Image
เกษตรกร ลอยฟ้า
แพร อมตา
ในวันที่เข็มนาฬิกาชีวิตเดินช้าลง
กินบนปูน ปลูกบนหลังคา สวนผักคนเมือง
เรื่อง : ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์
ภาพ : อมตา จิตตะเสนีย์
จะเป็นไปได้ไหมถ้าเราหันหลังให้กลิ่นหมูปิ้งตอน ๗ โมงเช้า และปฏิเสธการกินข้าวแม้จะหิวกลางดึก หากเป็นชาวเมืองอื่นก็คงตอบว่าได้ แต่ชาวเมืองสตรีตฟู้ดอันดับ ๑ ของโลกคงแอบร้องไห้ฟูมฟาย จะให้ปลูกผักทำกับข้าวกินเองยิ่งแล้วใหญ่ ในเมื่อมองไปทางไหนก็เห็นแต่ป่าปูน

สารคดี พาคุณมาพูดคุยกับสามผู้ผลิตแหล่งอาหารสามสไตล์ ที่จัดสรรพื้นที่ที่มีจำกัดอย่างชาญฉลาด แม้ทุกคนจะมีจุดมุ่งหมายต่างกัน แต่พวกเขาล้วนเชื่อในการกินอยู่อย่างมีคุณภาพ บ้างค้นพบตนเองระหว่างทาง บ้างพบเจอความงามของชีวิต

ท่ามกลางตึกสูงที่แทรกตัวเบียดเสียดของกรุงเทพมหานครที่ใครต่อใครบอกว่าไม่โรแมนติก วันเวลาเสียไปกับการก้มหน้ามองความผุพังของทางเท้า พลางนึกถึงกับข้าวมื้อถัดไป เราก้าวขาช้าลงเล็กน้อย ก่อนเงยหน้ามองดาดฟ้า
Image
หากย้อนเวลา
กลับไปไม่กี่ปีก่อนหน้านี้

กลิตเตอร์บนเปลือกตาหรือลิปสติกสีสดคงเป็นภาพจำที่ใครหลายคนมีต่อ “แพรี่พาย” เมกอัปอาร์ติสต์ชื่อดังที่หยิบปากกาวาดลวดลายบนใบหน้าเป็นคนแรก ๆ ก่อนก้าวเข้ามาเป็นแถวหน้าของวงการแฟชั่นไทย ด้วยตัวตนที่ยากจะมีใครเหมือน แต่แน่นอนว่าคงไม่มีใครใจร้ายขนาดยอมให้ความหนาของรองพื้นปิดกั้นการหายใจของผิวหนังไปตลอด เครื่องสำอางจึงค่อย ๆ ลบเลือนจากใบหน้าเธอทีละนิด พร้อม ๆ กับการหายหน้าหายตาไปจากวงการแฟชั่นทีละหน่อย รู้ตัวอีกทีก็เห็นภาพเธอยิ้มแฉ่งกับผลิตผลบนดาดฟ้า กลายเป็นแพร-อมตา จิตตะเสนีย์ เจ้าของ #pearypieskygarden สวนผักดาดฟ้าที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์กินอยู่กับธรรมชาติกว่า ๔ ปีของเธอ

อะไรทำให้แพรตัดสินใจเหยียบพื้นด้วยเท้าเปล่า และเลือกหยั่งรากลงในผืนดิน
Image
Image
#pearypieskygarden
“แพรตั้งใจจะใช้พื้นที่ดาดฟ้าเป็นห้องทดลอง” นี่คือประโยคแรกของบทสนทนาที่เธอตอบอย่างมั่นใจ “ถามตัวเองว่าเราสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าจะเป็นผู้ผลิตอาหารให้คนในครอบครัว เหมือนกับที่เราเคยตั้งคำถามตอนเป็นช่างแต่งหน้า ว่าเราจะทำแฟชั่นวีกได้ไหม”

เป้าหมายที่เธอตั้งมั่นก่อนจะเนรมิตดาดฟ้าชั้น ๘ ย่านสุขุมวิทให้กลายเป็นสวน สะท้อนความเป็น “แพรี่พาย” ที่มักจะท้าทายตนเองได้เป็นอย่างดี

