Image

นิตยสาร Going จัดทำโดยฝีมือของศิลปินวง SEVENTEEN เอง ผลิตเป็นของสะสมให้แฟนคลับ

เมื่อฉันเป็นติ่ง

SCOOP

เรื่อง : “101 อาจุมม่า”
ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี
ขอขอบคุณ : เจ้าของของรักของหวงเอื้อเฟื้อการถ่ายภาพทุกท่าน

Image

ย้อนไปในวัยเยาว์ เวลาเห็นภาพนักร้องลูกทุ่งหรือพระเอกลิเกได้รับพวงมาลัยติดแบงก์สีแดงสีม่วงเต็มคอล้นท่วมหัว อดนึกสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมแม่ยกถึงหลงรักและกล้าทุ่มทุนให้ศิลปินคนโปรดขนาดนั้น บ้างทุ่มเทขนาดซื้อรถหรูให้ใช้เลย ! แต่เมื่อก้าวสู่การเป็นติ่งเกาหลี โดนนักแสดงหรือไอดอลจากกระแส Hallyu ตกเข้าไปเต็ม ๆ จึงเข้าใจภาพที่เคยเห็นรวมถึงความรักความปรารถนาดีที่มีต่อเมนของเราอย่างไม่มีเงื่อนไข

ทุกวันนี้คำว่า “ติ่ง” ไม่ได้มีความหมายเชิงลบเฉกเช่นอดีต ต้องยกความดีความชอบให้ฐานของแฟนคลับหรือแฟนดอม (fandom) ที่ขยายตัวกว้างมากขึ้น ประกอบกับมีพื้นที่บนโซเชียลมีเดียให้แฟนคลับแสดงความคิดเห็นตรงไปตรงมา จนสมาชิกของแฟนดอมได้เรียนรู้กฎ กติกา มารยาทในการแสดงออกที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับได้ในสังคม เช่น เมื่อเจอนักแสดงหรือไอดอลคนโปรด ไม่ควรรุมล้อมหรือถ่ายรูปจนรบกวนเวลาส่วนตัวของเขา หรือการไปรับ-ส่งที่สนามบินก็ไม่ควรไปเกะกะการเดินทางของผู้โดยสารอื่นหรือการทำงานของพนักงาน เป็นต้น

การก้าวเข้าสู่โลกของติ่งขณะมีอายุ หน้าที่การงานมั่นคงระดับหนึ่งที่พอจะสนับสนุนศิลปินที่เราชื่นชอบได้นั้น ทำให้โลกนี้รื่นรมย์น่าอยู่ขึ้น  ติ่งหลายคนมักพูดตรงกันว่า เวลารู้สึกหมดพลัง ชีวิตโยนโจทย์โหดร้ายเข้าใส่ ก็จะมีเพลงของไอดอลที่รักหรือมีซีรีส์ให้หลีกลี้ไปพักใจกับนักแสดงที่ชอบได้ ถึงจะช่วยเบี่ยงเบนได้ชั่วครู่ แต่การมีคนตัวเป็น ๆ อยู่ในที่ห่างไกล แม้เขาอาจไม่ได้รับรู้การมีอยู่ของเรา ทว่าการที่ติ่งมารวมตัวกัน มีกิจกรรมทำโปรเจกต์เพื่อคนที่รัก ร่วมพูดคุยแสดงความชื่นชอบเหมือนกับเรา เพียงเท่านี้ก็ทำให้สามารถสูดหายใจลึก ๆ รู้สึกคึกคัก และไม่โดดเดี่ยวเกินไปนัก

เป็นติ่งต้องทำอะไรบ้าง โลกของติ่งเป็นอย่างไร ขออาสาพาไปรู้จักประสบการณ์ในการเป็นติ่งสูงวัยที่สังเกตเรื่องเหล่านี้มาระยะหนึ่ง โดยเขียนแยกประสบการณ์ของติ่งนักแสดงกับติ่งไอดอลของวงดนตรีที่ชื่นชอบ

