ภาณุ อารี
พลวัตของ Soft Power
ในโลกยุคใหม่
Interview
สัมภาษณ์ : ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
ท่ามกลางสื่อเชิงวัฒนธรรมที่ถูกเรียกว่า soft power ของเกาหลีใต้ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก และรัฐบาลไทยก็เริ่มชูความโดดเด่นของศิลปวัฒนธรรมไทยเพื่อจะนำไปพัฒนาต่อยอดให้แข่งขันได้ไม่ต่างกันนั้น
ภาณุ อารี ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทผู้สร้างหนังรายใหม่ บริษัทเนรมิตรหนัง ฟิล์ม ก็เริ่มเขียนเจาะลึกประเด็นเรื่อง soft power และธุรกิจภาพยนตร์เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ filmclubthailand.com และ workpointtoday.com ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศของบริษัทสหมงคลฟิล์ม จำกัด ตำแหน่งงานที่ต้องค้นคว้าข้อมูล
เพื่อหาวิธีขายหนังในตลาดโลก บวกกับความสนใจส่วนตัวด้านศิลปวัฒนธรรม และเริ่มสนใจประเด็น soft power มากขึ้นจากกรณีความสำเร็จของ ฉลาดเกมส์โกง๑ ที่ไปทำเงินในต่างประเทศโดยเฉพาะจีน และความสำเร็จของหนังเกาหลีอย่าง Parasite๒ ที่สะท้อนถึงความสำคัญของ soft power ในโลกสมัยใหม่ ซึ่งเกิดจากการพัฒนาอย่างเป็นระบบไม่ใช่ความสำเร็จที่อาศัยดวงหรือโชคเพียงชั่วครั้งชั่วคราว
ทำไมช่วงนี้คำว่า soft power ถูกยกมากล่าวถึงมากขึ้นทั้งในสื่อไทยและต่างประเทศ
เมื่อสัก ๑๐ ปีที่แล้วคำนี้อยู่ในบทความวิชาการเป็นส่วนใหญ่ ถ้าค้นอินเทอร์เน็ตมันจะพาเราไปพบบทความที่ตีพิมพ์ในเอกสารวิชาการของมหาวิทยาลัย และจะพูดถึง soft power ในเชิงรัฐศาสตร์ ไม่ค่อยมีใครเชื่อมโยงมาถึงวัฒนธรรมเท่าไร ในสหรัฐอเมริกาเองเวลาเชื่อมโยง soft power ไม่ใช่แค่หนัง แต่รวมถึงวัฒนธรรมบันเทิง ตัวแปรหลักผมเชื่อว่าคือความสำเร็จของ Parasite ที่ทำให้คนเริ่มพูดถึงว่าเป็นเพราะอะไร ตอนนั้นเมืองไทยก็เริ่มมีคนนำคำว่า soft power มาจับความสำเร็จตรงนี้ แล้วเชื่อมโยงไปเรื่องสินค้าทางวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น เพลง ซีรีส์ จริง ๆ ก่อนหน้า Parasite ในแง่ดนตรีวง BTS๓ ก็ดังมาก่อน
ถ้าเทียบกับ propaganda หรือโฆษณาชวนเชื่อ
มันต่างกันอย่างไร
ถ้ามองแก่นแท้ soft power มีความลึกซึ้ง แยบยลกว่าหลายอย่าง ตามนิยามของ Joseph Nye (Joseph S. Nye, Jr.) มันมีทั้งเรื่องนโยบายต่างประเทศ ความช่วยเหลือ รวมไปถึงวัฒนธรรม ขณะที่ propaganda หนึ่ง คือมีความโจ่งแจ้งไม่แนบเนียน สอง คือแอบบีบให้คนที่รับสื่อต้องยอมรับเนื้อหาของ propaganda จะพูดชัดเจน ไม่มีอะไรซ่อน เช่น อยากให้คนทำในสิ่งที่รัฐวางนโยบายไว้ก็พูดออกมาตรง ๆ แต่ soft power มีความแนบเนียน เป็นธรรมชาติกว่า คือเราจะไม่รู้เลยว่าเรากำลังถูกชักจูง มันใช้การแทรกซึม เปลี่ยนพฤติกรรม ที่สำคัญคือดูมีความเป็นระบบกว่า ไม่ใช่แค่หนังเรื่องหนึ่งหรือคอนเทนต์จำนวนหนึ่ง แต่มาหลายรูปแบบ ทั้งแฟชั่น ดนตรี รวมถึงหนัง แล้วมาในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้คนค่อย ๆ เปลี่ยนพฤติกรรมไปตามนโยบายหรืออุดมการณ์ที่รัฐอาจจะวางไว้
เหมือนอิทธิพลจากสื่อของสหรัฐอเมริกา เป็น soft power ที่เราไม่ได้รู้สึกว่าถูกชักจูงหรือเชื่อในทันทีที่ดู
ใช่ครับ ตัวอย่างเช่นหนังคาวบอยที่พูดถึงเรื่องอเมริกันเป็นดินแดนของโอกาส หนังอย่าง How the West Was Won (ค.ศ. ๑๙๖๒) จะเล่าแบบมีชั้นเชิง คนไปบุกเบิกพื้นที่ ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงเหมือนกันหมด หรือใครก็ตามที่พยายามขัดขวางคนที่ไปบุกเบิกก็ถือว่าเป็นศัตรู อย่างตัวละครที่มีอำนาจซึ่งพยายามสกัดกั้นคนตัวเล็ก ๆ ที่พยายามไปตั้งรกราก หนังเหล่านี้ก็เป็นการบอกในตัวว่า สหรัฐอเมริกาเป็นตัวแทนของประเทศประชาธิปไตย เสรีนิยม แล้วสุดท้ายผู้มีอำนาจที่มีอิทธิพลเหล่านี้ก็จะถูกปราบถูกฆ่าในที่สุด นี่เป็นกระบวนการที่แตกต่างจากหนัง propaganda ที่พูดตรงไปตรงมา ซึ่งพอเราดูหนังแบบนี้บ่อย ๆ เราก็จะมีความรู้สึกว่าสหรัฐอเมริกานี่ดีนะ ถ้าเราสังเกตยุคคริสต์ทศวรรษ ๑๙๕๐ คนอพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกาจำนวนมาก เห็นได้เลยว่าสหรัฐอเมริกามีกระบวนการในการใช้ soft power มาตั้งแต่ยังไม่บัญญัติคำนี้
นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ฮอลลีวูดแตกต่างจากโลกสังคมนิยม เขามีกระบวนการผลิตสินค้าอย่างมีชั้นเชิงกว่า ถ้าเป็นหนังโซเวียตที่ผมเคยดูประมาณสักยุคคริสต์ทศวรรษ ๑๙๕๐ เหมือนกัน ทุกอย่างจะไม่แนบเนียน ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการถ่ายทำ หรือการย้ำประเด็นบางอย่าง หรือเรื่องการแต่งกาย ฮอลลีวูดเป็นผู้นำที่มีอิทธิพลว่าในโลกเสรีแต่งกายอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าเป็นอีกซีกโลกหนึ่งก็จะทำไม่ได้ เหมือนบอกเป็นนัยว่าถ้าเราไปยึดถืออุดมการณ์อย่างคอมมิวนิสต์ เราอาจจะไม่ได้สุขสบายหรือได้แต่งกายอย่างนี้ โดยเราไม่รู้ตัว หนังฮอลลีวูด ดนตรี แฟชั่น มันจะค่อย ๆ เปลี่ยนเรา
หนังฮอลลีวูดได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบ้างหรือเปล่า
หน่วยงานหนึ่งที่สนับสนุนค่อนข้างชัดเจนกับหนังบางประเภทคือกองทัพ เช่น หนังสงคราม หนังที่แสดงถึงสหรัฐ-อเมริกาเป็นผู้ปลดปล่อย เช่น Patton (ค.ศ. ๑๙๗๐) หรือ Top Gun (ค.ศ. ๑๙๘๖) กองทัพจะสนับสนุนพวกยุทโธปกรณ์ที่เป็นฉากใหญ่ ๆ หรือให้ถ่ายทำในฐานทัพ เนื้อหาของหนังโปรความเป็นอเมริกันสูง อย่าง Top Gun ศัตรูคือโซเวียต ยุคของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน รัฐน่าจะมีบทบาทในหนังอเมริกันเยอะ ให้ตัวเอกเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรืออดีตเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องกลับไปสวมบทบาทเดิมเพื่อช่วยเหลือคนในโลกที่ ๓ หรือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามของโซเวียต
แต่สหรัฐอเมริกาจะไม่สนับสนุนระบบหนังโดยตรง แล้วก็จะมีการสนับสนุนตามรัฐต่าง ๆ บ้าง กองถ่ายอาจได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี เขามีองค์กรของสตูดิโอต่าง ๆ รวมตัวกันอย่าง MPAA (Motion Picture Association of America) ที่คอยดูเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์หนังของตัวเอง อย่างไทยก็เคยโดนเล่นงาน มีการล็อบบีให้รัฐสภายกเป็นประเด็นสำคัญกลายเป็นนโยบายรัฐให้มาบีบไทยเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ จนช่วงหนึ่งรัฐบาลไทยก็ต้องตื่นตูมกัน
ขณะที่รัฐบาลอย่างฝรั่งเศสหรือเกาหลีใต้จะวางโครงสร้างการสนับสนุนชัดเจน ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
“ผมยังเชื่อว่าปัญหาส่วนหนึ่งของเราคือ freedom of speech ที่สั่งสมมา ทำให้เราไม่กล้าหลุดกรอบ ทำให้คนเก่ง ๆ ทำในกรอบที่ถูกวางเอาไว้ ประเด็นนั้นประเด็นนี้แตะไม่ได้ เราก็จะถูกค่อนแคะตลอดเวลาว่าทำไมเราไปไกลไม่ได้”
ตั้งแต่ช่วงที่คุณทำงานซื้อ-ขายภาพยนตร์เมื่อ ๒๐ ปีก่อน
ได้เห็นว่าเกาหลีใต้เริ่มบุกตลาดแล้วหรือยัง
ผมจำได้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ ที่เริ่มไปซื้อหนังในตลาดหนังเกาหลีใต้จะมีบูทใหญ่ที่คานส์ ซึ่งค่าเช่าพื้นที่แพงมาก รัฐบาลเกาหลีใต้สนับสนุนโดยไปลงทุนเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่แล้วซอยเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ให้บริษัทต่าง ๆ ซึ่งอาจต้องเป็นสมาชิกกับ
หน่วยงานของรัฐได้มีโอกาสจับจองบูท วิธีนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัทขนาดกลางและเล็ก แทนที่จะเสีย ๑๐๐ บาทก็อาจเสียแค่ ๒๐ บาท ผมว่าเป็นการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมมาก ๆ ซึ่งต่อมารัฐบาลไทยก็ทำตาม การที่รัฐไปเปิดพื้นที่ในตลาดที่ใหญ่ มีลูกค้าเดินตลอด ก็เลยทำให้หนังเกาหลีเป็นที่สนใจ และในระหว่างงานก็ยังมีกิจกรรมโปรโมต เช่น ซื้อพื้นที่ในสื่อสิ่งพิมพ์ดัง ๆ อย่าง Screen หรือ Variety ว่าหนังเกาหลีเป็นอย่างไร อยู่ที่บูทไหน ทำให้หนังเกาหลีเป็นที่พูดถึงมากขึ้น หลังจากนั้นเขาก็มีนโยบายส่งเสริมมาตลอด
ถ้าพูดถึงกระบวนการสนับสนุน เกาหลีใต้น่าจะได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสเป็นต้นแบบ คือในรัฐธรรมนูญจะกำหนดเลยว่ารัฐต้องส่งเสริมศิลปะ เพราะเขาถือว่าวัฒนธรรมฝรั่งเศสสามารถเผยแพร่ผ่านศิลปะแขนงต่าง ๆ ได้ รวมถึงภาพยนตร์ ผมเชื่อว่าตอนเกาหลีใต้ตั้ง KOFIC๔ เขาศึกษาจากหลายโมเดล จนสุดท้ายนโยบายการส่งเสริมวัฒนธรรมอยู่ในรัฐธรรมนูญ จนเป็นเหตุผลว่าถึงจะผ่านการเลือกตั้งเปลี่ยนรัฐบาลเปลี่ยนคน แต่นโยบายยังอยู่ เพราะอยู่ในรัฐธรรมนูญ และไม่มีการเปลี่ยน ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ ๒๐๐๐ เป็นต้นมาจึงมีการสนับสนุนมาตลอด
