จิตรกรรมฝาผนัง การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ วาดโดย ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ เป็นหนึ่งเหตุการณ์สำคัญตามประวัติศาสตร์ชาตินิยมของทางการไทย ในภาพจะเห็นขบวนอัญเชิญพระแก้วมรกต ตามมาด้วยขบวนเสด็จฯ ของรัชกาลที่ ๑ และวังหน้า
ภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

กรุงเทพเมื่อแรกสร้าง
SCOOP
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
๒๓๒๕
“รัตนโกสินทร์”
เมื่อแรกสร้าง

“...ดำรัสว่าฟากตะวันออกเปนที่ไชยภูมิดีแต่เปนที่ลุ่ม เจ้ากรุงธนบุรีจึ่งได้มาตั้งอยู่ฟากตะวันตกเปนที่ดอน ครั้งนี้จะตั้งอยู่ฝั่งฟากตะวันตกก็เปนที่คุ้งน้ำเซราะมีแต่จะชำรุดจะภังไป ไม่มั่นคงถาวรยืนอยู่ได้นาน แลเปนที่พม่าฆ่าศึกมาแล้วจะตั้งประชิตติดชานพระนครได้โดยง่าย 

อนึ่งพระราชนิเวศน์มณเฑียรสฐานตั้งอยู่ในอุปจาร รหว่างวัดทั้งสองกระหนาบอยู่ดูไม่สมควรนัก...ก็ในฝั่งฟากตะวันออก ที่ตั้งบ้านเรือนพระยาราชาเสรษฐีแลพวกจีนอยู่นั้น ไชยภูมดีเปนที่แหลมจะสร้างเปนพระมหานครขึ้นให้กว้างใหญ่ ถึงจะเปนที่ลุ่มก็คิดถมขึ้นดีกว่า โดยจะมีการศึกสงครามมาหักหารก็จะได้โดยยาก ด้วยลำแม่น้ำเป็นคูอยู่กว่าครึ่งแล้ว”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑)

เมื่อครั้งมีพระราชดำริสร้างกรุงเทพฯ ในปี ๒๓๒๕

ใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน

เมื่อลองกางแผนที่เมืองหลวงสำคัญในโลก ไม่ว่าจะเป็นลอนดอน ปารีส โตเกียว วอชิงตัน ดี.ซี. ฯลฯ หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมถนนหนทางในเมืองเหล่านั้นจึงตัดเป็น “ตาราง” และวางแนวอย่างเป็นระเบียบ แบ่งพื้นที่ต่าง ๆ ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นย่านที่อยู่อาศัย พื้นที่สีเขียว พื้นที่พาณิชย์ เขตธุรกิจ ฯลฯ

ในขณะที่หันกลับมามองกรุงเทพฯ เราแทบไม่เห็นลักษณะดังกล่าว

น่าสนใจว่า “คำตอบ” ของคำถามเบื้องต้นอาจซ่อนอยู่ในหลักฐานประวัติศาสตร์หลายชิ้น ในช่วงของการสร้างเมืองหลวงแห่งนี้

ดังที่สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (สผม.) ระบุว่า การกำหนดแนวทางการสร้างเมืองสมัยต้นกรุง โดยเฉพาะการ “วางผังเมือง” ในภาษาของคนยุคปัจจุบัน “...ดำเนินการโดยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการป้องกันภัยข้าศึกศัตรูและภัยทางธรรมชาติเป็นหลัก” ก่อนที่จะนำแนวทางพัฒนาเมืองแบบตะวันตกเข้ามาใช้ในภายหลัง

สารคดี ย้อนกลับไปสำรวจหลักฐานเหล่านั้นใหม่อีกครั้ง ด้วยเชื่อว่าแนวคิดการสร้างกรุงและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณ “บางกอก” เมื่อ ๒๔๐ ปีที่แล้วย่อมเป็น “ปฐมบท” สำคัญที่ส่งผลสืบเนื่องจนกรุงเทพฯ มีหน้าตาอย่างที่เราเห็นในปี ๒๕๖๕
แผนผังแสดงลักษณะ “เมืองมันดาละ” ของกรุงรัตนโกสินทร์ ตามการวิเคราะห์ของ เอ็ดเวิร์ด วาน รอย (ซ้าย) ก่อนปี ๒๓๒๕ (กลาง) ปี ๒๓๕๒ มีการแบ่งเขตวังหน้ากับวังหลวง (ขวาสุด) ปี ๒๔๕๓ เข้าสู่การพัฒนาแบบสมัยใหม่ แนวคิดมันดาละเริ่มเลือนราง
scrollable-image
กรุงธนฯ-กรุงรัตนโกสินทร์
ย้าย “วัง”
แต่ไม่ได้ย้าย “เมือง”

จากการค้นคว้าในยุคปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์บางท่านชี้ว่าการย้ายศูนย์กลางราชธานีจากกรุงธนบุรี (ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา) มายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ ไม่น่าจะเกิดขึ้นแบบ “ทันทีทันควัน” หลังพระยาจักรี (ทองด้วง/รัชกาลที่ ๑) ทำรัฐประหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ครองราชย์ปี ๒๓๑๐-๒๓๒๕) และปราบดาภิเษกสำเร็จในช่วงต้นปี ๒๓๒๕ ซึ่งเป็นภาพจำของหลายคนเมื่ออ่านประวัติศาสตร์ช่วงนี้

เรื่องนี้น่าจะวางแผนมาตั้งแต่ปลายรัชกาลพระเจ้าตากสินฯ เอ็ดเวิร์ด วาน รอย (Edward Van Roy) นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ วิเคราะห์ในหนังสือ Siamese Melting Pot ว่าในช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าตากสินฯ อาณาเขตกรุงธนบุรีได้ขยายครอบคลุมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มจาก ๐.๙ เป็น ๒.๒ ตารางกิโลเมตร โดยแนวคิดย้ายพระบรมมหาราชวังนั้น
น่าจะ “ยังไม่ได้ข้อยุติและน่าจะมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาหลายครั้ง”

สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงมองว่าเรื่องนี้ต้องมีการเตรียมการและพิจารณามาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีแล้ว แต่การยังค้างอยู่  เมื่อรัชกาลที่ ๑ ขึ้นครองราชย์จึงทรงสั่งให้ย้ายพระราชวังหลวงทันที

อันเนื่องมาจากตัวเมืองหลักของกรุงธนบุรีนั้นมีความอ่อนแอทางยุทธศาสตร์ในการรับศึกอังวะ แนวตลิ่งฝั่งตะวันตกที่ถูกกระแสน้ำกัดเซาะ และความเชื่อเรื่องลักษณะของเมืองที่ไม่เป็นมงคล

ดอกเตอร์สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ระบุว่า เมื่อมีการย้ายพระบรมมหาราชวัง หลายคนก็มักคิดว่าเป็นการย้ายเมือง แต่ความจริงคือ กรุงธนบุรี-กรุงรัตนโกสินทร์ เป็น “เมืองเดียวกัน” สิ่งที่รัชกาลที่ ๑ ทรงทำคือสืบทอดแนวคิดที่เรียกว่า “บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง” ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

เรื่องนี้จะเกิดขึ้นหากการสืบทอดราชบัลลังก์เกิดปัญหา ทำให้ต้อง “เบิกยุคใหม่” และเคยเกิดขึ้นแล้วในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่กษัตริย์องค์ใหม่มักมีพระบรมราชโองการให้สร้างวัดขนาดใหญ่ กระทั่ง “พระเจ้าตากสินฯ ก็ทรงทำมาแล้วคือการย้ายราชธานีลงมากรุงธนบุรี ดังนั้นกรณีรัชกาลที่ ๑ ก็เพียงทรงย้ายพระราชวังข้ามแม่น้ำเท่านั้น”