Image

แฟนคลับระดมทุนขึ้นภาพต้อนรับศิลปิน “คิมซอนโฮ” ในโอกาสมาเยือนเมืองไทยบนป้าย LED หน้าห้างมาบุญครอง

ติ่งนักแสดง

หลายคนเริ่มเข้าสู่การเป็นติ่งนักแสดง เพราะโดนตกจากดูซีรีส์ แล้วตกหลุมรักตัวละครที่นักแสดงคนนั้นสวมบทบาท ซึ่งแทบไม่ต่างจากการตกหลุมรักในชีวิตจริง ที่เราอยากรู้จักรายละเอียดของชาย/หญิงคนรักให้ได้มากที่สุด จึงเริ่มหาข้อมูลตามเว็บไซต์ ตามเฟซบุ๊กเพจ (เรียกสั้น ๆ ว่า “บ้าน”) ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรม ทุกช่องทางเท่าที่จะหาได้ ซึ่งต้องชื่นชมการให้รายละเอียดประวัตินักแสดงที่ทางเกาหลีจัดทำไว้ ทำให้ทราบข้อมูลเบื้องต้นเรื่องการแสดง เช่น แสดงซีรีส์หรือภาพยนตร์เรื่องใดบ้าง ได้รับเสนอชื่อชิงรางวัลและได้รับรางวัลด้านการแสดงจากเวทีไหนในปีอะไร ฯลฯ ทำให้ติ่งสามารถติดตามดูผลงานได้ และแน่นอน ยิ่งดูยิ่งเห็นมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งรักยิ่งเทิดทูนมากขึ้นเท่านั้น

ส่วนใหญ่แล้วความฝันสูงสุดของติ่งนักแสดงคือได้เจอตัวจริงของนักแสดงคนนั้น ซึ่งโอกาสที่จะได้เจอคือซื้อบัตรเข้างานแฟนมีตติง (fan meeting) โดยปรกติจะจัดงานแฟนมีตฯ หลังจากซีรีส์ออกอากาศจบลง มักจะมีการเดินสายพบปะแฟนคลับตามที่ต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ไทย เป็นต้น  เมื่อแฟนคลับทราบตารางงานแฟนมีตฯ แล้ว ก็ต้องขวนขวายกดบัตรเข้างานให้ได้ ส่วนการซื้อตั๋วเครื่องบินจองที่พักค่อยดำเนินการภายหลัง

ในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-๑๙)ทำให้ไม่มีการจัดงานแฟนมีตฯ มากว่า ๒ ปี ทว่าการแสดงความรักความชื่นชอบต่อเมนที่เรารักกลับมิได้ลดน้อยลง ยิ่งไม่มีโอกาสเจอยิ่งคิดถึง ซึ่งถ้าใครทราบข่าวการแต่งงานของนักแสดงหนุ่มรูปงาม ฮยอนบิน กับนักแสดงสาวสวยมากความสามารถ ซนเยจิน ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๕ จะเห็นรูปแบบการแสดงความรักที่แฟนคลับจากทั่วโลกส่งมอบให้เจ้าบ่าว-เจ้าสาวอย่างท่วมท้น จนต้นสังกัดของ ซนเยจิน ต้องประกาศงดรับของขวัญ 

