Image
“เมื่อคุณพึ่งพาประเทศอื่น
ต้องคิดถึงตัวเอง
และหาทางออกอื่นไว้ด้วย”
บทเรียนของเวียดนามใต้
ประเทศที่หายไปจากแผนที่โลก
บุ่ยเสี่ยม
ทูตพิเศษ “คนสุดท้าย” ของเวียดนามใต้
Interview
สัมภาษณ์และถ่ายภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ไม่แปลกที่คนไทยยุคนี้ไม่คุ้นเคยกับชื่อ บุ่ยเสี่ยม พอ ๆ กับที่ไม่คุ้นชื่อประเทศที่มีชื่อเต็มว่า “สาธารณรัฐเวียดนาม” (Republic of Vietnam - เวียดนามใต้) (B i Di m)

เพราะสงครามเวียดนาม ระหว่างเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ ส่วนหนึ่งของ “สงครามร้อน” ใน “โลกยุคสงครามเย็น” ที่กินเวลาถึง ๑๙ ปี (ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๕-๑๙๗๕) ยุติมานานกว่า ๔๗ ปีแล้ว คนไทยวัยทำงานและวัยเรียนขณะนี้ก็ล้วนเกิดในยุคหลังสงครามเวียดนามเกือบทั้งสิ้น

แต่ในแง่ของประวัติศาสตร์ ผลจากสงครามเวียดนามยังคงส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน เช่น เวียดนามที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ที่สำคัญคือเรื่องของเวียดนามใต้ที่หายไปจากประวัติศาสตร์ อีกทั้งนักวิชาการไทยส่วนมากก็มุ่งศึกษาประวัติศาสตร์สงครามเวียดนามในมุมมองของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามอันเป็นมุมมองของผู้ชนะ แต่น้อยมากที่จะศึกษาผ่านมุมมองของผู้แพ้อย่างเวียดนามใต้

ก่อนที่กรุงไซ่ง่อนแตกในวันที่ ๓๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๕ บุ่ยเสี่ยม คือ “ทูตพิเศษ” คนสุดท้ายที่รัฐบาลเวียดนามใต้ส่งไปเจรจาขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ขณะที่เมืองหลวงถูกกองทัพเวียดนามเหนือและกองกำลังแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้รุกประชิด

บุ่ยเสี่ยม จึงเป็นหนึ่งใน “จิ๊กซอว์ตัวสุดท้าย” ในประวัติศาสตร์สงครามเวียดนาม ด้วยเขาเห็นวาระสุดท้ายของแผ่นดินเกิดจากวงในที่สุดทางการทูต เห็นความเป็นจริงของการเมืองระหว่างประเทศ โดยหลังสงครามยุติ เขาอาศัยกับครอบครัวอย่างสงบที่เมืองร็อกวิลล์ (Rockville) รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา

ผมเดินทางไปพบคุณตาบุ่ยเสี่ยมในวัย ๙๖ ปี ที่ชั้นใต้ดินของบ้านอันแสนอบอุ่นในชนบท  หลังนำชาเวียดนามมาต้อนรับ บทสนทนาเกี่ยวกับ “สงครามเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว” ก็เริ่มขึ้น

ผู้เขียนเก็บบทสนทนาขนาดสั้นนี้มานานกว่า ๓ ปี โดยยังไม่มีจังหวะเผยแพร่

ต้น ค.ศ. ๒๐๒๒ เมื่อเกิดสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ถึงแม้จะต่างบริบท ต่างยุคสมัย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เกมการเมืองระหว่างประเทศที่ชิงไหวชิงพริบกันไม่ต่างจากสมัยสงครามเวียดนาม รวมไปถึงชะตากรรมของประเทศเล็กที่ต้องจัดวางตำแหน่งของตนท่ามกลางประเทศมหาอำนาจ