เมื่อบ้านที่เคยอาศัยทรุดโทรมมาก คอนโดมิเนียมซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวจึงกลายเป็นที่อยู่ใหม่ แรกเริ่มเธอตั้งใจ
จะทำดาดฟ้าให้สวยงามด้วยไม้ประดับ เป็นสวนหย่อมขนาดย่อมให้ลูกบ้านได้พักผ่อนหย่อนใจ แต่ใครล่ะที่แสวงหาการพักผ่อนก่อนใคร ๆ  “แพรี่พาย” ผู้ต้องย่ำอยู่บนปูน รายล้อมด้วยกำแพงคอนกรีตนี่แหละ ที่อยากมีพื้นที่ไว้ผ่อนคลายอารมณ์ แปลนสวนทั้งหลายจึงเกิดขึ้น

“พอแพรหันหลังให้แฟชั่นแล้วเข้ามาใกล้ชิดธรรมชาติ ก็ได้สะสมประสบการณ์เรื่องการปลูกผัก แพรอยากแก้ไขปัญหา
สิ่งแวดล้อม อยากเข้าใจเรื่องการเกษตรมากขึ้น แล้วก็อยากให้คนที่บ้านได้กินอาหารปลอดพิษ”
Image
แต่ถึงจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้มากเพียงไร ช่วง ๒ เดือนแรกของการลงมือปลูกเองก็ไม่ต่างจากบททดสอบจิตใจ ลำพังแค่ทำสวนก็ห่างไกลจากวิถีชีวิตนักเรียนนอกของเธอมากพอดู แล้วการจะเนรมิตดาดฟ้าให้มีชีวิตชีวา ยิ่งต้องอาศัยความขยันอดทนอย่างมากในการจำลองระบบนิเวศบนสวนปูนชั้น ๘ เพราะหากเป็นผืนดินดีทั่วไป แม้โรยเมล็ดทิ้งไว้อย่างไม่ตั้งใจมันก็งอก เธอจึงเลือกปลูกต้นที่ทนทานพอจะอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนจัดและแข็งแกร่งพอที่จะเติบโตบนนิเวศที่ปราศจากสิ่งมีชีวิต  ผักสวนครัวที่ปลูกง่ายตายยากอย่างผักบุ้งกับกะเพราจึงเป็นเหมือนหนูสองตัวแรกในห้องทดลองของเธอ  ต่อมาเมื่อผักที่ขึ้นชื่อว่าปลูกง่ายที่สุดเติบโตบนดาดฟ้าได้สำเร็จ จึงขยับขยายมาสร้างที่อยู่อาศัยให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ตัวน้อยอย่างไส้เดือนและผึ้ง ที่จะคอยปรุงส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน 

“เราเข้าใจแล้วว่าทำไมเขาถึงต้องใช้สารเคมีพ่น ทำไมต้องใช้ปุ๋ย ไปกินส้มตำนอกบ้านเราก็ไม่กินถั่วฝักยาว เพราะมีสารเคมีเยอะมาก เรารู้ว่าอาหารมีที่มายังไง หน้าตาศัตรูพืชของพืชแต่ละชนิดเป็นแบบไหน” จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเธอจะปรี่ไปเขียนขอบตาทาปาก เลือกเสื้อผ้าให้สวยสดใส และถ่ายรูปคู่กับผลิตผลปลอดสารพิษอวดใคร ๆ อย่างภาคภูมิ 

“พอ ๔-๕ เดือนแพรก็เริ่มศึกษาวงจรชีวิตของพืช ถ้าอยากกินกระเจี๊ยบตอนปลายปีจะต้องเริ่มปลูกเมื่อไร หรือถ้าอยากถ่ายรูปเราจะจัดสวนยังไง เช่น ข้างหลังให้เป็นต้นที่สูงขึ้นมาหน่อย ตรงกลางเป็นทานตะวัน ข้างหน้าเป็นดอกดาวกระจาย เรามีเพื่อนสนิทอายุมากขึ้นจากการเข้ามาสายธรรมชาติ เราเลิกทำเล็บ เลิกทำสีผม เราก็เลยมีพืชที่ให้ความสวย พืชที่กินแล้วสวย พืชที่หน้าตาสวย เราเน้นอะไรที่มันสวยแล้วใช้งานได้ ถึงแม้เราจะไม่ได้รับรีวิวแต่งหน้าแล้ว แต่ก็ยังรักสวยรักงาม เราปลูกแตงกวาไว้ทำโทนเนอร์ ปลูกว่านหางจระเข้ ตอนนี้พยายามปลูกมะกรูดอยู่  นอกจากนี้แพรยังปลูกพืชให้สี เพราะเราชอบศิลปะ ปลูกผักปลัง ครามอีสาน ดอกดาวเรือง”

