Image
พนักงานเก็บขนมูลฝอย ๑๐,๔๕๔ คน และรถเก็บขนมูลฝอย ๒,๑๔๐ คัน (แบ่งเป็นรถเช่ากับรถของกรุงเทพมหานครเอง) ออกเก็บขยะบนถนนสายหลักและสายรองทุกวัน ส่วนตรอกซอกซอย ชุมชน จัดเก็บสัปดาห์ละสองถึงสามครั้ง
กรุงเทพฯ
เมืองหลวงสะอาด ?
บนเส้นทางกำจัด "ขยะ"
SCOOP
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ผมยังจำได้ วันหนึ่งในช่วงมัธยมฯ หลังวิชาเลือกซึ่งแต่ละคนต้องแยกย้ายกันไปเรียน “คทา” หัวโจกของห้องกลับมาเล่าให้เพื่อนฟังอย่างสนุกว่า “เดี๋ยวคุณครูจะพาไปทัศนศึกษาแนวเทือกเขาเกิดใหม่” หน้าห้องในวันนั้นมีเด็กนักเรียนล้อมวงคุยกันกลุ่มเล็ก ๆ ด้านหลังห้องมีอีกกลุ่มส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าว

แนวเทือกเขาเกิดใหม่นี้ใช้เวลาเดินทางไม่นาน เพราะอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ไกลจากย่านพัฒนาการที่ตั้งโรงเรียนของพวกเรา

สำหรับเด็ก ม. ต้น อย่างเรา เข้าใจว่าภูเขาต้องอยู่ทางภาคเหนือ หรือใกล้สุดก็ต้องจังหวัดชลบุรี สระบุรี หรือเมืองกาญจน์  เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ จะมีแนวเทือกเขาได้อย่างไร ?

ผมเก็บงำความสงสัย หลายปีต่อมาถึงเข้าใจ ว่าแนวเทือกเขาเกิดใหม่หมายถึง “ภูเขาขยะ”
Image
Image
เรือเก็บมูลฝอย ๑๑๑ ลำมีความสำคัญสำหรับชุมชนริมน้ำ ซึ่งเรือเข้าถึงง่ายกว่ารถ ในภาพคือชุมชนหลวงพรต-ท่านเลี่ยม ย่านตลาดหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง ริมคลองประเวศบุรีรมย์
ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

อ่อนนุช
๘,๗๐๐ (ตันต่อวัน)
Image
ลึกเข้าไปกลางซอยอ่อนนุช ๘๖ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร เป็นที่ตั้งของ “ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช” สังกัดสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร หน่วยงานหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานบริหารจัดเก็บและกำจัดขยะ 

ทุกวันนี้กรุงเทพมหานครมีศูนย์กำจัดมูลฝอยทั้งหมดสามแห่ง ตั้งกระจายอยู่ในแต่ละมุมเมือง ได้แก่

ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก รับผิดชอบการจัดเก็บและกำจัดขยะจากเขตประเวศ ลาดกระบัง บางนา ฯลฯ และเขตต่าง ๆ ทางด้านนี้ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม รับจัดเก็บและกำจัดขยะทางกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก เช่น เขตหนองแขม ทวีวัฒนา บางแค บางบอน ฯลฯ

และศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ รับผิดชอบขยะมูลฝอยจากเขตสายไหม ดอนเมือง หลักสี่ บางเขน ฯลฯ

แต่ละวัน “รถเก็บขนมูลฝอย” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “รถขยะ” จำนวนกว่า ๒,๐๐๐ คัน แบ่งเป็นรถของกรุงเทพมหานคร ๔๙๕ คัน รถเช่า ๑,๕๗๑ คัน และยังมีเรือเก็บมูลฝอย ๑๑๑ ลำ พนักงานเก็บขนมูลฝอย ๑๐,๔๕๔ คน จะออกปฏิบัติหน้าที่เก็บ “ขยะ” หรือเรียกภาษาทางการว่า “มูลฝอย” จาก ๕๐ เขตทั่วเมืองกรุง นำมาส่งที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยทั้งสาม

อ้างอิงตามปีงบประมาณ ๒๕๖๔ กรุงเทพมหานครมีขยะที่เก็บได้เฉลี่ยประมาณ ๘,๗๐๐ ตันต่อวัน แบ่งเป็นศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ๓,๕๐๐ ตันต่อวัน ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ๓,๐๐๐ ตันต่อวัน และศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม ๒,๒๐๐ ตันต่อวัน

นับตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ เป็นต้นมา ขยะที่จัดเก็บได้ในกรุงเทพฯ มีปริมาณเพิ่มขึ้นแทบทุกปี  ยกตัวอย่างปี ๒๕๒๘ จัดเก็บได้ ๑.๒ ล้านตัน ปี ๒๕๓๖ เพิ่มขึ้นเป็น ๒.๓ ล้านตัน ปี ๒๕๔๐ เป็น ๓ ล้านตัน และปี ๒๕๕๕ สูงเป็นประวัติการณ์ ๓.๖ ล้านตัน
ส่วนหนึ่งเกิดจากน้ำท่วมใหญ่ในปีก่อนหน้าได้พัดพาขยะทุกสารทิศมารวมกัน
กรุงเทพมหานครมีนโยบายลดพื้นที่ฝังกลบ จึงเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดขยะโดยใช้เทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ (MBT) และการเผาขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
Image
ห้องควบคุมของโรงงานกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงาน เริ่มเดินระบบกำจัดขยะ ตั้งแต่วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๓
ถึงแม้ปริมาณขยะจะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ก็พอจะมีแง่มุมดี ๆ คือ ปริมาณขยะ “มีอัตราการเพิ่มขึ้นที่ลดลง” ยกตัวอย่างช่วงระยะ ๑๐ ปี  ปี ๒๕๒๘-๒๕๓๘ อัตราการเพิ่มขึ้นของขยะเฉลี่ยร้อยละ ๗.๖๑  ช่วงปี ๒๕๓๘-๒๕๔๘ ร้อยละ ๒.๗๕ ต่อมาช่วงปี ๒๕๔๘-๒๕๕๘ ร้อยละ ๑.๘๕  ช่วงปี ๒๕๖๐-๒๕๖๒ ก็มีอัตราลดลง และบางปีจัดเก็บขยะได้น้อยลงจากปีก่อนหน้า

