กัญชา
การกลับมาของยาต้องห้าม
ภาค ๑
scoop
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
กัญชาช่วงเริ่มออกกะหลี่เป็นช่วงที่ดูดี มีเสน่ห์ มีราคา สวยสง่าสมศักดิ์ศรีพืชพันธุ์แห่งโอสถหรรษาที่สุด มีแปลงปลูกบางแห่งโพสต์เชิญชวนให้คนเข้ามาเที่ยวชมต้นกัญชา ที่ชั่วชีวิตของคนยุคนี้แทบไม่มีใครเคยเห็น
กัญชาพันธุ์หางกระรอกวัยกำลังออกช่อดอก
๑ เพื่อนกัญ
“ไอ้คนไทยเอ้ย
มึงไม่รู้จักของดีในบ้านตัวเองซะแล้ว”
คนต่างชาติที่เคยพี้กัญชาภูพานอาจบ่นด้วยคำนี้ในระดับโลกยังไม่รู้แน่ แต่ในไทยไม่มีใครปฏิเสธว่ากัญชาดีที่สุดอยู่ที่ภูพาน
“ตำนานกัญชาดีที่สุดในโลกอยู่ที่ภูพานนี่แหละ เขาเล่าลือกันว่าสูบเมาดี รสชาติกลมกล่อม นุ่มนวล หอมหวน ทหารฝรั่งได้สูบก็มาตามหาต้นตอ” บรรจง ไชยเพชร คนปลูกกัญชาที่ตำบลหนองแคน อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร พูดถึงกัญชาในท้องถิ่นของตน “น่าจะมาจากภูมิประเทศเป็นภูเขา มีแร่ธาตุที่เหมาะสม แสงแดดและอุณหภูมิที่พอเหมาะ”
“นครพนมเป็นแหล่งปลูกกัญชาอันดับ ๑ ของโลก” จิรวัฒน์ รังศรี คนปลูกกัญชาในป่าทามศรีสงคราม จังหวัดนครพนม พูดถึงแหล่งปลูกกัญชาแถบที่ราบลุ่มจากเทือกเขาภูพานลงไปริมฝั่งน้ำ “ดินลุ่มแม่น้ำสงครามเหนียวเป็นสีดำ มีแร่ธาตุที่กัญชาชอบที่สุด กัญชาคุณภาพดี กลิ่นแตกต่างจากที่อื่น ใบมีกลิ่นหอม ดอกเมานุ่มนวล ฝรั่งก็มาเอาเมล็ดพันธุ์จากนี่ไป ไปปรับปรุงพันธุ์”
“กัญชาจากนครพนม มุกดาหารนี่ถือว่าสุดยอดแล้ว อเมริกาที่พึ่งพาจากบ้านเราก็ต้องการกัญชาจากภูพานตะวันออกนี่แหละ” คำยืนยันจาก สมพงษ์ คนยืน คนปลูกกัญชาที่ริมฝั่งโขง นิคมคำสร้อย “ยุคที่ ‘ป. เป็ด’ ส่งข้ามประเทศก็มากว้านซื้อจากแถวนี้ สมัยนั้นถึงขึ้นชื่อว่ากัญชาภูพานอร่อยที่สุดในโลก”
“ป. เป็ด” ที่ชาวไร่กัญชาแถวภูพานรู้จักดี เป็นอดีต ส.ส. นครพนม ผู้เป็นตำนานนักค้ากัญชาข้ามชาติ อาจนับได้ว่าเขาเป็นนักการเมืองคนสำคัญที่ทำให้กัญชาไทยเป็นที่รู้จักในระดับโลก กระทั่งถูกจับติดคุกในอเมริกาข้อหาอาชญากรยาเสพติด เมื่อปี ๒๕๓๘ ซึ่งหากมองจากช่วงเวลาก่อนหน้านั้นหรืออาจไม่นานต่อจากนี้ เขาอาจแค่คนค้าพืชไร่ชนิดหนึ่ง ไม่ต่างจากอ้อย ข้าวโพด หรือแม้กระทั่งมันสำปะหลังที่ใช้ทำ “แป้ง !”
