Image
อำนาจละมุนบนฟลอร์หญ้า
ชัยชนะนอกสนามกีฬา
SCOOP
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
๑-๐
สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ในพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. ๑๘๘๔ นับเป็นสโมสรฟุตบอลที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน 

อย่างไรก็ตามช่วงเวลาที่เลสเตอร์ ซิตี้โด่งดังที่สุดเกิดขึ้นในช่วงที่มีประธานสโมสรเป็นคนไทย คือฤดูกาลแข่งขัน ค.ศ. ๒๐๑๕/๒๐๑๖ ที่สร้าง “เทพนิยายจิ้งจอกสยาม” คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ตามด้วยแชริตีชิลด์ และเอฟเอคัพ ในเวลาติด ๆ กัน

กูรูลูกหนังชาวไทยและต่างชาติเคยวิเคราะห์ว่า ทีมที่มีนักเตะดัง ๆ ค่าตัวแพง ๆ ทีมที่ทุ่มเงินซื้อนักเตะฝีเท้าดีมาร่วมทีมได้มาก ๆ จึงจะมีโอกาสคว้าแชมป์ แต่สโมสรเล็ก ๆ ที่มีเจ้าของเป็นคนไทยกลับอาศัยเทคนิคที่ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจ รวมถึงคำพูดสร้างแรงบันดาลใจอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

หลังจากลงทุนเทกโอเวอร์สโมสรฯ นอกจากจะซื้อนักเตะเพื่อยกระดับทีม ประธานสโมสรฯ ชาวไทยยังปรับปรุงสนามแข่งขันในส่วนพื้นหญ้าและอัฒจันทร์ เปลี่ยนชื่อสนามเป็นคิงเพาเวอร์สเตเดียม (King Power Stadium) ยกเครื่องสนามซ้อม อุปกรณ์การฝึก และความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา

นอกสนามยังมอบทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ทั้งสถานศึกษา โรงพยาบาล เช่น บริจาคเงิน ๑ ล้านปอนด์ให้มหาวิทยาลัยเลสเตอร์เพื่อวิจัยด้านการแพทย์ บริจาคเงิน ๑ ล้านปอนด์ให้โรงพยาบาลของเลสเตอร์รอยัล บูรณะและสร้างวัดไทยในอังกฤษหลายเมือง เป็นต้น

ย้อนกลับไปในวันที่ “จิ้งจอกสีน้ำเงิน” หรือบ้านเราเรียกฉายา “จิ้งจอกสยาม” สร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ผืนธงไตรรงค์ถูกคลี่กางออกในสนาม มีเสียงแฟนบอลตะโกนเรียกชื่อประธานสโมสรฯ

ประเทศเล็ก ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นที่รู้จักบนเกาะอันไกลโพ้น  ว่ากันว่าหากมีคนไทยเดินอยู่ในเมืองเลสเตอร์แล้วบอกว่ามาจากเมืองไทย จะได้รับการต้อนรับอบอุ่นชนิดคาดไม่ถึง เพราะคนเมืองเลสเตอร์ไม่ได้รักแค่ประธานสโมสรฯ กับบอร์ดบริหาร หากแต่เผื่อแผ่ความรักมาถึงคนไทยทุกคน

วันที่ประธานสโมสรฯ ประสบอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกจนเสียชีวิต ลานกว้างด้านหน้าสนามเต็มไปด้วยผ้าพันคอและช่อดอกไม้ของผู้คนที่แห่แหนกันมาแสดงความอาลัย

ฟุตบอลกลายเป็นอำนาจที่ทำให้ฝรั่งหลงรักเมืองไทยและคนไทยอย่างไม่รู้ตัว
“มันมีมานาน สิ่งที่เรียกว่า ‘ทุนวัฒนธรรม’ ที่ทำให้คนรู้สึกชอบ ศรัทธา หลงใหลโดยไม่รู้ตัว เป็นอำนาจที่นุ่มนวล แทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวัน”

อดิสรณ์ พึ่งยา

๑-๑
อำนาจอ่อนหรืออำนาจละมุนในเกมกีฬาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและได้รับการเผยแพร่มาตลอด  อดิสรณ์ พึ่งยา พิธีกรรายการโทรทัศน์ ผู้ประกาศข่าวกีฬา นักพากย์ และนักเขียนชื่อดังเจ้าของนามปากกา “JACKIE” ให้ความเห็นเรื่อง soft power ด้านกีฬาอย่างน่าสนใจ 

