Hidden (in) Museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
จากนี้สรรพสิ่งใน “พัฒน์พงศ์”
จะไม่ใช่เรื่องต้องกระซิบ
รางวัล “พิพิธภัณฑ์เพื่อชุมชนและสังคม” ที่ได้รับจาก Museum Thailand Award 2021 ตัดสินโดยผลโหวตของคนทั่วโลกที่เข้าชมใน TripAdvisor ภาคภูมิพอการันตีฐานะแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ที่ทรงคุณค่าแง่วิชาประวัติศาสตร์สังคมอันมีเอกลักษณ์และแสดงเรื่องราวได้สวยงามตื่นตาตื่นใจไม่แพ้หอศิลป์
ยุคหนึ่งพื้นที่นี้คือบริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย ผลิตและให้บริการด้านคอมพิวเตอร์และสารสนเทศรายใหญ่ของโลก ก่อนเปลี่ยนเป็นดิสโกเทก “Superstar” แล้วผันอีกครั้งเมื่อ “ไมเคิล เมสส์เนอร์” (Michael Messner) ชาวออสเตรีย เช่าพื้นที่เปิดพิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์ในปี ๒๕๖๒ ย่านนี้จึงได้รับการเล่าใหม่ผ่านวิธีทันสมัยและเซ็กซี่อย่างชาญฉลาด มีกลุ่มโมเดลชุมชนแสดงสถาปัตยกรรม วิถีผู้คนที่ผสมสีสันของหนุ่มนักธุรกิจกลางวัน-สาวนักเต้นรำราตรี สะท้อนมิติทางวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวติดรสกว่าส้มตำหรือต้มยำกุ้ง มากด้วยภาพถ่ายเปิดใบหน้าผู้มีอาชีพสร้างสรรค์ชีวิตชีวา แล้วจัดพื้นที่แสดงงานศิลปะโดยฝีแปรงจิตรกรไทยอวดรูปหลากอิริยาบถทางเพศเผยธรรมชาติหนึ่งของมนุษย์ ให้บางเรื่องที่พูดยากสื่อสารได้ง่ายขึ้น
เปิดถึง ๓ ทุ่ม ยังยกบาร์เครื่องดื่มเคล้าดนตรีมาขับกล่อมขณะชมโชว์อะโกโกด้วยเทคนิคเสมือนจริง ภายใต้เงื่อนไขที่สงวนให้เข้าเฉพาะผู้มีอายุถึง ๑๘ ปี โลกหลังบาร์ยังชวนตาวาวต่อ และคงน่าเสียดายหากพลาดรู้จัก “ประวัติศาสตร์ในร่างกายสตรี” ที่เกิดขึ้นจริงมานานทั่วโลกก่อนดังที่พัฒน์พงศ์ในช่วงสงครามเวียดนาม ผ่านกิจกรรม “fucking shows” นักแสดงต้องมีความชำนาญการใช้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานบดกล้วย, เปิดฝาขวด, จับตะเกียบคีบของ, นำใบมีดโกนใส่หลอดแก้วที่สวมถุงยางอนามัยชโลมวาสลีนก่อนสอดเข้าช่องคลอดแล้วค่อยดึงออกมาเป็นพวง, เก็บปลาทองไว้ข้างในก่อนใช้แรงลมขับออกมาใส่ชามโดยที่ปลายังมีชีวิต, สอดลูกโป่งแล้วเป่าลมให้ผู้เล่นปาลูกดอก ฯลฯ
ทั้งหมดเล่าผ่านสื่อวิดีโอที่จัดทำคล้ายหนังสารคดีชีวิตแบบมีเซนเซอร์
น่าสนใจกิจกรรม “ปิงปองโชว์” ซึ่งโด่งดังในภาพลักษณ์อนาจาร แต่พิพิธ-ภัณฑ์กลับออกแบบให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสประสบการณ์พิเศษอย่างไม่รู้สึกกระมิด-กระเมี้ยน ใช้ศิลปะเทคโนโลยีนำเสนอผ่านรูปเงาเคลื่อนไหวของสตรีที่กำลังแสดง นำลูกปิงปองใส่ไว้หลังเครื่องเล่นที่อุปโลกน์เป็นภายในช่องคลอด แล้วดีดออกมาอย่างไร้ทิศทาง ผู้เล่นอยู่ฝั่งตรงข้ามจะใช้กระชอนรับลูกปิงปองให้ได้มากที่สุดในเวลาอันรวดเร็ว !