ความจริงอเมริกาก็เคยเป็นแหล่งปลูกกัญชามาก่อน เจ้าอาณานิคมอังกฤษเริ่มนำไปปลูกที่เวอร์จิเนียตั้งแต่ ค.ศ. ๑๖๑๑ ซึ่งอีก ๒๐ ปีต่อมาเฟื่องฟูถึงขั้นใช้กัญชาแลกเปลี่ยนแทนเงินตราในหมู่ชาวอาณานิคม และบางรัฐออกกฎบังคับให้พลเมืองปลูกกัญชาด้วยเมล็ดพันธุ์ครอบครัวละ ๑ ช้อนชา
กระทั่งเมื่อปลดแอกได้สำเร็จใน ค.ศ. ๑๗๗๖ ร่างคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาก็เขียนบนกระดาษที่ทำจากต้นกัญชา
กล่าวกันด้วยว่า จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกา ก็เป็นคนหนึ่งที่เสพกัญชาและร่ำรวยจากกสิกรรมกัญชา ในบันทึกของรัฐสภา ค.ศ. ๑๗๙๔ ระบุว่าเขาสั่งเก็บภาษีนำเข้ากัญชาเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของชาวไร่กัญชาในประเทศ รัฐบาลในสมัยต่อมามีนโยบายให้เกษตรกรปลูกกัญชาแทนยาสูบ กระทั่ง ค.ศ. ๑๘๕๐ อเมริกาบันทึกผลสำรวจไร่กัญชาในประเทศได้ ๘,๓๒๗ แห่ง แต่ละแปลงเนื้อที่ไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ ไร่ รวมทั้งสิ้นกว่า ๔๑ ล้านไร่
ในยุคนั้นฝรั่งเรียกพืชพรรณหรรษานี้ว่า hemp ซึ่งอาจมีสารเมาไม่สูงอย่าง marijuana หรือ cannabis จากแถบใกล้เส้นศูนย์สูตร ต่อมาอเมริกาถึงได้ยกย่องชื่นชมกัญชาจากเมืองไทยมาก แต่การนำกัญชาเข้าประเทศนั้นเคยถูกกีดกัน มาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีคนแรก
ส่วนในสยาม กัญชาเคยเป็นสินค้าส่งออกระหว่างเมืองตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ โน่นแล้ว ตามความในบันทึกราชการของมณฑลราชบุรีสมัยนั้น
ย้อนไปก่อนนั้นก็เคยเป็นยุทธปัจจัยในกองทัพยุคโบราณ ดังที่ปรากฏในวรรณคดี ขุนช้างขุนแผน
ใช่เพียงแต่ในนิยาย หากในชีวิตจริงชุมชนไทยอยู่ร่วมกับกัญชามาโดยสามัญวิถี เรื่องเล่าถึงการปลูก การใช้ เก็บมาใส่แกง ทำยา หรือแม้แต่การสูบกัญชาบันเทิงอารมณ์ มีอยู่ทุกถิ่น
“กัญชามีหลายบริบท ทั้งยา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สัน-ทนาการ” ตามความเห็นศาสตราจารย์ ดร. ชยันต์ พิเชียร-สุนทร ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา
“เรื่องสันทนาการที่ว่าเป็นยาเสพติดนั้นเป็นบริบทหนึ่งที่เป็นเรื่องเล็กนิดเดียว ซึ่งยังต้องดีเบตกันอีกนะว่าสูบกัญชาดีหรือไม่ดี แล้วทำไมต้องทำให้บริบทอื่นสูญหายไปเลย”
ภาพ : สกล เกษมพันธุ์
กัญชา ที่คนทั่วไปไม่เคยเห็นหน้าตามานับครึ่งศตวรรษ ได้กลับมาผลิใบอย่างเสรีอีกครั้งหลังกฎหมายปลดล็อกให้ใช้ทางการแพทย์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นแหล่งแรก ๆ ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกเพื่อผลิตยากระจายให้กับโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ โดยใช้เมล็ดพันธุ์ชาร์ลอตต์แองเจิล จากเนเธอร์แลนด์ เมล็ดละหลายร้อยบาท และต้องปลูกในโรงเรือนที่มีการควบคุมสิ่งแวดล้อม ต่อมาเริ่มมีการใช้พันธุ์ไทยและฟื้นฟูภูมิปัญญาการปลูกกัญชาแบบดั้งเดิมของชาวบ้านแถบเทือกเขาภูพาน
๒ กินกัญ
ฟังเสียงไฟไหม้บ้องกัญชา ช่างชวนสุขา
เป็นเพลงพากล่อมขวัญเราให้...*
ความจริงไฟไม่ได้ไหม้บ้องกัญชาหรือตุ้ง ที่ทำจากลำไผ่ แต่ลุกไหม้ “เนื้อ” กัญชาที่หั่นละเอียดใน “พวย” หรือบัวผันรูปกรวย กับเสียงหวีดหวิวของลมที่รีดผ่านรูเรียวเล็ก มุดลงใต้น้ำก้นบ้องซึ่งจะกรองกักเอาขี้เถ้าไว้เกลี้ยง ปล่อยแต่ควันผุดพ้นน้ำเป็นเสียงเดือดระรัว พุ่งพาดเป็นสายด้วยแรงดูด ผ่านปากบ้องสู่ปากคน ตรงเข้าถึงปอดโดยไม่ต้องสูดปากอย่างสูบบุหรี่
เป็นนวัตกรรมการเสพที่คนนิยมความสุนทรีย์คงใช้เวลายาวนานกว่าจะคิดค้นได้ และใช้ต่อกันมายาวนานก่อนถูกซุกหายไปพร้อมการตีตรากัญชาผิดกฎหมาย
