั่งพราย
คลองสำโรง ช่วงผ่านวัดบางพลีใหญ่ใน สุนทรภู่แจวเรือจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาตามลำคลองสายนี้มุ่งไปทางบางปะกง คราว นิราศเมืองแกลง เมื่อปี ๒๓๕๐ ตามที่บรรยายไว้ว่า “ดูเรือแพแออัดอยู่ยัดเยียด”
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
คำกลอนตอนหนึ่งใน นิราศเมืองแกลง ที่กล่าวกันว่าเป็นนิราศเรื่องแรกที่สุนทรภู่เขียนคราวเดินทางไปหาบิดาที่เป็นพระอยู่วัดบ้านกร่ำ เมืองแกลง และคงจากเนื้อหาจากคำกลอนวรรคนี้ ที่ทำให้เกิดความเชื่ออย่างกว้างขวางว่าถิ่นฐานของสุนทรภู่อยู่ที่ระยอง และการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเมืองแกลงครั้งนั้นก็เพื่อกลับไปเยี่ยมบิดาและบ้านเกิด
นิราศเมืองแกลง เป็นเหตุการณ์เมื่อปี ๒๓๕๐ เขียนตอนสุนทรภู่มีอายุ ๒๑ ปี หลังจากนั้นเขาเขียนนิราศอีกอย่างน้อย ๙ เรื่อง นิทานคำกลอนและบทประพันธ์ร้อยกรองอื่น ๆ ที่สำรวจพบแล้วไม่ต่ำกว่า ๒๔ เรื่อง ก่อนสิ้นชีวิตเมื่อปี ๒๓๘๙ แต่กว่าชีวประวัติของสุนทรภู่จะได้รับการบันทึกครั้งแรกก็ล่วงถึงปี ๒๔๕๖ โดยพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละ-ลักษมณ์) ระบุว่า “ที่เกิดของท่านสุนทร (ภู่) เข้าใจว่าเกิดที่ตำบลวังหลัง แลเกิดเมื่อในชั้นรัชกาลที่ ๑ แลไปเล่าเรียน (หนังสือ) อยู่ที่สำนักวัดชีปะขาว...”
หลังจากนั้นอีก ๙ ปี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเขียน ชีวิตและงานของสุนทรภู่ ออกเผยแพร่เมื่อปี ๒๔๖๕ ในหน้าแรก ๆ ของบทพระนิพนธ์เรื่องนี้ระบุว่า “...บิดาของสุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ ในเขตอำเภอเมืองแกลง แขวงจังหวัดระยอง ฝ่ายมารดาเป็นชาวเมืองอื่น มาอยู่ด้วยกันในกรุงเทพฯ เกิดสุนทรภู่เมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้แล้ว ๔ ปี แล้วบิดากับมารดาหย่ากัน บิดากลับออกไปบวชอยู่ที่เมืองแกลง ฝ่ายมารดาได้สามีใหม่มีลูกหญิงอีก ๒ คน ฉิมคนหนึ่ง ชื่อนิ่มคนหนึ่ง...”
