Image
เบญจกิติ สวนสาธารณะ
ที่คิดถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ของคนกรุงเทพฯ
SCOOP
เรื่อง : บุษกร รุ่งสว่าง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
“ตึ่งงงงง...
“สถานีสุขุมวิท... สุขุมวิท... โปรดใช้ความระมัดระวังขณะก้าวออกจากรถ...

“Sukhumvit station. Please mind the gap between train and platform…”

จากสถานีรถไฟฟ้าเดินเลียบถนนรัชดาภิเษกไปทางใต้ประมาณ ๖๐๐ เมตร ความสดชื่นในมวลอากาศและสรรพเสียงรอบตัวเปลี่ยนไป เป็นสัญญาณว่าเรามาถึงจุดหมายที่ตั้งใจแล้ว

“สวนเบญจกิติ” สวนสาธารณะขนาด ๔๕๐ ไร่ ใจกลางเมือง

ภายในแบ่งเป็นพื้นที่สวนน้ำ ๑๓๐ ไร่ พื้นที่สวนป่าระยะที่ ๑ : ๖๑ ไร่ และพื้นที่สวนป่าระยะที่ ๒ และ ๓ : ๒๕๙ ไร่

ที่ราชพัสดุผืนนี้เป็นฐานการผลิตของ “โรงงานยาสูบ” ก่อนจะนำมาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะตามมติคณะรัฐมนตรีในสมัยนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ ด้วยเหตุผลหลักสองประการ คือ ๑. เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ในปี ๒๕๓๕ คณะรัฐมนตรีและโรงงานยาสูบจึงได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินของโรงงานยาสูบเพื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะกลางเมือง โดยได้รับพระราชทานชื่อสวนสาธารณะว่า “เบญจกิติ”  และ ๒. เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้โรงงานอุตสาหกรรมย้ายออกไปจากแหล่งชุมชน
เมื่อบริบทความเป็นเมืองเปลี่ยนไป สวนสาธารณะควรทำหน้าที่มากกว่าสถานพักผ่อนหย่อนใจ แต่สามารถสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และเป็นห้องเรียนธรรมชาติให้คนในเมือง
Image
Image
Image
Image
Image
เกาะเนินต้นไม้ได้รับแรงบันดาลใจจาก “ภูมิปัญญาร่องสวน” ที่ชาวสวนขุดร่องยกแปลงปลูกต้นไม้ขึ้นเพื่อหนีน้ำในฤดูน้ำหลากและกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง เหตุผลที่ออกแบบเป็นทรงกลมเพื่อให้น้ำไหลผ่านสะดวกและแบ่งพื้นที่อาศัยให้สัตว์ต่าง ๆ
อดีตของสวนป่า
“เราเคยอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ตอนเขาทุบก็ใจหายเหมือนกัน” พนักงานโรงงานยาสูบสาวใหญ่วัยผมสีดอกเลา เล่าความรู้สึกในวันที่ตึกถูกรื้อถอน

เธอย้อนความหลังให้ฟังว่าเมื่อก่อนช่วงพักกลางวัน พนักงานโรงงานจะพากันจับกลุ่มกินข้าว บ้างเดินทักทายไปมาหากันระหว่างตึก บ้างตั้งวงคุยกันสนุกตามร่มไม้ที่นอกจากจะให้ร่มเงาแล้วยังเก็บกินได้ เช่น ขนุน ชมพู่ กล้วย มะม่วง ฯลฯ บรรยากาศการทำงานคึกคัก อบอุ่น แต่มาตอนนี้พนักงานเกือบ ๓,๐๐๐ คนแยกย้ายไปอยู่กันคนละทาง เช่นเดียวกับสามีของเธอที่ต้องย้ายไปประจำฐานการผลิตใหม่ยังสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนเธอเป็นหนึ่งในพนักงานไม่กี่ร้อยคนที่ยังคงประจำการอยู่กรุงเทพฯ

“เหมือนบ้านที่เราอยู่มาด้วยกันแล้ววันหนึ่งโดนทุบ...แต่ก็โอเคเพื่อทำสวน...” เสียงเธอสั่นก่อนเผยยิ้มเบาบาง สายตามองไปยังสวนป่าผืนใหญ่ตรงหน้า

นับแต่สวนป่าระยะที่ ๒-๓ เปิดให้บริการ ทุกเช้าตรู่พนักงานสาวสูงวัยจะใช้เวลาเกือบชั่วโมงท่ามกลางธรรมชาติในสวนแห่งนี้ก่อนลุยงานต่อในห้องแอร์บนตึกสำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ข้างสวน จนเพื่อน ๆ ในแผนกรู้กันว่าเวลาเช้าเพื่อนสาวฉายา “นักพฤกษศาสตร์ประจำโรงงาน” จะจรลีอยู่ที่ใด

“ป้าคอยมานั่งนับต้นไม้ว่ายังอยู่ไหม ที่เห็นอยู่เป็นไม้เดิมในพื้นที่เกือบทั้งหมด เดินไปทางโน้นจะเห็นมะตาด สัก  ส่วนทางนี้มีหูกวาง สาวสันทราย”

“เชียงใหม่หรือคะ” เราถามอย่างไม่รู้

“ต้นไม้ ฮ่า ๆ” เธอตอบพลางหัวเราะ

ด้วยความรักต่อต้นไม้ อาจทำให้เธอยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น  แล้วกับพนักงานคนอื่น ๆ เล่า ป่านนี้พวกเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง
อยากให้สวนมีความหลากหลายที่เป็นกรุงเทพฯ อยู่... ต้นไม้ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของสวนนี้จึงใช้วิธีการเพาะจากเมล็ดแล้วนำกล้าเล็ก ๆมาปลูก
Image
ภาพ : กองพลพัฒนาที่ ๑
สวนป่า
ต้องใช้เวลาในการเติบโต