“มันมีมานานแล้วนะ สิ่งที่เรียกว่า ‘ทุนวัฒนธรรม’ ที่เผยแพร่ออกไปแล้วทำให้คนรู้สึกชอบ ศรัทธา หลงใหลโดยไม่รู้ตัว เป็นอำนาจที่นุ่มนวล แทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวันโดยไม่มีใครใช้กำลังบีบบังคับ  เอาที่ชัดเจน ฟุตบอลอังกฤษเผยแพร่ไปทั่วโลก ก็คงคล้าย ๆ กับที่อังกฤษออกล่าอาณานิคมหรือไปรุกรานประเทศอื่นสมัยก่อน สิ่งต่าง ๆ ที่อังกฤษคิดค้น ไม่ว่าด้านสังคม การเมือง กีฬา ก็ถูกเผยแพร่มาตลอด เราต้องไม่ลืมว่าอังกฤษเป็นประเทศต้นตำรับผู้คิดค้นกีฬาสากลหลายอย่าง ทั้งเทนนิส แบดมินตัน ฟุตบอล รักบี้ หรือคริกเกต ก็เป็นกีฬาเฉพาะของพวกเขา เพียงแต่เมื่อก่อนไม่มีคำว่า soft power เท่านั้นเอง”

ในยุคล่าอาณานิคม ฟุตบอลสมัยใหม่ได้แพร่กระจายจากเกาะอังกฤษไปสู่ทวีปต่าง ๆ ตามเส้นทางการขยายอํานาจ
ของจักรวรรดิ ฟุตบอลกลายเป็นเกมกีฬาที่ลงหลักฝังรากและเติบโตควบคู่กับการสร้างความศิวิไลซ์ของผู้คนในประเทศอาณานิคม

ก่อนที่ต่อมา โจเซฟ ไนย์ (Joseph Nye) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและนักการเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกา จะเป็นผู้ศึกษา วิจัย และเสนอความรู้เรื่อง soft power จนมีการนำคำนี้มาใช้อย่างกว้างขวาง

“เมื่อก่อนเราเคยติดหนังจีน นิยายจีน การ์ตูนญี่ปุ่น ของเกาหลีถึงจะมาทีหลัง แต่เขาเน้นมาก รัฐบาลมีส่วนร่วม เวลาดูซีรีส์เกาหลี เห็นพระเอกนางเอกกินจาจังมยอน โซจู ซุป กิมจิ แล้วดูเอร็ดอร่อย คิดว่าทางเกาหลีคงตั้งใจทำให้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อเนียน ๆ  ที่รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนเพราะต้องการเผยแพร่ทุนทางวัฒนธรรม ทุกประเทศมี เพียงแต่ใครจะเอามาขายได้ดีกว่ากัน”

ในกรณีของฟุตบอลอังกฤษ รวมทั้งลีกของประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป คนที่ชอบก็จะติดตามจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต

“นอกจากจะดูบอลแล้วก็ติดตามข่าวสาร ผลการแข่งขัน แท็กติกที่โค้ชใช้ เรื่องการซื้อขาย นักเตะบาดเจ็บ แม้กระทั่งเรื่องส่วนตัวเจ้าของทีม กลายเป็นทุกมิติที่ซึมเข้ามาในชีวิตแฟนบอล  อิทธิพลตรงนี้สร้างความเลื่อมใสศรัทธา คนไทยก็มีความศรัทธา หลงใหลฟุตบอลอังกฤษไม่น้อยกว่าซีรีส์เกาหลี อาจเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ mass กว่า แต่ถือว่ามีปริมาณมากพอสมควร  ตอนนี้ผู้หญิงก็หันมาดูฟุตบอลเยอะขึ้น คนที่ชอบฟุตบอลอังกฤษกับซีรีส์เกาหลีส่วนหนึ่งอาจเป็นกลุ่มซับเซตเดียวกัน”

ในฐานะกูรูลูกหนังที่ติดตามทำข่าวฟุตบอลต่างประเทศมาร่วม ๓๐ ปี “JACKIE” วิเคราะห์ว่า ในกรณี soft power ฟุตบอลอังกฤษอาจต่างจากซีรีส์เกาหลี ตรงที่รัฐบาลอังกฤษไม่ได้จ่ายเงินสนับสนุนโดยตรง แต่สนับสนุนทางอ้อมมากกว่า

“เขาไม่ได้มีนโยบายว่าต้องสร้าง soft power จากฟุตบอล แต่มันเป็นของมันเอง ที่อังกฤษฟุตบอลเป็นอาชีพหรือธุรกิจในสังคมอยู่แล้ว การสนับสนุนทางอ้อมก็เช่นเรื่องข้อกำหนดทางกฎหมายต่าง ๆ การเดินทาง สิ่งอำนวยความสะดวก

