Image

“ตามหาสังข์ทอง
ไปเจอบ้องกัญชา”

เรื่องและภาพ : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

หนุ่มสูบกัญชาในจิตรกรรม รามเกียรติครูเลิศ พ่วงพระเดช ครูช่างใหญ่เมืองเพชรบุรีเขียนภาพนี้ไว้ที่ระเบียงวัดพระแก้ว ช่วงฉลอง ๑๕๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์ 
ภาพ : เอนก นาวิกมูล

วรรณคดี สังข์ทอง กับดิฉันดูจะมีความผูกพันกันอย่างประหลาด เหนื่อยๆ หน่ายๆ เบื่อโลกคราใด หยิบมาพลิกอ่านตอนนั้นตอนนี้ เปิดไป อ่านไป เบาใจ ชื่นมื่นอารมณ์ขึ้นมาทันที

อ่านวรรณคดีไทยโบราณมาก ๆ เข้า หลายสิบปีมาแล้วดิฉันพบความจริงว่า วรรณคดีที่เจ้านายพระมหากษัตริย์เขียนอย่าง สังข์ทอง กับ ไกรทอง พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ผู้ทรงเป็นพระราชโอรสของกษัตริย์ ทั้งพระองค์ยังทรงเป็นกษัตริย์เอง และมีพระราชโอรสเป็นกษัตริย์อีกสองพระองค์ รวมทั้งมีหน่อเนื้อเป็นกษัตริย์สืบต่อมาถึงรัชกาลปัจจุบัน ท่ามกลางแวดวงนางในเต็มพระราชวัง พระองค์ได้ทรงพระกรุณาบันทึกความจริงอย่างหนึ่งไว้คือ

“บทด่า” ของเมียหลวงเมียน้อยใน ไกรทอง หยาบคายหยาบช้าดุเด็ดเผ็ดมันยิ่งกว่าวรรณคดีไพร่บ้าน ชาวบ้านเขียนอย่าง ขุนช้างขุนแผน ไม่รู้กี่เท่า !  

ชนิดที่นางวันทองหญิงปากจัดสุดจะสรรหาคำด่ามากะซวกนางลาวทองให้แทบด่าวดิ้น พอมาเจอบทด่ากับลีลากระโจนเข้าจิกหัวตบตีของนางจระเข้วิมาลากับนางมนุษย์ตะเภาแก้วตะเภาทอง 

วันทองก็วันทองเถอะ...ถอยกรูดไม่เป็นท่าได้ง่าย ๆ

ถ้าคุณ ๆ สนใจก็ลองไปหาอ่านเปรียบเทียบเองแล้วกัน ว่าฝีปากกวีกษัตริย์ที่เห็นความเป็นไปของผู้หญิงในพระราชวัง แล้วบันทึกความจริงนี้ไว้ในงานพระราชนิพนธ์ของพระองค์กับฝีปากกวีชาวบ้านที่บันทึกความจริงบ้าน ๆ ไว้ในงาน ขุนช้างขุนแผน...ชีวิตของผู้หญิงของพื้นที่ใดมีการต่อสู้ห้ำหั่นอย่างรุนแรง หยาบช้า แสนสาหัส หนักหน่วงกว่ากัน

ความจริงชวนสะดุ้งแอบซ่อนอยู่ในวรรณคดีไทยอย่างล้ำลึก

ดิฉันจึงหลงรักงานพระราชนิพนธ์ สังข์ทอง ยิ่งนัก ทั้งในความดุเด็ดเผ็ดมันของสำบัดสำนวน ความจริงหลากหลายที่ซ่อนเร้น ความเปิ่นทะเล่อทะล่าของกษัตริย์ท้าวสามนต์ที่ถูกยิ้มเยาะ เอามาเสียดสีเป็นเรื่องตลก ในสายตาไพร่บ้านพลเมือง...ซึ่งรัชกาลที่ ๒ ทรงบันทึกความจริงของการลดแรงกดดันนี้ไว้ในวรรณคดีชาติไทย ที่พระองค์พระราชนิพนธ์เองเสมอด้วยการเปิดฝาหม้อข้าวเดือด ๆ ให้ไอน้ำควันร้อนฉ่า ๆ พลุ่งพล่านออกไปได้ จนกษัตริย์กับไพร่บ้านพลเมืองใน สังข์ทอง อยู่ร่วมกันอย่างปรกติสุข

ดังนั้นหากเจอเรื่อง สังข์ทอง หรืออะไร ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสังข์ทอง จะการ์ตูน ยี่เก ละครช่อง ๗ สี หรือละครชาตรี ดิฉันจึงไม่ลดละที่จะตามไปดู  จนเมื่อต้นปี ๒๕๖๔ มีเพื่อนรุ่นน้องเล่าให้ฟังว่า ศาลเจ้าแม่ทับทิมใกล้ห้างสหไทยดีพาร์ทเม้นสโตร์ กลางเมืองเพชรบุรี มีกรอบไม้แกะสลักภาพคนแบกปลา น่าจะเป็นเรื่อง สังข์ทอง ตอน “เจ้าเงาะแบกปลา” นายช่างคงแกะสลักไว้สมัย ๑๐๐ กว่าปีมาแล้ว

ดิฉันได้รับข่าวสารนี้ตอนเช้า ความที่หลงรัก สังข์ทอง อย่างยิ่ง บ่ายวันนั้น ๒๔ มกราคม ๒๕๖๔ ดิฉันรีบขับรถเพื่อไปกราบสักการะเจ้าแม่ทับทิม และสำรวจตามหาภาพแกะสลัก
สังข์ทอง ในศาลเจ้าจีนแห่งนั้นอย่างไม่รอช้า

Image

ตามหาสังข์ทอง

ดิฉันไปถึงศาลเจ้าแม่ทับทิมตอนบ่ายต้นๆ ก่อนนี้เคยมาสักการะศาลเจ้าแห่งนี้หลายครั้ง แต่ไม่เคยสังเกตภาพแกะสลักไม้ในศาลอย่างจริงจัง  จนเมื่อได้คำแนะนำจากเพื่อนรุ่นน้อง จึงไปสำรวจกรอบไม้สลักรอบองค์เจ้าแม่สักหน่อย สงสัยนักว่าเล่าเรื่อง สังข์ทอง จริงหรือเปล่า 

ครั้นได้เห็นก็ปลื้มอย่างยิ่ง ใจคิดแต่ว่า โอ้...กรอบไม้แกะสลักรูปคนแบกปลาเก่าแก่เนิ่นนานฝีมือช่างจีนนี้งามจริงหนอ จะใช่เรื่อง สังข์ทอง หรือไม่เดี๋ยวค่อยว่ากัน ขอรื่นรมย์กับสุนทรียภาพตรงหน้าก่อน  ดูเถอะ...กรอบพื้นสีแดง รูปสลักทาสีทอง เล่าสารพัดเรื่อง อลังการศักดิ์สิทธิ์ดีแท้หันซ้ายขวาอยากรู้ประวัติศาลเจ้าแม่ทับทิมของจีนไหหลำกลางเมืองเพชรบุรี เลยได้พบป้าซิวเฮียง แซ่หั่น อายุ ๗๗ ปี ผู้ดูแลศาล ดิฉันรีบนั่งคุยนั่งถามป้า พลางจดข้อมูลความเป็นมาของศาล ดังที่ป้าซิวเฮียงฟื้นความหลังให้ฟังว่า 

