Berliner Mauer
ของที่ระลึก
จากยุคสงครามเย็น
Souvenir & History
เรื่องและภาพ :  สุเจน กรรพฤทธิ์ 
การรุกรานยูเครน (โดยรัสเซีย) ที่เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๒๒ และคำวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่บอกว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุค “สงครามเย็น” ครั้งใหม่ จนใกล้เป็น “สงครามโลกครั้งที่ ๓” หากไม่สามารถยุติสถานการณ์นี้ได้ ทำให้ผมนึกถึงของที่ระลึกชิ้นหนึ่ง

มันคือ “เศษคอนกรีต” ที่วางขายอยู่ในร้านขายของที่ระลึกใกล้กำแพงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

คนขายยืนยันว่านี่คือส่วนหนึ่งของ “กำแพงเบอร์ลิน” (Berlin Wall) ที่ครั้งหนึ่งทอดตัวยาวกว่า ๔๓ กิโลเมตร แบ่งกรุงเบอร์ลินออกเป็นตะวันตก-ตะวันออก ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๑-๑๙๘๙ 

กำแพงนี้เป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจาก “สงครามเย็น” ที่แทบจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงใน ค.ศ. ๑๙๔๕

ในช่วงท้ายของสงครามโลก เยอรมนีถูกโจมตีทั้งจากแนวรบด้านตะวันตก (สหรัฐฯ และชาติตะวันตก) และตะวันออก (สหภาพโซเวียต) จึงเกิดการแบ่งพื้นที่ตามเขตยึดครอง

ช่วงแรกทั้งประเทศถูกแบ่งเป็นสี่ส่วน เช่นเดียวกับกรุงเบอร์ลิน ก่อนที่จะมีการรวมเขตต่าง ๆ จนเกิด “เยอรมันตะวันออก/สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี” (German Democratic Republic - GDR) และ “เยอรมันตะวันตก/สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี” (Federal Republic of Germany - FRG)

ค.ศ. ๑๙๔๗ กรุงเบอร์ลินถูกแบ่งเป็นฝั่งตะวันตก (ภายใต้อิทธิพลสหรัฐฯ และชาติตะวันตก) กับฝั่งตะวันออก (ภายใต้อิทธิพลสหภาพโซเวียต) ทั้งที่ตัวเมืองอยู่ลึกเข้าไปในเขตแดนเยอรมันตะวันออกถึง ๑๔๔ กิโลเมตร

เยอรมันตะวันตกจึงต้องใช้กรุงบอนน์ (Bonn) เป็นเมืองหลวงชั่วคราว ในขณะที่เบอร์ลินกลายเป็นพื้นที่ตึงเครียด เนื่องจากซีกตะวันออกของเมืองเป็นพื้นที่ของอีกค่ายอุดมการณ์หนึ่ง

ในที่สุดหลังมีผู้อพยพหลบหนีข้ามไปยังเบอร์ลินฝั่งตะวันตกนับล้านคนเพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจและเสรีภาพทางการเมืองมากกว่า วันที่ ๑๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๑ ทางการเยอรมันตะวันออกจึงเริ่มสร้างกำแพงแบ่งแยกกรุงเบอร์ลินออกเป็นสองส่วน

เมื่อแล้วเสร็จ “กำแพงเบอร์ลิน” (Berliner Mauer/Berlin Wall) ประกอบด้วยแนวกำแพงสองชั้น มีป้อมตรวจการณ์เป็นระยะ ระหว่างกำแพงทั้งสองชั้นมีพื้นที่ซึ่งถูกเรียกว่า “แถบแห่งความตาย” (death strip) ซึ่งฝังทุ่นระเบิดวางดักคนที่คิดหลบหนี

แต่กระนั้นก็ยังมีชาวเยอรมันตะวันออกถึงราว ๕,๐๐๐ คน ที่เล็ดลอดผ่านกำแพงนี้ไปได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ตั้งแต่ขุดอุโมงค์ไปจนถึงใช้บอลลูน  ขณะที่มีอีกนับร้อยต้องเสียชีวิต
กำแพงเบอร์ลินจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของ “โลกยุคสงครามเย็น”
๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๙ ความสับสนและสถานการณ์ประท้วงในเยอรมันตะวันออกทำให้มีการเปิดทางข้าม คนนับหมื่นทะลักสู่ฝั่งตะวันตก บรรยากาศราวงานเฉลิมฉลอง มีการทุบทำลายกำแพงด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามแต่จะหาได้ ไม่นานเยอรมันตะวันออกก็ล่มสลาย มีการรวมชาติ ยุติภาวะแยกประเทศโดยไม่เกิดสงครามขนาดใหญ่ ทั้งยังส่งผลให้สหภาพโซเวียตต้องล่มสลายในเวลาต่อมา เบอร์ลินกลับมาเป็นนครหลวงและที่ทำการรัฐบาลกลางของเยอรมนีอีกครั้ง