และมีร่องรอยที่สืบสาวได้ว่ามารดาเป็น “แม่นม” ของลูกเธอในกรมพระราชวังหลัง ซึ่งสะท้อนว่าสายตระกูลต้องเป็นคนใกล้ชิดสนิทสนมอยู่ในรั้ววังกันมายาวนาน ถึงได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่สำคัญนี้
ส่วนการปักธงว่าสุนทรภู่เป็นคนระยอง น่าจะเกิดขึ้นในสมัย
รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อคราว เสวตร เปี่ยมพงศ์-สานต์ ส.ส. จังหวัดระยอง เสนอให้สร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่บ้านกร่ำ โดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของ “ผู้มีอายุ ๘๐ ปีคนหนึ่งของบ้านกร่ำ ซึ่งเชื่อว่าตนเองมีความเกี่ยวดองกับสุนทรภู่” เล่าว่า “บ้านของบิดาสุนทรภู่อยู่ริมทุ่งนา ชายเนินตำบลบ้านกร่ำกับตำบลชากโดนต่อกัน และสุนทรภู่เกิดที่นั่น”
ป้ายประวัติสุนทรภู่ที่ปักเรียงตามแนวคลองบางกอกน้อย รอบนอกพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานเหมือนเป็นการปักหมุดใหม่ว่าภูมิลำเนาของสุนทรภู่อยู่ตรงนี้ที่วังหลัง บริเวณที่เป็นโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
การสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ที่เมืองแกลงเป็นงานสำคัญระดับชาติ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงเป็นที่เชื่อถือ เช่น พระยาอนุมานราชธน นายเปลื้อง ณ นคร นายธนิต อยู่โพธิ์ เป็นต้น นายกรัฐมนตรีเป็นผู้วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๙๘ ปีที่ครบรอบศตวรรษการจากไปของสุนทรภู่
ทำให้นับแต่นั้นก็เหมือนเป็นการสถาปนาว่า ถิ่นฐานของสุนทรภู่อยู่ที่ระยอง
ความจริงเรื่องนี้ก็ถูกแย้งโดยข้อมูลที่สุนทรภู่เขียนไว้เองในโคลง นิราศสุพรรณ ว่า
วังหลังครั้งหนุ่มเหน้า เจ้าเอย
เคยอยู่ชูชื่นเชย ค่ำเช้า
และ
เลี้ยวทางบางกอกน้อย ลอยแล
บ้านเก่าเย่าเรือนแพ พวกพ้อง
ทั้งปรากฏใน สยามประเภท ของ “ก.ศ.ร. กุหลาบ” ซึ่งเขียนไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ว่าสุนทรภู่เกิดที่สวนลิ้นจี่วังหลัง บริเวณที่เป็นโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน เนื่องจากแม่เป็นชาววัง ตอนหลังเป็นแม่นมของพระธิดาองค์น้อยในกรมพระราชวังหลัง
สอดคล้องกับที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ด้วยว่าแม่ของสุนทรภู่ “...ได้เป็นนางนมพระธาดาในกรมพระราชวังหลัง (กล่าวกันว่าพระองค์จงกล) เพราะฉะนั้นสุนทรภู่จึงได้อยู่ที่พระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลังตั้งแต่ยังเด็ก”
ในกาลต่อมาพื้นที่บางส่วนของอดีตพระราชวังหลังกลายเป็นที่ตั้งสถานีรถไฟธนบุรี ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ซึ่งยังมีกำแพงวังปรากฏอยู่ด้านหลังอาคารพิพิธภัณฑ์ และริมขอบพิพิธภัณฑ์ด้านคลองบางกอกน้อย ทุกวันนี้มีแผ่นหมุดจารึกข้อมูลหลายหลักตั้งรายแทนแนวกำแพง บานที่ ๓ ถึง ๑๐ บันทึกเรื่องราวประวัติชีวิตและผลงานของสุนทรภู่โดยย่อ
