เมือง-คลอง-คน
ลงเรือล่อง “คลอง”
สำรวจวิถี “คน” สองฝั่ง “เมือง”
SCOOP
เรื่อง : อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
“ทุกคน !
คลื่นมา
ระวัง...”
คลื่นในคลองซัดมาลูกแล้วลูกเล่า ต้องเร่งมือพาย นายท้ายลำหน้าว่าอย่าเอาเรือขวาง ไม่งั้นคงได้ดำน้ำคลองแน่ ๆ เรือคายักลำน้อยที่ตั้งใจจะสำรวจลำคลองในกรุงเทพมหานครเอียงซ้ายทีขวาทีตามจังหวะคลื่น และด้วยโครงสร้างคอนกรีตริมตลิ่งยิ่งทำให้กระแสคลื่นสะท้อนไปมาทุกทิศทาง กายทำหน้าที่พยุงเรือให้มั่นคง ส่วนใจภาวนาว่าอย่าจม
พื้นที่กรุงเทพมหานครมีคลอง ๑,๖๘๒ สาย รวมระยะทางมากกว่า ๒,๖๐๐ กิโลเมตร แบ่งเป็นคลองฝั่งพระนครและคลองฝั่งธนบุรีโดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาคั่น แต่จากคำบอกเล่าและแหล่งข้อมูลต่าง ๆ พบว่ามีคลองไม่ถึงครึ่งที่เป็นทางสัญจรได้
อยากชวนทุกคน “ลงเรือ” เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ระหว่าง “คลอง” และ “คน” ใน “เมืองหลวง” ของประเทศไทย
“เมือง” ที่เคยมีฉายาว่า
“เวนิสตะวันออก”
หากเปรียบสายน้ำดั่งร่างกาย ในอดีตแม่น้ำเจ้าพระยาก็เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่สำหรับการคมนาคม โดยใช้เรือขนส่งสินค้าเพื่อหล่อเลี้ยงเมืองท่าขนาดใหญ่ มีคูคลองเส้นเล็ก ๆ ทั้งตามธรรมชาติและขุดเพิ่มเปรียบเส้นเลือดฝอยเชื่อมต่อเข้าถึงพื้นที่ด้านใน แม่น้ำและลำคลองจึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตของ “กรุงเทพมหานคร” เมืองที่มีสายน้ำและคูคลองไม่ต่างจากเมืองเวนิสในประเทศอิตาลี นี่เองทำให้ได้รับฉายาว่า “เวนิสตะวันออก”
ช่วงที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้ง “กรุงธนบุรี” เป็นเมืองหลวงแทนกรุงศรีอยุธยาในปี ๒๓๑๐ มีการแบ่งคลองขุดออกเป็นสามประเภท ได้แก่ คลองรอบเมือง คลองลัด และคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำ ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี มีพระบรมราชโองการให้สร้างพระนครแห่งใหม่ขึ้นในปี ๒๓๒๕ ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาแทนกรุงธนบุรีที่คับแคบและไม่ถูกหลักการตั้งเมืองในตำราพิชัยสงคราม มีรับสั่งให้ขุดลอกคลองคูเมืองเดิมให้กว้างและลึกขึ้นเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมทางน้ำ และรัชกาลต่อ ๆ มาก็มีการขุดคูคลองขึ้นอีกมากมายตามแต่ละวัตถุประสงค์
หลังสนธิสัญญาเบาว์ริงระหว่างสยามกับอังกฤษในปี ๒๓๙๘ ทำให้มีชาวต่างชาติเข้ามามาก เมืองพัฒนาไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ถนนหนทางเข้ามาแทนที่เป็นเส้นทางคมนาคมหลักคลองต่าง ๆ ลดบทบาทลง บ้างกลายเป็นเส้นทางแคบ ๆ หรือแห้งเหือด หลายคลองถูกแปรสภาพเป็นเพียงทางระบายน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือนจนประสบปัญหาน้ำเน่าเสีย
ภาพวิถีชีวิตในยามเย็นของเด็ก ๆ ริมคลอง กำลังรอจังหวะกระโดดน้ำโชว์ลีลาสนุกสนาน
“คลอง” และ “คน”
ฝั่งพระนคร - เมืองที่ว่ากันว่า
คลอง (จะ) สวย
และน้ำ (จะ) ใส
