Image
ดูแลลำไส้ สมองที่ ๒
ของมนุษย์
Holistic
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์   
ภาพประกอบ : zembe
เคยไหมเมื่อเจอคนที่เรากลัวหรือออกไปพูดหน้าห้องท้องไส้จะปั่นป่วน หรือเพียงมองเห็นผลไม้รสเปรี้ยวท้องก็ร้องโครกคราก ที่เป็นเช่นนี้เพราะลำไส้หรือกระเพาะของเรามีความรู้สึกนึกคิด หรือมี “สมอง” ที่ทำงานอย่างอิสระ ไม่ต้องรอการสั่งการจากสมองบริเวณศีรษะ

นักประสาทวิทยาถือว่าลำไส้เป็น “สมองที่ ๒” ของมนุษย์ เพราะนับตั้งแต่หลอดอาหารจนถึงลำไส้ใหญ่ส่วนปลายเต็มไปด้วยสารสื่อประสาทและเซลล์ประสาทนับล้าน ๆ เซลล์ซึ่งควบคุมการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ เรียกว่า “ระบบประสาทลำไส้”

การวิจัยพบว่า สารสื่อสัญญาณประสาทบริเวณผิวหนังส่งข้อมูลไปยังสมองเพื่อให้สั่งการโดยใช้เวลาประมาณ ๐.๕ วินาที ขณะสมองในช่องท้องสั่งการได้แบบทันทีทันใด

ศาสตราจารย์ไมเคิล เกอร์ชอน (Michael Gershon) ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยระบบประสาทลำไส้ จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา บอกว่าการเคี้ยวกับการกลืนควบคุมโดยสมองที่แท้จริง ส่วนการทำงานทั้งหมดของลำไส้ควบคุมโดยสมองบริเวณช่องท้อง เช่น ปรับความเร็ว-ช้าของการย่อยและหลั่งน้ำย่อยอัตโนมัติตามชนิดอาหารที่เรากิน ปรับรูปแบบและความเร็วการบีบตัวของลำไส้ หากกินอาหารที่เป็นพิษต่อร่างกาย สมองในช่องท้องก็สามารถสั่งการให้ร่างกายขับพิษผ่านอาการท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษ รวมทั้งควบคุมลำไส้ให้ปลดปล่อยฮอร์โมนต่าง ๆ ที่มีผลต่ออวัยวะทั้งหมดของร่างกาย รวมถึงสมองด้วย

ขณะที่เราเรียนรู้มาว่า สมองสั่งการให้ต่อมไร้ท่อผลิตฮอร์โมนซึ่งทำหน้าที่ควบคุมความรู้สึกนึกคิดและจิตใจ แต่การทำงานของสมองช่องท้องก็ส่งผลโดยตรงต่อสภาพจิตใจของเราด้วย  นักวิทยาศาสตร์พบว่า ในลำไส้มีสารสื่อประสาทเซโรโทนินที่ทำให้เกิดการผ่อนคลายและเกี่ยวข้องกับอาการผิดปรกติทางจิตใจอยู่ถึง ๙๕ เปอร์เซ็นต์ของสารสื่อประสาทชนิดนี้ในร่างกาย อีก ๕ เปอร์เซ็นต์ที่เหลืออยู่ในสมอง 

การทำงานของลำไส้เผยให้เห็นความเชื่อมโยงที่สัมพันธ์กันระหว่างจิตใจกับร่างกาย  ในเชิงร่างกาย การท้องผูกหลายวันจะทำให้อารมณ์ขุ่นมัว  ในเชิงจิตใจ ความเครียดหรืออารมณ์ขุ่นมัวฉุนเฉียวหรือเศร้าหมองก็มีผลให้ลำไส้ทำงานไม่ปรกติเช่นกัน
Image
การแพทย์สมัยใหม่พบว่า ความผิดปรกติในช่องท้องมักทำให้เกิดโรคเรื้อรังหรือร้ายแรง โดยงานวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ระบุว่า หากมีปัญหากระเพาะและลำไส้จะมีโอกาสเป็นโรคต่าง ๆ ง่ายขึ้น เช่น ไข้หวัด มะเร็ง  สถาบันแคลเทค (Caltech) ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า อุจจาระของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีแบคทีเรียบางชนิดน้อยกว่าปรกติ เป็นเหตุให้เกิดการอักเสบจากการย่อยและกระตุ้นการเกิดโปรตีนที่เป็นพิษ ดังนั้นจึงทดลองรักษาแบบปรับแบคทีเรียในลำไส้ผ่านการกินอาหารกลุ่มพรีไบโอติกส์และโพรไบโอติกส์ ซึ่งประกอบด้วยจุลินทรีย์ดีที่มีประโยชน์และเชื่อว่าช่วยป้องกันโรค เสริมโครงสร้างของเซลล์ประสาทและลดการอักเสบของเซลล์ได้

