Image
ชาติชาย เกษนัส
มุมมองคนทำหนัง
ในวันที่ประเทศไทยประกาศ
พา (วงการ ?) ภาพยนตร์ไทย
ไปสู่การเป็นซอฟต์พาวเวอร์
Interview
สัมภาษณ์และเรียบเรียง : วรรณิดา มหากาฬ
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
๑ มกราคม ๒๕๖๕ ละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์ จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี ออกอากาศตอนแรกเรื่องราวอีกแง่มุมในประวัติศาสตร์ไทย-พม่า ได้รับการถ่ายทอดอย่างละเมียดละไมนำไปสู่กระแสเชิงบวก

ย้อนกลับไปปี ๒๕๖๒ หนังผีสัญชาติเมียนมาโดยผู้กำกับการแสดงไทยออกฉายครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์  The Only Mom มาร-ดา พาเราเข้าสู่ความกลัวพร้อม ๆ กับตั้งคำถามกับความกลัว อำนาจความเชื่อ และชนชั้นในสังคมพม่าที่คล้ายคลึงสังคมไทยอย่างไม่อาจปฏิเสธ

ไกลกว่านั้น พฤศจิกายน ๒๕๕๙  From Bangkok to Mandalay ถึงคน..ไม่คิดถึง ภาพยนตร์ร่วมทุนไทย-พม่า เรื่องแรกของเขา ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวจากจดหมายของชายคนหนึ่งถึงหญิงสาวที่รัก ความคิดถึงที่ซุกซ่อนและไม่เคยถูกเปิดอ่านได้ออกฉายในประเทศไทย

ชีวิตด้านหนึ่งทำงานในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ อีกด้านอยู่เบื้องหลังบริษัทโพสต์โปรดักชันระดับอินเตอร์ ไวท์ไลท์ สตูดิโอ  จากวันแรกที่รู้ตัวว่าตกหลุมรัก มีความฝันอยากทำหนังสักเรื่อง สู่ละคร-ภาพยนตร์ที่ตั้งใจจะปลุกคนไทยให้ตื่น ตั้งคำถาม มองอดีต และก้าวสู่อนาคต
ฉัน ฝัน หนัง
“เราชอบดูหนัง…”
เป็นประโยคแรกของผู้กำกับภาพยนตร์ไทย-พม่าที่เล่าถึงจุดเริ่มต้น แรงบันดาลใจ และความฝันในการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์

“มันสั่นสะเทือนเรา ไม่รู้ว่าจุดประกายเราแบบไหน แต่พอดูหนังเสร็จก็เริ่มถามตัวเองว่าฝันของเราคืออะไร อยากทำอะไร”

ช่วงเวลาที่สื่อภาพยนตร์และโรงหนังมีอิทธิพลมากที่สุด Dead Poets Society ครูครับเราจะสู้เพื่อฝัน กลายเป็นภาพยนตร์ที่จุดประกายความฝันของเขา

“ทุกวันเราก็คิดแต่เรื่องหนัง สงสัยว่าต้องทำหนังแล้ว และเราก็คงไม่เป็นพระเอกแน่ ๆ เลยอยากกำกับหนังสักเรื่องหนึ่ง ตอนเรียนเราสอบเข้าคณะที่มีสอนภาพยนตร์ แต่เข้าไม่ได้ ก็เข้าคณะข้างเคียงและไปเรียนกับเพื่อน ๆ ที่เรียนภาพยนตร์คณะวารสารศาสตร์ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) แต่เราเรียนศิลปกรรมการละคร เรียนละครกรีก เรียนแอ็กติง เรียนกำกับฯ จุดสำคัญที่สุดคือได้เจอพี่ ๆ คณะละครพระจันทร์เสี้ยว รวมถึงอาจารย์คำรณ คุณะดิลก ข้ามฝั่งไปที่วัดระฆังฯ ก็เจอครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน  คณะละครพระจันทร์เสี้ยวจะเคี่ยวกรำเรื่องความคิด เรื่องการมอง ฝึกคิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดให้ลึกซึ้ง แล้วให้คุณค่าต่อศิลปะการแสดงมาก  ส่วนครูเล็ก- ภัทราวดี เราเจอในช่วงที่ครูเริ่มหันมาสนใจเรื่องรำไทย เจอพี่นาย-มานพ มีจำรัส พี่ตั๊ก-นภัสกร มิตรเอม เลยเหมือนว่าโลกศิลปะทั้งแบบดั้งเดิม แบบท้องถิ่น หรือแม้แต่อินเตอร์วิ่งผ่านเราอย่างสนุกสนาน”