จึงนับเป็นโอกาสดีในการนำเสนอ “ปากคำประวัติศาสตร์” ของ บุ่ยเสี่ยม เพื่อต่อภาพที่หายไปซึ่งอาจทำให้เราหันกลับมาพิจารณาเรื่องราวในอดีตอีกครั้ง
นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาสมัยสงครามเย็นมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามใต้แค่ไหน
นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาตอนนั้นเอื้ออำนวยเป็นอย่างมากในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามใต้  อเมริกันสนับสนุนให้เวียดนามใต้สู้กับเวียดนามเหนืออยู่แล้ว แต่ในเวลาเดียวกันก็มีฐานทัพอยู่ในประเทศไทย เรื่องนี้เป็นที่รับรู้กันดี นอกจากฐานทัพอเมริกันยังใช้ไทยเป็นฐานดำเนินกิจกรรมทางการทูตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในสมัยของประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson - LBJ, ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ๑๙๖๓-๑๙๖๙) รัฐบาลอเมริกันพยายามจัดให้มีการประชุมประเทศที่ให้ความช่วยเหลือเวียดนามใต้เจ็ดประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ไทย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเวียดนามใต้  ถ้าผมจำไม่ผิดมีการประชุมในกรุงมะนิลา (ฟิลิปปินส์) กรุงเทพฯ (ไทย) เพื่อที่จะบอกว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้โดดเดี่ยวในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในสงครามเวียดนาม  ภาพของประธานาธิบดีมาร์กอส (ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ๑๙๖๕-๑๙๘๖) จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกฯ ไทย (ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ๑๙๕๘ และ ค.ศ. ๑๙๖๓-๑๙๗๓) ในสมัยนั้นยังคงชัดเจนในความทรงจำของผม  ระบบการปกครองของไทยกับเวียดนามใต้ ในตอนนั้นก็คล้ายกันมาก ถ้าผมจำไม่ผิดไทยมีจอมพลถนอมปกครองประเทศในระบอบเผด็จการทหาร ในเวียดนามใต้ยุคก่อนกรุงไซ่ง่อนแตก มีนายพลสองคนที่มีอำนาจปกครอง คือ ประธานาธิบดีเหงวียนวันเถี่ยว (Nguyễn Vằn Thiệu, ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ๑๙๖๗-๑๙๗๕) และ เหงวียนกาวกี่ (Nguyễn Cao Kỳ, ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ๑๙๖๗-๑๙๗๑) รากฐานทางสังคมหลายเรื่องก็มีความคล้ายกันมาก 

มีคนเชื้อสายเวียดนามจำนวนมากอยู่ในกรุงเทพฯ และภาคอีสาน มีความเคลื่อนไหวของเวียดนามเหนือในเมืองไทย ผมคิดว่ารัฐบาลไทยสมัยนั้นทราบ รัฐบาลเวียดนามใต้ก็ทราบ แต่เป็นที่รับรู้กันว่าไทยเป็นมิตรกับเวียดนามใต้มากกว่าเวียดนามเหนือ ในแง่ของความสัมพันธ์ผมคิดว่ารัฐบาลทั้งสองฝ่ายนั้นสามารถกำหนดทิศทางของตัวเองได้ แม้ว่าจะมีอิทธิพลของสหรัฐฯ แต่ระบอบอำนาจนิยมในไทยและเวียดนามก็ทำให้ง่ายสำหรับสหรัฐอเมริกาที่จะผลักดันนโยบายของตนผ่านระบอบนี้ 
เวียดนามใต้

ประเทศเวียดนามใต้กับเวียดนามเหนือเกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศสงครามเย็นระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์กับโลกเสรี จาก “ข้อตกลงเจนีวา” (ค.ศ. ๑๙๕๔) เพื่อหาหนทางฟื้นฟูสันติภาพในภูมิภาคอินโดจีน (เวียดนาม ลาว และกัมพูชา) 

เวียดนามถูกแยกเป็นเหนือกับใต้ เหนืออยู่ใต้การปกครองพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (นำโดย โฮจิมินห์) หนุนหลังโดยจีนและโซเวียต 
ขณะที่ทางใต้ปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย (แต่ในทางปฏิบัติกลายเป็นระบอบอำนาจนิยม) หนุนหลังโดยสหรัฐฯ  ข้อตกลงนี้กำหนดให้รวมประเทศใน ค.ศ. ๑๙๕๖ โดยการเลือกตั้งทั่วไป แต่รัฐบาลเวียดนามใต้ไม่ยอมรับ เนื่องจากมองว่าพรรคคอมมิวนิสต์ควบคุมประชาชนในฝั่งเหนือไว้ทั้งหมดและการเลือกตั้งจะไม่มีเสรีภาพ ทำให้เวียดนามเหนือเริ่มส่งกองกำลังเข้ามาเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มเวียดนามใต้  
รู้สึกอย่างไร
กับสงครามเวียดนาม

มันเป็นโศกนาฏกรรมที่ประเทศถูกแบ่งเป็นเหนือกับใต้ พ่อของผมอาศัยอยู่ในฮานอย แม่ของผมอาศัยอยู่ในกรุงไซ่ง่อน สถานการณ์นี้เกิดกับหลายครอบครัวในเวียดนาม คนในครอบครัวต้องแยกจากกัน กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดาในยุคนั้น

ผมเคยเป็นทูตในลาว และดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่งในรัฐบาล คุณต้องเข้าใจว่าระบบการปกครองในเวียดนามเหนือเป็นคอมมิวนิสต์ ในเวียดนามใต้เป็นอำนาจนิยม อาจไม่ถึงกับเผด็จการเบ็ดเสร็จ  สถานการณ์สองพื้นที่แตกต่างกัน ผลคือสำหรับคนเวียดนาม ไม่มีทางเป็นไปได้ที่คนในครอบครัวจะมีสายสัมพันธ์กันตามปรกติ ระหว่างคนที่อยู่ในเวียดนามเหนือกับคนที่อยู่ในเวียดนามใต้
คุณเห็นด้วยหรือไม่กับการที่ไทยส่งทหารไปช่วยเวียดนามใต้รบกับกองกำลังของเวียดนามเหนือที่แทรกซึมเข้ามาในเวียดนามใต้ (โลกเสรีเรียกกองกำลังเหล่านี้ด้วยคำว่า “เวียดกง”)
ผมคิดว่าเรื่องที่ไทยส่งทหารเข้าไปในเวียดนามใต้เกิดจากนโยบายของสหรัฐฯ สมัยนั้น LBJ ที่ริเริ่มระดมพันธมิตรต้องการอวดโลกว่า สหรัฐอเมริกาไม่ได้โดดเดี่ยวในการต่อสู้ นี่เป็นเงื่อนไขจากอเมริกัน แน่นอนว่ารัฐบาลเวียดนามใต้ มีอำนาจตัดสินใจว่าจะรับแค่ไหน แต่สำหรับรัฐบาลไทย การส่งทหารมาช่วยรบคือการขยายพื้นที่ปฏิบัติการทางทหารและกิจกรรมทางการทูต เช่นเดียวกับประเทศที่เหลืออีกหกประเทศที่ส่งทหารเข้ามาช่วยเวียดนามใต้รบกับกองกำลังของเวียดนามเหนือ

สำหรับรัฐบาลเวียดนามใต้เวลานั้น พวกเรามองว่าไทยเป็นมิตรประเทศ แม้ว่าจะมีกิจกรรมใต้ดินของทางการเวียดนามเหนือในกรุงเทพฯ ภาคเหนือ และภาคอีสาน แต่เรารู้แน่ว่ารัฐบาลไทยยุคนั้นคือมิตร 
ไทยส่งทหารเข้าไปในเวียดนามใต้

ไทยส่งทหารเข้าไปรบในสมรภูมิเวียดนามทั้งหมดประมาณ ๔ หมื่นคน ภายใต้นามเรียกขานหน่วย “กองพันจงอางศึก” และ “กองพลเสือดำ” โดยถอนตัวออกมาใน ค.ศ. ๑๙๗๒ หลังจากสหรัฐอเมริกาเริ่มนโยบาย “Vietnamization” คือให้ทหารเวียดนามใต้รบด้วยตนเองหลังจากสูญเสียทหารอเมริกันไปจำนวนมาก โดยถอนทหารออกเกือบทั้งหมด เหลือเพียงการสนับสนุนด้านอาวุธและงบประมาณ  ผู้สนใจอ่านเรื่องนี้อย่างละเอียดได้ใน สารคดี ฉบับที่ ๔๑๒ “จงอางศึกเสือดำ ใน ‘สมรภูมิเวียดนาม’”

ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามใต้กับไทยสมัยนั้นเป็นอย่างไร
ก่อนไซ่ง่อนแตก ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศดี ผมมองว่าไทยกังวลกับสถานการณ์ในกัมพูชาและชายแดนด้านตะวันออก ผมจำได้ว่าเคยสนทนากับพันเอก ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยครั้งหนึ่ง รู้สึกได้ว่าไทยจับตามองสถานการณ์ในกัมพูชา เพราะช่วงปลายสงครามเวียดนาม มีการทำรัฐประหารโค่นล้มเจ้าสีหนุ นายพลลอนนอลขึ้นครองอำนาจแทน แต่สถานการณ์ในกัมพูชาก็ยังคงไม่สงบ 

คุณถนัดเป็นคนที่ผมเคารพ ในยุคนั้นเขามีชื่อเสียงมากในวงการการเมืองระดับประเทศ ในฐานะนักการทูตหนุ่ม ผมมองว่าคุณถนัดมีความสามารถมาก

ในช่วงปลายสงคราม เราไม่รู้หรอกว่าไทยเองก็เตรียมการสื่อสารกับทางการเวียดนามเหนือเอาไว้ เรื่องพวกนี้เรายากที่จะรู้ เพราะเป็นกิจการของรัฐบาลที่กรุงเทพฯ 
Image
รัฐบาลเวียดนามใต้ในเวลานั้นมีนโยบายอย่างไรกับผู้อพยพชาวเวียดนามในประเทศไทย
ตอนนั้นผมจำได้ว่าเวียดนามใต้ต้องเผชิญสถานการณ์ทางทหารตลอดเวลา จึงไม่มีนโยบายที่ชัดเจน แต่มีการส่งคนไปคุยกับชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในไทย ผมเองทราบเท่านั้นแต่ไม่ทราบกิจกรรมของสำนักข่าวสารเวียดนามที่มาเปิดทำการในไทย
อยากให้เล่าถึงบทบาทของคุณในช่วงปลายสงครามเวียดนามที่พยายามติดต่อกับรัฐบาลอเมริกันเพื่อของบประมาณช่วยเหลือทางทหาร ก่อนที่กรุงไซ่ง่อนจะแตกในวันที่ ๓๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๕ 
ขณะนั้นผมไม่ได้เป็นเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเวียดนามใต้ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อีกแล้ว (หมดวาระใน ค.ศ. ๑๙๗๒) และใช้ชีวิตอยู่ในวอชิงตัน  ในช่วงก่อนไซ่ง่อนแตกไม่นาน ประมาณ ๓ อาทิตย์ก่อนเสียเมือง ประธานาธิบดีเถี่ยวส่งคนไปที่บ้านผมในไซ่ง่อน มีจดหมายแต่งตั้งผมให้เป็นทูตพิเศษที่สหรัฐฯ  จริง ๆ ผมอยากกลับไปลาออกมากกว่า แต่พวกเขาไม่คุยกับผมเรื่องนี้ ทำให้ผมต้องบินมาคุยกับนักการทูตอเมริกันในกรุงเทพฯ หลายครั้ง  ตอนนั้นผมอายุ ๕๒ ปีแล้ว สับสนมาก รัฐบาลอเมริกันกำลังเปลี่ยนนโยบาย และคนที่เปลี่ยนอาจไม่ใช่คณะรัฐบาล แต่เป็นชาวอเมริกันในสภาคองเกรส (สภาผู้แทนราษฎร) ที่ไม่ยอมอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือทางทหาร ๗๒๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับเวียดนามใต้

ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๗๕ เดือนสุดท้ายของประเทศเวียดนามใต้ ประธานาธิบดีเถี่ยวขอให้ผมไปวอชิงตัน พยายามใช้ศักยภาพทั้งหมดที่มีขอร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติงบประมาณก้อนนี้เพื่อให้รัฐบาลเวียดนามใต้ซื้ออาวุธและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการต่อต้านกองทัพเวียดนามเหนือ แต่ในที่สุดพวกเขาก็ปฏิเสธ ชัดเจนว่าสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนนโยบายและท่าทีต่อสงครามเวียดนามแล้ว 
นี่เป็นเหตุผลที่เวียดนามใต้แพ้ใช่หรือไม่
เมื่อไม่มีงบประมาณมาช่วยเหลือ นี่จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่กรุงไซ่ง่อนแตก การไม่อนุมัติงบประมาณเป็นสัญญาณว่าอเมริกันเปลี่ยนวิธีคิดกับเวียดนามใต้ ไม่สนใจเวียดนามใต้ อีกต่อไป เรื่องนี้ยากมากสำหรับรัฐบาลในกรุงไซ่ง่อน เพราะทางเหนือ จีน โซเวียต สนับสนุนกรุงฮานอย (เวียดนามเหนือ) อย่างเต็มที่ ขณะที่อเมริกันเคยสนับสนุนกรุงไซ่ง่อน (เวียดนามใต้)  คุณลองคิดดูว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปทันที พอไม่มีเงิน ก็ไม่มีน้ำมันเติมเครื่องบินรบ ไม่มีเสบียงสำหรับทหารแนวหน้า อยู่ ๆ อเมริกันก็ถอนการสนับสนุนอย่างสิ้นเชิง เหมือนกับทิ้งพวกเขาไปเฉย ๆ สถานการณ์เลวร้ายมาก

ตอนที่เสียเมืองดานัง (เมืองท่าบริเวณตอนกลางของประเทศเป็นเมืองใหญ่อันดับ ๒ ของเวียดนามใต้สมัยนั้น) ผมอยู่ในวอชิงตัน เพื่อนนักข่าวอเมริกันที่ผมสนิทโทร. มาจากฮ่องกงบอกว่าผมต้องกลับไปบอกรัฐบาลที่ไซ่ง่อน พวกเขารออยู่ต้องไปบอกให้พวกเขาเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงว่าสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนนโยบายแล้ว ผมคุยเรื่องนี้กับภรรยา เธอค้านว่าถ้าผมกลับอาจจะถูกทหารเวียดนามเหนือจับเมื่อยึดเมืองได้ ตอนนั้นผมตัดสินใจกลับ การบอกจากที่ห่างไกลไม่มีวันเข้าใจได้ ตอนนั้นคือ ๑ อาทิตย์ก่อนเสียกรุงไซ่ง่อน 

ชัดเจนแล้วว่าเวียดนามใต้ต้องพึ่งตัวเอง
กรุงไซ่ง่อนแตก

ปลาย ค.ศ. ๑๙๗๔ ต่อเนื่องถึงต้น ค.ศ. ๑๙๗๕ กองกำลังเวียดนามเหนือเริ่มเข้าโจมตีเมืองสำคัญของเวียดนามใต้ เริ่มจากบริเวณ Central Highland ตอนกลางของประเทศ ก่อนจะเริ่มเข้าโจมตีเมืองใหญ่อื่นอย่างต่อเนื่อง การเสียเมืองต่าง ๆ อย่างรวดเร็วก่อให้เกิดคลื่นผู้อพยพจำนวนมาก ประธานาธิบดีเถี่ยวยังสั่งให้ทหารถอนตัวจากภาคเหนือของประเทศลงมาปกป้องบริเวณตอนใต้ ซึ่งกลับกลายเป็นการทำให้กองทัพเวียดนามเหนือรุกได้ง่ายขึ้น  อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ มิได้แสดงท่าทีทางการทหารแต่อย่างใดตลอดห้วงระยะนี้ จนกรุงไซ่ง่อนแตกในวันที่ ๓๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๕ ทำให้เวียดนามเหนือรวมประเทศได้สำเร็จภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์
คุณเอาตัวรอดจากกองทัพเวียดนามเหนือที่มายึดกรุงไซ่ง่อนได้อย่างไร  
ตอนนั้นผมกลับมาแจ้งกับประธานาธิบดีเถี่ยวว่าอเมริกันเปลี่ยนนโยบายแล้ว มันจบแล้วสำหรับอเมริกันในเวียดนามใต้ เราต้องยอมรับความจริง  ความจริงเหตุที่ทำให้แพ้มีมากกว่าเรื่องนี้ แต่การไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนกองทัพคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญ คนเวียดนามใต้ไม่เคยลืมเรื่องนี้

ผมออกจากเวียดนามใต้ในวันที่ ๒๙ เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๕ หนึ่งวันก่อนทัพเวียดนามเหนือจะเข้ามายึดเมืองหลวง เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเวียดนามใต้คนสุดท้ายคือ เกรแฮม แอนเดอร์สัน มาร์ติน (Graham Anderson Martin, ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๓-๑๙๗๕) เป็นเพื่อนของผม เขาเป็นคนดีมาก ในวันที่ ๒๘ เมษายน เขาบอกผมว่าหากต้องการให้ช่วยขอให้บอก ตอนนั้นมีหลายคนยังหวังว่าจะเจรจากับเวียดนามเหนือได้ แต่หลายคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ผมรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว ทูตมาร์ตินจึงขอเครื่องบินของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ลำหนึ่งจากกรุงเทพฯ เป็นเครื่องบินเล็กขนาดเจ็ดที่นั่ง ผมพาคุณแม่และตัวเองขึ้นเครื่องบินมาที่กรุงเทพฯ ก่อนจะนั่งเครื่องบินพาณิชย์กลับกรุงวอชิงตัน
สถานการณ์ที่สถานเอกอัครราชทูตเวียดนามใต้ประจำกรุงวอชิงตันตอนนั้นเป็นอย่างไร
ในยามปรกติ ที่นั่นเป็นที่รวมตัวของคนเวียดนามใต้ หลังพ้นตำแหน่งเอกอัครราชทูตใน ค.ศ. ๑๙๗๒ ผมกลับไปบ้างในฐานะทูตพิเศษของประธานาธิบดีเถี่ยว แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้กลับไปอีกเลย  เท่าที่ทราบคือ ตอนไซ่ง่อนแตก สถานทูตในกรุงวอชิงตันค่อนข้างสับสน เจ้าหน้าที่สถานทูตไม่รู้จะทำอย่างไรกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น พวกเขาออกไปจากสถานทูตทางการอเมริกันเข้ามาควบคุมสถานที่ อาจเตรียมรับมือกับสถานการณ์เมื่อเวียดนามจะมีรัฐบาลเดียวอยู่ที่กรุงฮานอย
Image
ในเมืองไทยมีคำกล่าวทำนองว่า “ต้องส่งทหารไปรบนอกประเทศเพื่อไม่ให้ไฟลามมาถึงบ้าน” เพื่ออธิบายการส่งทหารไทยไปรบในคาบสมุทรเกาหลี หรือกระทั่งเวียดนาม หลังเวียดนามใต้แพ้สงครามใน ค.ศ. ๑๙๗๕ มีคำกล่าวต่อมาว่า เวียดนามใต้ได้สูญเสียประเทศเพื่อให้ชาติอื่นในภูมิภาค
ไม่กลายเป็นคอมมิวนิสต์ คุณเห็นด้วยหรือไม่ 

เป็นการมองเกินจริงไปสักนิด สงครามเวียดนามในมิติหนึ่งเป็นกิจการของคนเวียดนาม สงครามในเวียดนามดำเนินมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว ตั้งแต่สมัยสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ามายึดครองเวียดนาม  ในช่วงปลายสงคราม ค.ศ. ๑๙๔๕ ลุงของผมคือ เจิ่นจ่องกีม (Trần Trọng Kim, ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่าง เมษายน-สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕) ถูกกองทัพญี่ปุ่นที่ยึดอำนาจจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส (รัฐบาลวิชีภายใต้การควบคุมของนาซีเยอรมัน) เชิญตัวมาจากสิงคโปร์ เดินทางผ่านกรุงเทพฯ ก่อนจะไปที่กรุงไซ่ง่อนแล้วไปที่เมืองหลวงเก่าคือเว้ เพื่อเข้าเฝ้าจักรพรรดิบ๋าวได่ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลเอกราชที่สนับสนุนโดยกองทัพญี่ปุ่นอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง  ผมจำได้ว่าคณะรัฐมนตรีส่วนมากเป็นนักวิชาการ พวกเขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ ก่อนที่กองทัพญี่ปุ่นจะแพ้สงครามและขบวนการเวียดมินห์ (พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม) ชิงเข้ายึดอำนาจในวันที่ ๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ตอนนั้นเองที่ลุงพบว่าคอมมิวนิสต์มีการจัดตั้งองค์กรเข้มแข็งมาก  ก่อนที่กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรจะเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น ฝรั่งเศสกลับมาปกครองเวียดนาม และเกิดสงครามอินโดจีนระหว่างฝ่ายเวียดมินห์กับฝรั่งเศส

คุณลุงเป็นคนพิเศษมาก เป็นนักวิชาการ แต่ไม่มีฐานทางการเมือง จนถึงวันนี้ (ค.ศ. ๒๐๑๙) ผมยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าทำไมคุณลุงถึงได้รับการสนับสนุน  ผมเคยไปญี่ปุ่นเพื่อค้นหาข้อมูลที่จะให้คำตอบนี้ แต่ก็ยังหาไม่ได้ และยังมีประเด็นส่วนตัวระหว่างคุณลุงกับ โงดินห์เดียม (Ngô Ðình Diệm, ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของรัฐบาลเวียดนามใต้ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๔-๑๙๕๕ ก่อนจะเป็นประธานาธิบดีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๕-๑๙๖๓) ที่ยังต้องหาคำตอบ เพราะช่วงนั้น โงดินห์เดียม เองก็ได้รับคำเชิญให้จัดตั้งรัฐบาลด้วย แต่เขาปฏิเสธ
มองย้อนกลับไป ตอนนี้คุณมองตอนจบสงครามเวียดนามอย่างไร
ราว ๑ ทศวรรษก่อนไซ่ง่อนจะตกอยู่ในมือของระบอบคอมมิวนิสต์ ผมคือคนที่ต้องติดต่อกับรัฐบาลอเมริกันและนานาชาติ ผมพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุดจนนาทีสุดท้ายก่อนออกจากที่นั่นด้วยเครื่องบินเล็ก ความรู้สึกส่วนตัวในตอนนั้นเศร้ามาก ผมไม่ได้พูดถึงครอบครัว แต่เป็นความรู้สึกต่อสหรัฐอเมริกา

นี่คือบทเรียนสำหรับประเทศเล็ก เมื่อคุณพึ่งพาประเทศอื่น ต้องคิดถึงตัวเองและหาทางออกอื่นไว้ด้วย อย่าพึ่งพิงประเทศอื่น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์  สหรัฐอเมริกาสนับสนุนเวียดนามใต้มาหลายปี แต่ในทันทีจากการตัดสินใจของสภาคองเกรส พวกเขาก็ถอนตัวไป  ประเทศที่ยิ่งใหญ่ทำกับประเทศที่เล็กกว่าเช่นนั้นได้อย่างไร  นี่คือบทเรียน โปรดจำไว้ในใจว่า ในสถานการณ์ปรกติ สองประเทศทำงานด้วยกัน 
มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน แต่คิดไว้ด้วยว่า วันหนึ่งเขาก็อาจถอนตัวด้วยเหตุผลเฉพาะ ทิ้งให้คุณต่อสู้ตามลำพังเมื่อเกิดสถานการณ์ใหม่  คุณต้องพึ่งตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ผมกล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าผมเป็นศัตรูกับคนอเมริกัน ผมเป็นเพื่อนของชาวอเมริกัน แต่เหตุการณ์คือ เราพึ่งพิงรัฐบาลของเพื่อน แต่นโยบายต่างประเทศของรัฐบาล
เพื่อนเรานั้นถูกกำหนดโดยประชาชน ซึ่งมันเปลี่ยนได้
หมายเหตุ : บุ่ยเสี่ยม จากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๐๒๑ บทสัมภาษณ์นี้จึงเป็นบทสัมภาษณ์สุดท้ายที่ท่านทูตให้สัมภาษณ์สื่อเรื่องสงครามเวียดนาม 

นิตยสาร สารคดี ขอแสดงความไว้อาลัย และขอแสดงความเสียใจมายังบุตรหลานของท่านทูตไว้ ณ ที่นี้

ขอขอบคุณ  Cornell University, ผศ. มรกตวงศ์ ภูมิพลับ