แต่ของต้องห้ามมักเป็นความท้าทายและมีเสน่ห์ดึงดูดใจ
ในช่วงหลายสิบปีมานี้กัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ช่อดอกที่เรียกกันว่า กะหลี่ หลี กุหลี หรือนามแฝงว่าเนื้อ ยังหาได้ไม่ยากแถวบ้านสวน เพื่อนหามา “ยำ” ผสมกับยาเส้น หั่นซอยบนเขียงไม้ข่อย เขี่ยไส้บุหรี่ออกแล้วใส่เนื้อเข้าไปแทนเป็นกัญชา “พันลำ” สะดวก สูบง่าย แต่เปลือง อาจเพราะเหตุนี้ด้วยที่ทำให้ตุ้งถูกสร้างมาคู่กับกัญชา
กัญชาเป็นยาเสพติดตามกฎหมาย แต่ไม่ได้ถึงกับเป็นสิ่งชั่วร้ายในมุมมองของบางคนในชุมชน บ้านไหนมีคนสูบกัญชาเป็นตัวยืน พวกมือใหม่ก็ไปขอร่วมวงด้วย
ช่วงนั้นเราชอบไปสุมหัวสูบกัญชากันที่โคนมะปริงหลังบ้านป้าตุ้ย โดยมีลูกชายของแกเป็นคนนำ
ตอนเราเดินตาแดงกลับออกมา ป้าไม่ได้ดุด่าอะไร ซ้ำยังแซวลูกหลาน “กินลูกมะปริงติดคอกันมาสิท่า ตาแดงก่ำกันทุกคน”
พืชทางวัฒนธรรมอาจเป็นคำใหม่ที่นักวิชาการใช้กัน แต่กัญชาในสายตาชาวบ้านอาจแค่สิ่งผ่อนคลาย เหมือนยาสูบหมากพลูที่กินใช้กันในบ้าน ไปจนถึงเป็นสิ่งเชื่อมความสัมพันธ์ทางสังคมที่ผู้คนใช้มาแต่ดึกดำบรรพ์ ตามที่กาเลน แพทย์และนักปรัชญาชาวโรมัน บันทึกไว้ตั้งแต่ราว ค.ศ. ๒๐๐ ว่าชาวโรมันในอดีตใช้กัญชาต้อนรับแขกเหรื่อเพื่อความบันเทิง นันทนาการ ตอนอเมริกาฉลองวาระครบ ๑๐๐ ปีการก่อตั้งประเทศ กัญชาก็เป็นหนึ่งในของต้อนรับแขกเหรื่อผู้ทรงเกียรติ
ปัจจุบันคนจำนวนหนึ่งก็ยังใช้ในบริบทนั้น ดังที่ อร่าม ลิ้มสกุล หรือที่ฝรั่งเรียก KD จากชื่อเล่นโกดำ เขาเล่าว่า คนบนเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี บ้านเกิดของเขา สูบกัญชากันมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นตา พ่อเขาสูบ เขาก็สูบ และรุ่นลูก ๆ ของเขาก็ใช้กัญชา
ตอนเป็นวัยรุ่นเขาสูบกัญชาตามวิถีตัวเอง ยังไม่เกี่ยวกับเรื่องยา
“พ่อผมสูบ เพื่อนพ่อส่วนใหญ่ก็สูบ เมื่อก่อนพ่อผมก็ปลูก ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายก็ปลูก เราสัมผัสกัญชามาแต่เด็ก ไม่เห็นว่ามันเป็นสิ่งน่าเกลียดหรือน่าอันตรายอะไร”
และตอนนี้นอกจากทำยากัญชาแจกจ่ายคนป่วย เขาก็ยังใช้เองด้วย
“ผมพูดมานานว่ามันเป็นยา ผมใช้เพื่อรักษาตัวเองด้วย ไม่ใช่ใช้เพื่อเมา เรานอนไม่หลับ เครียด แทนที่จะไปดื่มเหล้า ผมอยู่บ้านสูบกัญชากับเพื่อนกับญาติสองสามคน นั่งคุยกันสักแป๊บก็นอน มันไม่มีปัญหา เราไม่ได้ก่อความเดือดร้อนให้สังคม เมื่อก่อนสูบบ้องไม้ไผ่ ตอนหลังใช้มวนสะดวกกว่า ไม่งั้นต้องพกบ้องไปไหนต่อไหน”
“กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด เป็นพืช” เจ้าของน้ำมันกัญชา KD เกาะเต่าย้ำ และตั้งคำถาม “ถ้ากฎหมายบอกว่าพืชเป็นยาเสพติด กฎหมายเป็นสิ่งถูกต้องไหม”
“แต่ผมไม่ได้กลัว เพราะถือว่าไม่ได้ทำอันตรายต่อสังคม”
เจ้าของน้ำมันกัญชา KD เกาะเต่า บอกตัวเองพร้อมกับบอกอื่น ๆ
“ผมไม่ได้ทำการค้า ให้ฟรี ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ไม่ได้ทำให้จิตผมต่ำลง มีแต่ทำให้สูงขึ้น ผมทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ น้ำมันรักษาคนได้จริงทั้งเกาะ คนกินอยู่ทั้งเกาะ ทั้งประเทศ คนไข้เป็นหมื่น ไม่ได้เก็บหลักฐาน ผมไม่ชอบการอวดศักดา ไม่ต้องการชื่อเสียง แค่ทำให้ประจักษ์ว่ายากัญชามีผลในการรักษาคนได้จริง”
และเขาเองก็ใช้ด้วย
* เพลง “กระท่อมกัญชา” มาลีฮวนน่าขับร้อง
แต่งโดย ชาญชัย บัวบังศร
พืชทางวัฒนธรรมอาจเป็นคำใหม่ที่นักวิชาการใช้กัน แต่กัญชาในสายตาชาวบ้านอาจแค่สิ่งผ่อนคลาย เหมือนยาสูบหมากพลูที่กินใช้กันในบ้าน ไปจนถึงเป็นสิ่งเชื่อมความสัมพันธ์ทางสังคม ที่ผู้คนใช้มาแต่ดึกดำบรรพ์