กลางปี ๒๕๖๔ คนกรุงเทพฯ น่าจะเคยได้ยินว่ามี “โครงการพัฒนา ๕๐ เขต ๕๐ คลองใส” ของกรุงเทพมหานคร ที่จะดูแลจัดการน้ำในคลอง รวมถึงปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาคุณภาพน้ำ ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ปีละหนึ่งคลองในทุกเขต
ปัจจุบันมีการจัดการไปหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตพระนครที่พยายามปรับปรุงให้กลายเป็น “แลนด์มาร์กใหม่” ในฐานะแหล่งท่องเที่ยว
เมื่อผมทราบข่าวการจัดกิจกรรม WE LOVE KAYAK MEETING โดยกลุ่ม WE LOVE KAYAK ร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย เพื่อรณรงค์ช่วยกันเก็บและลดปริมาณขยะ สิ่งปฏิกูลในคลองผดุงกรุงเกษม พร้อมส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยววิถีใหม่ชาวกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงติดต่อไปยัง เอก-กฤษณฤกษ์ อนุรักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มฯ เพื่อขอเข้าร่วมการพายเรือคายัก ในเส้นทางเริ่มต้นจากคลองผดุงกรุงเกษมผ่านตลาดมหานาค โบ๊เบ๊ สะพานผ่านฟ้าลีลาศและคลองบางลำพู รวม ๖-๗ กิโลเมตร
เอกเล่าว่าอยากเห็น “คนเมือง” สนใจปัญหาเรื่องคลองมากขึ้น เขาเชื่อว่าคนเราจะเริ่มดูแลรักษาสิ่งใดได้ต้องมาจากการเห็นประโยชน์หรือเสน่ห์ของสิ่งนั้นก่อน ครั้งนี้มีเรือคายักเข้าร่วมมากกว่า ๔๐ ลำ
“อยากปลูกจิตสำนึกรักษาคลองให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง อย่างน้อยเชื่อว่าคนที่มาพายเรือวันนี้จะรู้แล้วว่าทำไมเขาต้องมาเก็บขยะ และการเก็บขยะบนเรือในลำคลองไม่ง่าย การที่เขาได้เห็นความงดงามของบรรยากาศทางน้ำในเมืองน่าจะช่วยกระตุ้นให้อีกหลายคนหันมาดูแลคลองมากขึ้น หรือแม้แต่คนที่เห็นพวกเรากำลังเก็บขยะก็จะได้เห็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่งพยายามเก็บรักษา อาจเป็นแรงบันดาลใจเล็ก ๆ ต่อไป”
จุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มคือพวกเขารักในสิ่งเดียวกัน นั่นคือการพายเรือท่องเที่ยวชมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย
มีกิจกรรมพายเรือในลำคลองต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลทุกวันเสาร์
“ที่ต้องเป็นทางเรือเนื่องจากพวกเราไม่ได้ชอบความเร็ว ชอบเสพความงดงามระหว่างทาง ชมวิถีชีวิตช้า ๆ ปลายทางอาจจะเป็นแค่จุดหมาย แต่ที่น่าสนใจกว่าคือระหว่างทางจะพบเจออะไรบ้าง ในกลุ่มเรามีทั้งผู้ใหญ่ คนแก่ และเด็ก บ้างมากันเป็นครอบครัว ทุกวันเสาร์จะได้ทำกิจกรรมครอบครัวด้วยกัน เด็ก ๆ เรียนรู้เรื่องแม่น้ำลำคลองและปลูกสำนึกรักธรรมชาติไปในตัว และแน่นอนว่าเราเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก”
ก่อนเริ่มกิจกรรมทุกคนจะได้เรียนรู้การพายเรือคายักที่ถูกต้องและการดูแลตัวเองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน พร้อมกับได้รับถุงใส่ขยะสำหรับเก็บขยะตามแม่น้ำลำคลอง
WE LOVE KAYAK นำสมาชิกสำรวจและเก็บขยะในคลองลำปลาทิว เป็นระยะทางรวมกว่า ๘ กิโลเมตร
แล้วสัญญาณปล่อยตัวก็เริ่มต้นขึ้น !