ศาลแห่งนี้มีมาเป็นร้อยปี ย้ายมาแล้วหลายที่  ครอบครัวป้าดูแลศาลตั้งแต่รุ่นเตี่ย เตี่ยป้าอพยพมาจากเมืองจีนตอนอายุ ๑๓ ปี กลางสมัยรัชกาลที่ ๖ เตี่ยตายเมื่อปี ๒๕๒๙ อายุได้ ๘๔ ปี ตอนเตี่ยมาอยู่เพชรบุรี ศาลก็มีแล้ว แต่ไม่ได้อยู่ตรงนี้  ก่อนย้ายมาที่นี่ เดิมเป็นศาลไม้ เรือนไม้กรอบไม้แกะสลักมีเก่าแก่อยู่คู่รูปเคารพเจ้าแม่ในศาล  สำหรับกรอบไม้แกะสลักก็ปิดทองมาแต่โบราณ รูปสลักอื่น ๆ ข้างล่างด้านซ้ายเป็นตำนานเรื่องเจ้าแม่ทับทิม ที่มีคนยากจนไปหาปลา เจอขอนไม้ศักดิ์สิทธิ์จึงอธิษฐานให้ได้ปลาเต็มลำเรือ ครั้นได้ปลามากสมใจเขาก็แบกปลากลับบ้าน แล้วนำขอนไม้มาสลักเป็นรูป
เจ้าแม่ทับทิมให้ผู้คนบูชา

Image

ภาพสลักตำนานเรื่องเจ้าแม่ทับทิมที่มีคนยากจนเจอขอนไม้ศักดิ์สิทธิ์ จึงอธิษฐานให้หาปลาได้เต็มลำเรือ ครั้นได้ปลามากสมใจเขาก็แบกปลากลับบ้าน แล้วนำขอนไม้มาสลักเป็นรูปเจ้าแม่ทับทิม ภาพชุดคนแบกปลานี้มีแนวเรื่องคล้ายเจ้าเงาะหาปลา ทำให้หลายคนเข้าใจว่าเป็นตำนานสังข์ทอง

ป้าซิวเฮียงเล่าด้วยว่า คนมาศาลหลายคนจะมาดูแต่รูปสลักหนุ่มแบกปลา บางคนว่าเป็นเรื่อง สังข์ทอง ก็มี รูปสลักอื่น ๆ บนกรอบไม้ไม่เคยมีใครสนใจ

ฟังประวัติศาลจากป้าซิวเฮียง เป็นอันแน่ชัด หนุ่มแบกปลาคนนั้นไม่ใช่เดินออกมาจากวรรณคดี สังข์ทอง ของรัชกาลที่ ๒ แต่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากแผ่นดินจีน เป็นตำนานขอนไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่มาของเจ้าแม่ทับทิม เทพศักดิ์สิทธิ์ของคนจีน 

ดิฉันจึงยกมือไหว้สักการะผลงานครูช่างและตำนานเรื่องเล่าโบราณนี้อีกครั้ง 

ใจแป้วไปนิดที่ไม่เจอพระเอกสังข์ทอง  ไม่เป็นไร ของงาม ๆ ยังมีให้ดูอีกหลายภาพ พอกวาดตาไปตามรูปสลักบนกรอบไม้ คราวนี้ดิฉันเบิกตาโพลง ตะลึงตึ้งตึ้งไปเลย

เพราะรูปที่เรียงเป็นแถวข้างรูปสลักหนุ่มชาวบ้านเลี้ยงควาย นั่นมันรูปไอ้หนุ่มสองคนกำลังหั่นกัญชา ล่อกัญชา ประคองบ้องกัญชา ดูดเอา ๆ ยังกับเป่าปี่ไม่มีวาง...อยู่ชัดๆ !

Image

ภาพแกะสลักไม้คนสูบกัญชาที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมของกลุ่มคนจีนไหหลำ ใกล้ห้างสหไทยดีพาร์ทเม้นสโตร์ กลางเมืองเพชรบุรี

เจอบ้องกัญชา

เมื่อปี ๒๔๕๘ ที่เตี่ยป้าซิวเฮียงอพยพจากเกาะไหหลำมาอยู่เมืองเพชรบุรี ศาลเจ้าแม่ทับทิมกับกรอบภาพสลักไม้ชิ้นนี้ก็มีอยู่แล้ว 

ดังนั้นภาพสลักไอ้หนุ่มเลี้ยงควายหั่นกัญชา ประคองบ้องกัญชา จึงมีอายุเวลายาวนานกว่า ๑๐๐ ปีแน่ ๆ น่าจะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ หรือก่อนหน้านั้น  ภาพสลักนี้พบอยู่กลางเมืองเพชรบุรี แผ่นดินปลูกกัญชาเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ดังปรากฏหลักฐานในรายงานประจำปีศก ๑๑๗ ของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี ที่กล่าวไว้ในหมวดที่ ๕ ว่าด้วยการค้าขาย ความว่า

“การค้าขายในเมืองเพ็ชรบุรีมี ๒ อย่าง คือ สินค้าในพื้นบ้านเมืองส่งจำหน่ายต่างเมืองอย่าง ๑ แลราษฎรพลเมืองทำขึ้นแล้วซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในบ้านเมืองอย่าง ๑

๑. สินค้าซึ่งส่งไปจำหน่ายต่างเมืองซึ่งเปนสินค้าสำคัญก็คือ เข้าเปลือก, น้ำตาลตะโหนด, กันชา, หอยแมลงภู่แห้ง, ถ่านไม้ซาก, ปลาเค็มต่างๆ, เกลือ, ๗ อย่างนี้มากกว่าอย่างอื่น แต่การที่ส่งจำหน่ายต่างเมืองนี้ ลูกค้ามักจะพาสินค้าเหล่านี้เอาไปจำหน่ายในกรุงเทพฯ โดยมากกว่าแห่งอื่น”

Image

หนุ่มชาวบ้านกำลังจุดไฟสูบกัญชาด้วยตุ้งก่าอย่างเมามัน จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วังหน้า เขียนขึ้นในปี ๒๓๓๘ สมัยรัชกาลที่ ๑