เหมือนเป็นการปักหมุดเน้นย้ำว่าสุนทรภู่เกิดและเติบโตอยู่บริเวณนั้น
ส่วนบรรพบุรุษต้นตระกูลทางแม่ ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพระบุเพียงว่า “เป็นชาวเมืองอื่น” แต่สุนทรภู่เล่าไว้ชัดเจนใน นิราศเมืองเพชร ว่าต้องไปร่ำลาญาติก่อนจะกลับกรุงเทพฯ
เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช
ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา
เทวฐานศาลสถิตอิศวรา
เสาชิงช้าก็ยังเห็นเป็นสำคัญ
ทั้งโบสถ์บ้านฐานที่ยังมีอยู่
แต่ท่านผู้ญาติกานั้นอาสัญ
เพราะกรุงแตกแยกย้ายพลัดพรายกัน
จึงสิ้นพันธุ์พงศาเอกากาย
แบบจำลองเรือชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ในย่านบางกอกยุคโบราณ จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน บริเวณที่เคยเป็นถิ่นกำเนิดของสุนทรภู่ การเดินทางไปเขียนนิราศเรื่องต่าง ๆ สุนทรภู่ใช้เรือประทุนแบบมีหลังคา หุงข้าวปลาและนอนในเรือได้ แจวด้วยสี่ฝีพาย
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
"การเดินทางไปเมืองแกลงของสุนทรภู่ เหมือนไม่ใช่การกลับไปเยี่ยมภูมิลำเนาที่ผูกพัน แต่เป็นการไปราชการทางหัวเมืองตะวันออก ก่อนจะเลยไปหาบิดาที่แกลง ซึ่งเขาอาจไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย เพราะร้างจากแม่มาบวชอยู่วัดบ้านกร่ำตั้งแต่ก่อนสุนทรภู่จะจำความได้"
จากวังหลัง ฝั่งธนบุรี ถึงแกลง ที่ใช้เวลาราว ๓ ชั่วโมงรถยนต์ในทุกวันนี้ เมื่อปี ๒๓๕๐ สุนทรภู่แจวเรือผ่านแม่น้ำ ลำคลอง และทะเล และเดินทางบกอีกรวม ๑๓ วัน โดยในตอนหลังทางจังหวัดระยองได้จัดทำ “หมุดกวี” ไว้ตามจุดสำคัญที่สุนทรภู่เดินทางผ่าน หลักที่ ๒๘ ริมหาดแหลมแม่พิมพ์ หลักสุดท้ายสุดปลายทาง นิราศเมืองแกลง ของสุนทรภู่เมื่อวัย ๒๑ ปี ซึ่งกล่าวกันว่า เขาอาจได้แรงบันดาลใจจากทะเลแถบนี้ที่ใช้เป็นฉากในเรื่อง พระอภัยมณี
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
บ้านกร่ำ จุดหมายของสุนทรภู่ เมื่อคราว นิราศเมืองแกลง ซึ่งบอกว่าเมื่อมาเจอบิดา “กลืนน้ำตาก็ไม่ฟังเฝ้าพรั่งพราย” ปัจจุบันเป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์ มีกุฏิบิดา (จำลอง) รูปปั้นตัวละครในวรรณคดี และป้ายจารึกขององค์การยูเนสโกที่ประกาศยกย่องสุนทรภู่เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อปี ๒๕๒๙ ซึ่งนับเป็นสามัญชนคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
อยู่ในตอนท้าย ๆ ของ นิราศเมืองเพชร ซึ่งไม่มีในฉบับที่พิมพ์เผยแพร่อยู่ทั่วไป แต่มีอยู่ในฉบับตัวเขียนที่อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว เป็นผู้สืบเสาะได้มาสอบชำระเมื่อปี ๒๕๒๙
