Image
สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ สวนเล็ก ๆ จากพื้นที่ทิ้งร้างในซอยข้างวัด ด้วยการร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมดูแล และความเข้าใจกันของผู้คน
สวนเล็กของชุมชน
เมืองที่คนเข้าใจกัน
SCOOP
เรื่อง : อิทธิกร ศรีกุลวงศ์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
มาสวนกัน
ท่ามกลางแสงยามเย็นของเดือนกุมภาพันธ์ ผู้คนมากหน้าหลายตาเดินอยู่ในสวนเล็ก ๆ ในซอยหน้าวัดหัวลำโพง บ้างดูตื่นตาตื่นใจราวกับได้มาเยือนสวนครั้งแรก บางคนจับจองที่นั่งบนสนามหญ้า รอเวลาที่นักดนตรีจะเริ่มบรรเลงบทเพลง ส่วนฉันนั่งดื่มด่ำบรรยากาศอยู่เงียบ ๆ ที่มุมหนึ่งใกล้กับกังหันลมสีเหลืองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำเขตบางรัก

“สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์” เป็นหนึ่งในสวนแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อปลายปี ๒๕๖๔  แม้ขนาดจะเล็ก แต่ก็จัดสรรปันส่วนแบ่งพื้นที่ภายในอย่างดี มุมด้านหนึ่งเป็นลานสนามหญ้าไล่ระดับ ซึ่งวันนี้กลายเป็นลานแสดงดนตรี ตรงกลางสวนมีม้านั่งและสนามเด็กเล่นสำหรับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก  สุดปลายสวนอีกฝั่งเป็นเครื่องกายบริหารยืดเหยียดสำหรับผู้สูงอายุ  ส่วนที่รั้วริมถนนนั้นมีศาลาที่มองเห็นรถแล่นผ่านไปมาได้ชัดเจนเหมาะสำหรับนักเรียนที่รอผู้ปกครองมารับกลับบ้านหลังเลิกเรียน

สมแล้วที่ออกแบบด้วยแนวคิด “สวนข้างบ้าน” ของคนสามรุ่น

วันนี้ฉันมาเยือนสวน เพราะป้ายกิจกรรม “มา สวน กัน” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๑-๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕  บรรยากาศคึกคักจนไม่น่าเชื่อว่าเมื่อ ๒ ปีก่อนผืนดินที่เราเหยียบอยู่นี้ยังเป็นลานดินทิ้งร้าง ถูกปิดไว้ไม่ให้ใครใช้เลยหลังจากผ่านกระบวนการมากมายตอนนี้ที่ดินเล็ก ๆ ผืนนี้มีชีวิตชีวามากเหลือเกิน
เมื่อมีพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน เด็ก ๆ ก็พร้อมจะออกมาเล่นสนุก และยิ้มร่าแม้สิ้นแสงตะวัน
สวนที่ร่วมกันสร้าง
“เมื่อก่อน เวลาเราคิดถึงพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ เราก็จะนึกถึงสวนจตุจักร สวนลุมพินี พออยากจะไปวิ่ง ไปออกกำลังกาย ก็ต้องนั่งรถไป เลยกลายเป็นปัญหาอันคุ้นเคยว่าทำไมคนเมืองไม่ค่อยไปสวนกัน เพราะมันไปยาก รถก็ติด เรารู้สึกสงสัยว่ารัฐให้ใครออกแบบสวนพวกนี้ ไม่ตรงใจเราที่เป็นคนใช้เลย” ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกและผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม we!park เริ่มเล่า

we!park คือแพลตฟอร์มเชื่อมโยงผู้คนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมต่าง ๆ ให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวในเมืองมากขึ้น ได้ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมดูแล ซึ่ง we!park ก็ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือของหลายฝ่าย เช่น กลุ่ม “มอ แอนด์ ฟาร์มเมอร์” (mor and farmer) ซึ่งทำวิจัยข้อมูลเชิงพื้นที่ กลุ่ม “สนใจ” (sonjai house) ซึ่งทำกิจกรรมการมีส่วนร่วมกับชุมชน รวมถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งเข้ามาร่วมทำวิจัยการดำเนินงาน โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้สนับสนุน

“เราใช้ชื่อ we!park เพราะคิดว่าสวนที่ทำโดยคนคนเดียว ฝ่ายเดียว มันไม่ยั่งยืน เพราะคนอื่น ๆ ไม่ได้รู้สึกเป็นเจ้าของด้วย แต่ถ้าพวกเราทุกคนร่วมกันทำความรู้สึกเป็นเจ้าของจะทำให้เราสบายใจที่จะไปใช้พื้นที่ และอยากจะช่วยดูแลรักษา ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่มีความรู้สึกแบบนี้กับสวนไหนในกรุงเทพฯ เลย เรามองมันเป็นแค่พื้นที่สีเขียวที่จะไปใช้”

การหาที่ดินขนาดใหญ่เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ในยุคนี้ยากมาก ที่ดินผืนใหญ่ ๆ นั้นมีเจ้าของเกือบหมดแล้ว แต่ในเมืองกรุงเทพฯ ที่มีสิ่งก่อสร้างและผู้คนแน่นขนัดกลับมีที่ดินเศษเหลืออยู่เต็มไปหมด เช่น พื้นที่ทิ้งร้างเล็ก ๆ ในซอย พื้นที่ใต้ทางด่วน หรือแม้แต่พื้นที่ตาบอดในซอกซอยต่าง ๆ ที่เข้าถึงได้ยาก  กลุ่ม we!park มองว่าพื้นที่เหล่านี้มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นสวนขนาดเล็กใกล้บ้าน เป็นสวนที่กระจายตัวอยู่ในชุมชนต่าง ๆ ทั่วเมือง

สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ คือหนึ่งในโครงการนำร่องแห่งแรก ๆ ที่กลุ่ม we!park ทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการพัฒนาที่ดินทิ้งร้างให้กลายเป็นสวนสาธารณะ  มีการทดลองทำกระบวนการมีส่วนร่วมหลากหลายรูปแบบ ทั้งการรับฟังความคิดเห็นของผู้สูงอายุในชุมชน ความต้องการของ เด็ก ๆ ในโรงเรียนใกล้เคียง และยังชวนนักศึกษา นักออกแบบรุ่นใหม่มาร่วมทำกระบวนการและพัฒนาสวนร่วมกัน

“พื้นที่สีเขียวเป็นได้มากกว่าสวนออกกำลังกาย พอเราได้คุยกันก็เห็นถึงความต้องการและความเป็นไปได้ต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ชุมชนบางแห่งอาจอยากได้พื้นที่ปลูกผัก ส่วนอีกชุมชนอาจอยากมีพื้นที่เปิดตลาดนัด  ที่ผ่านมาเราถูกตีกรอบความคิดว่าสวนต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น เรามอบสิทธิ์ อำนาจจินตนาการให้รัฐเป็นคนออกแบบ และต้องรอว่าจะเกิดสวนได้เมื่อไรไปเรื่อย ๆ

“เราอยากปลดล็อกความคิด ความเชื่อ และพลังของผู้คน”
"ทำสวนเป็นก้าวแรกในการพัฒนาคน พัฒนาชุมชน และสิ่งที่ดีที่สุดที่เราคาดหวังว่าจะได้เห็น คือการเกิดคณะกรรมการชุมชนที่จะดูแลพื้นที่สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์"
Image
“มา สวน กัน” กิจกรรมที่เชื้อเชิญให้คนเปิดใจ ได้ลองเข้ามาเยี่ยมเยือนสวนในซอย
การดูแลที่ต้องส่งต่อ
แม้สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์จะสร้างเสร็จแล้ว แต่ถ้าสวนไม่ได้ถูกใช้ก็อาจกลับไปเป็นพื้นที่ร้างอีก การบริหาร ดูแลและจัดการพื้นที่ร่วมกับชุมชนเพื่อให้คนมาสวนจึงเป็นที่มาของกิจกรรม “มา สวน กัน”

“คนภายในชุมชนมาใช้พื้นที่นะ แต่คนภายนอกที่อยู่รอบ ๆ
เรียกได้ว่าน้อยคนที่จะรู้จัก เราชวนน้อง ๆ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญมาคิดโจทย์นี้ด้วยกันว่าทำไมคนไม่มาสวน ป้ายบอกทางไม่ดีหรือเปล่า ซอยเปลี่ยวไหม หรือเขาอยากทำกิจกรรมที่สนุกกว่านี้ไหม ช่วยกันตั้งสมมุติฐานว่าถ้าอยากให้คนมาสวนมากขึ้น เราควรจะทำเรื่องอะไรเพิ่มเติม”

ผลลัพธ์ที่เห็นวันนี้คือป้ายบอกทางในซอยใหม่ ไฟประดับในสวน มุมถ่ายรูปและเกมที่ให้คนมาเยี่ยมชมสวนเข้าร่วม ตลอดจนกิจกรรมดนตรีในสวนโดยวงดนตรีจากเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ร่วมสถานศึกษา

กลุ่ม we!park มองว่ากิจกรรมพิเศษต่าง ๆ เหล่านี้คือ “ข้ออ้าง” ที่ทำให้คนได้มาเจอกัน พอมีกิจกรรมที่เริ่มถูกจริตคนในละแวกนี้ก็เข้ามาใช้พื้นที่กันมากขึ้น เช่น ผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม  นิสิตจุฬาฯ ที่อยู่แค่ตรงข้ามถนน กลายเป็นโอกาสทำความรู้จักกับผู้คนใหม่ ๆ และคนในย่านที่มีใจอยากจะช่วยดูแลและจัดการสวนไปพร้อม ๆ กัน

“เรื่องที่ท้าทายที่สุดคือการบริหารจัดการพื้นที่ พอสวนสร้างเสร็จ เราก็อยากให้คนที่ร่วมกันออกแบบ ร่วมกันสร้างมาตั้งแต่แรกได้เข้ามาดูแล  แต่สวนอื่น ๆ รัฐเป็นคนจัดการงานส่วนนี้มาตลอด สำหรับเราทุกคนเลยเป็นเรื่องใหม่ แรก ๆ ก็ต้องเรียนรู้ไปด้วยกันว่าสวนใช้ทำอะไรได้บ้าง บริหารจัดการอย่างไร ต่อไปจะจัดกิจกรรมแบบไหน ต้องให้ชุมชนมาจัดกิจกรรมจริง ดูแลสวนจริง ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป” กลุ่ม we!park เข้าใจดีว่ากระบวนการนี้ต้องใช้เวลา ไม่มีสูตรสำเร็จ ยังตอบไม่ได้ว่าคนในชุมชนจะหาความเข้ากันได้ในแบบของชุมชนเองเจอเมื่อไร  สิ่งที่กลุ่ม we!park พอจะสนับสนุนจึงเป็นการนำข้อมูลจากการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งไปพัฒนาโครงการต่อไป และหาความร่วมมือจากกลุ่มอื่น ๆ เข้ามาช่วย

