Image

รู้ได้ไงมีใครจ้อง ?

วิทย์คิดไม่ถึง

เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพ : นายดอกมา

คนทั่วโลกมีคำถามคาใจเหมือนกัน

หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นก็คือทำไมเรารู้สึกได้ว่ามีคนกำลังจ้องอยู่ ? และเมื่อหันไปมองก็มักเห็นคนคนนั้นจ้องอยู่จริง ๆ

เมื่อลองค้นดูก็พบว่ามีงานวิจัยที่ทำเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๙๘ (Science. 1898, DOI : 10.1126/science.8.208.895) หรือกว่า ๑๒๐ ปีแล้ว !

แสดงว่านักวิทยาศาสตร์มีคำตอบให้แล้วหรือ ?

การทดลองหนึ่งสรุปยืนยันว่า มีคนถึง ๙๔ เปอร์เซ็นต์ที่รู้สึกว่ามีคนจ้องอยู่และก็พบว่าเป็นเช่นนั้นจริง

แม้ว่าจะฟังดูน่าทึ่ง คล้ายกับเรามีพลังวิเศษประจำตัวหรือเป็นเอกซ์เมน แต่คำตอบหลังจากทำวิจัยกันมากเข้าก็อาจจะทำให้หลายคนผิดหวังทีเดียว

รู้สึกว่ามีคนจ้องอยู่แน่ๆ

ปรากฏการณ์ทางชีววิทยาที่มีหลายชื่อเรียก ไม่ว่าจะเป็น “การตรวจจับการจ้องมอง (gaze detection)” “การรับรู้การจ้องมอง (gaze perception)” หรือ “ปรากฏการณ์พลังจิตจากการจ้องมอง (psychic staring effect)” มีความพิเศษอยู่หลายประการ

ประการแรกคือเป็นสากล คนทุกเชื้อชาติ ภาษา น่าจะเคยรับรู้สัมผัสพิเศษทำนองนี้ได้เหมือน ๆ กัน  ประการต่อมาก็คือเรามักรับรู้ได้แม้ว่าจะยังไม่เห็นคนที่จ้องอยู่ เช่น อาจอยู่ด้านข้างเยื้องไปด้านหลังมาก ๆ หรืออยู่ด้านหลัง และประการสุดท้าย ความรู้สึกแบบนี้มักท่วมท้นใจ จนบ่อยครั้งทนไม่ไหวต้องหันไปมอง

เห็นก็ไม่ได้เห็น แล้วรับรู้ได้อย่างไรว่ามีคนมอง ? หรือนี่จะเป็นพลังจิต พลังวิเศษของมนุษย์จริง ๆ ?

คำตอบไม่ได้อยู่แค่ที่ดวงตา แต่ยังรวมไปถึงสมองของเราที่ผ่านวิวัฒนาการมาจนทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ขึ้นได้

ดวงตาสื่อภาษาใจ

การจ้องตาเป็นการสื่อสารที่สำคัญมากแบบหนึ่งของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ถึงกับมีผู้เชื่อว่าน่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่ “ทรงพลังที่สุด” ในบรรดาภาษากาย แถมยังพบได้กว้างขวางในอาณาจักรสัตว์ แต่จะมีความหมายแตกต่างกันไปบ้างแล้วแต่กรณี

สัตว์ผู้ล่าอาศัยการจ้องมองอย่างตั้งอกตั้งใจก่อนตะครุบเหยื่อ ในขณะที่สัตว์หลายชนิดจ้องมองเพื่อข่มขวัญคู่ต่อสู้ ที่น่าสนใจก็คือสัตว์ต่างสายพันธุ์อย่างคนกับแมวหรือหมาก็จ้องตาสื่อสารกันได้ด้วย ดังคนที่เป็นทาสแมวหรือทาสหมารู้กันดี

มีการสังเกตพบด้วยว่า หมาอาจมีวิวัฒนาการจ้องตากับมนุษย์มากขึ้นหลังจากย้ายสำมะโนครัวมาอยู่กับมนุษย์ หมาจรจัดในสถานที่กักกันที่จ้องตาและทำตาโตใส่มนุษย์มากกว่า จะมีโอกาสมีผู้นำไปชุบเลี้ยงมากกว่าและรวดเร็วกว่า

สำหรับกรณีของมนุษย์ ทารกใช้การจ้องตาเป็นการเรียกร้องความสนใจแบบหนึ่ง การศึกษาในทารกอายุเพียง ๒-๕ วัน พบว่าเด็ก ๆ ชอบมองหน้าและจ้องเข้าไปในดวงตามากกว่าจะมองแฉลบไปมา

การศึกษาในลิงทำให้รู้ว่ามีกลุ่มเซลล์ประสาทจำเพาะที่รับผิดชอบเรื่องการจ้องตากัน แม้ในคนจะยังไม่พบ แต่ก็เดากันว่าน่าจะมีอยู่คล้ายกัน  เซลล์สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทำงานอย่างละเอียดอ่อนมาก  การจ้องตากันตรง ๆ จะทำให้เกิดความรู้สึกจำเพาะ และการเบนสายตาผิดไปแค่ไม่กี่องศาก็พอจะทำให้ความรู้สึกดังกล่าวหดหายไปได้แล้ว

สมองคนส่วนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการมองมีอยู่อย่างน้อย ๑๐ บริเวณของสมอง และอาจจะมากกว่านั้นอีก โดยส่วนหลักที่คอยควบคุมเรียกว่าวิชวลคอร์เทกซ์ (visual cortex) ซึ่งมีขนาดใหญ่และอยู่ที่สมองส่วนหลัง แต่สมองส่วนอะมิกดาลา (amygdala) ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปและเกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกรวมถึงรับผิดชอบการรับมือภัยคุกคาม ก็เกี่ยวข้องกับการจ้องมองด้วย

