กระท่อม
การกลับมาของยาต้องห้าม
ภาค ๒
scoop
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
Image
๕  (กล้า) กระท่อมเสรี
กระท่อมเปิดเสรีกว่ากัญชา กิน ใช้ ปลูก ขายได้ทั่วทุกถิ่น มีภาพจริง ประสบการณ์ตรงให้พบเห็นเรียนรู้ได้ทั่วไป แต่องค์ความรู้ในแง่การบันทึกในเอกสารมีไม่มากอย่างกัญชา

ช่วงเวลาร่วม ๘๐ ปีที่ถูกผลักไปอยู่มุมมืดในฐานะพืชต้องห้าม ทำให้คนส่วนใหญ่แทบไม่เคยเห็นหน้าตากระท่อม อย่าว่าแต่จะเคยเพาะปลูก

แต่ในช่วงหลังกระท่อมราคาสูงมาก ถึงขั้นนับขายกันเป็นใบ เนื่องจากการกวาดล้างโค่นต้นกระท่อม ตัดทอนการต้ม ๔x๑๐๐ ของกลุ่มวัยรุ่นน้ำท่อม  ราคาใบกระท่อมพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ ๑,๒๐๐ บาท สัดส่วนมูลค่าส่วนใหญ่เป็นราคาความเสี่ยงที่ต้องลักลอบครอบครองซื้อขาย ในแง่การผลิตการปลูกกระท่อมแบบพื้นบ้านแทบไม่มีต้นทุน

ทันทีที่กฎหมายคลายล็อกจากการเป็นพืชเสพติด ก็เกิดกระแสตื่นกระท่อมกันอย่างโกลาหล ทั้งการค้าขายใบและต้นกล้า

สิ่งที่ถูกปกปิดมักดูลึกลับและดึงดูดใจ พอถูกเปิดออกทุกคนก็โผเข้าหา และด้วยราคาที่สูงลิ่ว ใครที่เคยแอบปลูกกระท่อมซุ่มซ่อนไว้ก็ได้โอกาสเก็บใบออกมาขาย ได้ราคาดีอย่างน่าตื่นเต้น กิโลกรัมละเป็นพันบาท  ความฟู่ฟ่าด้านการซื้อขายขยายวงออกไปถึงการเพาะปลูก

ตามที่มีคนคำนวณให้เห็นตัวเลขทวีคูณโดยคร่าว ๆ ว่ากระท่อมเมื่อตั้งพุ่มหลังปลูกราว ๓ ปี จะเก็บใบได้ครั้งละ ๓ กิโลกรัมทุก ๑๕ วัน หากขายได้กิโลกรัมละ ๓๐๐ บาท ตามราคาปัจจุบัน ก็จะมีรายได้ต้นละ ๑,๘๐๐ บาทต่อเดือน

เป็นรายได้รอรับที่แทบไม่ต้องลงทุนและทำอะไรเพิ่ม เก็บใบไม้ไปขายได้เหมือนมีธนบัตรงอกมาจากต้นไม้

กระแสการเพาะปลูกกลายเป็นคลื่นกระท่อมลูกต่อมา

แต่กระท่อมเป็นพืชเสพติดมายาวนาน ยังไม่มีการศึกษาวิธีการขยายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพชัดเจน โดยทั่วไปก็เพาะ ต้นกล้าจากเมล็ด จนได้ต้นกล้าสูง ๒๐ เซนติเมตร แล้วย้ายไปปลูกในพื้นที่ชุ่มชื้นเหมาะสม  นอกจากนี้ก็อาจใช้วิธีการติดตา ทาบกิ่งกับต้นตอที่แข็งแรง รวมไปถึงการติดตากับต้นกล้ากระท่อมขี้หมูที่โตไวกว่า รวมทั้งมีรายงานการวิจัยในมาเลเซียว่ามีการขยายพันธุ์กระท่อมด้วยวิธีปักชำ ตัดกิ่งที่มีตาข้าง ข้อที่ ๑ ถึงข้อที่ ๘ จากต้นพันธุ์ที่มีอายุเกิน ๒ ปี ปักในกระบะดินโดยไม่ต้องใช้ฮอร์โมนเร่งราก

แต่ทั้งหมดนั้นต้องใช้เวลา รายได้เฉพาะหน้าช่วงราคาสูงสุดตกเป็นของคนที่มีกล้ากระท่อมต้นเล็ก ๆ ขึ้นอยู่ตามข้างบ้านได้โอกาสขุดย้ายใส่ถุงชำวางขายได้ก่อนในราคาต้นละ ๓๐๐ บาทขึ้นไปตามขนาดและอายุ ซึ่งมีอยู่ไม่มาก ไม่กี่วันก็ขายหมดเกลี้ยง

ตลาดกล้ากระท่อมขยายเข้าไปถึงในป่า ขุดหากระท่อมขี้หมูเป็นไม้ในวงศ์เดียวกัน แต่รูปใบป้อมกว่า มีขน บริโภคไม่ได้ แต่ขุดโคนมาใช้เป็นต้นตอเสียบยอดกระท่อมพันธุ์ดี

แต่กระท่อมขี้หมูตามป่าเขาก็มีจำกัด กล้าพันธุ์ผลิตได้มากกว่าด้วยการเพาะเมล็ด ที่อยู่ในผลที่มีรูปร่างเหมือนเชื้อ
โควิด-๑๙ ที่เราเห็นในภาพจำลอง ซึ่งเพาะเป็นต้นกล้าได้อย่างไม่จำกัด เพียงแต่ต้องใช้เวลาราว ๓ เดือน

แต่พูดตามความจริงที่รู้กัน ตอนนี้หาคนรู้เรื่องกระท่อมจริง ๆ ได้ยาก โดยเฉพาะในแง่การขยายพันธุ์  ในหมู่ชาวบ้านที่อยู่ร่วมกับกระท่อมกันมายาวนาน ส่วนใหญ่ก็อาศัยการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติเป็นหลัก และแทบไม่มีการพูดถึงสายพันธุ์ นอกจากบอกต่อกันว่าต้นไหนใบกินดีรสกลมกล่อมก็นำไป
ปลูกต่อ

ส่วนหน่วยงานราชการหรือนักวิชาการเกษตรแทบไม่ต้องพูดถึง ในช่วง ๘๐ ปีที่กระท่อมเป็นพืชเสพติดต้องห้าม รัฐไม่สนับสนุนส่งเสริมให้มีการศึกษาพัฒนาสายพันธุ์อยู่แล้ว

เมื่อกฎหมายเปิดโอกาสให้ ทุกคนต่างก็ออกมาคลำทางกันใหม่ทั้งนั้น ไม่ว่านักธุรกิจกล้าไม้หัวไวหรือส่วนราชการด้านการขยายพันธุ์พืชเกษตร