รายงานนี้บ่งชัด เพชรบุรีในอดีตเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีก่อน เป็นแหล่งปลูกกัญชาชั้นดีระดับประเทศ กัญชาเมืองเพชรบุรีมั่งคั่งมีชื่อเสียงมากพอ ๆ กับน้ำตาลโตนด ข้าวเปลือก เกลือ ของทะเล ปลาแห้ง หอยแห้ง  ดังนั้นการพบภาพสลักคนหั่นกัญชา ดูดกัญชา บ้องกัญชา ในศาลเจ้าจีนศักดิ์สิทธิ์กลางเมือง ยิ่งเป็นหลักฐานตอกย้ำเด่นชัดถึงความมั่งคั่งสมบูรณ์ของกัญชาเมืองเพชรบุรี ที่หนุ่มเมืองเพชรบุรีทั้งไทย-จีนได้ประคองบ้องกัญชา ละเลียดอารมณ์ชื่นมื่นกับกัญชามาด้วยกัน ในกระแสวัฒนธรรมเดียวกันอย่างแนบแน่น

แล้วหนุ่มในภาพสลักเขาทำอะไรกันอยู่หรือ ภาพนี้เล่าเรื่องใด มาพิเคราะห์ไปพร้อม ๆ กัน

ดิฉันยืนจดจ้องอยู่นานเชียวละ เฝ้ามองภาพสลัก ชีวิตผู้คนในวันวานราวจะสลัวรางทาบซ้อนอยู่บนไม้สลัก ร้อยกว่าปีก่อนหนุ่มชาวบ้านไทย-จีนไปเลี้ยงควาย ระหว่างนั่งรื่นรมย์ชมควาย ชมนา กิจกรรมทำเป็นกิจวัตรคือนั่งหั่นกะหลี่ (ดอก) กัญชาที่คนเพชรบุรีเรียกว่ากะเต็น  นั่นไงสองหนุ่มนั่งใกล้ คนหนึ่งหั่นกัญชาขมีขมัน อีกหนุ่มกำบ้องกัญชาแม่นมั่น ตั้งอกตั้งใจอัดควัน ซื้ด ซื้ด...

ส่วนอีกหนุ่มเลี้ยงควายที่นั่งคออ่อนคอพับหลับครอกไม่ไกลกัน เผลอ ๆ คงอัดกัญชาไปหลายบ้อง ถึงสลบไสลไม่ได้สติด้วยอิทธิฤทธิ์ของกัญชา !

โอ้ หนุ่มในกรอบไม้สลักเขาอัดกัญชาพาไปถึงสวรรค์ชั้นไหนเห็นเทพเจ้าเสด็จลงมาไหมนี่  ไม่รู้เลยนะ !

แต่คนที่เหมือนเห็นเทพเจ้าเสด็จลงจากศาลเจ้าจีน เหาะมาสำแดงองค์ตรงหน้า ก็คือดิฉันที่ยืนถ่ายภาพอยู่นั้นแหละ

เพราะดิฉันซึ้งในอกของคนตามเก็บเรื่องตามถ่ายรูปจิตรกรรมศิลปะชาวบ้านไทยกับกัญชามาร่วม ๓๐ ปี ขอยืนยันว่า นี่เป็นภาพแกะสลักไม้คนสูบกัญชาภาพแรกและภาพเดียวที่ดิฉันค้นพบ  เป็นหลักฐานสำคัญว่ากัญชาไม่ได้แพร่หลายอยู่แค่ในชุมชนชาวบ้านไทยเท่านั้น แต่ชาวบ้านจีนเมืองเพชรบุรีก็เล่นกัญชาอย่างฉ่ำอกเช่นกัน 

ไม่งั้นภาพสลักไม้-หนุ่มสูบกัญชาคงไม่ปรากฏอยู่ในศาลเจ้าจีนร่วมกับภาพไม้สลักเครื่องมงคลของจีนในกรอบไม้เดียวกันหรอก

Image

ในย่ามของอาชีวกที่เดินถือดอกมณฑารพมาพบกับพระกัสสปะ มีบ้องกัญชาเสียบอยู่ จิตรกรรมคอสองศาลาการเปรียญ วัดเกาะแก้วสุทธาราม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เขียนไว้สมัยกลางรัชกาลที่ ๕

กัญชาหาดเจ้าสำราญ

ได้ชมภาพสลักไม้หนุ่มสูบกัญชาไม่นาน ดิฉันก็พยายามตามหาเรื่องกัญชาในพื้นที่เมืองเพชรบุรี ตั้งใจเก็บหลากหลายเรื่องเล่าในวันวานไว้ ก่อนคนเล่าจะจบรุ่น สิ้นสูญไป ดังคนเล่าเรื่องดวงดาวชาวบ้านไทย ที่บัดนี้หมดรุ่น ตายเรียบ แทบหาชาวบ้านรุ่นดูดาวแทนนาฬิกาและเข็มทิศไม่ได้อีกแล้ว โชคดีที่ดิฉันสนใจเรื่องดาวมาตั้งแต่วัยรุ่นจึงทันเก็บเรื่องเล่านี้ไว้ได้ ส่วนเรื่องกัญชายังพอหาตัวคนเล่าเรื่องได้บ้าง แต่ก็น้อยเต็มที

อย่างที่ริมทะเลหาดเจ้าสำราญ เมืองเพชรบุรี ดิฉันพบเพียงคนเดียวคือลุงเฉลิม คชพันธุ์ นักเลงหาดเจ้าฯ อายุ ๘๐ ปี เกิดเมื่อปี ๒๔๘๔  เมื่อมีโอกาสสอบถามเรื่องของหนุ่มเพชรบุรีกับกัญชาในวันวาน และลุงเฉลิมเปิดเผยเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง ดิฉันจึงชื่นมื่นหัวใจยิ่งนัก

มาฟังเรื่องเล่าจากลุงเฉลิมด้วยกันนะ สนุก และมีสีสันบรรเจิดอย่างกับได้ดูดกัญชาไปสักสองสามบ้องเชียวละ ดังที่ลุงเฉลิมเล่าไปยิ้มไป ตาเป็นประกายใสแวบ 

“ตอนผมเด็ก ๆ คนหาดเจ้าฯ เขาใส่กัญชาในแกงป่าไก่ ไม่ใส่แกงกะทิ ใส่ในแกงป่าอย่างเดียว ใส่ทั้งใบกัญชากับกะเต็น แล้วหลัก ๆ ที่ใส่กะเต็นลงไปคือน้ำก๋วยเตี๋ยวเนื้อ อันนี้แหละคนเมืองเพชรบุรีชอบกินมาก

