สามสาวสามรุ่น กับผลิตภัณฑ์ปลอดพิษสร้างรายได้
ครูอุษา กัญญ์ณัทพัชร
เจ้าของสวนผักคนเมือง
ที่สอนให้รู้ว่า ชีวิตนี้ กิน แค่ อิ่ม
กินบนปูน ปลูกบนหลังคา สวนผักคนเมือง
เรื่อง : ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
"การทำสวนดาดฟ้า ๑๐๑ อาจเริ่มจากยอมรับการล้มตายของต้นไม้ และยอมรับได้ว่าตนรู้น้อยมากเพียงไร ครูอุษาบอกให้เราเข้าใจว่าการดูแลผักใบก็ไม่ต่างอะไรจากการรักใครคนหนึ่ง"
จากคอนโดฯ แปดชั้นที่สุขุมวิทส่งไม้ต่อมายังอาคารพาณิชย์สูงสามชั้นย่านห้วยขวาง คล้ายกับฉายภาพในจินตนาการของ “แพรี่พาย” ให้ชัดขึ้น เมื่อลัดเลาะมาตามทางที่ดูเหมือนย่านชาวจีน เพราะรายล้อมด้วยร้านอาหารประจำชาติมังกรใหญ่จากถนนวุ่นวายรถราสัญจรไปมาขวักไขว่ กลายมาเป็นตรอกซอยหนึ่งที่แคบพอให้รถเข้าออกเพียงทางเดียว นี่คือที่ซ่อนตัวของสวนผักคนเมืองที่เติบโตบนดาดฟ้าของครูอุษา-กัญญ์ณัทพัชร บุณยะโหตระ
สาวใหญ่ในอาชีพครูพ่วงด้วยวิทยากรมากฝีมือจากโครงการสวนผักคนเมืองทักทายเราด้วยน้ำเสียงสดใส ขณะง่วนอยู่กับการตระเตรียมบ้านให้สะอาดตา โดยมีผู้ช่วยเป็นสองสาวรุ่นลูก น้องข้าวกับพี่โบ ผู้เปรียบเสมือนแขนซ้ายและแขนขวาของครูอุษา
อาคารพาณิชย์สูงสามชั้นนี้เป็นสถานที่สอนพิเศษตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาลจนถึงมัธยมฯ ต้น ที่นอกจากจะช่วยทำการบ้านและสอนให้เข้าใจบทเรียนแล้ว ทักษะการทำเกษตรก็เป็นอีกหนึ่งวิชาที่ครูอุษาปลูกฝังเด็กทุกคน จะเห็นตั้งแต่การต่อชีวิตกล้วยเหลือทิ้งในถังหมักน้ำส้มสายชูบริเวณชั้นล่าง ทุกพื้นที่ในตัวบ้านเต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ในการแปรรูปอาหาร ไม่เพียงแค่รอยยิ้มของสามสาวที่ต้อนรับเราอย่างเป็นมิตร กลิ่นมินต์สดชื่นก็ทักทายเราตั้งแต่ก้าวเท้าขึ้นบันได ทราบภายหลังว่าเป็นผลงานของน้องข้าว เด็กสาวตัวน้อยผู้ปรุงสะระแหน่ เปลือกส้มโอ และตะไคร้ออกมาเป็นน้ำมันหอมระเหย เสียงเจื้อยแจ้วร่าเริงยามแนะนำสมาชิกสี่ขาที่อาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน
น้องข้าวกับบรรดาดอกไม้กินได้ สำหรับการชงชาในเช้าวันใหม่
“ตัวนี้ชื่อนมสด เพราะเป็นสีขาว ส่วนตัวนี้ชื่อโทฟู เพราะสีน้ำตาล เขาชอบนอนหงายหลังเหมือนเต้าหู้ที่ทอดแล้วไม่ได้กลับ” น้องข้าวยิ้มร่า จากเด็กที่แค่รับเลี้ยง ก็กลายมาเป็นคนสำคัญในบ้าน อีกคนที่สำคัญคือพี่โบ นักศึกษาปริญญาโทซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานแท้ ๆ ของครูอุษา ผู้เป็นหนึ่งในกำลังหลักของการทำสวน