ชีวิตโลดแล่นตามฝัน พบเจอครูผู้เปิดมุมมองและเปิดโลกทัศน์สู่ศิลปะหลากหลายแขนง หลอมรวมเป็นฐานความคิดในการทำงานของ ชาติชาย เกษนัส 
“ซอฟต์พาวเวอร์ก็คือเต้นกินรำกิน ถ้าเราก้าวข้ามตรงนี้ไม่ได้ไม่ต้องคุยกัน”
ไทย พม่า-ความแตกต่างของ
อุตสาหกรรมภาพยนตร์

“ช่วงเวลาที่เราเข้าไปแค่ ๗ ปี (ปี ๒๕๕๘-๒๕๖๔) เป็นช่วงที่มีความหวังที่สุดของพม่า ประเทศเปิดหลังถูกปิดมา ๕๐ กว่าปี นับเป็นความหวังครั้งแรกที่จะสื่อสารกับโลกภายนอก”

From Bangkok to Mandalay ถึงคน..ไม่คิดถึง ของ
ชาติชาย เกษนัส ที่ครั้งนั้นหันขบวนภาพยนตร์เข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านเป็นช่วงที่พม่าเปิดประเทศกับโลกตะวันตก เปิดรับสื่อเพิ่มมากขึ้น

“คำว่าปิดประเทศหมายถึงกับโลกตะวันตก แต่ในความสัมพันธ์ไทย-พม่าเราไม่เคยปิดพรมแดน ยังไปมาหาสู่กัน”

แต่การปิดกั้นตัวเองจากโลกตะวันตกของพม่าได้สร้างความแตกต่างอย่างมากในวงการภาพยนตร์

“ไทยเราสื่อสารกับโลกภายนอกตลอด มีกองถ่ายหนังต่างประเทศเข้ามา และคนไทยก็เก่งในการดูดความรู้และพัฒนาเป็นของตัวเอง เราสามารถสื่อสารในระดับฮอลลีวูดได้”

และขณะที่วัฒนธรรมในกองถ่ายเกือบทั่วโลกมีโครงสร้างแบบเดียวกัน

“การขานในกองถ่าย ซาวนด์ โรล คาเมรา สปีด เซต แอนด์ แอ็กชัน มันเป็นแบบเดียวกัน แต่พม่าไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย”

การแบ่งงานและภาระหน้าที่ของแต่ละแผนกที่กองถ่ายภาพยนตร์ทั่วไปพึงมี ในพม่าทุกหน้าที่รวมอยู่ที่คนคนเดียว

แม้ความต่างจะทำให้ผู้ทำงานทั้งสองประเทศต้องปรับตัว แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดี ได้เห็นโลกใหม่ ๆ ได้ต่อยอด และพัฒนาวงการภาพยนตร์
มุมมองถึงคน...ดูหนัง
“เรามองว่าประวัติศาสตร์เพิ่งสร้างและนิทานก่อนนอนส่งผลต่อความคิดของพวกเรา”

สิ่งหนึ่งที่ ชาติชาย เกษนัส ค้นพบในมุมมองของนักการละคร คือมนุษย์ทุกคนมีเรื่องเล่าที่สามารถสร้างความเป็นจริงขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง

“ปัญหาของพม่าเหมือนกับไทย คือยึดโยงว่าวีรบุรุษต้องเป็นวีรบุรุษสงครามเท่านั้น และผู้ปกครองต้องเป็นนักรบเท่านั้น ทั้งสองประเทศไม่มีสงครามในรูปแบบมาเป็นร้อยปีจากโลกภายนอก กองทัพรบกับประชาชนของตัวเองมาตลอด ตรงนี้มันมาจากนิทานก่อนนอน  ถ้ามองประวัติศาสตร์ ทุกครั้งที่เกิดอาณาจักร จุดเริ่มต้นอาจมาจากสงครามและการป้องกันอาณาเขต  แต่จังหวะที่สร้างบ้านแปงเมือง สร้างสิ่งสวยงาม ศิลปะ อารยธรรม และวัฒนธรรม จะเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่ง เรามองว่าความมั่นคงของชาติไม่ใช่เรื่องของอำนาจการยิงเพียงอย่างเดียว”
“ต้องเลิกผลักดันโปรเจกต์เป็นเรื่อง ๆ เพราะไม่มีทางสำเร็จ”
Image
เขาเล่าถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ชมไทยที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องแรก From Bangkok to Mandalay ถึงคน..ไม่คิดถึง

“ภาพพม่าในหนังของเราเป็นสิ่งใหม่มากกับคนไทยในตอนนั้น การเปิดมุมใหม่ ภาพเพื่อนบ้านที่เป็นมิตร หรือเมืองที่มีตึกโคโลเนียล มีกลิ่นอายโคโลเนียล ไม่เคยมีในหัวคนไทย

“พอมาถึงเรื่อง จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี มีลูกต่อเนื่องจากรายการสารคดี ‘โยเดียที่คิด (ไม่) ถึง’ ที่เราทำงานมาตลอด ๕ ปี ซึ่งค่อนข้างสร้างการเปลี่ยนแปลงทางความคิดหลาย ๆ อย่างของคนไทย โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่ว่าง”

คือพื้นที่ว่างที่ทำให้ผู้คนตั้งคำถามว่าระหว่างสองประเทศไทย-พม่า จะมีพื้นที่ที่สามารถสร้างความเข้าใจและรักกันได้หรือไม่ รวมถึงคนรุ่นใหม่จะอยู่กับความจริงในประวัติศาสตร์นั้นอย่างไร

“เรื่องความขัดแย้งไทย-พม่า มีอยู่ในความคิดคนไทยทุกคน เราจับมาเติมมุมมองใหม่ ชี้ให้เขามอง ซึ่งจะเข้าถึงคนจำนวนมากได้ง่ายกว่าสร้างเรื่องใหม่  หนังละครบางเรื่องที่ไม่มีฐานไม่มีอารมณ์ร่วมของคนในสังคมจึงไม่ได้รับเสียงตอบรับนัก”

ตัวอย่างจากละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์ จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี ถูกเขาหยิบยกขึ้นมาบอกเล่าถึงอิทธิพลทางวัฒนธรรม

“คนอโยธยาไปอยู่พม่าในฐานะผู้แพ้ การอยู่ต่างถิ่นฐานคุณต้องมีความสามารถ ไม่ว่ายุคสมัยใด ตอนนั้นการปกครองศูนย์กลางอยู่ที่วัง เขาก็ต้องเข้าหาวัง  คิดว่าคนอโยธยาคงอยากระเบิดความสามารถว่าเขามีตัวตนและแตกต่าง  ศิลปะพม่าคลั่งไคล้ละครหุ่นสายมายาวนาน ท่ารำต่าง ๆ ก็เหมือนหุ่นเชิด พอเจอความอ่อนช้อยของศิลปะไทยจึงได้รับความนิยม แต่การแสดงที่เห็นในละครทั้งหมดเป็นนาฏศิลป์ใหม่ เทคนิคต่าง ๆ ก็เป็นของใหม่ ถ้าเอาของเก่ามา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คนดูจะสัมผัสได้ยาก

