Image

พันธุ์ท่อม
พันธุ์กัญชา

scoop

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

พันธุ์ท่อม

Image

กระท่อมมีชื่อวิทยาศาสตร์ Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. และชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระท่อม ท่อม อีถ่างมีกระท่อมขี้หมู กระทุ่มน้ำ เป็นญาติใกล้ชิด

ในกระท่อมมีสารเคมีหลายกลุ่ม เช่น แอลคาลอยด์ ฟลาโวนอยด์ ไตรเทอร์พีน ฟีนอลิก แต่สารสำคัญหลักคือ ไมทราไจนีน (mitragynine) ซึ่งเป็นสารกลุ่มแอลคาลอยด์ที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางหนังสือวิชาการเกี่ยวกับกระท่อม รวมทั้งคนขายพันธุ์ไม้ มักจำแนกสายพันธุ์ไว้สามชนิด

- พันธุ์ก้านแดง เส้นใบบริเวณท้องใบเป็นสีแดง 
- พันธุ์ก้านเขียว เส้นใบเป็นสีเขียว 
- พันธุ์หางกั้งหรือยักษ์ใหญ่ ขอบปลายใบหยัก 

แต่ชาวบ้านถิ่นใต้ที่ใช้กระท่อมอยู่ในวิถีชีวิต ไม่แน่ใจและไม่ได้สนใจเรื่องสายพันธุ์มากกว่ารสชาติและฤทธิ์สรรพคุณ ซึ่งต้นไหนดีก็จะบอกต่อและนำไปขยายพันธุ์

ไมทราไจนีนทำอะไรได้บ้าง

จากรายงานการวิจัยต่าง ๆ พบว่า สารไมทราไจนีนในใบกระท่อมออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายอย่าง
- ถอนพิษและลดความเครียดลดอาการขาดยาจากยาเสพติดได้ 
- ลดการหลั่งกรด ทำให้ไม่อยากอาหาร
- ยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็กทำให้ท้องผูก สอดคล้องกับการใช้ใบกระท่อมรักษาอาการท้องเสีย
- บรรเทาอาการปวด บวม และต้านการอักเสบ 
- ช่วยรักษาโรคเบาหวาน 
- ช่วยเพิ่มความจำในหนูทดลอง 
- มีแนวโน้มบรรเทาอัลไซเมอร์ได้

กระท่อมในตำรับยาพื้นบ้าน

หมอยาพื้นบ้านมักใช้กระท่อมขี้หมู กระท่อมนา เป็นส่วนผสมของยาในการรักษา โดยใช้ทั้งใบ กิ่ง เปลือกต้น ราก เนื้อไม้ หรือใช้กระท่อมต้นเล็กทั้งต้น 

มีสรรพคุณแก้ปวดเมื่อย ปวดข้อ ปวดกระดูก เบาหวาน ท้องร่วง แก้ไอ ไข้มหาสันนิบาต โลหิตจาง 

“จริงๆ ในกิ่งเดียวกันมีทุกสี สีเป็นเรื่องชีวเคมีในต้น ที่พูดๆ กันนั้นว่าไปตามสายตาที่เห็น  ความจริงไม่ว่าท่อมที่ไหน ในกิ่งเดียวมีทั้งก้านแดง จากนั้นเขียว ขาว แล้วก็เหลือง หางกั้งขอบใบหยัก ไม่ได้เป็นหยักทุกใบ ทุกเดือน เปลี่ยนตามชีวเคมีในต้น ช่วงหนึ่งหางกั้งหายไป ก็ต้องศึกษาต่อว่าเคมีตัวไหนทำให้เกิดแบบนั้น”   

ศุภวัฒน์ กล่อมวิเศษ

นักวิจัยท้องถิ่นตำบลน้ำพุ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

Image

Image

กระท่อมยักษ์
เรื่องเล่าเล็ก ๆ
จากนาสาร

ต้นกระท่อมคู่ที่ใหญ่โตเกินสองคนโอบ ริมสวนหลังบ้านของ สุนทร แซ่เขา ในชุมชนบ้านวังหล้อ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี วัดรอบโคนได้ ๒.๕ เมตร และ ๒.๓ เมตร สูงประมาณ ๓๔.๕ เมตร ซึ่งผู้ครอบครองบอกว่า นี่ไม่ใช่ความสูงจริง เนื่องจากราว ๑๐ ปีก่อนมีพายุพัดรานบั่นยอดปลิวไปตกในสวนปาล์มข้างๆ พุ่มที่เห็นนี้เป็นกิ่งที่เพิ่งแตกขึ้นใหม่ แต่ก็อยู่ในระยะความสูงเกินจะเก็บใช้ได้ง่าย

คนนาสารเล่าถึงต้นกระท่อมคู่นี้ว่า ก๋งเจียม หรือที่ชาวบ้านย่านตลาดเรียกติดปากว่าเจ๊กเจียมเป็นหนุ่มจากเมืองจีนมาแต่งงานกับแม่ของสุนทรซึ่งได้รับที่ดินผืนนี้จากพ่อแม่ และมีต้นกระท่อมคู่นี้อยู่ด้วย

