Image
พื้นที่สไตล์มินิมอล dash.space รามอินทรา ๑๙ กรุงเทพฯ
The Minimalist
(เมด) อินไทยแลนด์
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์ (พื้นที่สไตล์มินิมอล dash.space รามอินทรา ๑๙ กรุงเทพฯ)
“พร้อมส่ง ราคาถูก ส่งไวที่สุด การ์ดมินิมอล ราคายกเซต ๑๕ ใบ”

“กล่องทิชชู่สไตล์มินิมอล มี ๒ สี”

(ข้อความ “โฆษณา” จากร้านค้าสองแห่งในแอปพลิเคชัน Shopee)
“Minimal cake สั่งล่วงหน้าอย่างน้อย ๓ วัน”
(ข้อความ “เมนู/รายการอาหาร” ของร้านเค้กแห่งหนึ่ง)
เปิดตัวหมู่บ้านดีไซน์มินิมอล สไตล์ญี่ปุ่น (ชื่อหมู่บ้าน) ทำเลใกล้เมืองโคราช...”
(ข้อความโฆษณาของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่งทางเฟซบุ๊ก)
“(ชื่อหมู่บ้าน) #ไปให้สุดกับชีวิตมินิมอล ติด (สถานที่) ใกล้ทางด่วน พบกับพรีเมียมทาวน์โฮม สไตล์ Modern Minimal พร้อม Private Courtyard...เริ่ม ๔.๓๙ ล้าน”
(ข้อความโฆษณาของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่งทางเฟซบุ๊ก)
บ้านสไตล์มินิมอล-มูจิ, กลุ่ม “บ้านมินิมอล”, แต่งบ้านมินิมอลสไตล์
(ผลการค้นคำว่า “มินิมอล” ในเฟซบุ๊ก)
ไม่รู้ว่าตั้งแต่เมื่อใด แต่รู้ตัวอีกทีคำว่า “มินิมอล” (minimal) ก็อยู่รอบตัวคนไทย โดยเฉพาะในแง่ “ผลิตภัณฑ์/สินค้า” ที่แทบจะใช้คำนี้ในทางการตลาดจนเป็นที่คุ้นเคยไปแล้ว

ส่วนคำถามที่ว่า “มินิมอล” คืออะไร หลายคนก็ดูเหมือนจะมีคำตอบเฉพาะตัว แต่ที่ชัดเจนคือ คำว่า “มินิมอล” กล่าวออกมาแล้วคล้ายกับทุกคนเข้าใจไปในทางเดียวกัน

สิ่งของเครื่องใช้ ย่อมมีสีสันเรียบง่าย ไม่โดดเด่น

อาหาร หมายถึงอาหารจานเรียบง่าย ถ้าเป็นเค้กก็จะแต่งหน้าน้อย ๆ

บ้าน ก็จะถูกคาดหวังว่าจะเป็นสีอ่อน ขาว-ไม้ บรรยากาศอบอุ่น

“มินิมอล” ยังถูกนิยามถึง “วิถีชีวิต” หลายคนอาจเคยอ่านหนังสือ ชีวิตดีขึ้นทุก ๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว ของ คนโด มาริเอะ (Kondo Marie) ผู้เชี่ยวชาญการจัดระเบียบของในบ้านชาวญี่ปุ่น ดูภาพยนตร์สารคดี The Minimalist : Less is now (ค.ศ. ๒๐๒๑) ใน Netflix ที่ใช้เรื่องการละทิ้งสิ่งของมาเดินเรื่อง

กระทั่งการนำเรื่องของมินิมอลมาทำเป็นภาพยนตร์อย่าง ฮาวทูทิ้ง (ค.ศ. ๒๐๑๙) ของผู้กำกับฯ ไทย

ทั้งหมดนี้อาจยืนยันได้ว่า กระแส “มินิมอล” ก็มาแรงอย่างยิ่งในสังคมไทย

แต่ที่น่าสนใจคือ “มินิมอล” กลับมีประวัติและเรื่องราวที่มากกว่านั้น
ดอกเตอร์เซบาสเตียง ตายัก
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

Image
สร้างสรรค์ ณ สุนทร
What You See is What You See กำเนิดมินิมอล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เซบาสเตียง ตายัก (Sebastien Tayac) อาจารย์ชาวฝรั่งเศสประจำภาควิชาทัศนศิลป์ สาขาวิชาจิตรกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่าหากจะพูดถึงกระแส “มินิมอล” ต้องแยกให้ออกก่อนว่ามันคืออะไร สิ่งที่เห็นเป็น “ลักษณะ” (style) หรือ “วิถีชีวิต” (life style)

ในแง่ลักษณะ อาจารย์เซบาสเตียงอธิบายว่าในวงการศิลปะคำอธิบายที่สั้นและง่ายคือ “เพราะมี abstract expressionist ถึงมี minimal” โดยคริสต์ทศวรรษ ๑๙๔๐ ศิลปะแนว abstract expressionist เกิดขึ้นในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ คอลัมนิสต์ด้านศิลปะ นิยามไว้ว่าเป็นศิลปะที่ “แสดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม” ไม่ยึดติดความเป็นจริง ศิลปินสร้างงานด้วยความเคลื่อนไหวฉับพลันรุนแรง เช่น สาดสี เทสี ฯลฯ ไม่เน้นเนื้อหา

