ลำพูต้นสุดท้ายของบางที่ค้นพบโดย สมปอง ดวงไสว อาจารย์สอนศิลปะ โรงเรียนวัดสังเวช ล้มไปเพราะน้ำท่วมในปี ๒๕๕๔ ปัจจุบันมีต้นลำพูที่ชาวชุมชนนำมาปลูกทดแทนในสวนสันติชัยปราการ
บางลำพู
ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าเคล้าอดีต
เยาวชนกับอนาคตผู้คน
SCOOP
เรื่อง : เลิศศักดิ์ ไชยแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ณ สวนสันติชัยปราการยามบ่ายอ่อนแดดโรย มีลมแม่น้ำเจ้าพระยาพรูผ่านมาไม่ขาดช่วง พัดเอาใบชราบนต้นลำพูปลิดคว้างไปกับสายลม ราวกับเป็นสัญญาณของสิ่งเก่าที่ต้องผ่านเลยร่วงตามกาลเวลา เพื่อให้สิ่งใหม่ได้เกิดขึ้นทดแทน ทั้งการผลิยอดออกใบ แตกดอกเผยเกสร แล้วออกผล ก่อนจะร่วงหล่นอีกครั้ง และอีกครั้ง คล้ายสัจจะของชีวิต นี่ก็คงไม่ต่างกับเรื่องเล่าของชุมชนแห่งนี้
คลองบางลำพูและป้อมพระสุเมรุในช่วงการบูรณะปี ๒๕๒๔
กาลครั้งหนึ่ง
ในความทรงจำ
ป้านิด-อรศรี ศิลปี หญิงชราร่างเล็กวัย ๘๙ ปี ประธานประชาคมบางลำพู เป็นคนในย่านนี้มาตั้งแต่กำเนิด อาศัยอยู่แถวถนนข้าวสารเรื่อยมา ธุรกิจทางบ้านก่อนหน้านี้เปิดร้านขายเสื้อเชิ้ตช่วงถนนพระสุเมรุ ชื่อร้านว่า “นพรัตน์” ก่อนจะย้ายบ้านมาอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงถนนพระอาทิตย์ เปลี่ยนธุรกิจเป็นร้านอาหารตรงตึกแถวหน้าป้อมพระสุเมรุในปัจจุบัน บนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
เธอเล่าว่าเมื่อ ๘๐ ปีก่อน บางลำพูเป็นสถานที่ครึกครื้น เต็มไปด้วยผู้คนมาจับจ่ายซื้อของ มีรถรางแล่นผ่าน มีโรงหนัง โรงละคร โรงลิเกของคณะหอมหวล และแถบริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็แน่นขนัดด้วยต้นลำพู นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อชุมชนริมน้ำ บางลำพู พอตกกลางคืนก็จะเห็นแสงระยิบระยับเปล่งจากเหล่าหิ่งห้อยตัวเล็กจิ๋ว
“สมัยก่อนแถวนี้เหมือนป่า มีต้นไม้เยอะเชียว แล้วก็มีต้นลำพูจนสุดทางแม่น้ำ พอมืดหน่อยหิ่งห้อยก็มากัน ป้าดูจนชิน ตอนนั้นรู้สึกว่ามันธรรมดา แต่ตอนนี้ไม่เห็นแล้ว ไม่มีแล้ว
“บางที บางอย่างเราก็นึกถึงว่า โอ้ วันเก่า ๆ มันมีอย่างนั้นอย่างนี้ พอกลับมานึกก็เสียดาย”
"ถ้าให้เปรียบชุมชนบางลำพู
ก็คงไม่ต่างกับต้นลำพูขนาดใหญ่
ซึ่งมีกิ่งก้านใบหนา คอยเป็น
ที่อาศัยหากิน หลบแดด ลม ฝน
ของเหล่าหิ่งห้อย"
ป้านิด-อรศรี ศิลปี
ประธานประชาคมบางลำพู
วัย ๘๙ ปี
ต่างกันกับต้า-ปานทิพย์ ลิกขะไชย ประธานชมรมเกสรลำพู เธอเล่าว่าตอนยังเด็กแถวริมแม่น้ำไม่มีหิ่งห้อยแล้ว ไม่มีโอกาสได้ดูสิ่งมีชีวิตตัวน้อยในบ้านเกิดตัวเอง แต่กระนั้นในสมัยเรียนประถมฯ ที่โรงเรียนอัมพรไพศาล ตรงถนนรามบุตรีก็ยังพอมีวัวมีควายให้เห็นอยู่บ้าง
“หลังเลิกเรียนยายจะข้ามถนนไปรับกลับบ้าน แถวนั้นมีวัวมีควายอยู่ที่วัดชนะสงคราม แล้วก็มีบ้านคนเต็มไปหมด แต่ตอนนี้ที่ถนนรามบุตรีเยื้องถนนข้าวสาร โรงเรียนต้องปิดตัวไป กลายเป็นโรงแรม แทนด้วยผับ บาร์ ร้านนวด ร้านอาหารเต็มไปหมด นี่แหละภาพความทรงจำ คือดูเป็นชนบท เป็นอดีต แต่มันจบเเล้ว”
ด้วยความที่ต้าทำงานกับชุมชนบางลำพูมามากกว่า ๒๐ ปี เธอจึงได้ฟังเรื่องเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในย่านนั้นเรื่อยมา เรื่องหนึ่งที่เคยได้ยินคือ เหตุที่เรียกชุมชนหนึ่งในย่านบางลำพูว่า
