Image
การ์ตูนญี่ปุ่น
จากลายเส้นบนหน้ากระดาษ
สู่วัฒนธรรม J-pop 
ที่ครองใจคนทั่วโลก
SCOOP
เรื่อง : พัชนิดา มณีโชติ
 ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี
ปราสาทเหาะได้ กินผลไม้แล้วมีพลังเหนือมนุษย์ แมวหุ่นยนต์ที่มีของวิเศษ นักสืบเยาวชนตัวเป็นเด็กแต่สมองเป็นผู้ใหญ่ สาวน้อยเวทมนตร์ในชุดกะลาสีกับมินิสเกิร์ต มนุษย์พลังจิตหัวสีชมพู เกิดใหม่ต่างโลกยังต้องปราบปีศาจ มองเห็นสิ่งลี้ลับ สัตว์พูดได้ เดินทางย้อนเวลา ขับหุ่นยนต์ตะลุยอวกาศ ผจญภัยหาขุมทรัพย์ที่สาบสูญ และอีกสารพัดที่พาเราหลุดไปในโลกเหนือจินตนาการผ่านภาพวาด บทสนทนา และร่องรอยหมึกสีดำบนปลายนิ้ว ช่วงเวลามหัศจรรย์ซึ่งมีเพียงเราและตัวละครกำลังโลดแล่นอยู่ ณ ดินแดนแห่งฝัน ในห้วงขณะอ่าน “หนังสือการ์ตูน”
Image
การ์ตูนญี่ปุ่น
กับความ cool ทะลุกาลเวลา 

กำเงินในมือให้แน่น แล้วออกผจญภัยในช่วงหลังเลิกเรียน ที่เต็มไปด้วยฝีเท้าของนักเรียนหลายสิบคู่วิ่งกรูออกมาจากรั้วเหล็กที่ถูกปลดพันธนาการ บางคนรีบตรงกลับบ้าน บ้างไปเรียนพิเศษต่อ แต่หลายคนกลับพุ่งสู่จุดหมายเดียวกัน ในวันแรกที่การ์ตูนเรื่องโปรดเข้าร้านเช่าหนังสือ ตามมาซึ่งวลี “ใครเร็วได้อ่าน ใครช้าอด” เพราะหนังสือการ์ตูนออกใหม่มักมีไม่กี่เล่ม และหากพลาดอาจต้องรออีกหลายวัน

นี่เป็นเพียงปรากฏการณ์ในยุคหนึ่งที่ “หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น” ได้รับความนิยมล้นหลามจากเด็กนักเรียนไทย ยิ่งเวลาผ่านไปกระแสความฮิตของการ์ตูนญี่ปุ่นก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งปี ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของการซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนญี่ปุ่นมาตีพิมพ์ในบ้านเรา เนื่องจากสำนักพิมพ์หลากค่ายต่างแข่งกันประกาศลิขสิทธิ์การ์ตูนใหม่หลายสิบเรื่องในช่วงเวลาเดียวกัน สนองความต้องการของนักอ่านชาวไทยที่เรามักจะเห็นภาพการต่อแถวรอซื้อหนังสือการ์ตูนอันยาวเหยียดที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติทุกปี 

หากลองหันไปมองประเทศต้นกำเนิด จะพบว่าความโด่งดังของการ์ตูนญี่ปุ่นในปัจจุบันนั้นไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เกิดจากความพยายามส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญา ผ่านนโยบาย Cool Japan ที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้จุดเด่นของสินค้าและบริการอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ กระจายไปสร้างฐานการตลาดในต่างประเทศ โดย “การ์ตูน” ถือเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกชิ้นโบแดงที่รัฐบาลญี่ปุ่นเห็นความสำคัญ เพราะเป็นสื่อบันเทิงที่เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย แถมมีคาแรกเตอร์หลากหลาย จึงเป็นเครื่องมือชั้นดีในการเผยแพร่อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวญี่ปุ่นไปในตัว 
scrollable-image
มังงะ x อะนิเมะ 
ก่อนจะมาเป็น 
Pop Culture สร้างชาติ