“อย่างกิจกรรมครั้งนี้ที่จัดถึงตอนค่ำ เรารู้แล้วว่าในซอยค่อนข้างมืด ต่อไปเราก็จะชวนคนในชุมชนนี้มาปรับปรุงซอย ชวนคนในชุมชนนี้ไปคุยกับทางเขตต่อ มันไม่ใช่แค่ทำสวนแล้ว เรามองว่าการทำสวนเป็นก้าวแรกในการพัฒนาคน พัฒนาชุมชน และสิ่งที่ดีที่สุดที่เราคาดหวังว่าจะได้เห็น คือการเกิดคณะกรรมการชุมชนที่จะดูแลพื้นที่สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้ดำเนินต่อไปเองโดยไม่มีกลุ่ม we!park คอยช่วยแล้ว” ยศพลมองถึงอนาคต
"ในฐานะคนตลาดน้อย เราอยากมีละแวกบ้านที่น่ารัก เป็นมิตร น่าอยู่ มีสภาพแวดล้อมที่ดี ย่านจะมีชีวิตชีวาและน่ารัก มันจะช่วยหล่อหลอมพฤติกรรมคนไปในทางที่ดีเยอะมากเลย"
Image
โจ-จุฤทธิ์ กังวานภูมิ
สมาชิกกลุ่มปั้นเมืองผู้เติบโตในย่านตลาดน้อย

ภาพใหม่ของ
ชุมชนเมืองเก่า

เวลาบ่าย ๒ โมง แดดร้อนระอุสาดส่อง ฉันและคนอีกหลายชีวิตกำลังเดินเท้าอยู่ในย่านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งมีชื่อเสียงในฐานะย่านท่องเที่ยว  และเป็นหนึ่งในพื้นที่หลักของงานนิทรรศการออกแบบกรุงเทพฯ ประจำปี ๒๕๖๕ (Bangkok Design Week 2022)

ตลาดน้อยเป็นย่านชุมชนชาวจีนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานของกรุงเทพมหานคร  มีประเพณีหลายอย่างที่ควรค่าแก่การได้มาชมสักครั้ง เช่น ประเพณีหง่วนเซียวที่ศาลเจ้า
โจวซือกง เทศกาลบ๊ะจ่าง และเทศกาลกินเจที่จัดกันมาต่อเนื่องกว่า ๑๐๐ ปี และยังมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่หลายแห่งอยู่ทั่วย่าน เช่น บ้านโบราณโซวเฮงไถ่ โบสถ์กาลหว่าร์ อาคารไปรษณีย์แห่งแรกของประเทศไทย รวมถึงห้างร้านเซียงกง ธุรกิจอะไหล่รถยนต์เก่าแก่

ฉันเดินปาดเหงื่อแล้วเลี้ยวเข้าซอยข้างศาลเจ้าโจวซือกง เพื่อมาห้องแถวที่ติดป้าย “ปั้นเมือง”

“สำหรับเรา ที่นี่เป็นย่านที่อยู่อาศัย ไม่ใช่ย่านท่องเที่ยว” โจ-จุฤทธิ์ กังวานภูมิ สมาชิกกลุ่มปั้นเมืองบอกกลุ่มปั้นเมือง คือกลุ่มสถาปนิกชุมชนที่ทำงานพัฒนาโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่ตลาดน้อยมาประมาณ ๙ ปีแล้ว ก่อนหน้านั้นพวกเขาทำงานในนามสถาบันอาศรมศิลป์ และออกมาตั้งกลุ่ม “ปั้นเมือง” เพื่อปักหลักทำงานในย่านตลาดน้อยนี้โดยเฉพาะ

“กลุ่มเราทุกคนสนใจเรื่องการฟื้นฟูเมืองชั้นใน การพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน แต่ละคนมีพื้นเพมาจากหลายที่กัน ส่วนตัวผมเองเป็นคนที่ตลาดน้อยนี้เลย”

จุฤทธิ์เล่าถึงสถานการณ์เมื่อ ๑๐ ปีก่อนที่เลือกตลาดน้อยเป็นพื้นที่ทำงานว่าเป็นช่วงเศรษฐกิจซบเซา ประชากรในเขตเริ่มน้อยลง มีคนเข้ามาแทนที่ ภาครัฐกำลังขยายสถานีรถไฟฟ้าจากหัวลำโพง ผ่านเยาวราช ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อวนรอบเมืองเป็นวงกลม ภาคเอกชนก็มีการเปลี่ยนที่ดิน
ริมแม่น้ำเจ้าพระยาหลายแห่งเป็นคอนโดฯ ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำก็เตรียมการสร้างห้างสรรพสินค้าใหญ่ชื่อไอคอนสยาม  เรียกได้ว่าย่านชุมชนคนจีนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดกำลังจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย

“ถ้าไม่คิดหรือวางแผนทำอะไรเลย ย่านที่มีเอกลักษณ์ทางด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมก็อาจถูกทำให้เปลี่ยนกลายเป็นอื่น ผ่านปัจจัยรอบ ๆ เช่น การพัฒนา การลงทุน  คนจะให้ความสำคัญกับมูลค่ามากกว่าคุณค่า ซึ่งเราเชื่อว่าสามารถหาจุดที่สมดุลกันได้ แต่ไม่มีสูตรสำเร็จ ขึ้นกับความพึงพอใจของแต่ละฝ่าย ในมุมหนึ่งคุณค่าก็เปลี่ยนกลับมาเป็นมูลค่าได้เหมือนกัน หรือก็เป็นไปได้ที่จะใช้ทุนทางเศรษฐกิจมาสนับสนุนเรื่องวัฒนธรรมชุมชน”

แล้วการทำงานภาคสนามในพื้นที่ย่านตลาดน้อยของกลุ่มปั้นเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างย่านตลาดน้อยอย่างที่เป็นในวันนี้ก็เริ่มขึ้น
Image
ฟื้นฟูความทรงจำที่ท่าน้ำ
“สิ่งที่หายไปจากชีวิตคนแถวนี้ คือเรื่องพื้นที่สาธารณะและการเข้าถึงแม่น้ำ เขตสัมพันธวงศ์ติดแม่น้ำทั้งเขตตลอดแนวยาว ๒ กิโลเมตร แต่เรานับพื้นที่ที่เราเข้าถึงแม่น้ำได้เลย เช่น ท่าเรือ ท่าน้ำ ศาลเจ้า เขื่อน มันมีน้อยมาก”

สมัยจุฤทธิ์ยังเด็ก ตามท่าน้ำจะมีคนใช้งานอยู่เสมอ ตักน้ำ ซักผ้า นั่งเล่นคุยกัน ท่าน้ำเป็นเหมือนพื้นที่ทางสังคม เพราะย่านตลาดน้อยแน่นขนัดด้วยห้องแถวที่มีคนอยู่อาศัย โดยเฉพาะคนจีนที่มักอยู่เป็นครอบครัวใหญ่  ชาวชุมชนจึงต้องออกมาทำกิจกรรมหลายอย่างนอกบ้าน แต่ต่อมาพื้นที่ริมน้ำก็ถูกปิดและแปลงเป็นพื้นที่ใช้สอยอย่างอื่น

ทุกวันนี้ถ้าเราอยากเข้าถึงแม่น้ำ จะต้องจ่ายเงินไปนั่งในร้านอาหาร คาเฟ่ หรือโรงแรมต่าง ๆ  หรืออาจต้องไปนั่งตามศาลเจ้า โป๊ะเรือ ซึ่งไม่ได้พร้อมรองรับกิจกรรมของคนสมัยนี้มากนัก

จุฤทธิ์เล่าว่าสมัยนั้นคนในชุมชนไม่ได้คิดว่าตัวเองถูกลิดรอนสิทธิ์ เหมือนแนวคิดสมัยใหม่ที่ว่าพลเมืองควรมีสิทธิ์เข้าถึงพื้นที่สาธารณะ แต่เป็นเรื่องของคุณค่าร่วมกันมากกว่า ว่าจะแลกพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่อีกแบบที่มีคุณค่ากับคนในชุมชนไม่แพ้กัน เช่น ถ้าศาลเจ้าอยากปิดท่าน้ำเพื่อทำโรงงิ้วหรือเตาเผาใหม่ คนในชุมชนก็ยอมรับได้  แต่คำถามคือแต่ละปีใช้โรงงิ้วแค่ไม่กี่วัน ระหว่างนั้นใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นด้วยได้ไหม จะออกแบบอย่างไรให้การใช้พื้นที่มีความยืดหยุ่นขึ้น

“บางกรณีก็เป็นเรื่องของความเป็นส่วนตัว ในยุคหนึ่งเจ้าของบ้านเปิดพื้นที่ริมน้ำให้คนอื่นได้ใช้ด้วย แต่พอมีคนนอกเข้ามาในย่านมากขึ้น เขาอาจรู้สึกปลอดภัยน้อยลงและไม่อยากเปิดให้ใครก็ได้เดินเข้ามาแล้ว เราก็ต้องเข้าใจเขาด้วย พื้นที่ริมน้ำอีกหลายแห่งมีรัฐ มีเขต มีหน่วยงานต่าง ๆ ดูแล ซึ่งเขาก็มีเหตุผลของเขาเหมือนกัน เช่น การสร้างเขื่อนกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม หรือการปรับพื้นที่ริมตลิ่งต่าง ๆ คนก็เลยถูกผลักออกจากแม่น้ำทั้งทางตรงและทางอ้อม”

กลุ่มปั้นเมืองมองว่า “พื้นที่สาธารณะ” ที่ชุมชนตลาดน้อยต้องการนั้น ไม่ใช่พื้นที่สำหรับการออกกำลังกายหนัก ๆ หรือสนามกีฬา แต่เป็นบริเวณที่คนมานั่งเล่นได้ รับลม ยืดเส้นสาย เป็นพื้นที่ทางสังคมไว้ใช้ร่วมกัน เพราะย่านนี้ส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ

หลังจากการดำเนินงานโดยกลุ่มปั้นเมืองมีส่วนร่วมผลักดันโครงการต่าง ๆ มาหลายปี ปัจจุบันย่านตลาดน้อยมีพื้นที่สาธารณะใหม่เกิดขึ้นหลายแห่ง เช่น “สวนชุมชนโปลิศสภา” สวนสาธารณะแห่งแรกในย่านตลาดน้อย  “สวนชุมชนโชฎึก” ซึ่งปรับพื้นที่ริมคลองผดุงกรุงเกษมให้เป็นสถานที่ออกกำลังกายยืดเหยียด และมีกระดานลื่นสำหรับเด็ก รวมถึง “ท่าน้ำภาณุรังษี” ซึ่งกรมธนารักษ์ขอแบ่งพื้นที่กลับมาจากผู้เช่าเดิมครึ่งหนึ่งเพื่อพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนตลาดน้อยและพื้นที่สาธารณะของชุมชน

“เราพยายามผลักดันพื้นที่ท่าน้ำภาณุรังษีให้เป็นคล้าย ๆ ที่ทำการชุมชน มีส่วนพิพิธภัณฑ์ชุมชนไว้บันทึกและเล่าเรื่องของตลาดน้อย มีลานโล่งริมน้ำที่คนมารวมตัว นั่งเล่น เป็นพื้นที่กิจกรรมของชุมชนหรือรองรับกิจกรรมของคนนอกที่จะ
เข้ามาจัดในชุมชนได้ ทุกวันนี้ก็มีหลายกิจกรรมที่ใช้พื้นที่ท่าน้ำภาณุรังษี เช่น งานนิทรรศการออกแบบกรุงเทพฯ ครั้งล่าสุด (Bangkok Design Week 2022) กิจกรรมตลาดตะลักเกี้ยะที่เปิดตลาดนัดขายของวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายย่านตลาดน้อย การจัดกระบวนการพูดคุยกับชุมชนของกลุ่มปั้นเมืองเองก็จัดขึ้นที่ท่าน้ำ”
Image
เพื่อละแวกบ้านที่ดี
และน่าอยู่

“ย่านตลาดน้อยเป็นทั้งย่านอยู่อาศัยและย่านการค้าเศรษฐกิจกับวิถีชีวิตเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก เป็นวิถีการค้าของชุมชน เมื่อก่อนนี้ย่านนี้คึกคักมาก แล้ววันหนึ่งมันก็เสื่อมลง คนย้ายไปที่อื่นแทน เพราะขาดแคลนพื้นที่ที่จะขยายครอบครัว”

จุฤทธิ์เล่าถึงสถิติที่น่าสนใจว่า ในอดีตเขตสัมพันธวงศ์มีประชากรในทะเบียนบ้านค่อนข้างคงตัว อยู่ที่ประมาณ ๔ หมื่นคน ไม่รวมประชากรแฝง แต่เมื่อปี ๒๕๕๑ ประชากรลดลงเหลือประมาณ ๓.๘ หมื่นคน และลดลงอย่างต่อเนื่อง จนในปี ๒๕๖๑ เหลือแค่ประมาณ ๒.๓ หมื่นคน แม้เราจะเห็นว่าย่านไชน่าทาวน์มีคนอยู่ทั่วไป ในช่วงเทศกาลพิเศษคนเดินในย่านคับคั่ง แต่ว่าจริง ๆ แล้วในรอบ ๑๐ ปีมานี้ ประชากรผู้อยู่อาศัยในย่านนี้จำนวนนับหมื่นได้ย้ายออกไป โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ย่านนี้จึงเหลือแต่ผู้สูงอายุ

“ปรากฏการณ์นี้สำคัญกับย่านมาก มีคุณค่าหลายอย่างที่สืบสานกันจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งสำนึกความเป็นย่าน ความทรงจำร่วมกับพื้นที่ ภูมิปัญญาต่าง ๆ พอคนรุ่นลูกหลานย้ายออกไป สำนึกของความเป็นท้องถิ่นจะเริ่มขาดช่วง ขาดการสืบสานและเริ่มสูญเสียความเป็นละแวกบ้านที่ดีและน่าอยู่”

ในทางกายภาพ เมื่อมีคนย้ายออก พื้นที่ห้องนั้น ตึกนั้นก็จะถูกทิ้งร้าง ถูกปิดไว้เฉย ๆ  จุฤทธิ์เปรียบว่าอาคารชุดและตึกแถวจะกลายเป็นเหมือนกำแพงตัน ๆ ที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใคร บริเวณนั้นจะเปลี่ยวขึ้น อันตรายขึ้น  ถ้าปิดตึกไว้นานแล้วไม่มีคนดูแล ก็สุ่มเสี่ยงกับการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรหรืออุบัติเหตุไฟไหม้  แต่หากมีคนนอกมาเช่าตึกก็ต้องลุ้นกันว่าจะกลายเป็นอะไรต่อ จะเข้ากับเพื่อนบ้านเดิมซึ่งส่วนมากเป็นผู้สูงอายุได้ไหม หรือจะทำให้ภาพรวมของย่านขยับไปในทิศทางใด

เป้าหมายของกลุ่มปั้นเมืองจึงเป็นการทำย่านนี้ให้เป็นละแวกบ้านที่ดี น่าอยู่ มีคุณภาพชีวิตดีพอที่ลูกหลานยังจะเลือกอยู่ในพื้นที่ ควบคู่ไปกับงานด้านวัฒนธรรมและพื้นที่สาธารณะ ถ้าบ้านเรือนไม่ถูกปิดทิ้งร้าง มีกิจกรรมให้ทั้งคนในและคนนอก ย่านนี้ก็จะคึกคักขึ้นด้วย