แม้จะไม่ใช่บ้านใหญ่โตโอ่อ่า แต่วัตถุดิบต่าง ๆ ก็มีป้ายชื่อเป็นระเบียบ กล่องทัปเปอร์แวร์หลายสิบใบรายเรียงเป็นแถวอุปกรณ์ถูกจัดเก็บตามหมวดหมู่ง่ายต่อการหยิบใช้ ทำให้พื้นที่ใช้สอยของชั้น ๒ เพิ่มขึ้นมาทันตา ครูอุษาบอกว่าก่อนจะเป็นชั้นเก็บของกลาย ๆ นี้ ทั้งหมดถูกแทนที่ด้วยหนังสือเรียนนับร้อย เพียงแต่สถานการณ์โรคระบาดไม่อนุญาตให้เธอเปิดสอนเด็ก ๆ ได้อีก
บริเวณชั้น ๓ เธออุทิศให้กับการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร ทุกครั้งหลังกลับจากตลาด นอกจากกล้วยเหลือทิ้งสำหรับใช้ทำน้ำส้มสายชู เศษอาหารเศษผักมากมายก็จะถูกขนกลับมาด้วย ก่อนจะทำการแยกขยะด้วยสองมือ ชิ้นไหนพอทำเป็นอาหารไก่ได้จะถูกแยกไว้ ส่วนชิ้นที่สมบุกสมบันหน่อยจะกลายเป็นปุ๋ยหมักชั้นดีบนบันไดขั้นสุดท้าย
จากดาดฟ้าลานขยะ
สู่สวนผักคนเมือง
“พวกนี้อาจดูเหมือนไม้ประดับ แต่จริง ๆ กินได้หมดเลยนะ” เสียงของครูอุษาดังขึ้น ราวกับรู้ว่าเรากำลังคิดอะไรอยู่เพราะสวนผักดาดฟ้าตามความเข้าใจคือผักสวนครัวต้นจิ๋วในกระถางใบน้อย แต่สวนของครูมีหลังคาจากระแนงไม้เต็มพื้นที่ ถ้าถึงฤดูเก็บเกี่ยวคงไม่ต่างจากอุโมงค์ต้นไม้ให้ร่มเงา มีหญ้าฟางจำนวนมาก มีโรงเพาะเห็ดที่แสงแดดตกกระทบบางเบา มีอ่าง (เคย) อาบน้ำที่ถูกเนรมิตให้กลายเป็นบ้านของผักใบเขียวและที่พักผ่อนของหัวมัน ที่สำคัญมีฉากหลังเป็นตึกสูงกว่า ๒๐ ชั้น ที่ย้ำชัดกับเราว่านี่คือสวนผักใจกลางเมือง
ปัจจุบันสินค้าออร์แกนิกอาจหาได้ทั่วไป แต่หากย้อนกลับไปหลายสิบปีคงต่างกันราวฟ้ากับเหว นั่นเป็นเหตุผลที่ครูอุษาลงมือเปลี่ยนดาดฟ้ารกร้างให้กลายเป็นสวนจากความไม่รู้
“ครูเป็นคนที่ไม่ปลูกต้นไม้ เพราะเป็นคนเมือง ไม่มีความรู้เรื่องทำสวนแม้แต่นิดเดียว บอกไม่ได้ว่าครูใช้เวลานานเท่าไรกว่าจะเข้าใจ แต่ทุกเวลาที่ว่างก็จะศึกษาเรื่องการทำสวน แล้วก็ลงมือทำ” เธอเล่าถึงช่วงเวลาก่อนจะกลายเป็นวิทยากรโครงการสวนผักคนเมืองทุกวันนี้ ที่ผ่านการล้มลุกคลุกดินมานับครั้งไม่ถ้วน เป็นผู้มาก่อนกาล ขณะที่หลายคนครหาว่าการทำสวนบนดาดฟ้าเป็นไปไม่ได้
โครงการสวนผักคนเมืองดำเนินงานโดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา ศูนย์อบรมเกษตรในเมือง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จากความต้องการให้คนเมืองตระหนักรู้เรื่องอาหารมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยจากสารพิษ ปัญหาสุขภาพ ส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกผักสวนครัวไว้บริโภคใช้สอย ซึ่งเหล่านี้ส่งผลถึงสิ่งแวดล้อมของเมือง อันเป็นปัญหาโดยรวมของสังคมด้วย