สมัยก่อนคริสต์ทศวรรษ ๒๐๐๐ แทบไม่มีใครรู้จักหนังเกาหลีเลย ทำไมเขาถึงพลิกมาพัฒนาได้ขนาดนี้
จริง ๆ มันเป็นจุดเล็กมาก ๆ คือสมัยประธานาธิบดีคิมแดจุง เขาเซนเซอร์วัฒนธรรมญี่ปุ่นพวกการ์ตูน แต่พบว่าปิดกั้นไม่ได้ ยังไงก็มีการลักลอบเข้ามา แล้ววันหนึ่งมันก็ต้องระเบิด สุดท้ายรัฐบาลก็เปิด แต่เขาก็รู้ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้นและต้องหาทางแก้ เพราะวัฒนธรรมญี่ปุ่นช่วงคริสต์ทศวรรษ ๑๙๘๐-๑๙๙๐ แข็งแรงมาก เกาหลีใต้ได้รับอิทธิพลมาเยอะ อีกส่วนหนึ่งคือ คิมแดจุง เคยกล่าวถึง Jurassic Park (ค.ศ. ๑๙๙๓) ว่าเขาอยากให้อุตสาหกรรมหนังเกาหลีประสบความสำเร็จอย่างหนังฮอลลีวูด แต่โดยเบื้องต้นมาจากการคิดอย่างเป็นระบบว่าถ้าวันหนึ่งวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลมากเราจะแก้อย่างไร ซึ่งวิธีแก้ที่ดีที่สุดคือการทำให้รากฐานของเรามีความแข็งแรง
หลังจากนั้นก็มีการประกาศนโยบายหลายอย่าง ทั้งการส่งเสริม การผลิต รัฐบาลถึงขนาดคุยกับสถาบันการศึกษาให้เพิ่มการเรียนการสอนเรื่องการผลิตสื่อทางวัฒนธรรม หลายคนเวลาพูดถึง soft power อาจจะนึกถึงแค่สื่อภาพยนตร์ หรือซีรีส์ แต่ที่จริงมันเป็นเกือบทุกอย่าง เช่นกราฟิกดีไซน์ด้วย มันมาในจังหวะที่พร้อม ๆ กัน แล้วงบสนับสนุนก็มากขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายน่าจะเป็นหมื่นล้านบาทที่ใช้สนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้
แสดงว่าไม่ได้ลงเงินสนับสนุนเพียงครั้งเดียวจบ แต่เขาพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องด้วย
เขาน่าจะรับอิทธิพลจากฝรั่งเศส คือในการตั้งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นองค์กรอิสระ กุญแจสำคัญคือการคัดเลือกคนทำงานที่เข้าใจในอุตสาหกรรมจริง ๆ การคัดเลือกประธาน CNC๕ ของฝรั่งเศส รัฐอาจเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ทุกคนที่ได้รับการคัดเลือกจะมีประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ บางคนเป็นโปรดิวเซอร์ คนทำหนัง หรือบรรณาธิการนิตยสารภาพยนตร์ เกาหลีใต้ก็เหมือนกัน ประธาน KOFIC อาจจะมีคนของรัฐเข้ามาบ้าง แต่ต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์จริง ๆ อย่างประธาน KOFIC ซึ่งมีการเปลี่ยนตามวาระ คนปัจจุบันเป็นคนทำเทศกาลหนังปูซานมาก่อน มีความเข้าใจเรื่องหนังเป็นอย่างดี วิธีการนี้จึงช่วยให้อุตสาหกรรมโตได้จากความเข้าใจจริง ๆ เช่น นโยบายที่สำคัญอย่างการกำหนดโควตาการฉายหนัง ผมว่าวิธีนี้ถ้าคนไม่อยู่ในอุตสาหกรรมจะไม่เข้าใจ และไม่คิดวิธีนี้ขึ้นมา ช่วงหนึ่งเกาหลีใต้จะกำหนดว่าโรงหนังต้องฉายหนังเกาหลีกี่วัน คือถ้าเป็นข้าราชการคิดก็อาจคิดไม่ออกว่าถ้าไม่กำหนดโควตา หนังฮอลลีวูดก็จะได้ฉายมากกว่า แล้วหนังในประเทศก็จะอยู่ไม่ได้
สื่อ เพลง หนัง ซีรีส์จากเกาหลีใต้ มีจุดเด่นอะไรที่ทำให้ตอนนี้เข้าถึงคนทั่วโลก
ตามการคิดวิเคราะห์ของผมเอง คือเขาปรับนโยบายตามความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งในช่วง ๕-๖ ปีหลังโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาท ทำให้พรมแดนความเป็นชาติหายไป กลายเป็นว่าคนเริ่มมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของโลก มันส่งผลไม่ว่าจะเรื่องการเมืองหรือความเคลื่อนไหวของเด็กรุ่นใหม่หลาย ๆ คน ตอนนี้แทนที่เกาหลีใต้จะยึดกรอบความคิดของ soft power แบบเก่าคือขายความเป็นเกาหลี เขากลับเบลนด์ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของโลก สิ่งที่ย้ำชัดคือตอนที่ประธานาธิบดีมุนแจอิน พาวง BTS ไปที่องค์การสหประชาชาติ๖ เขาพูดประโยคที่เป็นประเด็นสำคัญ คือเกาหลีจะพยายามเป็นส่วนหนึ่งของโลกโดยไม่บอกว่าตัวเองยิ่งใหญ่ แต่เป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลกที่พยายามจะสร้างสิ่งดี ๆ ให้แก่โลกใบนี้ ซึ่งความคิดนี้ทำให้ผลงานแทบทุกประเภทช่วงหลังประสบความสำเร็จ ทั้งดนตรี ซีรีส์ สิ่งที่เกาหลีใต้พยายามทำอยู่คือการยึดพื้นที่ทางวัฒนธรรมโดยอาศัยองค์ประกอบต่าง ๆ ที่โลกกำลังนิยม
ความจริงผลงานดนตรี บีต หรือท่าเต้นของวง BTS ถามว่า
