กระท่อม-กัญชา
ในตำรับหมอยาพื้นบ้าน
scoop
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ยาสมุนไพรในตำรับหมอยาพื้นบ้าน หาได้ยากที่จะมีบันทึกรูปเล่มเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนมากบอกกันปากต่อปากและเป็นความรู้อยู่ในตัวหมอ คนไข้อยากได้ยาหรือใครอยากได้ข้อมูลก็ถามตอบเล่าให้ฟังเป็นเรื่องๆ เป็นโรคๆ ไป เช่นเดียวกับการสนทนาเรื่องยาเข้ากระท่อมและกัญชากับหมอยาพื้นบ้านหลายๆ คน เพื่อนำมาบันทึกไว้ส่วนหนึ่งในที่นี้
“โรคพาร์กินสันเดิมทีเขาเรียกว่าพาอิสัน กูพาอิสันแล้วนิ ฝรั่งได้ยินไปเปลี่ยนเป็นพาร์กินสัน ใช้ยากัญชารักษามา
๔๐ ปีแล้ว รับทอดจากพ่อ พ่อเคยถูกจับกัญชา แต่แรกปลูกทำยา เด็กเอากุหลีไปสูบ พอถูกจับก็ซัดทอด พ่อเลยเลิกปลูก"
“ช่วงผิดกฎหมายหมอไม่บอกแหละว่าใส่รากกัญชา ไม่แหลง ใส่มานานแล้ว แรกรุ่นทวดโน่น บอกแต่ตัวยาอื่นๆ ผิดกฎหมายเราก็ยังทำ ต้องช่วยคนไข้ ตอนหลังกุหลีแพง รากกัญชาถูก บางทีเขาให้ฟรี ผมบดผสมเครื่องอื่นแล้วมาเคี่ยวน้ำมัน รักษาพาร์กินสัน แก้ลมติดตามข้อ ปวดคอ บ่า ไหล่
หันไม่ไป ปวดเอวคู้ ลูบสองสามทีแล้วทุบ ไปต่อได้หล่าว เพราะยาดูดลมในข้อ ใช้คู่กับน้ำมันระกำเพื่อเปิดรูขุมขนให้นำนํ้ามันกัญชาเข้าไป
“ท่อมผมก็ใช้มานานแล้ว ถูกโค่น หาใบแก่ไม่ทันก็ใช้เปลือก ตอท่อมเป็นแถวที่บ้าน ‘นาย’ เห็นใจที่หมอถูกโค่น เว้นตอไว้ให้สูงเทียมเอว เราปลูกกล้วยบังไว้ ใช้มาแบบนั้นช่วงผิดกฎหมาย ตัวเองกินมาเป็น ๔๐ ปีแล้ว ในงานศพหลังกินข้าว เห็นเชี่ยนหมากก็เห็นท่อม หมอกินวันละสองใบ บายๆ เลย ที่ชัดๆ แก้เบาหวาน แก้ไอ แก้เฉื่อย ขับรถสัปหงกกินท่อมดีกว่าซื้อกระทิงแดง ปวดเมื่อยก็หาย
“ตอนหลังบดใส่แคปซูล ไม่บอกว่าใส่ท่อม เขาว่ากินยาหมอสวัสดิ์ตัดยางรุ่ง ท่อมมีกำลังวังชา กัญชาช่วยอารมณ์แจ่มใส
ชุมเห็ดช่วยเรื่องขับถ่าย บดรวมกันใส่แคปซูล คนเราถ้ากินได้นอนหลับ ขี้ดีเยี่ยวดี อารมณ์แจ่มใส ไปไหนไปได้ สบาย”
หมอสวัสดิ์ จิตพรหม
ประธานชมรมหมอพื้นบ้านอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง
“ใช้มานานแล้ว ความรู้มีมาก่อน บางทีเราใช้กัญชาเถื่อน กัญชาตัวผู้ รักษาโรคมะเร็ง มีกัญชาใต้ดินลักลอบปลูก เราเป็นหมอลักลอบใช้ ต้องปิดบังกฎหมาย หลบๆ ซ่อนๆเลยพยายามเอาขึ้นมาอยู่บนดิน ไม่เว้นช่อดอกให้เหมือนกระท่อม ตอนนี้เราได้รับอนุญาตให้ซื้อกัญชาถูกกฎหมายได้ แต่อยากปลดล็อกให้หมด จริงๆ ในตำราแพทย์แผนโบราณกัญชาไม่ใช่ยาเสพติด เป็นยารักษาโรค ที่ให้โทษนั่นคือใช้ยาเกินขนาด ยาทุกตัวกินเกินขนาดก็มีพิษ”