งานแนวนี้ได้บุกเบิกงานศิลปะแบบก้าวหน้าของสหรัฐอเมริกา ทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลางศิลปะโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทั้งยังมีทฤษฎีสมคบคิดว่า หน่วยงานข่าวกรองอเมริกันอาจมีส่วนสนับสนุนงานศิลปะนี้เพื่อต้านกระแสศิลปะแบบ socialist realism ของสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็นด้วย

ส่วน “มินิมอลลิสม์” (minimalism) นั้นตามมาในทศวรรษ ๑๙๖๐ ถือกำเนิดในนิวยอร์ก รับอิทธิพลจากกระแสศิลปะที่มีมาก่อนหลายแนว

เหตุสำคัญคือการตอบโต้กับ abstract expressionist โดยมองว่าอารมณ์ ความรู้สึก ไม่สามารถสื่อสารความคิดของศิลปินได้ พวกเขาทิ้งสัญลักษณ์ เรื่องราว หันมาให้ความสำคัญกับวัสดุที่ใช้สร้างงานที่ได้จากระบบอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นก้อนอิฐ หลอดนีออน ฯลฯ เน้นความจริงแท้ในตัววัสดุ ก้อนอิฐคือก้อนอิฐ เส้นคือเส้น ไม่บ่งบอกอารมณ์ใด ๆ เพื่อให้ผู้ชมตอบสนองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างตรงไปตรงมา โดยมีการแสดงนิทรรศการของศิลปินกลุ่มนี้ใน ค.ศ. ๑๙๖๖ ในสหรัฐฯ​

ศิลปินมินิมอลลิสต์รุ่นแรกคือ แฟรงก์ สเตลลา (Frank Stella) มีแนวคิดในการทำงานว่า “What you see is what you see” (สิ่งที่เห็นคือสิ่งที่เป็นอยู่)

บทความ “มินิมอลลิสต์ : ศิลปะแห่งการลดทอนและความจริงแท้ของวัตถุ” ของภาณุ ยกตัวอย่างงานของสเตลลา คือ Black Paintings (ค.ศ. ๑๙๕๘-๑๙๖๐) ซึ่งเป็นภาพวาดริ้วแถบสีดำหนาบนพื้นสีขาว ไม่มีรอยฝีแปรง แถบสีไม่ได้อยู่ในกรอบ มีส่วนคล้ายงานประติมากรรมสถาปัตยกรรม โดยงานของสเตลลาส่งอิทธิพลกับศิลปะแนวมินิมอลในระยะต่อมา

Image
แฟรงก์ สเตลลา กับผลงานที่แสดงถึงแนวคิด 
What you see is what you see 
ภาพ : artwizard.eu

Empress of India (ค.ศ. ๑๙๖๕)
ภาพ : Art Resources NY.

Black Series II (ค.ศ. ๑๙๖๗) 
ภาพ : Art Resources NY.


ส่วนผู้ที่ใช้คำว่า “minimal” คนแรกคือ ริชาร์ด โวลล์ไฮม์ (Richard Wollheim) นักปรัชญาศิลปะชาวอังกฤษ ในบทความ “Minimal Art”  (ค.ศ. ๑๙๖๕)

อาจารย์เซบาสเตียงอธิบายว่า จะดูว่าจิตรกรรมชิ้นไหนเป็นแนวมินิมอลต้องดูแนวคิดเบื้องหลัง “สมมุติมีกระดาษเปล่า หนึ่งแผ่น เอาปากกาแทงทะลุ เกิดรู อาจดูว่าใช่ แต่พอศิลปินบอกว่าจุดแทนประชาชน กลายเป็นมีกระบวนการทางความคิดที่มากกว่านั้น จึงไม่ใช่แล้ว”
Image
ริชาร์ด โวลล์ไฮม์ 
ภาพ : British Academy

Image
บทความ “Minimal Art” ของโวลล์ไฮม์ รวมพิมพ์ใน Minimal Art : A Critical Anthology
ค.ศ. ๑๙๖๕

จึงเป็นเรื่องของผู้ดูจะนิยาม

“ในวงการศิลปะเคยมียุคมินิมอลจริง แต่คนยุคต่อมาที่ได้อิทธิพลมาทำงานก็เป็นคนละยุคแล้ว งานของเขาอาจมีกระบวนการคิดอื่นด้วย อาจถือเป็นงาน post-minimal”

สร้างสรรค์ ณ สุนทร 
อาจารย์ประจำสถาบันสอนการออกแบบอุตสาหกรรม อ็องซี-เลซาเตอลีเย (ENSCI-Les Ateliers) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เล่าว่าแนวคิดมินิมอลด้านสถาปัตยกรรมนั้นสอนรวมอยู่ในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมในระดับปริญญาตรี อีกทั้งยังมีอิทธิพลของสำนักคิดเบาเฮาส์ด้วย (Bauhaus-โรงเรียนสอนศิลปะในเยอรมนีที่ส่งอิทธิพลกับการออกแบบสมัยใหม่ทั้งศิลปะและสถาปัตยกรรม)