แตกต่างจากเพลงป็อปอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกาหรือในโลกนี้ไหม ผมว่าก็ไม่ได้แตกต่าง แต่เขาช่วงชิงพื้นที่ความโดดเด่นจากคนอื่นได้มากกว่า ส่วนที่มีผลมากคือ publicity คือการลงทุนที่ทำให้วงอยู่ในพื้นที่การจดจำของคนได้มากที่สุด มันไม่เหมือนสัก ๑๐-๒๐ ปีก่อนที่ต้องสร้างหนังหรือวงดนตรีที่โชว์ความเป็นวัฒนธรรมของชาติ ต้องมีบีตเครื่องดนตรีโบราณของเกาหลี หรือเครื่องแต่งกายแบบเกาหลี แต่ BTS ทำเนื้อร้องเป็นเพลงภาษาอังกฤษที่เข้าถึงง่าย ดนตรี ท่าเต้นโดดเด่นทำให้จดจำได้มากกว่า ซึ่งมาจากการที่เขาชิงพื้นที่ความโดดเด่นได้ และนี่คือเทรนด์ต่อไปในอนาคต เกาหลีก็อาจยากลำบากขึ้น เพราะหลายชาติก็ค้นพบว่าวิธีที่จะเอาชนะคือช่วงชิงพื้นที่ให้คนจดจำได้มากที่สุด
สังเกตได้เลยว่าหนังหรือซีรีส์เกาหลีช่วงหลังแทบไม่มีเรื่องไหนพูดเรื่องวัฒนธรรมเกาหลี คนดูอาจไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าวัฒนธรรมเกาหลีคืออะไร แต่มันช่วงชิงพื้นที่ในโลกวัฒนธรรมปัจจุบันได้ คือการพูดในประเด็นที่โลกกำลังรู้สึก เช่น Parasite พูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่มันโดดเด่นกว่าเรื่องอื่น ๆ คือกระบวนการสร้างสรรค์ของเขาไปได้ไกลกว่า ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องที่ผสมผสานสามแนวทางเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งดรามา ทริลเลอร์ ตลก ทั้งที่ประเด็นความเหลื่อมล้ำถูกพูดในหนังเป็นพันเรื่อง ปีนั้นก็มีหนังที่พูดประเด็นเดียวกันอย่าง Joker (ค.ศ. ๒๐๑๙) แต่ Parasite ไปได้ไกลกว่า
soft power ของเกาหลีเป็นการตีความใหม่ แทนที่จะเผยแพร่อุดมการณ์ของรัฐ แต่เป็นการสร้างแบรนด์ของชาติมากกว่า ต่อไปคำว่า K-series อาจกลายเป็นตระกูลหนึ่ง
ในการผลิตละคร เป้าหมายของเขาไม่ได้อยู่ที่การเผยแพร่วัฒนธรรม แต่เผยแพร่การเป็นแบรนด์ เขามองไปไกลถึงขนาดนั้น สิ่งที่ทุ่มเทและได้ผลสอดคล้องกับโลกปัจจุบัน การจ่ายเงินเพื่อไปปรากฏตัวในไทม์สแควร์ของ BTS หรือไปปรากฏตัวในอีเวนต์สำคัญของโลกอย่างเทศกาล Coachella ซึ่งไม่ใช่แค่คุณดังก็ไปได้
เวลารัฐบาลไทยยกความสำเร็จของ soft power
ยังยกงานอย่างซีรีส์ แดจังกึม๗ โดยมองว่าเป็นการ
ส่งเสริมวัฒนธรรมเกาหลี ตรงนี้ยังใช้ได้อยู่ไหม
ผมคิดว่าคนทำซีรีส์เกาหลีไม่ได้จดจำเปลือกแบบนั้น แต่หนัง ซีรีส์ หรือเพลงต้อง touch คน ทำให้คนดูเกิดประสบการณ์ร่วมกับอะไรบางอย่าง สิ่งที่เขาประสบความสำเร็จคือการเปลี่ยนจากการพูดภาษาตัวเองไปพูดภาษาโลก อย่าง Squid Game จะเห็นได้ชัด เป็นการตอกย้ำเรื่องความเหลื่อมล้ำที่คนทั่วโลกกำลังรู้สึก ซึ่งในเรื่องก็แทบไม่มีอะไรที่เป็นวัฒนธรรมเกาหลี ยกเว้นขนมบางอย่างที่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญ แต่เป็นผลพลอยได้มากกว่า หรืออย่างกรณี Parasite ฉากกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจาปากูรี ปรากฏจริง ๆ ไม่ถึงนาทีด้วยซ้ำ แต่ที่ทำให้มันโดดเด่นคือจังหวะ การตัดต่อในช่วงเวลาสำคัญ แต่ถามว่าเป็นสาระสำคัญจนคนลืมประเด็นหลักของเรื่องไหม ก็ไม่ มันเป็นแค่ผลพลอยได้
แต่รัฐไทยคิดตรงกันข้าม เรามองผลพลอยได้เป็นผลประโยชน์หลัก ว่าถ้าทำหนังที่จะชวนให้คนมากินอาหารไทยก็ต้องเป็นหนังที่พูดถึงอาหารไทยตลอดเรื่อง หรืออยากให้รู้ซึ้งถึงวัฒนธรรมก็ต้องใส่ความเป็นไทยมากขึ้น ซึ่งผมมองว่าคนไม่ได้สนใจประเด็นนั้นแล้ว คือถ้าเขาอยากจะเสพอะไรบางอย่าง มันก็ควรพูดในสิ่งที่เขากำลังรู้สึกอยู่ บ้านเรามีปัญหาตรงนี้เลยไม่ประสบความสำเร็จ และไปไม่ได้ไกลกว่านี้ ผมว่าน่าเศร้านะครับ เพราะสมัยที่หนังเราประสบความสำเร็จอย่างช่วง องค์บาก (ค.ศ. ๒๐๐๓) ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (ค.ศ. ๒๐๐๔) เกิดจากหนังพาตัวเองไปสู่จุดนั้นโดยรัฐไม่ได้สนับสนุน แต่พอรัฐมาสร้างกรอบ พยายามดีไซน์ว่าจะโปรโมตอย่างไร กลายเป็นว่าไม่ได้ช่วยเท่าไร หรืออย่างกรณี ฉลาดเกมส์โกง รัฐก็ไม่ได้เกี่ยวข้อง มันเลยกลายเป็นเรื่อง irony ซึ่งถ้าลองวิเคราะห์หนังหรือเพลงไทยที่ไปดังในเมืองนอก จะเกิดจากความโดดเด่นของตัวมันเองที่มีคนสนใจมากกว่าเพราะรัฐส่งเสริม เช่น เพลงสมัยก่อนหลาย ๆ เพลง อย่างเพลงของอัสนี-วสันต์ที่ไปดังในฮ่องกงก็ไปด้วยตัวมันเอง
ประเด็นการส่งเสริมวัฒนธรรมตั้งแต่อดีต รัฐบาลไทยก็ยกความสำเร็จของเกาหลีใต้มาพูด
เป็นต้นแบบร่วม ๒๐ ปีแล้ว แต่เรากลับไม่สามารถสร้างความสำเร็จแบบเขาได้เลย