ตุลาคม ๒๕๖๓

กรมธนารักษ์ เจ้าของที่ดินโรงงานยาสูบตัดสินให้บริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด ชนะงานประกวดแบบสวนป่าระยะที่ ๒-๓ และกำหนดการให้ดำเนินงานแล้วเสร็จภายในระยะเวลา ๑๘ เดือน โดยมีกองพลพัฒนาที่ ๑ กองทัพบก ช่วยเหลือในส่วนงานก่อสร้าง

ด้วยระยะเวลาที่กระชั้นทำให้ทหารเร่งปรับพื้นที่สร้างป่ากันทั้งวันคืน ฝั่งทีมออกแบบก็ต้องคิดหาวิธีทำอย่างไรให้ป่าน่ามองได้เมื่อสวนถึงเวลาต้องเปิด เพราะป่าไม่อาจสร้างเสร็จได้ภายในเวลาปีครึ่ง

“การสร้างป่ามันต้องรอ และรอได้ด้วยวิธีการออกแบบ”

ชัชนิล ซัง หรือ “ทิป” ภูมิสถาปนิกสาวผมฟูสุดเท่ตัวแทนทีมออกแบบสวนป่าระยะที่ ๒-๓ บอกเรา ขณะพาเดินดูสวนป่าและชี้ชวนให้เห็นแนวคิดที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง

เมื่อเริ่มเดิน เธอทวนถึงโจทย์หลักที่กรมธนารักษ์กำหนดมา นั่นคือ “สวนป่าเชิงนิเวศในเมือง”

หลังทีมงานกว่า ๑๐๐ ชีวิตร่วมระดมสมองกันตีความหมายของประโยคนี้ สุดท้ายจึงได้ข้อสรุปว่าไม่มีป่าใดจะเหมาะสมไปกว่า “ป่ารากเหง้าของกรุงเทพฯ” เพราะเป็นการอนุรักษ์
พรรณไม้พื้นถิ่นดั้งเดิม  ที่สำคัญพวกเขาอยากให้สวนนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างป่าจากกล้าไม้ ไม่ใช่การขโมยไม้ใหญ่จากป่าอื่นมาสู่เมือง

“อยากให้สวนมีความหลากหลายที่เป็นกรุงเทพฯ อยู่ เดิมในภาคกลางเรามีต้นไม้เยอะมาก แต่ตอนนี้หายไป ถ้าเราอยากนำพรรณไม้ที่หายไปมาปลูก เราต้องไปขุดมาจากป่าที่ไกล ๆ ซึ่งเราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ต้นไม้ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของสวนนี้จึงใช้วิธีการเพาะจากเมล็ดแล้วนำกล้าเล็ก ๆ มาปลูก การสร้างป่าต้องรอ และรอได้ด้วยวิธีการออกแบบ” ทิปเล่าที่มาที่ไปของการพยายามใช้กล้าไม้เล็กให้ฟัง 

เพราะหากว่ากันตามจริง ผืนป่าสมบูรณ์จะเกิดได้ต้องใช้เวลาถึง ๔๐ ปี

ทีมสถาปนิกซื้อเวลาให้กล้าไม้พื้นถิ่นจำนวน ๕,๖๐๐ ต้น รวมกว่า ๓๕๐ ชนิด ด้วยการเบนความสนใจของผู้ใช้สวนไปที่งานออกแบบพื้นที่ภายใน ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติซึ่งลัดเลาะไปตามเงาไม้เดิมในพื้นที่กว่า ๑,๗๑๘ ต้น และเกาะเนินใน “พื้นที่ชุ่มน้ำ” ที่สวยแปลกตา จนอาจทำให้มองข้ามต้นกล้าเล็กจ้อยเหล่านี้ไปก่อนได้

แต่เมื่อมองดี ๆ จะพบ “ป่ารากเหง้าของกรุงเทพฯ ผืนใหญ่” ที่ค่อย ๆ เติบโตในเงื้อมเงาไม้เดิมเหล่านี้ 
Image
ป่ารากเหง้า
ของคนกรุงเทพมหานคร

“บางกอก” มาจาก “ต้นมะกอกน้ำ”
“บางจาก” มาจาก “ต้นจาก”
“บางบัว” มาจาก “บัว” 
“บางลำพู” มาจาก “ต้นลำพู”
“บางแค” มาจาก “ต้นแคนา” หรือภาคกลางเรียก “แคน้ำ”
ฯลฯ

ความอุดมของพรรณไม้และสรรพสัตว์ซึ่งเคยอยู่อาศัยกันมาแต่ดั้งเดิม สะท้อนให้เห็นได้ทั่วไปตามชื่อเรียกเขตที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยมีคำนำหน้าอันบ่งชี้ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น “ห้วย หนอง คลอง บึง ลาด บาง ดอน” เช่น หนองแขม หนองจอก ดอนเมือง (ชื่อเดิมคือดอนอีเหยี่ยว) หนองงูเห่า บางอ้อ บางนา บางบอน ลาดพร้าว แต่หลายครั้งคนเมืองอย่างเราก็หลงลืมไป

“จะให้ผมรออาจารย์สร้างป่า ๓ ปี ๕ ปี ได้ยังไง ผู้ใหญ่เขาคงไม่รออย่างอาจารย์หรอก” สถาปนิกคนหนึ่งเคยกล่าวไว้