“สิ่งที่คิดว่าเป็นปรากฏการณ์สำหรับเราคือ คนที่ชอบงานเรา
มีทั้งสองฝั่ง ทั้งอนุรักษนิยมและเด็กรุ่นใหม่ พวกเขาจึงสนุกกับงานของเราได้ในพื้นที่ตรงกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญ”
ซอฟต์พาวเวอร์ ?
“ซอฟต์พาวเวอร์ก็คือเต้นกินรำกิน ถ้าเราก้าวข้ามตรงนี้ไม่ได้ไม่ต้องคุยกัน  ที่ผ่านมาเราจะด้อยค่าคนทำงานศิลปะ ทำให้สถานะของพวกเขาไม่มีที่ยืน ไม่สามารถมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี”

เมื่อย้อนไปถึงการเรียนวิชาภาพยนตร์วิชาแรก เขาต้องเรียนเกี่ยวกับคนทำหนังให้ฮิตเลอร์ ละครสร้างชาติ ทฤษฎีทางการเมืองที่นำมาพัฒนาเป็นทฤษฎีภาพยนตร์

“ศิลปะกับการเมืองอยู่ด้วยกันมาตลอด ก็เลยเป็นของสำคัญมีพลัง และขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในมือใครด้วย”

อย่างเช่นงานของผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่เขาชื่นชม 
Image
“งานพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ปลุกให้เราตั้งคำถามในระดับจิตใต้สำนึก ถ้าตีความเลยจากนั้นก็ไปสู่เรื่องปรัชญา เราคิดว่ามันปลุกคนให้ตื่นอย่างแท้จริง เราก็ตั้งใจอยากจะทำให้ได้แบบนั้นบ้าง แต่งานเรายังไปไม่ถึง

“ความตั้งใจของเราคือเราเหนื่อยกับความเกลียดชัง คิดว่าเป็นสิ่งล้าหลังและไม่มีประโยชน์ หนัก อึดอัด ถ้ามีงานสักชิ้นที่ไขล็อกตรงนี้ แล้วเปลี่ยนคนให้เคารพกัน ให้คนไทยมีสำนึกเรื่องการเป็นพลเมือง หรือเลยกว่านั้นคือการเป็นพลเมืองของโลก

“สิ่งที่ทำให้ประหลาดใจและเป็นกำลังใจที่ดีที่สุดในการทำละคร จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี คือแรงสนับสนุนจากเด็กรุ่นใหม่ ทำให้เห็นความแตกต่างว่าคนรุ่นก่อนโตมากับนิทานอีสปแบบเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ต้องการข้อสรุป แต่เด็กรุ่นใหม่สามารถตีความงาน และน่าจะหลุดจากกรอบทัศน์เรื่องเชื้อชาตินิยม
อนาคตหนังไทย
ในฐานะซอฟต์พาวเวอร์

“ถ้าถามถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ ยังไม่เกิดและยังไม่มีทางเกิด เราพูดมาหลายเวทีแล้ว และวันนี้ขอพูดดัง ๆ อีกครั้งว่า ต้องเลิกผลักดันโปรเจกต์เป็นเรื่อง ๆ เพราะไม่มีทางสำเร็จต้องทำเชิงโครงสร้าง เช่น กำแพงภาษี หรือมีเงินอุดหนุนจากภาครัฐที่จะทำให้เราแข่งขันในระดับโลกได้  กระทรวงวัฒนธรรมก็ทำงานส่วนอนุรักษ์ไป แต่ในส่วนศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยต้องเปิดโอกาสให้คนได้ทำงานอย่างอิสระ ขอให้สนับสนุน แล้วรับฟังพวกเขา

“เวลาต่างชาติมาขอละเว้นภาษี เขาจะมาในนามสมาคมผู้ค้าภาพยนตร์ต่างประเทศ พร้อมจดหมายถึงรัฐสภา แต่ในไทยไม่มีองค์กรที่จะปกป้องเราแบบนี้  ถ้าให้ภาพยนตร์เป็นอุตสาหกรรมก็ควรอยู่ในความดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือกระทรวงพาณิชย์ จะตรงจุดกว่ากระทรวงวัฒนธรรม เราเชื่อว่าภาครัฐมีเงินพอจะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างอยู่แล้ว”