“หลายคนมาลองภูมิครู บางคนบอกว่าตึกจะพังไหม คุณดูสิ ไม่มีอันไหนแตะดิน ทุกอย่างยกสูงหมด ไม่มีอะไรฉ่ำน้ำ ครูไม่มีกระถางดินเผา เพราะมันหนัก เราต้องรักษาพื้น เราไม่ใช้ไม้ด้วย เพราะมันผุง่าย แล้วจะกลายเป็นขยะซึ่งจะเอาไปทิ้งที่ไหน ของแต่ละอย่างต้องรู้อายุการใช้งาน อย่างท่อ PVC อายุใช้งาน ๑๑ ปี ขายได้กิโลกรัมละ ๔ บาท ขอแค่คุณมีน้ำกับแดดก็พอ และที่สำคัญคือเราต้องมีความรู้” พอสิ่งเหล่านี้เอ่ยออกมาจากปากของคนเป็นครู เรารู้สึกเหมือนถูกกวดขันอย่างไรชอบกล
การทำสวนดาดฟ้า ๑๐๑ อาจเริ่มจากยอมรับการล้มตายของต้นไม้ และยอมรับได้ว่าตนรู้น้อยเพียงไร ครูอุษาบอกให้เราเข้าใจว่าการดูแลผักใบก็ไม่ต่างจากการรักใครสักคน
“คุณรู้จักแฟนคุณดีพอไหม ว่าแฟนคุณชอบหรือไม่ชอบอะไร อยากให้ทำอะไร ไม่อยากให้ทำอะไร เขาชอบความร้อน ความเย็น ความหนาวแบบไหน คุณปฏิบัติตามและเอาใจเขาอย่างที่เขาต้องการไหม ทบทวนในสิ่งที่ทำว่าผิดพลาดตรงไหนและเริ่มใหม่ แล้วมันก็จะงอกงาม” นี่คือคำแนะนำจากคนรักต้นไม้ที่ยังถูกหักอกอยู่ร่ำไป แต่ไม่ย่อท้อ
ครูอุษาชวนให้เราลองจับใบสะระแหน่ เพียงขยำเบา ๆ ก็จะได้กลิ่นหอมของธรรมชาติฟุ้งขึ้นมาจนเราอยากเดินดมให้ครบทั้งสวน ตื่นตาตื่นใจจนอดคิดไม่ได้ว่าเด็ก ๆ จะมีความสุขขนาดไหนที่พบเจอเรื่องราวใหม่ ๆ ทุกวัน โมงยามแห่งความสุขปกคลุมเราอีกครั้ง เมื่อครูอุษาได้เมนูแกงกะหรี่จากการแหวกหน้าดินลงไปเจอหัวมัน และได้เห็นน้องข้าวพูดคุยกับเพื่อนเก่าอย่างเจ้ากิ้งกือ
จากโรงเรียนสู่โรงเรือน
เมื่อผลิตผลจากสวนดาดฟ้าเริ่มล้น ถึงเวลาต้องขยับขยายลงข้างล่าง ครูอุษายังมีอีกสวนหนึ่งที่รอให้เราสำรวจ ซึ่งก็เป็นสวนบนพื้นปูนตามสไตล์คนเมืองเช่นกัน ด้วยระยะห่างเพียง
๑ กิโลเมตร เราจึงขออนุญาตติดรถสารพัดนึกที่ครูอุษาเอ่ยปากให้พี่โบเร่งไปเก็บกวาด เพราะเป็นรถตู้ประจำบ้านที่ขนทุกอย่างตั้งแต่คนยันปุ๋ย
เป็นกิจวัตรทุกเช้าของทุกวัน สมาชิกในบ้านที่ประกอบด้วยครูอุษา สามี พี่โบ น้องข้าว จะต้องสตาร์ตรถไปรดน้ำต้นไม้ ให้อาหารเป็ดไก่ และตรวจตราความเรียบร้อย
ไม่ทันได้ลงจากรถดี น้องข้าวอาสาเปิดประตูสวนให้เราพบแก๊งเป็ดไก่ที่ส่งเสียงประท้วงลั่น เพราะเจ้าของมาให้อาหารช้ากว่าที่เคย และแม้พนักงานต้อนรับเหล่านี้จะเจ้าอารมณ์เพียงใด น้องข้าวก็ยังตั้งชื่อให้พวกมันครบทุกตัวด้วยความรัก เป็ดสองตัวที่ไถ่ชีวิตจากตลาดก่อนจะหล่นลงหม้อชื่อลักกี้กับซาตา ไก่อีกเจ็ดตัวที่กำลังร้องโวยวายชื่อ นมถั่ว ปุยฝ้าย ตามหา หาเก่ง มินต์ เมนเทล และวานิลลา
เบื้องหลังประตูสวนที่ไม่เคยล็อกยังคงมีระแนงไม้เป็นหลังคาและมีท่อ PVC ที่ถูกดัดเป็นอุโมงค์ไม้เลื้อย ต้นไม้ผักใบทุกต้นอาศัยอยู่ในกระถางพลาสติก ไม่มีต้นไหนที่ลงดิน ถอดแบบจากสวนผักดาดฟ้าทุกประการ นอกเสียจากมันจะเติบโตขึ้นเองจากรอยแยกของป่าคอนกรีต ดีหน่อยที่พออยู่ข้างล่างก็ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำหนัก จึงสามารถก่ออิฐเป็นบ่อหมัก permaculture สำหรับย่อยสลายพืชผลธรรมชาติได้ น้องข้าวกับพี่โบแยกย้ายไปเก็บดอกไม้กินได้สำหรับทำชาในวันพรุ่งนี้ ส่วนครูอุษาบ่นอุบที่ต้องหาเวลามากำจัดต้นโพที่สูงใหญ่เกินกว่าจะเป็นวัชพืช