เมื่อพระราชวังหลวงเปลี่ยนตำแหน่ง ใจกลางเมืองก็จะย้ายมาฝั่งตะวันออกโดยปริยายร่องรอยเกี่ยวกับข้อจำกัดในแง่ของการขยายพื้นที่ถ้าหากเก็บพระราชวังหลวงเอาไว้ฟากตะวันตกยังปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า “ครั้น ณ วัน ๒ฯ ๑๑๕ ค่ำ...(รัชกาลที่ ๑) ทรงพระดำริว่ารากฐานใกล้อุปจารอารามสองข้างมิบังควร จึงดำรัสสั่งพระยาธรรมา, พระยาวิจิตรนาวี ให้สถาปนาพระราชนิเวศใหม่ ณ ฟากเมืองข้างตะวันออก”

ดังนั้นหากเรียกให้ถูกน่าจะเป็นการ “ย้ายพระราชวังหลวง” มากกว่าย้ายเมืองหลวง
Image
แผนที่แสดงตำแหน่ง “ป้อม” สำคัญในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ภาพ : สมุดภาพสถาปัตยกรรมกรุงรัตนโกสินทร์

ประมวลจากหลักฐานชั้นต้นหลายชิ้นก็ชัดเจนว่ามีเหตุผลหลักคือความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ (ย้ายวังและตัวเมืองมาทางตะวันออก ใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันตกเพื่อรับศึกจากอังวะ) ความต้องการขยายวังหลวง และการทำตามแนวคิดเรื่องการเบิกยุคใหม่

การฝังหลักเมืองทำในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๓๒๕ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฯ เล่าว่าสิ่งที่ตามมาคือการโยกย้ายคนกลุ่มต่าง ๆ ที่เคยอยู่บริเวณนี้มาก่อน ประกอบด้วย “...ที่ตั้งบ้านเรือนพระยาราชาเสรษฐีแลพวกจีนอยู่...”

ถ้าดูจากแผนที่สายลับพม่า หลักฐานร่วมสมัย [ชิ้นเดียวที่ค้นพบในขณะนี้ อายุแผนที่อยู่ในรัชกาลพระเจ้าปดุง (ครองราชย์ระหว่างปี ๒๓๒๕-๒๓๖๒)] วาดบนกระดาษขาวขนาดยาว ๓ ฟุต กว้าง ๑๓ ฟุต พับทบกันได้แบบสมุดไทย โดยสายลับอังวะที่แฝงตัวอยู่ในกรุงธนบุรีจะพบว่า สภาพทางกายภาพของกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนจะสถาปนาเป็นราชธานี ฝั่งตะวันออกเต็มไปด้วยชุมชนชาวจีน มีเรือนแพคนจีนตั้งเรียงรายตามแนวตลิ่ง

คลองคูเมืองของกรุงธนบุรีฝั่งตะวันออกเดิมปรากฏกำแพงดิน เชิงเทิน ค่ายไม้ทองหลาง ไล่จากทางเหนือ คือ คลองโรงไหมวังหน้า คลองคูเมือง คลองตลาด โดยคลองเหล่านี้เป็นสายเดียวกัน เรียกชื่อต่างกันในแต่ละช่วง ทั้งหมดเรียกรวมว่า “คลองหลอด”

ทั้งนี้ริมเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกยังมีป้อมที่สร้างเพื่อป้องกันข้าศึก คือ ป้อมบางกอก ป้อมวิไชยเยนทร์ วัดโพธาราม (วัดโพธิ์) วัดสลัก (วัดมหาธาตุ) 

เมื่อย้ายวังหลวงมาฟากนี้ ชุมชนจีนจึงถูกย้ายทั้งหมด โดยไป “...ตั้งบ้านเรือนที่สวน ตั้งแต่คลองไต้วัดสามปลื้มไปจนเหนือคลองวัดสามเพงฯ”

จากนั้นวังหลวงก็ถูกสร้าง “ล้อมด้วยปราการระเนียดไม้ไว้ก่อน ภอเป็นที่ประทับอยู่ควรแก่เวลา”
“เงาอยุธยา”
ในกรุงรัตนโกสินทร์

คนยุคปัจจุบันจำนวนหนึ่งอาจไม่ทันสังเกตว่า แนวคิดแบบ “กรุงศรีอยุธยา” ยังปรากฏชัดเจนในกรุงเทพฯ ปี ๒๕๖๕ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ (ซึ่งเป็นชื่อเรียกเขตชั้นในของกรุงเทพฯ ยุคปัจจุบัน) และบริเวณใกล้เคียงโดยรอบ ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด ๓.๕ กิโลเมตร

ด้วยสปิริต-จิตวิญญาณของกรุงศรีอยุธยาถูกย้ายมาด้วยนับแต่อิฐก้อนแรกที่ก่อสร้างกรุงเทพฯ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฯ เล่าว่าเมื่อราชธานีใหม่มีอายุย่างเข้าสู่ปีที่ ๒ รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้ “ตั้งกองสักเลกไพร่หลวงสมกำลังและเลกหัวเมืองทั้งปวง แล้วให้เกณฑ์ทำอิฐขึ้นใหม่บ้าง ให้ไปรื้อกำแพงกรุงเก่าลงมาบ้าง ลงมือก่อสร้างพระนครทั้งพระบรมมหาราชวังแลพระราชวังบวรสถานมงคลในปีนั้น”

นั่นหมายความว่าอิฐจากซากกรุงศรีอยุธยาน่าจะมีจำนวนมากและอยู่ในสภาพดีพอจะขนล่องแม่น้ำเจ้าพระยาลงมา
สร้างราชธานีใหม่ นอกจากนี้ยังเหลืออีกมาก  ในปี ๒๓๒๗ อิฐจากซากกรุงเก่ายังถูกนำมาแก้ปัญหาราษฎรขาดแคลนน้ำจืด จากน้ำทะเลที่หนุนขึ้นมาทางคลองลัดโพธิ์ (ขุดในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระของอยุธยา, ครองราชย์ปี ๒๒๕๑-๒๒๗๕) จนทำให้น้ำกร่อย

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฯ ระบุว่าแม้เวลานั้นพระบรมมหาราชวังยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่อิฐจากกรุงเก่าก็ถูกแบ่งมา “ถมทำนบกั้นน้ำ” ทั้งยังเกณฑ์ผู้คน “ขึ้นไปรื้ออิฐกำแพงกรุงเก่าบรรทุกเรือลงมาสานชลอมใส่อิฐหักถมทำนบจนสูงเสมอฝั่ง และน้ำเค็มไหลขึ้นมาทางคลองปากลัดมิได้ ไหลไปทางแม่น้ำใหญ่เปนทางอ้อม ก็มิสู้เค็มขึ้นถึงพระนคร” เพราะแนวอ้อมของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณนี้หากไม่ไหลทะลวงจากคลองลัดโพธิ์ ก็ต้องไปไหลอ้อมพื้นที่ “บางกะเจ้า” ที่มีรูปร่างเหมือนกระเพาะหมูอีกถึง ๑๘ กิโลเมตร
Image
รัชกาลที่ ๑ ผู้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์
ในแง่ของผังเมืองและการกำหนดตำแหน่งสถานที่ต่าง ๆ ก็คล้ายกับจำลองกรุงศรีอยุธยาลงมาในกรุงรัตนโกสินทร์

“วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” สร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่ไม่ต่างกับ
วัดพระศรีสรรเพชญ์อันเป็นที่ประดิษฐาน “พระศรีสรรเพชญ์” พระพุทธรูปองค์สำคัญที่สุดของอาณาจักร โดยทำหน้าที่ประดิษฐาน “พระแก้วมรกต” พระพุทธรูปสำคัญที่รัชกาลที่ ๑ ทรงอัญเชิญจากกรุงเวียงจันทน์เมื่อคราวยกทัพไปตีในฐานะพระยาจักรีเมื่อปี ๒๓๒๒ (อัญเชิญพระแก้วมรกตข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๓๒๗)

“วัดสลัก” เปลี่ยนนามเป็น “วัดนิพพานาราม” (ปี ๒๓๒๕) ทำหน้าที่เป็นพระอารามหลวงประจำราชธานีเช่นเดียวกับ “วัดมหาธาตุ” ของกรุงศรีอยุธยา [ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระศรีสรรเพชญ์” และ “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร” (ปี ๒๓๓๑) จากนั้นจึงเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร” ในสมัยรัชกาลที่ ๖]

สร้าง “วังหน้า” เช่นเดียวกับที่อยุธยามี “พระราชวังจันทรเกษม” มีการสร้างเสาชิงช้าและเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เช่นเดียวกับที่อยุธยาเคยมีอยู่บริเวณที่ปัจจุบันนี้เป็นสี่แยก
ตะแลงแกง ดังปรากฏข้อมูลใน ทวาทศมาศ วรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น เรื่อง “พิธีโล้ชิงช้าเดือนอ้าย” (ธันวาคม)

วาน รอยชี้ว่าในยุคแรก กรุงรัตนโกสินทร์นั้นสร้างขึ้นตาม แนวคิด “มณฑล” (mandala) แบ่งพระนครออกเป็นสามพื้นที่ คือ เมืองชั้นใน (Bangkok citadel) มีวังหลวงเป็นศูนย์กลาง บริเวณนี้ยังเป็นพื้นที่ของพระบรมวงศานุวงศ์ เมืองชั้นกลาง (Bangkok city) เป็นพื้นที่ของขุนนาง สุดท้ายคือส่วนนอกกำแพงเมืองซึ่งเป็นพื้นที่ของไพร่ฟ้า โดยเขาเรียกเมืองตามแนวคิดนี้ว่า “เมืองมันดาละ” (Mandala city)

เขายังวางเส้น + ลงไป แล้วพบว่าวังหน้านั้นจะมีเขตอิทธิพลของตนอยู่ทางเหนือ ส่วนวังหลวงจะมีเขตอิทธิพลอยู่ทางใต้ โดยมองจากการตั้งพระตำหนักของเชื้อพระวงศ์และที่อยู่ของขุนนางสองวัง

แต่ก็น่าคิดว่ายังมีหลักฐานอีกมากที่กล่าวถึงคนหลากเชื้อชาติที่ตั้งถิ่นฐานในเขตขุนนาง เช่น ระเด่นลันได บทละครล้อเลียนที่แต่งโดยพระมหามนตรี (ทรัพย์) ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ท้องเรื่องเล่าถึงแขกสองคน คือ “ลันได” กับ “ประดู่” ที่แย่ง  “ประแดะ” ภรรยาของประดู่จนเกิดวิวาทกัน ฉากของเรื่องเกิดใกล้กับเสาชิงช้าอันเป็นพื้นที่ของ Bangkok city 

เรื่องที่แน่ชัดก็คือ กรุงรัตนโกสินทร์เมื่อแรกสร้างนั้นแตกต่าง
จากเมืองใหญ่ในโลกตะวันตกยุคเดียวกันที่มีหลักคิดเรื่องของพื้นที่สาธารณะและโครงข่ายถนนเกิดขึ้นแล้วในการวางผังเมือง

เพราะสยามสมัยนั้นยังคงใช้ “คลอง-แม่น้ำ” เป็น “ทางหลวง” สัญจรเป็นหลัก
Image
คลองสายหนึ่งในกรุงเทพฯ
ภาพ : หนังสือ รำลึกร้อยปี กรุงเทพมหานคร

Image
ที่เก็บเรือพระราชพิธีใกล้กับวัดสระเกศ จุดเชื่อมระหว่างคลองมหานาคกับคลองรอบกรุง
ภาพ : หนังสือ Bangkok Only Yesterday

เวนิสตะวันออก
ในปี ๒๓๒๘ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฯ ให้ข้อมูลการขยายเส้นทางคมนาคมทางน้ำของราชธานีใหม่ว่ามีการทำอิฐจะก่อกำแพงพระนครใหม่ โดยรื้อกำแพงเมืองเก่า (ที่เคยทำหน้าที่ป้องกันกรุงธนบุรีฟากตะวันออก) รื้อป้อมวิไชยเยนทร์ (สร้างคู่อยู่ตรงข้ามกับป้อมวิไชยประสิทธิ์ที่อยู่ฝั่งตะวันตก) จากนั้นขยายพื้นที่ออกไปด้วยการเกณฑ์ “...เขมรหมื่นหนึ่งมาขุดคูพระนครด้านตะวันออกตั้งแต่บางลำภู ตลอดมาออกแม่น้ำข้างไต้ยาวแปดสิบห้าเส้นสิบสามวา กว้างสิบวาฤกห้าศอกให้ชื่อว่าคลองรอบกรุง  ด้านแม่น้ำตั้งแต่ปากคลองรอบกรุงขึ้นไปถึงปากคลองบางลำภูยาวเก้าสิบเบ็ดเส้นสิบหกวา รวมทางน้ำร้อยเจดสิบเจดเส้นเก้าวา แล้วขุดคลองหลอดออกจากคลองคูเมืองเดิมสองคลอง ไปออกบรรจบคลองคูใหม่รอบเมือง แล้วให้ขุดคลองใหญ่เหนือวัดสะแก พระราชทานนามว่าคลองมหานาค สำรับประชาชนชาวพระนครลงเรือไปเล่นเพลงศักระวาในเทศกาลน้ำเหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุทธยาเก่า”

รายละเอียดในพงศาวดารทั้งหมดหากนำมาลงจุดบนสถานที่จริงในปัจจุบันจะพบว่า คลองรอบกรุงคือคูเมืองชั้นที่ ๒ (ชั้นแรกคือคลองหลอด) โดยแต่ละช่วงของคลองถูกเรียกตามย่านที่คลองไหลผ่าน

ไล่จากทางเหนือเริ่มต้นที่ป้อมพระสุเมรุ คนท้องถิ่นสมัยนี้เรียกว่า “คลองบางลำพู” ยาวลงมาทางใต้จนบรรจบกับ “คลองมหานาค” (ที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของคลองแสนแสบในเวลาต่อมา) เหนือวัดสระเกศ (วัดสะแกเดิม) ไหลลงไปทางใต้กลายเป็น “คลองสะพานหัน” “คลองวัดเชิงเลน” และช่วงสุดท้ายเรียกว่า “คลองโอ่งอ่าง”

ส่วนคูเมืองชั้นแรกแต่เดิมที่เป็นคูเมืองของกรุงธนบุรีด้านตะวันออกก็กลับกลายเป็นคลองที่อยู่ภายในกำแพงกรุงและเป็นเส้นทางคมนาคมภายในพระนครไป วัดสะแกกลายมาเป็นชุมทางของคลองด้านทิศตะวันออก ได้รับพระราชทานนามใหม่เป็นวัดสระเกศ โดยมีแรงงานเขมร “ทำรากก่อพระอุโบสถ”
Image
ภาพถ่ายทางอากาศคลองมหาสวัสดิ์ บริเวณสถานีรถไฟงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ปี ๒๔๘๙
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