เอกสารความรู้เรื่องการบริหารจัดการขยะของกรุงเทพมหานครให้ภาพรวมปัญหาขยะว่าเกิดจากปัจจัยหลายหลาก ได้แก่

๑) จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

๒) สังคมบริโภคนิยม ผู้คนบริโภคอาหารแล้วทิ้งของเหลือใช้หรือบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ โดยไม่คัดแยกไว้ใช้ซ้ำหรือนำไปรีไซเคิล

๓) ขาดระบบกำจัดมูลฝอยที่สอดคล้องกับการจัดการขยะแยกประเภท

๔) ขาดมาตรการทางกฎหมายในระดับประเทศเกี่ยวกับการรีไซเคิลโดยผู้ประกอบการ การเรียกคืนบรรจุภัณฑ์ การบังคับใช้วัสดุการผลิตที่รีไซเคิลได้ การเรียกคืนขยะอันตรายเพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปกำจัด

๕) มาตรการของรัฐในการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนคัดแยกขยะไม่เพียงพอ ขาดความต่อเนื่อง และไม่สามารถเข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่

ปัญหาต่าง ๆ ข้างต้นนำมาซึ่งผลกระทบหลายมิติ ได้แก่

๑) ค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บและกำจัดขยะเพิ่มมากขึ้น

๒) ผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้คนและชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่เทกองขยะ

๓) น้ำขยะปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพืชและสัตว์ซึ่งเป็นห่วงโซ่อาหาร

๔) เกิดมลภาวะทางอากาศจากการลุกไหม้ของขยะที่เทกองไว้ ก๊าซมีเทนที่เกิดจากกระบวนการหมักของขยะย่อยสลายได้ รวมถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาขยะพลาสติกเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน
๒๕๖๕ (ปีพุทธศักราช)
หลังประสานงานและขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่กองกำจัดมูลฝอย ติดต่อผ่านไปยังกองนโยบายและแผนงาน สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ผมจึงได้รับอนุญาตให้เข้ามาขอข้อมูลเรื่องการบริหารจัดการขยะที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช

ภายในห้องประชุมของอาคารสีเขียวภายในซอยอ่อนนุช ๘๖ “พี่ระ” (นามแฝง) เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ แนะนำให้ผมดูภาพขนาดใหญ่ มุมด้านล่างเขียนว่า “โครงการ : โรงงานกำจัดมูลฝอย อ่อนนุช กองโรงงานกำจัดมูลฝอย สำนักรักษาความสะอาด กทม.” บรรทัดต่อมาเขียนว่า “แบบแสดง : แผนที่ภูมิประเทศ” ลงวันที่ “๖/๑๑/๒๕๔๐” 

นี่เป็นแผนผังหรือแผนที่ของสถานที่แห่งนี้เมื่อประมาณ ๒๕ ปีก่อน ตรงกับช่วงที่ผมเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยมศึกษา 

จากแผนที่จะเห็นว่า พื้นที่ของศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช มีรูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู ตัวเลขในภาพระบุว่ามีพื้นที่ ๕๘๐-๐-๖๔.๘ ไร่ 
ประเมินด้วยสายตา พื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของที่นี่เคยเป็นที่ตั้งอาคารสำนักงาน โรงงาน สถานีทำการต่าง ๆ  ที่เหลืออีกราวครึ่งหนึ่งถูกกันไว้เป็นที่ตั้งของ “ภูเขาขยะ”

ข้อความบนภาพเขียนไว้ชัดว่า “บริเวณสวนภูเขาขยะ” ระบุขนาดพื้นที่ ๒๓๖-๓-๒๕ ไร่ 

สิ่งที่ผมสนใจคือแผนที่สวนภูเขาขยะแห่งอ่อนนุชแสดงความสูงของกองขยะด้วย “เส้นชั้นความสูง (contour)” แบบเดียวกับแผนที่ภูเขา 

ผู้ชอบเดินป่าหรือปีนเขาน่าจะคุ้นเคยกับการอ่านค่าความสูงของภูเขา สันเขา ที่ราบ หน้าผา ฯลฯ  ผ่านเส้นชั้นความสูง เส้นสมมุติที่ลากไปตามพื้นที่ภูมิประเทศ ผ่านจุดที่มีระดับความสูงเท่ากัน แต่ละเส้นแสดงค่าระดับความสูงในแนวตั้ง ทุกเส้นมีตัวเลขกำกับ  ถ้าพื้นที่ลาดชันมาก เส้นชั้นความสูงจะอยู่ชิดกันมากกว่าภูมิประเทศที่มีความลาดชันน้อย

