นิทรรศการเกียรติยศแผ่นดินสยาม
นิทรรศน์รัตนโกสินทร์
ปี ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี แล้วย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมา “ตำบลบางกอก” ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของบรรดาพระยาเศรษฐีและชาวจีน ก่อนโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระราชวังหลวง” เป็นที่ประทับและศูนย์กลางการปกครองบ้านเมืองใน “ยุครัตนโกสินทร์”
นิทรรศการ
Tiny Bangkok
ดีเทลแห่งมหานครย่อส่วน
SCOOP
ออกแบบนิทรรศการ Tiny Bangkok : สุชาดา ลิมป์
สร้างสรรค์ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
กรุงเทพมหานครเดินทางมาถึง ๒๔๐ ปีทั้งที ชวนเฉลิมฉลองราชธานีด้วยนิทรรศการ Tiny Bangkok ดีเทลมหานครย่อส่วน
พลิกอ่านเรื่องราวบนหน้ากระดาษด้วยความรู้สึกเหมือนกำลังเปิดสูจิบัตรที่จัดแสดงโมเดล เมืองจิ๋ว ยกมาจากพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์หลายแห่ง เล่าวิถีสีสันคนกรุงต่างยุค ผ่านการจัดหมวดช่วงเวลาทุก ๔๐ ปี แม้เป็นประวัติศาสตร์ย่อส่วน แต่เฟ้นประเด็นให้ได้อิ่มรายละเอียด
บางทีสิ่งขาด ๆ เกิน ๆ อันทันสมัยปนเปวิถีมัวเมาที่น่าหลงใหลอธิบายลำบาก อาจนำไปสู่รอยยิ้มและการสำรวจความทรงจำที่ต่างก็มีต่อที่นี่...กรุงเทพฯ
ปี ๒๓๒๕-๒๓๖๕
(รัชกาลที่ ๑-๒)
จีนจ๋า นักการค้า
แห่งยุคสร้างกรุง
นิทรรศการกำเนิดชุมชนชาวจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช
ภาพ : วิชญดา ทองแดง
สินค้าขายก่ายกองล้วนของเทศ
งามวิเศษสลับศรีพื้นที่ขาว
เครื่องเงินทองก่องแก้วดูแวววาว
ของระนาวผูกระโยงห้อยโตงเตง
มีนานาสารพัดอนันต์เนื่อง
ทั้งรุ่งเรืองแลพิเคราะห์ทำเหมาะเหมง
บ้างไขกลดนตรีให้ตีเพลง
เสียงวังเวงหวานวาบทราบสกล
นิราศชมตลาดสำเพ็ง ของหลวงบุรุษประชาภิรมย์ ปี ๒๔๑๘
คือภาพสะท้อนจากจุดเริ่มปี ๒๓๒๕ ครั้งเศรษฐีชาวจีนถูกโยกย้ายออกจากตำบลบางกอก
สถานตั้งรกรากของบรรพบุรุษครั้งอพยพสู่สยามตั้งแต่ยุคกรุงธนบุรี ผู้อพยพสู่สยามช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม “แต้จิ๋ว”
(สืบเนื่องจากพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีเชื้อสายแต้จิ๋ว) ที่ได้รับการยกย่องจากชาวสยาม ด้วยรู้จักแสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ เมื่อมีเรือสินค้าเทียบท่า แพรพรรณ อัญมณี
เครื่องเคลือบ กระเบื้อง โลหะ ยา อาหาร ขนม ฯลฯ จะถูกส่งเข้าวังก่อน เหลือจากพระราชประสงค์จึงขายให้ประชาชน และชาวจีนเองก็นับถือศาสนาคล้ายคนสยามจึงปฏิบัติตนกลมกลืนแนบเนียน เป็นปัจจัยเสริมให้ชาวจีนช่วงต้นรัตนโกสินทร์แทรกสู่สังคมศักดินา รับราชการเป็นขุน หลวง พระยา เช่นตระกูลผู้ดีของชาวสยาม
ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังบริเวณชุมชนบ้านจีนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จึงให้พวกเขาย้ายไปอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ขนานกับลำน้ำตั้งแต่ “คลองใต้วัดสามปลื้ม” ถึง “คลองเหนือวัดสามเพ็ง”
แต่ไม่เกินความเชี่ยวชาญของพ่อค้าชาวจีน พวกเขาบุกเบิกพื้นที่รกร้างจนเป็นศูนย์การค้า-ท่าเรือสำคัญได้อีกรอบ (ภายหลังรู้จักในชื่อย่าน “เยาวราช” และ “สำเพ็ง”) เมื่อเรือสำเภาลำโตทอดสมอกลางเจ้าพระยาคราใด เรือเล็กจะออกไปรับสินค้ามาขึ้น “ท่าวัดสามเพ็ง” (ข้างวัดปทุมคงคา) และ “กงสีล้ง” (ท่าน้ำราชวงศ์) แต่นั้นบริเวณนี้ก็มีชาวจีนอพยพมาสมทบต่อเนื่อง
จดหมายเหตุของชาวต่างชาติบันทึกว่ากรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) มีประชากร ๕ หมื่นคน ในนั้นเป็นจีนถึง ๓.๑ หมื่นคน ทั้งผู้ที่หอบเบี้ยมาทำการค้า และชาวนาแร้นแค้นที่มุ่งขายแรงงานเก็บหอมรอมริบจนขยับฐานะสู่ความมั่งคั่งแต่นั้นชาวจีนก็ขยายวงศ์วานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนกรุงเทพฯ
“บรรพบุรุษเรามาจากเมืองจีนพร้อมตระกูล ‘หวั่งหลี’ ส่วนใหญ่เป็นชาวจังหวัดแต้จิ๋วและจังหวัดซัวเถา พ่อกับพี่สาวเป็นลูกจ้างครอบครัวหวั่งหลี เราจึงเกิดและเติบโตที่ฮวยจุ่งล้ง สมัยก่อนอยู่กันแบบเครือญาติ พ่อแม่ทำงานที่เดียวกัน เด็ก ๆ จึงพลอยเป็นพี่น้อง ยุคที่ไม่มีโทรทัศน์ แค่ถอดเกี๊ยะวางเรียงแล้วกระโดดข้ามก็สนุกแล้ว ช่วงเย็นเด็กจะรวมตัวที่ลานว่างหน้าตึกเยอะมาก พ่อแม่เรียกไปเถอะ ไม่มีใครยอมเข้าบ้าน”
เอมอร ประเทศกรณีอ่างแก้ว หญิงวัย ๗๐ ปี ผู้อาศัยที่พักคนงาน “ฮวยจุ่งล้ง” ท่าเรือกลไฟตรงข้ามวัดสามเพ็ง ของครอบครัว “หวั่งหลี” เป็นรุ่นสุดท้ายเมื่อปี ๒๕๕๘ (ก่อนผันเป็น “ล้ง 1919” แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีน เมื่อปี ๒๕๖๐-๒๕๖๔)
บนผังที่ดิน ๖ ไร่ ริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี (ที่ตั้งราชธานีเก่า) เคยมากด้วยนิวาสสถานของเหล่าขุนนางและพ่อค้าจีน
ผู้เกิดในสยามและโตในยุคการค้าระหว่างซัวเถา-บางกอก
อดีตที่ตั้งท่าเรือกลไฟนี้เป็นอาคารสองหลัง คือที่พักครอบครัวหวั่งหลีและตึกแถวสองชั้นเชื่อมต่อเป็นรูปเกือกม้าตามสถาปัตยกรรมจีน กั้นห้องนับร้อยเป็นสำนักงาน โกดังเก็บสินค้าที่ขนส่งมาทางแม่น้ำ โรงสีข้าว และที่พักคนงานนับร้อยชีวิต
“วันปรกติบางบ้านจะทำอาหารหมักดองเป็นรายได้เสริมอย่างมะม่วงดอง มะนาวดอง บางบ้านทำอาหารแห้ง ปลาทูตากแห้งก็มี บางวันก็ใช้เป็นพื้นที่บรรจุหีบห่อต่อลังไม้ฉำฉาเพื่อส่งของลงเรือ เสียงดังอึกทึกครึกโครม ยิ่งช่วงที่มีสินค้ามาถึงท่าเรือยิ่งคึกคัก ลานนี้จะใช้พักสินค้าก่อนขนขึ้นไปเก็บบนห้องแถว”
แม้หลักฐานนี้ไม่อาจย้อนไกลถึงรัชกาลที่ ๑-๒ แต่นับว่ามีคุณค่ายิ่งในวันที่หาหลักฐานการค้ายุครุ่งเรืองของฝั่งธนบุรี-พระนครในช่วงแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้ยากเต็มที
ปี ๒๓๖๖-๒๔๐๖
(รัชกาลที่ ๒-๔)
หวย ก ข ขวัญใจมหาชน
นิทรรศการหวยแหลก ! แตกประเด็นคนเล่นหวย
มิวเซียมสยาม
ความจนเป็นเหตุ ชาวสยามจึงได้ “เล่นหวย”
ยุคที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) บริหารบ้านเมืองจนมั่งคั่ง โดยเฉพาะย่านสำเพ็งมีฝรั่งมังค่าเดินทางมาค้าขายจนสองฝั่งถนนแน่นขนัด
ครั้นปี ๒๓๗๔ บ้านเมืองเกิดอุทกภัย แม้วังยังท่วมลึกราวศอก ปี ๒๓๗๖ เกิดภัยแล้งซ้ำเติมวิกฤตข้าวยากหมากแพง ผู้คนจึงออมเงินฝังดิน ทำให้รัฐขาดรายได้หมุนในระบบเศรษฐกิจ
ปี ๒๓๗๘ พระองค์จึงให้พระยาศรีไชยบาล “หง” เจ้าภาษีนายอากรจีนคิดระบบหวยจูงใจให้ราษฎรใช้เงิน จึงเกิด “โรงหวยแห่งแรก” ของรัฐที่เจ้าสัวหงได้สัมปทาน ตั้งอยู่บริเวณสะพานหันย่านสำเพ็ง
*เอาไม้ไผ่ทั้งลำทำเป็นฝา
ก็แน่นหนาใหญ่โตดูโอ่โถง
ทำสองชั้นไว้กันเมื่อเกิดโกง
ทำอีกโรงหนึ่งย่อมให้หม่อมเมีย
หวยแรกที่ชาวสยามรู้จักแกะสลักป้ายเป็นรูปดอกไม้หลากชนิดจึงเรียก “ฮวยหวย” (ชุมนุมดอกไม้) ต่อมาเปลี่ยนเป็นทายชื่อบุคคลสำคัญของจีน ๓๔ ป้าย แต่อักษรจีนเป็นอุปสรรคแก่นักเสี่ยงโชคชาวสยาม เจ้าสัวจึงปรับหวยเพิ่มเป็น ๓๖ ตัว และกำกับอักษรไทยให้ เรียกอย่างทางการว่า “อากรหวย ก ข” เจ้ามือจะเลือกหวยไว้หนึ่งป้ายชื่อ ใส่ลงกระบอก ปิดฝา แขวนบนหลังคาโรงหวย ให้ผู้เล่นทายอักษรที่อยู่ในกระบอก
*สามสิบหกต้นกกล้วนตัวการ
ใส่กระดานทั้งแผ่นขึ้นแขวนห้อย
เอากำหนดจดจำไม่ซ้ำรอย
ออกตัวไหนให้คอยกำหนดไว้
กิจกรรมเล่นหวยเกิดขึ้นในตอนเช้าของทุกวันและได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่ง “พระศรีวิโรจน์ (ดิศ)” นายตราจัดเก็บรายได้จากบ่อนเบี้ย เห็นเจ้าสัวหงได้กำไรงามก็ขอรัฐบาลตั้งโรงหวยขึ้นอีกแห่งย่านบางลำพู โดยออกหวยในตอนค่ำของทุกวัน
*แล้วมีข้อลิขิตปิดประกาศ
ตั้งแต่บาทลงมาไม่ว่าไหน
แม้นออกถูกตามตัวตัวเอาไป
ก็ใช้ให้สามสิบพอดิบดี
ใครจะเล่นตัวไรก็ไปเขียน
ให้เสมียนเขาดูไม่สูสี
ไม่ว่าจนเข็ญใจไพร่ผู้ดี
สุดแต่มีเงินให้ก็ได้แทง
(*เพลงยาวตำนานหวย ของนายกล่ำ)