แฟนคลับเมืองไทยก็ไม่พลาดที่จะส่งของขวัญไปร่วมแสดงความยินดีกับนักแสดงขวัญใจทั้งสอง ปรกติจะมีการรวมตัวคนรักคนชื่นชมนักแสดงผ่านเฟซบุ๊กเพจ/บ้าน ที่มักตั้งชื่อตามนักแสดงแล้วอาจต่อท้ายด้วยคำว่าไทยแฟนหรือไทยแลนด์ และแสดงความรักความปรารถนาดีผ่านกิจกรรมหรือโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่แอดมินของบ้านคิดขึ้นในวาระสำคัญ ๆ เช่น ส่งการ์ดส่งของขวัญวันเกิด ทำบุญด้วยการบริจาคเงินหรือซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ในนามของนักแสดงหรือกลุ่มแฟนเพจ แล้วมอบให้มูลนิธิ สถานสงเคราะห์ โรงเรียน หรือโรงพยาบาลต่าง ๆ ส่งช่อดอกไม้วันปีใหม่ หรือจัดรถกาแฟ (coffee truck) ไปที่กองถ่ายซีรีส์หรือภาพยนตร์ตามที่จองคิวไว้ เป็นต้น

Image

เข็มกลัดซีรีส์ Crash Landing on You เป็นของที่ระลึกในการบริจาคของแฟนคลับพระเอก ฮยอนบิน

บางบ้านจะทำของที่ระลึกแล้วเปิดให้ลงชื่อจอง อาจเป็นแก้วกาแฟ ร่ม หมวก ถุงผ้า เสื้อยืด สายคล้องแมสก์ สแตนดีเล็ก ๆ สำหรับตั้งโต๊ะ ฯลฯ โดยจะโพสต์ประกาศเป็นระยะ ๆ แล้วนำเงินที่ได้รับหลังจากหักต้นทุนผลิตของแล้ว ไปทำสาธารณประโยชน์หรือกิจกรรมต่าง ๆ ข้างต้น หรือบางบ้านอาจเปิดรับบริจาคเงิน โดยแจ้งลูกเพจ/ลูกบ้านให้ทราบวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าจะนำเงินไปทำโปรเจกต์อะไร ซึ่งอาจมีของที่ระลึกสำหรับผู้ที่บริจาคยอดเงินตามที่กำหนดไว้

ตัวอย่างชัดเจนที่สุดของการสำแดงพลังรักของติ่ง ณ ขณะนี้คือแฟนดอมของนักแสดง คิมซอนโฮ ที่เดินทางมาถ่ายภาพยนตร์เรื่อง Sad Tropics ในเมืองไทยตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๕ และยังอยู่เมืองไทยจนถึงช่วงสงกรานต์นี้

คิมซอนโฮ ได้รับความชื่นชอบหลังจากแสดงเป็นพระรองจากซีรีส์ Start-Up ออกอากาศช่วงปลายปี ๒๕๖๓ จัดเป็นพระรองที่คนดูลุ้นให้สมหวังกับนางเอกมากที่สุดเรื่องหนึ่งและสามารถยึดครองพื้นที่ในหัวใจคนดูได้มากพอควร ถัดมาราวเดือนกันยายน-ตุลาคม ๒๕๖๔ คิมซอนโฮ รับบทเป็นพระเอกเต็มตัวจากเรื่อง Hometown Cha Cha Cha แสดงเป็น ฮงดูชิก หรือเรียกติดปากว่าหัวหน้าฮง/ฮงบังจัน ก็ยิ่งได้รับความนิยมท่วมท้นจากแฟนคลับหลายประเทศ แต่แล้วก็มีข่าวด้านลบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในอดีตจนสินค้าต่าง ๆ ที่มีเขาเป็นพรีเซนเตอร์ต้องยุติสัญญา และขอถอนตัวจากทีมดำเนินรายการวาไรตี “2 days & 1 night season 4”

ข่าวอื้อฉาวนี้ประหนึ่งฟ้าผ่าลงกลางดวงใจแฟนคลับ แต่เพียงไม่นานสำนักข่าว Dispatch ของเกาหลีก็ออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริง ทำให้ คิมซอนโฮ พ้นความมัวหมองในที่สุด ซึ่งระหว่างข่าวยังฝุ่นตลบอยู่นั้น แฟนคลับของ คิมซอนโฮ ก็ค้นหาข้อมูลประวัติต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวเขามากขึ้น เมื่อคดีพลิก แฟนคลับก็ยิ่งเทใจและเอาใจช่วยให้เขาทวงบัลลังก์หวนคืนสู่วงการได้อย่างสง่างาม หลังจากที่ข่าวคราว คิมซอนโฮ เงียบหายไปกว่า ๕ เดือน เขาก็มาปรากฏตัวถ่ายหนังที่เมืองไทย