“เมื่อก่อนชาวบ้านเพชรบุรีปลูกกัญชาทุกบ้าน ทั่วเมือง พอกัญชาผิดกฎหมายต้องเลิกปลูก คนเพชร-บุรีเลยต้องซื้อกัญชาของอีสาน มีคนจากอีสานเอามาส่ง ตอนนั้นผมอายุ ๑๐ กว่าขวบ เริ่มเป็นหนุ่ม แต่ในเพชรบุรีที่ไกล ๆ ยังปลูกกัญชากันอยู่ ที่มีมาก ๆ ก็แถวแก่งกระจาน ทางหาดเจ้าฯ เราไม่ได้ปลูก ตำรวจกวนมาก จับมาก โรงพักอยู่ในหาดเจ้าฯ นี้ด้วย ใกล้ตาตำรวจ แต่ตำรวจหาดเจ้าฯ ที่ชอบสูบกัญชาก็มี

“กัญชาจากอุดรฯ มาเป็นก้อน ก้อนละ ๑ กิโลกรัม มีทั้งกะเต็นทั้งใบ สมัยก่อนกัญชาที่ปลูกในแก่งกระจานกิโลกรัมประมาณ ๑๐๐ บาท แต่ตำรวจมันจับใหญ่ จับหนัก เลยไม่มีใครกล้าปลูก ต้องซื้อจากอีสาน มีรถขนมาขาย ราคาสูงขึ้นเรื่อยเป็นพันบาท ปีนี้กิโลกรัมละ ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ บาทยังพอหาได้

Image

ลุงเฉลิม คชพันธุ์ ในวันเล่าเรื่องกัญชากับคนหาดเจ้าสำราญ เมืองเพชรบุรี ในวัยรุ่นจนหนุ่มใหญ่ ลุงดูดกัญชาต่อเนื่องร่วม ๒๐ ปี ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เคยต้องหาหมอเข้าโรงพยาบาล กระทั่งถึงวันเล่าตำนานการดูดกัญชาที่ลุงมีอายุได้ ๘๑ ปี

“ผมเริ่มดูดกัญชาด้วยบ้องไผ่ คนเพชรบุรีเอาไผ่สีสุกทำบ้อง มีพวกกันทำมาให้ที่หาดเจ้าฯ นี้แหละ เขาทำมาจากทางแก่งกระจาน เพราะหาดเจ้าฯ ไม่มีไผ่  บ้องไม้ไผ่จะเจาะช่องไว้เสียบพวย พวยทำด้วยปลายไม้รวกเล็ก ๆ ที่ทะลุเป็นรู ตัดให้ได้ขนาดตรงขั้วพวยเดิมใช้ขี้โคลนยา อุดพวยให้ติดบ้อง ตอนหลังใช้ดินน้ำมันยาแทน มันง่ายดี"

“เวลาดูด เราใช้กะเต็นปนยาเส้นอย่างละครึ่งครึ่ง เท่า ๆ กัน เสียบยาเส้นยำกัญชาลงไปในพวย จุดยาปลายพวย ในบ้องใส่น้ำขลุกขลิก แล้วสูดเฮือก ๆ เข้าไป 

“เวลาหั่นกะเต็น จะวางกะเต็นบนกระดาษหนังสือพิมพ์ ใช้เขียงไม่ได้เป็นหลักฐาน หนังสือพิมพ์เราโยนทิ้งได้เลย ตำรวจจับเราไม่ได้ แบบนี้แหละที่วัยรุ่นหาดเจ้าฯ รุ่นผมรวมกลุ่มสูบกัญชากัน  คนหาดเจ้าฯ ดูดกัญชาหลายบ้าน เห็นหน้าก็พอรู้ ๆ ว่าใครเป็นใคร ชอบแบบไหน

“เมื่อก่อนกัญชามีขายที่โรงยาโบราณ ตามตลาดนัดอำเภอท่ายาง โรงยาคือโรงยาสมุนไพรของหมอโบราณ อยู่แถบห้องแถวไม้กลางตลาดท่ายาง เมืองเพชรบุรี หมอยาจะมีกัญชาไว้ผสมยา เข้ายา ใส่กัญชาลงในยาหม้อ แบบนี้ไม่ผิดกฎหมายสมัยนั้น

“ในตลาดนัดหาดเจ้าฯ ตลาดในตัวจังหวัด ในตัวเมือง ไม่มีกัญชาตามโรงยา ผมไม่รู้ว่าทำไม แต่ในโรงยาท่ายางมีอยู่สองสามโรงที่มีกัญชาขาย เป็นโรงยาไม่มีชื่อ เขาเอากัญชาใส่กระสอบไว้เลย เอาไว้เข้ายาแก้ปวดเมื่อย แก้โรคหัวใจ ทำให้กินข้าวได้

“ผมเริ่มดูดกัญชาตอนอายุ ๑๕-๑๖ ปี เป็นช่วงกึ่งพุทธกาลเพราะเห็นคนในบ้านดูด ผู้ใหญ่ในบ้านดูดกัญชาเป็นปรกติ ผมเลยดูดกับเขาบ้าง ดูดด้วยบ้อง มีดูดพันลำ ที่ยำกะเต็นปนยาเส้นมวนใบจากสูบก็มี

“ช่วงอายุ ๑๕ ปี ผมเรียนโรงเรียนหาดเจ้าฯ เรียนถึงชั้น ป. ๔ เพื่อน ๆ วัยรุ่นที่โรงเรียนดูดพันลำ มวนใบจากดูด ยังไม่มีบ้อง เราดูดพันลำกัน แอบดูดนอกโรงเรียน ดูดในโรงเรียนไม่ได้ครูเอาตาย  พอจบ ป. ๔ ผมไม่ได้เรียนต่อ ออกมาทำงานกับดูดกัญชาเรื่อยมา วันหนึ่งดูดเวลาเดียวคือหลังเลิกงาน  กัญชาไม่ได้มีตลอด บางครั้งก็หาไม่ได้ เขาเอามาให้แต่ละทีถึงได้ดูด

“กัญชาไม่ทำให้ติด ผมดูดหนัก ๆ ต่อเนื่องอยู่ร่วม ๒๐ ปี พออยากเลิกก็เลิกได้เลย ผมเลิกกัญชาตอนอายุ ๓๐ กว่า เพราะกัญชาหายากขึ้น ราคาก็แพงขึ้น กิโลละหลายพัน ตอนเด็ก ๆ โลละพันกว่าบาท พอขึ้นถึงโลละ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาทผมเลิกเลย เพราะราคาแพงจนดูดไม่ไหว 

“แต่ก่อนที่หาดเจ้าฯ คนใหญ่ ๆ ดูดกัญชาไม่กี่คน ต้องมีเงินถึงดูดได้ ตอนนั้นค่าแรงวันละ ๘ บาท ยุคจอมพลสฤษดิ์ค่าแรงวันละ ๘-๑๐ บาท  ผมอายุ ๒๐ กว่าปี กัญชาก็เริ่มแพงขึ้น ๆ  เด็ก ๆ จะเอาเงินที่ไหนมาซื้อดูด ไม่มีหรอก เงินหายาก

