หม้อน้ำอะลูมิเนียม
และเรื่องเล่าของ “โรฮิงญา”
Souvenir & History
เรื่อง  สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์, บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ครั้งหนึ่ง ในช่วงก่อนที่โรคโควิด-๑๙ จะระบาด  ผมมีโอกาสไปยังดินแดนด้านทิศตะวันตกสุดของพม่า/เมียนมา คือรัฐยะไข่/อาระกัน (Rakhine State) รัฐนี้ทิศตะวันตกติดกับอ่าวเบงกอล ทิศเหนือติดประเทศบังกลาเทศ ทิศตะวันออกติดกับรัฐและเขตภายในของเมียนมาคือ รัฐชิน (Chin) เขตมะกเว (Magwe) เขตพะโค (Pegu) และเขตอิรวดี (Ayeyarwady)

ตั้งแต่อดีต ในรัฐยะไข่ มีคนหลากเชื้อชาติอยู่ร่วมกันมาตลอดประวัติศาสตร์ หนึ่งในนั้นคือกลุ่มที่ต่อมาเรียกตนเองว่า “โรฮิงญา” ซึ่งเมื่อมีการก่อตัวของประเทศพม่าในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ พวกเขากลับกลายเป็น “คนชายขอบ” ของพม่าที่ได้รับเอกราชในปี ๒๔๙๑ ก่อนจะถูกถอนสถานะพลเมืองในปี ๒๕๒๕

ประเมินกันว่ามีชาวโรฮิงญาในพม่าราว ๑.๔ ล้านคน ทั้งนี้การโดนเพิกถอนสถานะพลเมืองทำให้พวกเขาเข้าไม่ถึงบริการจากภาครัฐ เช่น การศึกษา ระบบสาธารณสุข อีกทั้งศาสนา (อิสลาม) และวัฒนธรรมที่แตกต่างกับคนพม่าส่วนมาก (ที่นับถือพุทธเถรวาท) ส่งผลให้สถาน-การณ์แย่ลงไปอีก

ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ เกิดเหตุกระทบกระทั่งในประเด็นทางศาสนาที่รุนแรงขึ้นทำให้มีการทำลายหมู่บ้านชาวโรฮิงญาหลายพื้นที่ทั่วประเทศ มี “ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ” (internally displaced persons - IDP) นับล้านคน ชาวโรฮิงญาจำนวนมากต้องเข้าไปอยู่ในศูนย์อพยพ (IDP camp) ที่มีการตั้งขึ้นหลายแห่งปี ๒๕๖๐ กองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลกึ่งพลเรือน/ทหารพม่า ยังเปิดปฏิบัติการกวาดล้างหมู่บ้านชาวโรฮิงญาจำนวนมากในรัฐยะไข่หลังมีกองกำลังกลุ่มติดอาวุธโจมตีกองกำลังความมั่นคงของพม่าบริเวณชายแดนพม่า-บังกลาเทศ โดยรัฐบาลพม่าเชื่อว่าเป็นกองกำลังของชาวโรฮิงญา

ผลคือมีผู้อพยพราว ๗.๒ แสนคนเข้าไปในบังกลาเทศองค์การสหประชา-ชาติสนับสนุนให้รัฐบาลบังกลาเทศตั้งศูนย์อพยพขนาดใหญ่ที่เมืองค็อกซ์บาซาร์ (Cox Bazar) ใกล้ชายแดนพม่า สิ่งที่ตามมาคือ “มนุษย์เรือ” (boat people) ที่ล่องเรือออกสู่ทะเลเสี่ยงไปตายดาบหน้าทั้งในเขตอ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน จนกลายเป็นประเด็นระดับภูมิภาค
Image
เมื่อโควิด-๑๙ ระบาดไปทั่วโลก กองทัพทำรัฐประหารในพม่า (๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔) ผลคือเกิดสงครามกลางเมืองในทุกพื้นที่ทั่วประเทศระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับอีกฝ่ายคือกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ร่วมมือกับกองกำลังฝ่ายรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government - NUG) 

สถานการณ์ชาวโรฮิงญาจึงแย่ลงอีก

ถึงตอนนี้ศูนย์อพยพในพม่าถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ศูนย์อพยพในบังกลาเทศก็อยู่ในภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุข ภาพที่ผมจำได้ดีเมื่อลอบเข้าไปยังศูนย์อพยพแห่งหนึ่งใกล้เมืองซิตตเว (Sittwe) เมืองหลวงรัฐยะไข่ คือชาวโรฮิงญาที่เป็นมิตร ผู้หญิงและเด็กเดินเทินหม้อน้ำอะลูมิเนียมทรงแปลกตาไว้บนศีรษะ

เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งในศูนย์คือ “น้ำ”

ตามมาตรฐานองค์กรบรรเทาทุกข์นานาชาติ ผู้ลี้ภัยแต่ละคนต้องการน้ำสะอาดอุปโภคบริโภคอย่างน้อยวันละ ๑๕-๒๐ ลิตร ผมมาทราบภายหลังว่า ภาชนะอะลูมิเนียมที่เทินไว้บนศีรษะชาวโรฮิงญา คือภาชนะหลักที่ใช้ในการเก็บและขนส่งน้ำของชาวโรฮิงญานั่นเอง

ชาวโรฮิงญาคนหนึ่งเล่าว่า หม้อน้ำอะลูมิเนียมราคาไม่แพงนัก หม้อน้ำขนาดย่อมตีเป็นเงินจัต (Kyat) พม่าตกราวใบละ ๑,๐๐๐ จัต (ประมาณ ๒๐ บาท) ส่วนมากผลิตในบังกลาเทศและอินเดีย คนโรฮิงญานำภาชนะชนิดนี้ติดตัวไปไหนมาไหนด้วยเสมอเมื่อต้องพลัดถิ่นที่อยู่

ทั้งนี้หม้อน้ำอะลูมิเนียมใบใหญ่ที่สุดจะจุน้ำได้ราว ๑๔ ลิตร เมื่อบรรจุน้ำเต็มจะหนักเกือบ ๑๕ กิโลกรัม พวกเขาเล่าว่าน้ำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนหนึ่งได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชน อีกส่วนหนึ่งได้จากบ่อน้ำที่ขุดกันเองในค่าย หรือไม่ก็ต้องเดินไปอีกหลายกิโลเมตรยังแหล่งน้ำที่พอจะมีอยู่

ผมซื้อหม้อน้ำอะลูมิเนียมใบนี้มาจากร้านค้าของชาวโรฮิงญาคนหนึ่งในค่ายผู้อพยพ เห็นภาชนะอะลูมิเนียมใบนี้คราใด ภาพชีวิตของชาวโรฮิงญามักปรากฏขึ้นในความทรงจำ
ด้วยจนถึงวันนี้พวกเขายังคงเป็น “คนไร้รัฐ” ที่ตกอยู่ท่ามกลางไฟสงครามกลางเมืองในพม่า โดยที่ยังมองไม่เห็นอนาคตแต่อย่างใด