แล้วรัฐก็ได้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสมประสงค์จนเป็นรายได้หลักในการบริหารบ้านเมือง สวนทางกับความเป็นอยู่ของราษฎร เพราะไม่ง่ายที่ใครจะถูกรางวัล ถึงอย่างนั้นกลับมีธุรกิจ “เจ้ามือหวยเถื่อน” เพิ่มมากจนเป็นปัญหาสังคม ภายหลังรัฐจึงพยายามยกเลิกอากรหวย แต่ก็ทำได้ยากแล้ว
ปี ๒๔๐๗-๒๔๔๗
(รัชกาลที่ ๔-๕)
“เจริญกรุง” ถนนสู่ยุค
เรืองรองของพระนคร
นิทรรศการกำเนิดภาพยนตร์โลก
พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย
หนึ่งในความวิวัฒน์ยุคต้นรัตนโกสินทร์คือ “จังหวัดพระนคร” มี “ถนนสายแรก”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) มีพระราชดำริให้สร้างในปี ๒๔๐๔ สำเร็จปี ๒๔๐๗
เหตุจากมีต่างชาติจำนวนมากเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ คณะกงสุลต่างขอให้มีถนนสายยาวสำหรับขี่ม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนระยะ ๘,๕๗๕ เมตร
ชาวเมืองเรียก “ถนนใหม่” พ้องความกับที่ชาวยุโรปเรียก “new road” และชาวจีนเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋ว “ซิงพะโล่ว” (ถนนตัดใหม่) ต่อมาจึงพระราชทานนาม “ถนนเจริญกรุง” สื่อถึง “ความรุ่งเรืองของบ้านเมือง”
ปลายถนนเจริญกรุงบริเวณตลาดสามเพ็งเป็นที่ตั้งของ “ประตูสามยอด” (ประตูชั้นนอกของกรุงรัตนโกสินทร์) เดิมมีช่องเดียว และถนนเจริญกรุงก็ตัดผ่านประตูนี้ด้วย
กระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เกิดเหตุรถม้าชนกันบ่อย พระองค์จึงโปรดให้เปลี่ยนแปลงจากประตูช่องเดียวเป็นสามช่อง บนประตูแต่ละช่องมียอดแหลม ชาวเมืองจึงเรียกชื่อประตูตามลักษณะแปลก และเรียกบริเวณนี้ว่า “ตำบลสามยอด”
บนถนนสายยาวนี้ยังมีการสร้างตึกแถวประดับโคมไฟโดยรับรูปแบบมาจากสิงคโปร์ ให้เหล่าขุนนางจีนและพ่อค้าแขกเช่าทำห้างฝรั่ง แต่แรกใช้ตะเกียงน้ำมันแล้วเปลี่ยนเป็นแก๊ส (กระทั่งปี ๒๔๒๗ ตั้ง “บริษัทไฟฟ้าสยาม” จึงเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้า) กลายเป็นย่านธุรกิจแห่งใหม่ของพระนคร
ถนนเจริญกรุงแบ่งได้สี่ส่วน ส่วนแรกคือ “เจริญกรุง-สำเพ็ง-พาหุรัด-สะพานเหล็ก-วังบูรพา” เป็นทั้งย่านการค้าชาวจีนและแหล่งรวมสินค้าสารพัดเมื่อมีชาวอินเดียเข้ามาค้าขายผ้าอุปกรณ์ตัดเย็บต่าง ๆ
ส่วนที่ ๒ คือ “เจริญกรุง-เยาวราช” เป็นถนนคู่ขนานกับชุมชนเยาวราช มีวัดสำคัญของชาวพุทธนิกายมหายานอย่าง “วัดเล่งเน่ยยี่” สร้างขึ้นในปี ๒๔๑๔ ระหว่างถนนเจริญกรุง ซอย ๑๙ และซอย ๒๑
ส่วนที่ ๓ คือ “เจริญกรุง-สี่พระยา-ท่าเรือสาทร-บางรัก” เชื่อมต่อธนบุรี-พระนคร แวดล้อมห้างของชาวตะวันตกรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ซื้อที่ดินจากชาวมอญและพม่าตารางวาละ ๑ บาท เพื่อสร้าง “สถานกงสุลอังกฤษประจำประเทศไทย” (ก่อนยกฐานะเป็นสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย) ตั้งติดแม่น้ำเจ้าพระยาของตำบลบางรัก จังหวัดพระนคร (ปัจจุบันคืออาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก)
ส่วนสุดท้ายคือ “เจริญกรุง-ยานนาวา-ถนนตก” มีบริษัทเดินเรือ บริษัทค้าขายขนส่งสินค้าทางเรือชาติตะวันตกเข้ามาเปิดกิจการบนถนนเจริญกรุงฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมาก ที่มีชื่อเสียง เช่น บริษัทอีสต์เอเชียติก บริษัทค้าไม้สัญชาติเดนมาร์กที่สร้างที่ทำการในปี ๒๔๓๔ (ปัจจุบันอาคารนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร ภายใต้การครอบครองของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี)
ย้อนกลับไปช่วงถนนเจริญกรุงสร้างเสร็จไม่กี่ปีก็ชำรุด รัชกาลที่ ๕ จึงมีพระบรมราชานุญาตให้ชาวเดนมาร์กที่มาขอรัฐทำสัมปทาน “การรถราง” ได้ก่อสร้างและเปิดใช้ครั้งแรก ในปี ๒๔๓๑ การเดินรถรางยังเป็นแบบ “ใช้ม้าลาก” กำหนดเส้นทางวิ่งช่วงพระบรมมหาราชวังจากศาลหลักเมืองไปตามถนนเจริญกรุงจนสุดทางที่บริษัทอู่กรุงเทพ ปีต่อมาจึงขยายไปถึงถนนตก