“เราต้องเข้าใจว่าสโมสรฟุตบอลของอังกฤษอยู่ในรูปแบบบริษัทมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ พอเริ่มมีบอลเตะเขาก็เริ่มทำ มองออกว่าจะต้องอยู่ในรูปแบบบริษัทฟุตบอล จำกัด ต้องจดทะเบียนกับกรมการค้าภายใน อะไรแบบนั้น ซึ่งทางรัฐบาลเปิดโอกาสให้ฟุตบอลเข้ามาเป็นธุรกิจอีกแขนงที่ต้องมีการแข่งขัน จะ ๒๐ หรือ ๓๐ หรือ ๑๐๐ ทีมก็ว่ากัน เพราะถ้าไม่มีการแข่งขันฟุตบอลอาชีพมันเกิดไม่ได้ ค่อย ๆ สร้างบรรยากาศจนคนที่นั่นยึดติดว่าจะต้องดูฟุตบอล แล้วเผยแพร่ไปทั่วโลกด้วยวิธีต่าง ๆ ตามยุคสมัย เมื่อก่อนเป็นหนังสือ ต่อมาเป็นโทรทัศน์ ตอนนี้เป็นยุคโซเชียลมีเดียก็ยิ่งทำให้คนได้ใกล้ชิดแพลตฟอร์มนี้เป็นรายวินาที ทำให้วัฒนธรรมนี้แพร่กระจายได้เร็วมากขึ้น 
Image
๑-๒
มีงานวิจัยบ่งชี้ว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ “ฟุตบอลต่างประเทศ” แผ่อิทธิพลไปทั่วโลกคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่สามารถส่งสัญญาณถ่ายทอดสดการแข่งขันจากประเทศต้นทางมาให้แฟนบอลได้ดูแบบเรียลไทม์

ในเมืองไทย การถ่ายทอด “เทปบันทึกภาพ” การแข่งขันฟุตบอลต่างประเทศทางโทรทัศน์ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ๒๕๐๙ เป็นฟุตบอลโลกนัดชิงชนะเลิศระหว่างทีมชาติอังกฤษกับทีมชาติเยอรมนีตะวันตก ต่อมาปี ๒๕๑๓ เริ่มถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก หลังจากนั้นรายการโทรทัศน์ด้านกีฬาก็มีมากขึ้น เริ่มถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสร

“ฟุตบอลอังกฤษยุคก่อน แฟนบอลจะต้องรอติดตามผลเป็นรายเดือนหรือรายสัปดาห์ การถ่ายทอดทางทีวีนาน ๆ ถึงจะมีให้ดู คนชอบจริง ๆ อาจไม่ใช่กลุ่มใหญ่ แต่ก็มีความศรัทธา หลงใหล ประกาศตนเป็นสาวกแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล หรือก่อนยุค 80s มีทีมดังของอังกฤษที่คนไทยเชียร์อย่างนอตติงแฮม ฟอเรสต์, อิปสวิช ทาวน์, ลีดส์ ยูไนเต็ด, อาร์เซนอล ที่ล้วนเป็นสโมสรเก่า” “JACKIE” คนข่าวสาวกทีมหงส์แดงอธิบาย

แฟนบอลสมัยก่อนจำได้ว่ากว่าจะรู้ผลการแข่งขันฟุตบอลต่างประเทศนั้นต้องรอนานเป็นสัปดาห์ ต้องหาซื้อนิตยสารสตาร์ซอคเก้อร์รายสัปดาห์ ซึ่งวางจำหน่ายครั้งแรกในปี ๒๕๑๘ มาอ่าน ต่อมาปี ๒๕๓๕ ก็ออกหนังสือพิมพ์สตาร์ซอคเก้อร์รายวัน  ในปีนั้นเองผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการฟุตบอลอังกฤษยกระดับการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกให้น่าสนใจมากขึ้น รวมถึงริเริ่มถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่านโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (pay TV) ที่ “ต้องจ่ายเงินถึงจะได้ดู” 

น่าฉงนที่ถึงแม้จะต้องเสียเงิน ไม่ได้ดูฟรี แต่กลับกระตุ้นความสนใจในตัวฟุตบอลพรีเมียร์ลีกไปทั่วโลก
๒-๒
งานวิจัยหัวข้อ ฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก : ความเป็นชาย วัยรุ่น และวัฒนธรรมบริโภคนิยม ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วสันต์ ปัญญาแก้ว และคณะ ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สิงหาคม ๒๕๕๙ 
ระบุว่า การปฏิวัติเทคโนโลยีสื่อสาร การส่งสัญญาณผ่านระบบดาวเทียมทำให้ฟุตบอลกลายเป็นเกมกีฬาและความบันเทิงยอดนิยมที่ขยายสู่สังคมวงกว้าง มีผู้ชมหรือ “แฟนบอล” ทั่วโลกที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติและชนชั้น

ที่เมืองไทย นับตั้งแต่ทศวรรษ ๒๕๔๐ ฟุตบอลเริ่มเปลี่ยนความหมายจาก “กีฬาสร้างวินัย” ของหน่วยงานรัฐ กลายเป็นเกมในรายการโทรทัศน์ สินค้าเพื่อความบันเทิง  การมีทีมที่ตัวเองรักตอบสนองไลฟ์สไตล์การพักผ่อนหย่อนใจของผู้คน ควบคู่กับการขยายตัวของพื้นที่แบบ “เมือง” และ “ชนชั้นกลาง”

นับแต่นั้นการดูฟุตบอลกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการบริโภค ชีวิตประจำวันของผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนและผู้ชายวัยทำงาน

การบริโภคฟุตบอลทั้งรับชมผ่านโทรทัศน์ที่บ้านและนัดกัน
เชียร์แบบรวมหมู่ตามร้านอาหาร ค่อย ๆ พัฒนาเป็น “วัฒนธรรมแฟน” ที่แสดงออกในหลายรูปแบบ เช่น การพบปะสังสรรค์ของกลุ่มแฟนทีมเดียวกัน จนกลายเป็นกลุ่มแฟนคลับขนาดใหญ่ระดับประเทศ จัดกิจกรรมตามพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะเมื่อมีรายการแข่งขันนัดสําคัญ เช่น “ศึกแดงเดือด” ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูล สองสโมสรคู่ปรับสำคัญที่แย่งชิงความสำเร็จทั้งในและนอกสนาม
Image
๓-๒
เมื่อฟุตบอลกลายเป็นสินค้า เกมกีฬานี้ก็ค่อย ๆ กลายเป็นอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมที่มีกลุ่มผู้ผลิตและผู้บริโภค นอกจากสื่อทางด้านกีฬา เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ยังมีธุรกิจบันเทิงอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมามากมาย อย่างกิจการเสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา ของสะสม หนังสือ การเดินทางท่องเที่ยว หรือแม้แต่ธุรกิจการพนัน หล่อหลอมกันกลายเป็นความภักดีในตราสินค้า (brand royalty)

“พูดตรง ๆ เลยนะ เอาตัวเองเป็นตัวอย่าง ตอนเด็ก ๆ เราอ่าน สตาร์ซอคเก้อร์ ทำให้เราไม่ได้รู้เรื่องบอลอย่างเดียว แต่รู้เรื่องภูมิศาสตร์ รู้ว่าเมืองแมนเชสเตอร์ตั้งอยู่ตรงไหน เมืองนิวคาสเซิล ลอนดอน ลิเวอร์พูล อยู่ตรงไหน เพราะสโมสรฟุตบอลต้องตั้งอยู่ตามเมืองต่าง ๆ  ทำไมทีมนั้นถึงตั้งอยู่ริมแม่น้ำหรือปากอ่าว  แล้วเราก็ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่สอดแทรกเข้ามาในฟุตบอล ทำไมการพบกันระหว่างแมนฯ ยูฯ กับลีดส์ฯ ถึงเรียกสงครามดอกกุหลาบ  ทำให้เราซึมซับ เกิดความรู้สึกชอบตามมา  จริง ๆ ตัวเราเองก็ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นนักข่าวกีฬา แต่เคยฝันว่าวันหนึ่งทำงานแล้วจะต้องเก็บเงินไปดูบอลที่อังกฤษให้ได้”
๓-๓
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอิทธิพลที่ฟุตบอลอังกฤษส่งมาถึงเมืองไทย ทำให้คนไทยรักประเทศอังกฤษโดยไม่รู้ตัว

“JACKIE” อธิบายต่อเนื่องจากหัวข้อที่ผ่านมาว่า “เราชอบประเทศนี้ เพราะหนึ่ง เขาใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเราก็เรียนภาษาอังกฤษมา  สอง รู้สึกว่าสิ่งที่เราได้อ่าน นอกจากเรื่องฟุตบอลแล้ว หลายเรื่องมันประกอบกัน ไม่ใช่แค่เรื่องกีฬา ไม่ใช่แค่เรื่องในสนาม แต่การซ้อม การเดินทาง ทุกมิติเข้ามาอยู่ในกีฬาชนิดนี้  มีเรื่องนอกสนาม คน เมือง วัฒนธรรม วิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์ เราได้เรียนรู้ว่านี่คือประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศที่เป็นสังคมรัฐสวัสดิการ  ถามว่าทำไมคนออกจากบ้านไปดูบอลเสาร์-อาทิตย์  ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาไม่ต้องดิ้นรนทำมาหากิน  เป็นอีกจุดหนึ่งที่เรามองว่าประเทศเขาสุขสบาย ประชากรไม่ต้องดิ้นรน เพราะเขาเสียภาษีให้รัฐ ซึ่งรัฐก็นำเงินนั้นมาตอบแทนประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เข้าโรงพยาบาลรัฐฟรี เรียนฟรีถึงชั้น ม. ๖ พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ต้องจ่ายค่าครองชีพเพิ่ม เหมือนมีเงินที่จะใช้เพื่อความบันเทิง ดูกีฬาได้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์”

คอลัมนิสต์ชื่อดังที่เคยประจำการรายงานข่าวฟุตบอลที่ประเทศอังกฤษยังชี้ว่า การดูฟุตบอลไม่ใช่แค่ซื้อตั๋ว แต่รวมถึงการเดินทางออกจากบ้าน

“ถ้าเลือกขับรถไปก็เสียค่าน้ำมัน นั่งรถไฟก็เสียค่ารถไฟ ไปถึงสนามก็ต้องกินอาหาร ซื้อเครื่องดื่ม  ถ้าบอลแข่งบ่าย ๓ ตั้งแต่เช้า แฟนบอล ๔-๕ หมื่นคนต่อหนึ่งสนามก็จะพากันออกจากบ้าน  มันก็มองย้อนกลับมาว่าบ้านเราทำไม่ได้ อย่าว่าแต่จะให้คนดูเยอะ ๆ เลย แค่คนเล่นกีฬาก็ยังไม่เยอะ”

หลายปีที่ผ่านมาฟุตบอลต่างประเทศกลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ฝังรากยืนหยัดอยู่ในชีวิตประจําวันของคนไทย ซึ่งแสดงออกในหลายรูปแบบ หากแต่ “ที่มา” รวมถึง “แก่นแท้” น่าจะคล้าย ๆ กัน

นั่นคือการใช้อำนาจละมุนหรืออำนาจอ่อน ๆ ที่ทำให้เรารู้สึกชอบโดยไม่รู้ตัว เฝ้าติดตามการแข่งขันไปเรื่อย ๆ จนเกิดความเลื่อมใส ศรัทธา

ขณะประเทศเจ้าของวัฒนธรรมซึ่งอยู่ในอีกซีกโลกก็ไม่ได้ตั้งใจหรอกว่าจะต้องนำฟุตบอลมาสร้าง soft power เพียงแต่มันเป็นของมันเอง และเกิดขึ้นเป็นร้อยปีแล้ว
ภาพ : https://www.frontale.co.jp/info/2022/0111_1.html
ปรากฏการณ์ “เจ-ชนาธิป”
และแข้งไทยใน “เจลีก”

การเดินทางไปค้าแข้งของนักเตะทีมชาติไทยในเจลีก (J. League)-ลีกฟุตบอลอาชีพของประเทศญี่ปุ่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่า อุ้ม-ธีราทร บุญมาทัน (โยโกฮามะ เอฟ. มารินอส) มุ้ย-ธีรศิลป์ แดงดา (ซานเฟรชเช ฮิโรชิมะ และชิมิซุ เอส-พัลส์) นิว-ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ (โออิตะ ทรินิตะ) สร้างความผูกพันระหว่างคนไทยกับเจลีกอย่างไม่รู้ตัว 

ก่อนจะถึงช่วงวันสงกรานต์ ปี ๒๕๖๕ คาวาซากิ ฟรอนตาเล แชมป์เจลีกปีล่าสุด และกำลังขึ้นนำเป็นจ่าฝูงเจลีก มอบหมายให้นักเตะในสังกัดห้าคนอัดคลิปอวยพรวันปีใหม่ไทย

เลอันโดร ดามิเยา อดีตกองหน้าทีมชาติบราซิลกล่าวว่า “สวัสดีแฟน ๆ เจลีกชาวไทย สุขสันต์วันสงกรานต์” พร้อมโบกมือทักทายอย่างเป็นกันเอง

“ผมขอให้คนไทยทุกคนมีความสุขครับ” คำอวยพรพร้อมรอยยิ้มกว้างของ เคียวเฮ โนโบริซาโตะ แบ็กซ้ายจอมเก๋าอดีตกองหน้าทีมชาติญี่ปุ่นชุด U23

“สวัสดีปีใหม่ไทยครับ ขอบคุณครับ” คำสั้น ๆ ของ จังซังรยอง ผู้รักษาประตูทีมชาติเกาหลีใต้

“ปีใหม่นี้ขออวยพรให้มีสุขภาพแข็งแรง ร่ำรวย และมีความสุขครับ ขอให้เป็นปีที่ดีสำหรับคนไทยทุกคน” ยาซูโตะ วากิซากะ กองกลางทีมชาติญี่ปุ่นอวยพร

และไฮไลต์สำคัญคือคำอวยพรจากนักเตะคนสุดท้าย เจ-ชนาธิป สรงกระสินธ์ ซูเปอร์สตาร์อันดับ ๑ ทีมชาติไทย “สุขสันต์วันสงกรานต์นะครับ สุขสันต์วันครอบครัวด้วยนะครับ ขอให้ทุกคนเดินทางปลอดภัยนะครับ”

แม้คลิปจะสั้น ความยาวแค่ ๓๘ วินาที แต่ก็ถือเป็นสารทรงพลังจากสนามซ้อมของสโมสรดังในเจลีกส่งตรงมาถึงเมืองไทย
...
มีรายงานว่าค่าตัวของเจ-ชนาธิปที่เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด อดีตต้นสังกัดในประเทศไทยเคยขายให้คอนซาโดเล ซัปโปโร เมื่อ ๔ ปีก่อน คือ ๒.๔ ล้านยูโร หรือ ๘๔.๘ ล้านบาท ถือเป็นนักเตะไทยที่มีค่าตัวแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเซ็นสัญญา ๕ ปี  อย่างไรก็ดีด้วยฟอร์มการเล่นอันร้ายกาจ ยึดตำแหน่งแข้งตัวหลักของต้นสังกัด เคยคว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมประจำสโมสร อีกทั้งติดทีมยอดเยี่ยมแห่งปี Best XI ของเจลีก จึงทำให้คาวาซากิ ฟรอนตาเล มหาอำนาจลูกหนังแชมป์เจลีกสี่สมัยจากห้าฤดูกาลล่าสุด ลงทุนซื้อตัวเจ-ชนาธิปไปร่วมทีมด้วยค่าตัวประมาณ ๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ๑๓๔ ล้านบาท เป็นผู้เล่นไทยและอาเซียนที่มีมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ จนทำลายสถิติเดิมของตัวเอง

สมัยที่ค้าแข้งอยู่กับคอนซาโดเล ซัปโปโร สโมสรฟุตบอลที่ตั้งอยู่บนเกาะฮอกไกโดทางตอนเหนือของญี่ปุ่น มีคนไทยหลายคนเดินทางไปเที่ยวที่นั่นแล้วเติมโปรแกรมเข้าชมการแข่งขันของทีมนี้ลงไปในทริป  การย้ายมาค้าแข้งในเจลีกของเจ-ชนาธิป จึงช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของคนไทยในเมืองซัปโปโรและเมืองอื่น ๆ ได้ไม่น้อย และยังสร้างกระแสให้คนไทยอยากดูฟุตบอลเจลีกมากขึ้น
Image
Image
อดิสรณ์ พึ่งยา หรือ “JACKIE” วิเคราะห์ว่า “ถ้าไม่มีอุ้ม เจ หรือนักเตะไทยในเจลีก การติดตามจะไม่มากขนาดนี้  เท่าที่ดูจาก live streaming ของสยามสปอร์ตที่ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด วันที่เจลงแข่งคนเข้ามาดูเป็นแสน แสดงว่ามันมีอิทธิพลกับการที่เรามีนักฟุตบอลเก่ง ๆ ไปเล่นตรงนั้น  เมื่อนักฟุตบอลของเราประสบความสำเร็จในระดับที่ลงเป็นตัวจริงได้ ภาพที่คนมองคือนักเตะไทยมีความสามารถ  พอมีถ่ายทอดสดก็ต้องติดตามผลงาน  ดูจากตัวเลขสถิติจะเห็นชัด  ถ้าเป็นแมตช์อื่น ๆ ยอดคนดูอาจลดลงเหลือหลักหมื่น แต่ถ้ามีเจ-ธนาธิปลงเตะนี่ คอมเมนต์มาเป็นพืดแบบอ่านไม่ทัน”

หลายปีที่ผ่านมา คาวาซากิ ฟรอนตาเลไม่ใช่ทีมที่จะทุ่มเงิน
ซื้อนักเตะที่ค้าแข้งอยู่ในประเทศได้โดยง่าย สถิติสูงสุดที่พวกเขาเคยจ่ายเงินซื้อนักเตะต้องย้อนไปไกลถึง ๑๔ ปีก่อน ค่าตัวของเจ-ชนาธิป ถือว่าทำลายสถิติของสโมสร

กูรูลูกหนังเคยวิเคราะห์การซื้อขายผู้เล่นในเจลีกว่า ถ้าจะซื้อนักบอลสักคนหนึ่งจากชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน สู้ไปซื้อนักเตะ “โควตาต่างชาติ” จะดีกว่า แต่ในกรณีดีลเจ-ชนาธิปนั้นแตกต่าง เพราะเขาผ่านบทพิสูจน์ในเจลีกมาแล้วมากมาย

ทั้งนี้ระเบียบการส่งผู้เล่น ๑๑ คนลงสนามของเจลีกยึดตามกฎ “๓+๑” หมายถึง ในรายชื่อ ๑๑ คนจะมีนักเตะต่างชาติที่ไม่ใช่ญี่ปุ่นได้ไม่เกินสามคน บวกกับนักเตะสัญชาติอื่น ๆ ในทวีปเอเชียอีกหนึ่งคนเท่านั้น

อย่างไรก็ตามผู้บริหารเจลีกมีข้อตกลงกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยว่านักเตะไทยจะไม่ถูกนับอยู่ใน “โควตาต่างชาติ” เมื่อลงสนาม เจ-ชนาธิปจะอยู่สถานะเดียวกับนักเตะญี่ปุ่น ไม่ต้องไปแย่งโควตาต่างชาติกับนักเตะบราซิล นักเตะอเมริกาใต้ หรือยุโรป