เอกทำหน้าที่เป็นผู้นำหัวขบวนเรือคายัก คอยบอกทิศทางและสิ่งต่าง ๆ ตลอดจนคอยดูเส้นทางว่าช่วงไหนอันตรายหรือไม่ คลองบางสายใช้เส้นทางร่วมกับเรือขนส่งที่มีความเร็วซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ทำให้เขาต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นเท่าตัว
“เมืองเรามีน้ำล้อมรอบอยู่แล้ว เชื่อมถึงกันตลอด อย่างอ้อมนนท์คือสายเจ้าพระยาเก่า บางเส้นขุดตั้งแต่สมัยโบราณซึ่งปัจจุบันยังใช้กันอยู่ เหมือนคลองแสนแสบ”
เรือทุกลำพายอย่างช้า ๆ ถึงแม้อากาศจะร้อน เพราะกว่าจะสตาร์ตก็บ่ายโมงกว่า แต่ลมที่พัดผ่านมาก็ทำให้เย็นขึ้นบ้าง
ในบางขณะ ออกตัวมาไม่นานเริ่มเห็นบางลำพายไปเก็บขยะข้างตลิ่งปูน
“ปัญหาแรกที่เจอมากสุดและมีแทบทุกคลองคือเรื่องความสะอาด ซึ่งเราก็เห็นว่าภาครัฐหรือภาคเอกชนกำลังแก้ไข แต่เมื่อลงพื้นที่จริงก็ยังพบเห็นการทิ้งขยะหรือแม้แต่น้ำเน่าเสียในบางพื้นที่ อย่างวันนี้ก็เห็นขยะลอยตามน้ำมาทุก ๆ ๒-๓ นาที บางที่ถ้ามีปัญหามาก ๆ แล้วน้ำนิ่งก็จะได้กลิ่นน้ำเสียรุนแรง”
เรือผ่านคลองผดุงกรุงเกษมเลี้ยวขวาย่านตลาดโบ๊เบ๊ มุ่งหน้าเข้าคลองแสนแสบ เลี้ยวไปทางภูเขาทอง ถึงช่วงนี้แดดร่มลมตกพอดิบพอดี วิวสวยงามมาก สุดท้ายไปรวมตัวกันที่ป้อมมหากาฬแล้วผ่านไปยังคลองบางลำพู
“เสน่ห์ของคลองบางลำพูคืออิฐสีส้มโบราณสองฝั่งคลอง ปรกติคนส่วนใหญ่จะขับรถข้ามคลอง ไม่ได้เห็นคลองบางลำพูจากในคลอง บริเวณด้านซ้ายขวาจะไม่ต่างจากคูคลองสมัยโบราณ สวยงามมากจริง ๆ”
ระยะทางราว ๖-๗ กิโลเมตร เมื่อพายไปถึงคลองบางลำพูก็ย้อนกลับมาสิ้นสุดที่ป้อมมหากาฬ และขากลับก็เกิดเรื่องอันตรายขึ้น คลื่นจากเรือที่รับส่งคนในคลองแสนแสบตีม้วน
มาหากลุ่มเรือคายัก
“ผมบอกทุกคนหลบซ้ายขวา เรือเขาก็ผ่านไปอย่างช้า ๆ แต่เมื่อผ่านเราไปได้กลับเร่งเต็มที่ ก็เกิดคลื่นมหาศาลเหมือนอยู่ในทะเลที่มีลมแรงพายุแรง ดีว่าไม่มีใครตกน้ำ”
เอกบอกว่าคลองในพระนครหลายพื้นที่ถูกปรับเปลี่ยนจากธรรมชาติไปสู่ตึกคอนกรีต วิถีของชุมชนเดิมแทบไม่มีเหลืออยู่แล้ว
ผักตบชวาสร้างปัญหากีดขวางแม่น้ำลำคลอง
“การพัฒนาเพื่อให้ได้คลองน้ำใสสะอาดดีแน่นอนครับ แต่ยังไม่ถึงที่สุด เพราะในแง่ของธรรมชาติกลายสภาพเป็นคลองที่ไม่มีชีวิต คลองโอ่งอ่างผมสงสารปลา โดนไฟส่อง โดนหลอกตลอดเวลา ไม่เคยมืดและไม่มีตลิ่ง ทำให้มันต้องว่ายตลอดเวลา และวิถีคนริมน้ำอย่างชุมชนเองก็ไม่มีแล้ว
“ถ้าเทียบกับคลองทางฝั่งธนฯ ยังคงเป็นวิถีริมน้ำอยู่ พายไปจะเห็นเรือพ่อค้าแม่ขายเทียบท่าให้ชาวบ้านซื้อของ ซึ่งไม่ใช่ตลาดน้ำเพื่อการท่องเที่ยว แต่เป็นวิถีชีวิตจริง ๆ บ้านเรือน
ริมน้ำมีเรือผูกอยู่และใช้จริง