การใช้ม้าลากรถรางมีอันถึงกาลยุติปี ๒๔๓๗ เมื่อมี “รถรางระบบไฟฟ้า” เปิดใช้
และประตูสามยอดก็ถูกรื้อถอนปี ๒๔๔๐ เมื่อการจราจรบนถนนเจริญกรุงเริ่มคับคั่ง รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อสิ่งคร่อมเพื่อขยายถนน ปัจจุบันเหลือเพียงที่มาและชื่อเรียก “แยกสามยอด”
ปี ๒๔๔๘-๒๔๘๘
(รัชกาลที่ ๕-๘)
เปิดม่านซีนีมา แรกมีหนังสัญชาติสยาม
นิทรรศการกำเนิดภาพยนตร์โลก
พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย
เมื่อหนังเกิดก่อนโรงหนัง การฉายหนังในยุคแรกจึงต้องอาศัยโรงละคร
หนึ่งในโรงมหรสพที่ชาวกรุงนิยมคือ “โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ กรุงเทพ” ใกล้ประตูสามยอด บนถนนเจริญกรุงเป็นการชมหนังฝรั่งแบบฉายขึ้นจอใหญ่ดูได้หลายร้อยคน
บางทีมีคณะหนังเร่ญี่ปุ่นกางกระโจมผ้าใบเป็นโรงฉายบริเวณลานวัดชัยชนะสงคราม (วัดตึก)
จวบปี ๒๔๕๐ จึงมีนักธุรกิจชาวสยามตั้ง “โรงหนังกรุงเทพซินีมาโตกราฟ” (หรือบริษัทรูปยนต์กรุงเทพ, โรงหนังวังเจ้าปรีดา) เป็นโรงฉายหนังถาวร แล้วแต่นั้นทุกปีก็มีโรงหนังแห่งใหม่เกิดขึ้น เช่น “โรงหนังสามแยก” “โรงหนังรัตนปีระกา” (ในตลาดปีระกา เวิ้งนาครเขษม) “โรงหนังพัฒนากร” (หรือบริษัทพยนต์พัฒนากร) เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นพวกบันทึกเหตุการณ์สั้น ๆ สถานที่น่าสนใจ หรือข่าวสาร ม้วนหนึ่งฉายจบในไม่กี่นาที แต่กิจการโรงหนังก็เฟื่องฟูมากจนได้ตั้งโรงแห่งใหม่ตามตำบลต่าง ๆ ทั่วพระนคร
ปี ๒๔๖๕ ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๖ มีการจัดตั้ง “กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว” ขึ้นในกรมรถไฟหลวง ทำหน้าที่ผลิตภาพยนตร์ข่าวและสารคดีเผยแพร่ภารกิจของกรมรถไฟรวมถึงกิจการอื่นของรัฐบาล และรับจ้างผลิตภาพยนตร์ให้แก่เอกชนด้วย ถือเป็นการจัดตั้งหน่วยงานระดับชาติ
ปี ๒๔๖๖ จึงได้กำเนิดภาพยนตร์ นางสาวสุวรรณ เรื่องรักของหนุ่มสาวสยามที่สะท้อนสภาพชีวิต บ้านเมืองขนบธรรมเนียม ประเพณี ความงดงามของวัดวังในกรุงเทพฯ และสถานตากอากาศชายทะเลหัวหิน รวมถึงฉากป่าไม้ทางภาคเหนือ โดยความร่วมมือระหว่างทีมฮอลลีวูดชาวอเมริกัน
กับกรมรถไฟหลวง และใช้นักแสดงจากข้าราชการในกรมมหรสพหลวง เมื่อถ่ายทำเสร็จก็ฉายในสยาม
ปี ๒๔๗๐ มีเรื่อง โชคสองชั้น เป็นหนังของสยามเรื่องแรก แบบขาวดำ ความยาวหกม้วน และยังไม่มีเสียง อาศัยเจ้าหน้าที่ยืนข้างจอบรรยายเรื่องขณะฉายโดยตะโกนผ่านโทรโข่ง เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมจนเกิดผู้สร้างหนังไทยรุ่นใหม่ตามมา แม้ขณะนั้นต่างชาติเข้าสู่ยุคภาพยนตร์เสียงแล้ว แต่กว่าโรงหนังในกรุงจะติดตั้งเครื่องฉายแบบมีเสียงก็หลังปี ๒๔๗๓ ถึงอย่างนั้นก็นับเป็นยุคนิยมถ่ายหนังของหมู่ผู้มีเงิน
ในที่สุด “ภาพยนตร์เงียบ” ก็หมดเมื่อมี “ภาพยนตร์ไทยพูดได้” ภาพยนตร์-นักแสดงกลายเป็น “สื่อที่มีอิทธิพลสูง” จนรัฐบาลในรัชกาลที่ ๗ เกรงเกิดภัยสังคมจึงออก “พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พุทธศักราช ๒๔๗๓” ให้ตรวจตราภาพยนตร์ทุกเรื่องก่อนฉายสู่สาธารณะ (ยังถือเป็นกฎหมายบังคับใช้จนปัจจุบัน)
แล้วปี ๒๔๗๕ ในโอกาสเฉลิมฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง” อันโอ่อ่าทันสมัยด้วยระบบเสียง ประกาศความเป็นศรีสง่า
ปีถัดมากลุ่มพ่อค้าชาวจีนในสยามจึงจ้างบริษัทผลิตภาพยนตร์เสียงในฟิล์มพูดภาษาจีนกวางตุ้งเรื่อง ความรักในเมืองไทย เข้าฉายที่โรงนี้บ้าง และในปลายปีนี้เองที่เกิด “ภาพยนตร์ฟิล์มสี” ขึ้นเป็นเรื่องแรกคือ ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ แม้เป็นการทดลองทำบางฉาก แต่ถือเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญ
ปี ๒๔๗๘ ทุ่งบางกะปิได้ต้อนรับ “โรงถ่ายภาพยนตร์เสียง” เป็นอาคารขนาดใหญ่ที่มีทั้งโรงถ่ายเก็บเสียง ห้องปฏิบัติการล้างและพิมพ์สำเนาฟิล์ม ห้องปฏิบัติการบันทึกเสียง ห้องตัดต่อ ฯลฯ ภายใต้ “บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง จำกัด” นับเป็นโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงสมบูรณ์แบบแห่งแรกของชาติ
ต่อมาเกิดการขาดแคลนฟิล์มภาพยนตร์ในช่วงปี ๒๔๘๒ จากภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผู้สร้างจึงหันมาลองใช้ฟิล์มขนาดเล็ก ๑๖ มิลลิเมตร ผลิตหนังแทนฟิล์ม ๓๕ มิลลิเมตร ปรากฏว่าสำเร็จและให้สีสันเป็นธรรมชาติกว่าเดิม ประเทศสยามจึงยังคงผลิตหนังป้อนตลาดได้ประปรายแม้ในภาวะสงครามที่ถูกใช้เป็นสนามรบ
ถึงอย่างนั้นก็รู้กันว่าในยุคของหนังฟิล์ม ทุกวินาทีคือเม็ดเงิน นักแสดงต้องแม่นยำให้มากที่สุด
“สมัยที่ยังถ่ายด้วยฟิล์มผมถูกป้อนข้อมูล ‘ฟิล์ม ๑ กลัก เท่ากับทอง ๑ บาท’ ซึ่งฟิล์มกลักหนึ่งถ่ายได้ ๓-๔ นาทีเอง ผมไม่กล้าทำอะไรพลาดเลย ในเรื่อง 2499ฯ ผู้กำกับฯ จะให้นักแสดงที่เล่นเป็นนักเลงทุกคนพกปืนลูกโม่เลียนแบบของจริง น้ำหนักจริง ติดตัวจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกของนักเลงในยุคที่แสดง ผมพกไปด้วยทุกที่โดยไม่บอกใคร ไปมหาวิทยาลัยก็พก ช่วงแรกตื่นเต้นมาก กังวลไปหมด กลัวจะโดนใคร จะถูกจับไหม และต้องฝึกจับปืน คว้าปืนจากเอว เล็งปืน ทำทุกอย่างให้ได้จนเป็นเรื่องปรกติ จับปืนคล่องเหมือนจับปากกาดินสอ สิ่งนี้ช่วยให้ผมถ่ายทอดฉากยิงออกมาดี”
เจษฎาภรณ์ ผลดี เล่าเบื้องหลัง “แดง ไบเล่” ในภาพยนตร์ 2499 อันธพาลครองเมือง สะท้อนสังคมตรอกไบเล่, ย่านวิสุทธิกษัตริย์ และถนนสิบสามห้างย่านบางลำพู สมัยวัฒนธรรมฝรั่งเบ่งบานในพระนคร กระทั่งมีเหตุให้หนีไปอยู่กาสิโนที่อู่ตะเภาในยุคสงครามเวียดนาม ครั้งเข้าฉายปี ๒๕๔๐ ก็ทำลายสถิติหนังไทยทุกเรื่องที่เคยมี ด้วยรายได้ ๗๕ ล้านบาท (ยุคนั้นภาพยนตร์ไทยยังถ่ายทำในระบบฟิล์ม)
“จากอดีตถึงปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมีนวัตกรรมเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่ผมคิดว่าสิ่งสำคัญกว่าและวงการบันเทิงไทยต้องมีคือ ‘เสรีภาพ’ ตอนผมเข้าวงการใหม่ ๆ ก็ได้ยินเรื่องกระบวนการเซนเซอร์แล้วว่ามีข้อจำกัดอะไรบ้าง จนวันนี้ข้อจำกัดนั้นก็ยังเหมือนเดิม ถ้าเราอยากเห็นภาพยนตร์ไทยมีคุณภาพ สนุกมากพอที่จะแข่งขันกับจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ก็ไม่ควรมีกระบวนการเซนเซอร์มาจำกัดว่าแบบไหนทำได้ อย่างไรไม่ให้ทำ ภาพยนตร์คือศิลปะและเป็นเครดิตของคนทำงาน แต่ละผู้กำกับฯ อาจมีมุมมองในเรื่องเดียวที่ไม่เหมือนกันก็ได้ มันคือเสน่ห์ของวงการนี้ ดีหรือไม่ ชอบหรือเปล่า ควรให้คนดูเป็นผู้ตัดสิน
หมายเหตุ ภาพยนตร์ โชคสองชั้น (ส่วนที่ไม่ได้ใช้) และ 2499 อันธพาลครองเมือง ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี ๒๕๕๔-๒๕๖๔ เรียบร้อยแล้ว
ปี ๒๔๘๙-๒๕๒๙
(รัชกาลที่ ๘-๙)
I love เมืองไทย
I like พัฒน์พงศ์
นิทรรศการหัวมังกร คือจุดเริ่มต้นของพัฒน์พงศ์
พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์
*ทอม ทอม แวร์ยูโก ลาสต์ไนต์
(ไอเลิฟเมืองไทย ไอไลก์พัฒน์พงศ์)
น้องนางคงทำให้ทอมลุ่มหลง
(ไอเลิฟพัฒน์พงศ์ ไอเลิฟเมืองไทย)
นับแต่กรุงเทพฯ มีถนนหลายสายอย่างเจริญกรุง พระรามที่ ๔ สีลม สาทร ก็เกิดธุรกิจสร้างความเจริญต่อเนื่อง หนึ่งในรายได้เฟื่องฟูคือค้าประเวณี
รัฐบาลในรัชกาลที่ ๔ อาศัยเก็บภาษีเจ้าของโรงโสเภณี (เรียก “ภาษีบำรุงถนน” นำรายได้ไปตัดถนนเจริญกรุง) ครั้นบุรุษพระนครต่างป่วยกามโรค รัชกาลที่ ๕ จึงออก “พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก ๑๒๗” ให้ “นายโรง” ต้องเป็นสตรี ผู้ประกอบการต้องเข้มงวดความสะอาด และ “แขวนโคมสี” เป็นสัญลักษณ์ให้รู้กันว่าคือ “โรงรับชำเราบุรุษ” โสเภณีก็ต้องเป็นหญิงอายุถึง ๑๕ ปี ตรวจโรคจากแพทย์ และจ่าย ๑๒ บาท เพื่อขอใบประกอบอาชีพซึ่งมีอายุ ๓ เดือน
