Image

สงครามรัสเซีย-ยูเครน
เมื่อสนามการค้า
กลับกลายมาเป็นสนามรบ

เรื่อง : รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

ผมลืมตาดูโลกในปี ๒๕๓๔ ปีเดียวกับที่ประชาชนชาวยูเครนลงประชามติประกาศตัวเป็นอิสรภาพจากรัสเซียภายหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นจุดสิ้นสุด
ของสงครามเย็นระหว่างสองอุดมการณ์ทางการเมือง โดยผู้กำชัยคือกลุ่มประเทศตะวันตกที่เชิดชูค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการค้าเสรี มีสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการกำหนดระเบียบโลก

กระแสโลกาภิวัตน์ฉุดพาประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาหลายพันล้านคนให้หลุดพ้นจากความยากจน  แรงจูงใจทางเศรษฐกิจนั้นหอมหวานถึงขนาดมหาอำนาจของโลกสังคมนิยมอย่างจีนและรัสเซียต่างก็ตบเท้าเข้าสู่องค์การการค้าโลก (World Trade Organization) โอนอ่อนผ่อนตามแนวคิดทุนนิยมและเสรีนิยมของอดีตคู่ขัดแย้งสมัยสงครามเย็น

กว่า ๓ ทศวรรษที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับสนามการค้ามากกว่าสนามรบ

แต่ยุคสมัยดังกล่าวสิ้นสุดลงในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ หลังจากประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย มีคำสั่งดำเนินการ “ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ” ส่งกองกำลังทหารเข้ารุกรานยูเครน โดยมีเป้าหมายเพื่อทำลายกองกำลังทหารและตอบโต้รัฐบาลยูเครนที่ส่งสัญญาณว่าต้องการเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (NATO)

ส่วนประเทศโลกตะวันตกเองก็ไม่อยู่เฉย ตอบโต้รัสเซียทันควันด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าเข้มข้นจนเศรษฐกิจรัสเซียระส่ำระสาย ถึงขั้นที่ประธานาธิบดีปูตินออกมาข่มขู่ว่าพร้อมจะตอบกลับด้วยอาวุธนิวเคลียร์

สงครามรัสเซีย-ยูเครนนับเป็นจุดเริ่มต้นของระเบียบโลกใหม่ที่เหล่ามหาอำนาจกลับมาแบ่งขั้วเลือกข้างตามอุดมการณ์ทางการเมืองอีกครั้ง โดยมีฉากหลังคือความตึงเครียดและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่พร้อมจะปะทุตลอดเวลา พร้อมกับสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ถูกหั่นสะบั้นและไม่มีทางแก้ไขให้กลับมาเป็นเช่นเดิม

Image

Image

ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีมีร์ ปูติน และประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี
ภาพ : 123rf.com

“คว่ำบาตร” อาวุธสำคัญของโลกตะวันตก

เมื่อทหารรัสเซียตบเท้าเข้ารุกรานประเทศยูเครน มาตรการตอบโต้ของมหาอำนาจโลกตะวันตกไม่ใช่การส่งกำลังทหาร
เข้าปะทะ แต่เป็นการประกาศคว่ำบาตร (sanctions) เพื่อใช้ความเสียหายทางเศรษฐกิจกดดันให้รัสเซียยุติปฏิบัติการทางการทหาร วางอาวุธสงคราม แล้วหาทางออกบนโต๊ะเจรจา

มาตรการคว่ำบาตรมีตั้งแต่ในระดับบุคคล เช่น ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน และเหล่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย รวมทั้งมหาเศรษฐีที่มีหลักฐานว่าสนับสนุนรัฐบาลปูติน เช่น โรมัน อับราโมวิช (Roman Abramovich) เจ้าของสโมสรฟุตบอลชื่อดังอย่างเชลซี โดยชาวรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตรนั้นจะถูกห้ามเดินทางเข้าประเทศพันธมิตรโลกตะวันตก พร้อมกับห้ามเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ที่มีอยู่ในประเทศดังกล่าวอีกด้วย