ถามว่าเกาหลีใต้เคยคิดแบบที่เรากำลังทำอยู่ไหม ก็เคย สังเกตว่าเวลากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดงาน เขาจะโชว์วัฒนธรรม แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว เขาแทบไม่ได้โชว์ความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง เขาพยายามพูดอะไรที่ร่วมสมัย เราพูดถึงเกาหลีใต้มา ๒๐ ปีในคอนเซปต์เดิม ขณะที่หน่วยงานรัฐของเกาหลีใต้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ สอดรับกับกระแสของโลก จนปัจจุบันเขาไม่สนใจแล้วว่าจะต้องขายความเป็นวัฒนธรรมเกาหลี แต่จะทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ พอประสบความสำเร็จมาก ๆ ก็นำรายได้กลับมา ปัจจุบันรายได้ของอุตสาหกรรมบันเทิงเพิ่ม GDP ของเกาหลีใต้อย่างมีนัยสำคัญ ของเรายังแค่นิดเดียว
ย้อนกลับไปสมัยที่หนังไทยประสบความสำเร็จด้วยตนเอง ทำไมเราถึงไม่สามารถสานต่อสิ่งเหล่านั้นได้
เรามีปัญหาคือทุกอย่างเป็นระบบที่ไม่ได้ถูกตั้งใจสร้างขึ้นมา ตอนนั้นมีนักทำหนังเลือดใหม่ ๆ และคนทำหนังที่ถูกลืมแล้วกลับมา พยายามดีไซน์ในสิ่งที่ยังไม่มี เช่น ปรัชญา (ปรัชญา ปิ่นแก้ว-ผู้กำกับฯ องค์บาก) ทำหนังแอ็กชัน บรรจง
(บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับฯ ร่วม ชัตเตอร์ฯ) ดีไซน์โครงสร้างหนังผีใหม่ แต่ปัญหาบ้านเราคือเราย้ำรอยความสำเร็จมากเกินไป หลังจาก องค์บาก ก็เกิดหนังแนวนี้อีกเรื่อย ๆ ถ้าใครอยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิงโลกจะค้นพบว่ามันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ใช่แค่เนื้อหานะ แต่รวมถึงผู้สร้างสรรค์หน้าใหม่ ๆ เราเคยเฟื่องฟูช่วงกลางยุคปี ๒๕๔๐ ถึงกลางยุค ๒๕๕๐ หลังจากนั้นก็มีชาติอื่นที่โดดเด่นขึ้นมาอย่างอินโดนีเซียที่ทำหนังแบบเดียวกันแล้วไปได้ไกล คือขณะที่เรามีคลื่นลูกใหม่ขึ้นมา เราไม่ได้ถือโอกาสสร้างคลื่นลูกใหม่ของเราด้วย เรายังย้ำรอยความสำเร็จเดิม ๆ กลายเป็นว่าลูกค้าซึ่งเคยสนใจหนังของเรา แต่พอต่อมาเห็นของอีกชาติแล้วน่าตื่นเต้นกว่า เขาก็เปลี่ยนไปตรงนั้น โดยเราไม่ได้ปรับตัว
"บ้านเรามีศักยภาพนะ เราเป็นประเทศที่มีคนมีความสามารถเกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งคนทำหนัง คนเขียนบท แล้วเราก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงในเชิงมหภาคได้ตลอดเวลา"
คุณเคยเสนอไว้ว่าเราไม่ควรยกกรณีความสำเร็จเกาหลีใต้อย่างเดียว เพราะอะไร
เรายึดกรอบของเกาหลีเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว แต่มันยังใช้ไม่ได้ สิ่งที่อาจจะง่ายสุดคือเราควรหันมามองประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่ก็พยายามมีหน่วยงานรัฐตั้งเป็นองค์กรกึ่งอิสระ สนับสนุนการเงินโดยรัฐไม่ได้เข้ามายุ่ง และใช้คนที่ถูกต้องบริหารองค์กร คือยึดแนวทางแบบเดียวกับเกาหลีเหมือนกันแล้วประสบความสำเร็จ วิธีนี้อาจทำให้เรารู้สึกว่าจะอยู่อย่างนี้ต่อไปไม่ได้ ต้องแข่งขันกับตัวเองว่าขนาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ที่ไม่ได้โดดเด่น แต่ทำไมช่วงหลังเขาขึ้นมาได้ แต่ถ้าเราไปมองเกาหลีใต้ว่าเขาไปไกล เราอาจรู้สึกว่าได้ครึ่งหนึ่งของเขาก็โอเคแล้ว บางครั้งการมองประเทศที่ประสบความสำเร็จสูงสุดขนาดนั้นอาจทำให้เราไม่ได้เกิดความทะเยอทะยานมาก แต่ถ้ามองเพื่อนบ้านที่เราเคยนำหน้าเขา แต่ตอนนี้เขาเริ่มไปได้ไกล เราก็ต้องพัฒนาตนเองให้ทันเขาหรือก้าวไปไกลกว่า
ความเห็นกับประเด็นโซเชียลเน็ตเวิร์ก อย่างบริการสตรีมมิง Netflix ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเหมือนกัน แม้แต่กับฮอลลีวูดในตอนนี้
สตรีมมิงเปลี่ยนพฤติกรรมหลายอย่าง ซึ่งมันมาเพราะโควิด-๑๙ ด้วย คือก่อนหน้านั้นสตรีมมิงเองก็เริ่มแกว่ง ๆ ข่าวที่ดังมากคือเน็ตฟลิกซ์เกือบล้มละลาย เพราะกู้เงินมาเยอะ ช่วงนั้นสตูดิโอเองก็ผลิตหนังที่ดึงคนกลับเข้าโรงได้เยอะ แต่พอเกิดโควิด-๑๙ โมเมนตัมเปลี่ยนอย่างรุนแรง ว่ากันว่าถ้าตอนนั้นเน็ตฟลิกซ์ล้มจะกลายเป็นโดมิโนเหมือนกัน เพราะแพลตฟอร์มต่าง ๆ ยึดแนวทางเหมือนกัน แต่ก่อนบางคนมองสตรีมมิงเหยียด ๆ แบบตลาดวิดีโอที่เหมาะกับหนังซึ่งเช่ามาดู แต่กลายเป็นว่าตอนนี้สตูดิโอก็ต้องเปลี่ยนตาม วิธีการผลิตหนังที่ลงทุนเยอะไปอยู่ในช่องทางสตรีมมิง ทำให้หนังที่เข้าโรงก็ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะถ้าไม่สร้างความพิเศษที่แยกจากสตรีมมิงก็จะขายไม่ได้
