Image
Minimal Trend
ในทัศนะของ “ผู้ผลิต”
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ในเวลาจำกัดที่เราตามหาเรื่องราวของ “มินิมอลชน” (minimalist) ในเมืองไทย

ประเด็นย้อนแย้งเรื่องหนึ่งคือ ส่วนใหญ่ไม่มีใครยอมรับว่าใช้ชีวิตเป็น minimalist  ขณะที่ “ผู้ผลิต” ที่
สร้างเนื้อหา (content) ผลิตสินค้าและบริการมินิมอล ก็แบ่งออกได้สองกลุ่ม คือ กลุ่มแรก ยอมรับว่าเพียง “ได้รับแรงบันดาลใจ/อิทธิพล” จากกระแส  กลุ่มที่ ๒ มั่นใจและใช้คำว่า minimal จนเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งยังรู้สึกว่าการใช้คำนี้ “อินเทรนด์” และสื่อสารกับผู้บริโภคได้อย่างตรงไปตรงมา

ต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของ “บทสนทนากับผู้ผลิต”
ที่สร้างสินค้าและบริการที่คนจำนวนมากเชื่อว่าคืองานแนวมินิมอลในแง่ของวิธีคิด วิธีการทำงานและมุมมองต่อกระแสมินิมอลในเมืองไทย

“คำที่เราใช้บ่อยคือ
‘มีเหตุผล’ (rational)”
จุฑามาส บูรณะเจตน์
ปิติ อัมระรงค์
object design alliance/
o-d-a

ภูมิหลัง

o-d-a ก่อตั้งโดยสองนักออกแบบ จุฑามาส บูรณะเจตน์ (ลูกท้อ) และ ปิติ อัมระรงค์ (ดุ๋ย) ทั้งคู่จบปริญญาตรีจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  ปิติจบด้านกราฟิกดีไซน์ สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ ขณะที่จุฑามาสจบสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ หลังเรียนจบพวกเขาก็เริ่มทำงานออกแบบร่วมกันในนามสตูดิโอ o-d-a ลงสนามประกวดออกแบบเฟอร์นิเจอร์ในต่างประเทศหลายงานและได้รับรางวัล เช่น Nextmaruni : Wooden Armchair Competition (ญี่ปุ่น, ค.ศ. ๒๐๐๕) และ Honorable Mention จาก Promosedia International Design Competition (อิตาลี, ค.ศ. ๒๐๐๗) เป็นต้น  ต่อมา o-d-a ยังทำงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้กับ Katoji แบรนด์ญี่ปุ่นที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์สำหรับเด็ก ผลิตเฟอร์นิเจอร์ของตัวเอง และผลิตสินค้าอย่างสบู่และแชมพูภายใต้แบรนด์ Seriously Hobby

• www.objectdesignalliance.com
Image
กระแสมินิมอลกับ o-d-a 
ปิติ : เรียนเรื่องมินิมอลตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เห็นในหนังสือ เครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อ Braun ซึ่งต่อมาส่งผลถึง Apple ที่เริ่มติดตลาด วิชากราฟิกมีเรียนเรื่องนี้ มันเข้าใจได้ง่ายมาก พื้นขาว ตัวหนังสือเล็ก ท้าทายคนออกแบบว่าต้องทำอะไรที่น้อย แต่มีความหมาย ในวงการออกแบบผลิตภัณฑ์เราผ่านยุคผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนมามาก ผลิตภัณฑ์ที่เรียบง่ายและดีก็ควรมี ในแง่ของมินิมอลไม่ว่าเราจะนิยามจาก Apple, MUJI, Xiaomi มันใช้งานได้และมีอิทธิพล

จุฑามาส : สมัยเรียน (ทศวรรษ ๑๙๙๐) วงการออกแบบผลิตภัณฑ์ไทยไม่ได้ชัดเจนเรื่องมินิมอลเท่าต่างประเทศ  หลังเรียนจบถึงเห็นงานนักออกแบบอย่าง นาโอโตะ ฟุคาซาวา (Naoto Fukasawa-ผู้ออกแบบเครื่องเล่น CD ติดผนังที่ทำงานด้วยการกระตุกเชือกแบบพัดลมระบายอากาศให้ MUJI) เรื่องนี้จะเด่นในฝั่งสินค้าเทคโนโลยี ส่วนของใช้น่าจะชัดเจนในวันที่ MUJI และ UNIQLO เข้ามาขายของในไทย
แนวคิดมินิมอลกับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของ o-d-a
จุฑามาส : ตั้งแต่งาน Nextmaruni (ค.ศ. ๒๐๐๕) เราได้หลักคิดเรื่องนี้อย่างไม่รู้ตัว โจทย์ที่ได้มาแปดข้อ เป็นหลักคิดแบบญี่ปุ่น ตัดออก ทำเท่าที่จำเป็น เราสร้างเก้าอี้ (ชื่อ Taste of Tea) ที่อยู่ได้ด้วยโครงสร้าง ตัดชิ้นไหนออกไม่ได้ น่าสนใจโดยไม่ต้องมีทรงประหลาด เรียบง่าย มีสาระ น่าใช้ เราสะท้อนตัวตนผ่านงาน และไม่ได้ตั้งใจแต่ต้นว่าต้องมินิมอล

ปิติ : คนรุ่นก่อนที่ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ก็หมกมุ่นกับการเอาส่วนไม่จำเป็นออก ผลคือผลิตได้ง่าย ใช้ง่าย สะอาดตา ตัวพักแขนของเก้าอี้ที่เราทำไม่ใช่ส่วนเกินหรือของตกแต่ง ผมมองว่ามินิมอลคือรูปลักษณ์ปลายทาง คำว่ามินิมอลง่ายต่อการเข้าใจ แต่ถ้าตั้งต้นว่าจะทำเก้าอี้มินิมอล จะไม่เกิดแนวคิดหรือแรงบันดาลใจ มันจะว่างเปล่า เพราะในการออกแบบมีอย่างอื่นต้องคิด เช่น จุดประสงค์ โจทย์ของลูกค้า สมมุติถ้าบอกจงทำเก้าอี้มินิมอลตัวหนึ่ง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ได้เก้าอี้สี่เหลี่ยม มีแผ่นรองนั่ง มีขาเก้าอี้ อาจเป็นไม้สีอ่อน ๆ มีส่วนของกระจก โลหะ  ถ้าโจทย์แห้ง ก็ได้อะไรที่แห้งเท่านั้น  ซึ่งสำหรับนักออกแบบ เราต้องออกแบบของที่ดูอบอุ่น น่าใช้ คิดถึงคนใช้งาน