เรามักให้ความสำคัญต่อการให้อาหารสมอง มีงานวิจัยและบทความสุขภาพสำหรับเรื่องนี้มากมาย แต่เราแทบไม่เคยได้ยินหรืออ่านเกี่ยวกับการดูแลสมองในช่องท้องเลย อาจเพราะเราไม่เคยรู้ว่าลำไส้เป็นสมองที่ ๒ ของเรา ดังนั้นการดูแลสุขภาพลำไส้จึงสำคัญมากกว่าที่เราคิด

การดูแลสุขภาพสมองช่องท้องทำได้ไม่ยาก ส่วนใหญ่ทำผ่านการกินอาหารที่ช่วยให้ลำไส้สะอาดและทำงานได้ง่ายขึ้นและสร้างกิจวัตรประจำวันที่ดี เช่น นอนหลับให้เป็นเวลา ไม่เครียด เพราะความเครียดสะสมจะรบกวนการทำงานของระบบย่อยอาหาร ส่งผลต่อฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของร่างกายและจิตใจ รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย 
ทำให้เราไม่มีความสุขและเป็นโรคร้ายในที่สุด 
Image
Image
✱ กินอาหารหลากหลาย 
เพื่อเพิ่มความหลากหลายของกลุ่มจุลินทรีย์ในลำไส้ที่ช่วยย่อยสารอาหารบางชนิด เพราะจุลินทรีย์แต่ละกลุ่มกินอาหารต่างกัน ซึ่งจะส่งผลให้สุขภาพลำไส้ดีขึ้น

✱ กินอาหารที่มีใยอาหารสูงและไม่ขัดสี
เพื่อช่วย “ชำระล้าง” ลำไส้ เช่น ข้าวสาลี รำข้าวสาลี ข้าวกล้อง ข้าวโพด ถั่วเปลือกแข็ง บวบ ขึ้นฉ่าย บรอกโคลี กะหล่ำปลี หอมหัวใหญ่ มะเขือเทศ แครอต แตงกวา ผักใบสีเขียวเข้ม

✱ กินอาหารโพรไบโอติกส์ที่มีจุลินทรีย์ดี
ซึ่งพบมากในนมเปรี้ยว โยเกิร์ตรสดั้งเดิม และของหมักดอง เช่น กิมจิ ผักเสี้ยน-ผักกุ่ม-ผักกาดดอง ฯลฯ

✱ กินอาหารพรีไบโอติกส์ แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่
สามารถย่อยอาหารเหล่านี้ได้ เช่น กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง กล้วย แอปเปิล ธัญพืชต่าง ๆ ฯลฯ

✱ กินอาหารที่อุดมด้วยกรดโอเมกา ๓ วิตามินบี ๑๒ อย่างปลาและธัญพืช

✱ กินผักสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยเจริญอาหาร 
ย่อยอาหาร ดูดซับไขมันในลำไส้ ลดอาการท้องอืด จุกเสียด เช่น กะเพรา กระเทียม ใบแมงลัก หัวหอม ตะไคร้ ฯลฯ

✱ หลีกเลี่ยงการกินยาระบายเป็นประจำ 
เพราะลำไส้จะเคยชินต่อการถูกกระตุ้นจากยา หากกิน ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเกิดอาการท้องผูกขั้นรุนแรง ให้ดื่มน้ำเปล่าและกินอาหารกระตุ้นการขับถ่าย เช่น ลูกพรุน มะม่วงสุก มะละกอสุก ฯลฯ

✱ ดูแลและจัดการความเครียด 
โดยทำสมาธิ พักผ่อนให้เพียงพอ หรือฝึกโยคะ 

✱ หากมีปัญหาเรื่องลำไส้ ให้หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ กาเฟอีน และอาหารรสเผ็ด เพราะอาหารเหล่านี้รบกวนการทำงานของลำไส้

✱ นอนเป็นเวลา 
ผลการศึกษาพบว่า การเปลี่ยนรูปแบบการนอนจะรบกวนวงจรการทำงานของกลุ่มจุลินทรีย์ในลำไส้