“แนวคิดนี้ตรงข้ามกับภาพยุคกลางของทวีปยุโรปที่มืดสกปรก สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ต้องสะอาด คล้ายห้องทดลอง เป็นสีขาว เบาเฮาส์ยังพูดเรื่องลดต้นทุนการผลิตทุกรายละเอียด เช่น ชื่อยี่ห้อเป็นภาษาอังกฤษตัวพิมพ์เล็กเพื่อลดค่าใช้จ่าย เป็นต้น”

ผู้ที่มีอิทธิพลสูงในงานสถาปัตยกรรมแนวมินิมอลคือ ลุดวิก มีส ฟาน แดร์ โรเฮอ (Ludwig Mies van der Rohe, ค.ศ. ๑๘๘๖-๑๙๖๙) สถาปนิกชาวเยอรมัน เจ้าของแนวคิด “น้อยแต่มาก” (less is more) ที่คนทั่วโลกรู้จักมากกว่าชื่อของเขา

คำอธิบายอย่างย่นย่อของ “น้อยแต่มาก” คือ เน้นหน้าที่ (function) ตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออก ผลที่คนทั่วไปเห็นคือ สิ่งก่อสร้างเน้นพื้นที่ว่าง ใช้ผัง open plan ไม่ค่อยกั้นพื้นที่ ตกแต่งภายในอย่างเรียบง่าย เพราะมองว่าการตกแต่งคืออาชญากรรม ไม่เล่นสีสัน ลวดลายประดับ เฟอร์นิเจอร์เน้นแบบโมเดิร์นที่ลดทอนจนเหลือแต่เส้นและรูปทรงพื้นฐาน

“ฝ้าก็ต้องให้รู้ว่าคือฝ้า ไม่ต้องติดขื่อ วงกบเข้าไป ความงามไม่ควรต้องหลอกกัน” อาจารย์สร้างสรรค์อธิบาย ก่อนจะเล่าว่า ยังมีสถาปนิกชาวอังกฤษอย่าง จอห์น พอว์สัน (John Pawson) ผู้เขียนหนังสือ Anatomy of Minimum พูดถึงแนวคิดเรื่องบรรยากาศ แสง เงา โดยเน้นหลักเดียวกัน

“ในมุมหนึ่ง ทางยุโรปเหนือ สแกนดิเนเวีย สิ่งที่ส่งผลกับการออกแบบคือภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ช่วงที่มีแสงแดดน้อยต้องสร้างของที่เน้นฟังก์ชัน  ถ้ามองมาทางตะวันออก ญี่ปุ่นก็จะคล้ายกัน เพราะอยู่ละติจูดเดียวกัน แถมยังมีอิทธิพลจากศาสนาพุทธนิกายเซน  กรณีฝรั่งเศสก็จะมีรากวิธีคิดไปทางลาติน (ยุโรปใต้) โยงกับศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก คือต้องมีของตกแต่งเยอะ เห็นได้จากในอิตาลีที่สถาปัตยกรรมต้องอวดความมั่งคั่ง ศาสนาจึงเป็น maximal โดยปริยาย แต่ทางเยอรมนี ยุโรปเหนือ จะกลายเป็น minimal”

ทั้งยังชี้ว่าคนยุโรปมีสองแนวคือชอบเยอะกับชอบน้อย กระทั่งในชีวิตประจำวัน “คนที่ชอบอะไรน้อย ๆ จะคิดเรื่องฟังก์ชัน ไม่ทำอะไรที่เกิน เช่น ทำสไลด์ คำทุกคำ ภาพทุกภาพที่วางลงไปต้องมีความหมาย ไม่วางเปะปะ ซ้อมพูดทุกประโยค ผมไม่แน่ใจว่าเป็นมินิมอลไหม แต่คนแนวนี้เขาไม่ทำอะไรเรื่อยเปื่อย”

ในยุโรป เส้นแบ่งระหว่างสถาปนิก นักวาด นักออกแบบ ยังรางเลือน เห็นได้จาก “อีฟว์ แกล็ง (Yves Klein) ศิลปินฝรั่งเศสที่โดดเด่นเรื่องใช้สีน้ำเงิน ก็มีเพื่อนเป็นวิศวกรรถไฟที่แนะนำวิธีหล่อพลาสติกให้ แกล็งก็เอาไปใช้สร้างงาน” ดังนั้นเรื่องนี้จึงส่งผลมาถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์
Image
Image
ลุดวิก มีส ฟาน แดร์ โรเฮอ เจ้าของแนวคิด less is more กับ แบบอาคารที่เขาสร้างสรรค์ให้มหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริกา
ภาพ : Indiana University

“ในญี่ปุ่น งานสถาปัตยกรรมยังได้แรงบันดาลใจจากพุทธศาสนานิกายเซน จากเหตุการณ์ที่ครั้งหนึ่งก่อนเทศน์ พระพุทธเจ้าทรงหยิบดอกไม้ในแจกันขึ้น มีสาวกรูปเดียวที่เข้าใจและยิ้มคือพระอัสสชิ เป็นเรื่องส่งจิตถึงจิต นิกายเซนมองว่านี่คือต้นกำเนิดของเซน ต่อมายังให้กำเนิดงานสถาปัตยกรรม ห้องชงชา ก่อนจะมีพิธีชงชา และเรื่องวาบิซาบิ (wabi sabi) ตามมา”