จุฑามาส : คำที่เราใช้บ่อยคือ “มีเหตุผล” (rational) นำไปสู่การสร้างงานมากกว่า และคำว่า “เหมาะสม” (optimum) หาภาวะที่ดีที่สุด เช่น ดีที่สุดของเก้าอี้เป็นอย่างไร จะออกแบบจากตรงนั้น  นี่อาจเป็นรากฐานของมินิมอล นักออกแบบจะใช้สิ่งเหล่านี้ แต่ปลายทางคนมาเรียกว่ามินิมอล  ดังนั้นเฟอร์นิเจอร์มินิมอลจึงไม่จำเป็นต้องมีแค่สีขาวกับลายไม้เท่านั้น
Image
คุณทั้งคู่เป็น minimalist หรือไม่
ปิติ : ไม่ครับ ยิ่งเป็นนักออกแบบ เรามีของเต็มไปหมด (หัวเราะแล้วมองไปรอบ ๆ) ผมต้องทิ้งปั๊มลมที่มี ๑๐๐ กว่าชิ้นนี่ไหม ออกจะตลกด้วยซ้ำถ้าบอกว่าผมเป็นหรือใครสักคนเป็น เพราะคำนี้ดิ้นได้ ส่วนมากใช้สื่อสาร บอกลักษณะวัตถุเท่านั้น ถ้าไปบอกถึงเนื้อแท้ จิตวิญญาณ จะซับซ้อนมาก  ในแง่ของงาน ส่วนหนึ่งเราอาจเป็น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด  ตอนดูสารคดีเรื่อง Minimalism ใน Netflix ผมกระอักกระอ่วนด้วยซ้ำ  คนในสารคดีมีของเยอะเลยเทเพื่อแก้ปัญหา แล้วออกบวช (เป็น minimalist) มันเลยไม่เกี่ยวกับเราเท่าไร ผมแค่อยากทำงานให้มีเนื้อหาสาระ เราหมกมุ่นเรื่องนี้เท่านั้นเอง

จุฑามาส : โดยธรรมชาตินักออกแบบไม่ประกาศตัวเอง เรื่องนี้นักขายของจะพูดมากกว่า ในแง่ชิ้นงานเราบอกได้ว่ามีส่วน  ส่วนเราเป็น minimalist ในแง่การใช้ชีวิตหรือไม่ คิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะนิยามตัวเอง จริง ๆ สิ่งที่เราเห็นในภาพยนตร์สารคดี เขาอาจสะสม “ความน้อย” ก็ได้
มุมมองต่อการใช้คำว่ามินิมอล และกระแสนิยมสินค้าแนวนี้ในบ้านเรา
ปิติ : มองอย่างเคร่งครัด ส่วนมากก็ใช้กันผิด แต่ผมไม่ใช่ตำรวจดีไซน์ (หัวเราะ) เราก็สังเกตกระแสนี้และสนุก บางครั้งก็ซื้อมาใช้เอง เพราะราคาถูกลง  ตอนนี้ทุกคนนิยามคำว่ามินิมอลได้ มันจึงมีคำนิยามมากมาย ผมมองว่าเป้าหมายคือการสื่อสารให้เข้าใจว่าของเราเป็นแนวนี้  ถ้าชอบอะไรเรียบ ๆ ก็ใส่แฮชแท็กนี้ไป เป็นการจำแนกของ  เรื่องที่ดีคือมันเกิดบทสนทนาใหม่ จากเดิมที่คนไม่ได้สนใจเรื่องนี้เลย

มินิมอลคือตะกร้าขนาดใหญ่ที่มีของในนั้นมากมาย ผลดีคือมีสินค้าแนวนี้ให้เลือกมากขึ้น พอคนยอมรับคุณค่าก็ไม่อยากตกยุค  คนจำนวนหนึ่งจึงยอมรับผลิตภัณฑ์ที่ดูเรียบง่ายมากขึ้น  จริง ๆ มันทำให้คนซื้อของเพิ่มขึ้น เพราะดูเข้าชุดไปหมด  ลึก ๆ เรื่องนี้จึงเอื้อระบบทุนนิยม ทำให้คนมีของเยอะ แต่ไม่วุ่นวาย สิ่งของทุกชิ้นมีเสียง ของมินิมอลไม่พูดมาก ทำให้บ้านไม่น่ารำคาญ

มินิมอลไม่ได้บอกว่าราคาจะถูกหรือแพง iPhone ดูเกลี้ยงทำไมแพง นั่นคือมินิมอลราคาสูง แต่ถ้าอยากราคาถูกลง อาจเป็นสมุดธรรมดาก็ได้  ในแง่การสื่อสาร คำว่ามินิมอล คนมักจะคิดว่ามีมูลค่า แต่เรื่องนี้ผู้บริโภคต้องดูคุณภาพวัสดุ แนวคิดของแบรนด์ที่ผลิต

จุฑามาส : ไม่ว่าจะเข้าใจมินิมอลแค่ไหน คนก็ได้ทำความรู้จัก เปิดใจกับผลิตภัณฑ์แนวนี้มากขึ้น ของใช้ในบ้านก็จะสงบเสงี่ยมมากขึ้น  
“เราอยากสร้างแรงบันดาลใจให้คนมีบ้านเก่ารีโนเวตบ้าน”

มณฑิรา ยืนยาว, ธิราทิพย์ ยืนยาว
ผู้บริหาร SISSAY ASSET ผู้สร้าง/รีโนเวตบ้านแบบ MUJI Minimal Style

ภูมิหลัง

มณฑิรา ยืนยาว (ปัน) และ ธิราทิพย์ ยืนยาว (แบ๋ม) สองพี่น้องเคยทำธุรกิจส่งออก ธุรกิจรีโนเวต (ปรับปรุง) บ้านแล้วปล่อยเช่า ก่อนที่จะหันมารีโนเวตทาวน์เฮาส์เก่าเป็นแนวมินิมอลแล้วปล่อยขายช่วงปลาย ค.ศ. ๒๐๑๙ ในนาม SISSAY ASSET โดยทำงานร่วมกับทีมช่างและวิศวกรที่พวกเธอไว้วางใจ  บ้านที่ SISSAY รีโนเวตนั้นพวกเธอนิยามว่าเป็นสายคาเฟ่ แนว MUJI Minimal Style ถึงตอนนี้ (ค.ศ. ๒๐๒๒) ทำมาแล้วห้าหลัง (ฮานะ ฮารุ โซระ ฮากะ และโฮชิ) ทุกหลังถูกจองภายในเวลาอันรวดเร็วและเป็นที่กล่าวถึงในโลกโซเชียลมีเดีย