“พอลงมือปลูก ครูจะวางเป้าตัวเองเอาไว้ว่าฉันจะซื้อให้น้อยที่สุด เลยพยายามปลูกพืชหลาย ๆ ชนิด ตั้งเป้าหมายกับตัวเองทุกวัน จนต้องขยายจากดาดฟ้าลงมาข้างล่าง” ครูว่าพลางแนะนำให้เรารู้จักสมาชิกสีเขียวทีละต้น เริ่มจากต้นคนทีสอหน้าประตู ไล่มาจนถึงเบญจรงค์ห้าสีออกดอกสวยเหมือนไม้ประดับ กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมที่ยืนพิงกำแพงปูนท้ายสุดของสวน วัตถุดิบสำคัญสำหรับหมักปุ๋ยและคลุกข้าวให้เป็ดไก่ ยังมีผักสวนครัวนานาชนิดที่ครูอุษาบอกว่าต้องเอาใจใส่มากหน่อย เพราะเขาบอบบาง ขนาดเล็กและเป็นผักที่เรากิน โดยทั้งหมดเติบโตขึ้นจากเมล็ดพันธุ์ที่มั่นใจแล้วเท่านั้นว่าปราศจากการตัดแต่งพันธุกรรม
ที่แห่งนี้เดิมเป็นโรงเรียนรังษีวิทยา ทั้งบริเวณที่เรายืนอยู่ยาวจนสุดขอบรั้วสีขาว กิจการของครอบครัวที่ถูกแบ่งขายรื้อถอนไปบางส่วน แต่ก็มีมากพอให้สร้างผลผลิตที่กินอย่างไรก็ยังเหลือเผื่อแผ่ มีกรงไก่ขนาดใหญ่ที่ครูอุษาสร้างเอง มีโรงครัวขนาดย่อมที่ประกอบอาหารได้พออิ่ม และมีกล่องโฟมระเกะระกะกับขยะนานาชนิดที่เมื่อถึงเวลาจะถูกใช้เป็นภาชนะเพาะปลูก
“ของที่เป็นขยะอยู่ในสวนตรงนี้เราจะไม่เอาไปทิ้งเลยถ้าย่อยสลายได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาต้องใช้ประโยชน์ได้ รดน้ำเข้ารอให้ฝนตกเข้า เดี๋ยวมันก็ยุบ” ครูพูดถึงบ่อหมักสูงท่วมหัวที่ถูกทับถมด้วยซากพรรณพืชรอวันย่อยสลาย
แหล่งอาหารสร้าง (ราย) ได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตโรคระบาดส่งผลกระทบในทุกเรื่อง โดยเฉพาะอาหารการกินที่ต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ การผันตัวมาเป็นผู้ผลิตนั้นอาจเหนื่อยแรงมากขึ้น แต่ก็ลดปัจจัยเสี่ยงได้มากโข ครูอุษาได้รับแรงกระแทกเป็นกลุ่มแรก ๆ ในฐานะครูสอนพิเศษ รายได้จากการสอนหนังสือและเป็นวิทยากรร่วมด้วยก็ถดถอยลง ยิ่งกว่าโชคดีที่การเป็นเจ้าของในทุก ๆ อย่างที่มีทำให้แทบไม่เสียค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน
“สมมุติว่าวันนี้ครูอยากทำอาหาร ถ้าแค่ดาดฟ้าเนี่ยครูไปหยิบมันมาสองลูก ตัดกิ่งไชยามาสองกิ่ง ครูก็ทำราดหน้าใส่ผักไชยา แล้วมีเต้าหู้กับมันต้ม รอดแล้วนะหนึ่งมื้อ ยังไม่รวมตำลึง ไม่รวมไข่ ไม่รวมหยวกกล้วย ที่นำมาทำแกงได้อีก ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่พอเราสังเคราะห์ลงไปลึก ๆ บางครั้งก็งงนะว่าใน ๑ อาทิตย์เราไม่เสียเงินค่าข้าวสักบาท”