ส่วนในระดับบริษัทก็มีการประกาศคว่ำบาตรรัฐวิสาหกิจ ธนาคารยักษ์ใหญ่ รวมถึงธนาคารกลางของรัสเซีย พร้อมทั้งอายัดทรัพย์สินในต่างประเทศ ปิดประตูการระดมเงินทุนในสกุลยูโรและดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกันก็ตัดสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนเครื่องบิน ไมโครชิป และเซมิคอนดักเตอร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อบั่นทอนพลานุภาพทางการทหารและการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัสเซียในระยะยาว

แต่มาตรการข้างต้นก็ยังไม่ถึงขั้นคอขาดบาดตายหากเทียบกับการตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT (the society for worldwide interbank financial telecommunication) ซึ่งเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของระบบการชำระเงินระหว่างประเทศที่ธนาคารจาก ๒๐๐ ประเทศทั่วโลกเป็นสมาชิก ส่งผลให้ภาคเอกชนของรัสเซียที่แม้จะไม่โดนคว่ำบาตรก็ยากที่จะทำมาค้าขายกับต่างประเทศ เนื่องจากไม่มีระบบชำระเงินรองรับ

อย่างไรก็ดีประเทศส่วนมากยังไม่กล้าแตะต้องเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจรัสเซีย คือสารพัดสินค้าโภคภัณฑ์ แม้แต่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปเองก็ยังต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอย่างไม่มีทางเลือก

แต่การทำธุรกิจก็ไม่ง่ายเหมือนในอดีต เพราะการค้าระหว่างประเทศต้องพึ่งพา “ตัวกลาง” จำนวนมาก ทั้งธนาคารที่ออกตราสารเครดิต (credit letter) ค้ำประกันว่าผู้ขายจะ
ได้เงินจากผู้ซื้ออย่างแน่นอนหากสินค้าถึงที่หมาย บริษัท
รับประกันความเสียหายขณะขนส่งสินค้า และบริษัทโลจิสติกส์ที่ดูแลการขนย้ายสินค้าจากต้นทางถึงปลายทาง ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเพียงหยิบมือที่ยินดีจะให้บริการหากรับทราบว่าธุรกรรมดังกล่าวเกี่ยวพันกับประเทศรัสเซีย

รถถังรัสเซียที่ถูกทำลาย ภาพ : Reuters

พนักงานดับเพลิงพยายามดับไฟในเมืองคาร์คิฟ
ภาพ : Reuters

นอกจากนี้ถึงรัฐบาลโลกตะวันตกจะระบุเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าต้องการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมใดบ้าง แต่บริษัท
ข้ามชาติในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่างก็ทยอยยุติการดำเนินการชั่วคราวในรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่าง
เอ็กซอนโมบิล บีพี และเชลล์ เครือร้านอาหารเครื่องดื่มชื่อดังทั้งสตาร์บัคส์ แมคโดนัลด์ เคเอฟซี พิซซ่าฮัท โค้ก และเป๊ปซี่ อุตสาหกรรมบันเทิงอย่างเน็ตฟลิกซ์ ดิสนีย์ และวอร์เนอร์มีเดีย แบรนด์แฟชันและเฟอร์นิเจอร์ที่ชื่อคุ้นหูอย่างซาร่า เอชแอนด์เอ็ม ยูนิโคล่ และอิเกีย รวมถึงบริษัทจัดการระบบชำระเงินไม่ว่าจะเป็นวีซ่า มาสเตอร์การ์ด อเมริกันเอ็กซ์เพรส และเพย์แพล

รายชื่อบริษัทที่หยุดดำเนินการยังมีอีกยาวเหยียดร่วม ๔๐๐ แห่ง โดยบริษัทเหล่านี้ระบุว่าต้องการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรุกรานยูเครนของรัสเซีย แต่อีกเหตุผลสำคัญก็คงหนีไม่พ้นแรงกดดันจากผู้บริโภค ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง ความเสี่ยงทางกฎหมาย และปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเมือง
ที่พุ่งสูงจนน่ากังวล

มาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซียอย่างรุนแรง สะท้อนจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์มอสโก
ที่ปรับตัวลดลงกว่า ๓๓ เปอร์เซ็นต์ในวันแรกของการรุกรานยูเครน เช่นเดียวกับเงินรูเบิลของรัสเซียที่อ่อนค่าลงกว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