ก๋งเจียมเป็นเบาหวาน คนท้องถิ่นจึงแนะนำให้ลองกินใบท่อมเพื่อบรรเทา เขากินแล้วหาย ต่อมาแม้จะเปลี่ยนที่ดินแปลงนั้นเป็นสวนผลไม้ ก็ยังเก็บต้นกระท่อมริมทางน้ำคู่นี้ไว้

ปัจจุบันสุนทรอายุ ๖๐ กว่าปีแล้ว เขาเล่าว่าเห็นความสูงใหญ่ของต้นกระท่อมคู่นี้มาตั้งแต่เด็กก่อนถูกพายุรานยอดลงราวครึ่งของลำต้นเดิมสมัยก่อนเขาเป็นคนเก็บใบกระท่อมให้พ่อ ด้วยลำต้นที่ใหญ่เกินโอบและสูงชะลูด จึงปีนขึ้นไปทางต้นมังคุดที่มีกิ่งพาดก่ายกับพุ่มกระท่อมในวัยที่เขายังเด็ก ก่อนจะมีน้ำหนักเกือบ ๑๐๐ กิโลในตอนนี้ และช่วงหลังเริ่มเป็นเบาหวานเช่นเดียวกับเตี่ย ก็ได้อาศัยใบกระท่อมช่วยลดน้ำตาลในเลือด

“กินวันละสองสามใบ ต้นซ้ายรสมัน ต้นขวาตัวยาแรงใครกินก็เมาเหงื่อแตก  หลังจากผมกินได้ ๒-๓ เดือน ไปตรวจเลือดหมอบอกว่าคุมนํ้าตาลได้ดี”

Image

กระท่อมเป็นไม้ใหญ่ ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต้นโตได้เกินสองคนโอบ สามารถแปรรูปใช้เนื้อไม้ได้ ต้นกระท่อมยักษ์ในภาพนี้อยู่ที่ริมสวนผลไม้ของ สุนทร แซ่เขา ในหมู่บ้านวังหล้อ ที่กำลังผลักดันให้เป็นไม้หมายเมืองของอำเภอบ้านนาสาร สุราษฎร์ธานี

“กินวันละสองสามใบ ต้นซ้ายรสมัน ต้นขวาตัวยาแรงใครกินก็เมาเหงื่อแตก หลังจากผมกินได้ ๒-๓ เดือน ไปตรวจเลือดหมอบอกว่าคุมนํ้าตาลได้ดี”

คนนาสารรู้กันว่า เหนือจากจุดนี้ขึ้นไปจนถึงยอดเขาหนองในแนวเทือกเขาหลวง ไม่พบต้นกระท่อมเลย  ขณะทางท้ายนํ้าตามลำคลองฉวางลงมา โดยเฉพาะในตำบลนํ้าพุ มีต้นกระท่อมอยู่เป็นพันต้น ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เพิ่งมีส่วนที่ชาวบ้านปลูกเพิ่มข้างบ้านในตอนหลัง  คนนาสารเชื่อว่าต้นท่อมที่งอกขึ้นเองนั้นมาจากต้นแม่ในสวนก๋งเจียม โดยเมล็ดลอยมากับน้ำ 

ต้นกระท่อมอายุเกิน ๑๐๐ ปีคู่นี้ รอดจากการกวาดล้างโค่นกระท่อมมาได้ อาจเพราะพุ่มสูงจนเกินเก็บใบมาใช้ในวิถีชีวิตปรกติ  ชาวบ้านเล่าว่าเคยมีวัยรุ่นแอบลักปีนเก็บใบอยู่เหมือนกัน แต่ตกลงมาบาดเจ็บหนัก เชื่อกันว่ามีรุกขเทวดาอาศัยอยู่ ต่อมาต้นกระท่อมยักษ์คู่แห่งนาสารได้รับการติดป้ายคิวอาร์โค้ดเป็นต้นกระท่อมคุ้มครองในโครงการน้ำพุโมเดล

ปัจจุบันกำลังดำเนินการให้ได้รับการประกาศเป็นไม้หมายเมืองของอำเภอบ้านนาสาร  

พันธุ์กัญชา

Image

กัญชามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. ชื่อสามัญ Cannabis ในดิกชันนารีภาษาอังกฤษสมัยก่อนใช้คำเรียกกัญชาว่า hemp ปัจจุบันหมายถึงกัญชง ในลาตินอเมริกาเรียก marijuana อินเดีย เนปาลเรียก ganja ขณะแถบภูมิภาคแคริบเบียนและอเมริกาใต้เรียกกัญชาสายพันธุ์อินเดียเมื่อกลางศตวรรษที่ ๑๙ ว่า coolie (กุลี) ฯลฯ  

และแต่ละส่วนของกัญชายังมีชื่อเรียกอีกหลากหลาย 

Image
Image

Image
Image

> เรซิน (resin) ยางกัญชาที่อยู่ในไทรโคมหรือขนบนช่อดอกกัญชาตัวเมีย 

> แฮชิช (hashish) หรือชาราส (charas) เป็นยางกัญชาที่เตรียมได้จากการนำกะหลี่กัญชามาใส่ในถุงผ้า ใช้ไม้ทุบให้ยางไหลออกมา แล้วจึงขูดยางออกจากถุงผ้า จัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความแรงสูง

> บัง (bhang) ผงหยาบของใบกัญชาที่อาจมีช่อดอกปนเล็กน้อย

> บังลาสซี (bhang lassi) ชากัญชาผสมนมและเครื่องเทศของฮินดู

สายพันธุ์กัญชาทั่วโลก

ปัจจุบันมีพันธุ์กัญชาที่นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งผ่านการปรับปรุงพันธุ์โดยแหล่งปลูกกัญชาทั่วโลกนับพันหรืออาจเป็นหมื่นสายพันธุ์ จากสกุลกัญชาดั้งเดิมสามกลุ่มที่มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ตามถิ่นกำเนิด

> พันธุ์ซาติวา (Cannabis Sativa) อยู่ในเขตร้อนแถบเส้นศูนย์สูตร ช่วง ๓๐ องศาเหนือและใต้

> พันธุ์อินดิกา (Cannabis Indica) อยู่ในเขตอบอุ่น พื้นที่ระหว่าง ๓๐-๕๐ องศาเหนือ และ ๓๐-๕๐ องศาใต้

> พันธุ์รูเดอราลิส (Cannabis Ruderalis) พบในเขตหนาว ช่วงเหนือและใต้จากเส้นศูนย์สูตรมากกว่า ๕๐ องศา กัญชาไทยอยู่ในกลุ่มซาติวา ซึ่งมีพันธุ์พื้นเมืองแยกย่อยที่รู้จักกันในชื่อหางกระรอก หางเสือ ดอกเลา ฝอยทอง หมื่นศรี ตะนาวศรี เพชรบุรี ด้ายแดง ฟ้าคราม เกริงกระเวีย ดงหลวง ฯลฯ 

ส่วนสายพันธุ์อินดิกาที่นำเมล็ดพันธุ์เข้ามาปลูกในเมืองไทย ได้แก่ พันธุ์ชาร์ลอตต์แองเจิล (Charlotte’s Angel) นำเข้าจาก

ประเทศเนเธอร์แลนด์ ชื่อพันธุ์มาจากชื่อเด็กหญิงชาร์ลอตต์ที่กัญชาสายพันธุ์นี้เคยใช้เป็นยาแก้ชักให้กับเธอ  เนื่องจากเป็นกัญชาต่างถิ่นจึงต้องปลูกในระบบปิดเพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมือนถิ่นกำเนิด ซึ่งสามารถควบคุมระยะทำใบและทำดอกได้ตามต้องการ  

Image

การนำกัญชาไปใช้ในทางยา

ยาแผนปัจจุบัน

สกัดสารสำคัญทั้ง THC และ CBD ความเข้มข้นสูง เพื่อปรุงเป็นยา เรียกว่า “ยาสารสกัดกัญชา” ใช้หยดใต้ลิ้น ปัจจุบันมีสูตรต่างๆ ดังนี้

> สูตร THC เด่น มีสาร THC ๑๓-๑๗ มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ขนาดบรรจุ ๕ มิลลิกรัม

> สูตร CBD เด่น มีสาร CBD ๑๐๐ มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ขนาดบรรจุ ๑๐ และ ๓๐ มิลลิกรัม

> สูตร THC : CBD ๑ : ๑  มีสาร THC ๒๗ มิลลิกรัม/มิลลิลิตร CBD ๒๕ มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ขนาดบรรจุ ๕ มิลลิลิตร ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และโรงพยาบาลคูเมือง

> ตำรับเมตตาโอสถ THC เด่น ประมาณ ๘๑ มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ใช้สำหรับผู้ป่วยดูแลแบบประคับประคองและผู้ป่วยระยะสุดท้าย

> ตำรับการุณย์โอสถ CBD เด่น ประมาณ ๑๐ มิลลิกรัม/
มิลลิลิตร ใช้เสริมกับยาเมตตาโอสถ และใช้กับผู้ป่วยพาร์กินสัน โรคปวดประสาท โรคลมชัก โรคสะเก็ดเงิน โดยใช้ทาภายนอกด้วยผลิตโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกโดยสกัดด้วยแอลกอฮอล์ให้ได้สารออกฤทธิ์ full spectrum หลายชนิดร่วมกัน แล้วเจือจางด้วยน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น

Image

ยาแผนไทย 

มีกัญชาปรุงผสมอยู่ในตำราการแพทย์แผนไทย ๑๖ ตำรับ ได้แก่

ยาศุขไสยาศน์ ยาน้ำมันสนั่นไตรภพ ยาทำลายพระสุเมรุ ยาทัพยาธิคุณ ยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง ยาแก้นอนไม่หลับ/ยาแก้ไข้ผอมเหลือง ยาไพสาลี ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง ยาแก้ลม แก้เส้น ยาอไภยสาลี ยาอัมฤตย์โอสถ ยาแก้โรคจิต ยาแก้สัณฑฆาตกล่อนแห้ง ยาอัคคินีวคณะ ยาแก้ลมเนาวนารีวาโย และยาไฟอาวุธ