“JACKIE” ให้ความเห็นว่า ต้องให้เครดิตกับผู้บริหารเจลีกที่เปิดโอกาส “ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณนโยบายด้านกีฬารวมถึงการตลาดของเจลีกที่เปิดโอกาสให้นักเตะไทยและชาติอื่น ๆ ในอาเซียน คือเขามีโควตาต่างชาติ โควตาเอเชีย แล้วมีโควตาอาเซียนด้วยนะ ก่อนหน้านี้เคยมีนักเตะเวียดนามกับอินโดนีเซียไปค้าแข้งในเจลีก แต่ของเราประสบความสำเร็จ เพราะหนึ่ง นักเตะเรามีความสามารถ มีทักษะ มีต้นทุนฝีเท้าที่ดี  สอง มีความสามารถอย่างเดียวไม่พอ กรณีเจ-ชนาธิป กับอุ้ม-ธีราทร มีทัศนคติที่ดีมากในการต่อสู้ ทั้งสองเป็นตัวสำรองก่อนแล้วสู้เพื่อให้ได้ลงสนามเป็นตัวจริง ในที่สุดเขาก็ทำสำเร็จ  อุ้ม-ธีราทรกลายเป็นแบ็กซ้ายตัวหลักของโยโกฮามะ เอฟ. มารินอส ที่ได้แชมป์  เจ-ชนาธิปก็เป็นตัวหลักของสโมสร เก่งจนทีมใหญ่ต้องซื้อตัวไปเล่น”

การให้โควตาพิเศษสำหรับผู้เล่นจากชาติอาเซียนอาจมีเหตุผลทางการตลาดซ่อนเร้นอยู่บ้าง เนื่องจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประชากรร่วม ๖๐๐ ล้านคน ถือเป็น “ตลาด” ขนาดใหญ่ แต่ “เหตุผลด้านการตลาด” กับ “เหตุผลด้านฟุตบอล” ต้องดำเนินควบคู่กัน
Image
Image
Image
บรรยากาศงาน J. LEAGUE WATCH PARTY BANGKOK แมตช์วีกที่ ๖ ณ เยโล เฮาส์ กรุงเทพฯ วันเสาร์ที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๕ ถ่ายทอดสดการแข่งขันระหว่างคาวาซากิ ฟรอนตาเล พบกับเซเรซโซ โอซากะ และฮอกไกโด คอนซาโดเล ซัปโปโร พบกับ อูราวะ เรดไดมอนส์
ภาพ : Facebook : J. League เจลีก ลีกฟุตบอลอาชีพแห่งประเทศญี่ปุ่น

“สินค้าญี่ปุ่นก็เป็นสปอนเซอร์ให้สโมสรฟุตบอลดัง ๆ ในทวีปยุโรปอยู่แล้ว อย่าง Rakuten ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซแถวหน้าเป็นสปอนเซอร์ให้สโมสรบาร์เซโลนา ธุรกิจนอกสนามไม่ใช่ไม่เกี่ยวกับกีฬา สปอร์ตกับมาร์เกตติงมันเชื่อมกันมานานแล้ว กรณีอาเซียนเป็นตลาดใหญ่ การค้ารถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า ของญี่ปุ่น จีน เกาหลี ก็ต้องมาแข่งกันในภูมิภาคนี้ที่มีประชากรจำนวนมาก 

“การทำฟุตบอลถ้าสามารถดึงนักเตะจากอาเซียนไปได้ เขามองว่าจะมีคนจากอินโดนีเซีย เวียดนาม หรือไทย เข้าไปติดตามการแข่งขัน  แต่ความสามารถของนักเตะก็ต้องได้ด้วยนะ เขามีเกณฑ์อยู่ ไม่ใช่จะเอาใครก็ได้ไปเล่น ไม่งั้นก็พัง มาร์เกตติงในการเปิดตลาดอาเซียนต้องไม่ทำให้มาตรฐานเจลีกดรอปลง”

“JACKIE” อธิบายต่อว่า “หนึ่ง คุณต้องติดทีมชาติ แล้วไม่ใช่
ติดแค่นัดสองนัด แต่ต้องเป็นนักเตะระดับทอปของประเทศ เขารู้อยู่แล้วเพราะเขาทำการตลาด ทำวิจัย ดูข้อมูลก็รู้ว่า top 10 นักเตะของประเทศไทยมีใครบ้าง แล้วสอดคล้องกับสิ่งที่เขาต้องการหรือเปล่า ตำแหน่งการเล่น ถ้าสังเกตให้ดี ลีกญี่ปุ่นต้องการกองหลังกับกองหน้าตัวรุก เพราะเขามีนักเตะญี่ปุ่นที่เป็นกองกลางเยอะมาก

ฉะนั้นถ้าใครเล่นกองกลางต้องเป็นกองกลางเชิงรุก และเป็นปีก  ลีกญี่ปุ่นขาดตรงนี้  ตัวเก่ง ๆ ของเขาที่เล่นเป็นปีก กองหน้า ถูกซื้อไปเล่นในยุโรปหมดแล้ว  ยกตัวอย่าง ทากูมิ มินามิโนะ ทีมชาติญี่ปุ่นตอนนี้อยู่กับลิเวอร์พูล  เมื่อก่อน ชินจิ คางาวะ จากดอร์ทมุนท์ย้ายไปอยู่แมนฯ ยูฯ โด่งดังมาก หรือ ซนฮึงมิน กองหน้าทีมชาติเกาหลีใต้อยู่กับทอตแนม ฮอตสเปอร์  การที่นักเตะญี่ปุ่นเก่ง ๆ หลายคนไปเล่นในยุโรปกันหมด ทั้งลีกใหญ่อย่างอังกฤษ เยอรมนี หรือลีกรองเบลเยียม ฮอลแลนด์ ทำให้สโมสรในเจลีกมีพื้นที่ดึงนักเตะที่มีความสามารถจากส่วนอื่นไปใช้”