“ผมไม่เคยเห็นคนดูดกัญชาจะตีกันหรือทะเลาะกันเลย ดูดแล้วอยู่สงบเงียบ ๆ ส่วนใหญ่จะดูดตอนมืด ๆ หลังเสร็จงาน เพื่อน ๆ มาชวน  บ้านผมค้าขาย ผมอยู่กับแม่ ขายของชำ ค่ำ ๆ เสร็จงานก็ไปดูดกัญชา ดูดแล้วหลับสบาย  แม่ก็รู้ว่าผมดูดกัญชา แต่ไม่เคยด่าว่า เพราะผมทำงานแข็งขัน ไม่เคยเบี้ยวงาน  ผมดูดกัญชาช่วยแม่ขายของเลี้ยงน้องมาเก้าคน  พ่อผมตายตอนอายุ ๕๖ ปี ตอนพ่อตายผมอายุ ๑๐ กว่าขวบ เริ่มทำงานช่วยแม่เลี้ยงน้องกับดูดกัญชาไปพร้อมกัน

“ผมมีเมียตอนอายุ ๒๑ ปี ผมบวชวัดหาดเจ้าฯ นี้แหละ ตอนบวชผมไม่ได้ดูดกัญชาก็ไม่เห็นเป็นไรนี่ แต่ถ้าเห็นใครดูด เราอยากดูดขึ้นมาติดหมัด ไม่เห็น-ไม่อยาก เห็นเขาดูดก็อยากบ้าง ทำได้ก็แค่นั่งคุยกันก็มีความสุขแล้ว  ตอนเป็นพระผมไม่ได้ดูดกัญชาเลย ผมบวชอยู่ ๑ พรรษา สึกมาหยุดกัญชาไปพักหนึ่ง มาได้เมีย เราพากันไป (หนีตามกันไป) เมียผมเป็นแม่ค้า พาไป ๒-๓ วันไปอยู่กับพวกกัน แล้วกลับมาสมาพ่อแม่เมีย พาเมียมาอยู่บ้านผม ช่วยกันค้าขาย

Image

หนุ่มเมืองหลวงยุคต้นรัตนโกสินทร์นั่งดูดกัญชาด้วยตุ้งก่า อยู่ในจิตรกรรมวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร 
ภาพ : ปิยะฤทัย ปิโยพีระพงศ์

Image

หนุ่มพิษณุโลกสูบกัญชาด้วยตุ้งก่า จิตรกรรมพระอุโบสถ วัดราชบูรณะ จังหวัดพิษณุโลก อายุเวลาประมาณปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๔

“พอมีลูกหนึ่งคน ผมกลับไปดูดกัญชาใหม่ เลิกงานก็ตั้งวงดูดกัญชากับเพื่อนสองสามคน ชวนกันไปชายป่า ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์รองหั่นกะเต็น ยำกะเต็น เสร็จแล้วทิ้งกระดาษรองได้เลย

“ดูดกัญชานี้ดี กินข้าวได้ กินได้มากทุกอย่าง แข็งแรงด้วย จนตอนนี้อายุ ๘๑ ปี ผมไม่เคยเข้าโรงพยาบาลเลย เพราะดูดกัญชายาวมาประมาณ ๒๐ กว่าปี สึกแล้วยังดูดกัญชาอยู่อีก ๑๐ กว่าปี มีลูกคนที่ ๒ ถึงเลิก เลิกกัญชามาหลายสิบปี ผมก็ยังแข็งแรงอยู่จนเดี๋ยวนี้  ผมกลัวลูก ๆ หลาน ๆ นินทา มาด่าว่าเป็นพวกบ้ากัญชา เลยหยุด ตอนเลิกดูดกัญชาน่ะ กฎหมายลงโทษหนักเสียด้วย

“ผมไม่เคยได้ยินคำว่าตุ้งก่า (หม้อสูบกัญชา) ผมไม่ทันรุ่นนั้น 
ผมใช้บ้องกับดูดแบบพันลำ กัญชาไม่ได้หาง่าย ตอนนั้นผมมีเมียแล้ว แต่ยังไม่มีลูก  ลูกคนโตเกิดตอนผมอายุ ๒๓ ปี เป็นช่วงโรงยาท่ายางเลิกกิจการแล้ว เลยไม่มีกัญชาขาย

“กัญชาเบากว่าบุหรี่ ดูดแล้วไม่เมามาก ดูดแล้วเพลิน ทำงานเพลิน ๆ ขายของเพลิน ๆ มีงานอะไรเข้ามาทำได้เรียบร้อย บุหรี่ดูดแล้วนอนไม่หลับ คืนหนึ่งดูดเป็นซองก็ไม่หลับ แต่กัญชาอัดเข้าไปแค่สองสามบ้องก็หลับสบาย

“ผมไม่กินเหล้า ผมมีน้องเก้าคน แม่ไม่ให้น้องผมดูดกัญชา ยกให้ผมคนเดียว เพราะผมดูดแล้วได้งานเยอะ เลี้ยงน้องเก้าคนได้สบาย น้องทั้งเก้าอยู่ในโอวาทผมหมด  ผมมีลูกสี่คน ไม่ให้ลูกดูดกัญชา ผมให้ลูกเรียนสูง ๆ เพื่อสอบทำงานดี ๆ 

“กัญชาดีต้องดูที่กะเต็น กะเต็นดีจะเป็นฝอยหยิก ชนิดไม่ดีมีแต่ใบไม่ค่อยมีกะเต็น แต่มีแค่ใบก็พอใช้ได้ บางคนดูดใบก้านไม่ค่อยได้ เขาไอ แต่สำหรับผมทุกส่วนเป็นยา ไม่มีอาการอะไร

“กะเต็นเยอะดูดดีกว่าใบ ดูดไปหนึ่งถึงสองบ้องก็พอแล้ว ปรกติวันหนึ่งดูดไม่เกินสี่บ้อง ถ้ามีเยอะก็ดูดเช้ากับเย็น ถ้าไม่มีก็เย็นอย่างเดียว บ้องเดียว ไปดูดตามชายป่า ซุกบ้องกัญชาไว้ในป่า ไม่เอาบ้องมาบ้าน แต่เดี๋ยวนี้ในป่าหาดเจ้าฯ ที่เคยไปแอบ ๆ หลบ ๆ ดูดกัญชากลายเป็นบ้านจัดสรรไปหมด ไม่มีที่ให้หลบ เมื่อก่อนป่าหาดเจ้าฯ ต้นเสมาเยอะ หนามมาก ตำรวจไม่บุกเข้าไปตามหรอก เราไม่กล้าดูดในบ้าน กลัวตำรวจ

“ช่วงผมดูดหนัก ๆ กัญชามาจากอุดรฯ ไม่มีเม็ด เขาอัดก้อนมาเม็ดแตกหมด เวลาซื้อ พวกเอามาขายทีละ ๑๐๐-๒๐๐ บาท ไม่ได้มาทั้งก้อน