ส่วนการปรุงยาของหมอยาพื้นบ้านอาจใช้กัญชาทั้งห้าส่วนหรือเฉพาะส่วน โดยในการเตรียมตัวยาจะทำให้ร้อนก่อน เนื่องจากในกัญชาจะมีกรดเตตระไฮโดรแคนนาบินอลิก (tetrahydrocannabinolic acid) หรือ THCA และกรดแคนนาบิดิออลิก (cannabidiolic acid) หรือ CBDA ซึ่งเป็นสารที่ยังไม่ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท เมื่อได้รับความร้อนจะเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงของสาร THCA เป็นสาร THC และ CBDA จะถูกเปลี่ยน CBD ซึ่งเป็นสารสำคัญออกฤทธิ์ของกัญชา  ดังนั้นก่อนหมอยาแผนไทยจะนำกัญชาไปปรุงยา จึงมัก “สะตุ” ด้วยการคั่วเพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์แรงขึ้น  

กัญชารักษา 
(โรค) มะเร็ง
ได้จริงไหม

Image

นายแพทย์เทวัญ ธานีรัตน์

Image

เภสัชกรหญิง ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร

Image

เภสัชกรหญิง ดร. ผกากรอง ขวัญข้าว

กัญชารักษาโรคได้จริงไหม ?

“จริง” คำยืนยันจากนายแพทย์เทวัญ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการกองการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

“ถ้าไม่จริงไม่ใช้กันมาถึงปัจจุบัน ที่ผ่านมาเคยใช้เป็นยา เพิ่งไม่เป็นยาช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี่เอง 
ซึ่งเป็นมายาคติ”

กัญชารักษามะเร็งได้ไหม ?

“ยังพูดได้ไม่เต็มปาก เรื่องมะเร็งมีทั้งชนิดและระยะที่เป็น” คำตอบจาก เภสัชกรหญิง ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

“เห็นการสร้างความรู้ที่ไม่ถูกต้อง คนจำนวนหนึ่งไม่รู้ บางคนรู้เพียงบางเสี้ยวก็สถาปนาตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญ จึงเกิดผู้เชี่ยวชาญขึ้นหลายสำนัก  แต่ละคนอยู่ในประสบการณ์ของตัวเอง หวังดีในมิติของตัวเอง  กัญชาไม่ใช่ยาวิเศษ แต่เป็นพืชสมุนไพรมีประโยชน์ ที่จะช่วย
ให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ แต่ต้องใช้ด้วยความรู้

“เราอยู่กับคนไข้ ก็เห็นญาติเอายามาคืน เขาขอบคุณว่ายากัญชาทำให้ญาติเขาไม่ต้องเจ็บปวด แต่ช่วยมะเร็งไม่ได้
เขาพูดอย่างนี้ เขาบอกทำให้คนไข้กินข้าวได้ นอนหลับ แต่ไม่ได้ช่วยชีวิต งานวิจัยในปัจจุบันก็ไม่ได้บอก เราเลยไม่แน่ใจไม่รู้หมอคนอื่นมีชุดประสบการณ์อย่างไรแต่ข้อดีอย่างหนึ่งที่นำยากัญชามาอยู่ในระบบคือหมอมีโอกาสได้ทำความเข้าใจให้กับผู้ป่วย และช่วยปรับยาตามอาการและระยะของโรคได้อย่างเหมาะสม รวมถึงเห็นประโยชน์และข้อจำกัดของยาด้วย” คำกล่าวจากประสบการณ์ที่ได้ติดตามการรักษาผู้ป่วยของ เภสัชกรหญิง ดร. ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร 

ในหนังสือ กัญชาทางการแพทย์ ของ ไมเคิล แบกเกส
(แปลโดย จารวี นิพนธ์กิจ) หน้า ๔๐ ระบุว่า “ยังไม่มีการพิสูจน์ยืนยันว่ากัญชาสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ โรคมะเร็งมีความซับซ้อน ไม่ใช่โรคเดี่ยว แต่เป็นหลายโรครวมๆ กันภายใต้คำคำเดียวคือโรคมะเร็ง...กัญชาอาจให้ผลดีในการรักษาโรคมะเร็งบางชนิดได้จริงๆ แต่ยังจำเป็นต้องมีงานวิจัยและหลักฐานมากกว่านี้...”

กัญชารักษาโรคอะไรได้บ้าง ?

หนังสือ ยากัญชา คู่มือประชาชน สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน แบ่งกลุ่มโรคที่ใช้ยากัญชารักษาได้เป็นสามกลุ่ม

๑. กลุ่มได้ประโยชน์

เป็นกลุ่มโรคที่มีผลการศึกษาวิจัยสนับสนุนชัดเจน ในต่างประเทศมียาขึ้นทะเบียนแล้ว ดังนี้
- โรคลมชักที่รักษายากและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา
- ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด
- ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
- ภาวะปวดประสาทส่วนกลาง ที่ใช้วิธีรักษาอื่นๆ แล้วไม่เกิดผล
- ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยเอดส์ที่มีน้ำหนักน้อย
- การเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต

๒. กลุ่มน่าจะได้ประโยชน์

เป็นกลุ่มโรคที่ใช้กัญชาแล้วอาจควบคุมอาการได้ แต่หลักฐานสนับสนุนทางวิชาการที่มีคุณภาพมีจำกัด ยังต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมให้มีความชัดเจน และบางโรคก็เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย ได้แก่
- โรคพาร์กินสัน
- โรคอัลไซเมอร์
- โรควิตกกังวลทั่วไป
- โรคปลอกประสาทอักเสบอื่นๆ (ที่ไม่ใช่ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง)

๓. กลุ่มอาจได้ประโยชน์

เป็นกลุ่มโรคที่การใช้กัญชาอาจมีประโยชน์ แต่ขณะนี้ยังขาดหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนเพียงพอการใช้กัญชาในผู้ป่วยมะเร็งอาจได้ประโยชน์ในกรณีที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล หรือใช้เพิ่มคุณภาพชีวิตเพื่อลดอาการปวด ช่วยเจริญอาหาร และช่วยให้นอนหลับ ซึ่งผลที่ได้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละคนโดยคำแนะนำของแพทย์ต่อกรณีโรคมะเร็งในเวลานี้ไม่ควรใช้กัญชารักษาแทนยาแผนปัจจุบันที่เป็นการรักษาตามมาตรฐาน  

Image

(เมื่อ) 
ปลูกกัญชาได้ 
ทำยาง่ายๆ 
ไว้ใช้เอง

สมัยโบราณมีการหุงนํ้ามันนวด โดยใส่รากกัญชาและรากไม้อื่นๆ ลงในน้ำมัน นำไปตั้งไฟให้สารตัวยาละลายออกมาอยู่ในน้ำมัน 

วิธีนี้ใช้กับยาสมุนไพรกัญชาได้ ตามสูตรนํ้ามันกัญชาเคดี (KD cannabis oil)

ซึ่งเป็นสูตรของ “โกดำ” อร่าม ลิ้มสกุล ประธานวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกาะเต่า โดยใช้กัญชาทั้งห้าส่วน

ด้วยวิธีง่ายๆ ที่เจ้าของสูตรบอกว่าถ้ามีครัวก็ทำยากัญชาหุงน้ำมันได้แล้ว

๑. นำช่อดอก ราก เมล็ด ลำต้น หั่นบางๆ อบในเตา ที่อุณหภูมิ ๑๒๐ องศาเซลเซียส นาน ๓๐ นาที จากนั้นนำออกจากเตา 

๒. นำส่วนผสมที่อบแล้วใส่ขวดโหลแก้ว โดยใส่รากก่อน เพื่อไม่ให้รากลอยขึ้นมาหลังใส่น้ำมัน จากนั้นใส่กัญชาทั้งหมดตามลงไป

๓. เติมน้ำมันมะพร้าวชนิดสกัดเย็น

๔. ใส่น้ำในหม้อต้มจนได้อุณหภูมิ ๗๐ องศาเซลเซียส นำขวดโหลแก้วที่ใส่ส่วนผสมทั้งหมดวางไว้กลางหม้อ ต้มด้วยไฟอ่อนๆ ราว ๓ ชั่วโมง

๕. ครบเวลายกลง พักให้เย็น กรองด้วยกระดาษกรองเอาแต่น้ำมัน เทใส่บรรจุภัณฑ์

“เป็นนํ้ามันเหลือง แก้เหงือกอักเสบเป็นยาใส่แผล เป็นยานวดแก้ปวด บาดเจ็บใส่แคปซูล เป็นยากินแก้นอนไม่หลับ พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ มะเร็ง  กินวันละ ๔ แคปซูล ได้ THC ๑ กรัมต่อวัน ครบโดสพอดี” 

เจ้าของสูตรแนะนำวิธีใช้  

Image

ยากัญชา
ในนานาประเทศ

รองศาสตราจารย์ 
ดร.นพ. ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์

Image

รองศาสตราจารย์ ดร. นพ. ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สนใจเรื่องสมุนไพรและการแพทย์ทางเลือก ตั้งแต่ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลพล เมื่อปี ๒๕๓๐ และต่อมาเริ่มต้นเรียนรู้เรื่องยากัญชา “ที่ไม่เคยได้เรียนรู้ในโรงเรียนแพทย์ เพราะยึดความรู้ของตะวันตกเป็นหลัก เหมือนกับสถาบันการแพทย์แผนปัจจุบันอื่นๆ ทั้งโลก”

จากนั้นก็หาความรู้ใหม่ด้วยตนเองอย่างเงียบๆ 
แต่ต่อเนื่องมานับ ๑๐ ปี “ตอนหลังสื่อในอินเทอร์เน็ตมันเยอะ กระแสโลกพาไป ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลใหม่ๆ”

อาจารย์ปัตพงษ์พยายามสอนและปลูกฝังแนวคิด
เรื่องการแพทย์ทางเลือกให้หมอลูกศิษย์รุ่นใหม่อยู่เสมอ แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก กลับพบว่าคนที่ตื่นตัวเรื่องกัญชาทางการแพทย์อย่างมากคือประชาชนทั่วไป แม้กระทั่งกูรูกัญชาหรือนักรณรงค์เรื่องยากัญชาที่สังคมรู้จัก มีชื่อเสียง หากสืบย้อนไปจะพบว่าจำนวนไม่น้อยรับแนวคิดหรือคำปรึกษามาจากอาจารย์ปัตพงษ์ ผู้เป็นคุรุกัญชาคนหนึ่งของเมืองไทย