“ทุกครั้งที่ต้มน้ำมันกัญชาผมทดลองก่อน ใช้โอเวอร์โดสประมาณ ๑๐ เท่าของผู้ป่วย ให้แน่ใจว่าเขาจะไม่เป็นอันตราย ยาหยอดตาผมก็หยอดดูก่อน”
เช่นเดียวกับหมอเขม อินทรัตน์ ทองช่วย ประธานชมรมหมอพื้นบ้านฯ อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง ที่มีประสบการณ์ปลูกกัญชาทำยาให้คนไข้
“เราเป็นหมอมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เราเก็บยามาตั้งแต่เป็นเด็กนู่น กฎหมายเพิ่งมาปี ๒๕๒๒ ไม่สะทกสะท้านกับเรื่องพวกนี้เลย ถือว่าท่อมก็ดี กัญชาก็ดี เป็นพืชสมุนไพร มีอะไรเกิดขึ้นไม่วิตกกังวล ผมปลูกกัญชาเพื่อเป็นสมุนไพร ทำยาแจกเป็นส่วนใหญ่”
ปลูกแบบบ้าน ๆ อย่างหมอพื้นบ้าน ต่างจากที่เป็นอยู่ตอนนี้ที่ต้องอยู่ในโรงเรือนดูแลประคบประหงม
“ปลูกเหมือนผักเสี้ยน เอาเม็ดไปโรยแล้วค่อยไปเก็บทั้งต้นมาทำยา ต้นตัวผู้ตัวเมียก็ใช้ได้ เม็ดก็ออกฤทธิ์ยาแรงมาก”
นอกจากเป็นหมอพื้นบ้าน อินทรัตน์เป็นนายหัวรับเหมาก่อสร้างด้วย เขาสูบกัญชาไม่เป็น แต่ต้องจัดหากัญชาให้คนงาน
“ลูกน้องทีมหนึ่งสูบกัญชา ตอนว่าจ้างตกลงค่าแรงกันได้แล้ว เขาบอกว่านายหัวต้องจัดการเรื่องกัญชาให้ด้วยระหว่างทำงาน ผมต้องไปหาซื้อกัญชาที่หาดใหญ่ ราวปี ๒๕๓๘ ห่อละ ๓๐ บาทสูบได้คนหนึ่ง ตกเย็นเขาจะนั่งล้อมวงสูบกัญชากันไป บางคนอาจมองว่าขี้ยา แต่ในความเป็นหมอเรามองคนงานว่าเป็นผู้บริโภคสมุนไพรนิ ไม่เกี่ยวกับยาเสพติดเลย สูบแล้วไม่มีไหร้เลย เขาเป็นผู้ใช้กัญชาบำรุงร่างกายเพื่องานฝ่ายศิลปะ งานปูนงานศิลป์ จับเหลี่ยมบัว ฝีมือออกมาดี เป็นที่ชื่นชอบของผู้ว่าจ้าง”
ไม่ใช่แต่ความสัมพันธ์ระหว่างนายหัวกับลูกน้อง ตามวิถีคนใต้อย่างในครอบครัวโกดำก็บอกว่า ลูก ๆ ของเขาเกือบทุกคนใช้กัญชา-เป็น
“ผมมีลูกแปดคน คนโต ๓๗ ปี เป็นศิลปินอยู่ที่เยอรมนี ที่นั่นกัญชาถูกต้องตามกฎหมายและเขาใช้ คนที่ ๒ เป็นนักดนตรีก็ใช้ คนที่ ๓ เป็นครูผู้หญิงอยู่อังกฤษ คนนี้ไม่ใช้ ลูกชายอีกคนอยู่มหาวิทยาลัยปี ๒ เล่นฟุตบอล เวลาบาดเจ็บเขาก็ใช้น้ำมันกัญชานวด ลูกเล็กสามคน ๘ ขวบ ๑๐ ขวบ ๑๑ ขวบ ก็ใช้น้ำมันกัญชาเป็นทุกคน”
กัญชาคุณภาพดี ไทรโคม หรือขนอ่อนบนช่อดอกจะเป็นสีอำพัน อุดมด้วย THC ที่เป็นสารสำคัญทางยาและเป็นสารเมา
๓ ...กัญชาว่าช้าก่อน...
ข้อบ่งชี้ด้านร้ายไม่แน่ชัด แต่ประวัติศาสตร์ด้านดีมีบันทึกยาวเหยียดว่า มนุษย์ใช้และอยู่ร่วมกันมาเป็นหมื่นปีแล้ว
ชาวจีนรู้จักบริโภคเมล็ดกัญชามาตั้งแต่ ๖๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช และรู้จักทอผ้าจากใยกัญชาเมื่อ ๔๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช
ส่วนการใช้กัญชาทางการแพทย์เริ่มต้นเมื่อเกือบ ๓๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ในสมัยจักรพรรดิเสินหนง บิดาแห่งการแพทย์จีน ผู้ทดสอบสมุนไพร ๓๖๕ ชนิด ที่ผ่านการทดสอบวันละชนิดในรอบ ๑ ปี โดยมีกัญชาเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งต่อมาได้รับการรวบรวมบันทึกไว้โดย เผิงจ้าว เภสัชกรสมัยราชวงศ์ฮั่น ราว ๓๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช
ช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ศัลยแพทย์ฮูโต๋ หมอในตำนานผู้ปราดเปรื่องจนได้สมญาว่าหมอเทวดา ปรุงยาสลบหมาเฟ่ยส่าน ใช้ในการผ่าตัดและฝังเข็มได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกจากผงกัญชา
จากแถบเทือกเขาเทียนซานในซีกโลกตะวันออก นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าชาวไซเทียน ชนเผ่ายุค ๕๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช เป็นผู้นำกัญชาไปขยายพันธุ์ในยุโรปและกลายเป็นโอสถวิเศษอยู่เป็นร้อย ๆ ปี