แฟนคลับในไทยจึงรวมตัวกันสำแดงพลังให้การต้อนรับ คิมซอนโฮ อย่างล้นหลาม

Image

ป้ายติดหลังรถสามล้อเป็นอีกพื้นที่ที่แฟนคลับนิยมจัดทำให้ศิลปินที่ชื่นชอบในโอกาสต่าง ๆ

แฟนเพจของ คิมซอนโฮ แต่ละบ้านต่างระดมทุนเพื่อแสดงถึงความรู้สึกจากก้นบึ้งหัวใจในการยินดีต้อนรับที่เขามาเมืองไทยและหวนคืนวงการ  เพียงระดมทุนไม่กี่วัน ก็สร้างโปรเจกต์ได้หลายงาน เช่น “พา คิมซอนโฮ นั่งตุ๊กตุ๊กเที่ยว” ของบ้าน MY Kim Seon Ho Thailand ที่ติดป้ายภาพท้ายรถตุ๊กตุ๊ก ๑๐๐ คันที่วิ่งเส้นสยาม สีลม ลุมพินี เยาวราช หัวลำโพง ฯลฯ  การขึ้นภาพบนจอ LED ตามห้างสรรพสินค้าของบ้าน Support Kim Seon Ho - Thailand วันที่ ๓-๑๗ เมษายน ๒๕๖๕ เช่น ห้าง Terminal 21 ขึ้นภาพ ๕๖ จอ ทั้งภายในและภายนอกห้าง

บ้าน We_Ajumma Thailand for KSH รวมตัวกันเพื่อให้กำลังใจในช่วงที่ คิมซอนโฮ ประสบปัญหาชีวิต ผ่านโปรเจกต์การพ่นสีวาดภาพบนกำแพงกราฟฟิตีสองภาพ ณ สวนเฉลิมหล้า เชิงสะพานหัวช้าง ซึ่งใช้เวลาชั่วข้ามคืนก็วาดสำเร็จ อีกทั้งยังมีภาพหรือคลิปขึ้นจอใหญ่ที่หน้าห้างมาบุญครอง (๑๐-๑๓ เมษายน ๒๕๖๕) จอที่ลานน้ำพุระหว่างสยามเซ็นเตอร์กับสยามพารากอน

และช่วงบ่ายวันสงกรานต์ คิมซอนโฮ ได้ไปถ่ายรูปกับป้ายในสยามพารากอนด้วย รวมทั้งมีรถแห่กระจายเสียงต้อนรับในวันสงกรานต์  นอกจากนี้ยังระดมทุนเพื่อขึ้นป้ายจอ LED สองจอใหญ่หน้าลานเซ็นทรัลเวิลด์และในห้างเซ็นทรัล ทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดอีกแปดแห่ง เป็นโปรเจกต์อวยพรวันเกิด คิมซอนโฮ ล่วงหน้า (วันเกิดจริงต้นเดือนพฤษภาคม) ซึ่งโปรเจกต์วันเกิดจะมีการบริจาคทำบุญในนามบ้านที่สนับสนุน คิมซอนโฮ อีกด้วย

