เรื่องเล่าของมิฟฟี่ (Miffy)
และ ดิ๊ก บรูนา (Dick Bruna)
Souvenir & History
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
นอกจากดอกทิวลิป กังหันลม และรองเท้าไม้ ที่คุ้นเคยกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของเนเธอร์แลนด์ หลายคนอาจหลงลืมไปว่าประเทศนี้ยังมี “มาสคอต” (mascot) แบบไม่เป็นทางการอยู่ด้วย
หากญี่ปุ่นมีโดราเอมอน มีเฮลโล คิตตี้ (Hello Kitty) เนเธอร์แลนด์ก็มีมิฟฟี่ (Miffy) เป็นตัวชูโรง
กระต่ายน้อยตัวนี้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักของเด็ก ๆ ทั่วโลก และกลายเป็นของที่ระลึกที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องซื้อติดมือกลับบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพวงกุญแจ ตุ๊กตา หรือหนังสือนิทาน
เมื่อ ค.ศ. ๒๐๑๘ ผมเคยไปหาเธอถึงที่บ้าน
บ้านของมิฟฟี่อยู่ที่เมืองยูเทรกต์ (Utrecht) ใจกลางดินแดนกังหันลม
ด้วยความที่ประเทศเนเธอร์แลนด์มีขนาดไม่ใหญ่นัก และมีระบบขนส่งพรั่งพร้อม โดยเฉพาะระบบเส้นทางจักรยาน (ที่ว่ากันว่าดีที่สุดในโลก) การเดินทางไปบ้านเกิดของมิฟฟี่จึงไม่ใช่เรื่องยาก
ใช้เวลาบนรถไฟเพียง ๓๐ นาทีจากเมืองหลวง ลงที่สถานีกลางของยูเทรกต์ เดินไม่กี่อึดใจก็ถึงพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเป็นภาษาดัตช์ว่า Nijntje Museum (Miffy Museum) ซึ่งสร้างขึ้นบนพื้นที่เดียวกันกับบ้านของ ดิ๊ก บรูนา (Dick Bruna) ผู้ให้กำเนิดกระต่ายน้อยตัวนี้
ดิ๊กเกิดที่เมืองนี้เมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๗ ครอบครัวของเขามีกิจการโรงพิมพ์ (ชื่อ A.W. Bruna & Zoon) ที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า บิดาคาดหวังว่าเขาจะรับช่วงกิจการโรงพิมพ์และงานออกแบบสิ่งพิมพ์ต่อ
ในวัยเด็ก เมื่อกองทัพนาซีเข้ายึดครองเนเธอร์แลนด์ ครอบครัวของดิ๊กต้องอพยพไปซ่อนตัวนอกเมือง ช่วงนี้เองที่เขาเริ่มสนใจวาดภาพสิ่งที่พบเห็นรอบตัว โดยเฉพาะเมื่อเพื่อนพ่อที่เป็นศิลปินนักออกแบบเดินทางไปเยี่ยมเยียน ก็กลายเป็นเหมือนตำราเล่มใหญ่ให้เขาได้ศึกษา
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ดิ๊กในช่วงวัยรุ่นเข้าทำงานร้านหนังสือ ก่อนถูกส่งไปฝึกงานในอังกฤษและฝรั่งเศส เพื่อให้เรียนรู้ระบบธุรกิจสำนักพิมพ์ ที่กรุงปารีสนี่เองเขาเริ่มหันมาสนใจงานจิตรกรรม อิทธิพลจากผลงานของ ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso จิตรกรชาวสเปน) และอ็องรี มาติส (Henri Matisse จิตรกรชาวฝรั่งเศส) ทำให้เขากลับบ้านเกิดมาเข้าศึกษาศิลปะที่สถาบัน Rijksakademie van Beeldende Kunsten แหล่งกำเนิดของจิตรกรมีฝีมือหลายคน
แต่ต่อมาเขามองว่าตนเองไม่มีพรสวรรค์ด้านนี้ จึงหันกลับไปทำงานวาดภาพและออกแบบให้ธุรกิจของทางบ้านโดยไม่ยอมรับงานบริหาร ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๑ ดิ๊กวาดภาพประกอบปกหนังสือ ออกแบบโปสเตอร์มากกว่า ๒,๐๐๐ ชิ้น ก่อนที่ ๒ ปีต่อมาจะยุติการออกแบบปกให้คนอื่น แล้วหันมาทำหนังสือภาพของตัวเองและวาดภาพช่วยเหลือองค์กรการกุศล เช่น ยูนิเซฟ (UNICEF) เป็นต้น
จนวันหนึ่งใน ค.ศ. ๑๙๕๕ ระหว่างพักผ่อนกับครอบครัว เขาพบกระต่ายน้อยตัวหนึ่ง เขาร่างภาพมันจนกลายเป็นต้นกำเนิดตัวการ์ตูนที่มีชื่อในภาษาดัตช์ว่า Nijntje (ไนน์เจอะ) ซึ่งย่อมาจาก konijntje “ต่ายน้อย” โดยภาพนี้เขาวาดให้บุตรชาย
แม้ว่าดิ๊กยังไม่กำหนดเพศให้ไนน์เจอะ แต่ “ต่ายน้อย” ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างเมื่อเขาพิมพ์ลงในการ์ดและเริ่มเปิดตลาดหนังสือเด็กในต่างประเทศ ทำให้ไนน์เจอะกลายเป็นตัวการ์ตูนอันเป็นที่รักของเด็กทั่วโลก โดยต่อมาชื่อ “ไนน์เจอะ” ถูกแปลงเป็น “มิฟฟี่” เพื่อให้คนทั่วโลกเรียกง่ายขึ้น
มีการวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ทำให้งานของดิ๊กโดดเด่นคือหนังสือเด็กของเขาเล่มเล็ก หยิบจับสะดวก ภาพของเขาสื่อสารชัดเจนด้วยสีสดใส มิฟฟี่ถูกวาดด้วยเส้นสีดำหนาหนัก มีรายละเอียดน้อย แสดงอารมณ์ด้วยการปรับเปลี่ยนเส้นต่าง ๆ บนใบหน้า สื่อสารเรื่องที่ซับซ้อนได้โดยไม่ต้องลงรายละเอียดด้วยภาษาสากลของเส้น นอกจากนี้เขายังเลือกใช้ฟอนต์เฮลเวติกา (Helvetica) วางตรงข้ามภาพ (หน้าคู่) แต่พอดี เพื่อดึงดูดความสนใจของเด็ก ๆ ที่อ่าน
เจ้าตัวเคยยอมรับว่าอิทธิพลการวาดและการออกแบบนี้มาจาก “มาติส” จิตรกรชาวฝรั่งเศส โดยดิ๊กเคยให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่าเมื่อวาดภาพ เขา “ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกและเปิดพื้นที่ให้กับจินตนาการ”
ดิ๊กเป็นศิลปินที่ทำงานลุยเดี่ยวมาตลอด เขาไม่สนใจงานบริหาร โดยปล่อยให้น้องชายดูแลกิจการโรงพิมพ์ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๘ ส่วนตัวเขาเองมุ่งมั่นทำหนังสือภาพอย่างจริงจัง
ใน ค.ศ. ๑๙๗๐ เขาจับมิฟฟี่แต่งชุดเด็กหญิง จนทำให้ได้ข้อสรุปว่า “เธอ” เป็นกระต่ายตัวเมีย มีการตีพิมพ์มิฟฟี่เวอร์ชันหนังสือเด็กมากกว่า ๕๐ ภาษา จำนวนกว่า ๘๐ ล้านเล่มทั่วโลก ยังไม่นับว่าของที่ระลึกที่เกี่ยวข้องสามารถทำรายได้กว่า ๓๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ข้อมูล ค.ศ. ๒๐๑๑)
มิฟฟี่โด่งดังมากในญี่ปุ่น ดิ๊กเคยให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า เฮลโล คิตตี้ (Hello Kitty ซึ่งเกิดหลังมิฟฟี่ ๒ ทศวรรษ) นั้น ลอกเลียนแบบจากมิฟฟี่ของเขา รวมทั้งยังเคยมีการฟ้องร้องในชั้นศาลกรณีตัวการ์ตูนกระต่ายของญี่ปุ่นซึ่งดูคล้ายมิฟฟี่ ซึ่งท้ายที่สุดเขาเป็นฝ่ายชนะคดี
ในชีวิตประจำวัน ดิ๊กตื่นราว ๐๕.๐๐ น. รับประทานอาหารเช้า จากนั้นขี่จักรยานไปสตูดิโอ แล้วเริ่มลงมือวาดภาพดวงตาสีฟ้าหลังแว่นตาและหนวดสีขาวของเขาเป็นประกายยามทำงาน ไม่ต่างกับ “คุณปู่” ของมิฟฟี่ เขาใช้ชีวิตเช่นนี้สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะมีรายได้มหาศาลเพียงใด
ค.ศ. ๒๐๐๖ บ้านของดิ๊กยังเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์เมือง ถึง ค.ศ. ๒๐๐๗ เมื่ออายุครบ ๗๐ ปี เขาได้รับภาพวาดและบัตรอวยพรจากนักออกแบบและนักวาดทั่วทั้งเมือง ทั้งยังได้รับรางวัลจากทางการในฐานะศิลปินคนสำคัญของเมือง
ค.ศ. ๒๐๑๗ ทั่วเมืองยังประดับภาพที่ดิ๊กวาด โดยก่อนหน้านี้บ้านของดิ๊กในฐานะพิพิธภัณฑ์ยังได้รับการปรับปรุงและเปิดอีกครั้ง (ค.ศ. ๒๐๑๖) โดยมีเรื่องของมิฟฟี่เพิ่มขึ้นตามเสียงเรียกร้อง ในเมืองยังมี “จัตุรัสมิฟฟี่” ตั้งอยู่ด้วย
ก่อนที่ดิ๊กจะจากไปตลอดกาลระหว่างนอนหลับด้วยวัย ๘๙ ปี เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๑๗
แน่นอนว่าเราอาจพบ “ต่ายน้อย” ได้ทั้งในหนังสือ ตัวการ์ตูน พวงกุญแจ หรือเข็มกลัด แต่มิฟฟี่เป็นมากกว่าของที่ระลึก เพราะเธอคือตัวแทนเจตนารมณ์ของศิลปินคนหนึ่งที่ตั้งใจวาดภาพเพื่อเด็ก ๆ อย่างที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า
“เด็ก ๆ สามารถเป็นเจ้าของหนังสือได้มากกว่าภาพยนตร์หรือรายการโชว์...พวกเขาจะเขียนชื่อตัวเอง คุณอ่านให้เขาฟังหลายรอบ เขาเรียนรู้ทุกอย่างจากหนังสือ หลังจากนั้นเขาก็อ่านให้คุณฟัง การให้สิ่งนี้แก่เยาวชนคือจุดประสงค์ของผม” (Financial Times ๒๖ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๑๑)