การมาแรงของบริการสตรีมมิงจะมีส่วนเปลี่ยนแนวคิดสื่อ soft power อื่น ๆ อีกไหม
มันจะมีผลในแง่การกำหนดเทรนด์ ที่คนผลิตคอนเทนต์ต้องตามให้ทัน ปัจจุบันการสร้าง soft power ของเกาหลีใต้ ไม่ใช่แค่การผลิตคอนเทนต์ แต่รวมถึงการรีเสิร์ช ค้นคว้า ธุรกิจบันเทิงมีความท้าทายจากความเร็วของอินเทอร์เน็ตซึ่งเปลี่ยนแปลงเทรนด์อย่างรวดเร็วด้วย ซีรีส์อย่าง Squid Game อาจดังตอนนี้ แต่อีก ๒ เดือนอาจมีอะไรที่ดังกว่า ตัวชี้วัดว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ใครจะเป็นผู้ยึดครองพื้นที่ได้คือคุณต้องก้าวตามเทรนด์ หรือมองออกว่าหลังจากนี้อะไรจะมา ซึ่งผมคิดว่าทุกอย่างอาจจะอ้างอิงในเชิงวิทยาศาสตร์อย่างอัลกอริทึมที่วิเคราะห์ว่าตอนนี้คนนิยม Squid Game แล้วต่อไปแนวไหนที่กำลังจะมา เกาหลีใต้เขาก็ต้องมองตรงนี้ คือแทนที่จะมีหน่วยงานผลิตคอนเทนต์อย่างเดียว ก็ต้องมีหน่วยงานที่วิเคราะห์ข้อมูลหลาย ๆ อย่างด้วย ทำให้เกาหลีใต้ก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ อย่างเรื่อง metaverse เขาก็เป็นประเทศแรก ๆ ที่เริ่มวางเป็นนโยบายสำคัญที่จะพัฒนาทั้งประเทศ ซึ่งน่าจะรวมถึงอุตสาหกรรมบันเทิงด้วยเช่นกัน
ปัญหาที่คนผลิตสื่อบ้านเราเรียกร้องเสมอ แต่คนจำนวนมากไม่ค่อยเข้าใจมากนัก คือการลดหรือเลิกการเซนเซอร์เนื้อหา คุณมองประเด็นนี้อย่างไร
ผมขอใช้คำหนึ่งแทนว่า freedom of speech ซึ่งไม่ได้มาจากรัฐกำหนดอย่างเดียว มันมาตั้งแต่เราเกิด ถูกสั่งสอนว่าอันนี้ทำไม่ได้อันนั้นทำไม่ได้ ไม่ควรจะคิดอะไรไปไกลขนาดนั้น การปิดกั้นตั้งแต่เด็กจนพอเราโตขึ้นมีผลให้เกิดกระบวนการที่เรียกว่า self-censorship ซึ่งวงการหนังมีเยอะ เกิดตั้งแต่เราจะคิดโปรเจกต์ขึ้นมา อย่างกรณีนาคปรก๘ เราก็อาจไม่ทำเพราะการเซนเซอร์ตัวเองเป็นกระบวนการสั่งสมตั้งแต่ต้น ผมว่าเราเป็นชาติที่มีอำนาจเข้ามาคุมตั้งแต่เกิด แล้วเราก็จะไม่ค่อยกล้าคิดอะไรที่ฉีกออกไป เพราะคิดว่าทำไปคนก็ไม่ดูหรอก นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนดูสงสัยว่าเซนเซอร์แล้วจะเป็นอะไรกันหนักหนา เราก็อยู่กับมันมาตลอด ผมว่านี่คือปัญหาสำคัญ เพราะมันแทรกซึมเข้าไปในยีนของเราแล้ว บางอย่างไม่ควรเล่านะ ไม่ควรแตะนะ ทำไปเดี๋ยวมีปัญหา อย่าทำดีกว่า เป็นปัญหาที่เกิดทุกค่ายหนังไม่ว่าจะค่ายใหญ่ ๆ อย่าง GDH หรือสหมงคลฟิล์ม มันเลยไม่ได้งานที่ครีเอทีฟจริง ๆ
ถ้าจะเปรียบเทียบกับประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันเริ่มทำตลาดวงกว้างทั้งหนัง ซีรีส์ เพลง รวมถึงแอปพลิเคชันสตรีมมิงต่าง ๆ ประสบความสำเร็จในวงกว้าง เขาก็เซนเซอร์เนื้อหาเช่นกัน
ผมคิดว่าจีนยังใช้ propaganda อยู่ คือค่านิยมหลายอย่างถูกกำหนดว่าจะต้องอยู่ในหนัง อยู่ในคอนเทนต์ เพียงแต่สิ่งที่เขาพยายามจะทำคือสร้างความแนบเนียน และเน้นปริมาณ หนังหลายเรื่องยังมีค่านิยมแบบขงจื๊อ ซีรีส์ยังพูดเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว ลูกต้องเคารพแม่ แต่ก็กลายเป็นปัญหาของเขาเอง จะเห็นได้ชัดเลยว่ามันโตยาก อย่างล่าสุดหนัง The Battle at Lake Changjin๙ ที่เขายกว่าคือหนังทำรายได้สูงสุดในโลก ก่อนจะมี Spider-Man : No Way Home (ค.ศ. ๒๐๒๑) แต่ถ้าไปดูตัวเลข ๙๕ เปอร์เซ็นต์ คือเป็นรายได้ในจีน ส่วนตลาดต่างประเทศขายไม่ได้ หรืออย่าง Eight Hundred๑๐ ในเมืองไทยรายได้ก็น้อย คนดูก็จะขำบางซีนที่ heroic มาก ๆ อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ soft power ของจีนสู้เกาหลีใต้ไม่ได้ เพราะเขามองคำว่า soft power อีกแบบหนึ่ง คนทำหนังจีนก็ต้องเซนเซอร์ตัวเองต้องทำหนังที่สอดรับกับอุดมการณ์รัฐ แต่ไม่เข้ากับยุคสมัยที่คนอาจไม่รู้สึกแบบนั้นอีกแล้ว
ช่วงหลังที่คนเริ่มนิยมการดูผ่านสตรีมมิง ทำให้ละครไทยหรือหนังไทยถูกเปรียบเทียบและวิจารณ์ถึงคุณภาพอย่างมาก คิดว่าปัจจุบันคนทำงานสื่อด้านนี้ของเรามีศักยภาพพอไหม