“เรื่องของเรื่องก็คือในปี ๒๕๒๙ เป็นปีที่ครบ ๒๐๐ ปีสุนทรภู่ แล้วผมอยากทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน เพราะผมอ่าน นิราศเมืองเพชร มาหลายเที่ยว ก็เห็นได้ชัดเจนเลยว่าข้อความขาด เนื้อหาหลายแห่งสะดุดไม่สอดรับกัน ก็เลยปรารถนาอย่างแรงกล้าว่าจะเขียน”
เขาสืบค้นได้ต้นฉบับจากหอสมุดแห่งชาติ กับกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรวมแปดฉบับ อ่านเทียบกับฉบับที่จัดพิมพ์เผยแพร่อยู่ทั่วไปโดยกรมศิลปากร
“วิธีถอดชำระของผมก็คือกางฉบับศิลปากร ดูว่าตรงกันไหมกับฉบับตัวเขียนลายมืออาลักษณ์ เขียนสวยเลย พอเช็กดูแล้วมีกลอนขาดไปหลายแห่ง บางแห่งก็เป็นท่อนยาว ๆ รวมทั้งหมดหายไปประมาณ ๘๐ คำกลอน พออ่านประกอบเสร็จแล้วรู้ชัดเลยว่าจะต้องมีการตัดต่อ ผมเคยคุยกับท่านจันทร์ (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี) ที่ท่านใช้นามปากกา ‘พ. ณ ประมวญมารค’ ท่านให้ความเห็นว่า คนที่ตัดคงเป็นสุนทรภู่เองนั่นแหละ แต่ว่าตัดเพื่ออะไรท่านก็ไม่ทราบ”
นิราศเมืองเพชร ฉบับที่เผยแพร่อยู่โดยกรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๗๐ เมื่อมีใครอื่นจัดพิมพ์อีกในภายหลังก็พิมพ์แบบนั้นมาตลอด คนอ่านทั่วไปจึงแทบไม่เคยมีใครได้เห็นใจความช่วงที่สุนทรภู่เขียนถึงเรื่องวงศาคณาญาติบรรพบุรุษของตนที่เพชรบุรี ที่อยู่ในเนื้อหาร่วม ๘๐ คำกลอน ที่หายไปจากฉบับพิมพ์เผยแพร่ทั่วไป
“เห็นได้ชัดเจนเลยว่าสุนทรภู่นั้นท่านมาเมืองเพชรฯ บ่อย ๆ สาเหตุคือญาติท่านอยู่ทางนี้ ไม่มีใครเคยพูดเลยว่าบรรดาเหล่ากอ ญาติของสุนทรภู่เป็นคนเมืองเพชรฯ”
หลักที่ ๒๗ แถวมุมวัดโพธิ์ทอง
บ้านดอนเค็ด ที่เป็นตัวเมืองแกลง
สมัยที่สุนทรภู่มาเยือน
หลักที่ ๑๓ วัดบ้านเก่า อำเภอเมืองระยอง
บ้านเกิดของนายแสง คนนำทาง
เมื่อมาถึงบ้านนายแสงหนีหน้า
ไม่ยอมไปต่อด้วยกัน สุนทรภู่แค้นใจเอาถ่านไฟ
เขียนแช่งไว้ที่หลังวิหารว่า “แสงเทวทัต”
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
ช่วงทะเลมีคลื่นลมแรงเรือประมงใหญ่ยังหลบริมฝั่ง แต่ในยุคโน้นยังไม่มีกรมอุตุฯ คอยแจ้งเตือน ช่วงเดินทางในทะเลจากบางปะกงมาบางปลาสร้อย เรือประทุนของสุนทรภู่ถูกคลื่นซัดไปถึงเขาสามมุข
ภาพ : สกล เกษมพันธุ์
สุนทรภู่คุ้นเคยกับทางเมืองเพชรฯ ที่เคยมาอยู่หลังจากกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตเมื่อปี ๒๓๔๙ จนถึงปี ๒๓๕๖ มีคนรักและมีความทรงจำอยู่มาก ดังที่เล่าไว้ใน นิราศเมืองเพชร ซึ่งมาเขียนในภายหลังราวปี ๒๓๘๘-๒๓๙๒ หรืออาจเป็นปี ๒๓๗๔ ตามข้อสันนิษฐานที่แตกต่างกัน
ขณะที่ทางเมืองแกลง ระยอง สุนทรภู่อาจไม่ได้คุ้นเคยนัก คราวที่เดินทางไปต้องมี “นายแสง” ชาวเมืองระยองเป็นคนนำทาง ซึ่งตอนหลังสุนทรภู่เรียกว่า “นายแสงเทวทัต” เนื่องจากทอดทิ้งกันกลางทาง ทำให้การเดินทางหลังจากนั้นสุนทรภู่และสองศิษย์ พุ่มกับน้อย ต้องดั้นด้นถามหาทางจากชาวบ้านไปกันเอง หลงทางเข้าดงเข้าป่าไปอย่างยากลำบาก
แต่ตลอดเส้นทางเขามีคนรู้จักและผู้นำตามหัวเมืองให้การต้อนรับได้พึ่งพา
และสุนทรภู่บอกไว้ตั้งแต่ช่วงต้น ๆ เรื่อง นิราศเมืองแกลง เมื่อต้องผจญกับความยากลำบากในการเดินทาง และการต้องมากรำยุงแถวชายคลองบางเหี้ย (บางบ่อ สมุทรปราการ) ว่าการเดินทางครั้งนี้
จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย
แม้เจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา
การเดินทางไปเมืองแกลงของสุนทรภู่จึงเหมือนไม่ใช่การกลับไปเยี่ยมภูมิลำเนาที่ผูกพัน แต่เป็นการไปราชการบางอย่างทางหัวเมืองตะวันออกแถวบางปลาสร้อย ชลบุรี ก่อนจะเลยไปหาบิดาที่แกลง ซึ่งเขาอาจไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย เพราะร้างจากแม่มาบวชอยู่วัดบ้านกร่ำเป็น ๒๐ ปีแล้ว ตั้งแต่ก่อนสุนทรภู่จะจำความได้
กรุงเทพฯ กับแกลงไกลกัน ๑๓ วัน โดยทางเรือบวกกับการเดินเท้าในยุคสุนทรภู่ คงไม่ง่ายที่คนวัยเด็กจนถึงวัยเริ่มโตเป็นหนุ่มจะดั้นไปเองได้ง่าย ๆ เทียบไม่ได้กับทุกวันนี้ที่นั่งรถไปกลับวันละหลายเที่ยวก็ยังได้ บนถนนหนทางขนาดหลายเลนต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่
ผ่านมากี่ร้อยปีปลาเค็มยังคงอยู่คู่ริมชายทะเล กลิ่นปลาและวิถีชนบทไม่ใช่สิ่งที่กวีหนุ่มจากกรุงเทพฯ รู้สึกดี รวมทั้งความยากลำบากในการเดินทาง ทำให้เขาถึงกับออกปากว่า “จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย แม้เจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา” ซึ่งกลายเป็นคีย์เวิร์ดที่นักวิเคราะห์วรรณกรรมชั้นหลังนำมายืนยันว่า พื้นเพสุนทรภู่ไม่ใช่ชาวเมืองแกลง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
บนแผนที่ปัจจุบันหากจะมองหาเส้นทาง นิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่เมื่อวาน เป็นการลงเรือจากท่าวังหลัง ล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนจวนจะพ้นคุ้งบางกะเจ้า แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามคลองสำโรง ซึ่งในทุกวันนี้มีถนนเทพารักษ์หมายเลข ๓๒๖๘ ทอดเลียบไปตลอดแนว ผ่านบางพลีที่สุนทรภู่บรรยายว่า “...มีเรือนอารามพระ” ของวัดหลวงพ่อโตบางพลี และได้ “ดูเรือแพแออัดอยู่ยัดเยียด” ต่อไปบางบ่อ บางเหี้ยหรือแถวคลองด่าน แล้วไปออกบางปะกง ที่สุนทรภู่เรียกว่า “บางมังกง” จากนั้นออกทะเลเลียบฝั่งมุ่งไปยังบางปลาสร้อย อ่างศิลา ซึ่งทุกวันนี้ตามรอยเคียงไปได้ง่าย ๆ ตามถนนสุขุมวิทหมายเลข ๓ ซึ่งช่วงใกล้ ๆ ถึงอ่างศิลาสามารถเลี้ยววกลงไปวิ่งรถตามทางยกระดับที่อยู่บนทะเล ห้วงน้ำแถบนั้นที่เรือประทุนของสุนทรภู่ถูกคลื่นลมซัดไปถึงเขาสามมุข ก่อนจะแจวกลับมาขึ้นฝั่งที่อ่างศิลาเมื่อล่วงดึก