ศาสนาและวิถีชีวิตแบบญี่ปุ่นยังส่งผลกับงานของสถาปนิกชาวญี่ปุ่นคนสำคัญอย่าง ทาดาโอะ อันโดะ (Tadao Ando, ค.ศ. ๑๙๔๑-ปัจจุบัน) ซึ่งงานออกแบบอาคารโดดเด่นเรื่องความเรียบง่ายและสื่อสารกับความรู้สึกภายในของผู้ใช้อาคาร เน้นใช้คอนกรีตสร้างสภาพแวดล้อมที่สะอาด ให้ความรู้สึกโล่งในเวลาเดียวกัน จัดระเบียบพื้นที่ ทำโครงสร้างอาคารให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ มีการใช้แสงธรรมชาติ เช่น โบสถ์ The Church of the Light ในเมืองอิบารากิ จังหวัดโอซากะ ที่มีช่องแสงรูปไม้กางเขนด้านหน้าแท่นพิธี

ในญี่ปุ่นวิธีคิดแบบเซนยังให้กำเนิดกลุ่ม minimalist ซึ่งพยายามใช้ชีวิตด้วยของใช้เท่าที่จำเป็น เช่น มีเสื้อผ้าไม่กี่ชุด มีเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นเพื่อให้ทำความสะอาดง่าย เก็บเฉพาะของที่คิดว่าสำคัญจริง ๆ  บอกลาสิ่งของไม่จำเป็น และไม่สะสมสิ่งของ โดยมองว่าทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในโลกทุนนิยมที่จูงใจให้คนสะสมสิ่งของจำนวนมากจากแรงกระตุ้นของอุตสาหกรรมโฆษณา

Image
ทาดาโอะ อันโดะ กับผลงาน The Church of Light เมืองอิบารากิ
ภาพ : http://www.tadao-ando.com


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุมนัสยา โวหาร อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบ ภาควิชาศิลปะไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสริมว่า ในกรณีออกแบบผลิตภัณฑ์ นักออกแบบในโลกตะวันตกที่มีอิทธิพลมากคือ ดีเทอร์ รัมส์ (Dieter Rams) ชาวเยอรมัน

เพราะเป็นผู้ที่มองการออกแบบว่า “งานออกแบบที่ดีที่สุดต้องน้อยที่สุด”

ทั้งยังบัญญัติหลักการออกแบบที่ดี (good design principles) ว่า ต้องคำนึงถึงการสร้าง “นวัตกรรม” (สิ่งใหม่) มีประโยชน์ สวยงาม เข้าใจง่าย ไม่น่ารำคาญ ตรงไปตรงมา อยู่ได้นาน ลงรายละเอียด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือ เรียบง่ายที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ (good design is as little design as possible) เน้นประเด็นสำคัญ กำจัดสิ่งที่ไม่จำเป็น

รัมส์ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อ Braun หลายชิ้น โดยเน้นความเป็นระบบ เข้าชุดกันได้ดี คันบังคับทุกอย่างถูกจัดวางอย่างมีระเบียบ เข้าใจง่าย กำหนดให้มีแค่สีขาวกับสีเทา สีอื่นมีแค่บนปุ่มต่าง ๆ เน้นการออกแบบด้วยสี่เหลี่ยม ทรงกลม เส้นตรง เป็น “คนรับใช้ผู้สงบเงียบ” คำนึงถึงการรับใช้ผู้คนและถ่อมตัว ไม่ส่งเสียงดัง (ผ่านรูปลักษณ์และสี) จนข่มสิ่งแวดล้อมรอบข้าง

ต่อมางานและหลักการของเขายังเป็นพื้นฐานและแรงบันดาลใจให้สินค้าที่คนปัจจุบันรู้จัก เช่น iPod ที่คล้ายวิทยุพกพา T3 (ค.ศ. ๑๙๕๘), แอปฯ เครื่องคิดเลขใน iPhone ที่หน้าตาปุ่มกดคล้ายเครื่องคิดเลข Braun ET66, เครื่อง Power Mac G5/Mac Pro ของ Apple ที่คล้ายกับวิทยุ Braun T1000 เป็นต้น โดยทั้ง สตีฟ จอบส์ ผู้ก่อตั้ง และ โจนาทาน พอล ไอฟ์ (Jonathan Paul Ive) อดีตประธาน
ฝ่ายการออกแบบของ Apple ต่างยอมรับอิทธิพลการออกแบบของรัมส์ที่มีต่อ Apple อย่างชัดเจน

หลักการ good design principles นี้เองที่ทำให้คนจำนวนมากยอมรับว่า Apple มีความเป็นมินิมอลในดีเอ็นเอ
Image
ผลิตภัณฑ์ Braun ออกแบบโดย ดีเทอร์ รัมส์
Image
คู่เทียบ Apple กับ Braun : iPod กับ T3 และ Power Mac G5 กับ T1000
“มินิมอล” มาไทย
อาจารย์สุมนัสยาเล่าว่าคนไทยน่าจะมีบางอย่างที่เป็น “มินิมอล” ก่อนที่คำนี้จะแพร่หลายเข้ามาพร้อมกับองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรม

“เดิมเรามีบ้านไทยที่ดูเรียบง่าย แต่ก็มีรายละเอียด เสาสูง ยกพื้น ให้น้ำไหลผ่านได้ อากาศถ่ายเท เน้นการใช้งานที่เหมาะสม (function) แต่พอเป็นวัด วัง จะพิเศษ มีรายละเอียดมากขึ้น ไทยเพิ่งเริ่มมีสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์เมื่อไม่กี่ทศวรรษ วิชานี้แตกแขนงจากวิชาสถาปัตยกรรม”

เมื่อเข้าสู่สมัยใหม่ พอเริ่มมีตึกแบบโมเดิร์น มีสถาปนิกไทยที่เรียนจบจากต่างประเทศ กลับมามีอิทธิพลเรื่องสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น (ช่วงต้นถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ นักวิชาการไทยนิยามว่า “สถาปัตยกรรมแบบทันสมัย/modern architecture/สถาปัตยกรรมแบบคณะราษฎร” ช่วงระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๒-๑๙๔๗) ซึ่งลดทอนรายละเอียดที่ไม่จำเป็น มีรูปแบบเรียบเกลี้ยงแบบกล่องสี่เหลี่ยมไม่ประดับตกแต่งลวดลาย หลังคาทรงตัด

ส่วนสถาปัตยกรรมแบบมินิมอลที่เราเห็นในเวลาต่อมา เน้นการสร้างอาคารสถานที่โดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย ซื่อตรงต่อวัสดุ รังเกียจการตกแต่งประดับประดา อันถือว่าเป็น “อาชญากรรม” ต่องานสถาปัตยกรรมแนวนี้

ด้านวงการออกแบบผลิตภัณฑ์ เริ่มมีอิทธิพลหลังไทยเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ กับหมุดหมายที่น่าสนใจคือ การวางตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช (Macintosh) ยี่ห้อ Apple ที่เข้ามาในไทยช่วงปลายทศวรรษ ๑๙๘๐ ผลคือ “เปลี่ยนวิธีคิดคนเรียนวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ เพราะหน้าตาที่เรียบง่าย ต่างกับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (personal computer - PC) ที่ดูใช้งานยาก”

ตามมาด้วยแบรนด์ MUJI (เปิดตลาดในไทย ค.ศ. ๒๐๐๙) และที่หลายคนจำได้ดีคือ iPhone (วางจำหน่ายครั้งแรกในไทย มกราคม ค.ศ. ๒๐๐๙)

ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ การบุกตลาดไทยของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ทำให้คนไทยรู้จักสินค้าสไตล์มินิมอลมากขึ้น ต่อมาวงการของแต่งบ้านก็เริ่มใช้คำว่า “มินิมอลเฟอร์นิเจอร์” ในงาน “บ้านและสวนแฟร์”

สตูดิโอออกแบบเฟอร์นิเจอร์รายย่อยเจ้าหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ช่วงที่ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่อย่าง IKEA เข้ามาบุกตลาดไทยก็ส่งผลกับความรู้สึกพวกเขาพอควร “รู้สึกว่าผู้ผลิตไทย ทั้งรายใหญ่กับรายย่อยอาจลำบาก แต่อีกมุมหนึ่งก็ทำให้คนไทยรู้จักเฟอร์นิเจอร์ของสแกนดิเนเวีย (ยุโรปเหนือ) สนใจกับคำว่ามินิมอลมากขึ้น” เพราะกระทั่ง IKEA เองก็ใช้คำนี้กับการโฆษณาสินค้าบางชิ้น

สินค้าแนวนี้กระจายไปยังผู้บริโภคมากขึ้นหลังจากจับผู้บริโภคที่มีระดับรายได้ค่อนข้างสูงมานาน โดยผู้ผลิตสัญชาติจีน เช่น เสียวหมี่ (Xiaomi) ลงมาเล่นตลาดแนวนี้อย่างจริงจังในราคาที่คนจำนวนมากเอื้อมถึง

ปรากฏการณ์ทางการตลาดที่น่าสนใจคือ สินค้ายี่ห้อแรก ๆ ในแนวนี้ได้กลายเป็นตัวแทนคำว่ามินิมอล ไม่ว่าจะเป็น MUJI หรือ Apple เช่น เฟซบุ๊กของผู้รับเหมารายหนึ่งตั้งชื่อว่า “สร้างบ้านแบบ MUJI Minimal” เพื่อจับกลุ่มลูกค้าเพราะยี่ห้อ MUJI เป็นตัวรับรองว่าเป็นมินิมอลจริง ๆ  ทำให้ลูกค้านึกหน้าตาสินค้าออกอย่างง่ายดาย

นี่อาจเป็นปรากฏการณ์ส่วนหนึ่งที่ ประชา สุวีรานนท์ นักวิชาการด้านการออกแบบและดีไซเนอร์นิยามว่า ศตวรรษที่ ๒๑ นั้น เป็น “ศตวรรษแห่งแบรนด์” (ยี่ห้อสินค้า)

“ภาพจำ” เมื่อพูดถึงสินค้ามินิมอลแต่ละประเภทยังต่างกัน หากเป็นเฟอร์นิเจอร์ ส่วนมากจะนึกถึงเฟอร์นิเจอร์สีขาว-ไม้, โต๊ะ-เก้าอี้ไม้สีอ่อน  ถ้าพูดถึงเสื้อผ้าก็จะนึกถึงแบรนด์เสื้อผ้าญี่ปุ่น นึกถึงการแต่งตัวของ สตีฟ จอบส์ (เสื้อยืด กางเกงยีน)
ที่กลายเป็น “เครื่องแบบ” ของเขา

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ผู้พัฒนาโครงการหลายเจ้าใช้คำว่า “มินิมอล” เป็นจุดขาย และใช้แฮชแท็ก #บ้านมินิมอล #มินิมอล จนเป็นเรื่องปรกติในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม กระทั่งถ้าพิมพ์คำว่า “เค้กมินิมอล” ก็จะพบร้านเค้กให้เลือกมากมาย และโดยมากร้านมักใช้คำว่า “สไตล์เกาหลี” ควบคู่กัน เพราะในเกาหลีใต้มีร้านเค้กแบบนี้จำนวนมาก
Image
เครื่องเล่น CD ของ MUJI มีหน้าตาคล้ายพัดลมระบายอากาศ
ภาพ : https://www.muji.com

“มินิมอล” สัญชาติไทย ?
“คนไทยใช้คำว่ามินิมอลบ่อย ใช้แทนความรู้สึก จนสูญเสียความหมายในทางศิลปะไปแล้ว”

อาจารย์เซบาสเตียงกล่าวถึงสถานะของคำว่า “มินิมอล” ในสังคมไทย เพราะหากเปิดแอปฯ ขายสินค้าดูสินค้าที่ใช้คำว่า “มินิมอล” ก็จะพบของตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ

ในศตวรรษที่ ๒๑ คำนี้ยังเกี่ยวข้องกับ pop art และ mass production (การผลิตจำนวนมาก) ด้วย

อาจารย์สร้างสรรค์ยืนยันว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับ “การตลาด”

“มันอาจเป็นการคิดแบบทุนนิยมเสรีสุดขั้ว ถ้าออกแบบจนได้ต้นทุนต่ำ ขั้นตอนการผลิตไม่ซับซ้อน ผลิตได้จำนวนมากในเวลาน้อย ก็ทำกำไรได้มาก  สมมุติสถาบันการศึกษาที่ผมสอนทำงานกับเอกชนที่จะผลิตมือถือรุ่นใหม่ ทำราคาโรงงานให้ได้เครื่องละ ๖๐ ยูโร ขายในตลาด ๘๐๐ ยูโร ก็ทำกำไร สิ่งที่ตามมาคือการใช้กลไกโฆษณา ทำให้ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น”

ดังนั้นสินค้าที่บอกว่าเป็นมินิมอล ไม่ได้หมายถึงราคาจะ “มินิมอล” (ถูก) ด้วย ยังไม่นับว่าวัสดุที่ใช้ผลิตขึ้นอยู่กับผู้ผลิตและผู้ขายแต่ละราย มินิมอลจึงมีคุณภาพหลายระดับ

ประชา สุวีรานนท์ เคยเขียนว่า สถาปัตยกรรมแบบมินิมอล เช่นบ้านนั้นมักจะมาพร้อมกับราคาที่ “แสนแพง” เพราะ “ต้องมีงบประมาณในการดูแลสูง หรืออีกนัยหนึ่ง มีข้าทาสบริวารคอยจัดของและปัดกวาดเช็ดถูมากกว่าธรรมดา ถ้ามินิมอลลิสม์สื่อถึงความพอเพียง ก็คงเป็นความพอเพียงแบบ ‘แสนแพง’”

ส่วนอาจารย์สุมนัสยามองว่าความเข้าใจสินค้ามินิมอลของคนไทยต่างจากที่อื่น “คำที่คนไทยมักพูดกันคือ ‘เรียบหรู ดูดี’ กรณีของฝรั่งหรือญี่ปุ่นจะใช้คำว่า ‘เรียบ’ ไม่มีหรู เทียบกับกรณีของเรียบง่ายในยุโรป เขาต้องดี ทน และไม่ตามแฟชั่น” ก่อนจะเล่าว่า สำหรับนักออกแบบผลิตภัณฑ์จะสนใจคำที่อยู่แวดล้อมกับมินิมอล เช่น ความเรียบง่าย (simplicity) น้อยที่สุด (minimum) หน้าที่ (function)

“นักออกแบบจะเข้าใจว่า ทำไมต้องน้อย มีวัสดุ เทคนิคอย่างไร งบประมาณแค่ไหน ถ้าคิดรอบด้านแล้ว รูปแบบผลิตภัณฑ์จะออกมาใช้งานได้ดี ทันสมัยไร้กาลเวลา (timeless) ตอบสนองผู้ใช้ได้ แต่ถ้ามีจุดหมายทางสุนทรียศาสตร์และความงามอื่น ๆ หน้าตาของผลิตภัณฑ์จะเปลี่ยนไป” ดังนั้นหากใครเดินมาขอให้ออกแบบสินค้ามินิมอล สิ่งที่ผู้ขอจะถูกถามคือ เอาไปใช้อะไร แบบไหน ฯลฯ