จากแผนที่ภูมิประเทศที่เจ้าหน้าที่ชี้ให้ดู ภูเขาขยะอ่อนนุชมียอดเขาทั้งหมดสามยอด ยอดสูงที่สุดสูง ๒๔ เมตร ใกล้เคียงความสูงของตึกหกถึงเจ็ดชั้น ยอดเขาลูกอื่น ๆ ก็มีระดับลดหลั่นกันเป็น “แนวเทือกเขาเกิดใหม่” ที่คทาและคุณครูวิชาเลือกเคยพูดไว้เมื่อหลายปีก่อน

“น้าเนา” (นามแฝง) เจ้าหน้าที่คนเก่าแก่ของศูนย์ฯ รับผิดชอบงานดูแลเครื่องจักร ฉายให้เห็นภาพว่า เมื่อ ๓๐ ปีก่อนรถขยะที่วิ่งเข้ามาที่นี่จะ “เทกอง” กันอย่างเดียว 

“จุดที่เรานั่งคุยกันอยู่เคยเป็นภูเขาขยะ สมัยก่อนพื้นที่แถวนี้
ยังเป็นป่า ที่นา ที่บ่อ ที่มีน้ำขังเขาก็ดูดน้ำออก แล้วให้รถขยะเข้ามาเท วันหนึ่งมีรถขยะวิ่งเข้ามาเป็นพันเที่ยว เรียกว่าเทกองแบบ open bump แล้วก็ขับกลับ ไม่มีกระบวนการอื่น  กองขยะจะพอกพูนสูงขึ้น ๆ ทุกวัน ต้องคอยใช้รถเกรดปรับระดับ ทำทางให้รถขยะวิ่งขึ้นไป”

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ มลภาวะทางกลิ่น การปนเปื้อนของน้ำขยะเข้าสู่ระบบน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของชุมชนที่ขยายตัวขึ้นโดยรอบ ทางกรุงเทพมหานครจึงค่อย ๆ ลดการเทกองที่อ่อนนุช  จากที่เคยมีขยะกองสูงเป็นภูเขาเลากา ทุกวันนี้ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช รวมทั้งที่หนองแขมและสายไหม ต่างไม่มีการเทกองแบบในอดีตแล้ว

“น้าเนา” เล่าว่าจุดเปลี่ยนคือการว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาขนขยะออกไปฝังที่ศูนย์ฝังกลบในต่างจังหวัด ปรับรูปแบบให้ศูนย์กำจัดมูลฝอยทั้งสามแห่งกลายเป็นสถานีขนถ่าย ไม่ให้มีขยะค้างเทกองอีก และพยายามปรับให้ขั้นตอนต่าง ๆ เกิดขึ้นในระบบปิด  “น้าเนา” จำได้ว่าที่หนองแขมเริ่มจ้างบริษัทเอกชนประมาณปี ๒๕๓๓ ส่วนที่อ่อนนุชประมาณปี ๒๕๓๗

ซ้อนทับกับภาพแผนที่ภูมิประเทศในอดีต เจ้าหน้าที่อีกคนเปิดคอมพิวเตอร์ให้ผมดูภาพถ่ายทางอากาศปัจจุบัน ภูเขาขยะขนาดมหึมาถูกแทนที่ด้วยอาคารสำนักงานที่เรานั่งพูดคุยกัน โรงงานหมักปุ๋ยจากขยะ ศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะและของเสียชุมชน  นอกจากนี้ยังมีอาคารที่สร้างขึ้นใหม่และปรับปรุง เช่น สถานีขนถ่ายมูลฝอยและนำไปฝังกลบ โรงงานกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงาน โรงงานกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ โรงงานกำจัดและแปรรูปมูลฝอยจากการก่อสร้าง (เช่น แท่งปูน ก้อนอิฐ หรือเสาตอม่อเหลือทิ้งจากการสร้างรถไฟฟ้า)

ทุกวันขยะที่อ่อนนุชจะถูกส่งเข้าโรงงานผลิตปุ๋ย ๑,๖๐๐ ตัน
โรงงานกำจัดมูลฝอยด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพหรือเอ็มบีที (MBT) เพื่อผลิตไฟฟ้า ๘๐๐ ตัน ที่เหลือ ๑,๑๐๐ ตัน จะถูกส่งไปฝังกลบที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

“พี่ระ” เล่าว่า “เมื่อก่อนที่นี่เททิ้งอย่างเดียว จบ ต่อมาเปลี่ยนเป็นขนถ่ายไปฝังกลบที่พนมสารคาม หลังจากนั้นก็เริ่มเอาขยะมาทำเป็นปุ๋ยอย่างจริงจัง ทำสารปรับปรุงดินหรือที่เรียกว่าปุ๋ยคอมโพสต์ ต่อมาก็สร้างโรงกำจัดขยะติดเชื้อ  นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผมจำได้ว่าเมื่อก่อนกองขยะที่นี่สูงมาก แค่ขับรถผ่านก็ได้กลิ่น เดี๋ยวนี้กลิ่นลดลง ดีขึ้นเยอะ”
แท่งปูน ก้อนอิฐ เสาตอม่อเหลือทิ้งจากการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้า ต้องกำจัดด้วยการบดเป็นชิ้นเล็ก
๘๐๐ (ตันต่อวัน)
จากขยะทั้งหมด ๓,๕๐๐ ตันต่อวันที่ผ่านเข้ามายังศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ขยะ ๘๐๐ ตันต่อวันจะถูกนำเข้าสู่โรงงานกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดประมาณ ๓.๓ เมกะวัตต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดขยะ รวมทั้งลดพื้นที่ฝังกลบในต่างจังหวัดที่นับวันจะหาได้ยาก  โดยกรุงเทพมหานครว่าจ้างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร ดำเนินการก่อสร้างและบริหารงานบนพื้นที่ ๒๐ ไร่ของศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช

ที่นี่ใช้เทคโนโลยีกระบวนการเชิงกล-ชีวภาพ (mechanical biological treatment) หรือ MBT ที่ประเมินแล้วว่าเหมาะสำหรับกำจัดขยะที่องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นขยะอินทรีย์ กระบวนการคัดแยกขยะทั้งใช้มือและตะแกรงดักขยะแบบหมุน เศษโลหะ เศษขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ เศษขยะที่นำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ รวมถึงขยะขนาดใหญ่จะแยกไปทำเป็นขยะเชื้อเพลิง (RDF)  ส่วนขยะอินทรีย์จะถูกส่งเข้าสู่กระบวนการบีบอัดและหมักแบบไร้อากาศ เพื่อทำให้เกิดก๊าซชีวภาพซึ่งนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า

โรงงานกำจัดมูลฝอยเพิ่งจะสร้างเสร็จและเดินระบบกำจัดขยะเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๓ ถือเป็นทางเลือกใหม่ในการบริหารจัดการขยะ  ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนหวังว่าโรงงานแห่งนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการกำจัดขยะของกรุงเทพฯ

“วันแรกที่เข้ามาทำงาน ความรู้สึกของเราเป็นภาพลบ เมื่อ ๑๐ ปีก่อนที่นี่อาจจะไม่ถึงกับเป็นภูเขาขยะ แต่ก็มีซากเก่า ๆ หลงเหลืออยู่  จำได้ว่ารุ่นพี่พาไปดูงาน ก้าวลงจากรถ เจอสภาพขยะกองใหญ่ ๆ แล้วอ้วกแตก คงเป็นอาการ ‘ขมคอ’
คือพอได้กลิ่นแล้วอ้วก  เจ้าหน้าที่หลายคนมาทำงานวันเดียวก็ขอลาออก  ผมเองตอนแรกก็เกือบลาออก  คิดว่าเขาอยู่กันได้ยังไง” “พี่ระ” เจ้าหน้าที่ซึ่งเข้ามาทำงานหลัง “น้าเนา” บอกเล่าความรู้สึกและกล่าวต่อว่า

“แต่พอมาทำตรงนี้ก็เหมือนผู้ปิดทองหลังพระ คอยช่วยดูแลจัดการขยะทุกประเภทซึ่งต้องมารวมกันที่นี่ ทำมาเรื่อย ๆ ก็เริ่มชอบ คือเราเห็นความเปลี่ยนแปลง  คิดว่าภาพลักษณ์ของ ‘ศูนย์กำจัดขยะ’ จะไม่เป็นเหมือน ‘ขยะ’ อีกต่อไป เมื่อเข้ามาคุณจะรู้สึกว่าภูมิทัศน์ดี ไม่เป็นที่น่ารังเกียจ  เมื่อก่อนใครพูดถึงขยะจะอี๋  เราก็พยายามแก้มาเรื่อย ๆ ปรับปรุงพื้นที่ภายใน ปรับภูมิทัศน์ ต่อไปเรามีโครงการจะสร้างบัฟเฟอร์โซน นำกลิ่นที่เกิดขึ้นไปบำบัด  ตอนนี้ยอมรับว่ายังมีการร้องเรียนเรื่องกลิ่นอยู่”
Image
กิ่งไม้ ใบไม้ ต้นไม้ จากการตัดแต่ง ก็เป็นขยะที่ต้องนำเข้ากระบวนการบดย่อยทำปุ๋ยหมัก หรือคอมโพสต์ (compost) ที่โรงงานหมักปุ๋ยอินทรีย์ ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช
เอกสารแนะนำโครงการโรงงานกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานระบุว่า น้ำเสียที่เกิดขึ้นต้องผ่านการบำบัดจนผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้ำทิ้ง เรื่องกลิ่นก็ต้องบำบัดก่อนปล่อยออก
สู่บรรยากาศ โดยมีระบบหอปรับสภาพก๊าซชีวภาพเพื่อลดปริมาณก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน พร้อมทั้งควบคุมฝุ่นละออง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ให้มีค่าตามที่มาตรฐานกำหนด อีกทั้งติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศจากปล่องแบบต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ยังคงมีปัญหาร้องเรียนเรื่องกลิ่นเหม็นจากชุมชนที่ตั้งอยู่โดยรอบ

ล่าสุดช่วงต้นปี ๒๕๖๕ ตัวแทนชาวบ้านจากหมู่บ้านอิมพีเรียลพาร์คและหมู่บ้านเศรษฐสิริ พัฒนาการ ซึ่งอยู่ใกล้ศูนย์ฯ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องผลกระทบจากมลพิษและกลิ่นขยะเน่าเหม็นที่รัฐสภา

ชาวบ้านหมู่บ้านอิมพีเรียลพาร์คยืนยันว่าพวกเขาไม่เคยได้กลิ่นเหม็นรบกวนขนาดนี้มาก่อน เริ่มตั้งแต่ช่วงกลางปี ๒๕๖๓ กลิ่นจะมาตามลม ทำให้เวียนศีรษะ ปวดหัว ไม่สามารถออกกำลังกายหรือใช้ชีวิตกลางแจ้งนอกบ้าน  และถึงแม้จะหลบเข้าไปในบ้าน ปิดหน้าต่าง เปิดเครื่องปรับอากาศ ก็ยังมีกลิ่นเล็ดลอดเข้าไปตามทิศทางและความแรงของลม จึงมีข้อเสนอว่า ควรปิดโรงงานกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานจนกว่าจะมีมาตรการควบคุมมลพิษทางกลิ่นที่มีประสิทธิภาพ เรียกร้องให้สังคมช่วยกันติดแฮชแท็ก #โรงงานขยะที่เหม็น ๒๔ ชม. พร้อมตั้งคำถามว่า “คุณมาสร้างได้อย่างไร ?” 