แม้ว่าจะเจ็บหนัก แต่เศรษฐกิจรัสเซียก็ยังไม่ถึงขั้นล่มสลาย เพราะรัฐบาลรัสเซียทราบดีว่าเหตุการณ์เช่นนี้มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต จึงเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือจนได้รับฉายาว่า “เศรษฐกิจป้อมปราการ”

เศรษฐกิจรัสเซียกับฉายา “ป้อมปราการ”

“เศรษฐกิจป้อมปราการ” คือฉายาที่ ทิโมที แอช (Timothy
Ash) นักการเงิน ตั้งให้ประเทศรัสเซียจากการออกแบบเศรษฐกิจให้พร้อมรับมือการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก กล่าวคือการทำให้รัสเซียอยู่ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในความฝันของประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน แนวคิดดังกล่าวถูกผลักดันอย่างเร่งด่วนนับตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นปีที่รัสเซียเผชิญกับกระแสการคว่ำบาตรระลอกแรกหลังจากผนวกพื้นที่ไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย

รัฐบาลรัสเซียไม่ต้องการถูกกดดันด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจ
ของโลกตะวันตกอีกเป็นครั้งที่ ๒ จึงเริ่มก่อร่างสร้างป้อมปราการทางเศรษฐกิจ ทั้งลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันและ
ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มเงินสำรองระหว่างประเทศ จำกัดการก่อหนี้สาธารณะ และลดการนำเข้าด้านเทคโนโลยี พร้อมกับผลักดันอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อผลิตมาทดแทน

นโยบายดังกล่าวนับว่าประสบความสำเร็จพอสมควรภายในระยะเวลาไม่นานนัก สัดส่วนรายได้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซียในปี ๒๕๖๒ ลดลงเหลือเพียง ๙ เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี เมื่อเทียบกับ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ในปี ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นปีแรกที่ปูตินขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดี

รัสเซียยังดำเนินนโยบายทางการคลังและการเงินที่เข้มงวดทำให้มีทุนสำรองระหว่างประเทศมูลค่ากว่า ๖.๔ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่หนี้สาธารณะคิดเป็นเพียง ๑๖ เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเท่านั้น กล่าวได้ว่ามีทั้งอาวุธและเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งพร้อมรับมือภัยคุกคามทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้รัสเซียยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีในบางอุตสาหกรรมสำหรับใช้ในประเทศ ตัวอย่างเช่นระบบชำระเงิน Mir ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดภายในระยะเวลา ๕ ปี โดยปัจจุบันประมวลผลธุรกรรมราวหนึ่งในสี่ของรัสเซีย รวมถึงระบบสื่อสารเพื่อทำธุรกรรมระหว่างประเทศอย่าง SPFS (sistema peredachi finansovykh soobscheniy/system for transfer of financial messages) ซึ่งเปรียบเสมือนระบบ SWIFT ที่พัฒนาโดยธนาคารกลางรัสเซีย ดังนั้นการโดดเดี่ยวรัสเซียออกจาก SWIFT จึงไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดีป้อมปราการที่เร่งก่อสร้างโดยใช้เวลาไม่ถึงทศวรรษย่อมมีช่องโหว่ เศรษฐกิจรัสเซียยังคงต้องพึ่งพาโลกตะวันตกอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ตัวเลขการนำเข้าสินค้าและบริการจากกลุ่มประเทศ G7 ซึ่งประกอบด้วยคู่กรณีของรัสเซียอย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ยังคงสูงถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ อุตสาหกรรมชิปและคอมพิวเตอร์ก็ต้องพึ่งชิ้นส่วนจากสหรัฐอเมริกาทั้งหมด เช่นเดียวกับเงินลงทุนในหุ้นและสินเชื่อมูลค่ามหาศาลที่ส่วนมากเป็นเงินจากกระเป๋าชาวต่างชาติ