จากนั้นสร้างป้อมตลอดแนวคลองคูเมืองชั้นที่ ๒ (ที่กลายเป็นแนวป้องกันหลักของราชธานีใหม่) แนวกำแพงนั้นเกณฑ์แรงงาน “เมืองเวียงจันห้าพัน” มา “ขุดรากก่อกำแพงพระนครวางป้อมระยะห่างกันสิบเส้นบ้างไม่ถึงบ้าง” จนเกิดป้อมรอบกรุง ๑๙ ป้อม ประกอบด้วย “พระสุเมรุ ยุคนธร มหาปราบ มหากาฬ หมูทลวง เสือทยาน มหาไชย จักรเพชร ผีเสื้อ มหาฤกษ์ มหายักษ์ ภูผาสุทัศน์ สัตบรรพต โสฬสลีลา มหาโลหะ อินทรังสรรค์ พระจันทร์ พระอาทิตย์ และอิสินธร”

โครงข่ายคลองยังขยายตัวต่อไปอีกมาก โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อสยามต้องทำศึกกับเวียดนามในกัมพูชา (อานามสยามยุทธระหว่างปี ๒๓๗๖-๒๓๙๐) ก็มีการขุด “คลองแสนแสบ” เชื่อมไปยังแม่น้ำบางปะกง (ใช้เวลาขุดระหว่างปี ๒๓๘๐-๒๓๘๓) เพื่อส่งกำลังบำรุงทางยุทธศาสตร์ เป็นระยะทางกว่า ๗๔ กิโลเมตร โดยใช้แรงงานชาวมลายู ลาว เขมร ที่กวาดต้อนมาจากศึกสงครามครั้งต่าง ๆ เป็นกำลังหลัก

คลองนี้ถือเป็นคลองสำคัญที่สุดที่ขุดขึ้นในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

คลองรอบกรุงชั้นที่ ๓ คือคลองผดุงกรุงเกษม เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ด้วยความต้องการขยายเขตราชธานี จึงจ้างจีนขุดคลองขึ้นอีกชั้นหนึ่ง แล้วเสร็จในปี ๒๓๙๕ ยาว ๕.๕ กิโลเมตร ปากคลองทางเหนืออยู่ที่วัดสมอแครง (วัดเทวราชกุญชร) ขุดขนานกับคลองรอบกรุงชั้นที่ ๒ ผ่านย่านวัวลำพอง (หัวลำโพง) ตัดคลองมหานาค ผ่านวัดท่าเกวียน (วัดมหาพฤฒาราม) แล้วไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่ย่านสี่พระยา

การขุดคลองผดุงกรุงเกษมทำให้พื้นที่ราชธานีเพิ่มเป็น ๘.๘๘๓ ตารางกิโลเมตร แนวคลองด้านฝั่งตะวันออกยังเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่าย โดยเฉพาะคลองแสนแสบนั้นมีช่องทางเชื่อมกับคลองย่อยมากกว่า ๕๐ สายทอดยาวออกไปทางด้านทิศเหนือและใต้ของคลอง

หากสำรวจจำนวนคลองจะพบว่ามีโครงการขุดคลองสำคัญในกรุงช่วงรัชกาลที่ ๑-๔ ก่อนทำสนธิสัญญาเบาว์ริง (ปี ๒๓๙๘) อย่างน้อยห้าคลอง คือ คลองผดุงกรุงเกษม คลองหลอด คลองมหานาค คลองพระโขนง และคลองแสนแสบ
ถนน-และหลักเขตราชธานี
เอนก นาวิกมูล นักค้นคว้าและสะสมวัตถุเกี่ยวกับช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ระบุว่า ในด้านอาณาเขต ยุคก่อนรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์น่าจะมี “เสาหินบอกเขต” เห็นได้จากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยตรัสถึง “เขตเสาศิลาซึ่งปักแต่ก่อนเป็นอาถรรพ์” ใน ตำนานภาษีอากรบางอย่าง โดยรัชกาลที่ ๓ มีพระราชประสงค์ให้ประชาชนลดละการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จึงให้ปรับไหมคนที่หา “จันละเม็ด” (สันนิษฐานว่าเป็น “ไข่เต่า” หรือปลาชนิดหนึ่ง) นอกเขตราชธานี  ส่วนในเขต “เสาศิลา” นั้นห้ามหากุ้งปลา ในกรณีมีผู้กระทำผิดให้ปรับเป็นเอาทรายเข้าวัด
การจัดการพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์มีฐานคิดจาก “จักรวาลวิทยาแบบพุทธ” ที่สื่อถึงลำดับชั้นของสังคม
Image
ท้องสนามหลวง สันนิษฐานว่าถ่ายในสมัยรัชกาลที่ ๕
ประตูสามยอด ส่วนหนึ่งของถนนเจริญกรุงตอนปลาย ก่อนออกจากเขตกำแพงกรุง ถ่ายในสมัยรัชกาลที่ ๕
เอนกสันนิษฐานว่าสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการปักเสาหินที่ว่านี้กระจายไปทั้งสี่ทิศ แต่ยังไม่ทราบจำนวนและขอบเขต มีร่องรอยใน นิราศภูเขาทอง ของสุนทรภู่ที่แต่งในปี ๒๓๗๑ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓) กล่าวถึง “เสาหิน” ที่ “เป็นสำคัญปันแดนในแผ่นดิน” ที่เห็นเมื่อแจวเรือถึงวัดเสาประโคน ปัจจุบันคือวัดดุสิดาราม ริมสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งธนบุรี)

ชื่อ “เสาประโคน” นั้นมีนัยสำคัญตรงกับข้อมูลใน นิราศวังบางยี่ขัน ของ “คุณพุ่ม” (กวีหญิงชื่อดัง มีชีวิตอยู่ในช่วง รัชกาลที่ ๓-๕ คนส่วนมากเรียกว่า “บุษบาท่าเรือจ้าง”) แต่งเมื่อปี ๒๔๑๒ (ช่วงต้นรัชกาลที่ ๕) เล่าถึง “เสาหินสิ้นสังเกตเขตนคร” ที่ “วัดประโคนเขต” เช่นกัน ทั้งนี้ นิราศฉลาง (ไป
เมืองถลาง) ของนายมี (หมื่นพรหมสมพัตสร) ลูกศิษย์สุนทรภู่ก็ระบุตรงกันว่าเห็น “หลักปักเขต” เมื่อถึงบ้านคอกควาย (แถววัดยานนาวาปัจจุบัน) ก่อนจะผ่านย่านสำเหร่เช่นกัน

แต่ทุกวันนี้เราไม่พบเสาหินที่ว่านี้แล้ว

สมัยรัชกาลที่ ๔ ยังมี ประกาศหมายเลข ๘๖-๘๗ ในปี ๒๓๙๙ ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติต่อฝรั่งในเมืองไทย กำหนดให้ฝรั่งอยู่ “ไม่ใกล้ไม่ไกล” จากราชธานี คือเขตห่างกำแพงกรุง
ไม่เกิน ๒๐๐ เส้น (๘ กิโลเมตร) ที่ดินในเขตนี้ให้เช่าได้ แต่ห้ามขายขาดให้ฝรั่งที่อยู่เมืองไทยไม่ถึง ๑๐ ปี ส่วนในระยะพายเรือ ๒๔ ชั่วโมง (๑ วัน) จากกำแพงกรุง ให้ขายขาดได้
แต่ถ้าไกลกว่านี้ห้ามเช่าและขายให้ เพราะเกรงคนสยามไม่เคยเห็นฝรั่ง “จะข่มเหง” เอา และอาจเกิดปัญหาใหญ่ขึ้น พระราชโองการนี้เองที่ทำให้ขุนนางกรมเมืองต้อง “ไปกับขุนนางอังกฤษ วัดทางสองร้อยเส้นรอบพระนคร ปักเสาศิลาไว้ ๔ ทิศ เป็นที่หมายของวงเวียนรอบพระนคร”