คำพูดของเธอชวนให้นึกถึงภาพ “แพรี่พาย” ในอดีต เพียงแต่สีแดงเฉดใหม่ในพาเลตต์จะถูกทดแทนด้วยลูกผักปลัง
Image
เจ้าของสวนดื่มด่ำบรรยากาศสีเขียวที่หาได้ยากท่ามกลางตึกสูง
#pearypiegoesgreen
“เวลาเห็นผลผลิตว่ามันดูใหญ่น่าถ่ายรูป บางคนอาจไม่รู้ว่า ๔ ปีที่ผ่านมา เราอยู่กินกับชาวบ้านเป็นเดือน ๆ รู้จักวิถีชีวิต ภูมิปัญญาของเขา กินอาหารพื้นถิ่น เราผ่านการลงพื้นที่มาหมดแล้ว” แพรเล่าให้ฟังว่าสวนดาดฟ้าของเธอไม่ได้เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน และมันสำคัญต่อชีวิตนี้อย่างไร

กว่า ๔ ปีที่เราไม่ได้เห็น “แพรี่พาย” โลดแล่นในบทบาท beauty blogger หากจะหาตัวเธอได้ตามชุมชนห่างไกลมากกว่า  ปัจจุบันเธอนิยามตัวเองว่าเป็น student of earth สนุกสนานกับการได้เรียนรู้สิ่งใหม่จากการพบปะผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย เริ่มจากรับผิดชอบการกินอยู่ของตนเองด้วยการเป็นผู้สร้างแหล่งอาหาร ปลูกผักสวนครัวไว้บริโภค ขยับมาศึกษาต้นตอของปัญหากับคนในพื้นที่ และมีส่วนร่วมในการแก้ไข อย่างการริเริ่มโปรเจกต์ “บันทึกสีของเมืองหลวง” กับเพื่อน ๆ เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ที่จะช่วยแก้ปัญหาฝุ่นพิษและหมอกควันในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี  เธอเปลี่ยนจาก beauty blogger ที่มักจะรีวิวสินค้าบำรุงผิวพรรณ เป็นการรีวิวคราบมลพิษผ่านการนำเทปใสไปติดตามสิ่งของต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ จนถึงท่อไอเสียของยานพาหนะทุกประเภท

“เราชอบมากเวลาไปลงชุมชน เรียนเรื่องป่าภาคเหนือ เรื่องผ้าภาคอีสาน หรือเรียนเรื่องขยะทางทะเลภาคใต้ เพราะแพร
ห่างไกลจากความเป็นไทยค่อนข้างเยอะ วิถีชีวิตหลายอย่าง
ก็จะอยู่แต่ในเมือง เรียนจบก็ทำงานในกรุงเทพฯ ทำให้เราขาดความเชื่อมโยงกับตัวเอง และเราก็ค่อนข้างโฟกัสกับอีกชีวิตหนึ่งในโลกโซเชียลมีเดีย การเดินสายนี้แพรได้ความอิ่มทางใจอีกแบบ ที่ถ้าเราไม่เคยสัมผัส เราจะไม่เข้าใจคำว่ารากเหง้า วัฒนธรรม หรือความเป็นคนไทยเลย

“ตอนแพรไปเชียงดาว ก็มีเกษตรกรกับเด็ก ๆ พาเดินป่า แพรได้ยินเสียงหัวเราะตลอดทาง แล้วเขาก็พาแพรไปดึงถั่วลายเสือ เราไม่เคยรู้เลยว่าถั่วที่เรากินทุกวันมันอยู่ใต้ดิน ตอนนั้นรู้สึกว่า อี๋ โคลน เดี๋ยวกระเป๋าแพรจะเลอะ แต่พอเอาถั่วไปล้างน้ำที่ลำธารแล้วมาคั่วกับเกลือ มันเป็นความอร่อยที่โคตรเรียบง่าย ทั้งที่มันเป็นแค่ถั่วกับเกลือเท่านั้น” แพรพูดถึงเรื่องราวอันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้รู้ว่าเธอตัวเล็กมากเพียงไรในจักรวาลกว้างใหญ่ เป็นเสี้ยวเวลาแห่งการทบทวนชีวิต
Image
Image
สำหรับคนที่เคยให้ความสำคัญกับอีกชีวิตหนึ่งบนโลกโซเชียลฯ เธอค้นพบว่าธรรมชาติคือสิ่งน่าอัศจรรย์ที่ทำให้เธอกินอิ่มนอนหลับสนิท ในบทสนทนาเราจึงได้ยินคำว่า healing หลายครั้ง เพราะทั้งร่างกายและจิตใจเธอสดใสขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ละอองไอแห่งความสุขปกคลุมรอบตัวเธอจนรู้สึกได้ประสาทสัมผัสทั้งห้าของเธอเปิดออกเต็มที่ สังเกตเห็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ  ยินเสียงลำธารและการพลิ้วไหวของใบไม้ สูดอากาศบริสุทธิ์ ใช้ต่อมรับรสลิ้มลองอาหารพื้นบ้าน สุดท้ายเธอกลับมาลงมือปลูกมัน 