“ผมว่าถ้าจะให้คลองในฝั่งพระนครมีวิถีชีวิตแบบนั้นคงเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นเส้นทางคมนาคมและการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ถ้าเป็นวิถีเดิมก็อาจไม่ตอบโจทย์ สิ่งที่ควรทำคือเรื่องความสะอาดและการปรับวิวทิวทัศน์ระหว่างทาง แล้วก็รณรงค์บ้านริมคลองให้เน้นเรื่องความสะอาด ให้เขาเป็นส่วนหนึ่งกับคลอง
“มีชาวบ้านอีกหลายคนที่อยากอนุรักษ์วิถีริมคลอง หันคลองมาอยู่ใกล้ตัวคนเมืองมากยิ่งขึ้น จากเมื่อก่อนไม่ค่อยได้ใส่ใจดูแล เมื่อเขารวมกลุ่มจัดตั้งเป็นชุมชนที่เข้มแข็งก็มีรายได้จากคลอง ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว ค้าขายต่าง ๆ มีกิจกรรม และสุดท้ายกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ธรรมชาติช่วยคน คนช่วยธรรมชาติ ผมเชื่อว่าถ้าชุมชนริมน้ำมีผลตอบแทนจากการที่เขาอยู่อาศัยกับคลองก็จะทำให้เกิดการหวงแหนขึ้นมาได้”
สุดท้ายเอกบอกว่าเขาไม่อยากให้จัดงานเดียวแล้วจบไปโดยไม่ได้อะไรเลย หรือเพียงแค่สร้างภาพลักษณ์ว่างานดี คลองสะอาด แต่ต้องจัดการให้ดีทั้งระบบ ต้องมีเป้าหมาย ถ้าจะทำเป็นเวนิสเอเชียอีกครั้งต้องชัดเจนในการแก้ปัญหาให้ได้
“การสร้างความสวยงาม ๕๐ เขต ๕๐ คลอง ช่วยเรื่องการท่องเที่ยวที่อาจจะมาส่งเสริมได้ แต่อย่างแรกต้องแก้ปัญหาเพื่อคนที่อยู่ร่วมกับคลองก่อน คุณจะสร้างจะพัฒนาสิ่งสวย ๆ ไว้ ก็ต้องบอกคุณค่าและประโยชน์ที่เขาควรจะได้รับ อยากให้ปรับปรุงแน่ ๆ แต่อย่าเป็นแค่นโยบายบ้านเราพอผลัดเปลี่ยนผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ก็เหมือนใบไม้ที่ร่วงไป โครงการที่เคยทำอยู่อาจหายไปดื้อ ๆ หรือถ้าในบางพื้นที่จะปรับปรุงพื้นที่รอบคลอง ก็ต้องดูบริบทชุมชนตรงนั้นด้วย ไม่ใช่ผลักดันให้เขาไปที่อื่น ไล่รื้อชุมชนออก เหมือนอย่างป้อมมหากาฬกลายเป็นพื้นที่สวนสาธารณะที่ไม่ค่อยมีคนไปดีกว่าถ้าจัดการอนุรักษ์โดยให้ชุมชนอยู่ร่วมกับคลองและไปด้วยกันกับเมืองได้อย่างสอดคล้อง ไม่งั้นสวยก็จริง แต่คงไร้ซึ่งชีวิต”
คำเดียวที่เอกบอกแล้วผมจำได้โดยไม่ต้องจดในสมุดบันทึกคือ
“ขอร้องละอย่าให้เหมือนกิจกรรมปั่นจักรยานที่ช่วงหนึ่งปั่นกันเต็มบ้านเต็มเมือง แต่สุดท้ายเลนจักรยานอยู่ที่ไหน”
หวังว่าโครงการ ๕๐ เขต ๕๐ คลองจะแก้ปัญหาได้ไม่มากก็น้อย...
ขยะส่วนใหญ่คือโฟม พลาสติก และขยะชุมชน
“คน” เล็ก ๆ ที่หวังเปลี่ยน
“คลอง” ฝั่งธนบุรี
ให้เป็นคลองธรรมชาติ
ที่สะอาดสดใส
เปลี่ยนบรรยากาศจากฝั่งพระนครที่เต็มไปด้วยเมืองและคอนกรีตสู่วิถีชีวิตริมคลองบางหลวงฝั่งธนบุรีหรือ “บางกอก”
ในอดีต หลังจากติดต่อนายท้ายที่จะพาผมชมวิถีชีวิตในคลองฝั่งธนบุรีเรียบร้อย สิ่งแรกที่เขาบอกผมคือ “ลงรถไฟฟ้ามาเลย เดี๋ยวผมไปรับเอง ถ้าเห็นเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มีแผงโซลาร์เซลล์ก็ลำนั้นเลย รอที่โป๊ะเรือได้เลย”
ยามเย็น ผมพูดคุยกับซัน-ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ เจ้าของเรือไฟฟ้าชื่อว่า สุขสำราญ ที่พลิกวงการเรือท่องเที่ยวในประเทศ