คณะของสุนทรภู่ขึ้นจากเรือที่บ้านผู้นำท้องถิ่นบางปลา-สร้อยแล้วเดินเท้าไปทางบางพระ ศรีราชา พัทยา นาจอมเทียนของชลบุรี เข้าสู่เขตพื้นที่ของระยองที่บางไผ่ บ้านชากหมาก อำเภอบ้านฉาง ซึ่งในตอนนี้มี “หมุดกวี” หลักที่ ๑ ปักอยู่มุมถนนใกล้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสำนักท้อน เป็น ๑ ใน ๒๘ หมุดกวีที่ปักเรียงไปเป็นระยะตามเส้นทางนิราศของสุนทรภู่ในเขตจังหวัดระยอง จนถึงหลักที่ ๒๘ ริมฝั่งทะเลแหลมแม่พิมพ์
จุดหนึ่งที่มีเหตุการณ์สำคัญอยู่หลักที่ ๑๓ วัดบ้านเก่า ตำบลตาขัน อำเภอบ้านค่าย ซึ่งเป็นถิ่นฐานบ้านช่องของนายแสง เมื่อเดินมาถึงหมู่บ้านนี้ สุนทรภู่เท้าบวมต้องหยุดพักอยู่ ๒ วัน แต่ครั้นถึงเวลาจะออกเดินทางนายแสงก็หายหน้าไปไม่ยอมนำทางต่อ เพราะถึงบ้านของตนแล้ว สุนทรภู่แค้นใจเอาถ่านไฟเขียนแช่งไว้ที่หลังโบสถ์ว่า “แสงเทวทัต” แล้วคนต่างถิ่นจากกรุงเทพฯ ทั้งสามก็ต้องหาทางไปกันเอง บางช่วงหลงทางหลงป่า ผ่านย่านนาตาขวัญ ตะพง แล้วลงไปเลียบทะเลจากแถวบ้านเพ ไปถึงบ้านกร่ำตอนพลบค่ำ ในเดือน ๗ ปี ๒๓๕๐
อีก ๑๐๐ กว่าปีต่อมา อนุสาวรีย์สุนทรภู่ก็มาอยู่ตรงนั้น
แล้วนับตั้งแต่สร้างเสร็จเมื่อปี ๒๕๑๓ จนเดี๋ยวนี้ อนุสาวรีย์
สุนทรภู่ที่บ้านกร่ำ ไม่ไกลจากชายทะเลแหลมแม่พิมพ์ ก็นับเป็นภาพจำและอนุสรณ์หลักเมื่อพูดถึงสุนทรภู่ ทุกวันมีคนมาเยี่ยมเยือนไม่ขาดสาย อาจแค่แวะมาเที่ยวชม กราบไหว้ขอเลขหวย คารวะมหากวี สัมผัสตัวละครในวรรณคดีจากประติมากรรม หรือมาศึกษาหาความรู้จริงจัง ซึ่งรายรอบพื้นที่หลายไร่ของบริเวณอนุสาวรีย์ก็แทบไม่มีสื่อให้ความรู้ อย่าว่าแต่การแก้ไขหรือเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับประวัติชีวิตให้ชัดเจนรอบด้าน อาคารนิทรรศการที่อยู่ด้านหลังก็คล้องกุญแจปิดตาย ส่วนที่เปิดใหม่และได้รับความสนใจมากกว่าเป็นซุ้มให้บริการน้ำมันเติมตะเกียงและธูปเทียนดอกไม้บูชาอนุสาวรีย์
๓
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน
รูปปั้นสุนทรภู่และตัวละครใน พระอภัยมณี ที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย นครปฐม ที่กลายเป็นภาพจำของคนรุ่นหลังเมื่อกล่าวถึงบรมครูกวียุคต้นรัตนโกสินทร์และตัวละครในวรรณคดีเรื่องเอกของเขา
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
คำกลอนสี่วรรคจาก นิราศภูเขาทอง ที่ตอกย้ำภาพลักษณ์ “เพลย์บอย” ของสุนทรภู่ว่าขี้เมาและเจ้าชู้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพผู้เขียนประวัติชีวิตและงานของสุนทรภู่ในยุคแรก ๆ ก็บันทึกเรื่องนี้เอาไว้
ใจความที่คนอื่นเล่าก็เพียงด้านหนึ่ง ส่วนที่เขาบันทึกแทรกไว้ในนิราศเรื่องต่าง ๆ ก็บอกว่ามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้หญิงนับ ๒๐ คน
ใน นิราศภูเขาทอง เช่นกันที่พระสุนทรภู่สารภาพ เมื่อเห็นต้น “งิ้วนรกหกสิบองคุลีแหลม” ที่บ้านงิ้ว ว่า
เราเกิดมาอายุเพียงนี้แล้ว
ยังคลาดแคล้วครองตัวไม่มัวหมอง
คงไม่ต้อง “ไปปีนต้นน่าขนพอง”
รักแรกในชีวิตของสุนทรภู่น่าจะอยู่ใน นิราศเมืองแกลง และ นิราศพระบาท ทั้งสองเรื่องคร่ำครวญเพ้อรักถึงผู้หญิงชื่อ “จัน” ซึ่งตามประวัติว่าเป็นหญิงสาวคนแรก แต่ในสมัยนั้นการเกี้ยวสาวชาววังถือเป็นความผิด เป็นเหตุให้ต้องโทษติดคุกกันทั้งคู่ สุนทรภู่ในวัยเริ่มหนุ่มโดนเฆี่ยนโทษฐานลอบมีสัมพันธ์มีรักกับสาวชาววัง
ดังที่แอบคร่ำครวญไว้ใน นิราศเมืองแกลง
เหมือนไร้คู่อยู่ข้างกำแพงวัง
จะเกี้ยวมั่งก็จะเฆี่ยนเอาเจียนตาย
ทั้งนี้เพราะเคราะห์กรรมกระทำไว้
นึกอะไรจึงไม่สมอารมณ์หมาย
ศึกระหว่างเมืองผลึกกับฝรั่งเมืองลังกา ตรงตามเหตุการณ์และสถานการณ์จริงที่ยุคนั้นศรีลังกากำลังตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และอยู่ห่างจากเมืองแรกในระยะ ๑๕ วันเดินเรือ เมืองผลึกจึงถูกวางลงบนแผนที่จริงว่าคือเกาะภูเก็ต
นางละเวงวัณฬา เจ้าเมืองลังกา หญิงเลอโฉมที่สุดในเรื่อง ที่เพียงใครได้เห็นภาพ (วาด) ก็ต้องหลงเสน่ห์ ก็ว่ากันว่าจำลองมาจากพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษ ซึ่งในพระราชประวัติช่วงหนึ่งบอกว่าพระองค์ก็ให้ช่างวาดภาพส่งไปตามเมืองต่าง ๆ
พระอภัยมณีเองก็หลงเสน่ห์นางอย่างสุดใจ จนถึงขั้นพร่ำเพ้อขอตามเป็นคู่ทุกชาติไป
ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร
ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร
ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ
พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา
เชยผกาโกสุมปทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่
เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละออง
เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป
รวมถึงผู้หญิงในจินตนาการจริง ๆ อย่างนางผีเสื้อสมุทร ซึ่งยามอยู่กับพระอภัยมณีแปลงร่างเป็นมนุษย์ แต่กับนางเงือก ซึ่งเคยร่วมหอเคียงคู่กับพระอภัยมณีที่เกาะแก้วพิสดาร ที่ภาพจำในใจเรามักจินตนาการว่าส่วนล่างจากเอวลงไปเป็นปลา หากอ่านเอาความตามสมจริงบางคนอาจมีข้อกังขาว่า
ไม่น่าร่วมสังวาสกับคนได้ ครูทอม คำไทย แฟนพันธุ์แท้ สุนทรภู่ ชี้ชวนให้นึกถึงนางเงือกในอีกแง่มุมว่า
เงือกมีอวัยวะทุกอย่างเหมือนคนเรา เพียงแต่มีหางงอกมาที่บั้นท้าย
ตามสายตาสินสมุทรตอนเห็นเงือกครั้งแรก
เห็นฝูงเงือกเกลือกกลิ้งมากลางชล
คิดว่าคนมีหางเหมือนอย่างปลา
และตอนนางผีเสื้อสมุทรจัดการกับร่างของพ่อแม่เงือกด้วยความโกรธแค้น
แล้วนางยักษ์หักขาฉีกสองแขน
ไม่หายแค้นเคี้ยวกินเสียทั้งคู่