นี่คือตัวอย่างคร่าว ๆ ของการเป็นติ่งนักแสดง การระดมทุนและกิจกรรมของแต่ละบ้าน 

โปรดอย่าถามว่าติ่งลงทุนลงแรงเยี่ยงนี้เพื่ออะไร บางเรื่องมีคุณค่าทางใจเกินกว่าจะอธิบายด้วยเหตุผล การรวมตัวทำโปรเจกต์ให้แก่นักแสดงที่เราชื่นชอบได้รับรู้ถึงพลังบวกที่แฟนคลับมอบให้นั้นไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทนเลย แค่เป็นสุขที่เห็นเขามีความสุข เป็นสุขที่รู้ว่ามีคนชอบอะไรคล้าย ๆ กันมาแลกเปลี่ยนข้อมูล ของที่ระลึก ร่วมหัวเราะพูดคุยถึงเมนของเราในบ้านแต่ละหลัง นั่นก็เพียงพอแล้ว

ติ่งนักแสดงนั้นไม่ค่อยมีค่าใช้จ่ายหนัก ๆ การระดมทุนก็มักมีในช่วงวาระสำคัญ เช่นวันเกิดหรือวันปีใหม่ ซึ่งก็แล้วแต่กำลังในกระเป๋าของเรา  ส่วนการไปแฟนมีตฯ ค่าบัตรจะราคาไม่สูงมากราวหลักพัน แต่จะเสียเงินค่าตั๋วเครื่องบินและค่าที่พักมากกว่า ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับติ่งไอดอล อย่างหลังนี้มีของล่อตาล่อใจมากกว่า อีกทั้งขั้นตอนหรือกระบวนการสนับสนุนไอดอลก็ต้องใช้เงิน 

Image

Image

Image

Image

Image

ตัวอย่างของเพียงเล็กน้อยที่ “อาร์มี่” แฟนคลับศิลปินวง BTS สะสม ซึ่งมีทั้งสินค้าที่เป็น official เช่น ตุ๊กตา (สัญลักษณ์แทนศิลปินแต่ละคน) รองเท้า และของที่แฟนคลับจัดทำขึ้นเอง เช่น ร่มลายศิลปิน ทำจำหน่ายเพื่อระดมทุนทำกิจกรรม 

ติ่งไอดอล

การเป็นติ่งไอดอลจากบอยแบนด์หรือเกิร์ลกรุ๊ปที่เรารัก ตั้งอยู่บนฐานความรู้สึกที่ไม่ต่างจากติ่งนักแสดง นั่นคือรู้สึกมีความสุขที่เห็นพวกเขาประสบความสำเร็จหรือมีคนยอมรับและชื่นชมมากขึ้น

อุตสาหกรรมเพลงของเกาหลีเติบโตมาก มีบริษัทเพลงค่ายใหญ่กุมบังเหียนอยู่สี่บริษัท คือ 

๑. SM Entertainment ศิลปินในสังกัด เช่น TVXQ, SUPER JUNIOR, EXO, NCT เป็นต้น

๒. YG Entertainment ศิลปินในสังกัด เช่น BIGBANG, WINNER, iKON, BLACKPINK เป็นต้น 

๓. JYP Entertainment ศิลปินในสังกัด เช่น 2PM, TWICE เป็นต้น 

๔. HYPE Corporation เดิมชื่อ BigHit Entertainment ศิลปินในสังกัด เช่น BTS, ENHYPEN เป็นต้น

ศิลปินแต่ละวงจะมีแฟนคลับที่รวมตัวกันเป็นอาณาจักรแฟนดอม ซึ่งมีชื่อเรียกต่างกันไป เช่น “อาร์มี่ (ARMY)” กลุ่มแฟนคลับของ BTS, “อากาเซ (Ahgase)” กลุ่มแฟนคลับของ GOT7, “วีไอพี (VIP)” กลุ่มแฟนคลับของ BIGBANG และ “บลิ้งค์ (BLINK)” กลุ่มแฟนคลับของ BLACKPINK เป็นต้น  กลุ่มแฟนคลับของแต่ละวงจะร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและส่งกำลังใจให้วงที่ตนชอบ เช่น เพิ่มยอดดาวน์โหลดเพลง ยอดวิวมิวสิกวิดีโอในยูทูบ ยอดโหวตอันดับตามชาร์ตต่าง ๆ หรือยอดซื้อสินค้าที่ระลึกเพื่อให้ศิลปินติดอันดับความนิยมในวงกว้าง จะได้ผลิตผลงานเพลงตราบนานเท่านาน