สวนดาดฟ้าจึงเป็นเหมือนพื้นที่ที่เธอได้ตกตะกอนชีวิตที่ผ่านมา ประยุกต์เอาความรู้ต่าง ๆ นานาจากลุงป้าน้าอามาปรับใช้ จำลองภาพที่เคยเห็น ประสบการณ์ที่เคยสัมผัส รสชาติที่เคยกินดื่ม ด้วยเคล็ด (ไม่) ลับจากการตะลอนป่าผจญภัย

ผลจากการเดินเท้าเปล่าและใช้สองมือโกยดิน หัวใจที่เคยเต้นเร็วรี่จากวิถีชีวิตก็เบาลง จนได้ยินเสียงความต้องการของตนเองดังขึ้น จากที่ใช้ชีวิตบนความคาดหวังของคนอื่นก็เริ่มเปลือยตัวตนที่แท้จริงให้เห็นอย่างซื่อสัตย์ แต่งหน้าเท่าที่อยากแต่ง แต่งตัวเท่าที่อยากใส่ เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบันและรักตนเองได้มากเท่าที่จะรัก

สิ่งน่าสนใจคือ เธอเปรียบชีวิตแต่ละช่วงวัยเหมือนการเขียนหนังสือ เมื่อหนังสือเกี่ยวกับการแต่งหน้าขายดีจนฮิตติดตลาดมานานหลายปี ก็ถึงคราวต้องเก็บใส่ไว้ในตู้โชว์และลงมือเปิดหน้ากระดาษแผ่นใหม่ ซึ่งคงไม่มีช่วงเวลาไหนที่ตัวอักษรจะพรั่งพรูได้มากมายเท่าสภาวะหัวใจที่สับสนอีกแล้ว

“มีช่วงหนึ่งรู้สึกเหมือนเราเป็นดาวดับ ไม่รู้ว่าจะต้องเดินหน้าต่อหรือถอยหลัง ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าอยากจะทำอาชีพในวงการแฟชั่นอยู่ไหม และก็ไม่รู้ว่าถ้าเราไม่ทำ content แต่งหน้าแล้วเราจะเป็นใคร เป้าหมายของเราคืออะไร การทำสวนจึงเป็นเหมือน chapter ใหม่ของชีวิต เป็นหนังสือที่มีคุณค่ามากขึ้น มีประโยชน์ต่อตัวเราและคนรอบข้าง

“แพรรู้สึกว่า I am Who I am ไม่ว่าแพรจะเป็นดาวที่สว่างอีกครั้งไหม หรือแพรจะเติบโตเป็นผีเสื้อ เป็นผึ้ง เป็นตัวอะไรก็ตาม ก็ให้มันเป็นเรื่องราวของ chapter ต่อไป แต่เรากำลังหยั่งรากตัวเอง จุดยืนของเรามั่นคงขึ้น สุดท้ายชีวิตคนเราไม่ได้ยากมาก แค่เกิดแก่เจ็บตาย เมื่อก่อนเราตั้งเป้าว่าจะต้องยิ่งใหญ่ มีชื่อเสียง แต่ความสุขเล็ก ๆ มันอยู่ตรงนี้ แค่ได้นั่งดูหนังน้ำเน่าที่เราไม่อยากดูกับแม่ก็มีความสุข เพราะว่าแม่มีความสุข แพรดีใจที่มาอยู่จุดนี้ได้ แพรมีความสุขกับปัจจุบัน” เธอกล่าว
"ก็ไม่รู้ว่าถ้าเราไม่ทำ content แต่งหน้าแล้วเราจะเป็นใคร เป้าหมายของเราคืออะไร การทำสวนจึงเป็นเหมือน chapter ใหม่ของชีวิต"
#diy #DoItYourself
ความสุขจากการรู้จักตนเองมากขึ้นไม่เพียงทำให้เธอเป็น “แพรี่พาย” ที่หายใจสดชื่นเต็มปอดมากกว่าที่เคย แต่พื้นที่สีเขียวไซซ์ครอบครัวนี้ก็เผื่อแผ่อากาศดี ๆ ให้คนอื่นด้วยเช่นกัน

