Image
การจดจ่อ 
ทักษะแห่งยุคสมัย
Holistic
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์   
ภาพประกอบ : zembe
เราอยู่ในยุคแห่งความชุลมุนวุ่นวายทางความคิดและอารมณ์ อันเนื่องมาจาก “ตัวอยู่ทาง ใจอยู่ทาง”

“โซเชียลมีเดีย” คือตัวการสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่อาจจดจ่อกับกิจกรรมตรงหน้าได้ ข้อมูลข่าวสารที่ไหลมาไม่ขาดสายกระตุ้นให้เราถอนสายตาและความสนใจจากกิจกรรมการงานที่ทำอยู่ไปดูหน้าจอโทรศัพท์มือถือ  หากดูหน้าจออยู่แล้วก็จะปัดหน้าจอไปดูเรื่องอื่น ๆ จนบ่อยครั้งลืมไปเลยว่าทำงานอะไรค้างไว้  สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเด็กหรือวัยรุ่นที่มักถูกผู้ใหญ่หรือสังคมตีตราว่า “เด็กติดเกม” ผู้ใหญ่เองก็ “ติดโซเชียลฯ” หรือ “ติดซีรีส์” เหมือนกัน

การจดจ่อหรือ “มีสมาธิ” กับสิ่งที่ทำ จะส่งผลต่อสมองเชิงกายภาพและประ-สิทธิภาพการงานอย่างเห็นได้ชัด  ในทางตรงข้าม งานวิจัยพบว่าการทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อมกันทำให้ไอคิวลดลง สมองส่วนที่เรียกว่าสมองสีเทาหรือเกรย์ แมตเทอร์ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้และความจำ การควบคุมอารมณ์และการตระหนักรู้ หดตัวลง และประสิทธิภาพของงานที่ทำค้างอยู่ลดลง ๔๐ เปอร์เซ็นต์

มีการทดลองตรวจสอบสมองผ่านเครื่องเอ็มอาร์ไอพบว่า ผู้จัดการบริษัทที่ผ่านโปรแกรมการฝึกสติเพื่อลดความเครียดมีสมองสีเทาขยายใหญ่ขึ้น

ด้วยเหตุนี้การฝึกการรู้สึกตัวหรือฝึกสติจึงเป็นหนึ่งในทางออกและเป็นทักษะสำคัญแห่งยุคสมัยในการเพิ่มประสิทธิภาพการงาน การเรียน และการใช้ชีวิตประจำวันอื่น ๆ รวมทั้งสร้างความสุขสงบให้คนคนนั้นและสังคมนั้น ๆ โดยในทางพระหรือคนทำงานเกี่ยวกับพลังสมองล้วนพูดตรงกันว่า จิตที่จดจ่อคือจิตที่มีพลังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพลังเชิงบวก เช่น ความสร้างสรรค์ ความรักความเมตตา การมีปัญญาญาณ

ผู้คนทั่วโลกต่างมีแนวทางหรือเทคนิคสร้างภาวะจิตจดจ่อตามวัฒนธรรม-ประเพณีหรือความเชื่อของตนเอง ดอกเตอร์อาร์ลีน เค. อันเกอร์ (Arlene K. Unger) ผู้รวบรวมวิธีสร้างความสงบสุขในใจอันหลากหลายเขียนเป็นหนังสือชื่อ ความสงบ : ๕๐ กิจกรรมสร้างสติและการพักผ่อน เพื่อกำจัดความเครียดและผ่อนคลาย (Calm :  50 mindfulness and relaxation exercises to de-stress and unwind) บอกว่า “ภาวะสุขสงบ” หมายถึงความสอดคล้องกลมกลืนของกายใจทำให้เรามีสมดุล ไม่ไหล หลง หรือจมอยู่กับอารมณ์และเรื่องราวต่าง ๆ
Image
เขาบอกว่าสิ่งตรงข้ามกับความสงบไม่ใช่ความตื่นเต้น แต่คือความเครียด เมื่อเราเครียดต่อเนื่องร่างกายต้องใช้ออกซิเจนมากขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจทำงานหนัก ยิ่งร่างกายหลั่ง “ฮอร์โมนเครียด” ออกมายิ่งเป็นอันตราย เพราะส่งผลต่อระบบประสาทและระบบภูมิคุ้มกัน  ความเครียดเรื้อรังนำไปสู่การนอนไม่หลับ โรคหัวใจ โรคซึมเศร้า  และงานวิจัยชี้ว่า การฝึกสติอย่างต่อเนื่องสามารถเปลี่ยนรูปแบบความคิดและช่วยให้เราถอยห่างจากความเครียดมาสู่ภาวะสุขสงบได้

ในหนังสือเล่มนี้นำเสนอวิธีสู่ความสุขสงบสามประการ คือ ฝึกสมองด้านอารมณ์ ปรับความคิดและพฤติกรรม และฝึกสติ ที่จะช่วยให้เรา “ตามทัน” อารมณ์และความคิดตัวเอง ก่อนจะ “ลงมือ” กระทำสิ่งคุ้นชินแบบ “ไม่รู้ตัว” ซึ่งโดยทั่วไปเราฝึกสติได้ผ่านกิจวัตรประจำวัน ผ่านช่องทางการรับรู้ต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ตาดู หูฟัง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส ผิวรับสัมผัส และฝึกปรับเปลี่ยนความคิดและฝึกสมองได้ผ่านเทคนิคการจินตนาการหรือสร้างภาพ (visualization)