ไทยฟื้นฟูเรือโบราณอายุกว่า ๖๐ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๐๐ ให้กลายเป็นเรือไฟฟ้าปลอดมลพิษ เขาเชื่อเสมอว่า “คนเราเปลี่ยนได้ จากคนที่เคยทิ้งขยะ ไปสู่คนเก็บขยะ และจะไม่ทิ้งอีกต่อไป” ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการจัดการขยะในแม่น้ำลำคลอง
เปลี่ยนจากเรือคายักแรงมือ มาลงเรือที่ดัดแปลงเอง หนึ่งเดียวในเมืองไทย ทรงเรือหัวเชิดท้องมน หลังคาเรือเต็มไปด้วยแผงโซลาร์เซลล์ นายท้ายเรือต้อนรับผมด้วยความเงียบของเครื่องยนต์ไฟฟ้า
“ซัน” กำลังตรวจสอบจุดติดตั้ง กล้องวงจรปิดนับขยะบนสะพาน
ซันเล่าว่าเขาเป็นเด็กคลองฝั่งธนฯ ตั้งแต่เกิด มีชีวิตที่แทบไม่ต้องทำอะไร เพราะพ่อ-แม่ทำให้ทั้งหมด จนถึงจุดเปลี่ยนของชีวิตที่เด็ก ๑๑ ขวบต้องเผชิญ เขาสูญเสียผู้ปกครองทั้งคู่ไปอย่างไม่มีวันกลับ สิ่งที่ทำให้เขาดำรงอยู่คือการได้ทำประโยชน์ให้คนอื่น นั้นคือเป้าหมายในชีวิตใหม่
“อยากเป็น NGO ตั้งใจสอบตรง พอจบไปสิ่งแรกที่สนใจคือเรื่องสิ่งแวดล้อม ไปทำงานกับมูลนิธิโลกสีเขียว ใช้ชีวิตอยู่ริมน้ำมาตลอดตั้งแต่สมัยเรียน รณรงค์เรื่องโลกสีเขียว ๑๐ กว่าปี จนสุดท้ายผมก็รู้ว่าอยากมีเรือที่ขับแล้วปลอดมลพิษเป็นของตัวเอง”
ซันบอกว่าที่เขาชอบเรื่องคลองและเรือมีอยู่สองเหตุผล
เหตุผลแรกคือเป็นความประทับใจวัยเด็กที่พ่อสอนพายเรือให้ ซึ่งเขาก็ฝึกพายอยู่นานกว่าจะเป็น และเป็นความทรงจำที่เขาได้ใช้เวลากับครอบครัวก่อนจะจากกันเหตุผลต่อมาคือการได้รู้จักกับภาพประทับใจในชีวิตที่เขาไม่มีทางลืม
“มีวันหนึ่งเราชวนพี่ชายออกไปพายเรือกัน ผ่านบ้านศิลปิน ประทับใจมาก เป็นบ้านไม้สองชั้นสวยมาก แล้วเห็นคนใช้เรือพายข้ามไปมาเหมือนเอาของมาส่งให้กัน เป็นวิถีชีวิตริมน้ำจริง ๆ คุยกันข้ามฝั่งได้ไม่มีเสียงดังรบกวน แตกต่างจากบริเวณบ้านที่มีเรือท่องเที่ยวผ่านไปมาวันละ ๒๐๐ เที่ยวแล้วตัวเครื่องยนต์ดังมาก แต่ตรงคลองบางหลวงกลับรู้สึกสงบสุขใจบอกไม่ถูก ตอนพายเรือขากลับก็เจอบ้านหลังเก่าสมัยโบราณที่สุดประทับใจอีกหลัง ฟ้ามืดพอดี ตรงนั้นมีต้นลำพู มีหิ่งห้อยส่องแสงอวดกันเต็มต้นเลย ภาพทุกอย่างลงตัว เป็นความรู้สึกที่จำได้ไม่ลืม”
นายท้ายเรือไฟฟ้าคนนี้ตัดสินใจซื้อเรือโบราณมาเป็นเรือเครื่องยนต์ เสียงเครื่องทำเอาเขาหูอื้อไปพักใหญ่ หลังพาลูกทัวร์เที่ยวในฝั่งธนฯ จึงกำเงินเก็บกว่า ๖ หมื่นบาทไปทำให้เครื่องยนต์เรือเงียบลง แต่ลดอัตราเสียงไปได้เพียง ๒ เดซิเบล สุดท้ายจึงตัดสินใจเด็ดขาดเปลี่ยนเป็นเรือไฟฟ้า
“เรือพวกนี้จะมีเครื่องยนต์อยู่กลางลำใต้ท้องเรือ เวลาเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเขาก็ปล่อยน้ำมันลงน้ำเลย กว่าผมจะรู้เกือบปี เปลี่ยนไปเจ็ดถึงแปดครั้ง”