อาจารย์คนนั้นคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์มณฑาทิพย์ โสมมีชัย หนึ่งในคณะที่ปรึกษาด้านพรรณไม้สวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ ๒-๓ ในฐานะ “นักการป่าไม้ในเมือง”  มณฑาทิพย์เล่าความสำคัญของการนำพรรณไม้ดั้งเดิมกลับมาให้เราเห็นไม่เพียงเป็นมิติของการเรียนรู้ภูมินิเวศเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเดิม แต่เสริมประเด็นสำคัญนั่นคือ “การจัดการต้นไม้ในเมืองในระยะยาว”

“สวนสาธารณะสมัยก่อน เวลาเลือกต้นไม้มาปลูกจะนิยมเอาไม้ขุดล้อมมากรุงเทพฯ ใช้ไม้ล้อมเกือบร้อยละ ๙๐  คนในเมืองอยากได้ต้นไม้โตเร็ว ๆ ล้อมมาตั้งโด่เด่เลย  ปัญหาที่ตามมาของต้นไม้ล้อมคือระบบรากที่โดนตัดมา มีรากอยู่นิดเดียว แล้วต้องโตในเมืองที่สภาพแตกต่างจากธรรมชาติเดิมที่เคยอยู่  ต้นไม้ในกรุงเทพมหานครก็เลยสะเงาะสะแงะ เอาแน่เอานอนไม่ได้

“บางสวนสาธารณะต้นไม้โตแล้ว แต่ทำไมต้นไม้ดูไม่สวยสุขภาพดูไม่ดี อันนี้เป็นปัจจัยที่มีผลสำคัญ” มณฑาทิพย์สะท้อนปัญหาการจัดการต้นไม้ในเมืองที่ผ่านมาและเปรียบเทียบไว้ว่า

“ต้นไม้ก็เหมือนคน ถ้าเราเอาไม้ล้อมมาปลูกก็เหมือนคนแก่ต่างจังหวัดที่ลูกหลานพามาอยู่ในเมือง ทำให้ขาดสังคม ขาดมิตร ขาดระบบนิเวศเดิมที่เคยอยู่ สุขภาพจึงทรุดโทรมและท้ายที่สุดก็เฉาตายในเมือง  ต่างจากเด็กกรุงเทพฯ ที่อยู่ในเมืองตั้งแต่เล็ก ๆ จะเห็นว่ามีความแกร่งและคล่องตัว ขึ้นรถเมล์เองได้  ถ้าอยากให้ต้นไม้อยู่ในสภาพแวดล้อมของเมืองได้ก็ต้องให้เขาอยู่ตั้งแต่เล็ก ๆ  ถ้าเอาแก่ ๆ มา แถมตัดแขนขาเขาอีก ตาย ยังไงก็ตาย ปรับตัวไม่ได้”

ตามธรรมชาติป่าจะสมบูรณ์ได้ต้องใช้เวลาถึง ๔๐ ปี แต่หากดูแลอย่างดีและอย่างเข้าใจ ป่าอาจเกิดให้เราเห็นได้ภายใน ๕-๑๐ ปี โดยช่วงการดูแลที่สำคัญอยู่ในระยะ ๓ ปีแรก นักการป่าไม้ในเมืองบอกกับเราว่าแนวคิดการสร้างป่าในเมืองจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความเข้าใจและร่วมมือทำจากทุกฝ่าย เช่นเดียวกับงานสร้างสวนป่าครั้งนี้ที่เธอทำหน้าที่ผ่องถ่ายองค์ความรู้ แต่เหล่าสถาปนิกทั้งหลายคือคนนำองค์ความรู้นี้ไปใช้จริง และต่อไปหากสวนแห่งอื่น ๆ นำแนวคิดนี้ไปใช้ก็จะทำให้ป่าที่ดูแลง่ายเกิดขึ้นอีกมากในอนาคต

“งานสร้างป่านี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น งานส่งผ่านการเรียนรู้ธรรมชาติและการสร้างป่าในเมืองให้คนรุ่นถัดไปเป็นเป้าหมายที่มากกว่า”
ความเคารพ
ซึ่งกันและกัน
พื้นฐานในการอยู่ร่วมกัน
ของสรรพชีวิต

Image
เวลากลางคืนหากนั่งบนอัฒจันทร์แล้วมองไปฝั่งตะวันออก จะเห็นพระจันทร์ลอยเด่นอยู่กลางเมือง
Image
sky walk ใช้การออกแบบตามหลัก universal design เพื่อความเท่าเทียมของทุกคน
พรรณไม้รากเหง้าของกรุงเทพมหานครและพื้นที่ภาคกลางของไทย ๓๕๐ ชนิด ได้กระจายตัวตามจุดต่าง ๆ ของสวนป่า ดังนี้

พรรณไม้ป่าชายเลน (บึงน้ำ ๑) 
เช่น โกงกาง แคทะเล ตะบูนดำ ประสัก โพทะเล ลำพู ลำแพนหิน ปรงทะเล เป้งทะเล เหงือกปลาหมอ ฯลฯ

พรรณไม้ป่าบึงน้ำจืด (บึงน้ำ ๒) 
เช่น กรวยสวน กระทุ่มนา กันเกรา จิกสวน ตะขบน้ำ มะดัน โสกน้ำ เฉียงพร้านางแอ หมากแดง ฯลฯ

พรรณไม้ป่าดิบลุ่มต่ำ (บึงน้ำ ๓) 
เช่น กระบาก ไข่เขียว เคี่ยม ตะเคียนชันตาแมว ตะเคียนทอง มะหาด ยางแดง ยางนา โพ ไทร ไกร กร่าง ทุ้งฟ้า เต่าร้าง อบเชย ฯลฯ

