Image
เปิดโลก
วิจัยพฤกษศาสตร์
Hidden (in) museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์ 
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
การค้นพบสิ่งใหม่ได้เท่าไร 
ไม่สำคัญเท่ารู้รักษาสิ่งที่ได้มา

หน้าที่ “พิพิธภัณฑ์พืช” จึงไม่ใช่แค่แสวงหา รวบรวมสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมาสื่อสารเรื่องราวอย่างเพลิดเพลิน ยังมีหน้าที่อนุรักษ์ ค้นคว้า และวิจัยมรดกทรัพยากร เพื่อส่งต่อการศึกษา

พื้นที่ ๒๔๔ ตารางเมตรภายในพิพิธภัณฑ์พืช ศาสตราจารย์กสิน สุวตะพันธุ์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เช่นนั้น  ที่นี่แบ่งสามส่วน เป็นห้องศึกษาค้นคว้าวิจัยและเตรียมตัวอย่าง ห้องจัดเก็บตัวอย่าง และห้องแสดงนิทรรศการ

ห้องแรกเชื่อมต่อกับส่วนที่ ๒ ให้บริการผู้มาค้นคว้าพร้อมเป็นห้องทำงานของภัณฑารักษ์ในการเตรียมตัวอย่างพรรณไม้ก่อนเข้ากระบวนการรักษาสภาพ หากเป็นตัวอย่างสดจะทำให้แห้งโดยใช้ตู้อบในอุณหภูมิ ๔๐-๕๐ องศาเซลเซียส พอแห้งจึงทากาว เย็บติดบนกระดาษ บันทึกข้อมูลอย่างชื่อของไม้ดอก เฟิน หรือกลุ่มพืชใกล้เคียง สถานที่พบ วันที่เก็บ ชื่อผู้เก็บตัวอย่าง ฯลฯ แต่พืชบางชนิดก็เหมาะกับวิธีดอง ตัวอย่างโดดเด่นของที่นี่คือการดองกล้วยไม้และตัวอย่างแห้งของเฟิน ด้วยมีอาจารย์ผู้ทำวิจัยด้านนี้อยู่ในภาควิชา ยังมีจัดแสดงตัวอย่างเรณูและสปอร์ ให้ศึกษาผ่านกล้องจุลทรรศน์ มีสไลด์สีโปร่งแสงบันทึกภาพพรรณไม้ในยุคที่ยังใช้กล้องฟิล์มปฏิบัติหน้าที่ในภาคสนาม ฯลฯ
Image
นอกจากตัวอย่างที่จัดแสดงในห้องนี้ซึ่งมีความสำคัญที่ต้องรักษาสภาพไว้ด้วยอุณหภูมิ ๒๕ องศาเซลเซียสตลอด ๒๔ ชั่วโมง ยังแบ่งพื้นที่เป็นห้องสมุดรวบรวมงานวิจัยและหนังสือพันธุ์ไม้ อนุกรมวิธานพืช นิเวศวิทยา ธรรมชาติวิทยา พฤกษศาสตร์เศรษฐกิจ เภสัชศาสตร์ ทั้งของไทยและทั่วโลกไว้ให้นักวิชาการและคณาจารย์ใช้ประโยชน์ด้านการจำแนกตัวอย่างเพื่อทำวิจัยและเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการ

อีกส่วนน่าสนใจคือห้องแสดงนิทรรศการความหลากหลายของพืช แสดงวิวัฒนาการพืช โครงสร้างไม้ดอก เมล็ดพันธุ์พืชนานา  หนึ่งในสิ่งชวนตาวาวคือ หนึ่งบันทึก ร้อยความสัมพันธ์ หนังสือป็อปอัปสามมิติ เล่มใหญ่กว่าหนังสือพิมพ์และหนักกว่าตำราวิจัยหลายเล่มรวมกัน บรรจงประดิษฐ์อย่างพิถีพิถันเพื่อประโยชน์ด้านสื่อการสอนแก่นักเรียนในระดับชั้นประถมฯ โดยเฉพาะ 
Image
แต่ละหน้าย่อผืนป่าที่มีสิ่งสำคัญอย่างไบรโอไฟต์ เฟิน และกล้วยไม้ไว้บนกระดาษ นำทางนักศึกษาธรรมชาติรุ่นเล็กให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่า ขณะเดียวกันก็เป็นดั่งกล้องจุลทรรศน์ขยายเรื่องราวสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วมาก ๆ ให้ผุดเด้งอวดความสวยงามอย่างฉับพลัน เช่น มอสจริงขนาด ๑ เซนติเมตร ก็กลายเป็นมอสยักษ์กระตุ้นความรู้สึกมหัศจรรย์แปลกตา เมื่อพลิกทีละหน้าจึงเสมือนเปิดประสบการณ์ให้เด็ก ๆ ใช้จินตนาการพรั่งพรูความคิดสร้างสรรค์ผ่านรูปวาดอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ใครจะรู้ พลังแห่งความงามตรงหน้าในช่วงเวลาไม่กี่นาทีอาจเป็นก้าวแรกที่ทำให้พวกเขาหลงใหลธรรมชาติ ต้นไม้ ใบหญ้า และกลายเป็นนักพฤกษศาสตร์ของชาติในอนาคตผู้สร้างงานวิจัยกลับคืนที่นี่
ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...
ต้องมาดู  

Image
นอกจากหอพรรณไม้ของกรมป่าไม้ซึ่งเก็บตัวอย่างไว้มากที่สุดในไทย ยังต้องเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์พืชของแต่ละมหาวิทยาลัยเพื่อป้องกันตัวอย่างพืชที่สะสมมานับร้อยปีเกิดความสูญเสีย การรวบรวมงานวิจัยที่มีผู้ทำไว้เป็นเรื่องสำคัญ
 แม้พืชชนิดเดียวกัน หากพบต่างภูมิภาค ต่างปัจจัยแวดล้อม ขนาดและเฉดสีก็อาจไม่เหมือน หรือต่อให้เป็นสถานที่เดียวกัน ถ้าเจอต่างฤดูกาล ตัวอย่างที่ได้ก็แตกต่าง  ตัวอย่างสมบูรณ์ที่สุดควรมีทุกส่วนของพืช แต่งานวิจัยของคนหนึ่งอาจได้เฉพาะดอก อีกคนได้ผล เมื่อนำทั้งสองฉบับมาศึกษาร่วมกันจึงได้ข้อมูลครอบคลุม  ที่นี่ยังเก็บรักษาตัวอย่างต้นแบบ ‘type specimen’ พืชชนิดใหม่ของโลกที่ค้นพบในไทยโดยนักวิชาการของพิพิธภัณฑ์พืชซึ่งมีมากกว่า ๖๐ ชนิด นับเป็นสมบัติมีค่าที่สุด”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รสริน พลวัฒน์
ประธานกรรมการพิพิธภัณฑ์พืช
พิพิธภัณฑ์พืช 
ศาสตราจารย์กสิน สุวตะพันธุ์

ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

เปิดให้บริการวันจันทร์-ศุกร์ 
เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. 
(ต้องติดต่อล่วงหน้า)
โทรศัพท์ ๐-๒๐๑๘-๕๕๒๐ และ ๐-๒๒๑๘-๕๔๘๕