Image

การฝึกทหารพลเรือนของยูเครนในเมืองเคียฟ
ภาพ : 123rf.com

สิ่งที่รัสเซียคาดไม่ถึงคือการอายัดสินทรัพย์ของธนาคารกลางรัสเซียในต่างประเทศ เพราะนั่นหมายถึงทุนสำรองระหว่างประเทศที่หวังหยิบมาใช้ในห้วงวิกฤตกว่า ๖๕ เปอร์เซ็นต์
ที่อยู่ในรูปพันธบัตรสกุลดอลลาร์สหรัฐและยูโรมีมูลค่าเท่ากับศูนย์ ส่วน ๓๕ เปอร์เซ็นต์ที่เหลือนั้นเป็นทองคำและเงินหยวนซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ปกป้องค่าเงินรูเบิลได้ ธนาคารกลางรัสเซียจึงไม่เหลือทางเลือกมากนักในการป้องกันค่าเงินของตนเอง โดยประกาศปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก ๙.๕ เปอร์เซ็นต์เป็น ๒๐ เปอร์เซ็นต์ในชั่วข้ามคืน พร้อมทั้งออกกฎเกณฑ์พิเศษให้บริษัทที่ทำการค้าระหว่างประเทศนำเงินสกุลอื่นมาแลกเป็นรูเบิล

แต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจของรัสเซียก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่จัดการได้ ประธานาธิบดีปูตินยังคงสั่งให้เดินหน้าปฏิบัติการทางการทหารที่มีแนวโน้มจะยืดเยื้อยาวนาน ขณะที่โลกตะวันตกก็ค่อย ๆ ทยอยคว่ำบาตรบุคคล บริษัทสินค้า และบริการของรัสเซียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าคนดูข้างสนามอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ จะมองว่าการรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นการก่อสงครามอย่างไร้มนุษยธรรมหรือมีความชอบธรรม เพราะต้นเหตุนั้นเกิดจากการยั่วยุของโลกตะวันตก ผลกระทบทางอ้อมของความขัดแย้งก็เริ่มปรากฏชัดจากราคาสินค้า ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และ
วัตถุดิบบางชนิดที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วจากพิษโควิด-๑๙ สายพันธุ์โอมิครอนให้เลวร้ายลงไปอีก

หญ้าแพรกแหลกลาญ

ดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ที่จัดทำโดยบริษัททอมสันรอยเตอร์ส (Thomson Reuters) ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดราว ๒๖ เปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลาเพียง ๓ เดือนนับจากต้นปี ๒๕๖๕ ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้บริโภคที่เดินทางออกจากบ้านเพิ่มขึ้นหลังมาตรการจำกัดการระบาดของภาครัฐเริ่มผ่อนคลาย ในขณะที่ภาคการผลิตยังไม่ฟื้นกลับมาเต็มที่ แต่สาเหตุสำคัญคือสงครามรัสเซีย-ยูเครนซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ต่อตลาดพลังงาน แร่โลหะ และอาหาร

แม้ว่ารัสเซียจะไม่ได้อยู่ใน ๑๐ อันดับแรกของประเทศที่มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงสุด แต่รัสเซียคือประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญหลายชนิด หลายคนอาจไม่ทราบว่ารัสเซีย
มีมูลค่าการส่งออกก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับ ๑ ของโลก ส่งออกน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ ๒ ของโลก และส่งออกถ่านหินมากเป็นอันดับ ๓ ของโลก โดยคู่ค้าสำคัญคือกลุ่มสหภาพยุโรปที่ต้องพึ่งพารัสเซียด้านความมั่นคงทางพลังงาน 

รัสเซียยังเป็นแหล่งแร่โลหะสำคัญ เช่น แพลเลเดียม แร่หายากที่ใช้ลดมลภาวะในไอเสียรถยนต์ซึ่งมีราคาสูงกว่าทองคำ นิกเกิลสำหรับทำแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงแร่อะลูมิเนียมและทองแดงอีกด้วย