ตามที่มีบันทึกว่า เมื่อ ค.ศ. ๑๕๗๙ จอห์น เจอราร์ด เสนอผลการทดลองการใช้กัญชาเพื่อบรรลุจุดสุดยอดการสังวาส อีกเกือบ ๑๐๐ ปี นายแพทย์นิโคลัส คูลเปเปอร์ เสนอให้วงการแพทย์ใช้กัญชารักษาอาการอักเสบ โรคเกาต์ ปวดตามข้อ
เมื่อ วิลเลียม โอชอห์เนสซี นำองค์ความรู้เรื่องโอสถกัญชาจากอินเดียมาเผยแพร่ในอังกฤษยุควิกตอเรีย เมื่อ ค.ศ. ๑๘๔๓ ทำให้ยากัญชาเป็นยาที่ได้รับความนิยมอย่างมากในโรคเกี่ยวกับอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดประจำเดือน รูมาตอยด์ บาดทะยัก โรคพิษสุนัขบ้า ลมบ้าหมู ต่อมาเซอร์จอห์น รัสเซลล์ เรย์โนลด์ส แพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย บันทึกไว้เมื่อ ค.ศ. ๑๘๙๐ ว่าเขาใช้กัญชาเพื่อบรรเทาอาการปวดชั่วคราว (ปวดประจำเดือน) ให้กับพระราชินี
สรรพคุณอื่น ๆ ยังมีบันทึกอยู่ในระหว่างบรรทัดของดิกชันนารีของอังกฤษว่า รากกัญชาใช้เยียวยาอาการผิวหนังอักเสบและแผลพุพองจากไฟไหม้ ส่วนตำราเภสัชกรรมของอเมริกา เมื่อ ค.ศ. ๑๘๗๐ ก็ระบุชื่อกัญชาไว้ในฐานะยารักษาโรค หลังจากสมาคมการแพทย์แห่งรัฐโอไฮโอแถลงการค้นพบสรรพคุณในด้านรักษาอาการปวดประสาท โรครูมาติสซั่มทางประสาท อาการตื่นกลัว อาการไอ โรคหืด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง อาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ โรคลมบ้าหมู อาการชักกระตุกของทารก อัมพาต ปัสสาวะเป็นเลือด อาการปวดประจำเดือน โรคฮิสทีเรีย ช่วยรักษาอาการติดสุรา และโรคเบื่ออาหาร
เหล่านี้เป็นสรรพคุณอันหลากหลายก่อนถูกตีตราให้เป็นยาเสพติดของพืชล้มลุกอายุปีเดียว ที่มีการบรรยายลักษณะทางพฤกษศาสตร์ว่า ใบแฉกเว้าลึกคล้ายรูปมือห้าถึงเจ็ดแฉก ขอบใบจักแบบฟันเลื่อย แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกเพศผู้เรียงตัวห่าง ๆ กันเป็นช่อแบบแขนงที่ซอกกิ่ง ต่างจากช่อดอกเพศเมียที่เป็นช่อแบบกระแจะเรียงชิดกันบนปลายกิ่งและซอกใบ มีกลีบเลี้ยงสีเขียวเข้มหุ้มรังไข่ เมล็ดเดี่ยวรูปรีผิวเรียบล่อนสีน้ำตาลมีลาย
ภูมิปัญญา
การปลูกกัญชาในช่วงหลังพบว่าปลูกในกระถางดีกว่า ง่ายต่อการควบคุมคุณภาพดินและการให้ปุ๋ย รวมทั้งสะดวกตอนเก็บรากไว้ขาย ซึ่งตอนนี้เมื่อตากแห้งแล้วกิโลกรัมละเป็นหมื่นบาท
กัญชาทั้ง ๕ จากซ้าย ลำต้น ราก ช่อดอก ใบ และเมล็ด
ภาพ : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ช่อดอกตัวเมียเรียกว่า “กะหลี่” เป็นส่วนที่มีค่าและใช้กันมากที่สุดซึ่งถูกเรียกขานในหลากหลายชื่อตามแต่ละท้องถิ่น
คนไทยเรียกทั้งต้นว่ากัญชา และหมายถึงส่วนที่ดีที่สุดคือช่อดอกตัวเมีย ซึ่งยังเรียกในชื่อเฉพาะอื่น ๆ อีกว่า กะหลี่ กะเต็น เนื้อ ปักษ์ใต้เรียกหลีหรือกุหลี
ในภาษาอังกฤษ ปัจจุบันเรียกกัญชาว่า cannabis หน้าตาคล้ายกับพี่น้องอีกต้นที่ไทยเรียกกัญชง ภาษาอังกฤษใช้ hemp ไม้ทั้งสองนี้คล้ายกันอย่างแยกได้ยากด้วยสายตาตอนหลังแบ่งกันด้วยสารเมา โดยกัญชงต้องมีสารทีเอชซี (THC) หรือสารเมา ไม่เกิน ๑ เปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนัก ถ้ามากกว่านั้นถือว่าเป็นกัญชา
น่าจะด้วยสารเมาที่ทำให้เกิดการหลอนจิตนั่นเองที่ทำให้ศาสนจักรประกาศว่ากัญชาเป็นโอสถของซาตาน ต้องห้าม ตามหลักศาสนา ในสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ ๘ เมื่อ ค.ศ. ๑๔๘๔ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นชาวยิวโบราณเคยใช้ธูปกัญชาจุดในพิธีสวดมนต์คืนวันศุกร์ในวิหารโซโลมอนให้ศาสนิกสูดดมให้เกิดสภาวะฌาน และชาวยิวยังถือว่ากัญชาเป็นสมุนไพรของพระเจ้าที่บัญชาให้โมเสสนำมาผสมในน้ำมันหอมศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในพิธีเจิม
ในคัมภีร์ไบเบิล บทวิวรณ์ บัญญัติว่ากัญชาคือพืชพรรณศักดิ์สิทธิ์ที่มีไว้เพื่อเยียวยาเผ่าพันธุ์มนุษย์
