Image

ไม่ถูกชะตา

วิทย์คิดไม่ถึง

เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์  namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา

ในภาษาไทยมีคำว่า “ไม่ถูกชะตา” ใช้อธิบายความรู้สึกไม่ชอบหน้า ทั้งที่อาจจะไม่ได้รู้จักส่วนตัว แค่มองเห็นผ่าน ๆ หรือเพิ่งได้พบกัน เพราะหน้าที่การงานหรือเพื่อนฝูงแนะนำให้รู้จัก

แอปพลิเคชันพจนานุกรมของราช-บัณฑิตยสภาให้ข้อมูลไว้ว่า ชะตาคือ “ลักษณะหรืออัธยาศัยบางอย่างที่ทำให้รู้สึกชอบหรือไม่ชอบตั้งแต่แรกพบกัน เช่น ถูกชะตากัน ไม่ถูกชะตากัน, ลักษณะที่บังเกิดสำแดงเหตุดีและร้าย เช่น ชะตาดีชะตาร้าย, ชาตา ก็ว่า.”

นิยามได้ชัดเจนดีทีเดียว

วิทยาศาสตร์มีคำอธิบายปรากฏ-การณ์เช่นนี้หรือไม่ ?

มีความพยายามอธิบายเรื่องนี้มากพอสมควร

ข้อเท็จจริงที่พบก็คือ การไม่ถูกชะตากันเป็นเรื่องเกิดขึ้นจริง แต่สัญชาตญาณเมื่อแรกพบก็ไม่ได้จำเป็นต้องยืดยาวเสมอไป หากนึกดูให้ดีคุณอาจจะนึกออกว่ามีบางคนที่คุณไม่ชอบขี้หน้าแต่แรกเจอ แต่ภายหลังกลับกลายมาเป็นเพื่อนหรือแม้แต่คู่รักก็ยังมี

เรื่องน่าขันก็คือคนเราไม่ชอบหน้ากันง่ายมากจริง ๆ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งใน ค.ศ. ๒๐๑๒ ที่ทำให้รู้ว่า แค่มีนามสกุลที่อ่านยากกว่าอีกคน เช่น Vougiouklaki กับ Leszczynska เทียบกับที่อ่านง่ายกว่าคือ Lazaridis หรือ Paradowska ก็เพียงพอจะทำให้คนอื่นรู้สึกในทางลบกับคุณได้แล้ว

อีกกรณีหนึ่งคือตอนเข้าสัมภาษณ์งาน แค่ทักทายเชกแฮนด์ไม่หนักแน่น ก็พอจะทำให้ว่าที่นายจ้างรู้สึกว่าน่าจะจ้างคุณน้อยกว่าคนที่จับมืออย่างตั้งอกตั้งใจ

เรื่องไม่ถูกชะตานั้น คำอธิบายหลักอย่างหนึ่งที่ฟังแล้วมีเหตุมีผล ได้แก่ คนคนนั้นทำให้คุณรู้สึกหรือคิดไปถึงคนอีกคน ซึ่งคุณเคยมีประสบการณ์แบบร้าย ๆ ด้วยในอดีต การคล้ายกันแบบนี้เป็นไปได้ทั้งเรื่องรูปร่างหน้าตาและกิริยาท่าทาง ปฏิกิริยาแบบนี้อาจชัดเจนจนคุณเองก็รู้สึกหรือเข้าใจได้ หรือเล็กน้อยมากจนคุณไม่อาจอธิบายได้

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ หากคุณกับคนคนนั้นแตกต่างกันมากในหลาย ๆ ทางก็มีโอกาสที่จะไม่ชอบหน้ากันมากขึ้นไปด้วย

แต่เรื่องนี้ก็มีข้อยกเว้น เราเจอเพื่อนหรือคู่รักที่แตกต่างกันอย่างกับอะไรดี แต่ก็คบกันได้อย่างยืดยาว เพราะต่างก็เคารพในความแตกต่างเหล่านั้น และความแตกต่างนั้นกลับเหมือนเป็นส่วนเติมเต็มให้แก่กัน

เวลาเจอคนที่แตกต่างกันมาก ๆ แล้วมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกันก็อาจจะเพิ่มโอกาสการไม่ชอบหน้าได้ง่าย ๆ หากวิธีปฏิบัติต่อคนอื่นแตกต่างกันมาก ทั้งการดื้อรั้นจะเอาชนะ การไม่ฟังอย่างตั้งใจ และการทำตัวราวกับเหนือกว่าทั้ง ๆ ที่ความจริงอาจไม่ใช่เช่นนั้นเลย