เดิมเคยมีโรงโสเภณีคึกคักใน “ตลาดบ้านจีน” แถวปากคลองขุนละครไชย ยุคต่อมาจึงเริ่มมีโรงโสเภณีโดยสตรีตะวันตกตั้งข้างสถานทูตเยอรมนี ปี ๒๔๙๒ องค์การสหประชาชาติร่าง “อนุสัญญาฉบับรวม” ให้ทั่วโลกเลิกค้าประเวณี ไทยมี “พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พุทธศักราช ๒๕๐๓” ระบุว่าโสเภณีเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่รู้ในหมู่นักท่องราตรีว่าไม่ยากหากจะหาสถาน “โคมเขียวโคมแดง”
กระทั่งเข้าสู่สงครามเวียดนามช่วงปี ๒๕๐๘ มีกองทัพอเมริกันตั้งฐานทัพที่อู่ตะเภา ตาคลี อุดรธานี โคราช เพื่อจอดเครื่องบินขนระเบิด เวลานั้นย่านพัฒน์พงศ์ในกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ มีสำนักงาน Civil Air Transport หน่วยสืบราชการลับของ CIA จึงถึงกาลปรับสู่ธุรกิจรูปแบบใหม่ เปิดไนต์คลับและผับบาร์รองรับหน่วยข่าวกรองทหารสงคราม
ยิ่งดังเป็นพลุแตกในปี ๒๕๑๒ เมื่อ “ริก เมอนาร์ด” อดีตทหารอเมริกันเปิด “กรังด์ปรีซ์บาร์” แนว “สปอร์ตบาร์และเต้นอะโกโก” แห่งแรกในเอเชีย ตอนแรกเป็นบาร์ขายเครื่องดื่มที่มีสนามแข่งรถคันเล็กๆ มีการแสดงรำไทย มวยไทย คาบาเรต์ วันหนึ่งมีฝรั่งสาวเมาเข้ามาในร้าน มาถึงก็หยอดเหรียญใส่จู๊กบอกซ์เพลงละ ๑ บาท แล้วถอดเสื้อผ้าเต้นรำเพลงร็อก มีพลเมืองดีแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลบางรัก ตำรวจจะจับเจ้าของร้านไปเสียค่าปรับในข้อหาไม่มีใบอนุญาตเต้นรำ ซึ่งกฎหมายไทยตอนนั้นคือลีลาศ ริกชี้แจงว่าการเต้นรำต้องมีสองคน นี่ลูกค้ามาเต้นคนเดียว ไม่ใช่การแสดงของทางร้าน ตำรวจจึงกลับ เป็นจุดเริ่มให้ริกขอใบอนุญาตเต้นรำแล้วจ้างสตรีใส่มินิสเกิร์ตสวมบู๊ตเต้น “อะโกโก” แบบบาร์ในลอสแอนเจลิส ค่อยปรับเป็นวันพีซ ทูพีซ กระทั่งมีผู้หญิงอาบน้ำให้ลูกค้าดู
แต่นั้นละแวกนี้ก็ผุดบาร์รวดเร็ว ส่วนใหญ่รับรูปแบบ “fucking shows” จากอเมริกา นอกจากเต้น “อะโกโก” ยังมีการแสดงพิสดารที่เรียก “ปิงปองโชว์” “บานานาโชว์” “เปิดขวดเบียร์” ฯลฯ ด้วยอวัยวะเพศหญิง บางร้านยังแบ่งห้องไว้ค้าบริการทางเพศ จนเป็นย่านที่มีชื่อเสียงด้านนี้
หลังสงครามเวียดนามปี ๒๕๑๘ หลายธุรกิจในพื้นที่เคยตั้งฐานทัพอเมริกาต่างได้รับผลกระทบ แต่ย่านพัฒน์พงศ์กลับสร้างเศรษฐกิจต่อเนื่องและยิ่งมีชื่อเสียงในปี ๒๕๒๑ ที่ภาพยนตร์อเมริกันเรื่อง The Deer Hunter ได้รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เรื่องราวชีวิตทหารอเมริกันช่วงสงครามเวียดนามมีฉากสำคัญที่บาร์ “Mississippi Queen” ถ่ายทำในย่านพัฒน์พงศ์ ทำให้มีคนดังทั้งไทยและต่างชาติมาเยือนย่านนี้ต่อเนื่องจนเฟื่องฟูสุดขีดถึงปี ๒๕๒๘
บางร้านเปิดบริการถึงเช้า กลางวันก็เป็นย่านธุรกิจทั่วไปปรากฏภาพหญิงกลางคืนกลับถึงห้องเช่าสวนทางกับหญิงกลางวันไปทำงาน ครั้นแสงตะวันลับขอบฟ้าก็คือช่วงเวลาสว่างไสวอีกครั้งของแสงนีออน
*เวลคัมทูไทยแลนด์ ต่อแต่นี้จะมีชนชาติอื่น
ด้อม ๆ ยืน ๆ มาดูเราเมืองไทยไปถามดูว่า
ชอบเราตรงไหน ฝรั่งตอบไม่อาย ไอไลก์พัทยา
ถ้ากรุงเทพฯ เมืองฟ้า นั้นไอก็ว่าพัฒน์พงศ์
(*เพลง “เวลคัมทูไทยแลนด์” ของคาราบาว)
ตอนสงครามเวียดนามผมเป็นล่ามภาษาอังกฤษที่ฐานทัพสนามบินอุดรธานี เศรษฐกิจที่นั่นดีมากโดยเฉพาะรายได้ด้านการท่องเที่ยว มีอาชีพ ‘เมียเช่า’ เกิดขึ้นเกือบ ๒ แสนคนขณะที่ทหารอเมริกันมี ๕ หมื่น และเป็นการเช่าจริง ๆ ทำหน้าที่แม่บ้านราย ๓ เดือน ส่วนใหญ่ทหารที่ถูกเกณฑ์มายังอายุเพียง ๑๘ ปี มาอยู่ ๒ ปีก็กลับ สมัยนั้นจึงมีเด็กลูกครึ่งเกิดจากทหารอเมริกันมากมาย”
คือภาพจำของ เกรียงศักดิ์ คะศรีทอง ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์ ผู้กำเนิดในถิ่นจังหวัดสกลนคร เติบโตที่จังหวัดอุดรธานี ก่อนย้ายมาเป็นประชากรย่านบางลำพูในเขตพระนครจวบวัย ๗๒ ปี
“สมัยที่โสเภณีเป็นอาชีพถูกกฎหมายจะเที่ยวผู้หญิงย่านสำเพ็งได้ในราคา ๕๐ สตางค์ จน ๒ บาท ย่านเยาวราช ๓-๕ บาท ค่าเงินสมัยนั้นข้าวหนึ่งกระสอบ ๑๐๐ กิโลกรัม ราคา