เขียนนิวาสน์-ตรอกไก่แจ้ เพียงเพราะมีโรงเรียนชื่อว่าเขียนนิวาสน์ และบ้านของพระยาคนหนึ่งมีกังหันไก่บนหลังคาที่หมุนตามลมพัด
ภาพในความทรงจำของต้ายังเป็นความเจริญของห้างนิวเวิลด์ ซึ่งถูกสั่งปิดในปี ๒๕๔๗
“ตอนมีห้างนิวเวิลด์เศรษฐกิจดีมาก เขาบอกว่ามีคนรอคิวต่อแถวตั้งเเต่ ๙ โมงเช้าก่อนห้างเปิด ๑๐ โมงเพื่อที่จะมาขึ้นลิฟต์แก้ว ปี ๒๕๒๖ มีลิฟต์แก้วไม่กี่ห้าง ส่วนเราก็จะชอบชั้น ๘ ไปอ่านหนังสือการ์ตูน โดราเอมอน เล่มละ ๒๕ บาท หรือไปเล่นบ้านบอล เเล้วก็จำได้ว่าต้องต่อคิวกับยายซื้อน้ำตาลทรายถุงละ ๘ บาท ช่วงนาทีทองที่นิวเวิลด์”
การต่อสู้ของเหล่าหิ่งห้อย
ทุกคนมีความทรงจำในบ้านเกิดแตกต่างกันออกไปตามแต่ช่วงกาลเวลาของชีวิต และถ้าให้เปรียบชุมชนบางลำพูก็คงไม่ต่างกับต้นลำพูขนาดใหญ่ ซึ่งมีกิ่งก้านใบหนา เป็นที่อาศัย หากิน หลบแดด ลม ฝน ของเหล่าหิ่งห้อยตัวน้อยเสมอมา
ในช่วงกว่า ๒๐ ปีก่อนหน้า ต้าเล่าว่าเดิมพื้นที่พิพิธบางลำพู
เป็นโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช โรงเรียนการพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งอยู่คู่กับชุมชนนี้มายาวนาน เป็นทรัพย์สินของกรมธนารักษ์ วันดีคืนดีก็มีจดหมายด่วนว่าจะมีการรื้อทุบสถานที่แห่งนี้เพื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะ
“ชุมชนก็บอกว่าอย่ารื้อ จะรื้อทำไมในเมื่อมีสวนสันติฯ อยู่แล้ว จะมาเอาที่นี่เป็นสวนสาธารณะอีกทำไม”
ป้อมพระสุเมรุ หนึ่งในแลนด์มาร์กของชุมชนบางลำพู
เมื่อถามป้านิดถึงการต่อสู้ครั้งเรียกร้องไม่ให้รื้อถอนอาคารโรงพิมพ์ เธอนิ่งเงียบ และใช้เวลาคิดไปครู่หนึ่งเพื่อกอบกู้ความทรงจำของอดีตในวันวัยที่หลงเลือนบางฉากตอนของชีวิต
“รื้อไปหลังหนึ่ง” เธอยิ้มแล้วมองหน้าต้าก่อนจะพูดต่อว่า “ไปนั่งคล้าย ๆ ตอนสมัยอยู่ธรรมศาสตร์ ถ้าเราจะทำอะไรต้องรวมตัวกันเพื่อไปเรียกร้อง เราเลยนึกว่า เออ ออกไปตรงนั้นก็ไปชวนคนอื่น ๆ มานั่งด้วย”
ต้ายังเล่าเสริมต่อว่าในตอนนั้นมีการรวมตัวกันของเหล่าหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งรัฐบาลและเอกชน รวมถึงบุคคลต่าง ๆ ทั้งคุณหญิงคุณนาย และศิลปินแห่งชาติชื่อดังย่านบางลำพูอย่าง สุดจิตต์ ดุริยประณีต
ในงานวิจัยของ เวทินี สตะเวทิน เมื่อปี ๒๕๔๒ เรื่อง การสื่อสารในการจัดการประชาคมบางลำพู เล่าถึงเหตุการณ์นี้ว่า หลังได้รับข่าวลือเรื่องการรื้อถอนอาคารโรงพิมพ์ของกรมธนารักษ์ ก็มีแกนนำประชาคมบางลำพูส่วนหนึ่งยื่นหนังสือต่อกรมธนารักษ์เพื่อให้เก็บรักษาอาคารโรงพิมพ์ไว้ เนื่องจากเป็นสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์
ต่อมากรมธนารักษ์ประกาศชัดเจนว่าจะรื้อถอน ทางประชาคมบางลำพูก็ยื่นหนังสือและต่อรองกับกรมธนารักษ์อีกครั้ง พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในชุมชนรับรู้ แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งในชุมชน เนื่องด้วยบางส่วนคิดว่ามีผลประโยชน์แอบแฝง ทำให้ข่าวสารเรื่องการรื้อถอนมรดกอันทรงคุณค่าของชุมชนบางลำพูไม่ได้รับความสนใจ
แกนนำประชาคมบางลำพูจึงประชาสัมพันธ์ไปตามหน่วยงาน