ในโลกออนไลน์มีการตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “ผู้ได้รับผลกระทบจากกลิ่นโรงงานขยะ ๘๐๐ ตัน อ่อนนุช ๘๖” เป็นพื้นที่สาธารณะให้ใช้เป็นช่องทางสะท้อนปัญหาที่ได้รับ
หนองแขม
๘๕๐-๑,๑๐๐
(องศาเซลเซียส)

Image
“บ่อขยะ” ภายในอาคารปิดป้องกันการรั่วซึมและผุกร่อน ก๊าซที่มีกลิ่นเน่าเหม็นจะถูกสูบเข้าเตาเผา ทำให้กลิ่นเน่าเหม็นไม่ฟุ้งกระจาย
ยามสายปลายเดือนกุมภาพันธ์ การจราจรอันคับคั่งหน้าศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ถนนพุทธมณฑลสาย ๓ คลี่คลายลงแล้ว เจ้าหน้าที่บอกว่า “ช่วงพีก” ที่สุดของการขนขยะคือเวลาประมาณตี ๓

ทุกวันก่อนรุ่งสาง รถขยะนับร้อย ๆ คันจะแวะเวียนมาส่งขยะให้ศูนย์ฯ นับพันเที่ยว  รถขยะจะติดเป็นแพตั้งแต่ท้ายซอยไปยังปากซอยติดถนนใหญ่

หนองแขม สุดเขตแดนทางทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ เคยเป็นที่ตั้งบ่อขยะเก่าแก่ แม้ปัจจุบันจะไม่มีการเทกองแบบสมัยก่อน แต่ยังคงเป็น “ศูนย์กลาง” การรวบรวมขยะจากเขตต่าง ๆ ทางด้านตะวันตก เพื่อเตรียมขนออกไปฝังกลบที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

พื้นที่ ๓๐ ไร่ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ยังเป็นที่ตั้งของโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ก่อสร้างและบริหารงานโดยบริษัทซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทสัญชาติจีนที่เข้ามาดำเนินงานภายใต้สัญญารับจ้างกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผาของกรุงเทพมหานคร อายุสัญญา ๒๐ ปี  สร้างเสร็จและเริ่มดำเนินการเผากำจัดขยะเมื่อปี ๒๕๖๓ อีกเกือบ ๒๐ ปีข้างหน้าเมื่อสิ้นสุดสัญญา ทรัพย์สินต่าง ๆ ของโครงการจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรุงเทพมหานคร

จากขยะทั้งหมด ๓,๐๐๐ ตันในแต่ละวันที่ถูกเก็บมายังศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมแห่งนี้ ขยะ ๕๐๐ ตันจะถูกส่งเข้าเตาเผาของโรงกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนที่เหลืออีก ๒,๕๐๐ ตันจะถูกส่งไปฝังกลบที่จังหวัดนครปฐม

ถึงแม้การกำจัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีเผาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจะมีพัฒนาการมานานกว่า ๑๕๐ ปีในยุโรป แต่สำหรับเมืองไทยแล้วถือเป็นเรื่องใหม่  หลักการคือนำขยะเข้าเผาในเตาเผาความร้อนสูง แล้วนำความร้อนที่เกิดขึ้นไปผลิตกระแสไฟฟ้า  ไอเสีย น้ำเสีย สารมลพิษต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการถูกบำบัดก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก

เหอหนิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารซีแอนด์จีฯ พาดูพื้นที่ภายในโรงงานที่ด้านหน้ามีปล่องควันขนาดใหญ่สูงเด่น  เขาเล่าว่าในบรรดาวิธีการเผากำจัดขยะ เตาเผาขยะแบบตะกรับ
(stroker type) เป็นเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการมายาวนานที่สุด แผ่นตะกรับจะทำให้ขยะในเตาพลิกตัวอยู่ตลอดเวลา เมื่อรวมกับก๊าซที่เกิดขึ้นในบ่อขยะซึ่งถูกสูบเข้ามาช่วยการเผาไหม้  จึงเป็นการเผาไหม้ที่หมดจด เหลือเถ้าหนักที่มีสิ่งที่เผาไหม้ได้อีกในอัตราต่ำกว่าร้อยละ ๓ ของน้ำหนักเถ้าหนักทั้งหมด เป็นไปตามมาตรฐานยุโรป

ณ ห้องปฏิบัติการ ผมเห็นเจ้าหน้าที่กำลังควบคุมเครนตักขยะ (garbage grab cranes) อย่างเชี่ยวชาญ มองผ่านกระจกเห็นบ่อขยะขนาดใหญ่ถูกปิดล้อมอยู่ในอาคารปิด และมีเครื่องจักรคล้ายมือหุ่นยนต์หรือก้ามปูยักษ์กำลังพลิก โกยกลับขยะในบ่อ