ปฏิกิริยาพวกนี้กระตุ้นอารมณ์โกรธเกลียดได้ง่ายมาก

บางทีอคติหรือการเหยียดบางอย่างก็ส่งผลมาก เช่น ครอบครัวคนจีนสมัยก่อนไม่ค่อยชอบใจที่ลูกชายหรือลูกสาวจะไปคบกับสาวหรือหนุ่มที่หน้าตาท่าทาง “ไทยมาก ๆ” เช่น ผิวเข้มกว่าหรือมีโครงของใบหน้าแตกต่างออกไป หรือแม้แต่เป็นคนในตระกูลไทยล้วน

การแสดงออกทางสีหน้าท่าทางว่าชอบหรือไม่ชอบก็ส่งผลให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกและรับรู้ได้อย่างรวดเร็ว มีงานวิจัยที่ชี้ว่า หากเราหวังให้ใครยอมรับ เราควรทำตัวดีกับคนนั้น ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนนั้นชอบเรา มีชื่อเรียกปรากฏการณ์แบบนี้ด้วยว่า “การชอบแบบต่างตอบแทน (reciprocity of liking)” ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ กล่าวคือหากต้องการให้คนที่เพิ่งพบหน้าชอบเรา ให้ทำตัวราวกับเราชอบเขา

ผลลัพธ์ตรงกันข้าม เวลาไม่ชอบใครก็เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

การยิ้มทำให้รู้สึกเป็นมิตรและทำให้คนชอบหรือไม่ชอบเราได้อย่างชัดเจนเช่นกัน มีการทดลองที่ทำให้รู้ว่า นักศึกษาที่เล่นบทบาทอวตารตัวเองในอินเทอร์เน็ต จะชอบฝ่ายตรงข้ามมากกว่า หากอวตารของฝ่ายนั้นส่งยิ้มหน้าบาน

แถมยังมีการพิสูจน์ด้วยว่า รอยยิ้มทำให้คนอื่นจดจำเราได้มากกว่าหน้าเฉย ๆ ไม่ยิ้มอีกด้วย

อีกสาเหตุหนึ่งได้แก่การที่คนทั่วไปหรือแม้แต่คนเก่ง ๆ คนดี ๆ จำนวนหนึ่งดูจะขัดหูขัดตาชาวบ้าน อาจเพราะคนเหล่านี้ไม่มีทักษะการเข้าสังคมมากนัก หรืออาจจะไม่แคร์เรื่องพวกนั้นก็ได้ แต่ความแตกต่างในเรื่องการยึดถือบรรทัดฐานสังคมแบบนี้แหละที่ทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ถูกชะตาในทันทีที่พบเห็นทีเดียว

จะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย

Image

คนอีกจำพวกหนึ่งที่ขัดหูขัดตาชาวบ้านมากก็คือ พวกที่ทำตัวเลียนแบบคนดังมาก ๆ จนดูน่ารำคาญ หรือทำตัวประเภทยกตนข่มท่าน อวดโอ่แบบต่าง ๆ มีตั้งแต่การอ้างว่าเคยรู้จักหรือคุ้นเคยกับคนดังหรือเซเลบริตีบางคน  อาการแบบนี้กระตุ้นจิตใต้สำนึกของคนที่ต้องพบเจอและทำให้ไม่ชอบใจ เรื่องนี้ครอบคลุมทั้งวิธีการพูดจา ภาษากาย และการแต่งตัว เช่น พูดไปก็เชิดหน้า หรือมองแบบจิกตลอดเวลา จนดูเหมือนพยายามทำตัวเหนือกว่า ทั้ง ๆ ที่บางครั้งก็แค่เป็นบุคลิกไม่ดีประจำตัวแค่นั้น อาการกร่างแบบนี้ก็กระตุ้นความรังเกียจได้มาก

ในภาษาอังกฤษมีคำว่า humblebragging ที่หมายถึงการอวดโอ่ (brag) ที่ซ่อนมากับการถ่อมตัว (humble) เช่น การกล่าวถึงรูปร่างตัวเองที่ออกกำลังกายมาอย่างดีจนดูเหมือนนายแบบนางแบบ แต่กลับพูดว่า “ช่วงนี้อ้วนจัง” หรือการอวดรูปกระเป๋าราคาหลักแสนพร้อมคำพูดว่า “เขิน ๆ ที่จะใช้งาน เพราะไม่เคยใช้ของแพงอย่างนี้มาก่อนเลย”