บ้านเรามีศักยภาพนะ เราเป็นประเทศที่มีคนมีความสามารถเกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งคนทำหนัง คนเขียนบท แล้วเราก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงในเชิงมหภาคได้ตลอดเวลา เช่น ถ้าเราอยากจะตั้งองค์กรเพื่อสนับสนุนก็ทำได้ตลอดเวลา ซึ่งตรงข้ามกับหลายประเทศที่ขาดคนเก่ง ๆ เช่นสิงคโปร์ ต้องไปเอาคนนอกมาทำ แล้วเอาชื่อประเทศพ่วงไปด้วยจากการสนับสนุนทุน ผมยังเชื่อว่าปัญหาส่วนหนึ่งของเราคือ freedom of speech ที่สั่งสมมา ทำให้เราไม่กล้าหลุดกรอบ ทำให้คนเก่ง ๆ ทำในกรอบที่ถูกวางเอาไว้ ประเด็นนั้นประเด็นนี้แตะไม่ได้ เราก็จะถูกค่อนแคะตลอดเวลาว่าทำไมเราไปไกลไม่ได้
อีกส่วนคือโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ทำลายพรมแดนทางกายภาพ ทำให้คนได้เห็นอะไรมากขึ้น การถูกเปรียบเทียบทำให้หนังไทยต้องโดนโจมตีบ่อย ๆ ว่าเราไม่ไปไหนเลย ถ้าสังเกตซีรีส์ทางสตรีมมิงหลายเรื่องซึ่งไม่ได้ถูกควบคุมจะถูกพูดถึงในแง่บวก เพราะสามารถนำเสนอได้อย่างเต็มที่กว่าซีรีส์ในทีวีซึ่งยังควบคุมโดยระบบการจัดเรตติง
สตรีมมิงทำให้คนมี freedom of speech มากกว่าระบบปัจจุบัน ซึ่งถ้าเราแก้ปัญหาตรงนี้ได้ เขาสามารถพูดอะไรได้อย่างเต็มที่ สุดท้ายคนดูจะเป็นคนตัดสิน สมมุติเราทำหนังวิพากษ์สถาบันศาสนา ถ้าทำจนข้ามเส้นความรู้สึกคนดู สุดท้ายคนดูก็จะตอบโต้ด้วยการไม่ดู หรือหนังที่นำเสนอความรุนแรงจนเกินขอบเขต คนดูก็จะรับไม่ได้ ผลก็จะตกอยู่ที่คนทำเรื่องต่อไป แต่ถ้าเราปิดกั้น แทนที่จะได้มีโอกาสเห็นงานดี ๆ เรากลับเซนเซอร์คุมกำเนิดตั้งแต่แรกไปแล้ว
เรื่องย้อนแย้งอย่างหนึ่งของสื่อบ้านเราคือ หนังหรือละครไทยที่เน้นมุกตลก ฉากตบตี ซึ่งคนวิจารณ์ว่าล้าสมัย แต่กลับทำรายได้หรือมีเรตติงดี
ส่วนหนึ่งคือเรื่องทัศนคติ มันสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของเราซึ่งอิงกับสภาพทางเศรษฐกิจ เมื่อก่อนหนังเป็นมหรสพราคาไม่แพง แต่ปัจจุบันแพงทำให้คนเลือก นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ภาพลักษณ์หนังไทยติดลบตั้งแต่ต้น คือถ้าเขามีเงิน ๒๕๐ บาทแล้วมีสิทธิ์เลือกดูหนังไม่กี่เรื่องในเดือนหนึ่ง เขาก็ต้องคิดตามหลักเศรษฐศาสตร์ว่าอะไรที่ลงทุนไปแล้วคุ้มค่าสุด คำตอบส่วนใหญ่ก็เป็นหนังจากต่างประเทศซึ่งบางครั้งคุณภาพเรื่องแย่กว่าก็มี แต่มีการลงทุน มีสเปเชียลเอฟเฟกต์มากกว่า เป็นปัญหาแบบเดียวกับที่เกาหลีใต้เจอในช่วงต้น ๆ ที่พยายามจะเปลี่ยนวงการ หนังเกาหลีใต้ก็เคยโดนดูถูกเหมือนกัน ซึ่งวิธีการเปลี่ยนภาพลักษณ์ต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการคิดเลือกเรื่องและผลิต ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นเพียงแค่ปีสองปี
ช่วงกลางยุค ๒๕๔๐ ถึงกลางยุค ๒๕๕๐ ทุกอย่างเป็นระบบอย่างไม่น่าเชื่อ เรามีหนังที่ดูยากมาก ๆ อย่างหนังของเจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) เรามีหนังตลกมาก ๆ อย่างหนังของหม่ำ (เพ็ชรทาย วงศ์คำเหลา) มีหนังผีคุณภาพมาก ๆ อย่างงานของบรรจง ยุคนั้นมีหนังเกือบทุกแนวในตลาดแล้วหลายเรื่องรายได้เกิน ๑๐๐ ล้าน บางปีมีหนังเกิน ๑๐๐ ล้านมากกว่า ๑๐ เรื่อง ซึ่งเกิดจากคนมีศรัทธา รู้สึกว่าภาพลักษณ์ของหนังดี คนก็อยากไปดู
ปัจจุบันเราไม่เห็นภาพนั้นเกิดขึ้น เราถูกมองว่าทำอะไรซ้ำซาก ละครทีวีก็มีไม่กี่แนว พอมีละครแหวกแนวอย่าง วันทอง (ค.ศ. ๒๐๒๐) ที่เรตติงก็สูง ละครก็มีคุณภาพ แต่สุดท้ายกลับมาเหมือนเดิม มีแค่ ฉลาดเกมส์โกง เรื่องเดียวแล้วหายไป คือการเปลี่ยนแปลงต้องเปลี่ยนทั้งระบบ บางอย่างอาจได้กำไรน้อยลง แต่ก็ต้องลองทำ สิ่งนี้ไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้น แต่เราพลาดเองที่ไม่สามารถรักษาความคงที่ได้ต่อเนื่อง
ตอนนี้ทำอย่างไรก็ได้ให้ทุกวงการในธุรกิจบันเทิงต้องเปลี่ยนภาพลักษณ์
ถ้ายกกรณี soft power ในประเทศที่เน้นเป้าหมายเฉพาะภูมิภาค เช่น งานของกลุ่มไทบ้าน หรือคนทำเพลงอีสาน คิดว่าจะผลักดันความสำเร็จมากกว่านี้ได้ไหม
มันอาจประสบความสำเร็จอยู่ช่วงหนึ่ง แต่สังเกตว่าหลัง ๆ กระแสเริ่มลดลง ไม่ได้เปรี้ยงปร้างเหมือนช่วงแรก ส่วนหนึ่งผมว่ามาจากพฤติกรรมคนเปลี่ยน คนต่างจังหวัดก็เปลี่ยนแปลงตามวัฒนธรรมโลก สมัยก่อนคนกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดจะมีแนวทางคนละแบบ หนังที่ทำรายได้ไม่ดีในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดอาจทำเงินถล่มทลายก็ได้ แต่ตอนนี้ความเป็นเมืองกระจายออกไปในต่างจังหวัด รสนิยมก็อาจเป็นแบบเดียวกับคนเมือง คนเมืองก็รู้สึกแบบเดียวกับคนในโลกนี้ พอไม่มีพรมแดนว่านี่คือโลก กรุงเทพฯ ต่างจังหวัด ทำให้เทรนด์ไปในแบบเดียวกัน ตอนนี้อะไรกำลังมาคนทั้งโลกก็รู้สึกเหมือนกันหมด มันเริ่มทำลายความเป็นท้องถิ่นนิยม ไม่เหมือนสมัย ๕-๖ ปีก่อนที่มีหนังอย่าง เทริด (ค.ศ. ๒๐๑๖) ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในภาคใต้ แต่วันนี้เราไม่ค่อยได้ยินปรากฏการณ์แบบนี้สักเท่าไร
soft power ยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและผลักดันเป็นวาระแห่งชาติไหม
รัฐควรต้องมาสนับสนุนเรื่องงบประมาณ เอกชนลำบากถ้าสู้ด้วยตัวเอง สิ่งที่รัฐควรช่วยคือการสร้างสาธารณูปโภคที่ดีให้กับวงการ มากกว่าจะมากำหนดนโยบาย หรือมากำหนดว่าถ้าอยากได้รับการสนับสนุนจากรัฐต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ได้ผล รัฐควรจะต้องเปิดกว้าง มีหน้าที่ส่งเสริมมากกว่าควบคุม ให้ทุกคนทำอะไรก็ได้เหมือนอย่างเกาหลีใต้
ที่รัฐควบคุมน้อยมาก แทบจะไม่มีเลยด้วยซ้ำ ถ้ามีอะไรที่ยังขาดอยู่ก็เติม
อนาคตตัวชี้วัดสำคัญที่จะทำให้เรายึดพื้นที่ทางวัฒนธรรมของโลกได้ อยู่ที่กระบวนการซึ่งทำให้เรามีตัวตนในโลกใบนี้ คือ publicity สร้างการตระหนักรับรู้ว่าเราอยู่ตรงนั้น เราโดดเด่นอยู่ การลงทุนเรื่องนี้เอกชนไม่มีเงินพอ รัฐต้องส่งเสริมให้โปรดักต์ทางวัฒนธรรมของเราอยู่ในพื้นที่ของความสนใจนานที่สุด โดดเด่นที่สุด ไม่ใช่แค่ความสามารถของศิลปินอย่างเดียว ไม่ได้อยู่ที่ความดีงามของหนังอย่างเดียว แต่อยู่ที่การลงทุน และอีกสิ่งที่สำคัญที่รัฐช่วยได้ เป็นคำที่พูดกันเยอะทุกวงการ คือคำว่า ecosystem การสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดี อาจรวมไปถึงนโยบายหลายอย่าง เพราะสภาวะแวดล้อมที่ดีต้องทำให้คนสร้างสรรค์งานมีอิสระในการคิด และปล่อยให้เนื้องานเป็นตัวตัดสิน ถ้างานดีคนก็จะสนับสนุน แล้วก็ทำให้งานอยู่ได้
กล่าวโดยสรุป ผมว่าทุกวงการ เพลง หนัง ละคร ฯลฯ ต้องการเงินสนับสนุนจากรัฐ แต่เป็นเงินที่ใช้ส่งเสริมมากกว่าควบคุม
เชิงอรรถ
๑. ฉลาดเกมส์โกง ภาพยนตร์ไทยปี ๒๕๖๐ ผลงานของ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ว่าด้วยการทุจริตในการสอบของนักเรียนมัธยมฯ ปลายที่ประสบความสำเร็จทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะในจีนที่หนังทำรายได้สูงกว่า ๔๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
๒. Parasite ภาพยนตร์เกาหลีใต้ ค.ศ. ๒๐๑๙ เรื่องของครอบครัวยากจนที่ปลอมตัวหลอกคนรวย ได้รับผลตอบรับทั้งรายได้และคำวิจารณ์ กลายเป็นหนังภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
๓. BTS วงบอยแบนด์สัญชาติเกาหลีใต้ที่เริ่มเปิดตัวใน ค.ศ. ๒๐๑๓ โด่งดังไปทั่วโลก รวมถึงสามารถตีตลาดเพลงอย่างสหรัฐอเมริกาได้อีกด้วย
๔. KOFIC สมาพันธ์ภาพยนตร์เกาหลี ก่อตั้งใน ค.ศ. ๑๙๗๓
๕. CNC หรือ Centre national du cinéma et de l’image animée ศูนย์ภาพยนตร์แห่งชาติฝรั่งเศส
๖. มุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ และวง BTS ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติครั้งที่ ๗๖ ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๔ โดยเขากล่าวถึงเพลง “Permission to Dance” ของวง BTS ว่า “ให้กำลังใจและปลอบโยนผ่านดนตรีไปยังเยาวชนทั่วโลกที่ยากลำบากจากสถานการณ์ของโรคโควิด-๑๙”
๗. Dae Jang Geum หรือ Jewel in the Palace ซีรีส์โทรทัศน์แนวย้อนยุคจากเกาหลีใต้ใน ค.ศ. ๒๐๐๓ เรื่องของหมอหลวงคนแรกที่เป็นสตรีในสมัยราชวงศ์โชซ็อน โดดเด่นในการนำเสนอวัฒนธรรมของเกาหลี ในประเทศไทยเข้าฉายในชื่อว่า แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง
๘. นาคปรก ภาพยนตร์ไทยปี ๒๕๕๑ โดย ภวัต พนังคศิริ สะท้อนด้านมืดและความเสื่อมของวงการสงฆ์ แม้จะทำรายได้ดี แต่หนังต้องใช้เวลาตรวจพิจารณาจากกระทรวงวัฒนธรรมนานถึง ๓ ปี และผ่านการเซนเซอร์หลายอย่างจากต้นฉบับเดิม
๙. The Battle at Lake Changjin ภาพยนตร์จีนที่ออกฉายใน ค.ศ. ๒๐๒๑ เรื่องราววีรกรรมของกองทัพอาสาสมัครสาธารณรัฐประชาชนจีนในสงครามเกาหลี ซึ่งทำรายได้ถึง ๙๑๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลของประเทศ และหนังทำเงินสูงสุดอันดับ ๒ ของโลกในปีนั้น
๑๐. Eight Hundred ภาพยนตร์จีนทำเงินใน ค.ศ. ๒๐๒๐ เชิดชูวีรกรรมทหารสงครามระหว่างจีนและจักรวรรดิญี่ปุ่น