“ตอนเป็นช่างแต่งหน้า ช่วงอายุแฟนคลับเราคือ ๑๕-๓๕ ปี มาทำผ้าไทยมันก็ขยายไปทางผู้ใหญ่ แต่ตอนนี้มันกว้างมาก มีคุณยายส่งตะกร้าผักมาให้เราดู บอกให้เราโพสต์เยอะ ๆ นะ
อย่างบ้านแพรเป็นสายธุรกิจ เขาไม่เข้าใจหรอกการกินอาหารเป็นยา กินผักตามฤดูกาลคืออะไร เวลาซื้อของก็จะซื้อลูกใหญ่ที่สุด แต่เดี๋ยวนี้มะเขือเทศลูกที่ไม่สวยเราก็เอามาแปรรูปอื่น ๆ ได้ คุณแม่เป็นคนทำงานตลอดเวลา หลัง ๆ เขาก็มีออกกำลังกาย ซื้อรองเท้ามาเดินรอบสวน คุณพ่อก็จะมาช่วยถอนวัชพืช นั่งดูว่ามีหอยทากให้เก็บไหม มีกิ้งกือหรือเปล่าสวนดาดฟ้ากลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนมีส่วนร่วม”

การเปลี่ยนดาดฟ้าให้เป็นห้องทดลองและลงมือทำเองทุกกระบวนการ น่าจะส่งผลไม่มากก็น้อยต่อผู้ติดตามกว่า ๑ ล้านคนของเธอในทางใดทางหนึ่ง คล้ายเป็นตัวอย่างชั้นดีแก่คนเมืองว่าการเป็นผู้ผลิตอาหารไม่ใช่เรื่องยาก และต้นไม้สามารถเจริญเติบโตได้ทุกที่ ขึ้นอยู่กับว่าจะบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นประโยชน์อย่างไร

ในระยะเวลาเพียง ๑ ปี การรังสรรค์สวนดาดฟ้าให้สวยงามดังใจเป็นเรื่องน่านับถือ แต่เรื่องหนึ่งที่เกษตรกรหน้าใหม่ยังไม่อาจคาดการณ์ได้คือสภาพอากาศ ยิ่งในเมืองแห่งมลพิษโลกอย่างกรุงเทพมหานคร ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีบางวันที่หน้าตาพืชผักของเธอห่อเหี่ยว และแพรเองก็เคยเสียน้ำตาให้กับฤดูฝนที่ทำลายทุกความพยายามกว่าหลายเดือนจนหมดสิ้น การทำเกษตรจึงเป็นเรื่องยากเสมอสำหรับเธอ เหล่านี้เป็นอีกบทเรียนที่ student of earth ต้องเรียนรู้ต่อไป  ยังมีพืชท้องถิ่นอีกหลายชนิดที่แพรอยากทดลองปลูก แค่ต้นเพกาที่สูงมาก แต่กลับมีรสชาติอร่อย ก็ต้องหาวิธีตัดแต่งให้มันอยู่ได้ และเป้าหมายของเธอที่แปรผกผันตามเวลาอาจไม่หยุดอยู่แค่การเป็นผู้ผลิตอาหารให้กับคนในครอบครัว