การเพิ่มยอดให้แก่ไอดอลเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะต้องเสียเงิน เช่น ซื้ออัลบัม ซึ่งจะมีทั้งแบบพรีออร์เดอร์ (จ่ายราคาเต็ม ได้แผ่นเร็วกว่า) หรืออัลบัมไซน์ (มีลายเซ็นศิลปิน แต่ได้แผ่นช้ากว่า) ชุดอัลบัมของแต่ละวงจะมีลูกเล่นต่างกัน มิได้มีเพียงแผ่นซีดีเพลงเท่านั้น อาจมีของแถม เช่น การ์ดภาพ โปสเตอร์ ราคา ๔๐๐-๑,๒๐๐ บาท ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจ ของแถม และเป็น limited album หรือไม่ ติ่งบางคนยอมลงทุนซื้ออัลบัมจำนวนมากเพื่อมีโอกาสเข้าไปในงานแจกลายเซ็น (แฟนไซน์) ซึ่งอาจได้จับมือกับศิลปินด้วย 

เนื่องจากแฟนคลับในแต่ละแฟนดอมมีจำนวนมาก บริษัทต้นสังกัดของศิลปินแต่ละวงจึงต้องผลิตสินค้าลิขสิทธิ์โดยตรงของค่าย (official goods หรือ merchandise เรียกสั้น ๆ ว่า merch) เพื่อให้แฟนคลับซื้อเป็นของสะสมที่มีคุณค่าต่อใจ มักวางจำหน่ายในวาระออกอัลบัมใหม่หรือจัดงานคอนเสิร์ต  สินค้ามีหลากหลาย เช่น แท่งไฟประจำวง เสื้อ การ์ดภาพ ตุ๊กตา หมวก พวงกุญแจ กระเป๋าผ้า เคสโทรศัพท์ ฯลฯ ซึ่งสั่งซื้อออนไลน์ได้โดยตรงกับทางค่าย หรือสั่งซื้อผ่านคนที่เปิดรับพรีออร์เดอร์ซึ่งเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่าร้าน

Image
Image

BAEKHYUN (EXO) Japan 1st Mini Album Drown Ver. และป้ายไฟวง JBJ

Image
Image

กล่องอัลบัม Gentlemen’s Game Limited Edition ของวง 2PM, สเปเชียลอัลบัม Semicolon ของวง SEVENTEEN พร้อมชุดทอผ้าและโปสต์การ์ด

ปัจจุบันมีร้านที่เป็นคนกลางเปิดรับพรีออร์เดอร์ของที่ระลึก/เมิร์ชเยอะขึ้น และเปิดหน้าร้านตามทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรม เพราะเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่สอดคล้องกับอายุของแฟนคลับ ซึ่งมักอยู่ราว ๆ ๑๕-๓๐ ปี ที่คุ้นเคยกับฟังก์ชันของแอปพลิเคชันข้างต้นเป็นอย่างดี

ร้านเหล่านี้มีแอดมินที่คอยตอบข้อซักถามของลูกค้าและต้องสร้างความน่าเชื่อถือ อาจด้วยวิธีเขียนเรื่องราวที่แสดงตัวตนของแม่ค้าว่าเป็นแฟนคลับตัวจริงเสียงจริง ติดตามและรู้ข่าวคราวความเคลื่อนไหวของศิลปิน เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าจะไม่โกงเงินมัดจำ และเมื่อลูกค้าได้รับสินค้าแล้ว ก็จะเขียนรีวิวเชิงบวกให้ เสมือนบอกปากต่อปากว่าร้านนี้เชื่อถือได้ สั่งพรีออร์เดอร์แล้วได้รับสินค้าจริง