พรรณไม้ในวนเกษตรสวนบ้าน (บึงน้ำ ๔) 
เช่น ข่อย ขี้เหล็ก จำปี ตาเสือ ทองหลางป่า นุ่น ไผ่ พิกุล เพกา มะเดื่อ ตะลิงปลิง กระท้อน มะขาม ส้มโอ มังคุด มะพร้าว ลางสาด ยอบ้าน ฯลฯ

พรรณไม้ป่าดิบแล้ง (บริเวณทางขึ้น sky walk) 
เช่น ประดู่ส้ม ยมหอม ตะแบกใหญ่ สมพง หมากนางลิง ตะขบป่า ดีหมี ขานาง ยางแดง ฯลฯ

พรรณไม้ป่าดิบ (บริเวณภายในตัวอาคาร) 
รวม ๑๑ ชนิด เช่น ก่อเดือย ก่อน้ำ จำปาป่า พะยอม มะค่าโมง หว้า ฯลฯ

และพืชเพื่อการบำบัดน้ำ 
ที่กระจายตัวในบึงทั้งสี่และบ่อบำบัดน้ำเลียบสวนป่าทางทิศเหนือและทิศตะวันตก รวมระยะทาง ๑.๖ กิโลเมตร เช่น กกกลม กกลังกา กระจูด คล้าน้ำช่อห้อย ธรรมรักษา ธูปฤๅษี พุทธรักษา แมงลักคา ว่านน้ำ ผักปอดสาหร่ายหางกระรอก บัวสาย ฯลฯ

“ห้องเรียนธรรมชาติ”
ที่อยู่ร่วมกัน
ด้วยความเคารพ

วิ้ววว วิ้ววว วิ้ววว...
วิด วู่ วู่ วิด วิดดดด...
กา กา กา...
ฯลฯ  

สรรพเสียงนกนานาชนิดร้องประสานกันในเวลาย่ำเย็น บ่งบอกถึงธรรมชาติที่เริ่มสมบูรณ์

“เราอยากให้เป็นรอยต่อระหว่างคนกับธรรมชาติ” ทิปบอกขณะเราเดินเข้ามาในบึงน้ำ

เมื่อสวนค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นป่า นกและสัตว์นานาพรรณจะแวะเวียนเข้ามาอิงอาศัยกันเพิ่มขึ้น กฎพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันของทุกชีวิตอย่าง “เคารพซึ่งกันและกัน” จึงถูกนำมาใช้ในงานออกแบบ

ตัวอย่างคือทางเดินชมบึงน้ำกว้าง ๑.๕ เมตร ที่ทำมุมหักเลี้ยวมากกว่าปรกติ  เบื้องหลังแนวคิดคือไม่ให้คนเดินกันเป็นกลุ่มใหญ่ เพราะตั้งใจให้เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างคนกับธรรมชาติ  ทางเดินจะพาเราลัดเลาะเกาะเนินทรงกลมคว่า เพื่อศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างใกล้ชิดและเรียนรู้หัวใจสำคัญ “ความเคารพในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ”

คนก็เดินไปเงียบ ๆ สัตว์น้อยใหญ่ก็อิงอาศัยพื้นที่ต้นไม้และเกาะเนิน โดยบริเวณนี้จะไม่ตั้งถังขยะ เพราะอาจส่งผลต่อพฤติกรรมการหาอาหารของสัตว์

ขณะเดินผ่านพงหญ้าสูงเราอดคิดถึงฉากในภาพยนตร์ Komodo (ค.ศ. ๑๙๙๙) ไม่ได้ หากใครเคยดูจะรู้ว่าทรงมันใช่จริง ๆ

“เหี้ยจะมาเยอะไหมคะ ทำเลดูเหมาะมากเลย ถ้ามาเยอะจะจัดการอย่างไร” เป็นคำถามที่เคยถามอาจารย์มณฑาทิพย์

“มีอยู่แล้ว ถิ่นกรุงเทพฯ มีตัวเหี้ยอยู่แล้วแน่นอน แต่ถามว่ามันอยากเจอคนไหม ก็คงไม่ได้อยากเจอหรอก” เธอตอบปนขำ แล้วอธิบายแนวทางการจัดการไว้ว่า “หนึ่ง จัดการเรื่องที่อยู่ คือออกแบบให้มันไปอยู่บนโคกเนินที่เราขุด  สอง ถ้ามีมากเราก็ควบคุมประชากรตั้งแต่ต้นทาง หารังที่เหี้ยวางไข่เพราะฆ่าไม่ได้เป็นสัตว์คุ้มครอง แต่ส่วนมากมันจะรอดไม่เยอะ เพราะมีงูไปกินไข่มันอีกที เป็นกลไกตามธรรมชาติ ถ้าระบบนิเวศสมดุลมันจะควบคุมประชากรกันเองตามธรรมชาติ ถ้าเราสามารถจัดการได้ แล้วใช้ทรัพยากรตรงนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก ๆ ในเมือง ก็จะเกิดประโยชน์มาก”
ส่วนทิปก็อธิบายการจัดการสัตว์อื่น ๆ ที่เข้ามาอยู่ด้วยแนวคิดเดียวกันว่า