เหอหนิง เล่าว่า ทุกวันรถขยะจะขนขยะมาส่งหน้าโรงเผาขยะ เมื่อรถผ่านการชั่งน้ำหนักแล้วจะนำขยะมาเทลงในบ่อขยะที่รองรับปริมาณขยะสะสมได้ ๗-๑๐ วัน  ตัวบ่อตั้งอยู่ภายในอาคารเป็นระบบปิด ป้องกันการรั่วซึมและการผุกร่อน เพื่อไม่ให้น้ำชะขยะที่ถูกเก็บอยู่ภายในบ่อรั่วซึมออกไปยังแหล่งดินและน้ำภายนอก
Image
ห้องควบคุมของโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม หนองแขม ดูแลการกำจัดขยะ ๕๐๐ ตันต่อวัน
"เทคโนโลยีการเผาไหม้ขยะมูลฝอยเป็นกรรมวิธีการกำจัดขยะที่สามารถกำจัดกลิ่นเหม็นเน่า น้ำเสีย และควบคุมการเกิดสารอันตรายที่มาจากขยะไม่ให้แพร่กระจายออกไป"
เหอหนิง
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด

Image
ประธานฯ บริหารชาวจีนเล่าว่า ขยะมูลฝอยเมื่อถูกเทลงในบ่อขยะใหม่ ๆ จะมีความชื้นมากกว่าร้อยละ ๖๐ หลังผ่านการพลิกกลับขยะด้วยเครนตักขยะ จะทำให้ความชื้นลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ ๕๕  หลังจากนั้นอีก ๓-๕ วัน ขยะจะหมักตัวเองเกิดก๊าซชีวภาพ และความชื้นลดลงเหลือร้อยละ ๓๕ ซึ่งนำขยะเข้าสู่เตาเผาได้

อุณหภูมิภายในเตาเผาที่สูงถึง ๘๖๐ องศาเซลเซียสจะช่วยอบขยะจนความชื้นลดลงต่ำกว่าร้อยละ ๒๐ ก่อนจะถูกเผาไหม้

เหอหนิง อธิบายเกี่ยวกับการสลายก๊าซเสียว่า ก๊าซกลิ่นเหม็นเน่าทั้งหลายภายในบ่อขยะมีสรรพคุณช่วยเรื่องการเผาไหม้อยู่แล้ว ทางโรงงานจึงสูบก๊าซเข้าสู่เตาเผา ทำให้บริเวณบ่อขยะมีความดันเป็นลบ กลิ่นเน่าเหม็นไม่ฟุ้งกระจายออกสู่ภายนอก

วีดิทัศน์ที่ใช้อธิบายการทำงานอย่างละเอียดของเตาเผาขยะขยายความว่า วัสดุจำพวกขยะพลาสติกหากถูกเผาไหม้ในอุณหภูมิต่ำกว่า ๗๒๕ องศาเซลเซียส จะปล่อยสารพิษ เช่นไดออกซิน แต่ถ้าเพิ่มอุณหภูมิการเผาไหม้ให้สูงกว่า ๗๒๕ องศาเซลเซียสจะทำให้สารพิษสลายตัว  การรักษาอุณหภูมิ
ในเตาเผาให้สูงกว่า ๘๕๐ องศาเซลเซียสจึงสำคัญ

“ภายใต้อุณหภูมิที่สูงถึง ๘๕๐-๑,๑๐๐ องศาเซลเซียสของโรงเผาขยะจะสามารถแยกสลายก๊าซเสียต่าง ๆ เช่นไดออกซิน ได้อย่างหมดสิ้น” เหอหนิง ยืนยัน

ขยะในเตาเผาที่เดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศจะค่อย ๆ ผ่านกระบวนการอบแห้ง เผาไหม้ และดับมอด รวมสามขั้นตอน  ใช้เวลา ๑-๒ ชั่วโมง  หลังจากนั้นความร้อนที่ได้จากการเผาไหม้จะถูกส่งไปยังหม้อต้มไอน้ำเพื่อหมุนปั่นกังหันเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ๕-๙.๘ เมกะวัตต์ สำหรับใช้ภายในโรงงานและขายให้การไฟฟ้านครหลวง

เมื่อดับมอด ขยะจะมีน้ำหนักลดลงกว่าร้อยละ ๘๐ ปริมาตรลดลงกว่าร้อยละ ๙๐ กลายเป็นกากขยะที่เรียกว่า “เถ้าหนัก” สามารถนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำอิฐ เทถนน หรือที่สิงคโปร์ก็ใช้ถมทะเล หากจะนำไปฝังกลบก็ช่วยลดพื้นที่ฝังกลบลงได้มาก
เจ้าหน้าที่ควบคุมเครนพลิกกลับขยะให้ความชื้นลดลง จึงนำขยะเข้าสู่เตาเผาได้
๓ (กิโลเมตร)
ทุกวันนี้ประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี อังกฤษ กำจัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีเผาถึงร้อยละ ๓๐ ของปริมาณขยะทั้งหมด โรงไฟฟ้าขยะส่วนหนึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองเพื่อประหยัดเวลาและงบประมาณการขนส่ง  ประเทศที่มีประชากรหนาแน่นและขาดแคลนที่ดินในทวีปเอเชียเช่นสิงคโปร์ ส่งขยะมูลฝอยที่เก็บรวบรวมได้ไปกำจัดในเตาเผาผลิตไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองทั้งสี่โรง

