Image
“ดองใส”
เปลือยชีวิตด้วยสีสัน
ธรรมชาติ ทํามาโชว์ 
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์ 
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ตรงหน้าคือ “คางคกบ้าน” สัตว์กินแมลงที่พบบ่อยช่วงฤดูฝน

เป็นโครงร่างใส มองเห็นกระดูกที่ถูกย้อมสี

ตามจริงทุกวันนี้มีวิธีศึกษาโครงร่างของสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กซึ่งยากต่อการทำกระดูกแห้ง อย่างนก งู กบ กุ้ง ปลา ตัวอ่อนของหนู หรือตัวอ่อนในท้องแม่ ฯลฯ ด้วยอุปกรณ์ทันสมัยอย่างเครื่องเอกซเรย์ฉายภาพ (x-ray radiography) หรือ CT scan (computed tomography) 

แต่วิธี “ดองใส” แบบ “ย้อมสีกระดูก” ก็มีข้อได้เปรียบตรงสำรวจกระดูกได้เกือบทุกมุมมอง (แต่ต้องเป็นสัตว์ที่มีลําตัวไม่หนา) และมีขั้นตอนไม่ยากนัก เพียง “ฟอกสี ย้อมสี แล้วทำให้ใส”

โดยใช้ฟอร์มาลิน ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ สีย้อมกระดูกอ่อน “อัลเชียน บลู” (alcian blue) หรือสีย้อมกระดูกแข็ง “อลิซาริน เรด เอส” (alizarin red S) กลีเซอรีน กรดอะซีติก เอทิลแอลกอฮอล์ และน้ำกลั่น ตามสูตรเคมีจนสัตว์มีลำตัวใส จึงเห็นกระดูกและเนื้อเยื่อเป็นสีสันสวย

ในมุมหนึ่งนอกจากประโยชน์ด้านการศึกษา ร่างของสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยยังปรากฏความงามหลังความตาย เมื่อมนุษย์จับ “วิทย์ใส่ศิลป์” สัตว์ที่คุ้นเคยก็ดูแปลกตา บางชนิดดูประหลาดชวนนึกถึงสิ่งมีชีวิตจากต่างดาว บางชนิดยามมีชีวิตเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่น่าอยู่ห่าง ครั้นผ่านกระบวนการดองใสเผยกระดูกที่เรียงร้อยกันในวงขดอวดโครงสร้างละเอียดซับซ้อน กลับน่าขยับไปชื่นชมใกล้ ๆ

ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีผู้ใดอยู่เหนือธรรมชาติ หากสารละลายที่แช่ระเหยหมด ตัวอย่างดองใสสีสวยของสัตว์ก็จะแห้งและเสีย คืนกายวิจิตรสู่ธรรมชาติ  
ขอขอบคุณ : 
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง คณะประมง 
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์