(หากเป็นการแสดงจริงจะสอดลูกปิงปองไว้อย่างน้อยสามลูก สร้างความบันเทิงให้นักท่องเที่ยวใช้ไม้ตีปิงปองเล่นโต้ตอบได้ต่อเนื่อง) ในมุมศิลปะ-สังคม
ศาสตร์วิถีมนุษย์เหล่านี้ไม่ได้ด้อยค่ากว่าเรื่องเชิงสังวาสบนภาพเขียนในถ้ำหรือผนังอุโบสถ หากไม่มีสถานที่บันทึกด้วยกังวลว่าขัดต่อศีลธรรมจรรยาของผู้คน
ในประเทศ เรื่องจริงแห่งยุคสมัยอาจถูกบิดเบือน-ถกเถียงกันในอนาคตว่าเป็นเพียงเรื่องเล่าแฟนตาซี
เป็นเรื่องดีที่ผู้มาเยี่ยมชมไม่ได้มีเพียงต่างชาติ ยังมากด้วยคนไทยชาย-หญิง
ที่อยากรู้รากเหง้าของกรุงเทพฯ และคณะนักศึกษาที่สนใจประวัติศาสตร์นอกตำราซึ่งในชีวิตอาจไม่กล้าสัมผัสสถานที่จริง
ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...
ต้องมาดู
เราอยากให้คนกรุงเทพฯ รู้จักอีกมุมของที่นี่มากกว่าย่านโคมแดงที่ผู้ใหญ่สอนลูกหลานไม่ให้เดินผ่าน แม้แต่หนุ่ม ๆ หาสถานที่กินดื่มก็ไม่กล้าบอกใครว่าแฮงก์เอาต์พัฒน์พงศ์ เพราะภาพลักษณ์มีแต่อะโกโก โชว์ลามก เที่ยวผู้หญิง พอเล่าให้เพื่อนฟังว่าเป็นผู้จัดการที่ ‘พัฒน์พงศ์มิวเซียม’ เพื่อนก็ทัก ‘เป็นมาม่าซังเหรอ’ เราก็ตกใจ ‘เฮ้ย ฉันทำงานมิวเซียม’ คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าคืออะไรในพัฒน์พงศ์ ตอนที่ซอยพัฒน์พงศ์ถูกปิดเนื่องจากสถานการณ์โควิด ตำรวจก็ให้ที่นี่ปิดด้วย เพราะตั้งอยู่ย่านไนต์คลับ แม้จะอธิบายว่าเป็น ‘มิวเซียม’ ซึ่งเวลานั้นรัฐบาลยังไม่ได้ประกาศให้ปิด แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่เข้าใจ พอถึงกำหนดที่มิวเซียมทั่วไทยได้รับอนุญาตให้เปิดบริการ เราก็ไปแจ้งทางท้องที่เขตว่าจะเปิดแล้วนะ เจ้าหน้าที่ก็ปฏิเสธอีก คราวนี้ส่งคณะมาตรวจสอบหลายสิบคน ถึงเข้าใจว่าเป็นมิวเซียมจริง ๆ ไม่ใช่นำคำว่ามิวเซียมมาตั้งเป็นชื่อบาร์ จึงต้องกำชับลูกน้องว่าต่อไปอย่าเรียกพัฒน์พงศ์มิวเซียม ให้พูดถึงที่นี่ด้วยคำว่า ‘พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์’”
อภิรดี จันทนางกูล
ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์
พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์
อาคารเลขที่ ๕ ชั้น ๒ พัฒน์พงศ์ซอย ๒ เขตบางรัก
กรุงเทพมหานคร
เปิดให้บริการทุกวัน (ยกเว้นวันพุธ)
เวลา ๑๒.๐๐-๒๑.๐๐ น.
ค่าเข้าชม นักศึกษา ๒๕๐ บาท
บุคคลทั่วไป ๓๕๐ บาท
(มีคูปอง ๕๐ บาทสำหรับแลกเครื่องดื่ม-ของที่ระลึก)
โทร. ๐๙-๑๘๘๗-๖๘๒๙