“การทำสวนคือเราได้เติบโตไปกับพืชทุกชนิด เมล็ดข้าวเป็นแบบนี้เหรอ เพิ่งรู้ว่าดอกแครอตหน้าตาเป็นยังไง เรายังอยากเข้าใจ อยากทำอาหารเป็นมากขึ้น นอกจากครอบครัวแล้วเรายังอยากให้เพื่อน ให้ครูเราหลาย ๆ คนได้กิน อยากเป็นผู้ผลิตแหล่งอาหารให้คนในคอนโดฯ ถ้ามีมากพอเราก็อยากแบ่งปันให้คนทั้งซอยเลยก็ได้  บางทีแพรมองจากตึกของแพรไปจะเห็นตึกห้าชั้น ตึกสามชั้น ถ้าแพรทำได้ก็อยากอาสาทำพื้นที่ดาดฟ้าให้เป็นประโยชน์ ให้เป็นพื้นที่ที่เดินขึ้นมากับครอบครัวแล้วรู้สึกสบายใจ เรามองว่ามันจะกลายเป็น green community หรือ green model สำหรับตึกอื่น ๆ ที่อยากทำสวนดาดฟ้า”
Image
ฝูงผึ้งเลือกต้นมะนาวบนดาดฟ้าเป็นที่ทำรัง
Image
อุโมงค์ไม้เลื้อยที่แพรปรับปรุงบำรุงดินเองทั้งหมด
แพรแนะนำให้เรารู้จัก New York City Beekeepers Association กลุ่มคนเลี้ยงผึ้งบนตึกสูงแห่งมหานครนิวยอร์ก ในขณะที่ประชากรผึ้งทั่วโลกลดลงอย่างรวดเร็วจากยาฆ่าแมลงและสารเคมีในพื้นที่ชนบท พวกเขาหันมาเลี้ยงผึ้งบนตึกระฟ้าที่สามารถควบคุมดูแลได้ทั่วถึง  สิ่งที่ได้มากกว่าผลิตภัณฑ์จากผึ้งคือการขยายพันธุ์สิ่งมีชีวิตตัวเล็กจิ๋วที่สำคัญมหาศาลต่อระบบนิเวศ เพราะผลิตผลทางการเกษตรทั้งหลายจะผลิดอกออกผลไม่ได้หากปราศจากกามเทพผสมเกสร ซึ่งเป็นโมเดลการจัดการพื้นที่ที่เธอสนใจมาก  แพรมองไกลไปถึงกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คงดีไม่น้อยหากการก่อสร้างคอนโดฯ ใจกลางเมืองจะมีพื้นที่สีเขียวบนดาดฟ้าให้ลูกบ้านได้ใช้สอย

จากผู้บริโภคที่เคยเป็นพรีเซนเตอร์ให้แบรนด์ชื่อดัง บัดนี้ผันตัวเป็นผู้ผลิตเต็มรูปแบบ ภาพฝันของเธอในอนาคตเราเชื่อว่าจะมาถึงในเร็ววัน ด้วยประสบการณ์และความสามารถที่เธอมีเป็นทุนเดิม อย่างการทำอาหารที่แพรบอกว่าเป็นทักษะที่แย่ที่สุด เธอก็เริ่มมีเมนูเด็ดเป็นผัดผักจานโต ไข่เจียวที่เคยไหม้ก็มีพัฒนาการจนนุ่มสวย จะแกงอ่อม แกงเลียง หรือให้โขลกน้ำพริกก็ขอให้สั่งมา เพราะเมื่อไรก็ตามที่เธอตั้งเป้าหมายและท้าทายตนเอง มันมักจะเป็นจริงเสมอ

น่าตั้งคำถามว่าการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างอาจไม่เห็นผลทันตา พระราชบัญญัติอากาศสะอาดก็ไม่มีอะไรการันตีว่าจะผ่านโดยง่าย สิ่งที่ทำได้ทันทีอาจเป็นแค่การดูแลรักษาสุขภาพ การกิน การนอน การอยู่ของตนเองให้มีคุณภาพ ท่ามกลางวิกฤตที่บีบบังคับให้การช่วยเหลือตนเองนั้นเริ่มได้เร็วกว่ารอคอยคำสั่งการจากผู้มีอำนาจ

“เราก็ไม่รู้ว่าโรคระบาดจะเกิดขึ้นอีกไหม สภาพแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหารจะเป็นยังไง แต่เราเชื่อว่า ค.ศ. ๒๐๕๐ กรุงเทพฯ จะจมอยู่ใต้น้ำ แล้วเรายังฝากชีวิตไว้กับคนอื่น
“จากช่างแต่งหน้าที่เคยถือแหนบติดกลิตเตอร์ ตอนนี้แพรถือจอบพรวนดิน ขนาดแพรเป็นแค่ช่างแต่งหน้ายังสามารถทำแหล่งอาหารของตัวเองได้เลย เรารู้สึกว่ามันมีพลังนะถ้าเราคิดแล้วทำ”
Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image