กำแพงเบอร์ลินราว ๓๖๐ ระยะ (segment) คิดเป็นความยาวรวมกันราว ๑ กิโลเมตรถูกทุบไปขาย ส่วนหนึ่งกลายเป็นของที่ระลึกที่ได้รับความนิยม (เป็นรองก็เพียงแม่เหล็กติดตู้เย็น) บางส่วนถูกแปรรูปเป็นวัสดุก่อสร้าง บางส่วนเป็นขยะที่ต้องถูกกำจัด ชิ้นส่วนขนาดใหญ่ ๒๔๑ ชิ้นยังถูกนำไปติดตั้งจัดแสดงทั่วโลก ในจำนวนนี้ ๕๗ ชิ้นจัดแสดงอยู่ในสหรัฐฯ เช่น บริเวณสำนักงานใหญ่ องค์การสหประชาชาติ เป็นต้น

ปัจจุบันเศษชิ้นส่วนกำแพงเบอร์ลิน มีวางจำหน่ายหลายราคา ตั้งแต่ชิ้นเล็กจิ๋ว ๗ ยูโร (๒๕๓ บาท) ไปจนถึงชิ้นที่ใหญ่ขึ้น ราคาราว ๒๔ ยูโร (๘๖๘ บาท) ส่วนซากกำแพงขนาดใหญ่มีราคาตั้งแต่ ๗,๐๐๐-๑๒,๐๐๐ ยูโร (๒.๗-๔.๖ แสนบาท) ที่น่าแปลกคือลูกค้าส่วนมากมักเป็นชาวอเมริกัน (DW.com ๑๒ สิงหา-คม ค.ศ. ๒๐๑๖)

ธุรกิจจำหน่ายชิ้นส่วนกำแพงเบอร์ลินทำกำไรให้แก่ร้านขายของที่ระลึกมหาศาล ผู้บริโภคก็ชื่นชอบ เพราะเป็นเจ้าของ “เสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต” (a piece of living history) ได้ในราคาสบายกระเป๋า

แม้จะมีการตั้งคำถามมาระยะหนึ่งแล้วว่า ชิ้นส่วนที่วางขายเหล่านี้เป็น “กำแพงเบอร์ลิน” ของจริงหรือไม่ แต่ลูกค้าจำนวนมากก็มองเป็นเรื่อง “ความไว้ใจ” มากกว่าจะมีใครมาให้คำรับรอง ผู้เชี่ยวชาญบางคนตั้งข้อสงสัยว่า จำนวนไม่น้อยอาจเพิ่งผลิตใหม่ในยุคหลัง โดยเฉพาะชิ้นที่มีสีสันสดใส (ซึ่งมักขายดี)

ส่วนคำถามที่ว่าการทำเช่นนี้เป็นการทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือไม่

คนเยอรมันบางคนยักไหล่ก่อนตอบว่า ยังมีแนวกำแพงที่ถูกเก็บรักษาไว้ในสถานที่จริงอีกหลายจุดในกรุงเบอร์ลิน และนี่คือ “สาร” (message) ที่ประกาศกับโลกว่า พวกเขาต้องการ “เสรีภาพ” อย่างเป็นรูปธรรม ดีกว่าปล่อยให้ “กำแพงคอนกรีตทึบทึมกลายเป็นวัตถุโบราณที่ไม่ได้ทำงานทางความคิด”

ผมพบว่าสี่แยกกลางกรุงเบอร์ลินแห่งหนึ่งยังมีกำแพงตั้งตระหง่าน พร้อมกับการจัดการอย่างเป็นระบบ ให้ทั้งความรู้และความตระหนักเรื่องเสรีภาพอย่างเข้มข้นผ่านสื่อรายรอบ

Berliner Mauer ที่ผมได้มา เป็นชิ้นคอนกรีตขนาดเล็กที่มีสีสัน และดูเหมือนประเด็น “ของจริง” จะเป็นเรื่องสำคัญ จนต้องสกรีนคำว่า “Original Berliner Mauer 1961-1989” เอาไว้อย่างชัดเจนผมไม่สนใจเท่าไรนักว่านี่คือกำแพงเบอร์ลินของแท้ดั้งเดิมหรือไม่
แต่สิ่งที่ชัดเจนคือคนเยอรมันไม่ต้องการเห็น “กำแพงเบอร์ลินแห่งใหม่” ในทวีปยุโรปอีกอย่างแน่นอน