“เครื่องมือที่สำคัญคือการนั่งพูดคุยกัน เราใช้วงประชุมกำหนดโจทย์ คลี่คลาย แก้ปัญหา สรุปผล เรียนรู้ร่วมกัน โชคดีที่เรามีออฟฟิศอยู่ในย่านด้วย บางทีคนในชุมชนก็จะมานั่งเล่น เล่าเรื่องต่าง ๆ ให้เราฟัง เราก็ค่อย ๆ เก็บมาทำไปทีละประเด็น รวมกลุ่มย่อยทำโครงการต่าง ๆ ชวนเขามานั่งประเมินเรื่อย ๆ ว่าแบบนี้มันใช่หรือใกล้เคียงกับที่คิดไว้ไหม ถ้าไม่ใช่ก็ต้องมานั่งสะท้อนกันว่าต้องปรับแก้กันตรงไหน แล้วก็ออกแบบเครื่องมือใหม่ ๆ ให้เขาได้เรียนรู้และร่วมลงมือทำกับเรา  หลังจากเราทำงานต่อเนื่องมาประมาณ ๙ ปี ทุกวันนี้เราก็เริ่มเห็นว่าคนกลับมาบ้าน กลับมาตลาดน้อยกันมากขึ้น

“ในฐานะคนตลาดน้อย เราอยากเห็นตลาดน้อยเป็นชุมชนที่คนสบายใจจะอยู่ที่นี่ต่อ  เราเลือกทำงานที่นี่ก็เพราะเราไม่อยากจะย้ายไปไหน เราอยากมีละแวกบ้านที่น่ารัก เป็นมิตร น่าอยู่ มีสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งทางกายภาพและสังคม รู้จักสนิทสนมกัน รู้สึกปลอดภัย  ย่านจะมีชีวิตชีวาและน่ารัก มันจะช่วยหล่อหลอมพฤติกรรมคนไปในทางที่ดีเยอะมากเลย”
Image
ไม่อยากอยู่ในเมือง
ที่โดดเดี่ยว

ในวัยเด็ก ระหว่างจุฤทธิ์เดินจากโรงเรียนกลับบ้าน ต้องเจอและทักทายกับคนในชุมชนทุกวัน  แม้จะไม่ได้สนิทหรือคุยกับทุกคน แต่ก็เป็นคนคุ้นหน้า ยิ้มให้กันเสมอ เขารู้สึกว่าเป็นสภาพแวดล้อมที่ชีวิตช้า ๆ และมองเห็นสิ่งรอบตัว ทำให้เขาไม่ได้ห่างเหินกับพื้นที่อยู่อาศัย

หากต้องอยู่ในเมืองที่ทำให้คนอยู่แยกกัน คุยกันน้อย เข้าใจกันน้อย เป็นวิถีชีวิตที่ไม่มีโอกาสสร้างปฏิสัมพันธ์กับใคร เขารู้สึกว่ามันคงจะเป็นเมืองที่โดดเดี่ยวพอสมควร

“แต่ในความจริง ต่างคนต่างความคิด มีภาพในใจคนละแบบ เราถึงต้องเรียนรู้ร่วมกันให้มากขึ้น ทั้งคนในชุมชนด้วยกันเอง แล้วก็กับหน่วยงานต่าง ๆ ภาครัฐด้วย”

เมื่อเปิดใช้งานพื้นที่สาธารณะบางแห่ง ก็มีกรณีพื้นที่ทางเท้าหรือถนนมีคนเอาของไปวางยึดพื้นที่เป็นของส่วนตัว กลุ่มปั้นเมืองก็ต้องพยายามเข้าไปคุย ขอพื้นที่กลับมาเป็นที่ส่วนรวม ซึ่งชุมชนก็มีการรับฟังและปรับตัวทำให้ซอยในย่านสะอาดเรียบร้อย สัญจรได้ปลอดภัยมากขึ้นสำหรับทั้งคนในชุมชนเองและผู้มาเยือน

อีกตัวอย่างคือสวนชุมชนโชฎึก ในอดีตเป็นพื้นที่ค่อนข้างอโคจร ซึ่งเมื่อทางกรุงเทพมหานครมีนโยบายจัดการพื้นที่ริมคลองผดุงกรุงเกษมใหม่ แต่ยังไม่เปิดพื้นที่ให้คนเข้าใช้ จึงกลายเป็นที่เก็บของกองของชั่วคราว เพื่อป้องกันคนมาบุกรุก

“เราคิดว่าไม่ถูกต้องที่จะปล่อยที่ตรงนั้นไว้ไม่ให้ใช้ แค่เพราะอยู่ระหว่างรอดำเนินการ เราก็ชวนคิดว่ามาจัดกิจกรรมด้วยกัน เป็นเจ้าของร่วมกัน โดยไม่ได้ยึดครองพื้นที่ เราจึงออกแบบเป็นสวนชั่วคราวภายใต้เงื่อนไขหลายข้อ เช่น รื้อได้ กะว่าให้คนได้เข้าไปใช้ก่อน ถ้าวันหนึ่งมีการเปลี่ยนพื้นที่เป็นอื่นก็ค่อยว่ากัน ซึ่งพอทำเสร็จ คนในชุมชนก็ชอบ เขตก็ชอบเป็นการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันว่าเรามีคำตอบที่ดีกว่าเดิมได้