• https://www.facebook.com/MUJIHOMESISSAY
• โทร. ๐๘-๕๔๕๖-๖๖๕๕
เหตุผลที่รีโนเวตบ้านแนวมินิมอลขาย
เราพอมีทรัพยากร เพราะพี่สาวคนโตทำธุรกิจรับเหมา จึงพอมีช่างและความรู้ที่เอามาต่อยอดได้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องใหม่มากในวงการอสังหาริมทรัพย์ ก่อนโควิด-๑๙ ระบาด เราชอบไปอยู่ตามคาเฟ่ช่วงวันหยุด จึงคิดว่าทำบ้านแนวนี้น่าจะสนุก และคนรุ่นใหม่ก็อยากได้บ้านแนวเกาหลี (ใต้) ญี่ปุ่น เป็นบ้านที่มีความเป็นตัวเองและเก๋  ในตลาดตอนนั้นยังไม่มีใครทำแบบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เราเริ่มจากการหาทรัพย์ (หาบ้านเก่า) มารื้อแล้วปรับปรุงใหม่ จุดขายคือการออกแบบและขายในราคาที่พอเหมาะ

ความยากคือการสื่อสารกับทีมช่างที่สร้างบ้านแบบเดิมมากว่า ๒๐ ปี ช่วงแรกเขาบอกว่าไม่มีใครทำหรอก เราก็ต่อรองประนีประนอม เรียนรู้มาพร้อมกันกับทีมช่าง ได้ประสบการณ์ใหม่เยอะมาก ได้รู้จักโครงสร้างบ้าน งานออกแบบ วัสดุ การตกแต่ง  น้องสาว (แบ๋ม) จะมองเรื่องตำแหน่งห้องและได้แฟนมาช่วยเสริมเรื่องงานออกแบบ พอผ่านมาห้าหลังทีมช่างเริ่มจับทางได้แล้วว่าควรทำอย่างไร
Image
ชั้น ๑ ของบ้าน “โฮชิ”
หลังแรกที่ตั้งชื่อว่า “ฮานะ” เราต้องไล่ดูกันทุกจุด ยังจำกัดงบประมาณการตกแต่ง ใช้เวลาบูรณะราว ๔ เดือน  บ้านในย่านเดียวกันก็มาดูว่าทุบขนาดนี้เลยหรือ มีคนมาต่อคิวขอดูเป็นร้อยรายหลังจากเราลงขายแล้วมีรุ่นพี่คนหนึ่งแชร์ในกลุ่มศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

บ้านฮานะใช้เวลาราว ๑ สัปดาห์ก็มีคนจอง หลังถัดมาใช้เวลาน้อยกว่า เป็นเรื่องที่เราประหลาดใจเหมือนกัน หลังต่อมาเราตัดสินใจไม่จำกัดงบประมาณ
เพื่อให้บ้านดีที่สุด  คือซื้อไปก็แค่หิ้วกระเป๋าเข้ามาอยู่ ไม่ต้องตกแต่งเพิ่ม  เราเป็นคนตกแต่ง เดินซื้อของทุกชิ้นเองทั้งหมด  ทุกวันนี้ใช้งบประมาณตกแต่งแต่ละหลังราว ๓ แสนบาท และเราพยายามขายงานออกแบบ ไม่ได้ไปแข่งราคากับใคร โดยขั้นตอนการก่อสร้างเราคุยกับข้างบ้านตลอดเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในขั้นตอนการบูรณะ
นิยามคำว่ามินิมอลไว้อย่างไร 
ชื่อเฟซบุ๊ก “บ้าน MUJI Minimal Style by Sissay Group” การใช้คำว่า MUJI Minimal เราคิดว่าสองคำนี้กำลังมา และเป็นเทคนิคที่ต้องการให้ค้นเจอง่าย สองคำนี้หลายคนคิดว่าเป็นคำเดียวกัน เราเลยเอามาเล่นตามความเข้าใจนั้น ส่วน Sissay ก็มาจาก Sister เป็นธุรกิจของพี่น้อง

เทรนด์ตกแต่งแบบคาเฟ่มาช่วง ค.ศ. ๒๐๑๔
คิดว่ากระแสมินิมอลส่วนหนึ่งเกิดจากการมีแอปพลิเคชัน Instagram ที่ทำให้คนสนใจถ่ายภาพร้านกาแฟลง IG สร้างตัวตนและบอกความชอบของตัวเอง  อีกอย่างอาจมาจากที่ญี่ปุ่นให้คนไทยไปเที่ยวโดยไม่ต้องขอวีซ่า ๓๐ วัน กับกระแสการเที่ยวเกาหลีใต้ ทำให้คนไทยไปเห็นบ้านเมืองที่มีสิ่งก่อสร้างซึ่งไม่น่าเบื่อ ขณะที่บ้านเราสร้างกันเปะปะ หาตัวตนไม่เจอ
“งานสร้างแรงบันดาลใจให้คนที่มีบ้านเก่า มีทุนไม่มาก แล้วอยากรีโนเวตบ้าน”
Image
ห้องน้ำและห้องนอนบนชั้น ๒ ของบ้าน “โฮชิ”
เราไม่รู้ลึกซึ้งเรื่องปรัชญามินิมอล สำหรับเราคือการสร้างบ้านที่เรียบง่าย ฟังก์ชันครบ คือความเป็นญี่ปุ่น สะอาด โล่ง เรียบ แต่โก้หรู  มินิมอลเป็นคำการตลาดที่ติดหู คนส่วนมากอาจคิดแค่ว่า มีไม้ ทาสีขาว ก็มินิมอลแล้ว แต่เรารู้สึกว่าสีอื่นก็ได้ แต่ต้องโทนเดียวกัน มีความสบาย เป็นโฮมคาเฟ่ที่คนในบ้านมีกิจกรรมร่วมกันได้ ไม่มีมุมอับ ถ่ายภาพได้ทุกมุม แสงสวย อาจเพราะโครงสร้างของทาวน์เฮาส์ทำให้ต้องเปิดโล่ง ลดความอึดอัดที่เป็นข้อจำกัดเดิม