"เรือ สุขสำราญ ลำนี้ไปไหนก็ได้ในคลองย่านฝั่งธนฯ แต่ขออย่างเดียวให้เป็นไปตามธรรมชาติ...การเที่ยวตามธรรมชาติ ได้ชื่นชมธรรมชาติในจังหวะที่ดีที่สุด ผมว่านั่นคือสิ่งที่สวยงามที่สุด"
ระหว่างที่ซันเล่าไปผมก็นั่งสบาย ๆ ตั้งใจฟังเรื่องราวและวิถีชีวิตคนริมคลอง อยู่ดี ๆ มีเสียงเครื่องยนต์ที่ดังมาก ๆ กำลังใกล้เข้ามา ทำเอาต้องยกมือขึ้นอุดหู ภาพที่เห็นคือมีเรือกำลังแซงเรือไฟฟ้าด้วยความเร็วมาก บนเรือลำนั้นมีเด็กนั่งอยู่สองคนและน่าจะเป็นพ่อหรือพี่ชายที่เป็นคนขับเรือ ซันหันมาคุยกับผมว่า
“สงสารลูกเขา ตัวเล็กต้องอยู่กับเสียงเรือที่ดัง ถ้าเป็นแบบนี้นาน ๆ อาจทำให้หูหนวกหรือพิการได้เลย”
ซันอธิบายว่านั่นคือเสียงเครื่องยนต์เรือที่แต่งท่อมาให้เพิ่มความเร็วของเรือ ปัญหาเรื่องเสียงนี่เองที่มักรบกวนคนที่ใช้ชีวิตริมน้ำ ยิ่งคลองแคบเสียงสะท้อนยิ่งดังทวีคูณ ตัวเรือไปไกลแล้วแต่เสียงดังยังก้องสะท้อน
ไม่นานนักมีเรือท่องเที่ยวอีกลำสวนมา หนนี้เสียงเครื่องไม่ดังเท่าไร แต่คนขับเรือส่งสัญญาณมือชูสี่นิ้วมาให้ซัน
“ชูเลข ๔ ถือว่างานเยอะ บทสนทนาเดียวที่ชาวเรือคุยกันคือวิ่งส่งนักท่องเที่ยวได้กี่รอบ สื่อสารกันได้แค่นี้ เพราะเครื่องเรือดังเกินไป ถ้าอยากคุยเรื่องอื่นต้องดับเครื่องคุย”
ปัญหาต่อมาที่ซันชี้ให้เห็นคือเรื่องของคลื่นแรงที่เกิดจากความเร็วของเรือ ทำให้ตลิ่งทรุด หรือแม้กระทั่งบ้านริมน้ำเอียง
“ทุกบ้านริมคลองจึงต้องทำเป็นตลิ่งปูนและอิฐเพื่อกันคลื่นแต่ก็ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทันที คือไม่มีที่อนุบาลสัตว์น้ำที่มักฝังตัวในโคลนหรือเศษไม้ และการเปลี่ยนจากดินกลายเป็นปูนยิ่งทำให้คลื่นในคลองแรงขึ้นเป็นเท่าตัว
“สุดท้ายคือเรื่องควันดำ ที่หน้าบ้านผมเมื่อก่อนเป็นมลพิษมาก มีคนมาจดสถิติวันหนึ่งเรือวิ่งไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ เที่ยว ประมาณ ๗-๘ ชั่วโมงต่อวัน เราไม่เคยเห็นน้ำนิ่งเลย แล้วเรือทุกลำคือเครื่องยนต์มือสอง ใช้มา ๒๐ กว่าปีก็เกิดควันเป็นหมอกมลพิษ เหมือนสเปรย์ทุกเช้า นี่คือปัญหาหลักสามเรื่องที่วิถีชีวิตริมน้ำเจอทุกวัน”
สำหรับซัน การใช้เรือไฟฟ้าสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ทันที และยังชุบชีวิตเรือโบราณที่ไม่มีเครื่องยนต์ให้กลับสู่คลองได้อีกครั้ง
“ชาวต่างชาติเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนถ้ามาเมืองไทย บนถนนต้องรถตุ๊กตุ๊ก ถ้าทางน้ำต้องเรือแบบนี้แหละ ลองเทลโบ๊ต (long tail boat) แบบโบราณ ย้อนยุคกลับไปสมัยมีตลาดน้ำเยอะ ๆ ในช่วงที่ถูกขนานนามว่าเวนิสตะวันออก เรือแบบนี้คือสิ่งที่นักท่องเที่ยวอยากนั่งมากที่สุด”
ซันไม่ได้อยากให้ทุกคนต้องมาใช้เรือไฟฟ้าเช่นเขา แต่ถ้าเป็นไปได้ ลดเสียง ดูแลเครื่องยนต์ และเมื่อเจอเรือสวนทางกันให้ชะลอลงหน่อย เพื่อไม่เป็นการสร้างคลื่นไปกระทบบ้านริมคลอง