มีงานวิจัยที่ทำให้รู้ว่าเมื่อได้รับคำสั่งให้เขียนถึงจุดอ่อนของตัวเอง นักศึกษาที่เป็นอาสาสมัครเข้าร่วมการทดลองราว สามในสี่ของทั้งหมดเขียนอวดโอ่ เช่น ผมเป็นคนชอบความสมบูรณ์แบบ หรือ ดิฉันเป็นคนที่ทำงานหนักเกินไปเสมอ

บางคนก็เลี่ยงไปเขียนถึงจุดอ่อนที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่สมัครงาน เช่น สมัครงานที่ต้องขีดเขียนบทความ แต่เขียนจุดด้อยลงไปว่าเป็นคนเกลียดการพูดต่อหน้าผู้คน เป็นต้น

Image

อันที่จริงผลลัพธ์ไม่ได้เป็นตามที่พวกนี้คาดเดาเท่าไร เพราะพวกนายจ้างมักจะเลือกจ้างผู้สมัครที่เขียนตอบอย่างจริงใจตรงไปตรงมามากกว่า เช่น คนที่ตอบว่าผมไม่ได้จัดแจงทุกเรื่องให้ดีได้ตลอดเวลา หรือบางครั้งดิฉันก็ตอบสนองกับสถานการณ์แบบเกินกว่าเหตุไปบ้าง

อีกอุปนิสัยที่งานวิจัยพบว่าทำให้คนไม่ค่อยสบอารมณ์คือการซอกแซกถามประวัติอีกฝ่ายอย่างล้วงลึกในครั้งแรกที่พบปะกัน โดยเฉพาะหากคนนั้นไม่แบ่งปันข้อมูลฝั่งตัวเองออกมาด้วย

ดังนั้นคนที่ไม่เก่งในการเข้าสังคมและบางทีใช้การตั้งคำถามกับคนอื่นเพื่อเบี่ยงเบนความอายหรือความกระวนกระวายใจของตัวเองก็ได้โปรดรู้ว่านี่ไม่ใช่วิธีการที่ดีเลย และมักนำไปสู่การเริ่มต้นที่แย่ หัวข้อที่แบ่งปันได้ง่ายและเหมาะสมกว่าคือ การคุยเรื่องงานอดิเรกและความชอบในวัยเยาว์

ข้อสังเกตที่น่าสนใจที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือ มีการทดลองที่แสดงให้เห็นว่า คนที่แสดงตัวเป็นคนเอื้อเฟื้อและดีต่อคนอื่นเมื่อแรกพบ “มากจนเกินไป” ราวกับเป็นพ่อพระแม่พระที่ไม่มีความเห็นแก่ตัวอยู่เลย มักจะทำให้คนอื่นระแวงและตั้งข้อสงสัยว่าเป็นคนดีจริง ๆ หรือแกล้งทำ

จนในที่สุดคนส่วนใหญ่จะรู้สึกไม่วางใจและไม่ชอบคนแบบนี้

อ่านมาถึงตรงนี้คงพอเห็นได้ว่าเรื่อง “ชะตาไม่ต้องกัน” นั้นมีอยู่จริงและหลายครั้งก็เกิดได้ง่ายดายเหลือเกิน โดยเหตุผลใหญ่ ๆ เกิดจากความแตกต่างในเรื่องความคิด มุมมอง และอุปนิสัย

อย่างไรก็ตามการระมัดระวังจุดอ่อนบางอย่างก็อาจช่วยแก้ไขหรือปิดจุดอ่อนเหล่านี้ ลดคนไม่ชอบหน้าแต่แรกพบได้ แม้บางเรื่องอาจจะแก้ไขยากหน่อย เช่น นามสกุลอ่านยาก ในวงการบันเทิงถึงได้ตั้งชื่อนามสกุลกันให้ใหม่เป็นแบบสั้น ๆ จำได้ง่าย ๆ

อย่างไรก็ตามการปรับแก้ไขให้การไม่กินเส้นกันลดลง และคบหาหรือทำธุรกิจร่วมกันได้ในระยะยาว ก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว