สวนผักหลังบัาน
ที่ (กรุง) เทพ ไม่ได้สร้างให้
Sansiri Backyard
กินบนปูน ปลูกบนหลังคา สวนผักคนเมือง
เรื่อง : ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์
ภาพ : อมตา จิตตะเสนีย์
กระเถิบจากพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรบนดาดฟ้าเป็นที่ดินขนาด ๑๑ ไร่ย่านอ่อนนุช ของบริษัทอสังหาฯ ที่มีวิสัยทัศน์เรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมอย่างแสนสิริ เปลี่ยนที่ดินว่างเปล่าให้กลายเป็น Sansiri Backyard สวนผักหลังบ้านของคนเมืองที่ให้มากกว่าการอิ่มท้องสารคดี ชวนคุยกับ สมัชชา พรหมศิริผู้ช่วยกรรมการใหญ่ ฝ่ายการตลาดดิจิตอลและสื่อสารองค์กร บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) ถึงแนวคิด มุมมอง และอีกหนึ่งภาพฝันอันใหญ่ที่อยากให้กรุงเทพฯ เป็น ในนามของธุรกิจเอกชนที่ลงมือถางพงหญ้าด้วยตนเอง
Image
ฝูงแกะและแพะที่ไม่เคยอิ่มกับเด็กเมืองที่มีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติ
ในเมืองก็คงมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ได้ไม่กี่แห่ง ขณะที่ระบบการขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ ก็ไม่เอื้อให้คนเข้าถึงสวนเหล่านี้ได้ง่ายนัก ดังนั้นผมว่าพื้นที่สีเขียวที่เป็นกระเปาะเล็ก ๆ กลับกลายเป็นสิ่งที่จำเป็น เข้าถึงได้ง่าย เหมือนเครื่องกรองอากาศเล็ก ๆ กระจายไปให้ทั่ว
เถียงนาในป่าคอนกรีต
“ตอนแรกก็ปล่อยตรงนี้เป็นที่ว่าง แต่เราได้ไอเดียว่าอยากพัฒนาเป็นพื้นที่อะไรสักอย่างที่คนในชุมชนได้ใช้ มีกิจกรรมร่วมกันมากกว่าที่จะเป็นสวนสาธารณะ เราอยากให้มีแปลง พืชผักที่เขาเก็บไปกิน ไปใช้ ไปปลูกได้”

Sansiri Backyard เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งผ่านการออกแบบพื้นที่เปล่าให้กลายเป็นสวนผักของลูกบ้านและขยายต่อไปสู่สังคม โดยความร่วมมือระหว่างแสนสิริในฐานะเจ้าของที่ดินกับพันธมิตรคู่ค้าที่เป็น SME ไม่ว่าจะเป็นปองโย ไร่กำนันจุล  หรือร้านโรงเสบียง ในฐานะผู้ช่วยสร้างกิจกรรมและประสบการณ์แก่ผู้เยี่ยมชม

สิ่งแรกที่เรามองเห็นคือสนามหญ้ารูปวงกลมที่มีครอบครัวตัวแกะนอนหลบแดดอยู่ในกระท่อม ภายในสวนแต่งแต้มด้วยสีเขียวของพืชผักสวนครัวนานาชนิด มีสวนดอกไม้หลากสีสัน มีต้นไม้จัดจำหน่าย รวมทั้งกระถางและอุปกรณ์ตกแต่งสวนมากมาย มีบ่อปลานิลที่กินอิ่มพุงป่องนับร้อยตัว มีนาข้าวที่กำลังพักหน้าดินรอฤดูเก็บเกี่ยวครั้งต่อไป ทั้งยังมีบ้านแม่ไก่อารมณ์ดีที่ออกไข่ทิ้งไว้รอให้เก็บ โดยเปิดให้ทุกคนเข้าชมวิธีจัดการฟาร์มออร์แกนิกครบวงจร ด้วยโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิอัจฉริยะและระบบวัดความชื้นแบบไร้สาย ที่นำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการทำเกษตรกรรมได้เป็นอย่างดี เราเดินสำรวจทั่วบริเวณบนทางเดินที่เต็มไปด้วยคราบสีม่วงฟ้าของผลมัลเบอร์รี  นอกจากจะเต็มไปด้วยผลิตผลรอรับประทานแล้ว พื้นที่โดยรอบยังแบ่งสรรเป็นลู่วิ่งออกกำลังกายท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ เหมาะแก่การทำกิจกรรมครอบครัวขนานแท้

“จริง ๆ แล้วความต้องการสีเขียวของคนเมืองอาจไม่ได้หมายถึงสวนสาธารณะที่มาออกกำลังกายได้เพียงอย่างเดียว ในเมืองก็คงมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ได้ไม่กี่แห่ง ขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ ก็ไม่เอื้อให้คนเข้าถึงสวนเหล่านี้ได้ง่ายนัก ดังนั้นผมว่าพื้นที่สีเขียวที่เป็นกระเปาะเล็ก ๆ กลับกลายเป็นสิ่งจำเป็น เข้าถึงได้ง่าย เหมือนเครื่องกรองอากาศเล็ก ๆ กระจายไปให้ทั่ว” สมัชชากล่าวให้เห็นความสำคัญของสวนหลังบ้านมากยิ่งขึ้น
Image
Image
“ต้องบอกว่ากรุงเทพฯ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ชั้นในราคาที่ดินสูงมาก เวลาเราพูดถึงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวก็มักนึกถึงพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่ที่จริงแล้วที่ดินแปลงไม่ต้องใหญ่มากที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ หรือถูกทิ้งร้างด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่มีอยู่เยอะ พอได้พูดคุยกับหลาย ๆ หน่วยงาน อย่างเช่นกลุ่ม we!park เราก็รู้สึกว่าพื้นที่สีเขียวในเมืองเกิดขึ้นได้ยากมาก เราอยากใช้พื้นที่รกร้างที่มีอยู่ทำให้มีประโยชน์มากขึ้น เมืองนอกเขาจะมีกำหนดว่าจำนวนพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรจะสมดุลกันได้ยังไง แต่ประเทศไทยมันไม่มีพื้นที่แบบนี้”

องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ว่า การมีพื้นที่สีเขียว ๙ ตารางเมตรต่อประชากร ๑ คน คือสัดส่วนของเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมดี ซึ่งแซนแฟรนซิสโกเป็นหนึ่งในเมืองที่ทำสำเร็จโดยมีพื้นที่สีเขียวกว่า ๒๙ ตารางเมตรต่อประชากร ๑ คน สิงคโปร์เองที่ทั้งประเทศมีขนาดเล็กกว่าจังหวัดหัวเมืองของไทยก็ยังมีสัดส่วนการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๑๒ ตารางเมตรต่อประชากร ๑ คน ตัดภาพมาที่เมืองแห่งการท่องเที่ยวระดับโลกอย่างกรุงเทพมหานครที่มีเพียง ๒.๐๖ ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น และแม้จะใช้อีกตัวชี้วัดหนึ่งที่หลายเมืองทั่วโลกใช้ประเมินการครอบคลุมการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียว อย่างการเดินทางถึงพื้นที่สีเขียวภายใน ๕ นาทีก็ยังเป็นไปได้ยาก