หากคนที่เราจ้องมองอยู่ ปุบปับเปลี่ยนไปมองอะไรอย่างอื่น ร่างกายของเราจะบังคับให้เรามองตามในทันที แสดงให้เห็นถึงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อความอยู่รอดตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังสำคัญสำหรับการสร้างความร่วมมือและการเข้าสังคมด้วย  งานวิจัยในระยะหลัง ๆ มานี้ชี้ให้เห็นอีกว่า การจ้องตาตรง ๆ ช่วยทำให้เกิดความรู้สึกดึงดูดใจและสร้างความเชื่อถือต่อกันให้มากขึ้น

เรียกว่าตาเป็น “ประตูใจ” จริง ๆ ไม่ได้เป็นแค่คำเปรียบเทียบเท่านั้น

ความลับของดวงตามนุษย์

นุษย์กับสัตว์อื่นคือ เรามีส่วนตาขาวล้อมรอบรูม่านตาใหญ่เกินกว่าของสัตว์อื่นใด ในสัตว์ส่วนใหญ่รูม่านตามักจะครอบคลุมพื้นที่ดวงตาส่วนใหญ่ หรือไม่ก็มีส่วนเทียบเท่ากับตาขาวของเรา แต่มักมีสีเข้มกว่ามาก

วิธีการนี้ช่วยพรางไม่ให้สัตว์นักล่าเห็นดวงตาของมันได้ง่ายนัก

แต่การมีตาขาวที่ใหญ่มีประโยชน์อะไรสำหรับมนุษย์ จนถึงกับต้องแลกเปลี่ยนกับความปลอดภัยจากสัตว์นักล่า ?

การมีตาขาวขนาดใหญ่ทำให้เราเห็นทิศทางที่คนอื่นมองอยู่ง่ายขึ้น แม้แต่ไม่จำเป็นต้องจ้องตาตรง ๆ แค่เหลือบมองก็พอจะระบุทิศทางได้คร่าว ๆ แต่แน่นอนว่าย่อมไม่เที่ยงตรงเท่ากับมองตรง  อันที่จริงมีการทดลองที่แสดงว่าเราสามารถแยกแยะได้ว่าคนคนนั้นจ้องเราอยู่หรือไม่ในระดับความแตกต่างแค่ ๔ องศา เทียบกับจุดกึ่งกลางการมอง ซึ่ง...แคบมาก !

เรายังระบุทิศทางการมองว่ามีคนจ้องเราอยู่หรือไม่ โดยดูจากตำแหน่งศีรษะ รวมถึงทิศทางของตัวคนคนนั้น แต่อันนี้จะคร่าวมากสักหน่อย

หากไม่แน่ใจสมองก็จะตีความไว้ก่อนว่าคนคนนั้นจ้องเรา

การตีความแบบนี้มีข้อดีคือทำให้เราตื่นตัว แต่ก็ทำให้เครียดได้ง่าย ๆ เหมือนกัน

ยังไงก็มีคนจ้องอยู่แน่

การทดลองใน ค.ศ. ๒๐๑๓ (Current Biology. DOI : https://doi.org/10.1016/j.cub.2013.03.030) แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สมองทำงานโดยคิดเสมอว่า หากเราไม่เห็นตัว ให้คิดไว้ว่าคนผู้นั้นจ้องมองเราอยู่

การตีความของสมองแบบนี้เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานใด ๆ มาสนับสนุนทั้งสิ้น

การที่เป็นเช่นนี้ เพราะวิวัฒนาการให้น้ำหนักมากกับสิ่งที่อาจจะเป็นพิษภัยหรือเป็นอันตรายกับเรา การตีความไว้ก่อนว่ามีคนกำลังจ้องอยู่และเราอาจกำลังจะตกอยู่ในอันตราย จึงเป็นกลยุทธ์ที่ปลอดภัยและคุ้มค่า แม้ว่าอาจเป็นการตีความผิดพลาดก็ตาม

การหันไปเจอว่ามีคนจ้องมองอยู่อาจเป็นแค่เรื่องบังเอิญ หรือเพราะการหันของเรากระตุ้นให้คนอื่นหันมามองเราก็เป็นไปได้เช่นกัน เรียกว่าเป็นคำทำนายที่ตัวคำทำนายทำให้เกิดผลลัพธ์แบบนั้นเอง (self-fulfilling prophecy)

นอกจากนั้นปรากฏการณ์นี้ยังอาจเกิดจากอคติแบบยืนยันความเชื่อ (confirmation bias) ที่เรามีอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว กล่าวคือหากหันไปเจอคนจ้องมองเราอยู่ก็จะตอกย้ำความเชื่อ ในขณะที่หากหันไปมองแล้วไม่เจอใครจ้องมองอยู่ เรากลับไม่ให้ความสำคัญและไม่จดจำเรื่องดังกล่าวเอาไว้

เราจึงรู้สึกเอนเอียงไปในทางว่าหันไปมองทีไรก็มีคนจ้องมองอยู่จริง ๆ ทั้งที่ความจริงไม่ใช่แบบนั้นสักหน่อย

กล่าวโดยสรุปก็คือ ความรู้สึกว่ามีคนจ้องมองอยู่นั้นเป็นผลจากวิวัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับการมองและสมองของเรา แต่ไม่ได้มีความแม่นยำเป็นพิเศษอย่างใดทั้งสิ้น