วาน รอยยังเสนอว่า การจัดการพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ ในช่วงนี้เป็นไปตามพระบรมราชโองการของกษัตริย์ แม้ที่ผ่านมาจะอยู่ภายใต้การดูแลของกรมนครบาล มีฐานคิดจาก “จักรวาลวิทยาแบบพุทธ” เรื่อง “มณฑล” (mandala) ที่สื่อถึงลำดับชั้นของสังคม โดยมีศูนย์กลางคือ “ยอดเขาพระสุเมรุ” อยู่ที่ศาลหลักเมือง (ใกล้กระทรวงกลาโหม) แวดล้อมด้วยพื้นที่สำคัญต่าง ๆ คือ วังหลวง วังหน้า บ้านขุนนาง พื้นที่ของไพร่ ฯลฯ
Image
เสาหลักบอกเขตกรุงเทพฯ กลางปากอ่าวไทยตอนในเขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ในอดีตแผ่นดินเคยงอกไปจนถึงจุดนี้ต่อมาชายฝั่งถูกกัดเซาะเข้ามา
ภาพ : เอนก นาวิกมูล

เอนก นาวิกมูล ให้ข้อมูลว่าภาพนี้คือ “ถนนเจริญกรุง” บริเวณหน้า “ห้างถ่ายรูปพร้อม” ที่ปากตรอกชาร์เตอร์ดแบงก์ ถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๖ จะเห็นแนวรางของรถรางที่วิ่งบนถนนอยู่ด้านขวา
การสร้างเมืองตามแนวคิดนี้ยังทำให้ผู้คนรับรู้ร่วมกันเรื่องพื้นที่และเวลา “จำลองจักรวาลวิทยา (แบบพุทธ) ลงมาในโลกความเป็นจริง ไม่เพียงให้ความชอบธรรมกับพระราชอำนาจไม่ให้ด้อยกว่าอาณาจักรข้างเคียง แต่ยังเป็นอำนาจจัดการพื้นที่เมือง” และส่งผลถึงการจัดการสถาบันทางสังคมทั้งหมด

ผังเมืองของกรุงรัตนโกสินทร์จึงต่างจากผังเมืองสำคัญในยุโรปที่อยู่บนแนวคิดเรื่องการจัดการสัญจรบนถนนด้วยรถม้าและยานพาหนะทางบก การวางแผนเรื่องการกระจายตัวของประชากรโดยไม่ได้แบ่งชนชั้นหรือเชื้อชาติ (แต่แบ่งตามการใช้งาน) โดยอำนาจการดูแลราชธานีอยู่ภายใต้อำนาจของเสนาบดีกรมเวียง (เมือง)

“ส. พลายน้อย” อธิบายว่าถนนในกรุงยุคแรกน่าจะมีขนาดเล็กและแคบ พื้นที่ส่วนมากยังเป็น “ป่าเตี้ยปนละเมาะเราดี ๆ นี่เอง มีทุ่งหญ้าแทรกแซงอยู่บ้างเป็นตอน ๆ พึ่งมีมนุษย์มาหักล้างถางที่ปลูกเคหสถานอยู่กันเป็นหย่อม ๆ รอบพระนครริมกำแพงเมือง” โดยส่วนมากคนที่เป็นทาสมักปลูก “เพิงสุนัขแหงนมุงจาก” อยู่กันเป็นระยะ โดยใช้กำแพงเมืองเป็นผนัง อีกสามด้านเป็นไม้ขัดแตะ

“บ้างก็เปิดด้านหน้าออกขายกล้วยแขกบ้าง ข้าวโพดคั่ว อ้อยควั่นบ้าง ตามแต่ฤดูกาลจะอำนวยพืชผลอะไรให้มีขายก็ขายกันไปตามเพลง” ส่วนบนกำแพงเมืองบางจุดกลายเป็นที่เลี้ยงวัวจน “นาน ๆ ก็มีวัวก้าวพลาดพลัดกำแพงลงมาบนหลังคาเพิงของชาวบ้าน ทำให้โกลาหลอลหม่านกันเสียทีหนึ่งพอแก้เหงา”

พื้นที่ที่ไม่มีคนสร้างบ้านเรือนก็เป็น “ป่าโสนมืดทึบ หน้าน้ำ น้ำขังแค่บั้นเอว เช่น แถวบางลำพู คอกวัว ไปจนกระทั่งวัดศิริเหล่านี้เมื่อก่อนเป็นดงน้ำโสนเฉอะไปทั้งนั้น ทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง) ก็ยังเป็นป่าหญ้ารก หน้าน้ำ น้ำเซาะเข้าขังเจิ่งเป็นที่ตกกบตกปลากินกัน ถึงหน้าแล้งก็ใช้สร้างเมรุกันเสียที...”

ราชธานีสยามยุคนี้จึง “เงียบเหงา” และ “รก” พอสมควร
การตัดถนนทำให้เกิด “ชีวิตสมัยใหม่” และ “วิถีแบบใหม่” ที่ไม่พึ่งพาแม่น้ำลำคลองในเขตพระนคร
Image
รถรางในกรุงเทพฯ ยุคแรก
บางกอกที่เปลี่ยนไป
หลังทำสนธิสัญญาเบาว์ริง (ปี ๒๓๙๘) สยามเปิดการค้าขายกับตลาดโลก ผลคือมีชาวต่างชาติเข้ามาในพระนครจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเข้ามาทำธุรกิจค้าขายและเช่าที่ทางอยู่ในเขตที่ไม่ห่างจากใจกลางเมืองมากนัก โดยพวกเขาเรียกราชธานีของสยามเป็นคำง่าย ๆ ว่า “บางกอก” (Bangkok) เช่นเดียวกับชาวต่างชาติรุ่นก่อน

และการเข้ามาของฝรั่งดั้งขอนี้เองที่สร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญ 

รัชกาลที่ ๔ ทรงตั้ง “จังหวัดพระนคร” ขึ้นในปี ๒๔๐๘ มีเขตการปกครองแรกตั้ง ๑๓ อำเภอ แต่ก็ยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของกรมเวียง

ในยุคนี้พระนครเริ่มขยายออกไปทางด้านทิศตะวันออกและใต้ มีการตัดถนนเจริญกรุงในปี ๒๔๐๔ เนื่องจากกงสุลหลายประเทศรวมตัวกันทำเรื่องกราบบังคมทูลฯ ว่าเดิม “เคยขี่รถม้าเที่ยวตากอากาศ ได้ความสบายไม่มีเจ็บไข้ เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพพระมหานคร ไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถขี่ม้า พากันเจ็บไข้เนือง ๆ ...” 