ส่วนในทางกฎหมาย แอฟริกาเป็นชาติแรกที่บัญญัติให้กัญชาเป็นยาเสพติด โดยรัฐบาลคนผิวขาว เมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๑
ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ โลกเข้าสู่ยุคระแวงภัยจากยาเสพติด โดยเฉพาะผลร้ายจากการเสพฝิ่น กระทั่งในการประชุมนานาชาติว่าด้วยยาเสพติด ที่กรุงเฮก เมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๒ มี ๔๖ ชาติสมาชิกได้ร่วมกันยกร่างอนุสัญญาฝิ่นนานาชาติและเรียกร้องชาติภาคีให้ควบคุมการใช้สิ่งเสพติด
ต่อมาในการประชุมนานาชาติว่าด้วยฝิ่นครั้งที่ ๒ ที่กรุงเจนีวา เมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๔ กัญชาก็ถูกประกาศเป็นพืชเสพติดของโลก
“เป็นมายาคติที่เขาพยายามสร้างเรื่องขึ้นมา”
ตามมุมมองที่มาจากการติดตามศึกษาข้อมูลเรื่องกัญชามานับสิบ ๆ ปีของรองศาสตราจารย์ ดร. นพ. ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
“มีงานวิจัยออกมาแล้วว่ากัญชาเสพติดน้อยกว่ากาแฟ และอาการไม่ลงแดง หงุดหงิด เท่าติดเหล้าหรือบุหรี่ที่เสพติดมากกว่า”
ที่ต้องกลายเป็นพืชผิดกฎหมาย เพราะกัญชาเป็นคู่แข่งของปิโตรเคมี
“เมื่อค้นพบน้ำมัน เกิดอุตสาหกรรมเคมี เกิดเศรษฐีร่ำรวยเป็นพันล้านคนแรก มีอิทธิพลผูกขาด พยายามกีดกันกัญชาเริ่มจากการเก็บภาษี จนถึงทำให้กัญชาผิดกฎหมาย”
ประเทศไทยในฐานะผู้ร่วมลงนามในอนุสัญญาฝิ่นนานาชาติ ค.ศ. ๑๙๑๒ ก็ออกกฎหมายต่อต้านยาเสพติดตามกระแสสากล ซึ่งในช่วงแรกสุดได้ห้าม “การบรรทุกกัญชาออกจากราชอาณาจักร” เมื่อปี ๒๔๕๗ ให้สอดคล้องกับกฎหมายการปราบปรามกัญชาของอเมริกา
ส่วนกฎหมายที่ระบุถึงการห้ามเสพเกิดขึ้นเมื่อออกพระราชบัญญัติกัญชา พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งครอบคลุมถึงการห้ามปลูก ห้ามครอบครอง จำหน่าย นำเข้า ส่งออก ซึ่งถือเป็นกฎหมายต้นแบบที่ต่อเนื่องมาเป็นพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒
ที่ทำให้กัญชากลายเป็นพืชต้องห้ามตามกฎหมายในชั่วข้ามคืน
ใจความสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้อยู่ใน “มาตรา ๗” ซึ่งแบ่ง “ยาเสพติดให้โทษออกเป็น ๕ ประเภท” ตามความร้ายแรง
ใน (๕) ระบุว่า “ประเภท ๕ ยาเสพติดให้โทษที่มิได้อยู่ในประเภท ๑ ถึงประเภท ๔ เช่น กัญชา พืชกระท่อม...” (ไม่ใช่ฝิ่นยา ซึ่งอยู่ในประเภท ๒)
ภาพแสดงประโยชน์ของกัญชาต่อร่างกายเมื่อใช้เป็นยาและอาหาร ในนิทรรศการ “เมื่อกัญชาเป็นอาหาร” ซึ่งมนุษย์รู้จักใช้มาเป็นหมื่นปี และทุกวันนี้ก็ยังมีการศึกษาค้นคว้าอยู่ต่อเนื่อง อย่างที่คณะนวัตกรรมเกษตรกัญชาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นแห่งแรกในเมืองไทยที่เปิดสอนเรื่องกัญชา และทำการศึกษาวิจัยมาตั้งแต่ก่อนกฎหมายปลดล็อก
๔ กัญชาเพื่อการแพทย์
กัญชาเป็นยาเสพติดประเภท ๕ ในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ แต่ในตำรายาที่เก่าแก่กว่านั้นระบุว่าเป็นยาสมุนไพร
ไล่มาแต่ ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ตำรายาประจำราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงในตำราที่คัดลอกหรือบอกต่อกันมาของหมอยาพื้นบ้าน
รวมทั้งประสบการณ์ตรงจากการลักลอบใช้รักษาตนเองแบบ “ใต้ดิน” ของผู้ป่วยในยุคนี้ ที่เป็นปัจจัยหนุนส่งให้เกิดการปลดล็อกกัญชา เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
กัญชาจึงได้กลับมาใหม่ ซึ่งในเมืองไทยนับว่าแทบต้องทำความรู้จักกันใหม่ หลังจากถูกทำให้หายหน้าจากวิถีชีวิตคนไปหลายสิบปี
กัญชาทางการแพทย์
เป็นคำที่มาพร้อมกับช่องทางกฎหมายอนุญาตให้คนกลับมาปลูกกัญชาได้อีกครั้ง