“การปลูกผักคือการลดต้นทุนของชีวิต” เธอเสนอแนะ “ลองคิดดูว่าคุณทำงาน เงินเดือนที่คุณได้มาเสียค่าอาหารไปเท่าไร และยังได้ของแถมเป็นสารพิษที่อยู่ในอาหาร”
จริงอยู่ที่คนเมืองอย่างเราใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบ อาจด้วยสภาพสังคมที่ทำให้เราต้องวิ่งมาราธอนตลอดเวลา การสละเวลาทำเงินทำทองไปกับการปลูกผักรดน้ำต้นไม้ อาจไม่ใช่เรื่องที่หลายคนสนใจนัก เพียงแต่หากเรามีที่ว่างพอให้นั่งพักสูดลมหายใจเข้าออกช้า ๆ และไม่โบยตีชีวิตมากเกินไป เราอาจพบความจริงอีกข้อว่า เวลาที่เสียไปกับการวนหาที่จอดรถเพื่อกินข้าวสักจาน ก็อาจพอ ๆ กับการเด็ดใบกะเพราจากสวนหลังบ้านมาผัดกินเอง ข้อเสนอแนะนี้น่าคล้อยตามมากขึ้นอีก เมื่อเราอยู่ในสถานการณ์โรคระบาดที่หลายครอบครัวจำต้องอดอาหารหนึ่งมื้อเพื่อลดค่าใช้จ่าย เพราะนอกจากจะช่วยให้สถานะทางการเงินของเราคล่องตัวขึ้นแล้ว สุขภาพที่ดีจากการเลือกรับประทานก็จะตามมา
“สารอาหารที่อยู่ในคะน้าค่อย ๆ สลายตั้งแต่ตัดออกจากต้นและจะสลายไปเรื่อย ๆ เริ่มจากไร่ พ่อค้าคนกลาง ตลาด จนมาถึงเรา แล้วก็นอนอยู่ในตู้เย็นของเราอีก วิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส มันหายไปหมดแล้ว” ครูอุษาเล่าข้อเท็จจริงที่คล้ายการยื่นอีกข้อเสนอให้เราหยุดบ่ายเบี่ยงการสร้างแหล่งอาหารของตนเองเสียที
และเพราะพิถีพิถันกับการกินขนาดนี้ ผลิตภัณฑ์จากสวนของเธอจึงมั่นใจได้ว่าปราศจากสารเคมี ฟ้าทะลายโจร โหระพา หรือมะเขือพวงเองก็ดี นอกจากจะนำผลิตผลไปขายได้แล้วเพียงนำเมล็ดใส่ซองก็กลายไปเป็นสินค้าอีกประเภท จะเห็นได้ว่าต้นไม้ทุกต้นในสวนหยั่งรากอยู่ในกระถางพลาสติกพร้อมยกขาย ครูอุษายังบอกให้เรานำทางมะพร้าวไปเหลาเป็นไม้กวาดขายอีก หากขยันมากพอ
การแปรรูปสินค้าคืองานอดิเรกแสนโปรดของเธอ ความสามารถที่ส่วนหนึ่งได้มาจากความรู้ด้านคหกรรมสมัยเรียน และการศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ ในวัย ๕๕ ส่งผลให้ครูอุษา
มีรายได้หล่อเลี้ยงชีพโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร ไม่ว่าจะเป็นแหนมเห็ด ผักดอง กิมจิ ซอสมะเขือเทศ น้ำส้มสายชูจากกล้วย ต้นอ่อนผักสวนครัวต่าง ๆ ฯลฯ โดยเฉพาะเต้าหู้ขาวห่อใบตองเขียวกับนมถั่วรสชาติเข้มข้น ผลิตภัณฑ์สร้างชื่อของสวนครูอุษาทำหลายคนติดใจมานักต่อนัก
"เวลาจับดิน เรามีความสุขและเราจะมีความสุขมากกว่านั้น เมื่อเก็บผลิตผลไปให้คนอื่น ปฏิสัมพันธ์ของคนในครอบครัวก็จะงดงาม เด็ก ๆ ขึ้นมาตัดผลิตผล นั่งทำ นั่งกินด้วยกัน นี่คือความงามของชีวิต"
ครูอุษา
พี่ใหญ่แห่งวงการสวนผักดาดฟ้า
แบ่ง สรร ปัน สวน
ความเหน็ดเหนื่อยคงเกิดขึ้นเพราะแดดที่ร้อนจัดกับสวนปูนที่ปราศจากไฟฟ้าและห้องน้ำเสียมากกว่า เธอจึงกำหนดเวลาให้ตนเองจัดแจงสวนได้ไม่เกิน ๓ ชั่วโมงต่อวัน แต่แค่นั้นก็เพียงพอแล้วสำหรับการตักตวงความสุข
“การทำสวนสอนให้รู้ว่าชีวิตคนเรามันกินแค่อิ่ม” เธออวดผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการมีครูเป็นต้นไม้มานับสิบปี “เวลาจับดิน เรามีความสุข และเราจะมีความสุขมากกว่านั้นเมื่อเก็บผลิตผลไปให้คนอื่น ปฏิสัมพันธ์ของคนในครอบครัวก็จะงดงาม เด็ก ๆ ขึ้นมาตัดผลิตผล นั่งทำ นั่งกินด้วยกัน นี่คือความงามของชีวิต”
ครูอุษาบอกเราเรื่องที่เพื่อนบ้านล้วนได้กินไข่จากไก่ของเธอ ผลิตผลที่มีอยู่ล้นสวนเริ่มทยอยตัดแบ่งให้คนในชุมชน กระทั่งคาดคะเนความต้องการไม่ได้จึงยกกระถางให้ไปเลย ส่งมอบวิถีชีวิตปลูกเองกินเอง เป็นเหมือนกุศโลบายให้ริเริ่มปลูกผัก เพราะเธอรู้ดีว่าการเริ่มจากเพาะเมล็ดเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นนัยสำคัญของประตูบานใหญ่ที่ไม่เคยล็อกคือเปิดบ้านให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ รวมถึงเปิดสวนดาดฟ้าให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างแหล่งอาหารของคนเมืองที่สอนมากกว่าการเพาะชำ
พี่โบ ผู้เปรียบเสมือนลูกศิษย์คนแรกของครูอุษาเล่าให้ฟังว่า หากมองเพียงผิวเผิน การทำสวนอาจเป็นเพียงการรดน้ำปลูกผักธรรมดา ๆ แต่แท้จริงแล้วมันไม่ต่างจากการใช้ชีวิต ต้องมีการวางแผนทำงานทุกวัน มีปัญหาให้แก้ไม่รู้จบ จะทำอะไรกินจากผลิตผลที่ได้มาก็ต้องคิด ต้องหมักดิน ต้องจัดการขยะ เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเรียนรู้ด้วยตนเองทุกวัน
ความผูกพันแน่นแฟ้นของสามสาวที่ไม่ได้เชื่อมโยงกันทางสายเลือดเสียทีเดียว ทำให้เราพอเข้าใจว่าเหตุใดครูอุษาถึงบอกเล่าเรื่องความงามของชีวิตออกมาง่ายดายนัก เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ชีวิตมีที่ว่างมากพอให้นั่งพัก สิ่งใดจะงดงามไปกว่าการรายล้อมด้วยคนที่ดี พร้อม ๆ ได้ทำในสิ่งที่รัก แม้ข้าวของในสวนจะทรุดโทรมบ้าง หรือร่างกายจะโรยราตามเวลา ทว่าตลอดการสนทนา น้ำเสียงของครูอุษากลับเปี่ยมล้นด้วยความสุข เราเชื่อเหลือเกินว่าไม่ใช่แค่อาหารการกินหรอกที่ทำให้พี่ใหญ่ในวงการสวนดาดฟ้าสุขภาพแข็งแรง การมีหัวใจที่เปิดกว้างนั่นก็ด้วย
“ครูภูมิใจแล้วก็ดีใจ ว่าถ้าเกิดแก่ตัวและสิ้นอายุขัยของตัวครูแล้ว ไม่ว่าจะเจอวิกฤตทางภัยธรรมชาติหรือวิกฤตทางสังคม เด็กพวกนี้ก็จะไม่อดอยากและอยู่อย่างมีความสุขได้ เพราะความสุขมันสำคัญยิ่งกว่าเม็ดเลือดขาวอีกนะ ครูตื่นมาทุกเช้าด้วยความรู้สึกโชคดีที่เรายังมีชีวิตอยู่โดยยังไม่ใหลตายเสียก่อน”