Image
“นกฮูก” และกาลครั้งหนึ่ง
เนปยีดอเกมส์ ค.ศ. ๒๐๑๓
Souvenir & History
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
นับตั้งแต่กองทัพพม่า (Tatmadaw) ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๒๑ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ “สงครามกลางเมือง” ระหว่างรัฐบาลทหารพม่า นำโดยพลเอก มินอ่องหล่าย กับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government of the Republic of the Union of Myanmar - NUG) ที่คัดเลือกมาจากสมาชิกรัฐสภาที่ได้รับเลือกตั้งใน ค.ศ. ๒๐๒๐ และกองทัพประชาชน (People Defense Force - PDF) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร

สถานการณ์ในพม่ายังคงซับซ้อน เพราะถูกซ้ำเติมด้วยสงครามกับชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มที่กลับมาปะทุขึ้นอีก หลังความล้มเหลวของกระบวนการเจรจาสันติภาพเพื่อกรุยทางสู่ระบบสหพันธรัฐ (Federation State) ที่ดำเนินต่อเนื่องกันมาหลายปีถูกพับกระดานลง

ในช่วง ๑ ทศวรรษที่พม่ามี “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” (ค.ศ. ๒๐๑๐-๒๐๒๐) มีรัฐบาลพลเรือน (กองทัพถอยไปคุมเชิง แต่ยังสงวนตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรี เก็บเก้าอี้สมาชิกรัฐสภาไว้ร้อยละ ๒๕) เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายจากการเปิดประเทศ หนึ่งในเหตุการณ์เหล่านั้นคือ การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาค “ซีเกมส์ ค.ศ. ๒๐๑๓” หรือ “เนปยีดอเกมส์” ซีเกมส์ครั้งที่ ๒๗ ระหว่างวันที่ ๑๑-๒๒ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๑๓

ความทรงจำของคนไทยต่อซีเกมส์ครั้งนั้นคือ การกลับมาคว้าแชมป์ของทีมฟุตบอล (ชาย) ภายใต้การนำทัพของโค้ช “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง แต่สำหรับคนพม่า นี่คือการหวนกลับมาเป็นเจ้าภาพในรอบ ๔๔ ปี ด้วยครั้งล่าสุดที่พม่าเป็นเจ้าภาพ คือ ค.ศ. ๑๙๖๙ สมัยที่การแข่งขันรายการนี้ยังใช้ชื่อว่า “กีฬาแหลมทอง” (SEAP Games) 

จึงกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่านี่เป็นการจัด “ซีเกมส์” ครั้งแรกของพม่า ที่เพิ่งหลุดออกมาจากระบอบเผด็จการและสงครามกลางเมืองได้ไม่นาน

ทางการพม่าในเวลานั้นพยายามเตรียมตัวอย่างคึกคัก มีการเชิญคณะผู้สื่อข่าวจากประเทศเพื่อนบ้านหลายคณะเข้าเยี่ยมชมการเตรียมงาน  ช่วงต้น ค.ศ. ๒๐๑๓ ผมมีโอกาสร่วมไปในคณะผู้สื่อข่าวจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเข้าไปเยี่ยมชมกรุงเนปยีดอ เมืองหลวงใหม่ถอดด้ามของพม่า (เวลานั้น) การก่อสร้างสนามเซยาตีรี สนามกีฬาหลักที่ทางการพม่าพยายามเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จทันตามกำหนด ด้วยช่วงนั้นชาติสมาชิกต่างกังวลว่าพม่าที่เพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจ จะสามารถจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์หรือไม่
นอกจากสนามแข่ง สิ่งที่นักข่าวไทยสนใจกันมากคือของที่ระลึกซีเกมส์ ซึ่งที่ผ่านมามักได้รับความนิยมซื้อหามาสะสมอยู่เสมอ โดยเฉพาะ “ตัวนำโชค” (mascot) ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาสัมพันธ์การแข่งขันกีฬาซีเกมส์แต่ละครั้ง ซึ่งประเทศเจ้าภาพจะสร้างขึ้นให้มีเอก-ลักษณ์ของตนเอง

ใน “เนปยีดอเกมส์ ค.ศ. ๒๐๑๓” ทางการพม่าเลือกใช้ “นกฮูกคู่” เป็นมาสคอต ด้วยคนพม่าเชื่อว่านกฮูกฉลาด ใจเย็น มีความยุติธรรม นำโชคลาภ ความสุข และความสำเร็จมาให้ ซึ่งโดยปรกติตามบ้านและวัดรุ่นเก่ามักมีรูปนกฮูกติดบ้านกันอยู่แล้ว

ครั้งนี้ยังเป็นครั้งที่ ๓ ที่มีมาสคอตเป็นคู่ (ส่วนมากมาสคอตซีเกมส์มักมีตัวเดียว) นกฮูกตัวผู้ได้รับชื่อว่าชเวโย (Shwe Yoe) ส่วนนกฮูกตัวเมียชื่อมาโม (Ma Moe) ทั้งคู่มีลำตัวสีเหลือง แต่มาโมนั้นต่างกับชเวโยตรงที่มีขนตาและมีแก้มสีชมพู

ส่วนสัญลักษณ์ของการแข่งขันดัดแปลงจากแผนที่ประเทศพม่า ด้วยลายเส้นสีแดง เขียว และเหลือง (ตามสีธงชาติพม่า) เป็นรูปนักกีฬาถือลูกบอลที่ทำจากวงแหวน ๑๑ วง อันบ่งบอกจำนวนชาติสมาชิก ๑๑ ประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน และความรุ่งเรืองที่ไม่มีที่สิ้นสุด

พวงกุญแจที่ผมซื้อมาในราคา ๒,๖๐๐ จัต (ประมาณ ๕๐ บาท) เป็นตุ๊กตานกฮูกคู่ ตัวหนึ่งสีเขียว อีกตัวหนึ่งสีเหลือง คาดสายคาดสีแดงที่เอว เป็นสัญลักษณ์การแข่งขันกีฬายูโดมีตราสัญลักษณ์เนปยีดอเกมส์อยู่ที่หน้าอก ด้านหลังมีข้อความเขียนว่า 27th SEA GAMES MYANMAR 2013 : NAY PYI TAW

ผลการแข่งขันครั้งนั้น พม่าเจ้าภาพได้อันดับ ๒ ด้วยจำนวน ๘๖ เหรียญทอง ท่ามกลางเสียงวิจารณ์เรื่องการจัดกีฬาพื้นบ้านเพื่อช่วยเพิ่มเหรียญให้เจ้าภาพมากผิดปรกติ

หลังการแข่งขัน ชัยชนะ ความพ่ายแพ้ ควันหลงเรื่องเนปยีดอเกมส์ก็จางไป แต่สิ่งหนึ่งที่ผมได้ยินจากเพื่อนชาวพม่าหลายคนคือ พวกเขาหวังว่าการจัดกีฬาซีเกมส์ได้นั่นหมายความว่าพม่ามีความสงบและมั่นคงปลอดภัยในระดับหนึ่งแล้ว จากปัญหาการเมืองภายในและปัญหาทางเศรษฐกิจ

แต่ใครจะคาดคิดว่า ๘ ปีต่อมาเกิดรัฐประหาร ฉุดประเทศถอยกลับไปยุคสงครามกลางเมือง
และไม่มี ใครกล้าทำนายว่า อีกนานแค่ไหนพม่าจะได้กลับมาเป็น “เจ้าภาพซีเกมส์” อีกครั้ง