ส่วนในตลาดอาหาร ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างเป็นประเทศผู้ส่งออกสำคัญ โดยเฉพาะข้าวสาลีที่ทั้งสองประเทศผลิตได้คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง ๒๙ เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่ซื้อขายในตลาดโลก อีกทั้งยังติดโผหนึ่งในห้าอันดับแรกของผู้ส่งออกน้ำมันพืชและธัญญาหารหลายชนิด สงครามครั้งนี้จึงสั่นคลอนความมั่นคงทางอาหารในระดับโลกโดยเฉพาะในทวีปตะวันออกกลางและแอฟริกา พร้อมทั้งฉุดพาราคาพืชอาหารอื่น ๆ ให้แพง

Image

ผู้ประท้วงชุมนุมการรุกรานยูเครนของรัสเซียหน้าสถานทูตรัสเซีย ไทม์สแควร์  และวอชิงตันสแควร์ ในนครนิวยอร์ก 
ภาพ : เนตรณรินทร์ ผดุงจิระพันธทิพ

ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่ประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ ๕.๒๘ เปอร์เซ็นต์ นับว่าสูงที่สุดในรอบ ๑๓ ปีและทะลุกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ ๑-๓ เปอร์เซ็นต์ต่อปี นี่คือสัญญาณที่น่ากังวล เพราะเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนักจากพิษการระบาดของโควิด-๑๙  เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ภาคส่งออกของไทยต้องมาเจอกับสงครามที่ฉุดพาเอาเศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ท่ามกลางโควิด-๑๙ สายพันธุ์โอมิครอนที่แผลงฤทธิ์หนักตลอดเดือนมีนาคมจนเศรษฐกิจภายในประเทศเงียบเหงาอีกครั้ง

หากวิกฤตครั้งนี้ยืดเยื้อยาวนาน ประชาชนคนไทยอาจต้องเผชิญกับฝันร้ายที่ข้าวของขึ้นราคา แต่ค่าแรงยังเท่าเดิมเศรษฐกิจซบเซาเซื่องซึม ประกอบกับอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น นักเศรษฐศาสตร์เรียกสถานการณ์เช่นนี้ว่าภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน (stagflation) ซึ่งนับเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่ยากจะแก้ไขด้วยนโยบายการเงินและการคลังของรัฐบาล เพราะหากอัดฉีดเงินเข้าในระบบหรือลดอัตราดอกเบี้ยก็จะยิ่งทำให้เงินเฟ้อรุนแรงขึ้น แต่หากลดการใช้จ่ายหรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ต่างอะไรจากการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้ว เรียกว่าจะเลือกเดินทางไหนก็แย่ไปหมดทุกทาง

ที่สำคัญภาวะดังกล่าวยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อครัวเรือนของผู้มีรายได้น้อย สถิติของกระทรวงพาณิชย์พบว่าค่าใช้จ่ายด้านอาหารและพลังงานนับเป็นสัดส่วนรวมกันสูงถึง ๕๖.๙ เปอร์เซ็นต์ การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและพลังงานอย่างก้าวกระโดดจึงทำให้ครัวเรือนรายได้ต่ำชักหน้าไม่ถึงหลังจนความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างขึ้น

ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงจากความผันผวนในตลาดโภคภัณฑ์ไม่ได้ส่งผลเฉพาะกับประเทศไทย แต่ยังลุกลามไปทุกประเทศ

สงครามครั้งนี้จึงไม่ได้มีแค่ชาวยูเครนที่ต้องทนทุกข์ แต่ประชาชนในประเทศยากไร้และครัวเรือนยากจนทั่วโลกก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากเช่นกัน

โลกใบใหม่ที่ 
“การเมือง” นำ “การค้า”

ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายกำชัยชนะจากสงครามครั้งนี้ แต่เวทีการค้าระหว่างประเทศก็ไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไป

แม้สำนักข่าวหลายแห่งจะนำเสนอว่าประเทศส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมสหประชาชาติเพื่อประณามกรณีที่รัสเซียส่งกำลังทหารเข้ารุกล้ำยูเครน พร้อมทั้งให้ถอนกำลังพลออกในทันที โดยสมาชิกกว่า ๑๔๑ ประเทศจาก ๑๙๓ ประเทศลงมติเห็นชอบ ขณะที่มีเพียง ๓๕ ประเทศงดออกเสียงและ ๕ ประเทศลงมติไม่เห็นชอบ