การกลับมาของยากัญชาเริ่มต้นจากตรงไหนอย่างไรครับ

เริ่มจากที่รัฐแคลิฟอร์เนียแก้กฎหมายให้นำมาใช้รักษาโรคได้เป็นรัฐแรกเมื่อปี ๒๕๓๙ ต่อมามีข้อมูลแพร่หลายทางอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก  น่าสนใจว่าแหล่งผลิตงานวิจัยกัญชาอันดับต้นๆ ของโลกอยู่ที่อิสราเอล ผู้นำชื่อศาสตราจารย์ราฟาเอล เมชูลาม ใช้งบประมาณจากอเมริกาทำวิจัยตั้งแต่ยังผิดกฎหมาย ท่านผลักดันจนใช้ได้อย่างถูกกฎหมายเป็นเวลานับ ๒๐ ปีแล้ว  ตอนนี้ในอเมริกาอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ได้เกือบทุกรัฐ และให้ใช้แบบสันทนาการได้ ๑๘ รัฐแต่รัฐบาลกลางยังจัดให้เป็นยาเสพติด จึงเกิดปรากฏการณ์ประชาชนย้ายรัฐเพื่อไปอยู่ในรัฐที่ใช้ได้ 

ที่กล่าวกันว่าไทยเป็นแหล่งกัญชาคุณภาพดีระดับโลกจริงไหม

ทหารผ่านศึกในสงครามเวียดนามชื่อ ดานิส เพอโรท ตื่นตามากที่เห็นชาวบ้านไทยปลูกกัญชาเต็มไปหมด มีไร่กัญชาแถวชายแดนเป็นพื้นที่ในวงกว้าง เขาบอกกัญชาไทยคุณภาพดีที่สุด เขาเป็นคนหนึ่งที่ร่วมทำให้กัญชาถูกกฎหมายเป็นรัฐแรกในแคลิฟอร์เนีย  นับว่ากัญชาไทยมีส่วนสำคัญให้อเมริกาแก้กฎหมายได้สำเร็จ

ตอนหลังอิสราเอลบินมาทำข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยนครพนม เพราะรู้ว่านี่คือแหล่งกัญชาคุณภาพ  น่าสนใจว่าประเทศอิสราเอลเป็นทะเลทราย ไม่มีกัญชาสักต้น แต่เป็นผู้นำการวิจัยด้านกัญชา เอาคนไทยไปช่วยปลูกและผสมพันธุ์จนได้หลายหมื่นสายพันธุ์  แต่ถ้ารู้ปริมาณสาร THC, CBD ความแตกต่างด้านสายพันธุ์ก็ไม่ได้สำคัญมาก 

เนเธอร์แลนด์เปิดให้คนสูบกัญชาในร้านกาแฟหลายสิบปีแล้ว เขาเป็นผู้นำในเรื่องนี้ พอเราจะปลูกต้องไปนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากเขา  มีชาวเนเธอร์แลนด์คนหนึ่งรู้สรรพคุณของกัญชาดีมาก มาฝังตัวในชุมชนเรียนรู้สายพันธุ์กัญชาของภาคอีสานอยู่นานหลายปี  ชาวบ้านเรียกเขาว่าอาจารย์ๆ พอกลับประเทศเขาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “นายอาจารย์ รอดแคม” ด้วยความผูกพันเรื่องกัญชา 

ถ้าแก้กฎหมายให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาได้หลังบ้าน จะทำให้พวกเขาพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้มากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายของระบบสุขภาพ แต่โดยภาพรวมสุดท้ายแล้วก็ต้องมีกระบวนทัศน์ของการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องด้วย 

คนรู้จักใช้กัญชาเป็นยามานานเท่าไรแล้ว

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ในอารยธรรมต่างๆ ของโลกมากว่า ๕,๐๐๐ ปี จนถึงช่วงศตวรรษที่ ๑๘ นายแพทย์วิลเลียม โอชอเนสซี (William O’Shaughnessy) เห็นชาวอินเดียใช้กัญชารักษาโรคได้ผลดีจึงนำกลับมาเผยแพร่ที่ประเทศอังกฤษ  ต่อมา นายแพทย์จอห์น รัสเซลล์ เรย์โนลด์ส (John Russell Reynolds) แพทย์ประจำราชสำนักของราชวงศ์อังกฤษบันทึกประสบการณ์การใช้กัญชารักษาโรคในช่วง ๓๐ ปีของตนว่า กัญชามีสรรพคุณช่วยรักษาโรคหลายประการ 

นายแพทย์วิลเลียม ออสเลอร์ (Sir William Osler) ผู้เขียนตำราแพทย์แผนปัจจุบันเล่มแรกเมื่อปี ๒๔๓๘ บรรยายสรรพคุณของกัญชารักษาโรคไว้หลายตอน และระบุว่ารักษาโรคไมเกรนได้ดีกว่าการรักษาวิธีอื่นๆ 

เภสัชตำรับของประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ ๑๘ ระบุว่า กัญชามีสรรพคุณรักษาโรคปวดเส้นประสาท โรคเกาต์ รูมาตอยด์ บาดทะยัก โรคกลัวน้ำ อหิวาตกโรค โรคลมชัก เคลื่อนไหวผิดปรกติจากระบบประสาท บุคลิกภาพผิดปรกติ ซึมเศร้า ภาวะถอนพิษสุรา จิตเภท และเลือดออกจากมดลูก

แล้วที่ว่าเป็นยาเสพติด ?