แสนสิริเล็งเห็นช่องว่างที่ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือได้ ภายใต้คอนเซปต์ “The Co-growing Community for Sustainable Urban Living” จึงตั้งต้นด้วยหลัก 3Gs สร้างสวนหลังบ้านให้ทุกคน ซึ่งประกอบด้วย Green-สร้างพื้นที่สีเขียวจากที่ดินว่างเปล่ารอการก่อสร้างทั้งในและนอกอาคาร Grow-ปลูกฟาร์มผักและผลไม้ออร์แกนิกเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชีวิต จากการเลือกรับประทานและมิตรภาพของคนในครอบครัว และ Give-แบ่งปันผลผลิตไปยังพื้นที่โดยรอบ ทั้งลูกบ้าน รวมถึงชุมชนใกล้เคียง และส่งต่อความรู้เรื่องการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืนแก่ผู้สนใจนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ สำคัญคือการเลือกพันธมิตรคู่ค้าที่ต้องเข้าใจว่าผลตอบแทนเชิงพาณิชย์อาจได้มาไม่ง่าย และจุดมุ่งหมายแท้จริงคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“คนเมืองหรือโดยเฉพาะเด็กเมือง การที่เขาจะเห็นธรรมชาติ ได้เรียนรู้บางอย่างเกี่ยวกับการปลูกผักปลูกต้นไม้ เรื่องของไก่เป็ด หรือการเกี่ยวข้าวมันค่อนข้างยาก อยู่โรงเรียนก็มีแค่ตึกกับปูน ไม่ค่อยมีโรงเรียนที่เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ เรารู้สึกว่าถ้าเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ง่าย เขาก็จะได้เห็นรายละเอียด เห็นการเจริญเติบโตของต้นไม้ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาสมดุลทางจิตใจ”
โรงเรือนควบคุมอุณหภูมิอัจฉริยะที่เปิดให้ทุกคนเข้าชมและเก็บเกี่ยว
ด้วยขนาดของพื้นที่กว่า ๑๑ ไร่และความเป็นชุมชน อาจทำให้หลายคนเข้าใจว่าความสนใจเรื่องพื้นที่สีเขียวของแสนสิริเกิดขึ้นตรงนี้เป็นที่แรก แท้จริงก่อนจะเป็นสวนหลังบ้านแสนสิริเองก็ผ่านการทำสวนบนดาดฟ้ามาก่อน 

เริ่มจากการปลูกผักสวนครัวเล่น ๆ ของนิติบุคคลคอนโดฯ ที่เมล็ดพันธุ์ของการทำสิ่งใหม่ได้งอกเงยให้การทำสวนบนดาดฟ้าเป็นเรื่องจริงจังมากขึ้น ผลผลิตที่เคยพออิ่มก็มีมากพอให้ลูกบ้านได้ใช้สอย ชั่วพริบตาเดียวก็กลายเป็นแนวคิดที่ครอบคลุมกว่า ๒๐ โครงการทั้งแนวราบและแนวสูง ต่อแถวเข้าคิวรอเปลี่ยนที่เหลือใช้ให้กลายเป็นฟาร์มผักปลอดสารพิษ ตามมาด้วยโครงการอีกหลายแห่งที่มีแปลงผักสวนครัวเป็นส่วนกลาง และแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ให้ลูกบ้านช่วยเพาะปลูก ก่อนจะแตกหน่อเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวย่านอ่อนนุชเพื่อเชื่อมโยงชุมชนและธรรมชาติเข้าด้วยกันอย่างเต็มรูปแบบ

การกระโจนออกมานอกกรอบทำสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครอยากทำสมัชชายกความดีความชอบให้ เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่ทำงานลงพื้นที่สม่ำเสมอ เห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ มองดูทุกรายละเอียดของพัฒนาการ คุยกับผู้คนที่มีความรับผิดชอบหลากหลายเพื่อรับฟังและได้มุมมองใหม่ ๆ นอกเหนือจากแนวคิดอสังหาฯ

“อย่างการปลูกผักในโครงการ อาจดูเหมือนเรื่องจิ๊บจ๊อย แต่ถ้าไม่ปลูกผักในสวนส่วนกลางให้คนเห็น เขาก็อาจจะไม่รู้สึกว่ามันปลูกได้ เรามาลองปลูกเองในบ้านไหมแทนที่จะซื้อผักกิน เหมือนกระตุ้นให้เขารู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องยาก

“เรามีลูกบ้านหลายแสนคน สิ่งที่เราจะทำต่อคือขายคอนเซปต์ของการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนให้ลูกบ้านเข้าใจมากขึ้น เรื่องการแยกขยะ การใช้พลังงานทดแทน ถ้าเราทำเองบางทีก็ได้ผลประมาณหนึ่ง ดังนั้นเราต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากลูกบ้าน ให้เขาเข้าใจ แล้วก็เป็นตัวแทนถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ต่อไป” สมัชชาเล่าถึงก้าวต่อไปของแสนสิริในอนาคต
Image
“ผมรู้สึกว่าในมุมมองของภาคอสังหาฯ มันก็แค่การออกนอกกรอบ อย่าคิดแค่ว่าเราเป็นคนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องซื้อขายที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว เราก็มีหน้าที่สร้างชุมชนให้สมบูรณ์มากขึ้น สมดุลมากขึ้น น่าอยู่มากขึ้น แค่ต้องสละมุมมองในเชิงของพาณิชย์ออกไปนิดหนึ่ง”
Image
ไม่ใช่แฟน
ทำแทนได้ไหม ?