แต่เมื่อพิจารณาในแง่จำนวนประชากร เราจะเห็นมุมมองที่น่าสนใจว่าประชากรของประเทศกลุ่มที่เห็นชอบและประชากรของประเทศกลุ่มที่งดออกเสียงบวกกับประเทศที่ไม่เห็นชอบมีจำนวนพอฟัดพอเหวี่ยงกัน เนื่องจากประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอย่างจีนและอินเดียเลือกที่จะงดออกเสียง

มาตรการคว่ำบาตรรุนแรงของโลกตะวันตกโดยเฉพาะการใช้ระบบชำระเงินอย่าง SWIFT เพื่อหวังผลทางการเมืองนับว่าเป็นดาบสองคม เพราะการกีดกันดังกล่าวย่อมทำให้หลายประเทศที่คิดว่าตนเองอยู่ใน “กลุ่มเสี่ยง” ที่จะโดนคว่ำบาตร
ลดความสัมพันธ์กับโลกตะวันตกและจับกลุ่มซื้อขายกันเอง โดยนำเศรษฐกิจป้อมปราการของรัสเซียมาเป็นกรณีศึกษา

สถานการณ์ในปัจจุบันทำให้ทั่วโลกต่างจับตาท่าทีของพญามังกรแห่งตะวันออก เพราะจีนเป็นเพียงประเทศเดียวที่มีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำบนเวทีโลกเพื่อคะคานมหาอำนาจตะวันตก

ประเทศจีนในตอนนี้แตกต่างจากสมัยสงครามเย็นอย่างสิ้นเชิง เพราะประเทศจีนไม่ใช่ประเทศที่ยากจนข้นแค้นอีกต่อไป แถมยังมีสายสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปในระดับที่ต้องเกรงใจซึ่งกันและกัน

จีนเดินอยู่บนเส้นทางสู่การเป็นมหาอำนาจมานานนับทศวรรษ ทั้งโครงการแถบและทาง (belt and road initiative) โครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชีย สหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศชายฝั่งทวีปแอฟริกา โดยมุ่งหวังให้เป็นเส้นทางสายไหมใหม่ และในปี ๒๕๕๘ จีนริเริ่มระบบ CIPS (the cross-border interbank payment system) ที่ใช้เงินหยวนชำระราคาเพื่อมาแข่งกับ SWIFT ที่ใช้สกุลดอลลาร์สหรัฐและยูโรเป็นหลัก แม้ว่าปัจจุบันการใช้เงินหยวนชำระธุรกรรมระหว่างประเทศจะคิดเป็น ๓.๒ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่มูลค่าธุรกรรมที่ชำระโดยเงินหยวนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจได้รับแรงส่งสำคัญอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในฐานะระบบชำระเงินทางเลือกเพื่อป้องกันการคว่ำบาตร

นอกจากนี้กลยุทธ์สำคัญของจีนในปัจจุบันคือผลักดันให้ประเทศพึ่งพาตนเองได้ในด้านพลังงาน อาหาร แร่หายาก และเทคโนโลยี  นโยบายดังกล่าวเป็นผลพวงมาจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำให้จีนทราบว่าตนเองยังต้องพึ่งพาทรัพยากร
สำคัญหลายอย่างจากโลกตะวันตกซึ่งพร้อมจะถูกหยิบยกมาใช้ต่อรองทางการเมือง

ถึงปัจจุบันจีนจะยังสงวนท่าทีต่อชาติตะวันตกในกรณีของรัสเซีย แต่ไม่ช้าก็เร็วการกระทบกระทั่งระหว่างมหาอำนาจโลกตะวันตกและตะวันออกก็เป็นสิ่งยากจะหลีกเลี่ยง เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนย่อมเดินหน้าตามนโยบายจีนเดียวผนวกเอาไต้หวันกลับคืนมาเป็นของจีนแผ่นดินใหญ่โดยไม่เลือกวิธีการ

การคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตกในตอนนี้จึงเปรียบเสมือนบทเรียนสำคัญเพื่อออกแบบระบบเศรษฐกิจจีนให้พร้อมรับมือวิกฤตเมื่อถึงวันที่ต้องเผชิญหน้า