ต่าง ๆ รวมถึงสื่อมวลชน มีประชาชนนอกชุมชน หน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย อาจารย์ นักวิชาการ ต่างให้ความสนใจกับประเด็นนี้ล้นหลาม สุดท้ายแล้วอาคารไม้ถูกรื้อไปหนึ่งหลัง แต่ยังคงเหลืออีกสองหลังโดยการร่วมมือของกรมศิลปากรที่เข้ามาตรวจสอบว่าอาคารหลังดังกล่าวเป็นโบราณสถาน และกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นหน่วยงานที่มาจัดการงบประมาณในการปรับปรุงโรงพิมพ์ พร้อมไกล่เกลี่ยให้สถานที่แห่งนี้ยังคงอยู่คู่ชุมชนเรื่อยมา และกลายเป็นพิพิธบางลำพูอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๘
โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช โรงเรียนช่างพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย ปัจจุบันคือพิพิธบางลำพู
ไกด์เด็กบางลำพูเป็นเด็กในพื้นที่ชุมชน ไม่อธิบายด้วยข้อมูลทางการ ทฤษฎี หรือหลักการ หากแต่เล่าถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้าด้วยหัวใจและให้ความรู้ในพื้นที่ของตัวเองตามถนัด สื่อคุณค่าของบ้านตัวเองอย่างลึกซึ้ง
บรรยากาศชุมชนบางลำพูในอดีตจัดแสดงภายในอาคารไม้ของพิพิธบางลำพู
บ้านล่มสลาย
ไม่เพียงแค่อาคารโรงพิมพ์ โบราณสถานอันทรงคุณค่าที่เป็นมรดกของชุมชน บางลำพูยังเคยมีสิ่งเล่าขานสืบต่อกันมาจนถึงรุ่นลูกหลาน นั่นคือต้นลำพูอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี มีขนาดสี่ถึงห้าคนโอบ อันเป็นลำพูต้นสุดท้าย ณ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงสวนสันติชัยปราการ (อ่านเพิ่มเติมที่ นิตยสารสารคดี ฉบับ ๑๕๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๐)
แต่น่าเศร้าที่ปี ๒๕๕๔ เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในมหานคร ลำพูต้นสุดท้ายยืนต้นตายตามธรรมชาติ เนื่องจากน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ทำให้สิ่งล้ำค่าของชุมชนลับดับไป กระนั้นเจตนาของผู้คนในชุมชนก็ยังต้องการเก็บต้นลำพูสูงใหญ่ที่ยืนต้นตายนี้ไว้ แต่ ๑ ปีต่อมาสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร ได้ตัดต้นลำพูนี้ทิ้ง
ต้าเล่าเสริมว่าชุมชนนำต้นใหม่มาปลูกแทนต้นเก่า ครั้งนั้นมีหน่วยงานนำบางส่วนของต้นที่ถูกตัดไปเพาะเนื้อเยื่อใหม่ให้เป็นต้นกล้าคอยสืบทอดแทนต้นเก่า แต่ผ่านมา ๑๐ ปีก็ไร้ซึ่งคำตอบ และไร้วี่แววของต้นกล้าใหม่จากต้นลำพูต้นสุดท้าย เหลือเพียงตอลำพูผุกร่อนให้เห็นต่างหน้าอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงปัจจุบัน (สารคดี ฉบับ ๓๓๒ ตุลาคม ๒๕๕๕)
เกิดใหม่ของลำพู
ต้าเล่าว่าช่วงการเรียกร้องอาคารโรงพิมพ์เป็นการรวมตัวของเหล่าผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของผู้คนในพื้นที่ โดยเริ่มจากบางกอกฟอรั่ม (Bangkok Forum) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนากลุ่มพลเมืองในกรุงเทพฯ ให้ผู้คนเล็งเห็นคุณค่าของชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ นับแต่นั้นก็เกิดประชาคมบางลำพู
“ย้อนกลับไป ๒๐ ปีก่อนเป็นยุคเเรก ๆ ที่ประชาคมบางลำพูเกิดขึ้นเพื่อทำงานกับชุมชน ควบคู่กับการเรียกร้องโรงพิมพ์และทำให้เกิดกิจกรรมในชุมชนอย่างงานวันสงกรานต์ วันเด็ก วันพ่อ วันเเม่ ใช้สวนสันติชัยปราการเป็นพื้นที่จัดงาน ในอดีตไม่มีสวนสาธารณะแห่งไหนที่หลังติดเเม่น้ำ หน้าติดถนน ทุกงานที่อยากจัดกิจกรรมใหญ่โตต้องมาลงสวนสันติฯ มีทุกอาทิตย์”