สรีระของเงือกในพระอภัยมณีจึงคงไม่ใช่ครึ่งคนครึ่งปลา ทำให้เสน่หาลึกซึ้งกับพระเอกในเรื่องได้ ดังในบทอัศจรรย์ว่า
สมพาสเงือกเยือกเย็นเหมือนเล่นน้ำ
ค่อยเฉื่อยฉ่ำชื่นชมด้วยสมหมาย
สัมผัสพิงอิงแอบเป็นแยบคาย
ไม่เคลื่อนคลายคลึงเคล้าเยาวมาลย์
บรรดานารีทั้งหลายที่กล่าวถึงมานี้ ล้วนเป็นนางเอกในชีวิตจริงกับผู้หญิงในนิยายของสุนทรภู่ทั้งสิ้น
๔
ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง
มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา
ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
บริเวณที่ตั้ง “...โรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง” เมื่อ ๒๐๐ กว่าปีก่อน ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะติดเชิงสะพานพระราม ๘ ฝั่งธนบุรี
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
สุนทรภู่เขียนกลอนตอนนี้ไว้ใน นิราศภูเขาทอง ระหว่างเดินทางทวนแม่น้ำเจ้าพระยาจากวัดเลียบ ย่านสะพานพุทธ ไปยังเจดีย์ภูเขาทอง พระนครศรีอยุธยา ช่วงผ่านย่านบางยี่ขัน เชิงสะพานพระราม ๘ ทุกวันนี้ เมื่อปี ๒๓๗๑ มีโรงเหล้าตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สุนทรภู่ซึ่งขณะนั้นเป็นภิกษุคงนึกสะท้อนใจกับช่วงชีวิตที่ผ่านมาของตน
เป็นภาพ คำ สำนึก ที่กลั่นกรองในโทษภัยของพิษสุรา ซึ่งก่อนหน้านั้นมีบันทึกว่าหลายครั้งที่ชีวิตเขาซวนเซเพราะพิษเหล้า
ในหนังสือ ชีวิตและงานของสุนทรภู่ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ว่า “วิสัยของสุนทรภู่นั้นเวลาจะแต่งกลอน ถ้ามีฤทธิ์สุราเป็นเชื้ออยู่แล้วแต่งคล่องนัก นัยว่าฤทธิ์สุราพอเหมาะแล้ว อาจจะคิดกลอนทันบอกให้เสมียนเขียนต่อกันถึงสองคน”
แต่ก็ด้วยฤทธิ์เหล้าที่ทำให้ครั้งหนึ่งถึงกับต้องติดคุก เนื่องจากเมาแล้วมีเรื่องทำร้ายญาติผู้ใหญ่ของตนหรือของภรรยาคนแรก จนกลายเป็นตราบาปภาพลักษณ์ตลอดมาว่าเป็น “อาลักษณ์ขี้เมาไร้เคหา” แต่เรื่องสุนทรภู่ติดเหล้างอมแงมนี้ถูกโต้แย้งจากนักวิเคราะห์วรรณคดีในชั้นหลัง ดังที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เห็นว่า สุนทรภู่เป็นผู้ดี เป็นกวีนักปราชญ์ในราชสำนัก และไม่ได้เลี้ยงชีพด้วยการเขียนกลอนขายเพราะคนทั่วไปในสมัยนั้นไม่รู้หนังสือ การอ่านยังไม่ได้แพร่หลายในวงกว้างส่วน ล้อม เพ็งแก้ว ไม่เชื่อว่าชีวิตสุนทรภู่จะตกเป็นทาสเหล้าเมามาย เขาคำนวณจากผลงานของสุนทรภู่ที่เหลืออยู่ทั้งหมดในทุกวันนี้ หารด้วยช่วงเวลาทำงานมาทั้งชีวิต ได้ผลลัพธ์เป็นปริมาณงานที่ต้องทำในแต่ละวัน “สุนทรภู่สร้างผลงานไว้ไม่น้อยกว่า ๖ หมื่นคำกลอน ผลงานทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงอายุ ๒๐ ถึง ๗๐ ปี ถ้าใช้เวลาทำงานเขียนกลอน ๑ ใน ๓ ก็ประมาณ ๑๖ ปี เฉลี่ยวันละ ๑๐ คำกลอน ทุกวันขาดไม่ได้ลาไม่ได้ ก็น่าคิดว่าขี้เมาคนไหนจะทำได้”