เมื่อการไม่มีสมาธิจดจ่อเป็นประเด็นปัญหาสากล เครื่องมือฝึกสติและคลายเครียดก็เป็นเรื่องสากลด้วยเช่นกัน หากรู้หลักการก็จะทำได้ไม่ยาก ขอเพียง “มีสติ” รับรู้ว่าเรากำลัง “ไม่มีสติ” และดึงตัวเองกลับมาฝึกฝนก็จะดึงความรู้สึกที่ฟุ้งซ่านเดินทางไกลกลับมาสู่เนื้อตัวอีกครั้ง สามารถจดจ่อกับสิ่งตรงหน้าได้ จิตใจไม่แส่ส่ายหรือเดินทางไปอยู่ที่อื่น
เราเรียกภาวะนี้ว่า ภาวะที่ “กายและใจตรงกัน” ซึ่งฟังดูเหมือนง่ายแต่ทำยาก ต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งแต่ละคนต้องหาอาวุธหรือเครื่องมือเฉพาะของตัวเองให้เจอ
Image
 ให้แสงเช้าสาดส่อง 
เมื่อตื่นนอนตอนเช้า ใช้เวลาประมาณ ๕ นาที นอนหลับตานิ่งชั่วขณะ หายใจเข้า รับรู้ความรู้สึกขณะกักเก็บอากาศไว้ หายใจออก ให้จินตนาการว่ามีแสงอาทิตย์สีทองสาดส่องออกมา ขณะหายใจเข้า-ออกให้จินตนาการว่าแสงสีทองนั้นโตขึ้น ๆ จนห่อหุ้มร่างกายเราไว้ และแผ่ขยายไปทั่วห้อง ให้รับรู้ความรู้สึกรื่นรมย์และผ่อนคลายกับการอาบแสงเช้าอันอบอุ่น จากนั้นค่อย ๆ ลืมตา ให้คำมั่นกับตัวเองว่าจะรับแสงที่ส่องประกายและอบอุ่นนั้นไว้กับตัวตลอดทั้งวัน  

✱ 
กลิ่นกาแฟหอมกรุ่น
จดรายชื่อผัสสะทั้งห้า ประกอบด้วย การมองเห็น ได้กลิ่น รู้รส ได้ยิน และสัมผัส เมื่อออกจากบ้านให้สังเกตสิ่งที่มากระทบผัสสะเหล่านี้ เช่น กลิ่นหอมจากร้านกาแฟ สีสันของประตูเข้าร้าน เสียงนกร้อง พื้นผิวราวจับบันได  รสชาติหมากฝรั่ง  การทำกิจกรรมเหล่านี้ ทุกวันจะแปรเปลี่ยนการเดินทางที่เคยชินให้เป็นเรื่องน่าทึ่ง

✱ 
ขับรถให้พระนั่ง 
หากเป็นคนหงุดหงิดฉุนเฉียวขณะขับรถ เมื่อเข้านั่งประจำที่คนขับ ก่อนสตาร์ตเครื่องให้หายใจเข้า-ออกยาว ๆ สามรอบ จากนั้นหลับตา นึกภาพว่ามีพระนั่งอยู่ที่นั่งข้างคนขับ พอลืมตาให้พุ่งความสนใจไปที่การขับรถทุกขั้นตอน เริ่มจากเช็กกระจกมองข้างและหลัง คาดเข็มขัดนิรภัย จับเกียร์ สตาร์ตเครื่อง  ถ้ามีสิ่งรบกวนจิตใจให้จินตนาการว่าพระพูดด้วยน้ำเสียงสงบเย็นว่า “ใจเย็น ๆ การเดินทางสำคัญพอ ๆ กับจุดหมายปลายทาง โยมจะสนุกกับการขับรถด้วยนะ” แล้วคุณก็จะถึงจุดหมายอย่างปลอดภัยและสดชื่น

✱ 
พลังของดอกไม้ 
คนส่วนใหญ่คิดว่าโลกกำลังวิ่งไปข้างหน้า ถ้าเราไม่วิ่งตามก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง การช้าลงจะทำให้เรามีสติ ยามเช้าใช้เวลาสัก ๒ นาที หลับตาจินตนาการว่าเรากำลังอยู่ในทุ่งดอกไม้ สังเกตลักษณะดอก กลิ่นหอม ก่อนลืมตาให้ดอกไม้นั้นตราตรึงไว้ในจิตตลอดทั้งวัน เมื่อไรที่เร่งรีบหรือใจลอยให้หวนนึกถึงดอกไม้อีกครั้ง  ดอกไม้คือเครื่องมือที่ทำให้เราใช้ชีวิตช้าลง มีสติมากขึ้น

✱ 
นิ่งสงบแบบทันทีทันใด
หาที่นอนกางแขนกางขาแบบสบาย ๆ หลับตาจินตนาการถึงภาพสถานที่หรือสิ่งของที่ทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ และสงบสุข เช่น สวนดอกไม้ ป่าเขียว แม่น้ำ โบสถ์ ฯลฯ จากนั้นนึกถึงรายละเอียดของภาพเหล่านั้น เช่น ใบไม้หลากสี ลักษณะกิ่งก้าน ลำต้น เสียงลมพัด เสียงน้ำไหล  ขณะหายใจเข้าให้นึกถึงสถานที่หรือสิ่งของชิ้นนั้น ขณะหายใจออกให้พูดคำว่า “สงบสุข” เบา ๆ หรือดังก็ได้ แล้ววางมือข้างหนึ่งบนหน้าอก มืออีกข้างวางบนหน้าท้อง ดูว่าเราได้ยินเสียงหัวใจเต้นหรือหน้าท้องค่อย ๆ คลายเครียดลงหรือไม่ เมื่อผ่อนคลาย หรือหายเครียดค่อย ๆ ลืมตาขึ้น

เรียบเรียงจาก 
Calm : 50 mindfulness and relaxation 
exercises to de-stress and unwind