สงครามรัสเซีย-ยูเครนจึงเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่ง นับตั้งแต่วันที่ประธานาธิบดีปูตินสั่งทหารเข้ารุกรานยูเครน สนามการค้าทั่วโลกก็กลายสภาพเป็นสนามรบ พร้อมกับเป็นจุดเริ่มต้นศักราชใหม่แห่งความไร้เสถียรภาพทางการเมืองบนเวทีโลก การขับเคี่ยวของสองขั้วอำนาจฝั่งตะวันตกและตะวันออก การแบ่งฟากบนเวทีการค้าระหว่างประเทศ และการก้าวถอยหลังของโลกาภิวัตน์

ส่วนการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของประเทศกำลังพัฒนาขนาดกลางอย่างไทยก็คงไม่ต่างจากการไต่อยู่บนเส้นลวด เพราะเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาคู่ค้าทั้งจากฝั่งโลกตะวันตกและโลกตะวันออก การกระทำที่ชัดเจนว่าเอนเอียงไปทางฝั่งใดฝั่งหนึ่งอาจเป็นการเพิ่มศัตรูมากกว่าเพิ่มมิตร จุดยืนที่พอจะแสดงออกได้คือการยึดตามหลักสิทธิมนุษยชนและยื่นมือช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามกำลัง ในขณะเดียวกันก็ต้องหันกลับมาสร้างฐานที่มั่นทางสังคมและเศรษฐกิจภายในให้แข็งแกร่งเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนจากภายนอกที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

เว็บไซต์
Fromer, J. (2022, March 3). UN votes to condemn Russian invasion of Ukraine, but China again stays silent. Retrieved from South China Morning Post : https://www.scmp.com/news/china/article/3169010/un-votes-condemn-russian-invasion-ukraine-china-again-stays-silent

Ip, G. (2022, February 23). Clash Over Ukraine Drives a
Dagger Into Globalization. Retrieved from The Wall Street Journal : https://www.wsj.com/articles/clash-over-ukraine-drives-a-dagger-into-globalization-11645631285

Jing, S. (2022, February 18). Yuan rising in global payments.
Retrieved from China Daily : https://www.chinadaily.com./cn/a/202202/18/WS620ee3cca310cdd39bc87626.html

Lubin, D. (2022, February 2). Huge impact of ‘fortress economics’ in Russia and China. Retrieved from Chatan
House : https://www.chathamhouse.org/2022/02/huge-impact-fortress-economics-russia-and-china

Ortiz-Ospina, E., & Beltekian, D. (2018, October). Trade
and Globalization. Retrieved from Our World in Data : https://ourworldindata.org/trade-and-globalization

The Economist. (2022, March 12). Can the world cope
without Russia’s huge commodity stash? Retrieved from https://www.economist.com/finance-and-economics/2022/03/12/can-the-world-cope-without-russias-huge-commodity-stash

The Economist. (2022, February 26). The economic consequences
of the war in Ukraine. Retrieved from https://www.economist.com/finance-and-economics/2022/02/26/the-economic-consequences-of-the-war-in-ukraine

The Economist. (2022, March 5). Vladimir Putin’s Fortress Russia
is crumbling. Retrieved from https://www.economist.com/finance-and-economics/2022/03/05/vladimir-putins-fortress-russia-is-crumbling

The Economist. (2022, March 12). War and sanctions have caused 
commodities chaos. Retrieved from https://www.economist.com/leaders/2022/03/12/war-and-sanctions-have-caused-commodities-chaos

The Economist. (2022, March 12). War in Ukraine will cripple global 
food markets. Retrieved from https://www.economist.com/finance-and-economics/2022/03/12/war-in-ukraine-will-cripple-global-food-markets

The Economist. (2022, March 5). Western sanctions on Russia are
like none the world has seen. Retrieved from https://www.economist.com/briefing/2022/03/05/western-sanctions-on-russia-are-like-none-the-world-has-seen

Wang, O. (2021, December 13). Xi Jinping says China
must be ‘self-sufficient’ in energy, food and minerals amid global challenges. Retrieved from https://www.scmp.com