“แต่ที่ปลูกตามแก่งกระจาน พวกนั้นเม็ดเยอะ ผมไม่เคยตามไปดูไร่กัญชาในแก่งกระจาน รู้ว่ามีปลูก แต่ตอนหลังตำรวจจับหนักก็เลิกไปหมด

“คนรุ่นผม ผู้ชายตายหมด เหลือผมคนเดียว ผมยังแข็งแรงดี ไม่เคยให้ลูกหลานเหยียบ ไม่ต้องบีบนวด  ผมว่ากัญชามีส่วนทำให้ผมแข็งแรง ลูกบอกผมแข็งแรงกว่าเขาเยอะ ผมเห็นว่ากระท่อม กัญชา ไม่เป็นพิษเป็นภัย มันเป็นยารักษาโรคที่ดีมาก ๆ คนเก่าแก่ในเพชรบุรีพูดว่า ดูดกัญชาแล้วไม่เจ็บไข้ ไม่ต้องรบกวนลูกหลานให้มาเหยียบมาบีบ ตอนนี้ผมอายุ ๘๑ ปีแล้ว ยังไม่เคยใช้ลูกหลานเหยียบเลยนะ”

Image

แม่เมรัยเทวนารีผู้ดูแลต้นกัญชา จิตรกรรมผลงานครูเฉลิม พึ่งแตง เขียนเมื่อปี ๒๕๖๓ ให้มูลนิธิข้าวขวัญไว้บูชา

จิตรกรรมกัญชา
ค้นพบใหม่

ฟังลุงเฉลิมเล่าเรื่องหนุ่มหาดเจ้าฯ ตั้งวงดูดกัญชาชายป่าต้นเสมา ที่หน้าตาเหมือนกระบองเพชรต้นสูง ดิฉันก็จำได้คลับคล้ายคลับคลา ในวัยเด็กตอนลงรถสองแถวสุดทางที่หาดเจ้าฯ แล้วเดินเลี้ยวขวาเลียบถนนไปหาดโรงแรมทหารกองทัพบก ที่คนรุ่นดิฉันเรียกว่า “โรงแรมผี” เพราะใช้ถ่ายหนัง โรงแรมผี เมื่อ ๔๐ กว่าปีก่อน  ดงเสมากับดองดึงริมทาง ดิฉันจำได้ เคยแปลกใจ ทำไมมีกระดาษหนังสือพิมพ์ทิ้งเกลื่อน ปลิวลมพะเยิบ ๆ ทั้งที่ไม่ใช่กองขยะ  จนมาได้คำเฉลยจากลุงเฉลิมว่าเป็นกระดาษรองหั่นกะเต็นแทนเขียงหั่นกัญชา

ดูแน่ะ ตั้ง ๔๐-๕๐ ปีเชียวละกว่าจะได้รู้ความจริงจากหนุ่มหาดเจ้าฯ คนอัดกัญชามาสุด ๆ ตั้งแต่วันวาน

ก็เพราะตามหาตามสืบตามค้นเรื่องกัญชาไม่ลดละดังนี้เอง ดิฉันถึงได้พบได้สนุกกับหลายสิ่ง หลากความรู้ และยังมีที่ ชอบ ๆ อีกมากเกี่ยวกับจิตรกรรมกัญชาที่ดิฉันเพิ่งค้นพบ

ภาพแรกที่อยากเล่าถึงคือภาพ มโหสถชาดก ตอนเรือแตก ที่นางเมขลาลงมาช่วยพระมโหสถ ท่ามกลางคนเรือแตกในท้องทะเล หนุ่มคนหนึ่งถือบ้องกัญชาผจญพายุ เขาว่ายน้ำ ชูบ้องกัญชาพ้นน้ำ เสมอด้วยของสูงค่ายิ่ง

จิตรกรรมบนแผ่นไม้ชิ้นนี้เคยอยู่ที่คอสองศาลาการเปรียญ วัดคงคาราม จังหวัดเพชรบุรี  ภายหลังศาลาถูกรื้อออกไป จิตรกรรมบนไม้ประดับคอสองถูกกองทิ้งไว้ คุณพ่อดิฉัน อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว กับเพื่อนรักท่าน อาจารย์บัวไทย แจ่มจันทร์ ได้ไปเก็บมารักษาไว้ที่วิทยาลัยครูเพชรบุรีเมื่อราว ๔๐ ปีก่อน  ภายหลังคุณพ่อดิฉันเกษียณ ภาพเขียนดังกล่าวถูกวางลืมไว้ที่อาคารหอพักนักศึกษาชายในมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีอยู่หลายสิบปี จนราว ๗-๘ ปีก่อน ผู้ช่วยศาสตราจารย์แสนประเสริฐ ปานเนียม ได้ไปพบและนำมาเก็บรักษาไว้ที่สถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

งานจิตรกรรมบนแผ่นไม้ชิ้นนี้ฝีมือดีมาก ครูช่างเขียนอย่างมีชีวิตชีวาสนุกสนาน บันทึกภาพหนุ่มเมืองเพชรบุรียุค ๑๐๐ กว่าปีก่อนที่รักกัญชายิ่งชีพไว้เด็ดดวงนัก 

ชนิดเจอพายุกระหน่ำ เรือแตก ผ้าหลุด แต่บ้องกัญชาไม่มีวันหลุดมือ ดูแล้ว “มัน” หัวใจดีแท้ !

จิตรกรรม มโหสถชาดก ตอนเรือแตก มีภาพหนุ่มถือบ้องกัญชาผจญพายุกลางทะเลป่วน ภาพนี้เคยประดับอยู่ที่คอสองศาลาการเปรียญ วัดคงคาราม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี

ครูช่างเมืองเพชรบุรีนิยมเขียนภาพคนสูบกัญชา หนึ่งในนั้นก็คือครูเลิศ พ่วงพระเดช (ปี ๒๔๓๗-๒๕๑๓) นอกจากจะเขียนภาพหนุ่มอัดกัญชาไว้ที่ผนังวิหารวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบุรีแล้ว ท่านยังเขียนภาพหนุ่มสูบกัญชาไว้ในจิตรกรรม รามเกียรติ์ ที่ระเบียงวัดพระแก้ว ในช่วงครบรอบ ๑๕๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี ๒๔๗๓ อยู่ที่ห้อง ๑๕๕ ตอนพระรามปูนบำเหน็จน้องทั้งสองและทหาร 