ช่างเขาไม่นิยามคำนี้แล้ว สนใจแค่ว่าเราต้องการอะไร เอาความคิดของเราออกมาแล้วคุยกันเป็นจุด ๆ ไป ตอนนี้ก็เริ่มมีคู่แข่ง แต่ก็ยังไม่มีใครรีโนเวตทาวน์เฮาส์เป็นแนวมินิมอลแบบเรา บางเจ้าก็ลอกเราไป แต่ถ้าลงรายละเอียดจะแตกต่างกัน เราก็เหนื่อย แต่ก็รู้ว่าเรื่องนี้ห้ามยาก
กลุ่มลูกค้าคือใคร
เราจับลูกค้าคนวัยเริ่มต้นทำงาน กำลังสร้างครอบครัว แทบร้อยละร้อยเป็นคนกลุ่มนี้ที่เข้ามาดูและชอบการออกแบบบ้านหลังที่ ๒ ที่เราทำมีการแชร์จากเฟซบุ๊กไปเป็นหลักหมื่น ทั้งหมดเราไม่ได้ซื้อโฆษณาจากเฟซบุ๊กเลย ค.ศ. ๒๐๒๐ เกิดกระแสการปรับเปลี่ยนหน้าตาที่อยู่อาศัย งานเราสร้างแรงบันดาลใจให้คนที่มีบ้านเก่า มีทุนไม่มากแล้วอยากรีโนเวตบ้าน ทำบ้านให้น่าอยู่  คนถามมาเยอะเรื่องงบประมาณ วิธีการบูรณะ ซึ่งเรายินดีแบ่งปัน ไม่ผิดจุดประสงค์แต่อย่างใด เราเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็ก พยายามนำเสนอพื้นที่ในเมือง และทำในสิ่งที่เราชอบ  ในอนาคตเรากำลังมีโครงการทำหมู่บ้านขนาดเล็กในแนวนี้

กระแสการรีโนเวตอาคารเก่าเพิ่งจะเริ่มมีในเมืองไทยไม่นาน เราได้ทำบ้านในทำเลกลางเมือง ซึ่งต่างกับไปซื้อโครงการใหม่แถวชานเมือง  กรณีบ้านโฮชิค่าตกแต่งอยู่ที่ ๒ ล้านบาท ราคานี้ไปซื้อบ้านชานเมืองได้ แต่สิ่งที่
ซื้อยากคือทำเล

คิดว่ากระแสนี้ไม่ฉาบฉวย อาจกลายเป็นความชอบของกลุ่มหนึ่งตลอดชีวิต เพราะมีความงามในแบบ
ของมัน ความคิดคนรุ่นหลังก็เปลี่ยนไป และกำลังสร้างอิทธิพลทางวัฒนธรรมให้คนรุ่นเก่าด้วยซ้ำ ในอนาคตนิยามอาจจะเปลี่ยนไปอีกอาจจะเป็นเรียบง่ายในอีกแบบหนึ่ง  
“มินิมอลจะไม่หายไป”
นนทน์ พงศ์ไพโรจน์
CEO และผู้ก่อตั้ง dash.space

Image
ภูมิหลัง

นนทน์เรียนจบทางด้านกราฟิกดีไซน์พ่วงกับดีกรีด้านบริหารธุรกิจที่ประเทศอังกฤษ เขาทดลองทำงานออกแบบและทำงานในองค์กรขนาดกลางและเล็ก ถือเป็นนักออกแบบดาวรุ่งคนหนึ่งของไทย ก่อนที่ ค.ศ. ๒๐๑๘ จะริเริ่มทำกระเป๋ายี่ห้อ dash. ที่เน้นความเรียบง่ายวางขายตามร้านสไตล์คล้ายกัน โดยกระเป๋าของเขาสองรุ่น (DA17 Conductor และ DA18 Sling) ได้รับรางวัล ADesign Award & Competition ซึ่งเป็นงานประกวดงานออกแบบระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดรายการหนึ่ง ด้วยสไตล์ที่คนไทยสมัยนี้เห็นแล้วนิยามด้วยคำว่ามินิมอลโดยอัตโนมัติ

เมษายน ค.ศ. ๒๐๒๒ หลังจากเตรียมการมาพักใหญ่ นนทน์เปิดพื้นที่ที่เรียกว่า dash.space ย่านรามอินทรา ๑๙  คนส่วนมากมักคิดว่าที่นี่เป็นเพียงร้านกาแฟเปิดใหม่ แต่ภายในกลับมีที่จัดแสดงงาน (gallery) วางขายสินค้าของ dash. และบริเวณที่สามารถเปลี่ยนเป็นสถานที่
จัดงานได้หลากประเภท

• dash.space ซอยรามอินทรา ๑๙ แยก ๖ เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ ๑๐.๐๐-๑๗.๐๐ น. ต้องจองล่วงหน้าผ่านทาง https://www.facebook.com/dashspace.cafe  โทร. ๐๙-๑๕๔๙-๖๖๖๔

• เว็บไซต์ dash. https://www.d-dd.co
Image
อิทธิพลของกระแสมินิมอลกับ dash.
แนวคิดของเราคือ ชีวิตประจำวันของเราวุ่นวายมากพอแล้ว อยากทำให้ทุกอย่างเรียบง่ายขึ้น แนวโน้มของโลกยังชัดเจนว่าเราต้องรับมือกับข้อมูลมากขึ้น คนก็เริ่มกลับมาหาอะไรที่เรียบง่าย  งานที่เป็นมินิมอลโปร่งใสมาก เพราะไม่มีลวดลาย ถ้าทำไม่ละเอียดข้อบกพร่องจะชัดเจน  งานแนวนี้ยังทันสมัย ความเรียบทำให้ผลิตภัณฑ์แบบนี้อยู่กับสิ่งอื่นได้ง่าย ทำให้ผู้ใช้โดดเด่น  โดยส่วนตัวชอบงานแนวนี้  หลังเรียนจบผมก็ทำงานตามความต้องการของตลาด จนวันหนึ่งมานั่งทบทวนว่าอยากทำงานแบบที่เราต้องการ จึงเกิดเครื่องหนังยี่ห้อ dash. คำนี้มาจากรหัสมอร์ส ที่แม้จะเก่า แต่คนทั่วโลกเข้าใจ ยังใช้ได้ในยามฉุกเฉินเพียงแค่เคาะจังหวะสั้นยาว ผมจึงชอบชื่อนี้ เพราะในภาษาอังกฤษยังมีความหมายว่าพุ่งไปอย่างรวดเร็ว