หมอศุภชัย หมัดหลี
ประธานชมรมหมอพื้นบ้านอำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง
“ยากัญชาใช้มาตั้งแต่ผมเป็นหมอยาครั้งแรกตอนอายุ ๑๗ ปี ตอนนี้ ๘๓ ปีแล้ว ได้ความรู้จากพ่อ เป็นหมอยามาตั้งแต่ปู่ ไม่ได้เขียนเป็นตำรา ผมไม่รู้หนังสือ แต่ถ้ารู้จักต้นไม้ไม่ยาก ไม่รู้จักไปซื้อก็โดนหลอก หมอยาถ้าไม่รู้จักต้นไม้ อย่าเป็นดีกว่า เอายามาใช้มันก็ไม่ดี
“ผิดกฎหมาย แต่เราใช้ทางลับ เอารากไปต้ม ต้นบ่อึดดอกนครพนมใครก็ปลูก ที่ท่าอุเทนกับศรีสงครามดังที่สุดเรื่องกัญชา ซื้อมา ๑๐๐ บาท ใช้น้ำสามแก้วกาแฟเคี่ยวให้เหลือแก้วเดียว กินทีละช้อนชา อย่ากินช้อนโต๊ะจะติด ไม่เป็นโรคอย่ากิน กินเป็นยาแก้ปวด ทนไม่ได้จึงกิน กินบ่อยจะติดเหมือนกินยาพาราฯ คนกินไม่ถูกต้อง กินไปกินมาก็ติด”
หมอสอย เพชรฤทธิ์
หมอพื้นบ้านนครพนม หมอไทยดีเด่นแห่งชาติ ปี ๒๕๕๘
“เราทำงานกับหมอพื้นบ้าน ไม่ใช่หมอเชิงเศรษฐกิจ มองว่ากระท่อมเป็นยาของประชาชน พยายามขับเคลื่อนให้พวกเขามีส่วนร่วม ประชาสัมพันธ์ให้ใช้อย่างถูกต้องปลอดภัย รวมทั้งเทคโนโลยีในการปลูก กระท่อมไม่ต้องประคบประหงม ไม่ต้องใช้สารเคมี รากช่วยอุ้มน้ำ ปลูกในพื้นที่ต้นน้ำก็เป็นพืช
สิ่งแวดล้อม
“ประชาชนเขามีความรู้สึกเชิงบวกกับกระท่อม ปลูกไว้ใช้ ลดปวดเมื่อย ทนแดดทนร้อนได้ดี พี่น้องชาวประมงก็ใช้ ถ้าในปริมาณพอดีไม่กลัวน้ำกลัวฝน ก็เหมือนคนเมืองดื่มกาแฟ กินเพื่อทำงานโดยไม่ติด ประชาชนพึ่งตนเองได้ ไม่ต้องซื้อยาสมัยใหม่ที่อาจมีผลข้างเคียง
“หมอพื้นบ้านใช้ใบรักษาหลายโรค ท้องร่วง เบาหวาน ปวดเมื่อย ความดัน ถอนพิษเริม ยาใช้ภายนอกแก้น้ำกัดเท้า ยาเด็กใช้อย่างเดียวสามยอดตำโปะกระหม่อมเด็กให้นอนหลับ ไม่ร้องโยเย ใช้เปลือกและรากรักษาอาการติดสุรา รากใช้รักษามะเร็ง ลดปวด พอกแผลสดห้ามเลือด แผลเรื้อ รังเบาหวาน ก็ให้ผลน่าสนใจ รอวิจัยต่อไป
“กระท่อมยังใช้เป็นยารักษาสัตว์ได้ด้วย โรคท้องเสียในวัวควาย ถ้าได้รับการส่งเสริมก็น่าจะทดแทนยาปฏิชีวนะได้ ซึ่งในประเทศเราใช้เยอะมาก”
เสาวณีย์ กุลสมบูรณ์