“ตำบลนาคำเป็นแหล่งแรกของเมืองไทยที่มีกัญชาถูกต้องตามกฎหมาย โดยวิสาหกิจชุมชนเราที่มีสมาชิก ๖๐ คน”
จิรวัฒน์ รังศรี ประธานวิสาหกิจชุมชน ตำบลนาคำ อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ยืนพูดอยู่ข้างต้นกัญชาสูงราว ๓ เมตร มีช่อดอกเต็มพุ่ม โคนและรากอยู่ในกระถางขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเกือบเมตร ซึ่งถูกยกมาวางข้างเวทีเปิดงาน “Kick off กัญชาริมฝั่งโขง” ที่อำเภอศรีสงคราม เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ เป็นงานเปิดตัวนครพนมเมืองกัญชา
“ผมปลูกเป็น รู้ว่ากัญชาชอบดินชอบปุ๋ยแบบไหน ดีที่สุดดินเหนียวสีดำ” จิรวัฒน์บอกคุณสมบัติของดินที่ทำให้ต้นกัญชาที่สูงท่วมหัวและได้ผลผลิตต่อต้นสูง “ภูมิปัญญาเราตกทอดมาแต่ปู่ย่าตายาย แหล่งใหญ่สุดอยู่ที่นี่ แถวริมแม่น้ำสงครามดินเหนียวดินดำมีแร่ธาตุดี ทำให้กัญชาเป็นสีเหลืองอำพันกลิ่นหอมดี”
บางทีกัญชาถูกเรียกว่าทองคำเขียว แต่คนปลูกกัญชาแถวภูพานถึงริมน้ำโขงยืนยันตรงกันว่ากะหลี่คุณภาพต้องเจือสีทอง
สอดคล้องกับข้อมูลทางชีวเคมีที่บอกว่าช่อดอกกัญชาจะมีสารทีเอชซีสูงสุดเมื่อช่อดอกแก่จัด เมื่อไทรโคมหรือขนสีขาวเล็ก ๆ ตามช่อดอกเปลี่ยนเป็นสีทองน้ำตาล
“ตอนมาเริ่มทำงานใหม่ ๆ เห็นชาวบ้านหาบคุถังเข้าป่า เราถามว่าไปไหน อยากตามไปเที่ยวด้วย เขาบอกไปสวน จริง ๆ ไปรดน้ำกัญชาที่ปลูกแซมไว้ในป่า” บรรจบ พรมสา หนุ่มต่างถิ่นที่มาเป็นหมออยู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเหล่า ตำบลนาคำ และกลายมาเป็นผู้นำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในการขออนุญาตปลูกกัญชายุคหลังปลดล็อก
โดยเกษตรกรต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยื่นขอรับอนุญาต ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องส่งดอกทั้งหมดให้กับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ครึ่งหนึ่งผลิตยากัญชาจ่ายให้กับผู้ป่วยในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติตามโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ ส่วนอีกครึ่งเป็นรายได้กลับมาเป็นของผู้ปลูกหลังจากขายให้กับสถานพยาบาลเอกชนตามที่ระบุในสัญญาขออนุญาตปลูก
ผู้ปลูกไม่มีสิทธิ์ใช้ แจกจ่าย หรือจำหน่ายช่อดอกกัญชา เนื่องจากช่อดอก เมล็ด และกัญชาทั้งต้น ยังถือเป็นยาเสพติด กฎหมายอนุญาตให้ประชาชนซื้อ ขาย ใช้อย่างเสรีได้เฉพาะ กิ่ง ใบ ราก ลำต้น
ไม่เพียงเท่านั้น การกลับมาของกัญชาก็ได้ก่อกระแสอาหารกัญชาฟีเวอร์ จนทำให้ใบกัญชาสดที่แต่เดิมชาวบ้านไม่ค่อยไยดี มาช่วงนี้ราคากิโลกรัมละเป็นหมื่นบาท ถ้าตากแห้งก็ถึง ๔ หมื่นบาท ราก ต้นแห้งราคาก็ติดหลักหมื่นทั้งนั้น
“แต่ก่อนทิ้งเกลื่อนกลาด” คนปลูกกัญชาที่หนองแคนเล่าภาพอดีตเปรียบเทียบกับปัจจุบัน “เดี๋ยวนี้เอาหมด ใบ รากเขายิ่งชอบ ลำต้นก็บด”
“ตอนแรกไม่คิดว่าจะได้อะไร แค่ได้ยามารักษาผู้ป่วย” หมอบรรจบเล่าจุดเริ่มต้นของวิสาหกิจชุมชนที่ตำบลนาคำ “คนที่มาประชุมทำความเข้าใจบอกว่าคนปลูกจะมีรายได้ครึ่งหนึ่ง
จากการขายช่อดอกให้กรมการแพทย์แผนไทยฯ เขาพูดเฉย ๆ ไม่ได้ทำบันทึกข้อตกลงอะไรเอาไว้ ผมก็ไม่ค่อยมั่นใจ แต่ไม่ได้กังวล เพราะเราขายใบได้ ชาวบ้านที่มีประสบการณ์ปลูกบอกว่าต้นละ ๕,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ บาท ได้อยู่แล้ว เราคำนวณดูก็ว่าน่าจะได้ ๒-๓ แสน ก็เลยลงทุน ทำแบบสหกรณ์ ระดมทุนคนละพัน ไม่เกิน ๕,๐๐๐ ใช้งบ ๒ แสนบาทสร้างโรงเรือน รัฐบาลให้แต่เมล็ดพันธุ์ พอเขาปลดล็อก เราลองประกาศขาย ตลาดตอบรับดีมาก ก็เลยได้สตางค์โดยไม่คาดฝัน ขายใบได้เยอะกว่าที่เราคิดไว้”
ขณะที่วิสาหกิจชุมชนตำบลนาคำรายได้ ๙ แสนกว่าบาทจากการขายใบ ราก ต้นกัญชา ๕๐ ต้น ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกรุ่นแรกของจังหวัดนครพนม ภายใต้นโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข
“ของเราเป็นแปลงแรกของจังหวัดมุกดาหาร” สมพงษ์ คนยืน แนะนำแปลงปลูกกัญชาของกลุ่มวิสาหกิจ ที่บ้านชัยมงคล อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร ในโรงเรือนขนาด ๑๒x๔ เมตร ที่ตั้งอยู่หลังบ้านของเขา
เป็นโรงเรือนแบบกรีนเฮาส์ มีหลังคา กั้นตาข่ายกันแมลงมิดชิดรอบด้าน มีรั้วสูงแน่นหนากั้นรอบด้านอีกชั้น ประตูเข้าออกล็อกกุญแจและมีกล้องวงจรปิดทั่วถึงทุกด้านทุกมุม
ภายในมีกัญชาวัยเริ่มออกดอก ต้นสูงท่วมหัวสุดแขน ปลูกในเข่งพลาสติกใบใหญ่ขนาดโอบแขน เรียงรายอยู่หลายสิบต้น
“ได้เมล็ดมาเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ นายอำเภอสาธารณสุขจังหวัด มาตรวจรับวันที่ ๑๘ เริ่มลงถาดเพาะวันที่
๒๒ อายุ ๔ เดือนเริ่มออกช่อดอกและแยกเพศได้ชัดเจน”
กัญชามีสองเพศแยกต้น จะสังเกตได้เมื่อตุ่มดอกเริ่มงอกออกตามคอกิ่ง
ต้นเพศผู้ ช่อดอกจะเป็นตุ่มกลมสีขาว เมื่อแตกออกจะไปผสมเกสรกับช่อดอกของต้นตัวเมียที่เรียกว่ากะหลี่ ซึ่งเมื่อได้รับการผสมเกสรจากต้นตัวผู้จะติดเมล็ดสำหรับแพร่ขยายพันธุ์ต่อ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่คนปลูกกัญชาขายกะหลี่ต้องการ เพราะช่อดอกตัวเมียที่ผ่านการผสมเกสร สารทีเอชซีที่มีสรรพคุณทางยาและเป็นสารเมาในกะหลี่กัญชาจะลดลง
คนปลูกกัญชาที่ควบคุมคุณภาพแบบจริงจังจึงต้องคอยระวังสังเกต เมื่อเห็นต้นไหนเป็นเพศผู้ต้องถอนทิ้ง หรือหากปลูกในกระถางก็ต้องยกแยกออกมาทันที
ทั้งยังคงคอยดูแลระวังสภาพแวดล้อมทางกายภาพด้วย คำบอกเล่าจากประสบการณ์คนปลูกกัญชาบอกว่าความเครียดจากปัจจัยด้านต่าง ๆ ก็ทำให้ต้นกัญชากลายเพศหรือแม้กระทั่งกลายเป็นต้นกะเทย ที่มีทั้งดอกเพศผู้และเพศเมียในต้นเดียวกัน ผสมกันเองได้
และปัจจัยทางสภาพแวดล้อมด้านแสงแดดยังทำให้กัญชงกลายพันธุ์เป็นกัญชาได้ด้วย
กัญชาช่วงเริ่มออกกะหลี่เป็นช่วงที่ดูดีมีเสน่ห์ มีราคา สวยสง่าสมศักดิ์ศรีพืชพรรณแห่งโอสถหรรษาที่สุด ในโลกออนไลน์มีแปลงปลูกกัญชาบางแห่งโพสต์เชิญชวนให้คนเข้ามาเที่ยวชมต้นกัญชา ที่ชั่วชีวิตของคนยุคนี้แทบไม่เคยมีใครเคยเห็น เก็บค่าผ่านประตูคนละ ๒๐๐-๓๐๐ บาท
แต่สมพงษ์บอกว่ากัญชาเป็นพืชที่ดูดซับสารเคมีได้ดี ไม่ว่าธาตุในดินหรือในอากาศ ตรงกับข้อมูลทางวิชาการที่บอกว่าญี่ปุ่นใช้ต้นกัญชาดูดซับสารกัมมันตภาพรังสีจากผืนดิน สมพงษ์เกรงว่าต้นกัญชาของเขาจะถูกปนเปื้อนจากกลิ่นน้ำหอมหรือโลชันทาผิวของคนที่มาเที่ยวชม เขาจึงไม่คิดจะหารายได้เสริมจากแปลงปลูกกัญชาด้วยวิธีนี้
บำรุงดูแลแบบตรวจตราทีละต้นทุกวัน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น เสริมด้วยน้ำหมักขี้ค้างคาวจากภูเขา กับน้ำหมักดินรังปลวก ส่วนการปราบศัตรูพืชเขาใช้วิธีเดินสำรวจทีละต้นและกำจัดออกด้วยมือ ซึ่งเขาบอกด้วยว่าต้องคอยแผ่เมตตาให้มด แมลง หนอน ไรแดง ที่เขาจำใจต้องกำจัดอยู่ทุกวัน
และการที่เขาแยกต้นตัวผู้ออกมาอยู่นอกโรงเรือน ทำให้ปลัดเทศบาลนักปลูกกัญชาได้พบความจริงบางอย่างด้วยว่า ต้นกัญชาที่อยู่ในที่แจ้งถูกรบกวนจากตัวหนอนกับไรแดง แมลงศัตรูพืชน้อยกว่าพวกที่อยู่ในโรงเรือน ทำให้เขาเริ่มสงสัยขึ้นมาว่ากัญชาพันธุ์ไทยอาจเหมาะกับการปลูกในธรรมชาติมากกว่าถูกควบคุมสิ่งแวดล้อมในโรงเรือน
การปลูกกลางแจ้งตามแผนการของวิสาหกิจชุมชนเกษตรอารมณ์ดี ตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ที่กำลังจะทำ
อาจเป็นคำตอบของการปลูกกัญชาเสรีทางการแพทย์ที่ใช้ต้นทุนต่ำ แต่ให้ผลคุ้มค่ามากกว่า