“เราอยากให้กรุงเทพมหานครมีโครงการที่ทุกฝ่ายได้เรียนรู้ร่วมกัน ได้รับฟังจนเข้าใจและเห็นภาพเดียวกันมากขึ้น ถ้าเกิดขึ้นจริง เราก็น่าจะเดินทางง่ายขึ้น ออกมาใช้พื้นที่นอกบ้านได้มากขึ้น และมีโอกาสเรียนรู้สิ่งรอบตัวมากกว่าเดิม ทั้งความหลากหลายของคน ทั้งความเป็นไปได้ของพื้นที่ เป็นเมืองที่ไม่ทำให้เราโดดเดี่ยวจนเกินไป”

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีแผนปรับปรุงพื้นที่ริมคลองผดุงกรุงเกษมใหม่ และเริ่มต้นก่อสร้างบริเวณข้างสถานีรถไฟ หัวลำโพงไปแล้ว ในไม่ช้าพื้นที่สวนชุมชนโชฎึกก็อาจโดนรื้อเพื่อปรับปรุงใหม่เช่นกัน ซึ่งผลจากสิ่งที่ทีมปั้นเมืองทำไว้ ทั้งการทดลองสร้างพื้นที่สาธารณะและเสียงของคนในพื้นที่ที่ได้ใช้งานสวน ก็จะได้รับการส่งต่อไปยังโครงการถัด ๆ ไป เพื่อสร้างพื้นที่ริมคลองให้ตอบรับความต้องการของคนในย่านมากขึ้นด้วย
กรุงเทพฯ ในอีก
๑๐ ปีข้างหน้า

“ตอนเริ่มโครงการ we!park ใหม่ ๆ เราคุยกับทางกรุงเทพมหานครว่าถ้าจะขับเคลื่อนเรื่องพื้นที่สาธารณะสีเขียวด้วยกัน เราควรจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน เราก็ไปค้นคว้าว่าระดับนานาชาติมีตัวชี้วัดการพัฒนาพื้นที่สีเขียวอะไรบ้าง  หลัก ๆ คือ ปริมาณพื้นที่สีเขียวต่อประชากร ปริมาณพื้นที่ร่มไม้ เป็นการวัดจากภาพถ่ายทางอากาศว่าเรามีต้นไม้ใหญ่มากน้อยแค่ไหน สร้างร่มเงาให้กับเมืองได้แค่ไหน และตัวชี้วัดใหม่ คือเรื่องการเข้าถึง ซึ่งประเทศไทยใช้ตัวเลขระยะทาง ๔๐๐ เมตร” ยศพล ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม we!park อธิบาย

ตัวชี้วัดใหม่มองว่า เมืองมีพื้นที่สีเขียวเยอะ แต่อาจไม่ได้หมายความว่าคนเข้าถึงพื้นที่นั้นได้จริง ๆ จึงต้องวัดการกระจายตัวของพื้นที่สีเขียวในเมืองด้วย โดยนับจำนวนประชากรในเมืองที่สามารถเดินไปถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวภายในระยะเวลา ๕ นาที เมื่อนำมาปรับใช้สำหรับประเทศไทยก็ได้ใช้ตัวเลขระยะทาง ๔๐๐ เมตร ซึ่งมาจากการศึกษาระยะทางสูงสุดเฉลี่ยที่คนไทยเดินเท้าได้ และนำมาเป็นเป้าหมายร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาชีพ เพื่อบรรลุตัวเลขตามเกณฑ์สากลในทั้งสามดัชนีชี้วัดภายในระยะเวลา ๑๐ ปี และตั้งชื่อเป้าหมายร่วมว่า “Green Bangkok 2030”

“ทั่วโลกหันมาลงทุนกับสวนขนาดเล็กแทนสวนขนาดใหญ่ ให้พื้นที่สีเขียวเกิดการกระจายตัว คนเข้าถึงมากขึ้น เท่าเทียมมากขึ้น ผลกระทบทั้งในเชิงระบบนิเวศเมืองและในเชิงสังคมก็ต่างกันมาก แต่เรื่องนี้ในไทยเราเพิ่งเริ่มได้ไม่นาน ถ้าถามว่า
เราเข้าใกล้เป้า Green Bangkok 2030 แค่ไหน  ดูแค่เกณฑ์
การเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียว หมายความว่าเราต้องทำแบบสวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ให้ได้ ๔๐ สวนต่อปี” ยศพล
ยิ้มแห้ง ๆ กับตัวเลขที่ดูจะเป็นไปไม่ได้

เขาเห็นว่าตราบใดที่รัฐยังไม่มีความชัดเจนหรือจริงจังในระดับวาระแห่งชาติ เรื่องนี้ก็จะเป็นโครงการในระดับ “ตกแต่งเมืองให้เขียว” ต่อไป  เมืองที่ดีควรมีกลไกที่จะจูงใจให้คนอยากลงทุนกับพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวมากกว่านี้ มีความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน มีทุนสนับสนุนมากขึ้น เพื่อให้โครงการต่าง ๆ ทำโดยประชาชนคนทั่วไปได้มากขึ้น

“ไม่ใช่พูดว่า เพื่อพื้นที่สีเขียวดี ๆ เรามาช่วยกันเถอะ ไม่ใช่แบบนั้น เราอยากเห็นวันที่เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เห็นธุรกิจการทำพื้นที่สีเขียวงอกงามขึ้น วันที่คนเข้าใจว่าเรื่องพื้นที่สีเขียวเป็นการลงทุนที่จะคืนทุนให้กับทุกคน  คงจะดีมากถ้ามีคนมาแข่งกันลงทุนทำพื้นที่สาธารณะ เมืองก็จะมีสวนดี ๆ มากขึ้น  เอกชนก็อยากลงทุนนะ เพราะทำแล้วย่านเจริญขึ้น แต่นโยบายรัฐยังไม่เอื้อ”
กิจกรรมล้อมวงพูดคุยประจำเดือนของกลุ่มปั้นเมืองกับคนในชุมชนตลาดน้อย ณ ท่าน้ำภาณุรังษี
ภาพ : อิทธิกร ศรีกุลวงศ์

ยศพลชวนคิดว่ากรุงเทพมหานครยังมีพื้นที่สีเขียวที่ไม่ถูกใช้งานอีกมาก เช่น สวนในสถานที่ราชการ โรงเรียน สำนักงานหรือในพื้นที่วัดต่าง ๆ  อย่างฝั่งธนบุรีมีพื้นที่ตาบอดหลายแห่งที่ไม่สามารถเข้าถึงโดยรถยนต์ แต่เข้าถึงได้โดยเรือ และยังมีต้นไม้ใหญ่  พื้นที่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศเมือง แต่ไม่ได้ใช้งานในฐานะพื้นที่สาธารณะ จะรักษาพื้นที่เหล่านี้ไว้หรือเปิดพื้นที่ให้คนใช้ได้อย่างไร

“กฎหมายภาษีที่ดินมีผลเยอะมาก สวนเก่าเหล่านี้ถ้ายังไม่มีนโยบายจูงใจที่เหมาะสม ในไม่ช้าจะถูกแปรสภาพไป มีหลายแห่งที่คนถมพื้นที่ธรรมชาติเดิมเพื่อทำสวนมะนาว รอขายระบบนิเวศเดิมก็หายไป”

สิ่งที่ we!park ทำคือการสะกิดชุมชนและคนเมืองว่ามีอีกหลายวิธีในการพัฒนา และเริ่มก่อร่างระบบนิเวศเมือง จากค่านิยมว่า ทุกคนลุกขึ้นมาทำเรื่องพื้นที่สาธารณะสีเขียวด้วยกันได้ 

“ถ้าเราไม่พร้อมรับความท้าทาย พลเมืองก็จะง่อยเปลี้ย หมดพลัง เพราะไม่ได้ถูกส่งเสริมให้เชื่อว่าตัวเองลุกขึ้นมาทำได้ แต่ถ้าทุกคนรู้สึกว่าตัวเองทำได้และลุกขึ้นมาทำ เราจะมีเมืองที่น่าอยู่ขึ้น ไม่ได้น่าอยู่ขึ้นเพราะเมืองมันเขียวนะ แต่น่าอยู่เพราะเรามีบทสนทนาต่อกัน  รัฐคุยกับเอกชน คุยกับชุมชนได้ นั่นคือการเป็นเมือง เมืองที่ทุกคนได้ร่วมทำอะไรบางอย่างด้วยกัน”

ท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนสี แสงเริ่มมืดลง ที่ท่าน้ำภาณุรังษียังคงคึกคักด้วยผู้คนที่มาชมพระอาทิตย์ตกดิน ส่วนที่สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์น่าจะกำลังรื่นรมย์กับการแสดงดนตรีในสวนและเตรียมชมสีสันของไฟประดับ

ฉันนั่งมองแสงสุดท้ายของวันสะท้อนบนผิวแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับจินตนาการว่าพื้นที่สวนแห่งต่อไปที่จะเกิดขึ้นในเมืองนี้จะเป็นอย่างไร พร้อมกับนึกไปถึงที่จุฤทธิ์บอกว่า “ผู้คนอาจไม่ได้ต้องการพื้นที่ออกกำลังกายก็ได้” เพื่อไม่ให้ติดอยู่กับภาพจำพื้นที่สาธารณะเดิม ๆ ที่เข้าใจมาเกือบทั้งชีวิตว่ามีอยู่แบบเดียว  และแม้เราจะยังห่างไกลจากเป้าหมายพื้นที่สีเขียวมากนัก แต่ปีนี้กรุงเทพฯ ครบรอบ ๒๔๐ ปีแล้ว ปั้นเมืองทำงานมาไม่ถึง ๑๐ ปี ส่วน we!park ประมาณ ๒ ปีเท่านั้นเอง ถ้าเทียบกัน นี่คงเรียกได้ว่าเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น

ทั้งยศพลและจุฤทธิ์พูดคล้าย ๆ กันว่าในช่วง ๕-๑๐ ปีนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริง เราไม่ได้หยุดอยู่กับที่ สิ่งที่รัฐทำความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โครงการเล็ก-ใหญ่ เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันให้เราเข้าใจกันมากขึ้น ว่าแต่ละคนมีมุมมองและจุดยืนต่างกันแค่ไหน เราจะหาจุดสมดุลให้สิ่งนี้อย่างไร ที่เราทำได้คือถอดบทเรียนที่ได้ระหว่างทาง แล้วทำครั้งต่อไปให้ดีขึ้น
วันนี้เราเห็นกลุ่มคนและเยาวชนที่ลุกขึ้นมาทำเรื่องเมืองเยอะขึ้น กรุงเทพฯ ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้าอาจไม่ได้เป็นไปตามที่ Green Bangkok 2030 หวังไว้ แต่แนวคิดและความเข้าใจที่เกิดจากการลงมือทำได้ถูกส่งต่อไปแล้ว