“เมล็ดมันเล็กมาก ๆ เท่าไข่เหานั่นแหละ” จตุภูมิ สังเกต นักวิชาการประจำศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ ๔ นครศรีธรรมราช บอกขนาดเมล็ดกระท่อมด้วยหน่วยวัดที่ชาวบ้านเข้าใจได้ทันที ไข่เห่าเป็นหน่วยวัดพื้นบ้านที่ใช้บอกขนาดสิ่งเล็กที่สุดมาแต่เก่าก่อน
Image
Image
Image
หากตามมาตรวัดสมัยใหม่ กาญจนา โสหุรัตน์ นักวิชาการประจำห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ บอกว่าเมล็ดกระท่อมมีขนาดราว ๐.๒ มิลลิเมตร รวมกันอยู่ในกลีบย่อยที่ประกอบกันเป็นผลที่มีผิวเปลือกเป็นปุ่มปม 

แต่ละลูกมีผลย่อยราว ๕๐ ฝัก แต่ละฝักมี ๑๐-๒๐ เมล็ด กระท่อมผลหนึ่งจึงขยายพันธุ์ได้เป็น ๕๐๐ ต้นกล้า

“พอกฎหมายปลดล็อกเราไปหาผลแห้งจากต้นของชาวบ้านลูกละเกือบร้อยบาท”

พืชต้องห้ามสูญหายไปจากราชการ การฟื้นฟูใหม่ต้องกลับไปพึ่งชุมชน

ตามธรรมชาติเมล็ดขนาดจิ๋วของกระท่อมน้ำหนักเบา ลอยตามน้ำหรือปลิวไปกับลมได้ไกล ขยายพันธุ์ไปเองได้ตามธรรมชาติ แต่อัตรางอกไม่สูง

นักวิชาการเกษตรบรรจงแกะกลีบรวบรวมเมล็ดกระท่อมในที่อับลม โปรยลงพีตมอส (peat moss) ดินสังเคราะห์นำเข้าที่ให้ธาตุอาหารสูง ซึ่งรดน้ำจนชุ่มไว้ก่อนแล้ว ใช้แผ่นพลาสติกปิดคุมความชื้นไว้สักสัปดาห์ เมล็ดที่มองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็นจะผลิใบเขียวเป็นต้นอ่อนเต็มแน่นกระบะเพาะเมล็ด

อายุได้ ๓๐ วัน ย้ายแยกลงถาดหลุม หลุมละต้น เลี้ยงในพีตมอสในถาดหลุมต่ออีก ๓๐ วัน รากเต็มหลุมโอบรัดพีตมอสเป็นก้อนแน่น ยกใส่ถุงเพาะชำขนาด ๓x๖ นิ้ว เลี้ยงต่ออีก ๑-๒ เดือน ได้ต้นสูง ๑๕-๒๕ เซนติเมตร ก็พร้อมนำไปลงหลุมในแปลงปลูกได้

กล้ากระท่อมรุ่นแรกในโรงเรือนอีแวป (evaporative cooling system - EVAP) ของศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ ๔ ที่อำเภอนาบอน ตอนนี้ผลิตกล้ารุ่นแรกไว้ราว ๖ หมื่นต้น คู่ขนานไปกับการทดลองขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องแล็บ

“ใช้ชิ้นส่วนเมล็ดในผลแก่มาเพาะเลี้ยงในอาหารวุ้นให้โต” กาญจนาเล่ากระบวนการโดยย่อในการใช้ความรู้อื่น ๆ มาทดลองกับพืชชนิดใหม่สำหรับเธอและเจ้าหน้าที่ทุกคนในศูนย์ขยายพันธุ์พืช

“ข้อดีคือพันธุ์ไม่เพี้ยนและขยายได้มาก จากเมล็ดเดียวตัดต่อไปได้เรื่อย ๆ ส่วนข้อเสียคือไม่มีรากแก้ว ซึ่งไม่น่าจะดีกับไม้ยืนต้น” จตุภูมิเสริม “ไม่รู้คุ้มไหม เพราะต้นทุนสูง ปรกติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะใช้กับพืชที่ขยายพันธุ์ยาก”

หมายถึงความคุ้มค่าด้านการลงทุน ไม่ใช่ผลกำไรทางการค้า เพราะกล้าพันธุ์ของส่วนราชการเพื่อส่งเสริมการเพาะปลูกให้กับเกษตรกรไม่เน้นขาย  ต้นกล้ากระท่อมจากแปลงเพาะของศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ ๔ จะกระจายสู่เกษตรกรในพื้นที่เจ็ดจังหวัดภาคใต้ตอนบน รวมทั้งเกษตรกรรายย่อยที่วอล์กอินเข้ามาขอรับต้นพันธุ์โดยตรง

ส่วนที่เห็นวางขายกันเอิกเกริกทั่วไปนั้นเป็นต้นกล้าจากแปลงเพาะของเอกชน  ห่างจากศูนย์เพาะขยายพันธุ์พืชที่ ๔ ในอำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี แปลงเพาะกล้ามงคลพันธุ์ไม้เป็นแหล่งผลิตต้นกล้ากระท่อมเจ้าใหญ่แห่งหนึ่งในอำเภอบ้านนาสาร จากปรกติทำกล้าทุเรียน ตอนนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ในฟาร์มถูกยึดครองด้วยต้นกล้ากระท่อม ซึ่งมีอยู่ราว ๓-๕ แสนต้น

ตามถนนสายเอเชียตั้งแต่เข้าเขตภาคใต้ที่ชุมพรลงไปทางใต้ ไม่ว่าในพื้นที่สุราษฎร์ฯ นครศรีฯ พัทลุง จะพบเห็นร้านขายกระท่อมเรียงรายอยู่เป็นระยะตลอดทาง ไม่ใช่แต่ต้นกล้า ยังรวมถึงใบสดและน้ำท่อม ซึ่งอย่างหลังสุดนี้ความจริงยังผิดกฎหมาย ห้ามการปรุง แปรรูปจำหน่าย

ยิ่งเลี้ยวลึกเข้าไปตามถนนสายย่อยในแต่ละชุมชน ก็ยิ่งไม่ยากที่จะสืบหาแหล่งกระท่อมซึ่งมีอยู่ทั่วไป ในราคาถูกแพงตามความห่างไกล ซึ่งลดหลั่นลงไปจนถึงหลักสิบบาทก็มีให้ซื้อหาได้แล้วในตอนนี้
Image
๖  โทษท่อม
ตอนนี้กระท่อมบริโภคได้อย่างเปิดเผย จากที่เคยต้องแอบพกพา ตอนนี้ล้วงออกมากินได้อย่างสง่า ไม่ต้องแคร์ว่ากลางตลาดหรือในโรงพัก กระท่อมต้นไหนกินดี กินใบกระท่อมอย่างไรให้ปลอดภัย บอกต่อกันได้ดังๆ แบบไม่ต้องป้องปากกระซิบกระมิดกระเมี้ยนอย่างแต่ก่อน  ทั้งการเลือกใบ แยกเส้นใบออก การใช้กระบอกบิด หรือใช้ตะบันตำ ก็ประชันกันได้ในแง่ศิลปะการกินกระท่อม