๔ บาท กุลีย่านคลองเตยหามข้าวสารจากท่าเรือขึ้นโรงสีได้ค่าแรงวันละ ๕๐ สตางค์ โสเภณีที่ถูกสุดก็ราคาเดียวกัน ต้องชั่งใจว่าจะเอาเงินไปกินข้าวหรือกินน้องหนู แต่ปัจจุบันย่านเยาวราชมีโสเภณีราคาถูกสุด ๗๐๐-๘๐๐ บาท ขณะที่แหม่มต่างชาติย่านซอยนานาอยู่ที่ ๒,๐๐๐ บาท ส่วนผู้หญิงย่านพัฒน์พงศ์ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ บาท น่าแปลกนะว่าแม้ยุคสมัยเปลี่ยน ราคาโสเภณีกับข้าวสารกระสอบหนึ่งก็ยังสัมพันธ์กัน
ปี ๒๕๓๐-ปัจจุบัน
(รัชกาลที่ ๙-๑๐)
รถไฟลอยฟ้า-ใต้ดิน
ยกระดับชีวิตคนกรุง
นิทรรศการ Bangkok City Model
สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร
ยิ่งความเจริญมุ่งสู่กรุงเทพฯ ปัญหาจราจรก็ยิ่งจลาจลรัฐบาลแต่ละยุคสมัยจึงพยายามจะแก้ปัญหาด้วย “รถไฟฟ้า” มาตลอด
ปี ๒๕๓๓ รัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ลงนามสัมปทานให้บริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้งส์ ของชาวฮ่องกงสร้าง “โครงการโฮปเวลล์” ทางรถไฟยกระดับ และให้บริษัทเอสเอ็นซีลาวาลิน ของชาวแคนาดาสร้าง “โครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน” แต่ทั้งสองโครงการก็ถูกล้มไปในปีถัดมาเมื่อตรวจพบปัญหาทุจริต
ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติให้ตรา “พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร พุทธศักราช ๒๕๓๕” อนุมัติให้บริษัทธนายง จำกัด ดำเนิน “โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร” ในปี ๒๕๓๘ แต่แรกโครงการนี้จะเรียก “รถไฟฟ้าธนายง” ครั้นเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จึงเรียก “รถไฟฟ้าบีทีเอส” การก่อสร้างดำเนินไปท่ามกลาง “วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง” ในปี ๒๕๔๐
และท่ามกลางเสียงคัดค้านกังวลของชาวเมืองต่อสิ่งไม่เคยมี บ้างว่านำโครงการรถไฟฟ้าที่สูงเกือบเท่าตึก ๑๐ ชั้นมาตั้งกลางเมืองทำลายทัศนวิสัย ตัวสถานีที่ครอบถนนก็ทำให้บริเวณนั้นมืดตลอด ส่งผลเสียหายต่อร้านค้าในละแวก บ้างว่าเป็นโครงการขายฝัน จะล้มอีกไหมก็ไม่รู้ ฯลฯ ในที่สุดปี ๒๕๔๒ ผังเมืองกรุงเทพฯ ก็ถึงกาลเปลี่ยนครั้งใหญ่ เมื่อ “เส้นทางลอยฟ้า” สายแรกของประเทศเปิดให้บริการเชื่อมการเดินทางสู่ถนนสายต่าง ๆ จำนวน ๒๓ สถานี แบ่งเป็นสองเส้นทาง คือ “สายสุขุมวิท” (สายสีเขียวอ่อน) จากสถานีหมอชิต-สยาม-อ่อนนุช (รวม ๑๗ กิโลเมตร) และ “สายสีลม” (สายสีเขียวเข้ม) จากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สยาม-สะพานตากสิน (รวม ๖.๕ กิโลเมตร)
เป็นเรื่องใหม่-ตื่นเต้นของคนกรุงที่ได้หนีความแออัดบนถนนมีการนำชื่อสถานีต่าง ๆ ไปแต่งเพลง “นิราศรถไฟฟ้า” (ปี ๒๕๔๒) และสร้างภาพยนตร์ รถไฟฟ้า มาหานะเธอ (ปี ๒๕๕๒) โดยส่วนใหญ่ถ่ายทำที่สถานีและในขบวนรถไฟฟ้าจุดประกายให้คนต่างจังหวัดก็อยากเดินทางเที่ยวกรุงเทพฯ จบใน ๑ วัน
...ตั้งแต่ “หมอชิต” คิดจะไปหาหมอให้หมอดูว่าอย่างไรจะได้ชิดจะได้เป็นมิตร จะได้ใกล้ชิดเธอจะต้องทำอย่างไร จาก “สะพานควาย” มาคิดไปพูดจากับควาย ให้มันเข้าใจว่าคนอย่างฉันมันควายทุย โดนเธอมาหลอกให้รักแล้วก็ไป จอดที่ “ซอยอารีย์” มีความหวังให้เธอมา ขอเธอจงเมตตาช่วยปลอบใจกัน ความอารีเธอไม่มีหรือไงกัน มาทิ้งกันได้ไง มาจนกระทั่งได้เห็น “อนุสาวรีย์ชัยฯ” สร้างกันมาได้ไงสูงสุดท้องฟ้า รักของฉันอุตส่าห์ทนสร้างกันมาไม่เห็นจะได้ความ เหลียวดูไฟใจก็ดีขึ้นมาไม่นาน ผ่าน “ประตูน้ำ” น้ำตามันก็ไหล ก็น้ำตามันไม่มีประตูกั้นไว้ มันท่วมมันท้นขึ้นมาจากข้างในหลั่งไหลกันออกมา ผู้คนเยอะแยะเขาพากันมาจากไหน “สยามสแควร์” ศูนย์รวมแหล่งแท้ความบันเทิง เสียงก็จอแจแต่เราเซ็ง ผ่านซอย “นานา” มาถึงซอย “ทองหล่อ” ร้านข้าวต้มที่เคยนั่งดื่มกินกัน ฉันคิดถึงคำที่เราพร่ำรำพันต่อหน้าจานไข่เจียว จนมาถึง “พระโขนง” ผู้คนเริ่มบางตา เพราะสถานีหน้าก็ “อ่อนนุช” แล้ว...
(เพลง “นิราศรถไฟฟ้า” อัลบัม นิราศร็อก ของ อัมรินทร์ นิติพน)
ครั้นรถไฟฟ้าทวีความจำเป็น ขณะที่การให้บริการทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
จึงมีการตรา “พระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๕๔๓” จัดตั้ง “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” (รฟม.) เพื่อดำเนินการรถไฟฟ้าให้ได้เต็มระบบมากขึ้น
ปี ๒๕๔๗ จึงผุดรางวิ่ง “รถไฟฟ้าใต้ดิน” ให้บริการด้วยระยะทาง ๕๕ กิโลเมตร ในลักษณะวงแหวน แบ่งเป็นสองเส้นทาง คือ “สายเฉลิมรัชมงคล” (๑๕ สถานี) จากท่าพระ-บางซื่อ-หลักสอง โดยเริ่มต้นใช้ทางยกระดับจากสถานีท่าพระไปจนถึงเตาปูน จึงเปลี่ยนสู่ทางใต้ดินช่วงบางซื่อ-อิสรภาพ ก่อนกลับไปเป็นทางยกระดับอีกครั้งที่สถานีท่าพระไปจน หลักสอง (อนาคตมีแผนขยายไปสถานีพุทธมณฑลสาย ๔) และ “สายฉลองรัชธรรม” ให้บริการด้วยระยะทาง ๔๓ กิโลเมตร เน้นเชื่อมต่อจังหวัดนนทบุรีและสมุทรปราการให้เข้าสู่เขตใจกลางเมืองในกรุงเทพฯ ทั้งฝั่งพระนครและธนบุรีได้รวดเร็ว (ปี ๒๕๖๗ จะเปิดบริการเส้นทางส่วนตะวันออก และปี ๒๕๖๙ จะเปิดบริการเส้นทางส่วนตะวันตกของกรุงเทพฯ)
ขณะที่ปัจจุบัน “รถไฟฟ้าบีทีเอส” (ลอยฟ้า) เปิดให้บริการรวม ๖๐ สถานีแล้ว โดยขยายพื้นที่ออกจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดปทุมธานีด้วย
แต่มีข่าวใหญ่เมื่อ ๙ เมษายน ๒๕๖๔ เมื่อบีทีเอสปฏิบัติการทวงหนี้รัฐบาล กรุงเทพมหานคร และกระทรวงคมนาคม หลังไม่ได้คำตอบเรื่องค้างชำระค่าจ้างเดินรถตั้งแต่ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๔ เป็นเงิน ๓๐,๓๗๐ ล้านบาท จึงออกจดหมายเปิดผนึกถึงผู้โดยสาร เผยแพร่ทั้งบนสื่อโซเชียลและประกาศในขบวนรถไฟฟ้ารวมถึงที่สถานี โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่ง
“...มีปัญหาซ้อนปัญหา ที่เกิดจากกลุ่มบุคคลหนึ่งซึ่งบริษัทฯ ไม่อาจก้าวล่วงได้ ต้องการไม่ให้เรื่องทั้งหมดนี้ได้รับการแก้ไข...”
...
เมษายน ๒๕๖๕
เวลาของนิทรรศการจบที่หน้านี้ แต่เรื่องราวของกรุงเทพฯ ยังเดินต่อ
ไม่เฉพาะด้านสว่างไสว สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นย่อมเป็นประวัติศาสตร์เมือง เพื่อให้มนุษย์ในยุคอนาคตที่ต่างกันทั้งช่วงเวลาและวัฒนธรรมได้ร่วมสัมผัสยุคสมัยที่ผ่านมาของที่นี่...
“กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัด วัง งามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย”
(คำขวัญประจำกรุงเทพมหานคร นับแต่ปี ๒๕๕๕)
แหล่งความรู้สร้างสรรค์
และสถานที่ถ่ายภาพ
ข้อมูลอ้างอิง
โดม สุขวงศ์. ประวัติภาพยนตร์ไทย. หนังสือชุดความรู้ไทย ลำดับที่ ๑๐๒๕ ขององค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๓๓.
“นายหนหวย” (ศิลปะชัย ชาญเฉลิม). ว่าด้วยหนัง ๆ ในเมืองบางกอก. นครปฐม : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), ๒๕๕๕.
พรพรรณ จันทโรนานนท์. “ชาวจีนในไทยมาจากไหน เปิดประวัติการอพยพยุคแรกเริ่ม ถึงการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม”. ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับธันวาคม ๒๕๕๐.
ยศพล ใจภักดี และคณะ. H1 402 สัมมนาประเด็นสำคัญทางประวัติศาสตร์ พัฒน์พงศ์ ย่านบันเทิงยามราตรีในมิติทางประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. กรุงเทพฯ, ๒๕๖๔.
เอนก นาวิกมูล. ปาฐกถาชุด “สิรินธร” ครั้งที่ ๒๓ เรื่อง ตลาด : วิถีชีวิตพอเพียง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๒.
อ่านเสริมเรื่องราวน่าสนใจ
สุชาดา ลิมป์. ปิดตำนาน “ฮวยจุ่งโล้ง” ชุมชนท่าเรือยักษ์ใหญ่ฝั่งธนบุรี. สารคดี ๓๑, ๓๗๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ : ๖๐-๖๑.
สุชาดา ลิมป์. “เจษฎาภรณ์ ผลดี ตำนานดาวดวงที่ (๑๘๙) ใครก็รัก”. เข้าถึงได้จาก www.sarakadee.com/2020/12/08/เจษฎาภรณ์-ผลดี-2/