“ปล่อยให้ควบคุมตามธรรมชาติ ตอนนี้สัตว์ที่เข้ามาเป็นจำพวกนก อย่างนกเป็ดน้ำ กาน้ำ นกนางแอ่น นกกระยาง นกปากห่าง สวนแบบนี้น่าจะมีในหลายพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร มันจะได้เชื่อมต่อกัน อย่างน้อยก็เป็นมิติใหม่ในการทำสวน เป็นสวนป่าในเมืองที่ทำให้คนหวงแหนธรรมชาติมากขึ้น ให้คนเข้าถึง ได้ผ่อนคลาย ได้สัมผัสธรรมชาติ  สรรพสิ่งต่าง ๆ ต้องอยู่ร่วมกันได้ อยู่กันในมิติที่ไม่ใช่ว่าของฉันของเธอ แต่แชร์กัน”

ขณะทิปเล่า เรามาอยู่ในจุดที่ฉากหลังเป็นวิวพระอาทิตย์ตกดินและฝูงนกกำลังบินกลับรัง

“เราเข้าไซต์เยอะมาก สภาพอากาศก็เปลี่ยนไป อยู่กันมาจนรู้มุมสวน มองจากจุดนี้พระอาทิตย์ตกจะสวยที่สุด เพราะพอขึ้น sky walk แล้ววิวจะเคลียร์ เราจะเห็นพระอาทิตย์ตก
และวิวเมืองได้ชัด บางวันพระอาทิตย์เป็นสีชมพู บางวันเหลืองทอง ส่วนตอนกลางคืนต้องไปนั่งดูพระจันทร์บนอัฒจันทร์ ตรงนั้นเราจะเห็นมุมเมืองที่มีพระจันทร์ดวงใหญ่บนท้องฟ้า มันสวยมาก”

แม้แสงอาทิตย์เริ่มเลือนราง แต่สายตาทิปขณะเล่าถึงความงามของธรรมชาตินั้นฉายแววความหวังไว้เด่นชัด

ทิปย้ำกับเราว่า อยากให้คนมองเห็นธรรมชาติอย่างที่เป็นโดยเริ่มต้นจากการมองผ่าน “สวนสาธารณะ” หมายถึงถ้าวันหนึ่งโลกแวดล้อมนอกสวนเลวร้ายลง อากาศแล้งมาก น้ำไม่มี แล้วสวนไม่สวย ก็อยากให้คนยอมรับได้ เพราะสวนที่ดีควรสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและเป็นห้องเรียนธรรมชาติให้คนในเมือง

“อย่างบ่อน้ำถ้ามันแห้งก็คือแห้ง เรายอมให้มันแห้งได้ เพราะมันสะท้อนสภาวะอากาศของโลกเรา ไม่ใช่โลกแห้งแล้ง แต่สวนเราเขียวสมบูรณ์  มันเป็นตัวชี้วัดหนึ่ง  แต่ถ้าสิ่งแวดล้อมโลกเราดี สวนก็จะสมบูรณ์

“สวนที่สร้างไม่เสร็จวันนี้ แต่สร้างเพื่ออนาคตให้เด็กที่อยู่ในกรุงเทพฯ ได้ซึมซับกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัว อยากให้สวนนี้ทำให้เขารักสิ่งแวดล้อม  สวนนี้จึงอาจไม่ได้สร้างเพื่อเราในวันนี้ แต่สร้างเพื่ออนาคตของเด็กที่อยู่ที่นี่

“วันนี้สวนยังไม่เสร็จ วันนี้สวนเพิ่งเริ่ม เหมือนต้นไม้ที่เพิ่งเกิด เพิ่งเริ่มโต ต่อจากนี้คือสวนที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษา ต้องมีคนมาช่วยทำให้เป็นห้องเรียนธรรมชาติได้จริง ๆ”
ความรู้ด้านการเลือกพรรณไม้ สี่ข้อสำคัญจากอาจารย์มณฑาทิพย์ โสมมีชัย

หนึ่ง ภูมิกายภาพ เลือกต้นไม้ที่เหมาะสมกับระบบนิเวศและพื้นที่

สอง ภูมิสังคม เลือกต้นไม้ให้เหมาะสมกับความต้องการของคนในพื้นที่

สาม ประโยชน์โดยรวม ศึกษาว่าต้องการประโยชน์อะไรจากพื้นที่สีเขียวตรงนั้น

สี่ ต้นทุนการดูแลรักษา หากทุนน้อยให้ปลูกไม้จากการเพาะเมล็ดพันธุ์ เพราะในระยะยาวไม้จะแข็งแรง ใช้งบบำรุงรักษาน้อย หากทุนมาก อยากล้อมไม้มาปลูก ก็ขอว่าอย่าไปเบียดเบียนป่าที่ไหนและไม่ควรสนับสนุน !

ความเปลี่ยนแปลง
เมื่อได้ลงมือทำสวน

“เมื่อก่อนไม่กล้าคุยกับ เสธ. ตู่ แกแต่งชุดทหารมา แล้วเขาตะเบ๊ะกันทุกคน” ทิปพูดปนหัวเราะ ก่อนยิ้มกว้าง แล้วบอกกับเราว่า “จริง ๆ แล้ว เสธ. ตู่คือหนึ่งในความสำเร็จของการทำป่าครั้งนี้”

พันเอก ชุติภัทร วรรณทอง หรือ “เสธ. ตู่” ที่ทิปพูดถึง คือนายทหารผู้ดูแลงานก่อสร้างสวนป่าเบญจกิติระยะที่ ๒-๓

เสธ. ตู่มองว่าการก่อสร้างสวนสาธารณะครั้งนี้ค่อนข้างต่างจากงานอื่น ๆ ที่ผ่านมือมา อย่างงานปรับปรุงภูมิทัศน์ท้องสนามหลวง หรืองานอุทยานราชภักดิ์ที่เขารับผิดชอบในส่วนลานจอดรถ ซึ่งไม่มีเงื่อนไขเรื่องต้นไม้ให้คิดถึงนัก แต่งานนี้จะทำอะไรต้องคำนึงถึง “ต้นไม้” ก่อนเสมอ
“สวนนี้ไม่ได้ทำเพื่อเรา”...
ทำเพื่ออนาคต

พันเอก ชุติภัทร วรรณทอง
Image
บ่ายแก่ ๆ ของวันเสาร์ ใต้ร่มจามจุรี

“ความยากคือการเอาคนเข้าไปทำแล้วต้องไม่ก่อความเสียหายให้กับต้นไม้เดิมที่อนุรักษ์ไว้  เราต้องทำงานอยู่ใต้ต้นไม้ รถแบ็กโฮ รถแทรกเตอร์ เดินวนกันอยู่ใต้ต้นไม้ ปั้นจั่นจะตอกตัวหนึ่งก็คอยหลบต้นไม้” เสธ. ตู่เล่าให้เราฟัง ตามองไปที่จามจุรีเหนือหัว

ใช่แล้ว ต้นเดียวกับที่ เสธ. ตู่และเหล่าทหารต้องคอยระวังกันเมื่อหลายเดือนก่อน

งานไม่จบลงแค่นั้น เนื่องจากยังไม่ถึงเวลาส่งมอบให้สำนักสวนสาธารณะฯ เข้ามาดูแลต่อ การบำรุงรักษาต้นไม้ในสวนจึงเป็นความรับผิดชอบของพลทหารต่อไป และหลายอย่างก็ดูจะขัดตาขัดใจความเป็นระเบียบในตัวทหารอย่าง เสธ. ตู่อยู่มาก พงหญ้ารกหรือกอกกที่ขึ้นอย่างไม่บันยะบันยัง ไม่ได้อยู่ในจินตภาพสวนที่ควรเป็นของเขา

แต่เมื่อเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสวน ความคิดเขาก็เปลี่ยนไป

“ช่วงแรกที่มาทำงาน เห็นมีแค่กาที่เป็นเจ้าถิ่นเดิม ช่วงหลังมานี้เริ่มมีนกเล็ก ๆ ผึ้ง แมลงต่าง ๆ งูเหลือมก็นาน ๆ เห็นบ้าง แล้วตัวเงินตัวทองเคยเห็นอยู่ครั้งหนึ่ง” 

เสธ. ตู่ชี้มือไปที่พงหญ้าริมน้ำข้าง ๆ “บางคนอาจคิดว่าทำไมไม่เป็นระเบียบ ทำไมดูรก แต่แนวคิดคือเราต้องการให้มันเป็นธรรมชาติ ซึ่งเราไม่สามารถสร้างธรรมชาติได้นะ เพียงแต่ทำตัวตั้งต้นไว้ เดี๋ยวป่าก็จะเป็นของมันเอง  ถ้าเราไปจัดการอะไรมากมันก็จะไม่เป็นป่า  ดอกหญ้าหรือดอกอะไรที่ดูว่ารก ๆ ถ้าดูดี ๆ จะมีผึ้งมีแมลงมากินเกสร มันก็มีประโยชน์

“ผมคิดว่ามันเป็นบทเรียนใหม่ ทหารมาทำงานแบบนี้ก็เป็นรูปแบบใหม่ ทุกทีจะมีแบบมาแล้วเราก็ทำตามแบบ อันนี้มีแบบและแนวคิดสวนป่าคุมไว้  ถ้าพวกผมทำงานกันเองคงเสร็จไปแล้ว แต่อาจไม่ใช่สวนแบบนี้  เราต้องฟังคนอื่นด้วยและย้อนกลับไปตีความสวนป่าว่าต้องมีอะไรบ้าง  สิ่งที่ได้มาเลยไม่เหมือนที่อื่น มันเป็นความมีชีวิตของป่าที่ทุกคนต้องมาเรียนรู้”

พอฟัง เสธ. ตู่แล้วก็ทำให้นึกถึงภาษิตที่ว่า “น้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน” ชายชาติทหารคนหนึ่งเมื่อเห็นการเปลี่ยนแปลงจากการลงมือทำสวนอยู่ทุกวัน จิตใจก็คงอ่อนโยนลงเช่นกัน
“ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ที่โชว์ของอย่างเดียว แต่โชว์กิจกรรมด้านใน เราตั้งใจทำให้เป็นอาคารที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์หรือเป็น beta architecture เป็นสถาปัตยกรรมที่ต้องรอกิจกรรมเข้ามาเติมเต็มและเติบโตไปพร้อมกับเมือง”
ชัชนิล ซัง (ซ้าย)
และ พรหมมนัส อมาตยกุล (ขวา)

Image
บ่ายแก่ ๆ ของวันอาทิตย์

ใต้ร่มไม้เยื้องต้นจามจุรี (เมื่อวาน) มานิดหนึ่ง เรานัดพบกับหนุ่มตี๋มาดขรึม พรหมมนัส อมาตยกุล หรือ “เป้ง” ตัวแทนทีมสถาปนิกผู้ดูแลงานก่อสร้างสถาปัตยกรรมในสวนป่าเบญจกิติระยะที่ ๒-๓ ซึ่งมีงานหลักคือการคืนชีวิตให้อาคารเก่าแก่ในสวนป่าเบญจกิติ โดยทางกรมธนารักษ์กำหนดโจทย์ไว้ว่าให้เป็นอาคาร “พิพิธภัณฑ์”

อาคารนี้เป็นหนึ่งในอาคารประวัติศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรมของไทย ออกแบบโดยสถาปนิกชั้นครู ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. แหลมฉาน หัสดินทร  ศาสตราจารย์กิตติคุณ ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา  รองศาสตราจารย์ ดร. ทรงคุณ อัตถากร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ เป็นสถาปัตยกรรมยุค 70s ที่มีเอกลักษณ์ เช่น ผนังกระเบื้องดินเผา โครงสร้างพื้นระบบรังผึ้ง (waffle slab) โครงสร้างคานรางนํ้า ซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบัน

เป้งเล่าว่าทีมออกแบบตีความโจทย์ใหม่จนได้สองคำตอบหลัก คือ หนึ่ง พิพิธภัณฑ์นี้ต้องเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของคน
โดยนำแนวคิด “edutainment” มาออกแบบ คือ เข้ามาแล้วต้องได้ทั้งความรู้ (education) และความเพลิดเพลิน (entertainment)

และสอง ด้วยความที่เป็นโครงการสวนสาธารณะ เขาจึงวางแบบให้พิพิธภัณฑ์มีความเป็นสวน ด้วยการปรับโครงสร้างอาคารให้โปร่งแสงขึ้น พร้อมปลูกต้นไม้ให้เติบโตพร้อมกิจกรรมในอาคาร

“ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ที่โชว์ของอย่างเดียว แต่โชว์กิจกรรมด้านใน เราตั้งใจทำให้เป็นอาคารที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์หรือเป็น beta architecture เป็นสถาปัตยกรรมที่ต้องรอกิจกรรมเข้ามาเติมเต็มและเติบโตไปพร้อมกับเมือง  ถ้ามีองค์กรที่ต้องการจัดกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับเมืองสร้างสรรค์ เช่น urban farm สุขภาพ ดนตรี ศิลปะ ที่นี่ก็จะเป็นพื้นที่ให้สามารถปล่อยของได้”

นอกจากอาคารพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสวนแล้ว ยังมีอาคารเก่าด้านทิศเหนือ ซึ่งจะเป็นส่วนเชื่อมต่อคนจากสวนลุมพินีผ่านเข้ามาทาง “สะพานเขียว” จึงออกแบบให้เป็นพื้นที่กิจกรรมที่ตอบรับคนเมือง เช่น ลานกีฬาในร่ม ศูนย์อาหาร รวมถึงศูนย์บริการจักรยานภายในสวนเบญจกิติเเละสวนลุมพินี

เป้งเล่าความรู้สึกในการทำสวนครั้งนี้ไว้ว่า “ไม่เหมือนกับงานอื่น ๆ  บางงานเอกชนมันมีคนได้และคนเสีย งานนี้มีแต่คนได้ รู้สึกว่าโครงการนี้มีคุณค่ามาก ๆ สำหรับคนออกแบบอย่างตัวเรา”

แม้การออกแบบจะมีงานหลายส่วน แต่ทีมงานทั้งหมดยึดหลักการสำคัญเดียวกันคือ สวนแห่งนี้ต้องเป็นมากกว่าสวนสาธารณะทั่วไปที่ให้ความสวยงามและการพักผ่อน และช่วยกันกำหนด “คุณค่าแท้” ที่มีความสัมพันธ์และสำคัญเท่ากันหมดไว้ คือ

หนึ่ง เป็นสวนที่มีประโยชน์ มาแล้วได้ความรู้
สอง เป็นห้องเรียนธรรมชาติ ชี้วัดสภาพสิ่งแวดล้อม
สาม เป็นสวนที่บรรเทาปัญหาของเมือง
และสี่ เป็นสวนที่คนรักและอยากมา
Image
พื้นที่สวนเบญจกิติรองรับน้ำได้ ๑๒๘,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ ๓๐ ล้านแกลลอน ช่วยหน่วงน้ำในกรณีฝนตกหนักมากได้นานถึง ๒ ชั่วโมง
แก้ปัญหาของเมือง
ในปัจจุบันและอนาคต

ต้นธารแนวคิดหลักของสวนเบญจกิติมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า”

หัวใจสำคัญคือการเกื้อกูลกันของ “น้ำ” และ “ป่า”

คำถามจึงเกิดขึ้นตามมา “สวนสาธารณะแห่งนี้จะช่วยจัดการปัญหาน้ำในเมืองกรุงเทพฯ ได้อย่างไร”

“ในอดีตโรงงานยาสูบมีพื้นที่คอนกรีตเยอะมาก อยู่ที่ ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ เดิมพื้นที่โรงงานยาสูบนี้เรียกว่าเป็นภาระของเมือง ทุกพื้นที่ซึ่งเป็นดาดแข็งก็เช่นกัน เพราะน้ำฝนตกลงมาแล้วซึมลงดินไม่ได้ จึงแย่งกันวิ่งไปที่ท่อระบายน้ำเสร็จแล้วก็วิ่งลงทะเล ซึ่งถ้าน้ำลงได้ช้าก็เกิดปัญหาน้ำท่วม”

ทวี เตชสิทธิ์สืบพงศ์ วิศวกรด้านการจัดการน้ำสวนป่าเบญจกิติระยะที่ ๒-๓ ฉายภาพปัญหาน้ำ และชี้ภาพรวมการจัดการปัญหาน้ำสามประเด็นใหญ่ คือ ๑. น้ำมาก จัดการอย่างไรไม่ให้น้ำท่วม  ๒. ช่วงแล้ง จัดการอย่างไรให้มีน้ำเก็บไว้ใช้ และ ๓. คุณภาพน้ำ ไม่ว่าน้ำมากหรือน้อย จะจัดการอย่างไรให้น้ำมีคุณภาพดี

สวนเบญจกิติช่วยแบ่งเบาปัญหาน้ำไว้ทั้งสาม คือ ๑. เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ โดยมีสวนน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งสามารถพร่องน้ำไว้รองรับการไหลบ่าของน้ำในฤดูฝน  ๒. มีบ่อน้ำสำหรับรองรับน้ำฝนและระบบเก็บน้ำด้วยป่าที่เก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดปี ช่วยลดภาระการใช้น้ำประปาของเมือง และ ๓. ช่วยเมืองบำบัดน้ำด้วยระบบพืชธรรมชาติ โดยนำน้ำเสียจากคลองไผ่สิงโตเข้ามาบำบัดและคืนน้ำกลับด้วยปริมาณ BOD (biochemical oxygen demand) ๑๐ มิลลิกรัมต่อลิตร

“โครงการนี้เอาพื้นที่ดาดแข็งซึ่งเป็นคอนกรีตออกหมด แต่ดินก็มีระดับของการซับน้ำต่างกัน คือถ้าเป็นป่า ดินจะซึมซับน้ำได้ดีด้วยรากของต้นไม้ใหญ่ แต่ถ้าเป็นสนามหญ้า เช่น สนามกอล์ฟ จะช่วยอะไรไม่ได้มาก เพราะสุดท้ายไม่มีรากต้นไม้ที่ช่วยชะลอน้ำไว้ แต่ดินก็ถือว่าดีกว่าคอนกรีตแน่ ๆ

“อาจจะมีพื้นที่สวนแบบนี้เกิดขึ้นอีกเรื่อย ๆ เพราะจะทำให้เมืองเบาขึ้น จากเดิมที่พื้นที่เป็นของราชการ ในอนาคตหน่วยงานบางส่วนอาจถูกย้ายออกไปเพื่อกระจายความหนาแน่นของตัวเมืองไปด้านนอก  พื้นที่เหล่านั้นก็สามารถกลับมาเป็นพื้นที่ซึ่งสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเมือง”

หากเปิด Google Earth แล้วส่องลงมาย่าน CBD (central business district) หรือทำเลทองของกรุงเทพฯ ก็จะเห็นว่าหนึ่งในพื้นที่หายใจของเมืองคือจุดสีเขียวตะปุ่มตะป่ำของสวนป่าแห่งนี้ และเป็นต้นแบบของพื้นที่หน่วงน้ำและบำบัดน้ำที่อดีตเวนิสตะวันออกยังต้องการอีกมาก
เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง
ในทุก ๆ การเดินทางมักจะมีสถานการณ์ที่คนเราต้องตัดสินใจ “เลือก” เพื่อ “ไปต่อ” อยู่เสมอ

วันนี้เราพาทุกคนมาซึมซับแนวคิดการออกแบบสวนเบญจกิติไว้เพียงเท่านี้ ต่อจากนี้หากเสียงสะท้อนในการปรับเปลี่ยนเมืองจะไปถึงผู้มีอำนาจและกำลังจะปรับได้ ทุกคนในเรื่องราวนี้คงดีใจไม่ใช่น้อย

โปรดฟังเสียงจากพวกเราในทุกครั้งที่ตัดสินใจทำสวน
สถาปนิกผู้ออกแบบสวน
"สวนนี้ไม่ได้ทำเพื่อเรา
มันทำเพื่อ
อนาคต"

สถาปนิกผู้ออกแบบสวน
"ผมว่ามันเป็น
บทเรียนใหม่"

ทหาร
"งานสร้างป่านี้
เป็นเพียงจุดเริ่มต้น"

นักการป่าไม้ในเมือง
……………
สมันที่สูญพันธุ์ไปเมื่อ ๘๔ ปีก่อน
"เหมือนบ้านเราโดนทุบ
แต่ก็โอเค
เพื่อทำสวน"

พนักงานโรงงานยาสูบ
………… 
เด็กในเมืองที่เกิดปี ๒๖๖๕
"ดินถือว่า
ดีกว่า
คอนกรีต
ดีกว่าแน่ๆ”

วิศวกรด้านการจัดการน้ำ
“ตึ่งงงงง...
“สถานี… โปรดใช้ความระมัดระวังขณะก้าวออกจากสวน

“Please mind the gap between garden and real world…”  
ขอขอบคุณผู้มีส่วนสนับสนุนการสร้างสวนเบญจกิติ
กรมธนารักษ์, โรงงานยาสูบ, กองพลพัฒนาที่ ๑ กองทัพบก, ธีรพล นิยม และทีมสถาปนิกอาศรมศิลป์, ผศ. ธิติพันธุ์ ตริตระการ, ขวัญสรวง อติโพธิ, วิวัฒน์ ศัลยกำธร, วีรชัย ณ นคร, มณฑาทิพย์ โสมมีชัย, นพรัตน์ นาคสถิตย์, หยูข่งเจียน, บุญฤทธิ์ ภูริยากร, จุลพร นันทพานิช, ประมุข เพ็ญสุต, ผศ.ดร. ธนิศร์ ปัทมพิฑูร, สมาน เสถียรบุตร, ทวี เตชสิทธิ์สืบพงศ์, เกษม เพชรเกตุ, สุจิตรา จิระวาณิชย์กุล, สัญใจ พูลทรัพย์, สุคณัชฌา เหล่ารัตนเรืองชัย, วีระพันธ์ ไพศาลนันท์, รศ. นิลุบล คล่องเวสสะ, รศ. เอนก ศิริพานิชกร, ศ.ดร. ชัยยุทธ ชินณะราศี, สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ และคณะทำงานทุกส่วนที่ช่วยคิดและทำให้สวนสาธารณะแห่งนี้เกิดขึ้น