กระท่อมหรือท่อมที่ยืนต้นอยู่ตามข้างเรือนคนใต้ เป็นไม้ใหญ่พุ่มสูง ถ้าปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติลำต้นใหญ่โตได้เหมือนมะม่วง มะมุด ทุเรียน สัก สะเดาช้าง เนื้อไม้เลื่อยเป็นไม้กระดานใช้งานได้

แต่การใช้ประโยชน์หลักอยู่ที่ใบ หากเป็นต้นที่จงใจปลูกเพื่อการนี้เจ้าของมัก “บั่นโด” หรือรานยอดเมื่อได้ความสูงตามที่ต้องการ ให้กระท่อมตั้งพุ่มเตี้ย ๆ เก็บใบมาใช้ได้ง่าย ไม่ต้องปีนต้องสอย

หรือแม้แต่การถูกบั่นโคนโดย “นาย” ในช่วงปราบโค่นต้นกระท่อม บางทีก็กลับกลายเป็นผลดีต่อเจ้าของ เพราะตรงรอยปาดลำต้นทิ้งนั้น กระท่อมจะแตกกิ่งใหม่ขึ้นเป็นหลายต้น

ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็รู้เรื่องนี้ บางทีโค่นแล้วก็ทายาฆ่าตอด้วย แต่พอให้หลังเจ้าของก็เอาน้ำมาล้างออก ต้นกระท่อมที่รักก็ผลิแตกกิ่งขึ้นใหม่ได้เหมือนเดิม

ส่วนต้นที่ไม่เคยถูกรบกวนด้วยคมเลื่อยคมขวาน ต้นกระท่อมจะสูงชะลูด เจ้าของจะเก็บใบมากินต้องปีนขึ้นไปเท่าความสูงของพุ่มซึ่งอาจเป็นสิบ ๆ เมตร ปีนลำต้นไม่ไหวก็พาดพะอง ต่อนั่งร้าน หรือปีนผ่านกิ่งไม้อื่นที่อยู่ใกล้เคียง สุดแท้แต่เงื่อนไขและการสรรหาหนทางของคนกินท่อม

เก็บทีอาจพอกินได้ ๒-๓ วัน หรือหากเก็บอย่างดีใบกระท่อมก็อยู่ได้เป็นสัปดาห์ โดยใส่ไว้ในกระติกกลมสีสดแบบที่ชาวบ้านใช้ใส่น้ำแข็ง เพียงเอาใบกระท่อมใส่ไว้แล้วปิดฝา ไม่ต้องพรมน้ำหรือแช่เย็น ใบกระท่อมจะอยู่ได้นานที่สุดกว่าวิธีอื่น

“ฮาย หอบเหมือนหมายิกแลน” นักเลงท่อมรุ่นเก๋าแซวตัวเองขำ ๆ ปนเสียงหอบเหนื่อยเหมือนสุนัขไล่ล่าตะกวดปีนี้เขาอายุ ๗๐ แล้ว ยังปีนขึ้นลงต้นกระท่อมข้างบ้านได้เหมือนที่เป็นมาตลอดตั้งแต่เริ่มกินท่อมเมื่ออายุ ๑๗ ปี 

“ไม่กินได้ไหม จะได้ไม่ต้องปีนให้เหนื่อย”

“ถ้าไม่ได้กิน เมื่อย”

“เขาว่ากินแล้วทำให้ผิวคล้ำ ?”

“นั่นคนกินไม่รู้เรื่องไม่ศึกษา กินยังไงไม่ให้เป็นโทษ เช้ามากินข้าวก่อนแล้วค่อยกินท่อมตาม สักก้อนก็ได้เคี้ยวให้ละเอียด อย่าให้ท่อมนำหน้า ตัวจะเขียวเหมือนพระอินทร์และคร้านน้ำ  เช้ามากินข้าวก่อนแล้วกินท่อมได้ทั้งวัน กินเพ้อ ถ้าใบเล็กก็กินทีเป็นสิบใบ ไม่กินแต่ตอนหลับ ตอนตื่นกินตลอด”

“กินมากได้ยินว่าจะกลัวฝน ?”

“ที่ว่าคนกินท่อมขลาดฝนนั้นโกหกทั้งเพ ไถนาฝนตกลงมาเพื่อนวิ่งหลบ ผมไถจนเสร็จ เพื่อนว่าบ้าไหม ตากฝนไถนา” จำเนียรยืนยันจากประสบการณ์ตัวเอง “คนแหลงไม่รู้ แหลงตามเพื่อน ไม่ใช้สมองตัวเอง อย่ามาโทษใส่ท่อม”

“แล้วท่อมมีโทษไหม”

“โทษมี ท้องผูกถ้าไม่คายชาน ต้องรูดก้านออก ม้วน จะเคี้ยวง่าย ถ้าโยนเข้าไปเลยเคี้ยวยาก”

ที่ว่ากินท่อมแล้วท้องผูกเป็น “ถุงท่อม” ในท้องนั้น อาจเพราะกินท่อมโดยไม่ประณีต กินทั้งเส้นใบและไม่คายกาก

นักเลงท่อมมืออาชีพหยิบกระท่อมขึ้นมาใบหนึ่ง คว่ำลง ใช้สองเล็บนิ้วชี้นิ้วโป้งจิกโคนใบ แล้วค่อย ๆ ลอกเลาะไปจนสุดทางปลายใบ  เส้นใบโครงร่างเหมือนก้างปลาถูกเลาะแยกออก เหลือแต่เนื้อใบอ่อนนุ่มไม่มีเสี้ยนแข็งปน ใส่ปากเคี้ยวง่าย และไม่เป็นอันตรายต่อกระเพาะลำไส้ภายในร่างกาย

นักกินท่อมรุ่นอาวุโสที่ไม่มีฟันเคี้ยวก็ใส่ตะบันตำอย่างหมากหรือใส่กระบอกบิดกระท่อมก็แหลกง่าย

และที่สำคัญกล่าวกันว่าเส้นใบและกากกระท่อมนั่นแหละที่เป็นสาเหตุให้ท้องผูกและตกค้างสะสมเป็น “ถุงท่อม” อยู่ในท้องคนกิน ถ่ายไม่ออก ต้องผ่าตัด หรือหากเสียชีวิตก็เป็นส่วนที่ไหม้ได้ยากตอนเผาศพ