กัญชาออกฤทธิ์เสพติดน้อยกว่ากาแฟและไม่นำไปสู่การใช้สารเสพติดรุนแรง แต่กลับทำให้เลิกหรือลดการใช้ยาเสพติดร้ายแรงอื่นๆ ลงได้  การสำรวจที่ประเทศแคนาดาพบว่าผู้ป่วย ๒,๐๓๐ คนที่ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย นำไปใช้เพื่อทดแทนสารเสพติดชนิดต่างๆ ได้แก่ สุราร้อยละ ๔๔.๕ ยาแก้ปวดมอร์ฟีนร้อยละ ๓๕.๓ บุหรี่ร้อยละ ๓๑.๑ และยาเสพติดอื่นๆ ร้อยละ ๒๖.๖  

จิมมี ทิดเวลล์ หัวหน้าตำรวจหน่วยหนึ่งของรัฐโคโลราโด ให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่น The Mountain Mail เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๒๘ ว่า “สำหรับกัญชา คุณจะไม่เจอเรื่องพฤติกรรมรุนแรงหรือการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เหมือนปัญหาจากคนที่ใช้แอลกอฮอล์หรือยาเสพติดร้ายแรง”

ประเด็นที่ว่ากัญชาทำลายสมองเยาวชน การวิจัยที่ประเทศอังกฤษ โดย University College London นักวิจัยติดตามเด็กนักเรียน ๒,๖๑๒ ราย วัด IQ และผลการเรียน ตอนเด็กอายุ ๘ ขวบ และ ๑๕ ปี พบว่าการใช้กัญชาไม่มีผลต่อสติปัญญาและผลการสอบ

งานวิจัยที่อิสราเอลให้ยากัญชาในเด็กโรคลมชักอายุ ๑-๑๘ ปี จำนวน ๗๔ ราย ที่รักษาโดยใช้ยาแผนปัจจุบันไม่ได้ผล แม้จะเพิ่มยาจนถึงเจ็ดขนาน แต่เมื่อใช้ยากัญชา (CBD : THC = ๒๐ : ๑) พบว่า ผู้ป่วยร้อยละ ๘๙ อาการดีขึ้น  อาการชักลดลงตั้งแต่ร้อยละ ๒๕ จนถึงหยุดชัก การชักบ่อยๆ จะทำให้เด็กสมองเสื่อม 

ผลต่อเด็ก ถ้ามารดาใช้กัญชาระหว่างตั้งครรภ์ การวิจัยที่ประเทศจาเมกา โดยศาสตราจารย์เมลานี เดรเฮอร์ คณบดีคณะพยาบาล เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา ติดตามหญิงตั้งครรภ์สองกลุ่ม กลุ่มที่ ๑ สูบกัญชา กลุ่มที่ ๒ ไม่ได้สูบ พบว่าลูกที่เกิดจากแม่ที่สูบกัญชามีพัฒนาการความตื่นตัว การควบคุมตนเองดีกว่า และคนดูแลเลี้ยงเด็กพึงพอใจมากกว่านั่นคือเด็กมีสมองและพัฒนาการที่ดีกว่า

Image

เพิ่งเห็นการวิจัยใช้กัญชาในลิงแล้วเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ในคนจะเป็นแบบนั้นด้วยไหม

เป็น fake news เพื่อโจมตีกัญชา เขาทำแบบนี้มาตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่พยายามผลักดันให้กัญชาเป็นยาเสพติด โดยกล่าวหาว่าการใช้กัญชาทำให้ผู้ชายเป็นหมัน แต่การวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า คนที่ใช้กัญชามีจำนวนอสุจิมากกว่าคนที่ไม่ใช้และไม่มีผลให้อสุจิเคลื่อนไหวช้าลงแต่อย่างใด

มีการใช้ข้อมูลเท็จกล่าวร้ายกัญชาโดยใช้ผลเสียจาก “กัญชาเคมีสังเคราะห์” มาโจมตี “กัญชาจากธรรมชาติ” แบบเหมารวม เช่น ยากัญชาสังเคราะห์ “ไรโมนาแบนต์ (rimonabant)” ของบริษัทซาโนฟี ประเทศฝรั่งเศส นำมาใช้รักษาโรคเบาหวานและโรคอ้วน พบว่าทำให้เกิดอาการทางจิตประสาทและฆ่าตัวตาย การวิจัยที่ประเทศอังกฤษพบว่า คนใช้กัญชาสังเคราะห์มีอาการทางจิตมากขึ้นกว่ากลุ่มควบคุมอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีผลให้หัวใจหยุดเต้นได้