ถ้าลองศึกษาประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น หนังสือการ์ตูนหรือภาษาญี่ปุ่นเรียก “มังงะ (漫画)” สื่อถึง “ภาพวาดที่แปลกประหลาด” อันเป็นนิยามที่ใช้อธิบายลักษณะภาพวาดเหตุการณ์หรือสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมีความเหนือจริง และบางครั้งก็มีคำบรรยายเนื้อเรื่องประกอบภาพด้วย  วิวัฒนาการของมังงะเริ่มมีรูปแบบชัดเจนหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในช่วงที่อิทธิพลของตะวันตกเข้ามามีบทบาทสำคัญในญี่ปุ่น โดยค่อย ๆ พัฒนาจากการ์ตูนเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อในสงครามสู่เรื่องเล่ามากขึ้น 

ผลงานต้นแบบของการเขียนมังงะยุคใหม่เป็นของ ยาซูจิ คิตาซาวะ ผู้ใช้นามปากกา “รากูเต็น คิตาซาวะ” ซึ่งเขาได้เขียนภาพที่ประกอบด้วยการแบ่งช่องเล่าเรื่องแบบฉากต่อฉากและมีคำบรรยายต่อเนื่อง รูปแบบแปลกใหม่นี้เองทำให้มังงะของยาซูจิได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงปี ๒๔๑๙-๒๔๙๘ จนส่งอิทธิพลมายังนักวาดการ์ตูนยุคต่อ ๆ มา

โอซามุ เทซูกะ ผู้ได้ชื่อว่าบิดาแห่งมังงะ ในวัยเยาว์เขามีโอกาสอ่านผลงานของยาซูจิและชื่นชอบมาก กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเริ่มขีดเขียนเรื่องราวลงบนกระดาษ จนได้ตีพิมพ์และเผยแพร่ผลงานมังงะ Astro Boy (เจ้าหนูปรมาณู หรือ เจ้าหนูอะตอม) ในปี ๒๔๙๕  เรื่องราวของหุ่นยนต์เด็กผู้ชายดวงตากลมโตหน้าตาน่ารักที่ต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ในโลกอันเต็มไปด้วยผู้คนที่แตกต่าง เป็นการ์ตูนประเภทไซไฟ (sci-fi) ที่แสดงภาพชีวิตผู้คน แนวคิดด้านสันติภาพ และวิทยาการทางวิทยาศาสตร์

เสน่ห์ของตัวการ์ตูนบวกกับเนื้อเรื่องเข้มข้น อีกทั้งมีพล็อตเรื่องแปลกใหม่และคาดเดายาก เสริมให้ผลงานชิ้นนี้ได้รับความนิยมล้นหลาม จนได้ดัดแปลงเป็น “อะนิเมะ (アニメ)” ซีรีส์การ์ตูนภาพเคลื่อนไหวขนาดยาวด้วยฝีมือมูชิโปรดักชัน (Mushi Production) ของเทซูกะเอง เริ่มออกอากาศผ่านช่องฟูจิทีวี (Fuji TV) ในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี ๒๕๐๖-๒๕๐๙  ต่อมานำมาฉายทางโทรทัศน์ในต่างประเทศ ซึ่งได้กระแสตอบรับดีมาก ไม่ว่าในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป  ส่วนประเทศไทยก็นำ เจ้าหนูปรมาณู ออกแพร่ภาพทางโทรทัศน์ครั้งแรกที่ช่อง ๔ บางขุนพรหมเมื่อปี ๒๕๐๘
scrollable-image
ประเภทของโมเดลฟิกเกอร์
scale figure
โมเดลที่ย่อส่วนตามสเกลจริงของตัวละครนั้น ๆ
action figure
โมเดลที่มีข้อต่อสามารถจัดท่าทางได้ 
figma
โมเดลที่มีข้อต่อแบบละเอียด สามารถจัดท่าทางได้มากขึ้น 
nendoroid
โมเดลหัวโต แต่ตัวเล็ก สามารถเปลี่ยนชุดและอวัยวะต่าง ๆ ได้ 
chibi
โมเดลขนาดเล็กจิ๋ว
statue
โมเดลขนาดใหญ่ ราคาแพง มักออกแบบจากฉากสำคัญของตัวละครนั้น ๆ  
การ์ตูนญี่ปุ่น
กับความสำเร็จระดับโลก