“เผาที่วัดแจ้ง สัปเหร่อบอกว่าในกระเพาะกินอะไรไว้แน่ ๒-๓ ชั่วโมงเผาไม่หมด” จินตนา วัฒนมาศพงษ์ เล่าถึงอดีตสามีชาวบ้านสวน อำเภอควนขนุน
“แกกินมาหลายปี ตั้งแต่อายุ ๒๐ กว่า กินเคี้ยวละเอียด กากไม่ทิ้ง ตอนไม่สบายเป็นโรคมะเร็งในหัว ไปเอกซเรย์เห็นแล้วว่าในกระเพาะมีอะไรสักอย่าง แต่แกไม่ได้บอกหมอว่ากินท่อม เสียตอนอายุ ๔๖ มีกากกระท่อมในกระเพาะ เผาไฟแล้วยังไม่กิน เหลือเป็นส่วนสุดท้าย”
...
กากกระท่อมหรือ “ถุงท่อม” ไม่เป็นปัญหาสำหรับคนที่ต้มกินน้ำ

น้ำท่อมเป็นสมุนไพรที่ใช้ดื่มกินอยู่ในวิถีชีวิตคนมาเช่นกันเหมือนน้ำชา แต่มาลือลั่นและเป็นที่หวาดหวั่นเมื่อเกิดการ
เติมแต่งสูตรให้พิสดารขึ้นใหม่ในหมู่เยาวชนวัยอยากรู้อยากลอง ที่รู้จักกันในชื่อ “๔x๑๐๐”

อาจเพราะน้ำท่อมมีรสขมและความมึนเมาน้อย จึงมีการเติมส่วนผสมอื่นเข้าไปด้วย เครื่องดื่มโคล่า ยาแก้ไอ และอื่น ๆ ที่ลือกันว่ามีตั้งแต่ยาจุดกันยุง ผงสีที่ขูดจากรถมอเตอร์ไซค์หรือเส้นบนพื้นถนน ผงที่เคลือบในหลอดไฟ จนถึงขี้เถ้าเผาผีบนเชิงตะกอน ฯลฯ ผสมรวมกันใส่ขวด แล้วแช่ในถังน้ำแข็งให้เย็นจัด

เรื่องที่เล่านี้อาจมีเค้าเรื่องจากไหน แล้วเล่าลือจนเกิดการลอกเลียนลองต่อกันไป หรืออาจไม่เคยมีเกิดขึ้นเลยก็ได้

แต่ก็ทำให้เกิดการหวาดผวา และกระท่อมถูกมองว่าเป็นต้นเหตุความเลวร้ายเหล่านี้

ในฐานะผู้ร่วมขับเคลื่อนโครงการน้ำพุโมเดลและเป็นคนกินท่อมด้วย ทำให้ ศุภวัฒน์ กล่อมวิเศษ คุยกับเด็กวัยรุ่นในชุมชนได้ง่ายเรื่องกระท่อม

เริ่มจากขอกินน้ำท่อมร่วมหม้อ

“ผมบอกเขาว่า ‘พวกสูต้มกินน้ำแรกแล้ว น้ำสองลุงขอนะ’”

ใบกระท่อมต้มเอาน้ำได้สองครั้ง น้ำแรกเหมือนหัวกะทิ น้ำสองจะเจือจางกว่า

“แต่น้ำสองแล้วยังเข้มจัดอยู่เลย แสดงว่าน้ำหนึ่งที่เขาดื่มกันต้องเข้มมาก ๆ”

น้ำท่อมสำหรับสูตร ๔x๑๐๐ อาจต้องการความเข้มสูงเพื่อมาเจือจางกับน้ำอัดลมโคล่าและยาแก้ไอ แต่ก็ส่งผลเสียด้านอื่นด้วย

“ผมเลยถามเขา ‘เราคนกินท่อมด้วยกัน ลุงถามจริง ๆ ที่ดื่มกันอยู่นี้ เขาว่าใส่ยากันยุง สีขูดจากเส้นบนถนน ขี้เถ้าเผาผี จริงไหม’ เด็กตอบ ‘ลุงศุภ ผมก็กลัวตายเหมือนกันนะ’”

ไม่เฉพาะแต่ศุภวัฒน์ คนที่ลงพื้นที่ศึกษาวิจัยทุกพื้นที่ ไม่มีใครพบหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีการปรุงแต่งน้ำท่อมแบบวิปริตพิสดารตามที่เล่าลือกันส่วนหมอจำเนียรเล่าว่าเขาเคยไปเจอเตาต้มน้ำท่อมบนภูเขา ข้าง ๆ มีหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ใส่น้ำวางอยู่หลายหลอด ไม่เห็นรอยการขูดผิวเคลือบสีขาวข้างในแต่อย่างใด หลอดไฟคงถูกใช้เป็นภาชนะเก็บน้ำเท่านั้น

“เคยไปจับเด็กแอบต้ม เขาวิ่งหนีทิ้งน้ำท่อมไว้ เราลองชิมดู เขาปรุงจนรสดี น่ากิน” ผู้ใหญ่ประเสริฐ มีเอียด บ้านลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง เล่าประสบการณ์อีกด้าน “หลังปลดล็อกเห็นน้ำท่อมเยอะขึ้น มีขายตามข้างทางซึ่งที่จริงยังผิดกฎหมายอยู่ แต่วัยรุ่นกินน้ำท่อมดีกว่ากินเหล้าเยอะ แต่ก่อนแถวนี้จัดงานไม่ได้ เมาเหล้าทะเลาะกันทุกงาน จะตีกัน แต่เมาน้ำท่อมไม่ค่อยสร้างปัญหา แต่เด็กกินน้ำท่อมอยู่ใครอยู่มัน คล้าย ๆ สูบกัญชา  ตอนนี้ ๔x๑๐๐ ก็ยังผิดกฎหมาย แต่ไม่ทะเลาะกัน  ผมว่าน้ำท่อมดีกว่าเหล้า”

ในงานศึกษาวิจัยไม่ได้บอกชื่อเรื่อง รองศาสตราจารย์ ดร. เอกสิทธิ์ กุมารสิทธิ์ ศึกษาฤทธิ์เสพติดของพืชกระท่อมก็พบว่า กลุ่มที่ได้รับน้ำท่อม...ไม่สะท้อนการเสพติด ไม่ต่างจากกลุ่มที่ได้รับน้ำเปล่า ขณะที่กลุ่มที่ได้รับมอร์ฟีนมีพฤติกรรมเสพติดชัดเจน

แต่กระนั้นการแพร่ระบาดของน้ำท่อม ๔x๑๐๐ ก็ทำให้เกิดการปราบปรามตัดฟันโค่นต้นกระท่อมกันครั้งใหญ่ในภาคใต้
Image
ใบท่อมในสำรับเซ่นไหว้
“ช่างตีเหล็กงานหนัก เมื่อยตัว ครูบาอาจารย์ผู้เฒ่าผู้แก่สมัยก่อนนิยมกินท่อมเพื่อชูกำลัง แก้เข็ดเมื่อย แก้ไข้ครั่นเนื้อครั่นตัว  แต่ก่อนโรงตีเหล็กเป็นที่ชุมนุมของผู้คน นำข้าวสารอาหารมารวมกัน และพกท่อมติดตัวมาด้วย ทั้งทำพิธีกรรม
และกินเอง ถ่ายทอดต่อเนื่องมา เป็นของเซ่นอย่างหนึ่ง  