ขณะกัญชาจากธรรมชาติมีความปลอดภัยสูงมาก ทำให้ความจำและสมองดีขึ้น มีสรรพคุณในการรักษาโรคจิตเภทได้เทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน แต่อาการข้างเคียงน้อยกว่า

เรามีความหวังกับการกลับมาของยากัญชาได้มากแค่ไหน

ถ้าแก้กฎหมายให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาได้หลังบ้าน จะทำให้พวกเขาพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้มากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายของระบบสุขภาพ แต่โดยภาพรวมสุดท้ายแล้วก็ต้องมีกระบวนทัศน์ของการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องด้วย ไม่หวังว่ายาหนึ่งตัวรักษาได้ทุกโรค อยู่ที่การปรับวิถีชีวิต อาหารการกินการออกกำลังกาย สร้างพลังชีวิต ปรับสิ่งแวดล้อม ดูแลจิตวิญญาณ ให้ผสมผสานกันเหมาะสม มีชีวิตสมดุล เราต้องไม่หวังพึ่งแต่สูตรยาอย่างเดียว แต่ต้องมีความรู้ในการดูแลตัวเอง ไม่นำสารพิษเข้าสู่ร่างกาย รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และสร้างเครือข่ายทางสังคมมาดูแลช่วยเหลือกัน  

หากอยากใช้ยากัญชา

ผู้ป่วยที่สนใจจะใช้ยากัญชาสามารถเข้ารับบริการได้ที่คลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันและคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย ในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า ๕๐๐ แห่ง 

ขั้นตอนเข้ารับบริการ
- เดินเข้ารับการรักษาหรือจองคิวทางโทรศัพท์
- รับบัตรคิว ลงทะเบียน
- คัดกรอง
- ตรวจร่างกาย
- ประเมินผล
- วินิจฉัยและสั่งจ่ายยาสารสกัดกัญชา
- สรุปการรักษา ให้บัตรนัด
- ติดตามประเมินผล

“เดินมาปรึกษาได้เลย หมอพร้อมจะให้ใช้ ไม่ได้ปิดกั้น ตอนนี้เข้าถึงง่าย มีกว่า ๕๐๐ แห่งทั่วประเทศ

“กัญชาทางการแพทย์เป็นบทบาทหนึ่งของการแพทย์แผนไทย ซึ่งนำตำรับยามาจากคัมภีร์ต่างๆ ที่มีการจารึกไว้ การผลักดันยากัญชาเข้าสู่ระบบบริหารสุขภาพ เราต้องการลดการใช้กัญชาใต้ดิน
ที่ยังไม่ได้มาตรฐาน นับจากมีคลินิกกัญชาเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว เราพบว่าแทบไม่มีคนไข้คนไหนไม่เคยใช้กัญชาใต้ดิน ผลคือคนไข้จำนวนหนึ่งต้องแอดมิต เพราะยาอาจไม่ได้มาตรฐาน แต่ของเราได้มาตรฐานแน่

“โรงพยาบาลจะคัดกรองก่อน ประเมินแล้วส่งต่อ ถ้าโรงพยาบาลไหนขออนุญาตแล้วจ่ายยากัญชาได้ทั้งคลินิกแพทย์แผนไทยและคลินิกกัญชาแผนปัจจุบัน  แผนไทยดูอาการเป็นหลัก ส่วนแผนปัจจุบันมีข้อบ่งใช้ชัดเจน 

“เพราะมีความเข้มข้นสูง ได้แก่ สูตร THC เด่น สูตร CBD เด่น 

“สูตร ๑ : ๑ แพทย์ต้องเป็นคนสั่งจ่าย  ส่วนของแผนไทยต้องเป็นแพทย์แผนไทยจ่ายยาให้”

Image

แพทย์แผนไทยอมรรัตน์ ราชเดิม 
โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  ผู้มีประสบการณ์จ่ายยากัญชา

“ไม่ต้องเสียค่ายา จ่ายแค่ค่าบริการทางการแพทย์ 

“เปิดทุกวัน ๘ โมงครึ่งถึงบ่าย ๓  เราใช้ยากัญชาสามตำรับ 
หนึ่ง-ศุขไสยาศน์ แคปซูล ๑.๕ กรัม ใช้กับผู้ป่วยนอนไม่หลับ ปวดเรื้อรัง ไมเกรน กิน ๑ แคปซูลก่อนนอน  สอง-นํ้ามันกัญชาใช้ภายนอก สำหรับกลุ่มโรคผิวหนัง สะเก็ดเงิน ผิวหนังอักเสบ หลังใช้ ๒ สัปดาห์เริ่มแห้ง  สาม-นํ้ามันกัญชาทั้ง ๕ (สูตรรับประทาน) ใช้กับผู้ป่วยนอนไม่หลับ ไมเกรน เบื่ออาหาร 

“แก้อาการทางลม ปวดเมื่อย เห็นผลได้หลังใช้ยา ๑-๒ เดือน”


คำแนะนำจากแพทย์แผนไทยประยุกต์ นภัสชญา เกษรา และแพทย์แผนไทยประยุกต์ ธีรพนธ์ งามน้อย แพทย์แผนไทยประจำคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร หนึ่งในแหล่งให้บริการยากัญชา  

Image

Image