สติกเกอร์ของดีบางลำพู
จัดทำโดยไกด์เด็กบางลำพู
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของต้าและป้านิดที่ได้รู้จักกัน ด้วยตอนเรียนมหาวิทยาลัยในวิชาประวัติศาสตร์ไทยคดีศึกษา อาจารย์ของต้าทำวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จึงชวนเธอมาร่วมทำงานในพื้นที่บ้านเกิด
“เราสนใจ เพราะบ้านอยู่ที่นี่ พอมาทำงานจริง ๆ ก็เจอป้านิด เเล้วอาจารย์หลาย ๆ คนเขาก็บอกว่าให้ตั้งชื่อกลุ่มเด็ก ๆ ที่มาร่วมทำงานวิจัย แต่งานวิจัยประวัติศาสตร์มันเป็นวิชาการซึ่งเด็กไม่ชอบ ตอนนั้นก็เลยมาคุยกัน มีพี่เหน่ง พี่จุ๋ม พี่แขก คุยกับหลาย ๆ คนที่เป็นแกนนำ และได้ตั้งชื่อกลุ่มว่าชมรมเกสรลำพู (สารคดี ฉบับ ๒๖๗ พฤษภาคม ๒๕๕๐)
“เกสรลำพูเกิดขึ้นจากการทำวิจัยประวัติศาสตร์ ทำงานกับประชาคมบางลำพูเรื่อยมา และทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งงานเทศกาลละคร งานดนตรี งานอื่น ๆ เต็มไปหมด วันหนึ่งก็มีกลุ่มต่าง ๆ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวมา เรากับป้านิดก็พาเดินลงชุมชน ช่วงหนึ่งจะมีกลุ่มชาวบ้านต่างจังหวัดที่ชอบมาเรียนรู้ดูงานเยอะมาก เราก็ทำเรื่อย ๆ
“จนวันหนึ่ง ตอนปี ๒๕๖๐ เราไม่รู้หรอกว่าการท่องเที่ยวมันบูม ไม่ได้รู้ ไม่ได้สนใจ เราสนใจเพียงเเค่อยากทำ เพราะถ้าเกิดอะไรที่มันไม่สนุกเราจะทำไปทำไม ทีนี้ได้ทุนของ สสส. ก็เลยสร้างเด็ก ๆ ใช้ชื่อโปรเจกต์ว่าเสน่ห์บางลำพู คำว่าเสน่ห์ ใช้ในความหมายว่าคือเสน่ห์ของการได้พบปะผู้คนมากมาย เสน่ห์อาหาร เสน่ห์วัฒนธรรม เสน่ห์สิ่งของ เสน่ห์วัดวาอาราม รวมถึงเสน่ห์สถาปัตยกรรม ทุกอย่างที่อยู่ในบางลำพู
“ขณะเดียวกันก็สร้างเด็ก ๆ ในนามว่าไกด์เด็กบางลำพู เพื่อที่จะบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านความหมายของเสน่ห์บางลำพู”
ทีมงานไกด์เด็กบางลำพู
เสน่ห์ลูกลำพู
ต้าเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งเกี่ยวกับเยาวชนบางลำพู ตั้งแต่การก่อตั้งชมรมเกสรลำพูพร้อมกับเยาวชนคนอื่น ๆ เพื่อทำงานร่วมกับผู้คนในชุมชน อีกอย่างชมรมเกสรลำพูก็เสมือนเป็นการส่งต่อให้ยอดเกสรลำพูออกดอก ออกผล แผ่ขยายวันวัยเริ่มรุ่นให้เห็นคุณค่าของชุมชนถิ่นกำเนิด
เธอเล่าว่าช่วงเริ่มต้นเป็นการลงมือทำด้วยใจเพื่อให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมกับชุมชน แต่กระนั้นเมื่อทุกอย่างเป็นไปตามแบบแผนเรื่องเงินก็เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสิ่งที่เธอรัก
“เราไม่ได้โฟกัสเรื่องสตางค์แต่แรก แค่อยากทำให้ทุกคนได้รู้ว่าที่ตรงนี้คือบ้านของเรา ตอนนั้นก็คิดว่าชวนเด็ก ๆ มาร่วมงานด้วย แต่พอมา ณ วันหนึ่งเด็กเริ่มโต เริ่มทำงานกัน ก็เริ่มหาย แล้วเด็กเล็ก ๆ ก็เริ่มไม่มี ทีนี้ได้โปรเจกต์นักสื่อสาร เราเลยมามองคำว่าไกด์เด็ก มันก็คือการสื่อสาร เป็นการสื่อสาร เรื่องราวของชุมชน ทางผู้ใหญ่ก็เลยสนับสนุน”
ต้าตัดสินใจคุยกับป้านิดซึ่งเป็นประธานประชาคมบางลำพู พร้อม ๆ กับประธานชุมชนในย่านบางลำพูเกี่ยวกับการหาเยาวชนมาเป็นไกด์นำเที่ยว ซึ่งทุกคนสนับสนุน จึงเป็นจุด