รัชกาลที่ ๔ ทรงมองว่าคนยุโรปเข้ามาอยู่มากขึ้นทุกปี “...บ้านเมืองเขามีถนนหนทางก็เรียบรื่น สะอาดไปทุกบ้านทุกเมือง  บ้านเมืองของเรามีแต่รกเรี้ยว หนทางก็เป็นตรอกเล็กซอกน้อย หนทางใหญ่ก็เปรอะเปื้อนไม่เป็นที่เจริญตา ขายหน้าแก่ชาวนานาประเทศ เขาว่าเข้ามาเป็นการเตือนสติ เพื่อจะให้บ้านเมืองงดงามขึ้น”

จึงมีพระบรมราชโองการให้ตัดถนนสายแรก ที่ต่อมาพระราชทานชื่อว่า “เจริญกรุง”

ถนนเจริญกรุงเปิดใช้ในปี ๒๔๐๗ ก่อสร้างด้วยเทคนิคโบราณ คือ เกลี่ยดินให้เรียบ เอาอิฐเรียงตะแคงให้ชิดกันใช้
ปูพื้น ทำตรงกลางให้นูน สองข้างทางมีร่องน้ำก่อด้วยอิฐกว้างฟุตเศษ ลึกราว ๒ ฟุต 

ถนนสายนี้ถูกสร้างส่วนนอกเมืองก่อน ตั้งแต่แยกสามยอดไปสุดปลายถนน (ส่วนที่เรียกว่าถนนตก) ส่วนในเมืองคือตั้งแต่ประตูสามยอดมาจนถึงหัวมุมวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างขึ้นทีหลังและมีการสร้างตึกแถวชั้นเดียวไปด้วย (พระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์)ถนนสายนี้ต่อมากลายเป็นย่านที่เริ่มเจริญ มีผู้คนคึกคักขึ้นก่อนย่านอื่นในพระนคร ถึงแม้ว่าในช่วงแรกคนใช้ถนนจะน้อยจนรัชกาลที่ ๔ ตรัสว่าฟากหนึ่งของถนนนั้น “ยับ (พังและรก) ไปเสียก่อน” แต่ภายหลังเพียงรัชกาลเดียวก็กลายเป็นย่านการค้าที่คึกคัก อีกทั้งยังเป็นสายแรก ๆ ที่เริ่มติดตั้งไฟฟ้าส่องทาง
Image
รัชกาลที่ ๕ เสด็จฯ ไปทรงเปิดทางรถไฟสายปากน้ำ
ฝรั่งเรียกถนนสายนี้ติดปากว่า “new road” หรือ “ถนนใหม่” ทั้งยังถือเป็นย่านแรกของสยามที่ผู้คนมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบใหม่โดยยึด “ถนน” ในการสัญจรมากกว่า “แม่น้ำ”

ทั้งนี้ยังตัดถนนด้านตะวันออกของพระนคร เช่น บำรุงเมือง เฟื่องนคร แล้วสร้างตึกแถวชั้นเดียวสองข้างทาง ซึ่งต่อมาถนนเหล่านี้ก็กลายเป็นย่านการค้าของคนจีน แขก และฝรั่ง
พระนครยังขยายไปทางตะวันออกมากขึ้นเมื่อมีการขุดคลองถนนตรง (คลองหัวลำโพง) ออกจากคลองผดุงกรุงเกษมบริเวณหน้าหัวลำโพงไปจดกับคลองพระโขนง (ที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา) เพื่อเปิดทางลัดขนสินค้าเข้ากรุง (ปัจจุบันแนวคลองนี้ถูกถมเกือบทั้งหมด) อันเป็นเหตุให้เกิดถนนตรง (ถนนพระรามที่ ๔)

ในภาพรวม สมัยรัชกาลที่ ๔ กรุงเทพฯ จึงมีแนวโน้มขยายตัวออกไปทางด้านทิศตะวันออกและใต้มากกว่าทิศอื่น การขุดคลองและตัดถนนสายใหม่ก็ล้วนมุ่งไปยังพื้นที่สองส่วนนี้ ส่วนทางเหนือของพระนครยังคงเป็นพื้นที่รกร้าง ด้านฝั่งธนบุรี การขยายตัวของเมืองยังจำกัดอยู่ในเขตที่เป็นกรุงธนบุรีเก่า และในช่วงนี้ธนบุรีก็มิได้นับรวมว่าเป็นพระนครแต่อย่างใด โดยวาน รอยยังเสนอว่าฝั่งตะวันตกนั้นเริ่มโรยราไปเมื่อเชื้อพระวงศ์ระดับสูงสิ้นพระชนม์ นอกจากพระราชวังหลังก็ไม่มีการก่อสร้างที่อยู่ของขุนนางเพิ่มเติม แต่ก็น่าสนใจว่ามีข้อมูลจำนวนมากที่ระบุว่ายังมีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนเพิ่มขึ้นในฝั่งธนบุรีมาจนถึงราวสมัยรัชกาลที่ ๓ 

สมัยรัชกาลที่ ๔ ยังมีการขุดคลองในฝั่งตะวันตก เช่นคลองมหาสวัสดิ์ (ปี ๒๔๐๒) เพื่อเชื่อมการเดินทางไปยังเมืองนครปฐม โดยคลองนี้เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาไปออกแม่น้ำท่าจีนเป็นระยะทาง ๒๕ กิโลเมตร ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น
ใครคือ “คนบางกอก”
เซอร์จอห์น เบาว์ริง ทูตอังกฤษที่เดินทางมาทำสนธิสัญญากับสยามหลังก่อตั้งกรุง ๗๓ ปี ประมาณจำนวนประชากรในพระนครสมัยรัชกาลที่ ๔ ว่าน่าจะมีไม่เกิน ๓ แสนคน และ
ทั้งอาณาจักรน่าจะมีราว ๕ ล้านคน แต่ถ้าย้อนไปช่วงตั้ง พระนครใหม่ ๆ เขาคาดว่าสยามน่าจะมีประชากรไม่เกิน ๑-๒ แสนคน

ขณะที่วาน รอยเชื่อว่ากรุงเทพฯ มีคนที่ไม่ใช่สยามอยู่ราว ๗-๘ หมื่นคน คือ “คนเขมร ลาว และเชลยศึกนับพันคนถูกเกณฑ์ให้ใช้แรงงานหนักและตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณชานพระนคร”

ร่องรอยความหลากหลายอีกอย่างคือ ทั้งในและรอบเกาะรัตนโกสินทร์มีชุมชนเก่าแก่จำนวนมากแฝงตัวอยู่ เช่น ท่าเตียน ท่าวัง ถนนพระอาทิตย์ บางลำพู วัดสามพระยา วัดสังเวช ปั้นหยาบวรรังสี วิสุทธิกษัตริย์ บ้านพานถม บ้านบาตร วัดสระเกศ ภูเขาทอง ป้อมมหากาฬ สามแพร่ง สามยอด นางเลิ้ง นาครเขษม บ้านหม้อ ปากคลองตลาด ฯลฯ

ชุมชนเหล่านี้ล้วนมีที่มาเฉพาะของตนเอง บางชุมชนก็ชัดเจนว่าเป็นเชื้อสายคนเก่าแก่ที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ เช่น ท่าวัง ที่สืบสายมาจากข้าราชบริพารของวังท่าพระ หรือกรณีชุมชนบ้านบาตรที่เป็นกลุ่มคนมีชื่อเสียงในการทำบาตรพระ เป็นต้น ยังมีร่องรอยในชื่อสะพาน เช่น สะพานญวน หรือถ้าดูชุมชนที่อยู่รอบเกาะ ก็จะพบบ้านญวนสามเสน บ้านโปรตุเกสกุฎีจีน (ฝั่งธนฯ)

คนเหล่านี้เองที่ประกอบขึ้นเป็นคนพระนคร

ส่วนถ้าจะถามหาคนพระนครแท้ ๆ นั้น อาจเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้
Image
สถานีรถไฟหัวลำโพง ถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๖
ภาพ : สมุดภาพสถาปัตยกรรมกรุงรัตนโกสินทร์

ก่อนเข้าสู่ "สมัยใหม่"
ถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ลักษณะทางกายภาพของพระนครก็เปลี่ยนแปลงรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม

เครือข่ายคลองยังคงได้รับการขยายอย่างต่อเนื่อง มีการขุดคลองสำคัญคือคลองสวัสดิ์เปรมประชากร (คลองเปรมประชากร) สำเร็จในปี ๒๔๑๓ โดยเป็นแนวต่อออกจากคลองผดุงกรุงเกษมหน้าวัดโสมนัสวิหาร ขึ้นไปทางทิศเหนือจนจดเขตอยุธยาเพื่อย่นระยะทางไปยังกรุงเก่าและบุกเบิกพื้นที่ใหม่

ทั้งนี้คลองเปรมฯ เป็นโครงการเก่า รัชกาลที่ ๔ มีพระราชดำริตั้งแต่ปี ๒๔๐๘ แต่เริ่มลงมือในรัชกาลที่ ๕ โดยมีระยะทางประมาณ ๕๑ กิโลเมตร

การขุดคลองยุคนี้มีพระราชดำริว่า “เพื่อให้เป็นที่มหาชน ทั้งปวงไปมาได้อาศัย แลเปนทางที่จะให้สินค้าได้บรรทุกไปมาโดยสะดวก ซึ่งให้ผลแก่การเกิดเรือกสวนไร่นา ซึ่งจะได้เกิด
ทวีขึ้นในพระราชอาณาจักร...”

ต่อมายังมีการขุดคลองรังสิตประยูรศักดิ์ (ปี ๒๔๔๘) ที่ถึงแม้อยู่ห่างพระนครขึ้นไปทางเหนือ แต่ก็เป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ขยายพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ในทุ่งรังสิตด้วยคลองหลักและรองมากกว่า ๖๐ สาย ตอบสนองระบบเศรษฐกิจสยาม
ที่ผูกพันกับตลาดโลกมากขึ้นจากการส่งออกข้าว

ทั้งนี้ยังมีการขุดคลองนครเนื่องเขต (ปี ๒๔๒๐) เชื่อมคลองแสนแสบกับคลองท่าไข่ (จังหวัดฉะเชิงเทราปัจจุบัน), คลองทวีวัฒนา (ปี ๒๔๒๑) เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน,
คลองประเวศบุรีรมย์ (ปี ๒๔๒๓) เชื่อมคลองพระโขนงกับแม่น้ำบางปะกง, คลองประปา (ปี ๒๔๕๖) เพื่อสร้างระบบประปาให้พระนคร

กรณีคลองประเวศฯ ทางการแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณด้วยการขอให้ราษฎรร่วมกันออกค่าขุด เพื่อแลกกับการบุกเบิกจับจองที่ดินริมคลองด้วย

ในรัชกาลนี้สิ่งใหม่ที่ส่งผลต่อกายภาพของเมืองคือระบบขนส่งมวลชนทางบกที่เติบโตพร้อมกับการตัดถนน โดยเฉพาะรถไฟ (railway) และรถราง (tram)

รถรางสายแรกของพระนครเปิดใช้ในปี ๒๔๓๑ โดย อัลเฟรด จอห์น ลอฟตัส (Alfred John Loftus) ชาวอังกฤษ และ ริเชลิว (Richelieu) ชาวเดนมาร์ก ที่รัฐบาลสยามจ้างมาวาง
รากฐานระบบ ทหารเรือได้รับสัมปทานสร้างรถรางสายศาลหลักเมือง-ท่าเรือกรุงเทพฯ (ใกล้วัดยานนาวา) ยาว ๕ กิโลเมตร สองคนนี้ต่อมาดำเนินการสร้างรถรางอีกหลายเส้นทางในนามบริษัท Bangkok Tramway Company
Image
Plan of Bangkok A.D. 1888 แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับแรกที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีการทำแผนที่สมัยใหม่ ส่วนแทรกของชุด “แผนที่แมคคาร์ธี” หรือ Map of The Kingdom of Siam and its Dependencies พิมพ์ที่อังกฤษในปี ๒๔๓๑ กรมแผนที่ทหารจัดพิมพ์อีกครั้งในปี ๒๕๒๗ จะเห็นแนวถนนเจริญกรุงที่เปลี่ยนภูมิทัศน์เมือง
ภาพ : แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๔๗๕

ในช่วงแรกรถรางใช้ม้าแปดตัวลากจูง ต่อมาจึงเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้า (ปี ๒๔๓๖) ทำให้เมืองหลวงของสยามกลายเป็นเมืองแรกในเอเชียที่มีรถรางไฟฟ้าใช้ หลังจากนั้นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ (พระยศขณะนั้น) ซึ่งลาออกจากราชการในกรมพระคลังมหาสมบัติมาจับงานทางด้านธุรกิจ ยังตั้งบริษัทรถรางไทยทุน จำกัด (Siamese Tramway Company) มาประมูลสัมปทานแข่งขันและดำเนินการรถรางสายอื่น ๆ ด้วย

ยุคนี้รถรางขยายตามเครือข่ายถนน เช่น เมื่อตัดถนนเยาวราชเสร็จ (ปี ๒๔๓๕) ก็มีรถรางสายสามเสนช่วง “สะพานเหลือง-หัวลำโพง” รูปแบบการพัฒนาลักษณะนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การตัด “ถนนราชดำเนิน” (ปี ๒๔๔๖) ยังทำให้พื้นที่ทางตอนเหนือของพระนครถูกบุกเบิกพร้อมการสร้างวังให้พระบรมวงศานุวงศ์รอบเขตพระราชวังดุสิตที่เกิดขึ้นใหม่

หลังจากนั้นการขยายตัวของพระนครก็ไปทั้งด้านเหนือ ตะวันออก และทางใต้  รัชกาลที่ ๕ ยังทรงปรับปรุงโครงสร้างการปกครองให้พระนครไปอยู่ในกำกับกระทรวงนครบาล (เขตมณฑลกรุงเทพฯ) ตั้ง “สุขาภิบาล” ดูแล เพื่อทดลองการปกครองส่วนท้องถิ่น

คำเรียก “กรุงเทพฯ” ในภาษาไทยน่าจะเริ่มติดปากผู้คนตั้งแต่ช่วงนี้

โดยกว่าที่จะเริ่มมีแนวคิดพัฒนาเมืองสมัยใหม่ก็ต้องรอจนมีกฎหมายผังเมืองฉบับแรกคือ พระราชบัญญัติการผังเมืองและผังชนบท พ.ศ. ๒๔๙๕ (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
๒๐ ปี) 

จากนั้นกรุงเทพฯ ก็ถูกย้ายไปอยู่ภายใต้โครงสร้างการปกครองของกระทรวงมหาดไทย

ระหว่างปี ๒๕๑๔-๒๕๑๕ ภายใต้รัฐบาลทหารของจอมพล  ถนอม กิตติขจร (ปี ๒๕๐๖-๒๕๑๖) ก็มีการยุบรวม “จังหวัดธนบุรี” เข้ากับ “จังหวัดพระนคร” กลายเป็น “กรุงเทพมหานคร”

ในมุมหนึ่งก็ทำให้ย่าน “บางกอก” ที่ถูกเรียกมาแต่ดั้งเดิมทั้งด้านตะวันตกและตะวันออกกลับมาอยู่รวมกันอีกครั้ง

หลังจากนั้นก็เริ่มมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ (สลับกับการแต่งตั้งเมื่อเกิดการรัฐประหาร)