“ผมชอบศัสตราวุธ ตอนเป็นนักศึกษาวิทยาลัยศิลป
หัตถกรรมนครฯ พอปิดเทอมไปขอเรียนที่ยะลา ปัตตานี  เรียนตีกริช ตีมีดหมอ อาจารย์อิสลามก็กินกระท่อม คนตีเหล็กกินเป็นยาเป็นสมุนไพร เพื่อความแข็งแรงกระชุ่มกระชวย ที่ไหน ๆ ก็ใช้ท่อมในพิธีกรรม อิสลามไม่มีรูปเคารพ แต่เขาก็นับถือครูช่าง เขาใช้ท่อมเหมือนกัน”

เชาวลิต พินิจการ

โรงตีเหล็กช่างเชาว์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
Image
๗  ฟันท่อม
“เรื่องผิดกฎหมายนี่ผมไม่ยอมรับ” เซียนท่อมพัทลุงย้ำ แล้วเล่าเหตุการณ์เมื่อวันเจ้าหน้าที่มาโค่นกระท่อม

“‘เรื่องท่อมนี่กินจนตาย สูไม่ต้องทำเฒ่า สูพาตัวเองให้รอดตะ ถ้ากูไม่ดีก็ฆ่าเสียตรงนี้เลย’ เคี้ยวท่อมเพ้อแหลงพลาง ‘ด้อนไม่ด้อนไม่รู้ ถ้ามาโค่นท่อมนี่ผมฟันรถเสีย’” จำเนียร พลอยดำ พูดใส่หน้านายอำเภอคนใหม่และตำรวจที่มาเยือนบ้านพร้อมเลื่อยยนต์

“ผมวิบเหงื่อแตก ผมบอกนายอำเภอคนใหม่ว่าจะโค่นท่อมให้สักต้น ผมตัดแล้ว ยังมากันเต็มหมด แค่นว่าตัดอีก ๆ ถือเครื่องตัดมา ผมวี้ ถือพร้าเล่มหนึ่ง บอก ‘ท่อมอุบาทว์ตัดให้ถึงราก ไม่ต้องไว้’ คมเลื่อยหมด  ท่อมต้นเดียวขนใส่สองคันรถ ถ่ายรูปกัน  ผมเอาพร้าฟันซ้ายขวา ๆ ไม่ใช่แกล้ง แต่ฟันไปโดนฝาครอบกระบะท้ายแหก เหล็กขาด พร้ากะแหว่งไปเลย”

กระแสการระดมตัดฟันต้นกระท่อมเกิดขึ้นหลังจากมีเยาวชนนำใบกระท่อมมาต้มน้ำผสมกับน้ำอัดลม ยาแก้ไอ และอื่น ๆ เป็นเครื่องดื่ม “๔x๑๐๐” เกิดความเมามายและอันตรายจากการใช้สารบางชนิดเกินขนาด และเกิดปัญหาต่อเนื่องถึงความสงบสุขในชุมชนที่กล่าวกันว่าตั้งต้นมาจากเด็กกินน้ำท่อม

บ้านไหนมีต้นกระท่อมไว้กินเอง กลางคืนแทบไม่เป็นอันได้นอนหลับเป็นสุข แม้จะหาทางป้องกันสารพัดวิธี ใช้ตะปูตอกทะลุแผ่นไม้วางเป็นกับดัก โยงเชือกร้อยห่วงผูกหมาให้เดินเฝ้าใต้โคน ไปจนถึงติดตั้งรั้วลวดปล่อยกระแสไฟฟ้า ทั้งหลายนั้นไม่พ้นการท้าทายของวัยรุ่นน้ำท่อม

จนกล่าวได้ว่าจะหากระท่อมต้นไหนที่ไม่เคยถูกโจรลักนั้นหาได้ยากนัก และเรื่องราวการปราบ “โจรลักท่อม” ก็ได้ยินข่าวเล่าลืออยู่ทั่วทุกถิ่น

จำเนียรเล่าว่าในคืนหมาเห่าระงม ไม่มีอะไรนอกจากเด็กมาแอบปีนต้นกระท่อม ซึ่งเขาไล่มาหลายทีแล้ว คืนนั้นเขาก็กระแอมและพูดดัง ๆ ออกไปแล้วว่าเดี๋ยวจะถูกยิง โจรยังไม่ไยดี

“ลุงยิงหล่นตัวหนึ่ง” จำเนียรชี้ไปทางทิศทางเดียวกับที่เขาเคยส่องปืน

ตั้งใจจะยิงขู่ แต่เขาได้ยินเสียงคนตกจากต้นกระท่อม ตามด้วยเสียงร้องครางเคลื่อนห่างไปทางถนน เพื่อนคงช่วยลากขึ้นรถ ได้ยินเสียงติดเครื่องขับออกไป

ส่วนทางตำบลดินอุดม จังหวัดกระบี่ เจ้าของต้นกระท่อมยิงไล่โจรลักใบกระท่อม โจรโกรธแค้นวันหลังย้อนกลับมาลักวัวกลายเป็นปัญหาต่อเนื่อง

ที่คลองท่อม หมู่บ้านตามริมขอบป่ายังมีต้นกระท่อมอยู่มาก เจ้าของทำรั้วลวดปล่อยกระแสไฟฟ้า วัยรุ่นมาโดน ล้มลงสิ้นใจเป็นศพอยู่ใต้ต้นกระท่อม  อีกรายเจ้าของมาเห็นคาตาว่าโจรกำลังปีนต้นกระท่อม คว้าเคียวด้ามยาวที่ใช้สอยทะลายปาล์มต้นสูง กระชากคอโจรลงจากต้นกระท่อม ตกลงมาอาการร่อแร่ โดนฟันซ้ำด้วยคมพร้าตายคาโคนกระท่อมต้นนั้น 

กลายเป็นปัญหาลุกลาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต้องกวดขันกวาดล้าง ตัดตอนที่ต้นเหตุ ต้นกระท่อมทั่วทุกถิ่นถูกสั่งตัดโค่นอย่างเข้มงวด จนคนที่ใช้กินตามวิถีการทำงานได้รับความเดือดร้อน

ด้วยความเป็นเจ้าหน้าที่ปกครองสูงสุดในหมู่บ้าน ผู้ใหญ่ประเสริฐ มีเอียด เป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งในการตัดโค่นต้นกระท่อมในช่วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา ต้องทะเลาะเบาะแว้งกับเจ้าของกระท่อม และในที่สุดต้นกระท่อมในลำสินธุ์ รวมทั้งที่อื่น ๆ ทั่วภาคใต้หายไปมาก
“โค่นเพราะนโยบายนายอำเภอไปเป็นร้อยต้น” ผู้ใหญ่ประเสริฐสารภาพ “เจ้าของขอไว้บ้าง ชาวบ้านเราใช้แรงงาน ถ้าได้กินท่อมมันเพิ่มพลัง  บางคนไม่ได้กินไปไหนไม่รอด
บางคนกินแก้เบาหวาน ความดันบ้าง”