เริ่มต้นของการชวนเด็กที่เคยทำกิจกรรมกับชุมชนบางลำพูและชุมชนเครือข่ายให้หาเพื่อน ๆ มารวมตัวกัน แล้วจัดอบรมเยาวชนเป็นไกด์ราว ๕๐ คน
ในช่วง ๒ ปีแรกจาก ๕๐ คน ค่อย ๆ ลดเหลือ ๓๐ ๒๐ คน ตามลำดับ ต้าเล่าว่าเธอไม่ได้คาดหวังให้ทุกคนเป็นแกนนำเพราะการเป็นแกนนำจริง ๆ ได้ก็จะเหลือไม่กี่คน ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอคิดไว้อยู่ก่อนแล้ว แต่ทุกคนก็ยังมาช่วยงานได้ในบางครั้ง
ต้าเล่าเสริมว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นมีเงินทุนสนับสนุนไม่มากนัก ซึ่งถ้าเทียบกันแล้วนั้นรายจ่ายมากกว่ารายรับ แต่สิ่งที่เธอยังคงทำอยู่นั่นคือต้องการให้เด็กและผู้คนในชุมชนมีรายได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ผู้คนในพื้นที่
“ครั้งแรกตอนเปิดเวิร์กช็อปจำได้เลยว่าเราต้องทำแบบจริงจัง ลองคิดสตางค์กันดูไหม มีคนมาเดินชุมชน ๑๐ คน แล้วมีไกด์เด็ก ๒๐ กว่าคน ไกด์เยอะกว่านักท่องเที่ยว คือเกลื่อนบางลำพูไปหมดเลย (หัวเราะ)
“วันนั้นเก็บค่านำเที่ยวคนละ ๑๙๙ บาท จากที่จะได้สตางค์สุดท้ายขาดทุนไปเป็นหมื่น (หัวเราะ) เหตุผลเพราะหมดไปกับค่าข้าวเช้า ข้าวกลางวัน ข้าวเย็น ข้าวดึก น้ำ ขนม ก็เป็นอย่างนั้นเรื่อยมาเป็นปี แต่ก็ไม่ได้ขาดทุนตลอด ได้กำไรบ้างไม่กี่ร้อย ซึ่งก็ถือว่าได้ลองผิดลองถูก ได้เรียนรู้ไปด้วยกัน”
ไกด์เด็กบางลำพูเป็นเด็กในพื้นที่ชุมชน เข้าถึงผู้คนในพื้นที่ได้ง่าย แต่งกายสบาย ๆ ใส่เสื้อยืดสกรีนว่า “ไกด์เด็กบางลำพู” ไม่อธิบายด้วยข้อมูลทางการ ทฤษฎี หรือหลักการ หากแต่เล่าถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้าด้วยหัวใจและให้ความรู้ในพื้นที่ของตัวเองตามถนัด สื่อคุณค่าของบ้านตัวเองอย่างลึกซึ้ง
“เราไม่ได้ทำเหมือนวิชาการที่ประวัติศาสตร์แน่น ๆ พูดเรื่องวัด วัง หน้าจั่วอะไรแบบนี้ ไม่มี ซึ่งเราเองก็ทำไม่ได้ ถ้าจะเอาแบบนั้นคุณไปหาไกด์จริงจังดีกว่า แต่ถ้าอยากได้ไกด์เด็กที่เดินไปแล้วสามารถตะโกนเรียกหรือแนะนำคนในชุมชนได้ อย่างน้องทีมเด็กโรงน้ำแข็งก็จะพูด ‘นี่ค่ะเสี่ยโรงน้ำแข็ง นี่ค่ะแม่เป็นคนเก็บเงิน’ เราว่าไกด์จริงจังทำไม่ได้
“สิ่งที่เด็กทุกคนต้องทำคือเล่าเรื่องใกล้ตัว แต่ช่วงแรกก็เป็นปัญหาที่ยากมาก คือเราต้องสะกิดเด็กให้รู้เรื่องใกล้ตัวของตัวเอง แล้วเอาเรื่องนั้นออกมาพูดว่ามันสำคัญยังไง
“อย่างน้องเจที่บ้านอยู่แถววัดใหม่อมตรส ทุกวันเดินออกจากบ้านต้องเจอลุงต้อยคนแทงหยวกคนสุดท้ายของบางลำพู เจไม่ได้สนใจว่าลุงเขามีเชื้อสายมอญ หน้าตาประมาณนี้ มีจมูก ประมาณนี้เป็นลักษณะเด่นของคนมอญ บางวันเห็นลุงนั่งแทงหยวก ซึ่งก็แทงไปสิ แล้วไง เราก็จะสะกิดว่า ‘เฮ้ยเจ นี่คือเจ๋งมากนะ โอ้โฮหายากมากเลยของแบบนี้’ สิ่งนี้ต้องใช้เวลา ๒ ปี กว่าที่จะทำได้และเข้าใจ”
เจเจ-เมริกา พลังเดช หนึ่งในไกด์เด็กบางลำพูเล่าเสริมว่า “พอได้ข้อมูลก็รู้ว่าตรงนี้มีงานแทงหยวก เพราะบางทีเราเห็นลุงเขานั่งเฉย ๆ เวลาเดินผ่านก็แวะคุยเล่นเป็นปรกติ แต่ไม่เคยได้รู้ว่าเขาเป็นช่างแทงหยวกคนสุดท้ายของชุมชน พอมีคนข้างนอกเข้ามาดู ก็สะกิดให้เราได้รู้สึกว่าการแทงหยวกคือของล้ำค่าของบ้านเราเอง แล้วก็ภูมิใจว่าในบ้านเรามีของดี”
ตัวแทนไกด์บางลำพูในชุมชนเล่าถึงประวัติมัสยิดจักรพงษ์
ผลผลิตจากกล้าลำพู
ปัจจุบันไกด์เด็กบางลำพูยังคงทำหน้าที่ของตัวเองเสมอ
พาทัวร์ชุมชนทุกเดือนและมีเส้นทางที่หลากหลายไม่ซ้ำกัน
ในแต่ละรอบเดิน มีเฟซบุ๊กเพจเสน่ห์บางลำพูให้ติดตาม
กระนั้นก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องโรคระบาดโควิด-๑๙ ซึ่งกระทบการทำงาน การใช้ชีวิต และการหารายได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคอันยิ่งใหญ่ของเหล่าไกด์เด็กรวมถึงผู้คนในชุมชน
สิ่งที่ต้าทำอยู่ในปัจจุบันจะพัฒนาไปสู่การเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise : SE) เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้
ชุมชนและเยาวชนในพื้นที่ พร้อมกับเป็นอีกหนึ่งหนทางเพื่อตอบวัตถุประสงค์ของเธอคือการให้เด็ก ๆ มีรายได้จากงานที่ช่วยชุมชน
“เราจะดึงยังไงให้เด็กไม่ไปทำเซเว่นฯ ไม่ไปทำงานประจำ แต่มาช่วยงานชุมชนแทน ซึ่งต้องมีเงินค่อนข้างสูง แต่ว่าเรา
ยังทำขนาดนั้นไม่ได้ เพราะเงินมันไม่มี
“ถ้าเปิดบริษัทเสน่ห์บางลำพูจะต้องเข้าสู่กระบวนการนิติบุคคลให้เป็น SE ฉะนั้นมันก็มีเรื่องค่าใช้จ่าย ภาษีตามมา
ถ้าเกิดผิดพลาดคือการผิดกฎหมาย เพราะการทำงานของเราต้องขอทุนหรือหารายได้จากช่องทางอื่น มุมหนึ่งก็ยังไม่เข้าใจแต่มุมหนึ่งก็ต้องเริ่มทำแล้ว การทำ SE เป็นโอกาสที่สำคัญ
และโอเคมากเลยในปัจจุบัน แต่เราไม่เคยทำงานเชิงธุรกิจ เคยทำงานสังคมมาตลอด พอมีเรื่องของการวัดผลเป็นตัวเงิน
จากงานก็ค่อนข้างจะกดดัน”
ไม่เพียงแค่การเปิดบริษัทด้านสังคมเพื่อเป็นรายได้หลักให้เหล่าไกด์เด็ก แต่ยังผลักดันเยาวชนในบางลำพูให้เรียนรู้การทำงานจริง เช่น การทำคอนเทนต์วิดีโอ กราฟิก บัญชี การพัฒนาการพูด การบริหารจัดการ ซึ่งทุกอย่างสามารถนำไปปรับใช้ พัฒนาศักยภาพ และเป็นผลงานในการต่อยอดของ
เด็ก ๆ ทุกคน
“เด็กได้เรียนรู้การทำคลิปวิดีโอ โซเชียลมีเดีย ก็เป็นโอกาสที่ดี มันไม่ใช่เเค่งานของเรา สิ่งที่เราทำเราต้องการซัปพอร์ตให้เด็กนำไปใช้ในชีวิตได้ด้วย อย่างเจเจเข้าเรียนบริหารธุรกิจโดยใช้พอร์ตของการทำงานไกด์เด็กในการสมัคร”
ต้าเล่าเสริมว่าเด็กที่มาทำงานกับเธอนั้นฐานะทางบ้านไม่ใช่คนมั่งมีเงินทอง พ่อแม่ของเด็กบางคนก็หาเช้ากินค่ำ เด็กบางคนก็ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ผู้ปกครองเหล่านั้นแรก ๆ ก็เป็นกังวลเรื่องการทำงานของลูกหลานว่าจะได้เงินหรือไม่ อีกทั้งเรื่องการกลับบ้านค่ำหรือดึกดื่น
ตัวแทนชุมชนกำลังอธิบายวิธีการปักชุดโขน
ร้านขายผ้าพรเจริญที่จะมีรถไฟฟ้าใต้ดินวิ่งผ่านลึกลงไปใต้บ้าน
“พ่อแม่เป็นเหมือนกันในทุกยุคทุกสมัย ถามคำถามเดียวกันเลยว่าทำแล้วได้สตางค์ไหม เขาคงเห็นว่าลูกออกจากบ้านมาทำงานแล้วกลับค่ำกลับดึก คือต้องเข้าใจก่อนว่าเด็กบางคนแม่ทำงานโรงน้ำแข็ง โรงแรม บางคนช่วยป้าขายข้าวแกง ถ้าเด็กบ้านรวยไม่มีใครมาทำหรอก
“สิ่งที่เราทำได้ก็คือเอาเงินจากการทำงานประจำมาเลี้ยงน้อง
เพราะเราไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน เวลาจัดกิจกรรม จัดเวิร์กช็อป พาเดินชุมชน ซึ่งจัดเดือนละสี่ครั้งทุกวันศุกร์กับเสาร์ก็พอมีรายได้ให้เด็ก
“เราเองนั่นแหละต้องเข้าไปหาพ่อแม่เด็ก อารมณ์เหมือนครูพบผู้ปกครอง ก็ไปบอกเขาว่า ‘ยายคะถ้าเกิดว่างานไหนมีสตางค์ก็ให้น้องนะคะ ถ้างานไหนไม่มีก็ถือว่าน้องมาช่วยงานกันสนุก’ พอน้องมาเราก็มีข้าว ของกิน ของเล่นกลับไป และมีบ้านชมรมเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กมารวมตัว”
มุมสว่างอันถูกลืม
ผู้คนในชุมชนบางลำพูส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลางค่อนไปทางรายได้น้อย และส่วนหนึ่งอาศัยในพื้นที่ของวัดหรือสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับพิพิธบางลำพู
ต้ายกตัวอย่างชุมชนวัดสังเวชที่เธออาศัยมาตั้งแต่กำเนิด แม้เธออยู่ในพื้นที่ของเธอเอง แต่ผู้คนในชุมชนนี้มีไม่น้อยที่อยู่ห้องเช่าขนาด ๓x๓ เมตร หลายคนอาศัยอยู่บนพื้นที่วัด ซึ่งวันใดวันหนึ่งก็อาจถูกปรับพื้นที่เป็นที่จอดรถหรือสร้างรายได้ ไม่เพียงแค่นั้นพื้นที่ทำมาหากินริมถนนแม้อยู่ในซอยซึ่งเป็นที่ขายของหรือกับข้าวในราคาที่จับต้องได้ง่าย จู่ ๆ ทางเขตกรุงเทพมหานครก็ขอความร่วมมือว่าทุกวันจันทร์ห้ามขายของริมถนนเพื่อความเรียบร้อยและความสะอาด
“เขตเข้ามาขอความร่วมมือร้านในซอยวัดสังเวช บอกว่าห้ามขายของ รถเข็น ร้านขายไก่ย่าง ส้มตำ ต้องเคลียร์พื้นที่ เก็บของให้หมด จะทำเรื่องคลองให้สะอาด เราคิดว่าถ้าจะไม่ให้ขายของตรงนี้ก็ต้องหาที่ให้ใหม่ ไม่อย่างนั้นจะอยู่กันได้ยังไง ต้องกลายเป็นโจรขโมยเหรอ
“แล้วที่สำคัญคือคืนวันอาทิตย์ต้องเก็บของ รื้อร้านออกให้หมด เขตจะมาทำความสะอาดวันจันทร์ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอีกคือคนในชุมชนที่ปรกติจะซื้อของกินในซอยแค่ ๒๕-๓๐ บาท แต่วันจันทร์ก็ต้องไปซื้อของกินที่เซเว่นฯ หมดทีเป็นร้อยมันขัดแย้งกันโดยปริยาย คนจน ๆ ก็จะตายกัน”
ต้ายังเล่าเสริมว่าป้าของไกด์เด็กคนหนึ่งถูกยกโต๊ะขายข้าวแกงไป รวมถึงโต๊ะขายไก่ย่างที่เปิดร้านได้ไม่ถึง ๒ วัน ก็ถูกเก็บไปด้วยเช่นกัน เมื่อไม่มีพื้นที่ทำกิน อุปกรณ์ที่ใช้ทำกินก็ถูกยึด ต้าทำได้แค่เพียง...
“เออ...คือเเบบ คืออะไร นี่คือสิ่งที่หน่วยงานราชการทำกับคนจน ๆ คือคุณเอาอำนาจหน้าที่มาปฏิบัติ แต่ไม่อะลุ่มอล่วยกับของทำมาหากิน ซึ่งพวกเขาคงไม่กล้าพูดหรอก
“เราพูดในมุมที่สงสารคนหาเช้ากินค่ำนะ มีคนในชุมชนถามว่า ‘ต้า วันนี้พี่จะทำยังไง ถ้าเอารถเข็นมาวางของขาย ต้องดูว่าขนาดไหน’ ทางหน่วยงานบอกว่าพอขายเสร็จให้เข็นรถเก็บเข้าบ้าน แต่คนที่ขายของอยู่บ้านเช่า เอาที่ตรงไหนเก็บคือพูดง่าย ๆ ห้องเขาขนาด ๓x๓ เมตร ชีวิตแย่มากแล้วเขาจะอยู่กันอย่างไร”
ถนนข้าวสารในยามร้างไร้ผู้คน
ไม่เพียงแค่นั้น ไกด์เด็กบางลำพูก็เคยถูกเหยียดด้วยสายตาพร้อมวาจาจากคนที่เรียกตัวเองว่าข้าราชการ เพราะการแต่งตัวอันสามัญธรรมดาในงานที่ได้รับเชิญไปเป็นตัวแทนของชุมชน ต้าเล่าเสริมว่าเด็กเหล่านี้คือคนในชุมชน เป็นประชาชน เป็นชาวบ้าน เป็นเด็ก
“จะให้เขาใส่สูทผูกเนกไทเหรอ คือคุณเรียกเขามา ซึ่งไม่เข้าใจ อันนี้มันเกินเลยไปหรือเปล่า เด็กก็บอกว่า ‘พี่ต้าคะ เขาบอกว่าเด็กเข้าไม่ได้ ไม่ให้หนูเข้า’ (สูดหายใจแรง) นี่คือสิ่งที่สังคมไทยถูกผูกด้วยแบบนี้ ทำไงก็ได้เด็กต้องยอมรับ เด็กต้องไม่มีปากไม่มีเสียง”
บางลำพูคือผู้คน
เมื่อชีวิตหรือถิ่นที่อยู่เดินทางมาเกือบสุดทาง หากอนาคตของพื้นที่ชุมชนบางลำพูเลือนหายเหมือนที่อื่น ๆ ต้าบอกไว้ว่า “สิ่งที่เราทำได้ในปัจจุบันก็คือการให้คนในและนอกชุมชนได้เรียนรู้เรื่องราวของชุมชน รู้ว่าในชุมชนมีของดีอะไร เพราะสิ่งที่เราทำคือการสร้างความสุข ความสนุก และประสบการณ์ที่ดีให้เด็ก ๆ ฉะนั้นไม่สามารถไปยื้อได้ว่าจะให้มันอยู่หรือให้มันไป
“เราก็อยากทำงานชุมชนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่ารู้สึกว่าอิ่มตัวหรือไม่อยากทำ แต่ระหว่างนี้ก็อยากสร้างเด็กใหม่เรื่อย ๆ ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตบางลำพู ประวัติศาสตร์ชุมชนต่าง ๆ ให้ดีเท่าที่จะทำได้”
ในระยะ ๔-๕ ปีข้างหน้าจะมีรถไฟฟ้าใต้ดินผ่าน โผล่ขึ้นมาบริเวณบางลำพูในพื้นที่ชุมชนของเกาะรัตนโกสินทร์ ประชาชนที่อยู่แถบนั้นก็อาจถูกโยกย้าย ซึ่งรวมถึงชุมชนบางลำพูที่จะได้รับผลกระทบครั้นความเจริญเข้ามาแทนที่ชีวิตของผู้คน
“ถ้ามองภาพรวมในบางลำพูเราว่าจะเกิดการเปลี่ยนเเปลงอย่างยิ่งใหญ่ เพราะรถไฟฟ้าใต้ดินกำลังจะเข้ามาไม่เกิน ๕ ปีต่อจากนี้ การคมนาคมเข้ามา เศรษฐกิจดีขึ้น แต่วิถีชีวิต รากเหง้าของคนในพื้นถิ่นในชุมชนจะหายไป เพราะคนในชุมชนเองจะออกจากที่นี่ แล้วไปซื้อบ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม คนอยู่ก็จะเป็นคนที่มาค้าขาย ทำงาน เช่าบ้าน เชื่อว่าคอนโดฯ จะมาแน่นอน เพราะแถวนี้จะกลายเป็นเซนเตอร์ของทุกอย่าง ทั้งการเดินทางสะดวก รถไฟฟ้าอยู่ตรงนี้ก็สบาย
“บางลำพูจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เราเชื่อว่าทุกคนยอมรับความเจริญที่จะเข้ามาได้ เเต่ขณะเดียวกันเราก็เสียดายตึกเก่า เรื่องราวเก่า ๆ ที่คนไทยมักจะสร้างสิ่งใหม่เข้ามาเเทนที่ ฉะนั้นบางลำพูเปลี่ยนแน่ แล้วก็จะเปลี่ยนเเปลงในเชิงที่ไม่เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิต”
เช่นเดียวกันกับป้านิด ผู้ซึ่งเรียนรู้โลกจากอดีตจนถึงปัจจุบันได้เสริมต่อว่า
“คิดว่า ‘บางลำพูจะหายไป’ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะถึงบ้านเมืองจะเปลี่ยน แต่คนที่เกิดมาเป็นคนบางลำพูก็จะอยู่ อะไรมันจะเปลี่ยนให้เปลี่ยนไป แต่ลูกหลานจะอยู่ ก็จะอยู่ตรงนี้”
อ้างอิง
ขวัญใจ เอมใจ. “ลำพูต้นสุดท้ายของบางลำพู”. สารคดี ฉบับ ๑๕๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๐, ๔๐.
รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล. “การหยั่งรากแขนงใหม่ของเมล็ดพันธุ์ เกสรลำพู”. สารคดี ฉบับ ๒๖๗ พฤษภาคม ๒๕๕๐, ๑๖-๑๙.
เวทินี สตะเวทิน. การสื่อสารในการจัดการประชาคมบางลำพู สาขาวิชานิเทศศาสตร์พัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๒.
สุเจน กรรพฤทธิ์. “การจากไปของ ‘ลำพูต้นสุดท้าย’ แห่งบางลำพู”. สารคดี ฉบับ ๓๓๒ ตุลาคม ๒๕๕๕, ๖๔-๖๕.
“พิพิธบางลำพู แหล่งเรียนรู้วิถีชุมชน”. สืบค้น ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕, จาก https://www.thairath.co.th/lifestyle/travel/thaitravel/1361873
“พิพิธบางลำพู”. สืบค้น ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕, จาก https://www.museumthailand.com/th/museum/Pipit-Banglamphu-Museum