การเดินทางของนักเตะไทยไปค้าแข้งในเจลีก จึงอยู่ในสถานะ win-win ทั้งสองฝ่าย หมายถึงทั้งเจลีกและอาเซียนล้วนได้ประโยชน์ นี่เป็นเรื่องที่ทางสโมสรฟุตบอลในเจลีก ผู้บริหารเจลีก สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ผู้บริหารทุกภาคส่วนหารือกันจนตกผลึก แล้วขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งองคาพยพ

“สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ตัวลีกอาชีพ เจลีก องค์กรที่ดูแลเรื่องธุรกิจเรื่องลิขสิทธิ์ รวมทั้งสโมสรต่าง ๆ เขาไปด้วยกันหมดเลย เช่นเรื่องโควตานักเตะต่างชาติ ตัวเจลีกกับผู้บริหารสโมสรต้องรับรู้ร่วมกันว่าจะทำแบบนี้  โค้ชก็ต้องเข้าใจนโยบายสโมสรว่ามีโควตาอาเซียน เราก็ต้องใช้  ผู้บริหารสโมสรเองต้องไม่ไปก้าวก่ายถึงขนาดจะซื้อคนนี้มาให้คุณใช้ ก็ไม่ใช่นะ เขาอาจขอคำปรึกษา ถามความคิดเห็นว่าโอเคมั้ย เป็นการกรองและรักษาสมดุลระหว่างนโยบายของผู้บริหารกับการทำงานของโค้ช  ไม่ใช่ต่างคนต่างเดิน  ด้วยความเป็นญี่ปุ่น เขาไม่สะเปะสะปะ แผนงานมาร์เกตติงที่เขาคิดในการเปิดตลาดอาเซียนมันเวิร์กทุกเรื่อง  ถามว่าเขาได้ช่วยพัฒนาฟุตบอลของแต่ละชาติมั้ย ก็ช่วยนะ

“เมื่อนักเตะของเรามาเล่นเจลีกแล้วได้รับการพัฒนา ก็ช่วยยกระดับฟุตบอลของเราเอง  เวลาเจ อุ้ม กลับมาเล่นในอาเซียน เขาเหนือไปแล้ว เหมือนนักเตะทีมชาติญี่ปุ่นมาเล่นให้ทีมชาติไทย เลี้ยงหลบทีละสองสามคน เตะก็ไม่ล้ม จ่ายบอลสวย ๆ จนทำให้ไทยเหนือกว่าทุกชาติ  เปรียบเทียบในกลุ่มนักเตะไทยด้วยกัน สเตปของเจกับอุ้มจะเห็นเลยว่าเหนือกว่า”

การซื้อขายเจ-ชนาธิป ซึ่งถือเป็นดีลประวัติศาสตร์ของนักเตะไทยที่ค้าแข้งอยู่ในเจลีก เฟซบุ๊กเพจ “วิเคราะห์บอลจริงจัง” วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ “แฟนบอลญี่ปุ่นรู้ดีว่าชนาธิปคือสตาร์อันดับ ๑ ของคนไทย และมีฟอลโลเวอร์เยอะมากในโซเชียลมีเดีย ในอินสตาแกรมมีคนตาม ๒.๑ ล้านคน ซึ่งในทีมคาวาซากิ ฟรอนตาเล ไม่มีนักเตะคนไหนมียอดฟอลโลเวอร์มากขนาดนั้น แม้แต่ เลอันโดร ดามิเยา ยังมีคนตามแค่ ๓ แสนกว่า ๆ  การมาของชนาธิป สิ่งที่สโมสรจะได้รับคือเรื่องทักษะในสนาม ส่วนเรื่องการตลาดก็จะมีผลพลอยได้เช่นกัน  อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะตามมาด้วยก็คือ กลุ่มแฟนบอลไทยจำนวนมากที่จะหลั่งไหลไปเชียร์”

อำนาจละมุนหรือ soft power จึงเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย

ไม่กี่วันก่อนสัญญาซื้อขายนักเตะซูเปอร์สตาร์อันดับ ๑ ของเมืองไทยจะสำเร็จลุล่วงอย่างเป็นทางการ แฟนบอลสโมสรคาวาซากิ ฟรอนตาเลกำลังอยู่ในช่วงตื่นเต้นสุด ๆ มีคนหนึ่งโพสต์ข้อความเป็นภาษาไทยว่า
“สวัสดีครับคุณ ชะ-นา-ทิป”

แสดงให้เห็นว่า นี่คือดีลประวัติศาสตร์ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่แฟนบอลญี่ปุ่นเช่นกัน