เราเปิดตัวเครื่องหนังยี่ห้อ dash. ใน ค.ศ. ๒๐๑๙ ช่วงแรกขายออนไลน์ ต้องรอสักพักกว่าผู้ซื้อจะเห็นว่ามันใช้งานได้จริง เพราะเรียบง่ายจนน่าสงสัย แต่เมื่อได้ลองก็เข้าใจมากขึ้น ซื้อชิ้นแรกก็จะมีชิ้นที่ ๒ ตามมา ลูกค้าเราส่วนมากเป็นสายสถาปนิก ทำงานด้านการตลาด
งานออกแบบของ dash.
เราไม่ค่อยพูดคำว่ามินิมอล เพราะผลิตภัณฑ์จะบอกเอง เรามีกฎตอนออกแบบว่า หนึ่ง ต้องเรียบง่าย  สอง ใช้งานได้หลากหลาย  สาม ใช้ได้ทุกเพศ  เราพยายามออกแบบให้อยู่ตรงกลาง เน้นหน้าที่ (function) มีส่วนต่าง ๆ ที่เมื่อใช้งานจะรับรู้ได้ เช่น กระเป๋ามีส่วนโค้งเข้าแขน ใช้แม่เหล็กเปิดปิดเพื่อลดภาระผู้ใช้ที่ควรเอาเวลาไปคิดเรื่องอื่น เพราะบางทีต้องเคลื่อนที่ ต้องโหนรถไฟฟ้าก็ยุ่งมากแล้ว

กระเป๋าหนังที่เราได้รางวัลจากงานประกวดที่อิตาลี คือรุ่น DA17, DA18 เกิดจากสำรวจพบว่าสมัยนี้คนพกของน้อยลง มีโทรศัพท์มือถือ กระเป๋าสตางค์ อาจมีแว่นตาสักอัน ไม่ต้องการกระเป๋าที่จุ  ในตลาดมีกระเป๋าห้อยคอขายอยู่ แต่ใส่มือถือก็เต็มแล้ว เลยออกมาเป็น DA17 ส่วน DA18 ตอบสนองคนที่เคลื่อนที่มากกว่า เราไปดูกระเป๋า sling ในตลาด ออกแบบใหม่ปรับสายคาดให้สั้นลง ทำให้หนาขึ้นเพื่อกระจายแรงและโค้งรับร่างกาย 
“เราไม่ค่อยพูดคำว่ามินิมอล 
เพราะผลิตภัณฑ์จะบอกเอง”

Image
Image
กระเป๋ารุ่น DA18
dash.space คือส่วนขยาย
เราไม่ต้องการยึดติดผลิตภัณฑ์ประเภทเดียว การเปิดพื้นที่ตรงนี้เพราะต้องการสถานที่สักแห่งที่มากกว่าหน้าร้าน จึงสร้างพื้นที่ให้คนเข้ามาสัมผัสประสบการณ์ เปิดให้คนหลายกลุ่มเข้ามารู้จักเรามากขึ้น อะไรที่จะดึงคนเข้ามา กาแฟ และคนต้องเข้ามามากกว่าดื่มกาแฟ เราได้ข้อสรุปว่าเราต้องการความสบาย (cozy) ไม่สร้างตึกแบบเดิม จึงเกิดกลุ่มตึก  ตึกหนึ่งเป็นร้านกาแฟ เป็นมุมที่คนมารวมตัวสังสรรค์กัน มีพื้นที่ข้างนอกและมุมถ่ายภาพดึงคนออกไปนอกร้าน เพื่อลดความกดดันของบาริสตาและความแออัดภายใน  อีกอาคารเป็นพื้นที่จัดแสดงงานซึ่งค่อนข้างสงบสำหรับคนที่อยากมาทำงานและพักผ่อน

เรื่องการตกแต่ง เราไม่ต้องการให้สถานที่ขโมยซีน กุญแจคือใช้สีขาว คนมาไม่ว่าจะสวมชุดสีอะไรก็โดดเด่นเวลาถ่ายภาพ ในแง่การใช้งานก็ปรับเปลี่ยนได้เพื่อจัดงานประเภทอื่น มีช่องว่างให้คนที่อยากใช้สถานที่เตรียมของแต่งเข้ามาได้ด้วย พื้นที่สีเขียวที่อยู่โดยรอบปรับทำกิจกรรมได้บางโอกาส พรรณไม้ต้องโดดเด่น แตกต่างจากภายนอก ดูแลรักษาง่าย จึงเป็นต้นกระบองเพชร โอลีฟ และมี “สวนลีลา” รับหน้าที่จัดการแต่งสวนให้