ที่ประเทศญี่ปุ่น ขยะมูลฝอยมากกว่าร้อยละ ๘๐ ถูกส่งไปเผาและใช้ประโยชน์ หนึ่งในนั้นคือเตาเผาขยะชูโอะ (Chuo waste disposal center harumi Tokyo) ตั้งอยู่ห่างจาก
พระราชวังอิมพีเรียล (Japan Royal Palace) ของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นเพียง ๓ กิโลเมตร  เตาเผาขยะอื่น ๆ ก็อยู่ห่างจากพระราชวังดังกล่าวราว ๗ กิโลเมตร

ในกรุงโตเกียวมีโรงเผาขยะทั้งหมด ๒๒ โรง ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง เช่น โรงเผาขยะอาดาชิ (Adachi waste incineration) มีกำลังการกำจัดขยะ ๑,๐๕๐ ตันต่อวัน ตั้งอยู่ติดโรงเรียนมัธยมฯ และสถานที่พักคนชรา  โรงเผาขยะชูโอะมีกำลังการกำจัดขยะ ๙๐๐ ตันต่อวัน ตั้งอยู่ห่างจากโรงงานทำอาหารและชุมชนแค่ข้ามถนน

ในประเทศจีนที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมา มีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเกิดขึ้นมากกว่า
๑๐๐ แห่ง และมีแนวโน้มว่าจะก่อสร้างเพิ่มขึ้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศข้างต้นดูจะแตกต่างจากเมืองไทย ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะในหลายพื้นที่ถูกต่อต้านจากประชาชนด้วยเหตุผลหลายประการ ที่สำคัญคือการก่อสร้างติดชุมชน แต่ไม่สามารถป้องกันมลพิษทางอากาศและผลกระทบจากกลิ่นเหม็นได้

ถึงวันนี้การกำจัดขยะด้วยการเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้ายังถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยมากในสังคมไทย
พนมสารคาม
๕,๘๐๐ (ตันต่อวัน)
Image
โดยสรุปแล้วเทคโนโลยีที่ทางกรุงเทพมหานครใช้กำจัดขยะแบ่งออกเป็นสี่ระบบหลัก ได้แก่

๑) การหมักทำปุ๋ยหรือวัสดุปรับปรุงดิน คิดเป็นปริมาณขยะ
๑,๖๐๐ ตันต่อวัน

๒) เทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพหรือเอ็มบีที (MBT) มีผลพลอยได้คือขยะเชื้อเพลิงและขยะรีไซเคิล ๘๐๐ ตันต่อวัน

๓) ระบบเตาเผาขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ๕๐๐ ตันต่อวัน

๔) ระบบฝังกลบ ๕,๘๐๐ ตันต่อวัน โดยกรุงเทพมหานครว่าจ้างบริษัทเอกชนนำขยะจากศูนย์กำจัดมูลฝอยทั้งสามแห่ง คือ อ่อนนุช ไปฝังกลบที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนขยะจากสายไหมและหนองแขม นำไปฝังกลบที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

แม้กรุงเทพมหานครจะพยายามแก้ปัญหาขยะด้วยการเก็บรวบรวมและกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะ ตลอดจนรณรงค์ให้ประชาชนลด คัดแยก และนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่

แต่ก็ยังมีขยะอีก ๕,๘๐๐ ตันต่อวันที่จะต้องออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปฝังกลบ ณ พื้นที่อื่น

ภายใต้ข้อจำกัดว่าสถานที่ที่มีความเหมาะสมนั้นมีน้อยลงทุกที

ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ เล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับ “โครงการฝังกลบมูลฝอยอย่างถูกสุขลักษณะโดยอัดและห่อมูลฝอยด้วยแผ่นพลาสติก (wrapping)” ซึ่งหมายถึงการนำขยะไปฝังกลบที่พนมสารคาม พร้อมเปิดภาพประกอบให้ดูว่า ขยะจากอ่อนนุชจะถูกนำเข้าสู่เครื่องอัดให้เป็นก้อน พันด้วยลวด และห่อด้วยแผ่นพลาสติกทั้งแนวนอนและแนวตั้ง ป้องกันการปล่อยกลิ่นและง่ายต่อการขนส่ง หลังจากนั้นจึงนำขึ้นรถบรรทุกขยะ คลุมผ้าใบ รัดเข็มขัด เพื่อออกเดินทางไปฝังกลบ

ห่างออกไปร่วม ๑๐๐ กิโลเมตรที่อำเภอพนมสารคาม บ่อฝังกลบขยะถูกขุดเตรียมไว้ ปูรองพื้นด้วยแผ่นพลาสติก HDPE รอบบ่อป้องกันการปนเปื้อนของน้ำชะขยะ 

การฝังกลบขยะจะค่อย ๆ เรียงลงไปทีละโซน ทีละชั้น

หลังฝังกลบเสร็จจะคลุมด้านบนด้วยวัสดุกลบทับรายวัน กระทั่งมีขยะเต็มบ่อจึงย้ายไปเริ่มต้นฝังกลบขยะที่บ่อใหม่
๑๖ (ร้อยละ)
ร้อยละ ๔๖ ของขยะในประเทศไทยมาจากพื้นที่รับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

ร้อยละ ๓๘ มาจากเขตเทศบาลที่เหลืออีกร้อยละ ๑๖ เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เพียงจังหวัดเดียวเท่านั้น