ชาวบ้านให้ความร่วมมือกับซันในการติดตั้งกล้องวงจรปิด เพราะพวกเขาคือคนที่อยู่อาศัยกับคลอง เคยเห็นน้ำใสและฝูงปลา แต่ปัจจุบันสิ่งที่ไหลมาตามน้ำคือ “ขยะ”
“ปัญหาคลองถ้าเรากำหนดสปีดลิมิตเรือได้ ทุกอย่างจะดีขึ้นมากเลย ไม่ต้องทำกำแพงปูนอิฐไปตลอดทาง” หลังจากนั่งเรือมาได้สักระยะผ่านวัด เด็ก ๆ ริมตลิ่งต่างตะโกนเรียก “พี่ซัน ๆ” กันเป็นแถว
“เด็ก ๆ ในคลองลงเรือผมมาหมดแล้ว เพราะเรือเราพลังงานมาจากแสงอาทิตย์ก็ให้น้องที่เขาสนใจมาลงฟรีได้เลย ถ้าพวกเด็ก ๆ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของคลอง เขาก็จะรักษาคลองเอง เป็นไปตามธรรมชาติ เราเป็นเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็พาเด็ก ๆ เป็นมิตรไปด้วย
“เรือ สุขสำราญ ลำนี้ไปไหนก็ได้ในคลองย่านฝั่งธนฯ แต่ขออย่างเดียวให้เป็นไปตามธรรมชาติ การท่องเที่ยวแบบผมคือจะเปิดตารางน้ำดู เช้าน้ำขึ้นสูงเราขึ้นเหนือไหม แล้วบ่ายลงตามน้ำ เที่ยวแบบชื่นชมธรรมชาติในจังหวะที่ดีที่สุด ผมว่านั่นคือสิ่งสวยงามที่สุด”
ครืด...ครืด เสียงแปลก ๆ ดังขึ้นจากใบพัดเรือไฟฟ้า นายท้ายบอกขึ้นทันทีว่า
“ขยะติดใบพัดเรือ”
ระหว่างเส้นทางมีขยะเข้าไปชนใบพัดเรือตลอดเส้นทาง ซันบอกว่าบางครั้งต้องว่ายน้ำลงไป เพราะขยะติดจนไม่สามารถเอาออกได้ ต้องดำลงไปเอาออก
“ไหน ๆ ก็มาแล้ว มาช่วยกันหน่อย” ซันเอ่ย ทำเอาผมตกใจ นึกว่าต้องดำลงไปช่วยเก็บขยะออกจากใบพัดเรือ แต่ที่แท้ซันจะให้ไปช่วยติดกล้องวงจรปิดนับขยะ
ปัญหาที่ไม่ว่าจะเป็นคลองไหนก็ต้องพบเจอคือปัญหาขยะที่ลอยมากับน้ำ ซันเล่าว่าช่วงแรกเขาแก้ปัญหาโดยการติดไม้กั้นขยะ
“เมื่อเต็มก็ร้องไปยังภาครัฐให้มาเก็บ ช่วงแรก ๆ เขาก็มาเก็บ แต่บ่อยเข้าก็มาไม่ไหว เพราะต้องดูแลหลายคลอง แล้วเมื่อไม่มีใครมาจัดการขยะ น้ำในบริเวณใกล้เคียงก็เน่าเสีย จึงต้องยอมเอาไม้ดักขยะออก และโปรเจกต์พัฒนากล้องเอไอนับขยะจึงเกิดขึ้น”
เรือไฟฟ้าจอดที่สะพานชุมชนคลองบางหลวง ซันเดินไปหัวเรือและปีนป่ายอย่างคล่องแคล่ว มือหนึ่งคว้าตอม่อสะพานเพื่อไม่ให้เรือลอยออกจากจุดที่จะติดตั้งกล้อง อีกมือจับกล้องวงจรปิดอัจฉริยะ
“ช่วยผูกเรือกับหลักให้ทีแล้วถือสายวงจรปิดไว้ก่อน”
ซันตะโกนจากหัวเรือ ทำเอาผมที่ถือกล้องถ่ายรูปต้องรีบปีนไปยังหัวเรือเพื่อเป็นลูกมือ เมื่อดูอุปกรณ์อย่างถี่ถ้วนพบว่าไม่ต่างจากกล้องวงจรปิดทั่วไป เพียงแต่สายไฟยังไม่ได้ถูกเชื่อมเข้าด้วยกัน
กล้องวงจรปิดที่ติดตั้งในสามชุมชน และโปรแกรมการคัดแยกและนับจำนวนขยะเพื่อเก็บข้อมูลตามหาต้นตอของขยะ
“การทำงานเหมือนกล้องวงจรปิดธรรมดาทั่วไปเลย ที่เหลือเป็นเรื่องของซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่คัดแยกและนับจำนวนขยะที่ไหลผ่านไป ที่มาติดได้ก็ขอความร่วมมือจากคนในชุมชนคลองบางหลวงนี่แหละช่วยกัน
“เคยมีคนในภาครัฐบอกกับผมว่า ขยะในคลองลอยไปลอยมาจับมือใครดมไม่ได้ เขาบอกไม่รู้ว่ามาจากไหน แล้วไม่คิดจะหาทางให้รู้