“เราต้องการสร้างแรงกระเพื่อมให้ผู้ประกอบการหรือภาคธุรกิจอื่น ๆ เห็นว่าจริง ๆ แล้วมีคนทำอย่างนี้อยู่ ถ้าผมทำได้ บริษัทที่ใหญ่กว่าผมหรือมีไซซ์บริษัทใกล้เคียงกัน ทำไมจะทำไม่ได้”

สมัชชาบอกว่าการสร้าง Sansiri Backyard มีนัยสำคัญในการสื่อสารให้ผู้คนมองเห็นเรื่องที่เคยมองข้าม โดยเฉพาะผู้ประกอบการ

“ผมรู้สึกว่าในมุมมองของภาคอสังหาฯ มันก็แค่การออกนอกกรอบ อย่าคิดแค่ว่าเราเป็นคนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องซื้อขายที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว เราก็มีหน้าที่สร้างชุมชนให้สมบูรณ์มากขึ้น สมดุลมากขึ้น น่าอยู่มากขึ้น แค่ต้องสละมุมมองในเชิงของพาณิชย์ออกไปนิดหนึ่ง

“ตลาดอสังหาฯ ตอนนี้ก็ไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนเมื่อก่อน ถ้าคุณมีที่ว่างก็เอามาใช้ประโยชน์ให้ชุมชนตรงนั้นดีไหม ใครที่ยังมีแลนด์แบงก์อยู่ก็เอามาทำอะไรสักอย่างสิ เอกชนมีส่วนร่วมได้ เพราะทำง่ายกว่า เร็วกว่า  ต้นทุนทางด้านทรัพยากรลูกค้าหรือพันธมิตรก็มีอยู่แล้ว เราแค่ช่วยกันคนละนิดคนละหน่อย จะเอาโมเดลนี้ไปทำก็ได้ ผมไม่ได้หวงเลย”

แม้จะเข้าใจว่าเรื่องการจัดการพื้นที่สีเขียวอยู่ในความดูแลของหน่วยงานภาครัฐหรือภาคท้องถิ่น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบ่อยครั้งกลไกต่าง ๆ ในการบริหารจัดการมีความล่าช้าและ
ซ้ำซ้อน ในนามของธุรกิจเอกชนที่คล่องตัวกว่าในหลาย ๆ ด้าน หากมีความพร้อม มีที่ดินเปล่า และมองเห็นประกายความหวัง ก็อาจช่วยกันทำให้ภาพฝันอันใหญ่ขนาด ๙ ตารางเมตรต่อประชากร ๑ คนสำเร็จเร็วกว่าที่คาด

แต่ผู้ประกอบการรายย่อย SME ที่เกี่ยวกับธุรกิจสีเขียวก็คงไม่อาจอยู่ได้ด้วยอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว เนื่องจากผู้บริโภคไทยยังยอมรับในเรื่องกลไกราคาได้ไม่สูงมากนัก เป็นโจทย์ใหญ่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าจะออกนโยบายที่ชุบชูหัวใจคนทำงานอย่างไรให้พอมองเห็นทางสว่าง ได้รับแรงสนับสนุนจากผู้กำหนดทิศทางตลาดอย่างเต็มที่ ให้พวกเขามีแรงพัฒนาธุรกิจเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีกว่าอย่างมีหวัง
“พวกเขาเชื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันหนึ่งที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมได้  ถ้าใจรัก แต่ไม่เชื่อมั่น ผมคิดว่า พวกเขาคงท้อไปนานแล้ว แสนสิริเองก็เชื่อแบบนั้น” สมัชชากล่าวปิดท้ายอย่างจริงใจ