ในที่สุดจึงเกิดโครงการชุมชนนำร่องการใช้พืชกระท่อมในวิถีชุมชน โดยให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดกติกาในการมีต้นกระท่อมที่พอเหมาะสมกับการใช้ระดับครัวเรือน บันทึกข้อตกลงเป็นธรรมนูญชุมชน ควบคู่ไปกับการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์และการแพทย์ เมื่อปี ๒๕๖๐

“กินมา ๑๐ กว่าปี กินทุกวัน ไม่เห็นติดอะไร” อำนวย นาศรียงค์ หนึ่งในคนกินท่อมบ้านลำสินธุ์ “กินเหล้าเป็นเบาหวาน ความดันไป กินท่อมรูดเอาแต่เนื้อ ลอกก้านออก กินวันละเป็น ๑๐ ใบ ไม่มีปัญหาอะไร บางปีไปกรุงเทพฯ ๓-๔ วันไม่ได้กินก็ไม่เป็นไร เพราะไม่เห็น ถ้าเห็นจะอยากกิน”

“มีต้นของตัวเอง แจกกับแจก ผมไม่เคยขาย วัยรุ่นให้มันแล้วมันยังลัก กองอาสารักษาดินแดนมาบอกให้โค่น ต้นนี้ผมขอเว้นไว้เก็บให้พ่อ มีปลอกคอแล้ว” เขาหมายถึงได้ติดป้ายคิวอาร์โค้ดขึ้นทะเบียนเป็นต้นกระท่อมที่ได้รับอนุญาต “อายุราว ๑๐ ปี เว้นใบมากยิ่งโตเร็ว ต้นสูง ต้องขึ้นเก็บใบทางต้นมังคุด การคิวอาร์โค้ดเกิดที่นี้ก่อนเลย”

ที่หลังบ้านผู้ใหญ่ประเสริฐก็มีกระท่อมโคนขนาดน่องต้นหนึ่งได้รับการติดป้ายคิวอาร์โค้ดแล้วเช่นกัน เป็นกระท่อมก้านเขียวรสดีมาก 

ขม ฝาด มัน ผสมกลมกล่อมกันอย่างลงตัวพอดี

ที่ตำบลน้ำพุ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีชื่อเสียงในฐานะชุมชนต้นแบบการใช้และอยู่ร่วมกับชุมชน

“กำนันสงคราม บัวทอง ชวนผมร่วมเวทีทำประชาคม ชาวบ้านก็เข้าใจว่ากำนันพา ‘นาย’ มาโค่นท่อมหล่าว ผมเดินบอกทุกบ้านว่าไม่ใช่อย่างนั้น เขาจะจัดระเบียบกระท่อม ลองฟังเขาก่อน” ศุภวัฒน์ กล่อมวิเศษ เล่ากระบวนการสร้างธรรมนูญชุมชนน้ำพุ

“เริ่มศึกษาสำรวจจำนวนต้นกระท่อม บางบ้านมีมากเกินจำนวน-โดยเขาไม่ได้ปลูก เมล็ดมันปลิวตามลมไปงอกขึ้นเอง เจ้าของที่ก็ว่า ‘มันไม่ใช่หนักแผ่นดินอะไร’ ก็ปล่อยไว้อย่างนั้น เพราะต่อไปก็เลื่อยเป็นไม้กระดานใช้ได้  ก็หารือว่าจะเอาอย่างไรกันดี ท่อมเป็นยาเสพติด แต่เราเสพเพื่อทำงานแต่การครอบครองเกินจะทำอย่างไร บางคนว่าไว้ต้นเดียว บางคนว่าบ้านแกต้นใหญ่ บ้านฉันต้นเล็กนิดเดียว ตกลงกันได้ที่สามต้น เราก็ออกระเบียบว่าจะไม่มีการซื้อขายกัน และไม่ต้องให้กัน เพราะทุกบ้านต่างก็มีต้นของตัวเอง ทดลองใช้ที่หมู่บ้านดอนทราย เรียกว่าธรรมนูญหมู่บ้านดอนทราย”

ต่อมาขยายมาใช้ทั้งหกหมู่บ้านในตำบลน้ำพุ นำผลการระดมของแต่ละหมู่บ้านมารวมกันเป็นธรรมนูญของตำบล จัดเวทีประชาคมให้มีท่อมบ้านละไม่เกินสามต้น 

จำนวนต้นกระท่อมที่สำรวจรวบรวมได้ทั้งตำบล ๑,๙๑๒ ต้น อยู่ในความครอบครองของ ๕๘๘ ครัวเรือน ซึ่งมีตั้งแต่ครอบครัวละ ๑ ต้นจนถึง ๒๗ ต้น มีต้นกระท่อมส่วนเกินที่ต้องทำลาย ๓๓๔ ต้น ได้รับการขึ้นทะเบียนติดป้ายคิวอาร์โค้ด ๑,๕๗๘ ต้น

คนกินท่อมบ้านน้ำพุสามารถพกพาใบกระท่อมติดตัวไปได้ในสามตำบล น้ำพุ ท่าชี และควนศรี จำนวน ๓๐ ใบ จากการออกแบบสอบถามการใช้ต่อวันของแต่ละคน

“ต่อมาห่วงกันว่าคนกินท่อมขี้เหมือนขี้แพะ ผิวคล้ำ ขอให้ทางสาธารณสุขมาตรวจสุขภาพเป็นระยะ ที่หวังเหวิดกันว่ากินท่อมแล้วไม่บาย ก็มีการศึกษาเชิงลึกว่าใช้ประโยชน์โรคไหนได้บ้าง เกิดความต่อเนื่องจากงานที่เราทำ ก่อนนั้นน้อยมากที่คนทั้งตำบลมาคุยเรื่องเดียวกัน  ทางการก็ขานรับ”

กลายเป็นต้นแบบและฐานข้อมูลที่มีส่วนผลักดันให้เกิดการออกกฎหมายปลดล็อกพืชกระท่อมพ้นจากความเป็นยาเสพติด