ด้วยพลังของ เจ้าหนูปรมาณู ช่วยส่งแรงกระเพื่อมให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมังงะและอะนิเมะเติบโตอย่างก้าวกระโดด สื่อสิ่งพิมพ์เริ่มขยายใหญ่ขึ้น มีสำนักพิมพ์เกิดขึ้นมากมาย ขณะที่มังงะก็เริ่มตีพิมพ์ลงในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ ซึ่งจะออกตอนใหม่ทุกอาทิตย์ เพื่อให้ผู้อ่านเฝ้ารอซื้อที่หน้าแผงหนังสือ 

หนึ่งในนิตยสารที่ได้รับความนิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคือ โชเน็น จัมป์ (Shonen Jump) สังกัดสำนักพิมพ์ชูเอชะ (Shueisha) ที่เน้นการ์ตูนแนวโชเน็นสำหรับเด็กผู้ชายเป็นหลัก ซึ่งเป็นแหล่งปั้นนักเขียนหน้าใหม่มาประดับวงการทุกปี พร้อมยกขบวนผลงานการันตีรางวัลและความนิยมมากมายมาแจกจ่ายความสนุกแก่นักอ่าน ทั้ง ดราก้อนบอล, ดอกเตอร์สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่,นารูโตะ, บลีช เทพมรณะ, วันพีซ, มหาเวทย์ผนึกมาร,ดาบพิฆาตอสูร และอื่น ๆ

หลังจากตีพิมพ์ในนิตยสารแล้วแต่ละเรื่องจะถูกนำมารวมเล่มเป็นมังงะ ก่อนที่จะสร้างเป็นอะนิเมะรวมถึงภาพยนตร์ โดยเฉพาะ วันพีซ ผลงานของ โอดะ เออิจิโระ ที่ยอดพิมพ์รวมกันทั่วโลกทะลุ ๔๙๐ ล้านเล่ม ขึ้นแท่นอันดับ ๒ ของหนังสือการ์ตูนที่มียอดพิมพ์สูงที่สุดในโลก เป็นรองแค่การ์ตูน Superman เท่านั้น  และด้วยกระแสความนิยมจาก จำนวนแฟนคลับมหาศาล ล่าสุด วันพีซ กำลังจะมีซีรีส์ live action เวอร์ชันคนแสดงในเร็ว ๆ นี้

ขณะที่ภาพยนตร์อะนิเมะเรื่อง Spirited Away ผลงานของ ฮายาโอะ มิยาซากิ เจ้าของสตูดิโอจิบลิ ก็คว้ารางวัลภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ครั้งที่ ๗๕ และการันตีคุณภาพอีก ๒๐ รางวัลจากเวทีมอบรางวัลภาพยนตร์อื่น ๆ ทั่วโลก 

นอกจากนี้สตูดิโอจิบลิยังเป็นเจ้าของผลงานภาพยนตร์การ์ตูนระดับมาสเตอร์พีซหลายเรื่อง เช่น Howl’s Moving Castle, Ponyo, Whisper of the HeartPrincess Mononoke, Totoro ฯลฯ ซึ่งล้วนนำเสนอเรื่องราวที่เปี่ยมด้วยจินตนาการ สอดแทรกปรัชญาการใช้ชีวิตอย่างมีชั้นเชิง สะท้อนภาพความเป็นจริงของโลกในทุกแง่มุม อีกทั้งเป็นกระบอกเสียงให้กับธรรมชาติและสรรพสิ่งเพื่อให้มนุษย์รับรู้ถึงคุณค่าของทุกชีวิต และยังมีจุดเด่นสำคัญคืองานภาพที่เหมือนหลุดออกมาจากแกลเลอรีแสดงงานศิลปะ ดนตรีประกอบอันแสนไพเราะ รวมถึงการเล่าเรื่องอย่างมีเอกลักษณ์ ทำให้ผลงานของสตูดิโอจิบลิเข้าไปนั่งอยู่ในใจของเด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลก
พลัง คลื่น J-pop !
ผลจากความทรงพลังของการ์ตูนญี่ปุ่นที่สามารถก้าวไปยืนอยู่บนเวทีโลกได้ นำมาซึ่งการเติบโตของตลาดมังงะที่มีมูลค่าสูงถึง ๖๗๕.๙ พันล้านเยน (หรือประมาณ ๑๘๑,๒๒๙ ล้านบาท) ในปี ๒๕๖๔  เป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นคุณค่าทางเศรษฐกิจอันมหาศาลของการ์ตูนญี่ปุ่น ถือเป็น soft power สำคัญที่ทำให้คนทั่วโลกหลงใหลในความเป็นญี่ปุ่น ทั้งเชิงวัฒนธรรมและประเพณี รวมถึงงานศิลปะ อาหารการกิน และสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งทุกปีจะมีชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมาก (ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙) 
Image
งานนิทรรศการ My Style, My Ghibli ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
สำหรับบรรดาผู้ชื่นชอบการ์ตูนญี่ปุ่น การมาเยือน แผ่นดินอาทิตย์อุทัยถือเป็นความใฝ่ฝัน แต่การได้เที่ยว “ตามรอยการ์ตูน” เรื่องโปรดน่าจะเปรียบเสมือนฝันที่เป็นจริง การท่องเที่ยวรูปแบบนี้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมยอดนิยมของชาวต่างชาติรวมถึงชาวแดนปลาดิบเอง ที่ต้องการเดินทางตามหาสถานที่จริงซึ่งเป็นภาพเบื้องหลังของการ์ตูนเรื่องโปรด โดยเฉพาะฉากจากภาพยนตร์อะนิเมะ Your Name หลับตาฝัน ถึงชื่อเธอ ผลงานของ “มาโกโตะ ชิงไก” ก็แสดงภาพนครโตเกียวที่แทบจะถอดแบบจากสถานที่จริงอย่างน่ามหัศจรรย์ 