บางร้านให้ข้อมูลว่า ในช่วงโควิด-๑๙ ระบาดนี้ ยอดพรีออร์เดอร์สินค้าของศิลปินแต่ละวงเพิ่มสูงขึ้น เนื่องเพราะค่ายไม่ได้ขายบัตรจากการจัดคอนเสิร์ต จึงต้องหารายได้จากการผลิตสินค้าที่ระลึกเหล่านี้ให้แฟนคลับซื้อสะสม

จากความต้องการซื้อสินค้าที่ระลึก/เมิร์ชมากขึ้นนี้เอง ทำให้เกิดร้านรับพรีออร์เดอร์มากขึ้น การแข่งขันจึงสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว บางร้านเจ้าของอยู่ในวัยมัธยมศึกษาอายุ ๑๓-๑๔ ปีก็มี  ร้านกระจายอยู่ตามจังหวัดทั่วประเทศไทย แต่ละร้านจึงต้องมีกลยุทธ์ดึงลูกค้าให้สั่งสินค้ากับร้านตน อาจด้วยเจ้าของร้านตอบข้อซักถามของลูกค้ารวดเร็ว หมั่นทักทาย แนะนำสินค้าตัวใหม่ให้ลูกค้าทราบเป็นระยะ ๆ  แสดงความใส่ใจลูกค้า หรือใช้กลยุทธ์ราคาเข้าสู้ อย่างเก็บเงินมัดจำหรือบวกกำไรต่อชิ้นในราคาไม่สูงนัก เมื่อชิปปิงจากเกาหลีส่งสินค้าแล้ว ก็จะรายงานความคืบหน้าของระยะเวลาที่สินค้าจะถึงไทย ส่งสินค้าแล้วก็แสดง tracking number ให้ติดตามด้วย  ตลาดร้านรับพรีออร์เดอร์ของที่ระลึกจึงแข่งขันกันอย่างดุเดือด

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือคอนเสิร์ต “Permission to Dance on Stage” ของศิลปินวง BTS ที่มีอาร์มี่จากหลากหลายประเทศเป็นฐานแฟนคลับใหญ่ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๔ ที่กรุงโซล เป็นคอนเสิร์ตที่ไม่เปิดให้มีผู้ชม แต่ขายบัตรแบบสตรีมมิงไปยัง ๑๙๗ ประเทศ สามารถเลือกดูผ่านมุมกล้องต่าง ๆ อีกหกกล้อง

ต่อมาในวันที่ ๑๐, ๑๒ และ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๕ มีการเปิดให้เข้าชมคอนเสิร์ตใน Seoul Olympic Stadium ได้ โดยจำกัดจำนวนที่นั่งในแต่ละวันเพียง ๑.๕ หมื่นที่นั่ง จาก ๖.๕ หมื่นที่นั่ง เนื่องจากเกาหลียังอยู่ในช่วงควบคุมการระบาดของโควิด-๑๙ อยู่ ดังนั้นผู้ชมในสนามจะต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ห้ามส่งเสียงเชียร์ ร้องเพลงตาม หรือส่งเสียงกรี๊ดใด ๆ ทำได้เพียงยกแท่งไฟ ใช้กระดาษพับ (ที่แจกให้ก่อนเข้างาน) ตีกับฝ่ามือหรือต้นขาสร้างจังหวะให้สอดคล้องกับเพลงเท่านั้น และขายบัตรชมแบบสตรีมมิงในวันที่ ๑๐ กับ ๑๓ มีนาคม