ดิฉันเห็นภาพนี้จากข้อเขียนในเฟซบุ๊กของพี่เอนก นาวิกมูล พี่ชายที่รัก นักเขียนสารคดีมือเยี่ยม ซึ่งบัดนี้พี่ได้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” แล้ว  พี่เอนกใจดี ใจอ่อนกับบรรดาน้อง ๆ และผู้คนที่มาฉอเลาะตะล่อมขอความอนุเคราะห์ให้ช่วยเหลือเสมอ ดิฉันเองวิ่งหาข้อมูล หาภาพจากไหนไม่ได้ ก็มักไปกะลิ้มกะเหลี่ยขอจากพี่เอนกอยู่บ่อย ๆ (บ่อย ๆ นี้คือตลอดหลายสิบปี ตั้งแต่สาวยันจะเป็นอีแก่อยู่รอมร่อ !) พี่เอนกก็ให้มาไม่มีเกี่ยงงอน  พอเห็นภาพหนุ่มอัดกัญชาฝีมือครูเลิศ พ่วงพระเดช นายช่างใหญ่เมืองเพชรบุรี ดิฉันก็พุ่งกระโจนติดต่อขอรูปนี้จากพี่เอนกทันที พี่เอนกก็จัดให้สมใจอยาก จึงขอขอบคุณเจ้าประคุณพี่ไว้ ณ ตรงนี้

ว่าถึงภาพกัญชาจากพี่เอนกแล้ว ไม่กี่วันก่อนดิฉันสั่งซื้อหนังสือ นักวาดชั้นครู ของพี่เอนกมาใช้งาน พลิกอ่านไปเรื่อยก็พบเรื่องของมิสเตอร์เบนยามิน เอ. เปเรร่า นักวาดภาพล้อและภาพโฆษณาสมัยรัชกาลที่ ๖

ในภาพล้อนักเล่นหวยกับบาทหลวงในหนังสือ บางกอกปั๊ก ปี ๒๔๕๗ หนุ่มที่กำลังยกมือไหว้ท่านบาทหลวงปลก ๆ เพื่อขอหวยนั้น ตรงเอวหนุ่มเหน็บบ้องกัญชาไว้เด่นชัด มิสเตอร์เบนยามินคงวาดภาพนี้จากความจริงและปรากฏการณ์ที่เห็นทั่วพระนครในช่วงนั้นที่กัญชายังไม่ผิดกฎหมาย และมีหน้าที่เป็นบันไดพาหนุ่ม ๆ บนแผ่นดินสยามไต่ขึ้นไปชมภพภูมิสวรรค์อย่างทั่วถึงในทุกชั้นวรรณะ

ดูภาพการ์ตูนของเบนยามินแล้วดิฉันขำกลิ้ง ไม่แน่ใจว่าสำหรับไอ้หนุ่มคนนี้ ระหว่างได้เลขหวยจากบาทหลวงกับนั่งดูดกัญชาสักสองสามบ้อง อะไรจะพาขึ้นสวรรค์ได้เร็วกว่ากัน

ยังมีจิตรกรรมกัญชาเมืองเพชรบุรีแสนสนุก ที่น้องชายที่รักของดิฉัน อาจารย์ฐานิสร์ พรรณรายน์ ครูดนตรีโรงเรียนวัดจันทราวาส (ศุขประสารราษฎร์) อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ไปพบ และถ่ายภาพมาฝาก นั้นคือภาพหนุ่มสูบกัญชาที่เขียนไว้บนฝาตู้พระธรรมของวัดศาลาเขื่อน อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

ตู้พระธรรมใบนี้อายุเวลาเก่าแก่มาก คงร่วม ๒๐๐ ปี ฝาตู้ผุพัง จิตรกรรมบนฝาตู้น่าจะเขียนมาตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๓ ถามว่ารู้ได้อย่างไร ตอบได้ทันทีว่า สีสัน ลายเส้น บ่งชัดเช่นนั้น ถ้าคุณคุ้นกับจิตรกรรมไทย ดูแล้วดูอีก คุ้นแล้วคุ้นอีกทั้งตานอกตาใน เห็นปร๊าดก็พอบอกได้คร่าว ๆ ว่ายุคสมัยกับอายุเวลา มีลักษณะเฉพาะของแต่ละช่วงกาละปรากฏอยู่ในนั้นด้วย

ฝาตู้พระธรรมที่น้องฐานิสร์ถ่ายภาพมา ด้านขวาบนเป็นภาพหนุ่มนั่งเหยียดขา หันหลังให้โลกไปเสวยสุขสูบกัญชาด้วยบ้องไม้ไผ่อยู่บนกำแพงวัง

Image

ภาพหนุ่มสูบกัญชาที่เขียนไว้บนฝาตู้พระธรรม วัดศาลาเขื่อน อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี  อายุเวลาก่อนสมัยรัชกาลที่ ๓
ภาพ : อาจารย์ฐานิสร์ พรรณรายน์

Image

ภาพล้อนักเล่นหวยกับบาทหลวงในหนังสือ บางกอกปั๊ก ปี ๒๔๕๗ หอสมุดแห่งชาติ ผลงานของ เบนยามิน เอ. เปเรร่า นักวาดภาพล้อและภาพโฆษณาสมัยรัชกาลที่ ๖  ในภาพนี้ หนุ่มนักเล่นหวยเหน็บบ้องกัญชาไว้ข้างเอว หยิบดูดหยิบใช้ได้ทันใจดีแท้ 
ภาพ : จากหนังสือ นักวาดชั้นครู : เอนก นาวิกมูล

Image

ริมกำแพงวัดมีหนุ่ม ๆ มานอนหลบ ๆ ดูดกัญชาบ้าง ทำเรื่องชอบ ๆ ตามใจอยากบ้าง ชีวิตจริงในอดีตที่บันทึกไว้ในจิตรกรรมไทย ภาพจิตรกรรมคอสองศาลาการเปรียญ วัดปากคลอง อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

มันดีไหมล่ะ จิตรกรรมกัญชาไทยปรากฏอยู่ได้ทุกที่ บนตู้พระธรรมไว้เก็บคัมภีร์สมุดไทยชาดก พระไตรปิฎก สรรพคัมภีร์ ตำราหยูกยาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บนฝาตู้ ครูช่างวาดภาพคนเล่นกัญชาไว้หน้าตาเฉยวัดกับบ้าน โลกย์กับธรรม อยู่ด้วยกันแนบแน่นนัก เปิดฝาตู้ที่เขียนภาพโลกย์ ๆ ข้างในก็คือพระไตรปิฎกเรื่องของธรรมะล้วน ๆ เมืองไทย สังคมไทย อยู่กันแบบนี้มาตั้งแต่โบราณสมัย และจะอยู่ไปแบบนี้นี่แหละ ไม่มีทางจะถอนรากถอนโคนให้แยกจากกันได้

ก็ดูจิตรกรรมคอสองศาลาการเปรียญ วัดเกาะ กลางเมืองเพชรบุรี ที่เขียนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ นั้นเถิด ก่อนนี้ดิฉันเคยนำเสนอภาพหนุ่มเมืองเพชรบุรีสูบกัญชาด้วยอุปกรณ์ “ตุ้งก่า” ในภาพชุดนี้มาแล้ว  แต่เมื่อต้องมาตรวจสอบเรื่องราวในพุทธประวัติก็พบว่าในจิตรกรรมชุดนี้ช่วงที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้าซึ่งดับขันธปรินิพพานไปแล้ว เหล่ากษัตริย์มัลละได้เตรียมถวายพระเพลิง ณ มกุฏพันธเจดีย์ และจัดให้มีมหรสพบูชา แต่ในวันที่ ๗ พวกกษัตริย์มัลละจะถวายพระเพลิง แต่ไม่สำเร็จ จุดไฟไม่ติด  พระอนุรุทธะบอกว่า เพราะเทวดาให้รอพระมหากัสสปะเดินทางมาถึง ให้ได้กราบพระบรมศพก่อน