สองร้อยสี่สิบปีที่ผ่านมา ในแง่กายภาพ กรุงเทพฯ พัฒนาไปแบบไหน

ชาวกรุงเทพฯ ย่อมมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว  
Bangkok
บางกอกมาจากไหน ?
“ส. พลายน้อย” นักเขียนสารคดีอาวุโส เสนอว่า “บางกอก” เป็นคำที่คนสยามเรียกย่านที่กลายเป็นกรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดย “บางกอก” ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาที่เส้นทางไหลดั้งเดิมไม่ได้เป็นเหมือนปัจจุบันที่ไหลผ่านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เส้นทางไหลเดิมของเจ้าพระยาช่วงนี้คือ จะไหลมาจากทางเหนือแล้วไปทางคลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) ก่อนออกมาด้านทิศใต้ของวัดอรุณราชวราราม

จนมีการขุดคลองลัด เริ่มจากปากคลองบางกอกน้อยทางเหนือตรงลงมาถึงปากคลองบางกอกใหญ่ทางใต้ (เส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบันตั้งแต่บริเวณสะพานสมเด็จพระ
ปิ่นเกล้าลงไปถึงหน้าวัดอรุณฯ) ราวสมัยอยุธยาตอนกลาง (บ้างก็ว่ารัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช บ้างก็ว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) แล้วตั้งเมือง “ธนบุรี” ขึ้น ผลคือฝั่งตะวันตกก็กลายเป็นพื้นที่สวน เพราะดินดีทำให้มีสวนผลไม้มากจนมีผลไม้ขึ้นชื่อหลายชนิด ในขณะที่ฝั่งตะวันออกดินแย่กว่าจึงเป็น “ทุ่ง” เหมาะกับการทำนา

นับแต่นั้นบางกอกก็กลายเป็นสองฝั่ง เมื่อตั้งกรุงธนบุรีในช่วงปลายปี ๒๓๑๐

บันทึกของทูตฝรั่งเศสคือ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ที่เข้ามาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ปี ๒๒๓๖) ระบุว่าคนสยามรับรู้ชื่อธนบุรี แต่คนต่างชาติ “ไม่มีใครรู้เหมือน (กับ) ชื่อบางกอก”

ที่มาของชื่อ “บางกอก” ก็ยังเป็นที่ถกเถียง มีหลายทฤษฎี เช่น เดิมเป็นป่ามะกอก อีกข้อเสนอมาจากหมอสมิท (Malcolm Smith) แพทย์หลวงชาวอังกฤษประจำราชสำนักสยาม (ช่วงรัชกาลที่ ๕-๗) ว่าชาวโปรตุเกสเป็นผู้ใช้คำนี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่สมัยอยุธยา

ฟร็องซัว-ตีมอเลอง เดอ ชัวซี (François-Timoléon de Choisy) บาทหลวงที่เดินทางมาสยามในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ ยังเสนอความหมายของคำนี้ว่า “บาง” คือบึง “กอก” คือที่ลุ่มที่กลายเป็นที่ดอน

บ้างก็ว่ามาจาก Benkok ภาษามลายูที่แปลว่าโค้ง อันหมายถึงลักษณะของแม่น้ำเจ้าพระยาย่านนี้

ขณะที่รัชกาลที่ ๔ ทรงฟันธงว่า “บางกอก” ที่ติดปากฝรั่งมาจากการที่สร้างเมืองระหว่าง “คลองบางกอกทั้งสอง”
ข้อถกเถียงเรื่องชื่อ
“กรุงเทพฯ”

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน ระบุถึงชื่อราชธานีใหม่ของสยามที่ตั้งขึ้นในปี ๒๓๒๕ เป็นครั้งแรกหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ในปี ๒๓๒๘ (ครั้งแรกทำแบบย่อในปี ๒๓๒๕) ว่า “กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร มหินทราอยุทธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมาน เอาวตารสฐิตย์สักะทัตติยวิศณุกรรมประสิทธิ์”

โดยในพงศาวดารอาณาจักรข้างเคียงกันยังเรียกราชธานีสยามติดปากว่า “กรุงศรีอยุทธยา” แม้ว่าสยามจะเปลี่ยนที่ตั้งเมืองหลวง ด้วยยังติดภาพจำของอยุธยาที่มีอายุยาวนานถึง ๔๑๗ ปี ซึ่งจริง ๆ แล้วกรุงเทพฯ ก็มีรากมาจากสร้อยนามเดิมของอยุธยาคือ “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา”

ส่วนหลักฐานไทยหลายชิ้นเรียกราชธานีตนเองแบบย่อว่า “กรุงรัตนโกสินทร์ฯ” สลับไปกับ “กรุงเทพฯ” ถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงเปลี่ยนสร้อยนามท่อนที่ว่า “บวร-รัตนโกสินทร” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์” และ “มหินทราอยุทธยา”
เป็น “มหินทรายุธยา” อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏหลักฐานที่กล่าวถึงเหตุผลในการเปลี่ยนชัดเจน แต่สันนิษฐานว่ารัชกาลที่ ๔ ทรงเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับคำเรียกพระแก้วมรกตในตำนาน รัตนพิมพวงศ์

ในรัชกาลนี้ยังทรงตั้ง “จังหวัดพระนคร” เมื่อปี ๒๔๐๘ ทำให้เกิดคำเรียกราชธานีติดปากคนทั่วไปว่า “พระนคร” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ จังหวัดพระนครถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของ “มณฑลกรุงเทพมหานคร” ในระบบมณฑลเทศาภิบาล มีเขตอำนาจ คือ กรุงเทพฯ ธนบุรี นนทบุรี ธัญบุรี นครเขื่อนขันธ์ สมุทรปราการ และมีนบุรี จากนั้นจึงมีการตั้งสุขาภิบาล (ปี ๒๔๕๘) เพื่อทดลองการปกครองส่วนท้องถิ่น

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ จังหวัดพระนครมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลาง มีการตั้งหน่วยปกครองท้องถิ่นคือเทศบาลนครกรุงเทพ (ปี ๒๔๘๐) ต่อมาถูกรวมกับธนบุรีในปี ๒๔๑๔ เป็น “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” ก่อนที่ปี ๒๕๑๕ จะเปลี่ยนเป็น “กรุงเทพมหานคร” และคำเรียกเมืองหลวงแบบย่อว่า “กรุงเทพฯ” ก็ถูกใช้เป็นการทั่วไป โดยทางราชการใช้ตัวย่อว่า กทม.

ในปี ๒๕๖๐ Guinness Book World Record บันทึกว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก โดยมีจำนวนตัวอักษรทั้งหมด ๑๖๙ ตัวอักษรเมื่อถอดเป็นอักษรโรมัน  
เอกสารอ้างอิง
นฤมล ธีรวัฒน์ (ชำระต้นฉบับ). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ, ๒๕๓๙.

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) จดหมายรายวัน,
อภินิหารบรรพบุรุษ และเอกสารอื่น. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, ๒๕๖๒.

ส. พลายน้อย. เล่าเรื่องบางกอก. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : บำรุง
สาส์น, ๒๕๒๕.

สุเจน กรรพฤทธิ์. ๒๓๒๕ เปิดศักราชกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : สารคดี,
๒๕๖๔.

เอนก นาวิกมูล. หลัก-ฐาน-บ้าน-เมือง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, ๒๕๕๒.


ภาษาอังกฤษและเว็บไซต์

Ichiro Kakizaki. Trams, Buses, and Rails : The History of Urban Transport in Bangkok, 1886-2010. Chiang Mai : Silkworm Books, 2014.

Van Roy, Edward. Siamese Melting Pot : Ethnic Minorities in
the Making of Bangkok. Chiang Mai : Silkworm Books, 2017.

https://www.tuda.or.th/index.php/2018/08/02/000005/