“ถ้าติดกล้องได้เยอะมากพอเราจะรู้เลยว่าขยะมาจากตรงไหน พัฒนากันมาปีกว่าแล้ว เราแยกขยะจากน้ำได้อย่างแม่นยำ แต่แยกขยะกับขยะยังไม่ค่อยเก่ง แยกได้ว่าเป็นขวดแก้ว พลาสติก ของที่รูปลักษณ์ซับซ้อนอาจต้องใช้โปรแกรมที่ดีขึ้น แต่โจทย์ใหญ่ของเราคือขยะที่ผ่านหน้าบ้านหรือชุมชนมาจากที่ไหน ซึ่งภาครัฐเขาปฏิเสธที่จะหาคำตอบ พวกเราคนตัวเล็ก ๆ จะทำเองให้เขาดูว่าสามารถหาได้ และหากภาครัฐมาขอข้อมูลเชิงปริมาณขยะเรายินดีให้เลย”
ชายชื่อซันติดตั้งเครื่องมืออย่างตั้งใจด้วยสีหน้ามุ่งมั่น พร้อมบอกว่ากล้องบางตัวยังใช้บันทึกหลักฐานคนทิ้งขยะลงคลองด้วย
“ผมเชื่อว่าถ้าตั้งใจจริง ๆ ให้เขาไม่ทิ้งขยะ ทำได้นะ เรารุกโดยไม่ต้องเผชิญหน้า ถ้าเข้าไปรับรองว่ามีปัญหาแน่ ๆ แต่เราใช้น้อง ๆ ในชุมชนที่เราปลูกฝังเมล็ดพันธุ์เข้าไปรณรงค์ว่าสัญญาได้ไหมว่าจะไม่ทิ้งขยะอีก หากมีครั้งที่ ๒ ให้เทศกิจทำป้ายประกาศเตือน ทิ้งปรับจับ หากสุดท้ายยังทิ้งอีกกล้องวงจรปิดนี่แหละที่จะเป็นหลักฐานให้เจ้าหน้าที่เข้าไป
“สิ่งเหล่านี้ควรปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ๆ ด้วย เราเชื่อว่าเมื่อเขาได้มาเก็บขยะในคลอง เขาเริ่มเห็นปัญหา เหมือนเป็นวัคซีนที่ฉีดกันไม่ให้ทิ้งขยะ ผมเลยพยายามชวนเด็ก ๆ ริมคลองมาร่วมกันตั้งแต่แรก อย่างน้อยให้เขารักธรรมชาติเหมือนผมก็ยังดี”
แล้วแสงของยามเย็นก็หมดลง ผมขึ้นจากเรือพร้อมกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริง ออกมานั่งริมคลองอยู่พักหนึ่งเพื่อประมวลความคิดทั้งหมดว่า การลงเรือสองฝั่ง “เมือง” เพื่อคุยกับ “คน” ที่พบเจอปัญหาเรื่อง “คลอง” นั้นมีปัญหาที่คล้ายกันทั้งเรื่องขยะ-น้ำเน่าเสีย-คลื่นที่เกิดจากความเร็วของเรือ-มลพิษจากท่อไอเสียเรือ
สุดท้ายแล้วใครคือคนที่ต้องคอยแก้ปัญหาและรับผลกรรมทั้งหมดกันแน่ หากยังไม่สามารถแก้ไขได้ในเร็ววัน...ระหว่างคน-คลอง-เมือง
เอกสารอ้างอิงและเว็บไซต์
ปิยนาถ บุนนาค ดวงพร นพคุณ และ วัฒนา ธาดานิติ. คลองในกรุงเทพฯ : ความเป็นมา การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อกรุงเทพฯ ในรอบ ๒๐๐ ปี (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๕๒๕). กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๕.
สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. เวียงวังฝั่งธนฯ ชุมชนชาวสยาม. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม, ๒๕๒๕.
สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. แม่น้ำลำคลองสายประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : กองทุนเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ, ๒๕๕๑.
“เมืองไทยในอดีต : บอกลาเวนิสตะวันออก”. เข้าถึงได้จาก https://ngthai.com/history/820/vintage-thailand-5/