ปลดปล่อยกระท่อมให้เป็นพืชเสรีคืนสู่วิถีชุมชนอย่างที่เคยเป็นมา
กระท่อมมีสรรพคุณทางยาหลายอย่าง สืบต่อกันมาโดยทางมุขปาฐะที่มีอยู่ก่อนการแพร่หลายของกระดาษและตัวหนังสือ ต่างจากยากัญชาที่มีลายลักษณ์อักษรชัดเจนมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และแพร่หลายกว้างไกลถึงในระดับโลก
Image
ใครก็รู้ว่ามีต้นกระท่อมซุกซ่อนกระจายอยู่ทั่ว  ฉับพลันที่มีประกาศปลดล็อกกฎหมาย นานาผลิตภัณฑ์จากใบกระท่อมก็มีออกมาวางขายทันที ทั้งเครื่องดื่ม ลูกอม ยาสีฟัน ฯลฯ
Image
ภาพ : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
Image
๘  คลองท่อม
คนคงรู้จักกระท่อมในแง่ภูมิปัญญาพื้นบ้านมานานเป็นพันปี แต่ในแง่ชีวเคมีไม่นานมานี้ที่นักวิทยาศาสตร์เคมีช่วยให้เราได้รู้ว่า สารในกระท่อมที่ทำให้คนกินทำงานได้นานแม้กลางแดดร้อนจ้า เป็นสารกลุ่มแอลคาลอยด์ ชื่อไมทราไจนีน ซึ่งออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางให้เกิดความรู้สึกชา กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงาน

“พืชกระท่อมในประเทศไทยมีปริมาณสารไมทราไจนีนประมาณ ๖๖ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าที่พบในพืชกระท่อมของประเทศมาเลเซียที่มี ๑๒ เปอร์เซ็นต์”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พนิตา ก้งซุ่น เล่าสิ่งที่ค้นพบจากการทำวิจัยเรื่อง “ศักยภาพของสารไมทราไจนีนต่อการยับยั้งเอนไซม์อะซีติลโคลีนเอสเทอเรสของโรคอัลไซเมอร์” ร่วมกับทีมผู้วิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

การศึกษาวิจัยพบไมทราไจนีนความเข้มข้นสูงในกระท่อมพันธุ์ไทย ทำให้เห็นความหวังว่ากระท่อมของบ้านเราจะไปได้ไกลกว่าแค่ใช้ในชุมชน โดยเฉพาะการใช้ในทางยา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พนิตาเล่าย้อนซึ่งสิ่งที่ค้นพบจากการศึกษาข้อมูลเตรียมการวิจัยด้วยว่า 

“งานวิจัยเมื่อ ค.ศ. ๒๐๑๑ ระบุว่าไมทราไจนีนบรรเทาปวด ต้านการอักเสบ ในปีเดียวกันพบว่าถอนพิษมอร์ฟีน ลดความเครียดจากการติดมอร์ฟีนได้  กระท่อมไม่ติดรุนแรงอย่างฝิ่น จึงเหมาะใช้ถอนพิษมอร์ฟีน สุรา และมีสรรพคุณช่วยลดการหลั่งกรด ยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็ก แก้ท้องเสีย และทำให้ท้องผูกด้วย”

โรคเบาหวานก็มีงานศึกษาวิจัยยืนยันแล้ว เมื่อ ค.ศ. ๑๙๙๗ และงานวิจัยเมื่อ ค.ศ. ๒๐๑๕ พบว่ากระท่อมช่วยเพิ่มความจำในหนูทดลอง 

“จากการทดลองในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ กระท่อมทุกตัวต้านอัลไซเมอร์ได้ดี  เราอยากหาปัจจัยที่มีผลต่อสิ่งนี้ พันธุ์อายุของใบ วิธีการปลูก การเสียบยอด ตอนกิ่ง ปริมาณสารต่างกันไหม  ชาวบ้านจะได้เลือกวิธีในการปลูกได้ถูก ที่จะให้สารสำคัญสูง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พนิตาพูดถึงงานวิจัยของตน

“ตอนนี้กระแสกำลังพุ่ง ปลูกตาม ๆ กันสะเปะสะปะหลายพันธุ์ สารสำคัญไม่เท่ากัน ต่างคนต่างปลูก คนที่อยู่นอกระบบจะขายที่ไหน บริษัทไม่กล้ารับซื้อ เพราะไม่ผ่านการรับรอง จะเสียโอกาส” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อุไรวรรณ ทองแกมแก้ว อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ พูดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแถบพัทลุง

รู้กันทั่ว แทบทุกอำเภอตอนนี้เกษตรกรหลายรายกำลังล้มสวนยางลงกล้ากระท่อมแทน

“อยากทำให้เกิดระบบ ชุมชนได้รายได้จริง ๆ กระท่อมส่งขายต่างประเทศได้ต้องไม่ปนเปื้อน ตลาดโลกต้องการ เอาไปทำยาแคปซูล อาหารเสริม ใส่ในขนม ลดความเครียด กระท่อมไม่มีความเสพติด ไม่มีสารเมา ต่างจากกัญชา ใช้แทนมอร์ฟีนในการลดความเจ็บปวดที่ไม่มีผลข้างเคียงอย่างมอร์ฟีน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อุไรวรรณพูดถึงกิจกรรม สังคมที่เธออาสาเข้ามามีส่วนร่วมโดย “ไม่ได้ทำวิจัย ไม่มีผลตอบแทนอะไร ทำด้วยใจ ประสานให้เขามาเจอกัน”

“เราจะเป็น ‘พัทลุง : เมืองสมุนไพรครบวงจร’” เบ็ญจวรรณ บัวขวัญ นักวิชาการมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่เป็นหนึ่งในทีมวิจัยตำรับยาสมุนไพรภาคใต้ เล่าถึงทิศทางในภาพรวม “เรามีหมอพื้นบ้าน เกษตรกรรมอินทรีย์ผสมผสาน พัทลุงมีพื้นที่ราบจำกัด ปลูกพืชเชิงเดี่ยวได้น้อย เราส่งเสริมให้ปลูกไม้พื้นล่างขึ้นมาเป็นกระท่อม ต้นไม้สูงอยู่บน ครบวงจรในจังหวัด ต่อไปถ้าเป็นเรื่องหมอพื้นบ้านยาสมุนไพรต้องมาพัทลุง”

โดยเฉพาะเรื่องกระท่อมนั้น เธอเล่าว่าได้รับการติดต่อจากทางจีน ส่วนทางอเมริกาตอนนี้เป็นตลาดของอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งราคาใบกระท่อมสดในประเทศอยู่ที่ ๑๓-๑๕ บาท

“ตอนนี้ทำผลิตภัณฑ์ทางอาหารยังผิดกฎหมายอยู่ แต่การสกัดสารไม่ยาก  ถ้าขายใบได้ราคาหนึ่ง สกัดไมทราไจนีน บริสุทธิ์จะได้อีกราคาหนึ่ง ไม่ผิดกฎหมาย ทำได้” โอกาสทางเศรษฐกิจในมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พนิตา
“ปลูกให้ถูกวิธี แปรรูปทำผลิตภัณฑ์ได้เองก็จะเพิ่มมูลค่าได้  ตอนนี้กระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกได้ ไม่ติดกฎหมายระหว่างประเทศเหมือนกัญชา”
Image
...
หลังพ้นจากความเป็นพืชเสพติด แทนการไล่ล่าโค่นทำลายกระท่อมกลายเป็นไม้ที่ได้รับการพูดถึงและซื้อขายกันมากที่สุดชนิดหนึ่ง 