นอกจากนี้ยังมีภาพจากอะนิเมะของสตูดิโอ Kyoto Animation ที่นำฉากในสถานที่จริงและอาหารท้องถิ่น มาเป็นองค์ประกอบในเรื่อง อย่าง Tamako Market ที่นำเสนอวิถีชีวิตผู้คนในย่านชุมชนเล็ก ๆ ติดแม่น้ำคาโมะ ซึ่งมีขนมไดฟูกุเจ้าดังของจังหวัดเกียวโตวางขาย หรือ Free ! ที่ฉายภาพธรรมชาติและท้องทะเลสีครามของเมืองท่าอิวามิ จังหวัดทตโตริได้อย่างสวยงาม 

เมื่อเราค้นพบสถานที่จริงในฉากสำคัญของอะนิเมะเรื่องที่ชอบก็อดรู้สึกทั้งอินทั้งฟินไม่ได้ เพราะเหมือนเส้นกั้นของโลกสองมิติกับโลกที่เราอยู่ได้ทลายไปในชั่วขณะของชั่วโมงต้องมนตร์ให้เราได้เข้าใกล้ตัวละครที่ชอบอีกนิด เป็นประสบการณ์ที่แนะนำให้ผู้ชื่นชอบการ์ตูนญี่ปุ่นควรได้สัมผัสสักครั้ง 

ส่วนใครมีโอกาสไปนครโตเกียวช่วงเดือนสิงหาคม ควรลองไป “คอมิเกะ (Comic Market)” งานการ์ตูนญี่ปุ่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เป็นแหล่งรวบรวมผลงานของนักเขียนชื่อดัง มีการออกบูทจำหน่ายมังงะ อะนิเมะ และของสะสมลิขสิทธิ์แท้มากมาย แถมยังมีพื้นที่ปล่อยของสำหรับนักเขียนมือใหม่ที่ต้องการขายโดจินชิ (同人誌 - มังงะที่วาดขึ้นโดยอ้างอิงตัวละครจากการ์ตูนหรือเกมที่ชอบมาแต่งเติมเรื่องราวใหม่ตามจินตนาการ) และงานแฟนอาร์ต (fan art)

นอกจากนี้ยังมีเหล่าคอสเพลเยอร์ (cosplayer) ที่แข่งกันแต่งกายตามตัวละครในการ์ตูนเล่มโปรดมายืนโพสตามจุดต่าง ๆ ช่วยให้บรรยากาศในงานมีสีสันยิ่งขึ้น ซึ่งวัฒนธรรมการจัดงานคอมิเกะได้กระจายไปหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะฝั่งเอเชีย ในไทยเองก็มีงานคล้ายกันอย่าง Comic Avenue และ Comic Square เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักเขียนการ์ตูนไทยได้แสดงผลงานและพูดคุยกับผู้ชื่นชอบการ์ตูนเหมือนกัน

อีกหนึ่งวงการที่คึกคักไม่แพ้กันคือธุรกิจจำหน่ายสินค้าและของสะสมจากมังงะและอะนิเมะที่เต็มไปด้วยสินค้าหลากรูปแบบ แทบจะมีสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันเกือบทุกอย่าง แต่ที่นิยมสะสมจริงจังคือโมเดลฟิกเกอร์ หลายรูปร่าง สีสัน และขนาด แถมแต่ละแบบยังมีชื่อเรียกต่างกันตามลักษณะเด่นและยี่ห้อ ซึ่งตลาดของนักสะสมที่ขยายไปทั่วโลกนี้เอง ทำให้ร้านจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างอะนิเมท (animate) ขยับขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ รวมถึงไทย ซึ่งเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ ในปี ๒๕๕๙ สะท้อนว่าคนไทยก็คลั่งรักการ์ตูนญี่ปุ่นไม่แพ้ชาติใดในโลก !  
Image
บูทขายหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ๒๕๖๕
No Manga No Life 
เพราะการ์ตูนคือชีวิต

ในช่วงชีวิตหนึ่ง การ์ตูนญี่ปุ่นได้ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจของผู้อ่านมายาวนานตั้งแต่เด็กจนโต ความหลากหลายของเรื่องราว ไม่ว่าจะสวยงามหรือหม่นหมอง ต่างสะท้อนความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์ในทุกด้าน หลายเรื่องให้ความสนุกเมื่อเราเศร้า บางเรื่องให้กำลังใจยามเราท้อแท้ และอีกไม่น้อยที่หากได้อ่านในช่วงเวลาที่เหมาะสมก็อาจช่วยจุดประกายบางอย่างในชีวิตเราได้ไม่รู้ตัว อย่างเช่นตัวละครเหล่านี้

กัปตันซึบาสะ ทำให้กีฬาฟุตบอลรู้จักเป็นวงกว้างและมอบพลังแห่งความฝันแก่เด็กญี่ปุ่น ซึ่งต่อมากลายเป็นนักบอลทีมชาติชื่อดังที่ประสบความสำเร็จและผลักดันวงการฟุตบอลจนพาญี่ปุ่นไปสู่สนามบอลโลกเป็นครั้งแรกในปี ๒๕๔๑ อีกทั้งยังเป็นการ์ตูนที่สร้างแรงบันดาลใจให้นักเตะชื่อดังมากมาย เช่น ซีเนดีน ซีดาน, อาเลสซันโดร เดล ปีเอโร, อาเลกซิส ซันเชซ รวมถึง ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่ค้าแข้งอยู่ที่ญี่ปุ่นด้วย

โดราเอมอน โนบิตะ และผองเพื่อน ก็ทำให้เรารู้จักความไม่สมบูรณ์แบบและยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง เติบโตเพื่อเรียนรู้ที่จะให้อภัย และมองเห็นคุณค่าของมิตรภาพและครอบครัว นอกจากนั้นของวิเศษยังช่วยจุดประกายความคิดทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ตอกย้ำถึงความสำคัญของจินตนาการ บ่อเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรม
วัฒนธรรม J-pop ที่ขยายผลผ่านตัวการ์ตูน
เป็นสินค้าและบริการหลายรูปแบบ

ลูฟี่และมิตรสหาย ทำให้เรามีความกล้าเผชิญหน้ากับอุปสรรคทุกรูปแบบ รู้จักคุณค่าของมิตรแท้ เคารพความหลากหลายของความเป็นมนุษย์ และได้รับความรู้สึกพิเศษเหมือนเพื่อนที่เติบโตด้วยกันมาตลอด ๒๕ ปี ซึ่งเมื่อหยิบหนังสือการ์ตูนขึ้นอ่านคราใด ก็เหมือนได้ย้อนกลับไปช่วงเวลาแห่งความสุขในวัยเด็กที่เต็มเปี่ยมด้วยฝันและความหวังในการใช้ชีวิต

สุดท้ายเราจะเห็นว่าหลายทศวรรษที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งวัฒนธรรมเหล่านี้ให้กระจายไปทั่วโลก ซึ่งการ์ตูนญี่ปุ่นก็เปรียบดั่งพันธุ์พืชชนิดพิเศษที่ยังคงเติบโตผ่านความทรงจำ แตกกิ่งก้านแห่งความสร้างสรรค์ ผลิดอกแห่งจินตนาการในจิตใจของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ 

แต่จะเบ่งบานเป็นเรื่องราวความรัก มิตรภาพ และความฝันแบบไหน

เราอาจต้องเป็นคนขีดเขียนเองต่อไป