ยอมรับเรื่องจุดอ่อนคือความจ้าของแสงในบางช่วงเวลา แต่จากประสบการณ์การออกแบบ ถ้าไม่ทำให้เต็มที่ทางใดทางหนึ่งเพื่อแลกความโดดเด่น มันก็จะไม่ไปทางไหนสักทาง  เราก็พยายามหาทางแก้ไขเท่าที่ทำได้โดยไม่เสียจุดเด่นของอาคารสถานที่
ที่นี่เราไม่เอาสินค้า dash. เป็นตัวหลัก ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นโชว์รูมสินค้า เรามองคนเป็นศูนย์กลาง สินค้าเป็นส่วนเสริม อยู่ที่มุมอาคารในร้านกาแฟ เราเน้นให้แขกได้ประสบการณ์ที่ดีจากสถานที่มากกว่า  กาแฟออกแบบให้มีทั้งเมนูแบบเข้มที่คนไทยคุ้นเคย และมีเมนูที่เบากว่า มีเมนูคลายร้อนทำให้สดชื่น รองรับคนที่ออกไปถ่ายรูปนอกอาคารแล้วกระหายน้ำกลับเข้ามา เราจำกัดเวลา ๒ ชั่วโมงจากการคำนวณการดื่มกาแฟและถ่ายภาพโดยเฉลี่ย ให้จองมาก่อน เพราะพื้นที่รองรับได้ ๓๕ คน ลดความแออัด และสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับลูกค้า ในอนาคตเราจะไม่ยึดติดกับสินค้าตัวเดียว แต่จะทำภารกิจหลักให้หลากหลาย
นิยามคำว่ามินิมอล
มินิมอลคือการลดทอนทุกอย่างให้เหลือเท่าที่จำเป็น ต่อมากลายเป็นคำทางการตลาด มันมีความหมายจริง ปัญหาคือคนที่ติดป้ายเข้าใจหรือไม่ แต่ทุกวันนี้เรามีผลิตภัณฑ์ให้เลือกมาก ผมไม่ค่อยใส่ใจ ตราบใดโฆษณาแล้วทำได้ ลูกค้าตอบรับ มีความสุขกับการใช้งานก็ถือว่าจบ  คำพวกนี้เปลี่ยนความหมายตลอดเวลา ไม่ต่างกับคำสแลงที่แต่ละยุคมีความหมายต่างกัน ถ้ามินิมอลเป็นตัวกลางทำให้คนเข้าใจตรงกันก็ไม่มีปัญหา  สินค้าแนวนี้ฮิตหลังสินค้าแนวอื่น แน่นอนว่ามีช่วงที่กระแสสูงมาเป็นสึนามิ หลังจากนั้นก็จะลดลง เหลือแต่บ่อน้ำ แต่น้ำบ่อนี้ (มินิมอล) จะไม่หายไป เช่นเดียวกับสินค้าแนวอื่น เพียงแต่จะได้รับความนิยมแค่ไหนในยุคต่อไปเท่านั้น  
“เราทำเฟอร์นิเจอร์แบบยุโรปเหนือ (Scandinavian)
และทำให้มันทำงาน (function)”
วรันธร เตชะคุณากร
ผู้จัดการแผนก Inspiration & Communication 
IKEA (อิเกีย) ประเทศไทย

Image
ภูมิหลัง

IKEA เป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์สัญชาติสวีเดนรายใหญ่ที่เข้ามาเปิดสโตร์บุกตลาดไทยใน ค.ศ. ๒๐๑๑ ที่ห้างเมกา บางนา จากนั้นจึงขยายไปตั้งศูนย์บริการสั่งซื้อและรับสินค้าที่จังหวัดภูเก็ต (ค.ศ. ๒๐๑๕ ก่อนจะเป็นคอมแพกต์สโตร์ใน ค.ศ. ๒๐๒๑) และขยายสาขาไปที่บางใหญ่ นนทบุรี (ค.ศ. ๒๐๑๘)

วรันธร (มิ้นท์) ในฐานะตัวแทน IKEA ประเทศไทย ทำงานกับ IKEA ตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๑๔ ในตำแหน่งออกแบบและตกแต่งสโตร์ (visual merchandiser) แผนกสิ่งทอ ต่อมาเป็นรองผู้จัดการฝ่ายสื่อสารและออกแบบตกแต่งภายในมีหน้าที่เตรียมเปิด IKEA บางใหญ่ ดูแลการขยายงานไปยังภูเก็ต และนำทีมตกแต่งบ้านสไตล์ IKEA เพิ่มเติมบริบทท้องถิ่นเข้าไป ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งปัจจุบัน

• เว็บไซต์ www.ikea.com/th
IKEA ผลิตเฟอร์นิเจอร์แนวมินิมอลหรือไม่
หลักการผลิตเฟอร์นิเจอร์ของ IKEA ไม่ได้ยึดติดแนวทางใดแนวทางหนึ่ง แต่การที่เรามาจากสวีเดน แนวของเราคือยุโรปเหนือ (Scandinavian) เรายึดหลักออกแบบที่เรียกว่า democratic design ซึ่งมีห้าอย่าง หนึ่งในนั้นคือความเรียบง่าย ตรงนี้อาจตรงกับคำว่ามินิมอลที่คนไทยคุ้นเคย  เราทำให้เฟอร์นิเจอร์ตอบโจทย์การใช้งาน (function) มากที่สุด เช่น ออกแบบโซฟา จะให้ใช้งานได้มากกว่านั่ง ใช้นอนได้ด้วยและนอนแบบมีคุณภาพ เก็บของได้ ช่วยประหยัดพื้นที่ในบ้าน นี่คือหลักการของ IKEA

คนที่ไม่ได้อยู่ในสายงานออกแบบจะเข้าใจว่ามินิมอล
คือทำให้ดูเรียบง่าย บางครั้งเราจึงใช้คำนี้สื่อสารสินค้าบางชิ้นที่รูปทรงตอบโจทย์ เป็นแรงบันดาลใจให้คนที่อยากแต่งห้องเรียบ ๆ คือบอกว่าเก้าอี้ตัวนี้ตอบโจทย์ในแง่รูปทรงนะ น้อย แต่ดูดี ซึ่งไปตรงกับมินิมอล  จริง ๆ IKEA ผลิตเฟอร์นิเจอร์โดยพยายามประหยัดทรัพยากร ตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ ถ้าเรียกว่ามินิมอลก็อาจมาตั้งแต่ต้นทาง

นักออกแบบของ IKEA อาจทำเฟอร์นิเจอร์แนว
มินิมอลก็ได้เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ชอบแนวนี้ เราจะหาวิธีการออกแบบอย่าง IKEA แบบน้อย แต่มาก คือมากในการมีพื้นที่จัดเก็บเพื่อตอบโจทย์ชีวิตประจำวัน หรืออาจเป็นแนวที่เรียบมากขึ้นก็ได้  ถ้าคนมองว่า IKEA คือ มินิมอลก็ดีใจที่ตอบโจทย์ได้ ดีใจที่มีกระแสมินิมอล เพราะคนจะได้คิดว่าอะไรที่เขาต้องการเวลาอยู่บ้านมากขึ้น
“ลองไปดูสโตร์ IKEA ทั้งสามแห่งจะพบว่าไม่มีที่ไหนออกมาคล้ายมินิมอลที่อยู่ตามเทรนด์”
Image
POÄNG (พัวแอง)/armchair
IKEA นิยามคำว่ามินิมอลไว้อย่างไร 
สำหรับ IKEA เราออกแบบโดยตอบโจทย์ในชีวิตประจำวัน การมีเฟอร์นิเจอร์ที่มีฟังก์ชันครบ สนับสนุนการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ นั่นคือมินิมอลแล้ว จริง ๆ คนไทยอาจชอบ Scandinavian โดยที่ไม่รู้จักมัน  หลัง ๆ พอมีคนพูดเรื่องแต่งบ้านสไตล์มินิมอลที่มีเฟอร์นิเจอร์แนวนี้มากขึ้นก็เลยร้องอ๋อกัน  เท่าที่สังเกต แบรนด์อื่นในไทยตอนนี้ก็มีสไตล์เดียวกับเราเยอะ เพียงแต่พูดว่ามินิมอลเพื่อให้คนที่ไม่มีภูมิหลังด้านการออกแบบเข้าใจง่าย