ทั้งการปลูกก็แพร่หลายเป็นที่สนใจไปทั่วประเทศ ล้มไม้อื่นปลูกกระท่อมแทน ปลูกแซมกลางไม้อื่น กระทั่งใช้เป็นไม้บนเกาะกลางถนนก็เกิดขึ้นแล้ว

ที่อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ กระท่อมเป็นหนึ่งในพรรณไม้ที่ได้รับเลือกให้ปลูกเป็นไม้ประจำเมือง บนเกาะกลางถนนเพชรเกษม เส้นทางสายหลักที่ทอดผ่านกลางเมือง ตั้งแต่แถบหน้าสำนักงานเทศบาล หน้าโรงพัก ย่านตลาด สี่แยกกลางเมือง เป็นที่ตื่นเต้น เป็นข่าวใหญ่ในโลกออนไลน์ตั้งแต่ช่วงแรกที่ลงกล้า

“สมัยก่อนคลองท่อมมีต้นกระท่อมอยู่เต็มหมด ตามในนา ริมคลองข้างวัด ในห้วยหลังตลาดสดก็มีอยู่ กระท่อมชอบอยู่ในที่ชุ่มน้ำ”

พิริยะ ศรีสุขสมวงศ์ นายกเทศมนตรีตำบลคลองท่อมใต้ เจ้าของแนวคิดนำต้นกระท่อมกลับมาอยู่บนเกาะกลางถนน เล่าย้อนภาพสมัยที่เขายังเด็ก ห้วยข้างตลาดสดที่เขาบอกว่าเคยมีต้นกระท่อมชื่อห้วยตอก อยู่ใกล้สี่แยกคลองท่อม ซึ่งทุกวันนี้ถนนเพชรเกษมทอดผ่าน

“ช่วงปราบน้ำท่อมทางการฟันหมด ห้ามมีในครอบครอง ฝั่งห้วยตอกที่เคยมีต้นกระท่อมเดี๋ยวนี้เราพัฒนาเป็นเขื่อน บ้านเรือนเข้าแทนที่หมดแล้ว  พอกฎหมายปลดล็อกประจวบเหมาะกับเราได้ทำเอ็มโอยูกับแขวงการทางกระบี่ ให้เทศบาลเข้ามาดูแลเกาะกลางถนนเพชรเกษมช่วงที่ผ่านเขตเทศบาลระยะราว ๒ กิโลเมตร ทำให้เราสามารถพัฒนาสภาพภูมิทัศน์ได้”

กระท่อมบนเกาะกลางถนนกลางเมืองคลองท่อมลงกล้าเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ ราว ๓ ปีข้างหน้าก็คงตั้งพุ่มออกใบเต็มต้น ประดับประดาถนนให้โดดเด่นเป็นอัตลักษณ์  ไม่เหมือนบ้านเมืองอื่นใด ซึ่งนายกเทศมนตรีฯ คนปัจจุบันบอกว่าเป็นความตั้งใจที่จะนำไม้ที่เป็นที่มาของชื่ออำเภอมาเป็นเอกลักษณ์

หลายสิบปีมานี้นามของคลองท่อมเป็นหนึ่งในชุมชนคู่แข่งที่รอนักประวัติศาสตร์โบราณคดียืนยันชี้วัดว่าคือเมืองตะโกลาใน จดหมายเหตุปโตเลมี  ที่มาของชื่อคลอง “ท่อม” จึงมักถูกโยงไปว่ามาจาก “ทุ่ม” คำท้องถิ่นใต้ที่มีความหมายว่า  “ทิ้ง” หมายถึงทิ้งลูกปัด ในแหล่งโบราณคดีควนลูกปัดที่อยู่
ริมคลองสายนี้ แต่ก็ถูกติงมากว่าเป็นการลากคำเข้าหาความข้างตนมากไป

บางข้อสันนิษฐานอธิบายว่ามาจากกระท่อมริมคลอง ซึ่งยิ่งมีความเป็นไปได้น้อย เพราะในความหมายนี้ไม่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นอย่างใดเลย กระท่อมอยู่ริมคลองที่ไหนก็มี ยิ่งกว่านั้นคนใต้ไม่เรียกที่อยู่อาศัยหลังเล็กที่สร้างง่าย ๆ ว่ากระท่อม แต่เรียกหนำหรือขนำ

ส่วนในความหมายว่าต้นกระท่อมนั้นแทบไม่ค่อยมีใครอ้างถึง เพราะคงไม่ค่อยมีใครอยากให้ชื่อบ้านนามเมืองของตนไปเกี่ยวพันกับยาเสพติด ซึ่งกระท่อมถูกตีตรามาเกือบ ๑๐๐ ปี

จนเมื่อกฎหมายปลดล็อก นายกเทศมนตรีตำบลคลองท่อมก็เปิดนิยามใหม่ให้กับชุมชนบ้านเกิด ด้วยความมั่นใจว่าชื่อคลองท่อมมาจากต้นกระท่อม  เขาจึงหากล้ากระท่อมมาลงปลูกตามนามเมืองให้เป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่น

แม้ไม่เหลือหลักฐานยืนยันให้เห็นชัดเจน แต่ก็นับเป็นความกล้าหาญในการให้คำนิยามนามเมืองของตนเองแทนการรอผู้เชี่ยวชาญจากไหนมาให้นิยาม

“คลองท่อมก็คือต้นกระท่อมขึ้นข้างคลอง ชื่อบอกอยู่แล้ว ประวัติก็มีอยู่ว่าสมัยก่อนมีพระยาขี่ช้างมาจากคลองพน เพื่อเอาใบกระท่อมไปทำยาให้เจ้าเมือง”

เมื่อครั้งโบราณทางน้ำลำคลองเป็นเส้นทางสัญจรหลักลำคลองท่อมจึงเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางข้ามคาบสมุทร จากฝั่งอันดามันสู่อ่าวไทยเมื่อยุค ๒,๐๐๐ กว่าปีก่อน จนถึงยุคที่ถนนขึ้นมามีความสำคัญแทน ไม้ประจำถิ่นที่เคยอยู่ชายน้ำลำคลองก็ถูกนำขึ้นมาปลูกบนถนน

บางทีในอีกไม่นาน ผู้คนคงได้มาถ่ายรูปเช็กอินกันที่ “ถนนสายกระท่อม” บนถนนเพชรเกษมช่วงที่ผ่านหน้าตลาดคลองท่อม

ส่วนตอนนี้ไม่ใช่มีแต่บนเส้นทางสายหลักเท่านั้นที่จะสามารถพบเห็น ต้นกล้าและการค้าขายกระท่อมแพร่ขยายไปถึงในซอกซอย ตลาดนัด รถพ่วงขายกับข้าว ย่านถนนคนเดินในเมือง จนถึงใจกลางเมืองหลวง
ภาพ : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
Image