“เพราะการออกแบบที่ดีเป็นเรื่องของการลงรายละเอียดด้วย”

ขณะที่อาจารย์สร้างสรรค์เล่าว่าในฝรั่งเศสที่ระบบการศึกษาสอนให้คนวิพากษ์ จะไม่มีผู้ผลิตสินค้าหรือนักออกแบบรายใดกล้าประกาศตนในความเป็นมินิมอล เพราะจะถูกตั้งคำถาม

“สังคมฝรั่งเศสไม่มีกระแสเห่อสินค้ามินิมอลเท่าบ้านเรา คนส่วนมากถูกสอนตั้งแต่เด็กว่าอย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ นี่คือวัฒนธรรมทางความคิด  ถ้ามีโฆษณาแล้วเชื่อทันทีก็ดูไม่ฉลาด แน่นอนว่าโฆษณาทำงานได้ผล แต่ทำไม่ได้ผลเท่าในเมืองไทย”
Image
ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ MUJI ที่เน้นหน้าตาเรียบง่าย จนกลายเป็นต้นแบบให้สินค้าแนวมินิมอลมากมาย
ภาพ : https://www.muji.com

ในแง่ของสิ่งก่อสร้าง สถาปัตยกรรม ที่ผู้ประกอบการไทยใช้คำว่ามินิมอลโฆษณา เขามองว่าเป็นผลจากแรงขับดันด้านการตลาด เพราะในความเป็นจริง “ถ้าอยากได้บ้านมินิมอล ลองไปลงเรียนหลักสูตรสถาปัตยกรรม จะพบว่ามีสถาปนิกสักกี่คนที่พูดเรื่องนี้ เขาจะพูดเรื่องอื่นมากกว่า ในมุมหนึ่งการตลาด การโฆษณาก็ต้องหยุดในจุดที่พอเหมาะพอควร”

ส่วนจะเป็นมินิมอลจริงหรือไม่ อาจารย์สร้างสรรค์บอกว่า “คำพูดอาจไม่พอจะอธิบาย แต่รู้กัน เปรียบให้ชัดคือ คล้ายคนที่เคยเสพยามาเหมือนกัน จะดูออกว่าสิ่งนี้ใช่หรือไม่ใช่”

ในมุมของผู้ผลิตและผู้ขายในไทย มีมากกว่าสามรายที่ยืนยันว่า พวกเขาใช้คำว่ามินิมอลเพื่อสื่อสารกับผู้บริโภค เพราะทำให้ผลิตภัณฑ์โดดเด่นกว่าแบบอื่น ลูกค้าเข้าใจลักษณะสินค้าได้ทันที (ตามความเข้าใจของลูกค้า) ซึ่งไม่ว่าจะถูกแปลความอย่างไร คนตัดสินใจสุดท้ายคือผู้บริโภค  อีกทั้งตลาดของคนที่สนใจสินค้ามินิมอลมีจำนวนมากพอสมควรโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยเริ่มต้นทำงาน

อาจารย์สร้างสรรค์แนะนำว่า ในฐานะผู้บริโภค ต้องหาข้อมูลและเรียนรู้สิ่งที่สนใจ ในระดับโครงสร้างก็ต้องทำงานเรื่องการศึกษาให้มากขึ้น เพราะ

“กระแสทุกกระแส โดยธรรมชาติจะมีของจริงอยู่น้อย ส่วนมากจะเป็นน้ำ เป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ก็คือความจริง ดังนั้นต้องเรียนรู้จากมัน  ในมุมหนึ่งก็เข้าใจสถานการณ์ว่าเรามีคนขายสินค้าที่ทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจกระแสนี้ คนที่รู้ความหมายจริง ๆ ก็มีไม่มาก กระแสยังมาเร็วไปเร็ว

“กรณีสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นพอถึงเมืองไทย สังคมไทยมีเวลาทำความเข้าใจไม่นาน สักพักโพสต์โมเดิร์น (post modern) ตามมาแล้ว ทั้งที่เรายังไม่เข้าใจโมเดิร์นดีเลย กรณีกระแสมินิมอล ข้อดีคือ อย่างน้อยในบ้านของคนจำนวนหนึ่งจะรกน้อยลง มีเฟอร์นิเจอร์ที่สงบเสงี่ยมมากขึ้น แต่ในทางกลับกันก็ทำให้มีโอกาสซื้อของเข้าไปเพิ่มได้อีก  ในเชิงลึกต้องพิจารณาว่าผู้บริโภคเป็นเหยื่อทางการตลาดหรือไม่ เงินไหลไปที่นายทุนหมดหรือไม่ เรื่องนี้พิสูจน์วุฒิภาวะสังคมและระบบการศึกษา ที่ผ่านมาเรื่องสอนให้คิดก็ไม่ใช่ปรัชญาการเรียนการสอนของบ้านเรา ต่างกับระบบการศึกษาในยุโรป ผมไม่ได้หมายความว่ายุโรปดีไปหมด แต่ผมเห็นความต่างเพราะอย่างน้อยก็มีการต่อสู้ทางความคิด”

สำหรับผู้ชื่นชอบมินิมอล นอกจากชอปปิงออนไลน์และออฟไลน์ เสพเรื่องมินิมอลผ่านภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องใน Netflix ตัวเราและสังคมไทยได้อะไร ควรวางท่าทีอย่างไรต่อกระแสมินิมอล 
คุณผู้อ่านที่ตามเรื่องจนมาถึงบรรทัดนี้คงต้องเป็นผู้ตอบเอง
คุณเป็น minimalist แบบไหน ?
Image
Image
ตามประสาคนเพิ่งเริ่มศึกษาเรื่องมินิมอล ผู้เขียนทดลองแบ่งคนที่ชอบมินิมอลได้เป็นสองแบบ แบบแรกคือชอบ “ลักษณะ” ของสถาปัตยกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาตามแนวทางมินิมอล (เน้นหน้าที่ฟังก์ชัน ความเรียบง่าย ฯลฯ) หรือถ้าเป็นคนสร้างชิ้นงาน ก็จะออกแบบงานในแนวดังกล่าว แต่มิได้มีวิถีชีวิตในฐานะมินิมอลลิสต์อย่างเคร่งครัด

แบบที่ ๒ คือ รับเข้ามาเป็น “วิถีชีวิต” เช่น คนโด มาริเอะ (Kondo Marie) สตรีชาวญี่ปุ่นผู้เขียน ชีวิตดีขึ้น
ทุก ๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว และหนังสือการจัดการสิ่งของในบ้านหลายเล่ม, ฟูมิโอะ ซาซากิ (Fumio Sasaki) และชาวญี่ปุ่นอีกจำนวนหนึ่งที่เขาเขียนถึงในหนังสือ Goodbye, Things : On Minimalist Living กล่าวถึงการใช้ชีวิตแบบมินิมอลลิสต์อย่างเต็มรูปแบบในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการไม่สะสมสิ่งของการมีของใช้เท่าที่จำเป็น การค้นหาเครื่องแบบ (ชุดที่ใส่ประจำของตนเอง) ส่งผลให้มีเสื้อผ้าน้อยชิ้น ฯลฯ

ด้วยเวลาจำกัด ผู้เขียนยังไม่พบคนไทยที่เข้าข่ายแบบที่ ๒
“ยังมีคำ (และหลักคิด) สำคัญอีกมาก
ที่เกี่ยวกับคำว่า minimal”

Image
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุมนัสยา โวหาร 
อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบ ภาควิชาศิลปะไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“เวลาดีไซเนอร์ออกแบบผลิตภัณฑ์สักชิ้น จะนึกถึงการใช้งานก่อน คำถามคือออกแบบให้ใคร ถ้าอยากได้
ของมีประโยชน์ ใช้งานได้ดีและนาน ก็ต้องออกแบบอย่างมีเหตุผล ซึ่งจะส่งผลกับผลิตภัณฑ์ที่ออกมาในขั้นตอนสุดท้าย ต้องคุยกันว่ามินิมอลในความหมายผู้สั่งงานคืออะไร ต้องการจริงหรือไม่
“คนที่เข้าใจเรื่องมินิมอลจะมีกระบวนการคิด เข้าใจว่างานออกแบบที่ดีคืออะไร ถ้าสินค้าที่บอกว่าเป็น
มินิมอลราคาถูก ใช้ ๓ วันก็ชำรุด ก็เกิดคำถามว่าจะมินิมอลทำไม  คำนี้อาจสื่อสารกับคนทั่วไปได้ง่าย แต่ใน
การออกแบบยังมีคำสำคัญและหลักคิดอีกมากเกี่ยวกับมินิมอล แต่ไม่เป็นที่รับรู้ เช่น ง่าย (simplicity) รูปแบบ
มาตามหน้าที่ (form follow function) เป็นต้น
“บางครั้งลูกศิษย์เอาคำนี้มาใช้เวลานำเสนองาน บอกว่าชอบออกแบบให้เรียบง่ายสไตล์มินิมอล เราก็ต้องถามว่าอะไรคือเรียบง่าย ถามไปจนสุดทาง  สิ่งสำคัญคือเหตุผลในการออกแบบ  ในระยะยาวถ้าเขาชอบ
และเชื่อในงานออกแบบประเภทนั้น เขาก็จะอยู่กับชิ้นงานนั้นได้ ถ้าไม่ใช่เขาก็จะละทิ้งไป จริง ๆ สไตล์นี้ใน
งานออกแบบผลิตภัณฑ์เราเรียกว่า ‘mid century modern’ มากกว่า minimal”
หนังสือประกอบการเขียน
ภาษาไทย
ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปะสถาปัตยกรรม : สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๗.

ประชา สุวีรานนท์. ดีไซน์+คัลเจอร์. กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, ๒๕๕๑. 

วิจิตร เจริญภักตร์. ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมตะวันตก. กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๓.

ภาษาอังกฤษ

Sasaki, Fumio. Goodbye, Things : On Minimalist Living. United Kingdom : Penguin Random House UK, 2017. 

Little, Stephen. Isms : Understanding Art. London : Herbert
Press, 2004.

เว็บไซต์

https://st-artamsterdam.com/minimal-art/
https://www.britannica.com/art/Minimalism
https://themomentum.co/minimalism-art/
https://themomentum.co/abstract-expressionism/
https://themomentum.co/muji-design-naoto-fukasawa/