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจของกรมควบคุมมลพิษระบุว่ากรุงเทพฯ เป็น “จังหวัดสะอาด” ที่ไม่มีปัญหาวิกฤตด้านการจัดการขยะมูลฝอย รวมทั้งไม่มีปริมาณขยะสะสมภายในจังหวัด  นอกจากนี้ก็มีอีกเพียงสองจังหวัดเท่านั้นที่ถือเป็นจังหวัดสะอาด คือ นนทบุรีและภูเก็ต
Image
ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ ล้วนมีปัญหาการจัดการขยะ โดย ๒๐ จังหวัดที่มีปัญหามากที่สุด เรียงตามลำดับ ได้แก่ สงขลา สมุทรปราการ กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ราชบุรี เพชรบุรี แพร่ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ระนอง นครพนม ปัตตานี ฉะเชิงเทรา ร้อยเอ็ด ลพบุรี อ่างทอง ขอนแก่น บุรีรัมย์ และชุมพร 

สอดคล้องกับรายชื่อจังหวัดที่มีปัญหาขยะสะสม ๒๐ อันดับแรก ได้แก่ สงขลา สมุทรปราการ กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ราชบุรี ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี นครราชสีมา ลำปาง แพร่ ลพบุรี ชัยนาท นครปฐม เพชรบูรณ์ และระนอง ตามลำดับ

ทั้งนี้ประเทศไทยมีสถานที่กำจัดขยะรวม ๒,๔๙๐ แห่ง แต่เป็นสถานที่กำจัดขยะแบบถูกต้องเพียง ๔๖๖ แห่ง หรือร้อยละ ๑๙ เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๘๑ เป็นสถานที่กำจัดขยะที่ไม่ถูกต้อง เช่น เป็นการเทกองกลางแจ้ง ลักลอบทิ้งขยะ และเผาในที่โล่ง

ในปี ๒๕๖๑-๒๕๖๒ ผมมีโอกาสเดินทางไปเก็บข้อมูลมลพิษขยะจากอุตสาหกรรม ได้ดูบ่อขยะที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายที่อำเภอพนมสารคาม  แผ่นดินชายขอบของจังหวัดฉะเชิงเทราแห่งนี้ไม่ต่างจากดินแดนต้องคำสาป เพราะถูกกำหนดให้เป็นที่ตั้งของบ่อขยะมากมายหลายบ่อทั้งที่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับอนุญาต

หน้าบ่อขยะแห่งหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำ ผมได้แต่คิดว่าถ้าบ่อขยะที่อ่อนนุชเคยถูกเรียกว่าเป็น “ภูเขาขยะ” สถานที่แห่งนี้ก็คงเปรียบดั่ง “ทะเลขยะ” เพราะมีเศษซากสิ่งของที่ผ่านการใช้งานมาแล้วทั้งขยะอุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะจากบ้านเรือนถูกนำมาเททิ้งบนพื้นที่กว้างไกลสุดสายตา

ยากจะหาหลักฐานมายืนยันว่าทะเลขยะที่ปรากฏตรงหน้าเดินทางมาจากแหล่งใด บ้านเกิดของพวกมันคือที่ไหน และเคยมี “ใคร” เป็นเจ้าของ ?
๔๑.๓๒ (ตันต่อคน)
มีการศึกษาพบว่าในรอบทศวรรษที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ สร้างขยะเฉลี่ย ๑.๕๓ กิโลกรัมต่อวันต่อคน

เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยประมาณ ๗๔ ปี

หมายความว่าในหนึ่งชีวิต คนกรุงเทพฯ ผลิตขยะมากถึง ๔๑.๓๒ ตัน

ไล่เรียงตามช่วงอายุ เด็ก ๆ ที่มีคำนำหน้าชื่อว่า ด.ญ. และ ด.ช. อายุประมาณ ๑๓ ปี ได้สร้างขยะมาแล้วถึง ๗.๒๕ ตัน

เข้าสู่วัยเบญจเพส อายุ ๒๕ ปี สร้างขยะมาแล้ว ๑๓.๙๖ ตัน

ในวัย “หลักสี่” อายุประมาณ ๔๐ ปี สร้างขยะมาแล้ว ๒๒.๓๓ ตัน

และถ้าหากคุณมีชีวิตยืนยาวจนอายุ ๗๔ ปี อยู่ในช่วง “ไม้ใกล้ฝั่ง” นั่นหมายความว่าคุณน่าจะสร้างขยะมาแล้ว ๔๑.๓๒ ตัน

การจัดการขยะถือเป็นเรื่องท้าทาย ไม่ว่าประเทศหรือเมืองใด ๆ ในโลก เพราะเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพ การหมักหมมเน่าเสีย มลภาวะทางอากาศ กลิ่นเหม็น แหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค การปนเปื้อนของสารโลหะหนักลงสู่พื้นดินและแหล่งน้ำ

ที่สำคัญคือขณะที่เรากำลังหาทางแก้ปัญหา ก็มีขยะเพิ่มขึ้นทุกนาที
จากภูเขาขยะในเมืองหลวงถึงทะเลขยะในดินแดนห่างไกล

น่าคิดว่าเพราะเหตุใด ช่วงชีวิตใครคนหนึ่งถึง “ทิ้ง” อะไรไว้ให้โลกมากมายเพียงนี้  

ขอขอบคุณ
ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช
สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม บริษัทซีแอนด์จี
เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด
มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)