คำว่ามินิมอลจริง ๆ อาจมีไว้อธิบายแนวการออกแบบ
ที่มีลักษณะน้อย เป็นเทรนด์เรียกวิธีตกแต่งบ้าน แต่เราไม่คิดว่ามินิมอลมีแบบเดียว ไม่มีถูกหรือผิดในการใช้คำว่ามินิมอล บางคนมีโซฟาหนึ่งตัว ทีวีหนึ่งเครื่อง ก็มินิมอลของเขาแล้ว ส่วนมินิมอลของเราอาจเป็นโซฟาที่ทำงานได้หลายแบบ จะเห็นว่าตีความได้เยอะ ขึ้นกับว่าพอใจที่ตรงไหน
เหตุผลที่มาทำตลาดในไทย
เรามาเปิดตลาดในไทยเพื่อให้คนที่มีรายได้หลายระดับมีบ้านที่มีเฟอร์นิเจอร์ซึ่งทำหน้าที่อย่างครบถ้วนได้ สมัยที่วางผังสโตร์ของ IKEA เราทำการบ้านว่าลูกค้าคนไทยมีความเป็นอยู่อย่างไร ไม่ได้เริ่มตั้งต้นจากมินิมอล แต่เราดูว่าลูกค้าชอบอะไร ปรากฏว่าชอบแบบโมเดิร์น ซึ่งก็จะมีทั้ง Scandinavian และแบบอนุรักษนิยม  ลองไปดูสโตร์ IKEA ทั้งสามแห่งจะพบว่าไม่มีที่ไหนออกมาคล้ายมินิมอลที่อยู่ตามเทรนด์ เราออกแบบจากวิถีของลูกค้าส่วนมาก เช่น ห้องนั่งเล่นต้องมีที่วางทีวี เก็บของ ตู้โชว์ บางคนต้องการโซฟาที่นอนได้ด้วย บ้านไหนมีเด็กมากก็ต้องมีจุดที่เก็บของมากขึ้น  ห้องของ IKEA ไม่เคยมีเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น แต่มีเพื่อตอบโจทย์ให้มากที่สุด แต่ละห้องที่เราจัดแสดงจะเป็นลูกค้าแต่ละกลุ่ม เราแบ่งพื้นที่เลยว่าแนวนี้ร้อยละเท่าไร

ตัวเฟอร์นิเจอร์นั้นออกแบบโดยทีมของ IKEA
ที่สวีเดน นักออกแบบที่ไทยจะทำหน้าที่ออกแบบภายใน ออกแบบภาพรวม และเป็นกราฟิกดีไซน์ นำของที่เป็น Scandinavian มาจัดการให้เหมาะกับตลาดในประเทศ ตัวเฟอร์นิเจอร์อาจมีความร่วมมือกับดีไซเนอร์ไทยบ้าง เช่น คอลเลกชัน LOKALT ที่ทำงานกับ THINKK Studio ซึ่งชำนาญเซรามิก  IKEA ที่สวีเดนมีทีมวิจัยเพื่อตอบโจทย์ของลูกค้าและมีแหล่งวัตถุดิบการผลิตกระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งมองเราเป็นหนึ่งยูนิต
กระแสมินิมอลส่งผลกระทบกับ IKEA หรือไม่
ตัดสินยากมาก แต่คิดว่าไม่กระทบ ถ้ามองในมุมนักออกแบบ เราคาดการณ์ไม่ได้ถึงการยืนระยะของกระแสนี้ กระแสในไทยมาเร็วไปเร็ว คนไทยส่วนมากเปิดกว้างและรับอิทธิพลจากหลายที่ ที่น่าสนใจคือจะมีกระแสอะไรตามมามากกว่า  
Image
ขอขอบคุณ : 
คุณเบญจวรรณ รุ่งศิริ
คุณจารุวรรณ วรรักษ์ธนานันท์

“เค้กมินิมอลมีจุดเด่นคือ ผู้สั่งออกแบบได้ด้วย”
สุตานันท์ รื่นธงชัย
เจ้าของร้านเค้กมินิมอลออนไลน์
PPTHEBAKER

ภูมิหลัง

สุตานันท์ รื่นธงชัย (แป้ง) ชื่นชอบการทำเค้กตั้งแต่เด็กเพราะมักช่วยแม่อยู่บ่อยครั้ง เป็นตัวตั้งตัวตีจัดงานวันเกิดให้เพื่อนสมัยเรียนปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คลุกคลีกับการสั่งเค้กจากหลายร้านจนเห็นข้อดีข้อด้อย ติดตามวงการร้านเค้กเกาหลีใต้แบบเกาะติด ก่อนจะเป็นบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในปีแรกที่โควิด-๑๙ ระบาด ในช่วงนั้นเองที่เธอเปิดร้านเค้กมินิมอลออนไลน์ชื่อ
PPTHEBAKER ขึ้น และช่วงหนึ่งคำสั่งซื้อล้นทะลักจนทำรายได้เดือนละหลายหมื่นบาท

• Line : ppthebaker, Instagram : @ppthebaker, 

Facebook : ppthebaker
เค้กมินิมอลคือเค้กแบบไหน
กระแสนิยมเค้กมินิมอลมีในต่างประเทศมาพักหนึ่งแล้ว ถ้าชอบอ่านนิตยสารเกี่ยวกับการทำเค้กหรือตาม Instagram ของร้านเค้กในเกาหลีใต้ ของพวกนี้จะขึ้นให้เห็นผ่านตาอยู่เรื่อย ๆ  ร้านเค้กแบบนี้ในไทยก็ได้ต้นแบบจากเกาหลีใต้เสียมาก

เค้กมินิมอลเป็นเค้กหน้าตาเรียบ ๆ แต่งหน้าไม่มาก แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามมีสีสัน คนทั่วไปมักมองว่าต้องเป็นเค้กสีขาว สีครีม สีน้ำตาล สีเอิร์ทโทน แต่ความจริงไม่จำเป็น เป็นสีแดงก็ทำให้ดูมินิมอลได้ ขึ้นกับฝีมือคนทำ ทำเค้กมินิมอลจึงไม่ง่ายเหมือนกับรูปลักษณ์ของเค้ก คนทำต้องใส่ใจมากเพราะโจทย์ลูกค้ามาไม่เหมือนกัน  บางคนขอสีแรง เราก็ต้องคิดว่าจะปาดหน้าเค้กอย่างไร ใช้น้ำหนักมือแค่ไหน เห็นหน้าเค้กเรียบแบบนั้นปาดยากมาก โดยส่วนตัวจะรู้จากการมองว่าเค้กก้อนนั้นคนทำตั้งใจทำแค่ไหน
แบบไหนไม่ใช่เค้กมินิมอล
เพดานคือเมื่อไรก็ตามที่มีองค์ประกอบเยอะ ทั้งหน้าเค้ก ตัวเค้ก หรือเสียบอะไรลงไปบนเค้กก็ไม่ใช่แล้ว ต้องดูด้วยว่าลายด้านข้างเค้กมีมากไหม จะวางสตรอว์เบอร์รีก็ได้ แต่ต้องวางให้ดูเรียบง่าย
Image
ทำไมตัดสินใจเปิดร้านเค้กมินิมอล
ซื้อเค้กบ่อยและเห็นเบื้องหลัง ถึงจุดหนึ่งก็อยากทำเอง เพื่อนก็เชียร์  ต้น ค.ศ. ๒๐๑๙ กระแสเค้กมินิมอลยังไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองไทย  ตอนเริ่มทำเราเห็นช่องว่างของตลาด สมัยนั้นเค้กมินิมอลไม่ใช่นึกอยากสั่งก็สั่งได้ทันที ต้องวางแผน เพราะมีร้านน้อยมาก เรามีความรู้สึกร่วมกับการทำเค้กแนวนี้ และคนรุ่นใหม่ก็ไม่นิยมเค้กที่ตกแต่งมากแบบเมื่อก่อนอีกแล้ว

เราเอาสูตรทำเค้กของคุณแม่มาปรับ จ้างรุ่นน้องคณะสถาปัตยกรรมวาดโลโก้ร้านเป็นรูปหมีอุ้มเค้กเพราะชอบ ตั้งชื่อว่า PPTHEBAKER เพราะ PP มาจากชื่อที่เพื่อนเรียกว่า “แป้งเปีย” ตามด้วยคำภาษาอังกฤษที่แปลว่าคนทำขนม  ตอนเริ่มเปิดร้านใน IG ก็มีกลุ่มเพื่อนด้วยกันที่มาฟอลโลว์ราว ๔๐ คน ออร์เดอร์แรกเพื่อนสั่ง หน้าเค้กดูไม่ดีเท่าไร เพราะเรายังใหม่มาก จนช่วงที่โควิดระลอกแรกระบาดหนักทำให้คนต้องอยู่บ้านกันหมด ร้านเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะมีอินฟลูเอนเซอร์คนหนึ่งเปิดให้ส่งอาหารเข้าไป เขาจะช่วยรีวิวให้ อาจเพราะคนฟอลโลว์เราน้อย เขาเลยช่วยรีวิวให้ ปรากฏว่าหลังเขาลงคลิปรีวิวเค้กให้ก็มีคนมาฟอลโลว์เพิ่มเป็น ๕๐๐ คน จำนวนยังเพิ่มไปถึง ๒,๐๐๐ ตอนนั้นก็ตกใจ เพราะมีคำสั่งซื้อเข้ามามาก ตอนนั้นเรามีเค้กแค่ขนาด ๑ กับ ๒ ปอนด์เท่านั้น

เราเน้นว่าเนื้อเค้กต้องนุ่ม กินไม่หนักท้อง ไม่หวาน ขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การปาด การบีบครีม ต้องลองผิดลองถูกค่อนข้างหนักกว่าจะได้วิธีที่ลงตัว  คำจำกัดความเรื่องมินิมอลของลูกค้าเปลี่ยนแปลงตลอด บางครั้งก็ไม่ได้ต้องการหน้าเค้กเรียบ บางคนแคปภาพเค้กเกาหลีมาให้ดู เราต้องมาลองว่าทำได้หรือไม่ เรามีเมนูเค้กให้เลือก แต่เค้กแบบนี้มีจุดเด่นคือ ผู้สั่งออกแบบได้ด้วย สำคัญคือภาพเมื่อเค้กเสร็จแล้วลูกค้าโอเคหรือไม่
Image
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ลูกค้าของร้านคือใคร
คนรุ่นเดียวกัน (วัยเริ่มต้นทำงาน) มีผู้ใหญ่บ้างที่ซื้อไปให้ลูก ๆ  คนสั่งส่วนมากชอบเค้กแนวนี้อยู่แล้ว ที่เคยส่งไกลที่สุดคือลพบุรี สระบุรี
อนาคตของเค้กมินิมอล
เชื่อว่ากระแสเรื่องเค้กมินิมอลจะไม่หายไป คนรุ่นใหม่หันมานิยมมากขึ้น คงไม่ต่างกับเฟอร์นิเจอร์ที่มีหลายแบรนด์ หลายแบบ แม้ว่ากระแสตก สุดท้ายคนที่ชอบก็จะยังชอบ  ตอนนี้ร้านเค้กแนวนี้เพิ่มขึ้น คู่แข่งก็มากขึ้น แต่เชื่อว่าถ้าลูกค้าชอบกินเค้กร้านเราเขาจะกลับมาสั่งอีก  อนาคตคงดูเทรนด์ ทำเค้กแนวอื่นเพิ่มด้วย แต่จะไม่ทิ้งเค้กมินิมอลแน่นอน  ตอนนี้ยังไม่คิดเปิดหน้าร้าน เพราะยังทำงานประจำ
มองกระแสมินิมอล
ได้ยินคำว่ามินิมอลมาตั้งแต่เด็ก เข้าใจผ่านการรับรู้เรื่องเฟอร์นิเจอร์ การแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์สีขาว น้ำตาล ไม่มีการตกแต่ง คิดว่ากระแสมินิมอลคือความชอบของผู้คน หมายถึงอะไรก็ได้ ตั้งแต่การแต่งตัว เฟอร์นิเจอร์ อาหาร ที่ดูเรียบง่าย