อดีตผู้อำนวยการกองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญา การแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
กัญชาจะเป็นมรดกโลก
ศาสตราจารย์ ดร. ชยันต์ พิเชียรสุนทร
ราชบัณฑิต ประธานคณะทำงานศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอให้กัญชาไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ
“มีการนำกัญชามาใช้ทำยาอย่างกว้างขวาง แต่กฎหมายทำให้การใช้ประโยชน์จากกัญชาสูญหายได้ ทว่าการเข้าไปสู่ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของโลกจะช่วยรักษาสิ่งนี้ไว้
“กัญชามีหลายบริบท ยา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สันทนาการ
แต่บริบทสันทนาการในเรื่องยาเสพติดเพียงบริบทเดียวกลับทำให้บริบทอื่นสูญหายไป ซึ่งจริงๆ เป็นเรื่องเล็กมาก ยังต้องดีเบตกันต่อว่าสูบกัญชาดีหรือไม่ดี
“กัญชาในภูมิปัญญาต่างๆ ล้วนมีคุณงามความดีที่เราควรพัฒนา กัญชายังมีประโยชน์ในเชิงการปกครองด้วย เพราะมีส่วนทำให้สังคมสงบสุข เนื่องจากชาวบ้านนำกัญชามาใช้เป็นเครื่องปรุงแทนผงชูรส กินแล้วเพลิน นอนหลับอยู่บ้านไม่ไประรานใคร ผมลงพื้นที่ในหมู่บ้านมีชาวบ้าน ๔๐๐ กว่าคน มีคนติดกัญชาอยู่สองคน คนส่วนใหญ่ใช้เวลาจำเป็นไม่ได้กินทุกวัน ใส่แกงเพื่อให้มีรสชาติดีขึ้น
“เรากำลังทำเรื่องภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อยันกับภาครัฐในการสงวนรักษายานี้ไว้ ให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ ส่งเสริม พัฒนา ต่อยอด การปลูก เก็บเกี่ยว ทำผลิตภัณฑ์ ถ้าทุกคนมีเสรีที่จะพัฒนา เราจะได้เห็นนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นชุมชนต้องนำภูมิปัญญานี้ไปขึ้นทะเบียนภูมิปัญญาของจังหวัดจังหวัดยื่นเข้าไปที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม แล้วกรมฯ จะส่งต่อไปยังยูเนสโก
“มรดกโลกทางวัฒนธรรมคือการนำไปใช้ประโยชน์ จับต้องไม่ได้ เป็นภูมิปัญญาที่อยู่ข้างใน ขั้นตอนแรกเราพยายามผลักดันให้เป็นของชุมชน ไปสู่จังหวัด ให้จังหวัดต่างๆ มีส่วนร่วม เพื่อให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติจริงๆ
“บางคนอาจคิดว่าให้นำยาเสพติดมาเป็นมรดกโลก ฉันทำไม่ได้ แต่ผมจะบอกว่านี่คือมรดกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรม ถ้าคนเข้าใจก็จะมีแรงผลักดัน เราคงได้เห็นในไม่ช้านี้”