Image

Image

Image

ของสะสมหลากหลายรูปแบบ เช่น พัด ที่ครอบแก้ว เข็มกลัด ตุ๊กตา ฯลฯ ที่แฟนคลับจัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสพิเศษ เช่น วันเกิด วันครบรอบวง โดยส่วนใหญ่แจกฟรีตามคาเฟ่หรือออนไลน์ หรือเป็นของแถมให้เมื่อร่วมบริจาคเงินเพื่อทำกิจกรรมพิเศษ

ส่วนคอนเสิร์ตวันที่ ๑๒ มีนาคมมีการถ่ายทอดสดในโรงภาพยนตร์ ๗๕ ประเทศทั่วโลก จำนวน ๓,๗๑๑ โรง อาร์มี่ประเทศไทยได้ชมจากโรงภาพยนตร์ในเครือเอสเอฟ บัตรราคา ๑,๒๐๐-๑,๕๐๐ บาท  อาร์มี่ที่เข้าชมล้วนถือแท่งไฟ บ้างใส่เสื้อสีม่วงซึ่งเป็นสีประจำวง หรือเสื้อที่สั่งซื้อจากเมิร์ช บ้างห้อยตุ๊กตาของเมนที่ตัวเองชื่นชม บนตัวมีของที่ระลึกของวงประดับ เพื่อแสดงอัตลักษณ์ในการเป็นอาร์มี่ ประสบการณ์การเป็นติ่งสูงวัยนำความรื่นรมย์มาสู่ชีวิตอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการเป็นอาร์มี่ที่ได้สัมผัสความสัมพันธ์พิเศษระหว่างแฟนคลับกับศิลปินทั้งเจ็ดคนของวง BTS เห็นการโอบอุ้มปกป้องศิลปินที่เรารักเหมือนคนในครอบครัวทุ่มเทสนับสนุนอยากเห็นพวกเขาประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น  ขณะที่สมาชิกวง BTS ก็ให้เกียรติและเห็นคุณค่าพลังรักของอาร์มี่ทั่วโลก แล้วทุ่มเทสร้างสรรค์ผลงานเพลงอันเปี่ยมด้วยเนื้อหาที่จริงใจต่อความเจ็บปวดร่วมของยุคสมัย เพราะพวกเขาก็ล้วนเผชิญปัญหาและความรู้สึกเหล่านี้เช่นกัน ดังนั้นเนื้อหาถ้อยคำ ถ้อยความ และดนตรีของพวกเขา จึงเข้าไปนั่งตบหลังตบไหล่โอบกอดสบตาให้กำลังใจยามความมืดมิดมาเยือนชีวิต จึงไม่น่าแปลกใจที่จำนวนของอาร์มี่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (จากที่มีอยู่ ๔๐ ล้านคนในปัจจุบัน) ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนน่าศึกษาและทำความเข้าใจยิ่งนัก ช่วงท้ายการแสดงคอนเสิร์ต ศิลปินวง BTS จะมีสินค้าที่ระลึก/เมิร์ชประดับอยู่บนตัว บางคนใส่สเวตเตอร์ เสื้อฮู้ด เสื้อแขนยาว มีผ้าเช็ดเหงื่อ สร้อยข้อมือ ฯลฯ ซึ่งของเหล่านั้นจะดูสะดุดตาประหนึ่งร่ายมนตร์สะกดอาร์มี่ให้จังงัง จนต้องรีบเสาะหารายละเอียดสินค้าและราคา กดสั่งพรีออร์เดอร์รัว ๆ ช่วงนี้ BTS กำลังเปิดคอนเสิร์ตที่ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา บัตรออนไลน์รอบสุดท้ายมานอนอุ่นรออยู่ในคอมพิวเตอร์แล้ว เหลือแต่ต้องทุบกระปุกหมูตัวเขื่อง เซ่นสังเวยมาลัยคล้องคอให้แก่ศิลปิน ประสาติ่งที่รู้สึกตัวอีกทีก็พบว่า ได้ย่ำทุกรอยเท้าความรู้สึกบนเส้นทางเดียวกับแม่ยกเสียแล้ว  

Image