ขณะพระมหากัสสปเถรเจ้ากำลังนำคณะเดินทางมา ทุกคนยังไม่รู้เรื่องการปรินิพพานของพระพุทธองค์ แต่ระหว่างทางพระกัสสปะได้พบอาชีวกผู้หนึ่งเดินถือดอกมณฑารพมาจากเมืองกุสินารา ท่านก็ได้ทราบเหตุว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เพราะดอกมณฑารพจะร่วงเมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จลงมาสู่ครรภ์พระมารดา แลกาลเมื่อประสูติ แลกาลออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ แลกาลอภิสัมโพธิ แลตรัสเทศนาพระธรรมจักร แลกระทำพระยมกปาฏิหาริย์ แลกาลเสด็จลงมาจากเทวโลก แลกำหนดปลงพระชนมายุสังขาร พระกัสสปะจึงซักถามอาชีวก และรู้แจ้งว่าพระพุทธองค์ดับขันธปรินิพพานแล้ว

Image

อาจารย์เดชา ศิริภัทร นั่งอ่านสมุดตำรายาเข้ากัญชา ที่วัดสิงขรวราราม (วัดไทยสิงขร) เมืองตะนาวศรี จังหวัดมะริด ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒

Image

ตำรับยาโบราณผสมกัญชา บันทึกอยู่ในสมุดไทย เก็บรักษาไว้ที่วัดสิงขรวราราม (วัดไทยสิงขร) เมืองตะนาวศรี ชุมชนชาวบ้านไทยบนแผ่นดิน ประเทศเมียนมา

วัดปากคลอง อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี มีภาพอาชีวกเดินถือดอกมณฑารพมาพบกับพระกัสสปะ ในย่ามเขามีบ้องกัญชาเสียบอยู่ จิตรกรรมนี้วาดด้วยลีลา ท่าทางเดียวกับจิตรกรรมคอสองศาลาการเปรียญ วัดเกาะแก้วสุทธาราม กลางเมืองเพชรบุรี

ก่อนนี้ดิฉันไม่เคยสังเกต มองผาด มองผ่าน จึงไม่ทันเห็นว่าในย่ามของอาชีวกผู้นั้นมีบ้องกัญชาเสียบอยู่ด้วย ! นี้คงเป็นภาพจริง ชีวิตจริงของคนยุค ๑๐๐ กว่าปีก่อน

ไอ๊หยา สมัยรัชกาลที่ ๕ บ้องกัญชาเป็นอุปกรณ์ประจำตัวหนุ่ม ๆ อาจจะพอ ๆ กับไอแพดหรือโทรศัพท์สมาร์ตโฟนของหนุ่มยุคนี้เลยกระมัง

ภาพหนุ่มอาชีวกถือดอกมณฑารพสะพายย่ามใส่บ้องกัญชาไว้นี้ยังพบที่จิตรกรรมคอสองศาลาการเปรียญ วัดปากคลอง อำเภอบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี ด้วยเช่นกัน  ครูช่างวาดภาพชุดนี้ไว้ประมาณสมัยรัชกาลที่ ๕ ด้วยลีลาท่าทางเหมือนกับหนุ่มในจิตรกรรมวัดเกาะ ย่ามก็เหน็บบ้องกัญชาไว้ด้วย เป็นอุปกรณ์ประจำตัว ขาดไม่ได้ หยิบหาพาขึ้นสวรรค์ได้ทันใจดีแท้

ในจิตรกรรมชุดนี้ที่วัดปากคลอง ยังมีภาพชายรุ่นคุณปู่สองคนตะแคงตัวเคียงข้าง หนุ่มหนึ่งกำบ้องกัญชาตาปรือ เขียง มีดกระเด็นไปคนละทาง กัญชาพาขึ้นสวรรค์ชั้นไหน ๆ แล้วไม่รู้  ส่วนอีกหนุ่มก็กำอุปกรณ์ประจำตัวหาทางขึ้นสวรรค์ด้วยการทำอะไรอยู่ไม่ทราบ เกินจะบรรยาย เฮ้อ...ดูเองแล้วกัน

ดิฉันนั่งพินิจดูจิตรกรรมกัญชาวัดปากคลอง อำเภอบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี อย่างรื่นรมย์ใจ สนุก ตลก ฮา ประทับใจนักกับศิลปกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับกัญชาหลากหลายที่พบ 

ดูเอาเถิด ตั้งใจไปตามหา สังข์ทอง แต่เริ่มแรก ในศาลเจ้าจีนกลางเมืองเพชรบุรี กลับไม่เจอพระสังข์ กลายเป็นพบภาพสลักคนแบกปลาในตำนานเจ้าแม่ทับทิม  แต่เด็ดกว่านั้น ดิฉันได้พบของชอบ ๆ เจอบ้องกัญชา สะดุดปังให้ครึกครื้นหัวใจ แล้ว ยังได้ฟังเรื่องเล่ากัญชาหาดเจ้าฯ จากลุงเฉลิม ที่อีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะกลายเป็นตำนานกัญชาเพชรบุรีไปแล้ว 

เช่นเดียวกับจิตรกรรมกัญชาหลากหลายที่ที่ค่อย ๆ ค้นพบ เปิดโฉมให้ตื่นเต้น ชื่นมื่น ชื่นตา ให้คนรุ่นหลังตามหา สืบต่อเรื่องเล่า ภาพงามจากวันวานให้กลับมามีชีวิตอมตะ อยู่ในภาพถ่าย หนังสือ สื่อดิจิทัล

ดังที่ดิฉันและเพื่อนนักเขียนสารคดีชีวิตชาวบ้านพยายามกระทำอยู่ในช่วงกาลนี้  

สัมภาษณ์
๑. ป้าซิวเฮียง แซ่หั่น อายุ ๗๗ ปี เกิด พ.ศ. ๒๔๘๗ ปีวอก บ้านเลขที่ ๖ ถนนพงษ์สุริยา ซอย ๗ ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี (สัมภาษณ์ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๔)

๒. ลุงเฉลิม คชพันธุ์ อายุ ๘๐ ปี เกิด พ.ศ. ๒๔๘๔ ปีมะเมีย
บ้านเลขที่ ๑๐๖ หมู่ ๒ บ้านหาดเจ้า ตำบลหาดเจ้า อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี (สัมภาษณ์ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔)