Image
กระท่อม
การกลับมาของยาต้องห้าม
ภาค ๑
scoop
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
เมื่อคิดให้ดีโลกนี้ประหลาด...* 
ไม่มีคำใดจะตรงยิ่งกว่าคำนี้อีกแล้ว เมื่อพูดถึงพฤกษาโบราณสองสายพันธุ์

เพียงชั่วข้ามคืน จากพืชต้องห้ามตามกฎหมายกลายเป็นไม้ป็อปปูลาร์ที่ทุกคนให้ความสนใจ

ได้ผลิใบอยู่ในสถานที่ราชการ มหาวิทยาลัย จนถึงในโรงพยาบาลของรัฐ

จากที่เคยต้องหลบเร้นอยู่ตามซอกเขาดงลึก ก็ได้ออกมาปรากฏตัวในห้างใหญ่หรูหรากลางเมืองหลวง

ก็ควรเป็นเช่นนั้น เพราะโดยหลักฐานก็ชัดเจนอยู่ว่าพืชพรรณสองสายพันธุ์นี้ผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตผู้คนตั้งแต่เกิดจนถึงหลังความตายมานานนับพันนับหมื่นปี

ทั้งในมิติยา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม พิธีกรรม สังคม และการสังสรรค์ 

“กัญชา” เป็นชื่อแรกในคัมภีร์เซนต์อเวสตะ ที่รวบรวมรายชื่อยาสมุนไพรหมื่นชนิด และชาวโซโรอัสเตอร์โบราณยังเผาน้ำมันกัญชาในพิธีบูชาไฟ ใช้ในพิธีสูติกรรม ทำน้ำมันศักดิ์สิทธิ์เจิมหน้าผากในพิธีเข้ารีต  ส่วนในตำราศาสนาของชาวยิวบอกว่า กัญชาเป็นพืชชนิดแรกที่ปลูกบนหลุมศพของกษัตริย์โซโลมอน และคำว่า hemp ถูกเขียนไว้ในดิกชันนารีภาษาอังกฤษตั้งแต่ ค.ศ. ๑๐๐๐

ส่วนหลักฐานทางโบราณคดีก็มีว่า การขุดค้นหลุมศพชาวไซเทียน ชนเผ่าเร่ร่อนที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่แถบเทือกเขาเทียนซาน ในยุโรปเหนือยุค ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล พบถุงหนังใส่เมล็ดกัญชาในหม้อบรรจุเครื่องหอมที่วางข้างศพ ซึ่งประเพณีนี้ใช้กับหลุมศพกษัตริย์ด้วย นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าชนกลุ่มนี้นำกัญชาจากตะวันออกกลางไปยังยุโรป

ส่วนเทคนิคการผลิตกระดาษจากกัญชาเริ่มต้นจากจีน ในรัชสมัยองค์จักรพรรดิเสินหนง แล้วแพร่ไปยังอาหรับ และข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปถึงยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ถูกใช้เป็นกระดาษพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ และใช้อยู่ไม่น้อยกว่า ๗๕๐ ปี

ส่วนกระท่อมเป็นไม้เฉพาะถิ่น ไม่สากลอย่างกัญชา แต่จากความต่อเนื่องของการใช้ก็ย้อนให้เห็นได้ว่ามีมาแต่ครั้งบรรพชน อย่างการใช้เป็นหนึ่งในเครื่องเซ่นไหว้ “ครูหมอเหล็ก” ของคนตีเหล็ก ไหว้บรรพบุรุษ พระภูมิเจ้าที่ และยังพบเห็นการใช้อยู่ทั่วไปในหมู่บ้านชนบทแถบภาคใต้ โดยเฉพาะในแง่ของการใช้ชูกำลัง ให้ทำงานกลางแจ้งได้แข็งขัน ทนแดดทนเมื่อยได้ดี แม้ว่าต้องคอย “หย็อบนาย” ในช่วงหลัง

นับตั้งแต่มีคนกลุ่มหนึ่งบอกว่า “กระท่อม” เป็นยาเสพติดต้องห้าม เช่นเดียวกับกัญชาที่ถูกตีตราตามกระแสโลกมาก่อนแล้ว

เกือบร้อยปีผ่าน แล้วจู่ ๆ เพียงชั่วข้ามคืนเหมือนตื่นจากยุคมืด  คนคุมกฎบอกว่าพฤกษานี้เป็นยา คนทั้งประเทศจึงได้กลับมารู้จักหน้าตาต้นกัญชา ได้เห็นผู้ประกาศข่าวนั่งเคี้ยวใบกระท่อมออกทีวี หรือใครจะหาบใบกระท่อมต้นกระท่อมไปขายในตลาด ตำรวจก็ไม่ว่าอะไรแล้ว

กว่าครึ่งค่อนศตวรรษที่ถูกทำให้สูญหาย กระท่อม-กัญชาได้กลับมาอยู่ “บนดิน” เป็นที่ตื่นเต้นกันไปกว้างไกล โดยเฉพาะในแง่การใช้เป็นยา ทั้งในตำรับโอสถแผนไทยและแผนปัจจุบัน เกิดกระแสกระท่อม-กัญชาฟีเวอร์  มีคนยอมปลูกกัญชาส่งช่อดอกให้รัฐฟรี ๆ เพื่อได้ส่วนที่เป็นใบ ราก ต้น ซึ่งพ้นจากความเป็นยาเสพติดก่อน ซื้อขายกันกิโลกรัมละเป็นหมื่น ๆ บาทในช่วงแรก และจนเดี๋ยวนี้ก็ยังมีเกษตรกรเข้าคิวรอขอปลูกอยู่อีกมาก  กัญชาได้ผลิใบอย่างเสรีอีกครั้ง  ขณะที่ทางภาคใต้บางพื้นที่มีการล้มสวนยางเพื่อลงกล้ากระท่อมแทนกันบ้างแล้ว ด้วยตอนนี้ใบกระท่อมสดราคาดีกว่าน้ำยางเป็น ๑๐ เท่า

เป็นความตื่นตัวระลอกใหญ่ในการเข้าสู่ยุคฟื้นฟูภูมิปัญญาด้านยาและอาหารจากพืชพรรณท้องถิ่น อันเป็นการก้าวไปพร้อมกระแสโลกที่ตื่นตัวเรื่องยากัญชาและกระท่อมอยู่รอบด้านมาก่อนแล้ว

จากนี้ยาและอาหารส่วนหนึ่งในประเทศจะไม่ใช่สารเคมีนำเข้าอีกต่อไป แต่ได้มาจากสวนของเราเอง

การปลดโซ่ตรวนจากกระท่อม-กัญชา นับได้ว่าเป็นก้าวแรกของ “วันนี้ที่รอคอย” ของคน “สายเขียว” ที่รักในยาและอาหารจากธรรมชาติ
* เพลง “บุพเพสันนิวาส” แต่งโดย สุรัฐ พุกกะเวส  สุนทราภรณ์ขับร้อง
Image
ชาวบ้านส่วนใหญ่กินเพื่อการทำงาน รักษาโรค และสังสรรค์ เหมือนการดื่มกาแฟของคนเมืองโดยทั่วไป เคี้ยวทีละใบสองใบหรือสามใบ แล้วดื่มน้ำตาม ที่เรียกว่าหวนท่อม 
ยอดอ่อนและใบเพสลาดกระท่อม เส้นใบจะเป็นสีแดง การเก็บมาใช้ให้เว้นสี่ใบบนเอาไว้ถัดลงมาจากนั้นใช้ได้ทั้งหมด
จากไม้ที่คนไม่มีโอกาสได้รู้จักมาหลายสิบปี กระท่อมกลายเป็นไม้ที่บูมที่สุดในตอนนี้ก็ว่าได้ ด้วยสารไมทราไจนีนที่อยู่ในใบมีสรรพคุณทางยาที่ชุมชนใช้กันมานาน และมีแนวโน้มจะเป็นที่ต้องการของตลาดโลก เกิดกระแสตื่นกระท่อมไปทั่วประเทศ  ทั้งการเพาะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดแบบพื้นบ้านดั้งเดิม จนถึงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในศูนย์ขยายพันธุ์พืชของราชการ ด้วยความหวังว่ากระท่อมจะเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศ  ประมาณกันว่าตอนนี้ในไทยมีต้นกล้าพร้อมปลูกอยู่ราว ๑๐ ล้านต้น ทำให้ราคาเริ่มลดจากช่วงหลังปลดล็อกใหม่ ๆ ราว ๑๐ เท่า
Image
Image
Image
Image
๑  ท่อมทอล์ก
“ไอ้หรั่งเห้อ 
มึงไม่รู้จักของดีเมืองไทยซะแล้ว”

หนุ่มใต้หนวดโค้ง ใส่เสื้อกั๊กแบบคนขับวินมอเตอร์ไซค์ เล่าผ่านคลิปติ๊กต็อกว่า เขานั่งกินใบกระท่อมอยู่หน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ฝรั่งผ่านมาเจอก็ยื่นแบงก์ร้อยให้สามใบ เขาปฏิเสธ แต่ฝรั่งยังให้ภรรยาที่เป็นคนไทยเอาเงินมาให้เขาอีก

เขางง “เอามาให้ผมทำไม”

เมียฝรั่งบอกว่าให้ไปซื้อข้าวกิน ฝรั่งเห็นหนุ่มนั่งกินใบไม้แล้วสงสาร

เจ้าของเรื่องเล่าถึงรำพึงแบบเย้ย ๆ ว่า ฝรั่งใจบุญไม่รู้จักของดีเมืองไทยเสียแล้ว

อาจเป็นเรื่องเล่าเล่นขำ ๆ เรียกยอดไลก์ยอดยิ้มในโลกออนไลน์ แต่ก็สะท้อนบรรยากาศหลังปลดล็อกกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดได้ดี

ไม่เพียงด้านการกิน ใช้ แต่รวมถึงการซื้อ ขาย เผยแพร่ด้วย

หลังวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๔ ที่ประกาศปลดล็อก วันรุ่งขึ้นก็มีใบกระท่อมวางขายเกลื่อนริมทาง ซื้อหามากินใช้กันได้อย่างเสรีไม่ต้องซ่อนเร้นกันอย่างที่เป็นมาหลายสิบปี จะนับว่านี่เป็นการผ่านพ้นยุคมืดของพืชท้องถิ่นต้นหนึ่งก็ว่าได้

กระท่อมหรือที่คนใต้เรียก “ท่อม” อยู่คู่มากับชุมชนท้องถิ่นใต้ พบได้ทั่ว ถ้าเอ่ยปากถาม ชาวบ้านท้องถิ่นใต้เล่าได้ทุกคน

แขกเหรื่อมาเยือนบ้านก็วางเคียงกันไว้ในเชี่ยนหมากพลู

ยามมีการงานที่ต้องระดมญาติมิตรมาลงแรงช่วยกันก็ต้องมีไว้เป็นกระสอบ แขวนไว้ใต้หลังคาโรงครัวหรือตามมุมเสา ให้คนมาช่วยงานหยิบกินได้ตลอดเวลา ช่วงที่ต้นกระท่อมถูกกวาดล้างตัดโค่น ใบกระท่อมหายากกิโลกรัมละเป็นพัน เจ้าภาพก็ต้องลงทุน

ที่กินเป็นยาก็เล่าขานกันมานาน กินให้ทำงานกลางแจ้งได้ยาวนาน เป็นยาสามัญประจำบ้านมาแต่ครั้งโบราณที่โรงพยาบาลอยู่ไกลและการเดินทางยังไม่สะดวก กินแก้ปวดท้อง กินควบคุมน้ำตาล และที่รู้กันโดยทั่วไปในวงกว้างคือเป็นยาแก้ไอ

รวมทั้งนับได้ว่ากระท่อมเป็นใบไม้ที่เชื่อมความสัมพันธ์ของคนท้องถิ่น ที่นำมาใช้กินด้วยกันยามมีการพบหน้าสมาคมกัน

จุดชุมนุมอาจอยู่ตามศาลาหน้าบ้านที่มีกระท่อมต้นใหญ่ บ้านหมอยาพื้นบ้าน บ้านผู้นำตามธรรมชาติ ร้านกาแฟในหมู่บ้าน ศาลาประชาคมหรือที่ทำการของกลุ่มชุมชน ซึ่งจุดนั้นต้องมีกาหรือกระติกน้ำร้อนใบใหญ่ ๆ ด้วย เคี้ยวกระท่อมแล้วต้องหวนน้ำหรือดื่มน้ำตาม

“กินท่อมเพื่อทำงาน กินมานาน ราคาถูกกว่าอย่างอื่น คนกินท่อมนี้ดีกว่าพวกกินเหล้า สูบยา  คนกินท่อมไม่เคยรบกับใคร กินแล้วก็ไปทำงาน”

ชาวบ้านที่ใช้ใบกระท่อม ส่วนใหญ่กินเพื่อการทำงาน รักษาโรคและสังสรรค์ เหมือนการดื่มกาแฟของคนเมืองโดยทั่วไป

เคี้ยวทีละใบสองใบหรือสามใบแล้วดื่มน้ำตาม ที่เรียกว่าหวนท่อม หรือบางทีดื่มชา กาแฟ หรือน้ำอุ่นตามก็ได้

คนใต้จึงมักไปนั่ง “กินท่อม” กันที่ร้านน้ำชาในหมู่บ้านหรือที่พบปะอย่างสนามวัวชน สนามไก่ชน ซึ่งเมื่อก่อนจะมีกระท่อมจัดเตรียมไว้ให้ แต่ช่วงหลังมานี้เมื่อทางการเข้มงวดสั่งตัดโค่นต้นกระท่อม ใบกระท่อมราคาแพงและหายาก คน “กินท่อม” ต้องหาพกพากันมาเองและใส่กระเป๋าไว้กินช่วงทำงาน

“ได้เคี้ยวท่อมหวนน้ำแล้วอารมณ์ดี ไม่เครียด อยากทำงาน” คน “กินท่อม” บรรยายความกระปรี้กระเปร่า หลังได้เคี้ยวใบไม้ชูกำลังประจำถิ่น

จะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเรื่องงาน การเมือง ครอบครัว หรือขอความช่วยเหลือกันเรื่องใดก็ง่ายขึ้น ได้มิตรภาพด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการดื่มกินอื่น ๆ

และโดยเฉพาะเป็นที่รู้กันว่าแทบไม่เคยมีเหตุการณ์ทะเลาะวิวาททำร้ายกันในวงกินกระท่อม ไม่เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนนหรือไปก่อเรื่องต่อที่ไหน มีแต่มุ่งไปทางจะทำงาน ดังในวรรคท้ายในบทร้อยกรองท้องถิ่นที่ร้องว่า

“...หาบคอนยกให้ฉาน”
Image
ไม้กระท่อมเหมือนต้นยาประจำบ้านของคนใต้ เก็บใบไปกินเป็นยาชูกำลัง ตอนออกไปทำงาน และใช้เป็นยารักษาโรคหลายอย่าง  เป็นไม้ใหญ่ โตไว  พุ่มสูง เจ้าของต้องคอย “บั่นโด” หรือรานยอดคุมความสูง หรือไม่ก็ต่อนั่งร้านขึ้นไปตามความสูงของต้น เพื่อให้ขึ้นเก็บใบได้สะดวก
Image
๒ หวนท่อม
...หรือลืมคนจน ลืมคนเคยนั่งห่อต้ม ลืมคนหวนท่อม ขันน้ำจากมือกานดา...*

“กินมาแต่ปู่ย่าตาทวด กินกันมานานแล้วตั้งแต่ตั้งฟ้าตั้งดิน”

ความยาวนานของการใช้กระท่อมของชาวบ้านปักษ์ใต้ ตามคำเปรียบเปรยของ จำเนียร พลอยดำ ชาวบ้านไผ่รอบ อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง

เขา “กินท่อม” มาตั้งแต่อายุ ๑๘ ปี ตอนนี้อายุ ๗๐ แล้วยังกินทุกวัน ไม่ได้นับว่าวันละกี่ใบ “เหล้าไม่กิน ยาไม่สูบ กินแต่หมากกับท่อม”

“จูงวัวไปส่งวัวให้พ่อไถนา ๓-๔ กิโลเมตร ท่อมหมด พ่อว่าไปขึ้นท่อมให้พ่อหน่อย เรากินด้วยสิทีนี้ ลักกินพ่อใช่รู้”

กินมาตั้งแต่วัยรุ่นจนมีครอบครัว

“ตอนได้เมีย วันไหว้เมียใช่รู้ ผมพาท่อมไปกันเข้าห้องเจ้าสาว  กินทุกวัน ๆ ทำงานทุกวัน ๆ  ไม่กี่ปีมานี้ไปร่วมงานพิธีใหญ่ที่สนามหลวง ผมก็พกไปด้วย ตอนนั้นยังไม่ปลดล็อก”

ทำไมต้องกิน ?

“คนแต่แรกเขากินกันมา” จำเนียรอ้างถึงคนสมัยก่อนอีกครั้ง “ทำนาทำไร่ ฟันไม้ถางป่า หวนท่อมแล้วลงไปถางได้ทั้งวัน  เรากินแลมั่ง อยู่ไม่ติดเลย พล้ำแต่จะทำงาน หักนา หักไร่ ดินไร่หนึ่งจวกราว ๙ วัน ขุดตอขึ้นหมด”

“ร่องสวนยาง ๑๑ ร่องนี่ ยกกับจอบเพ หมดจอบปีละสองถึงสามเล่ม ทำด้วยแรงคน” เขาวาดมือไปยังทิวสวนหน้าบ้าน แล้วมาชี้ตัวบ้านที่นั่งอยู่ “ไม้ที่ทำเรือนหลังนี้ เลื่อยมือเพทั้งหลัง”

ข้างบ้านมีต้นกระท่อมขนาดโตกว่าโคนขาสองต้น เหลือเฟือสำหรับใช้กินเองและเผื่อเพื่อนบ้าน

“คนบ้านเรากินท่อมกันกะลุย” ในหมู่บ้านมีคนกินท่อมจำนวนมาก แต่บางคนไม่ได้ปลูกเองที่บ้าน “บางบ้านปลูกไม่ได้ เด็กลักหมด ของลุงไม่หาญ”

ช่วงเย็น ๆ จนถึงหัวค่ำหรือตามแต่นัด บ้านที่มีต้นกระท่อมจึงมักเป็นที่รวมคน “กินท่อม”

“มานั่งกินกัน น้ำร้อนหมดไปเป็นติก ๆ”

ในแต่ละชุมชนมักมีจุดชุมนุมของคน “กินท่อม” จะโดยนัดหมายหรือไม่ต้องนัดหมาย ผู้ใช้กระท่อมแถวบ้านทับชุมเห็ด มักมารวมกันที่ชมรมหมอพื้นบ้านและแพทย์แผนไทย อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง  คุยเล่น คุยงาน ติดตามสถานการณ์เรื่องหมอพื้นบ้านและยาสมุนไพร ใครได้ความรู้หรือยาใหม่ ๆ ก็นำมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน บางคนก็ถืองานติดมือมาทำด้วย

สายวันต้นปี ๒๕๖๕ หมอเผด็จ ศรีนวลขาว แพทย์แผนไทยประจำสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา นวมินทราชินี บ้านควนปอม มากับโหลยาดองสองสูตรที่มีกระท่อมและกัญชาเป็นตัวยาหลัก

“สำหรับบุรุษ ใช้ใบท่อม ต้นกัญชา ว่านชักมดลูก สมุล-แว้ง ดองด้วยเหล้า ๑ ขวด น้ำผึ้งรวง ๑ ขวด ในโหลจุ ๓ ลิตร ผู้ชายดื่มกลางวันจะตื่นตัว บำรุงกำลัง เลือดลม  ส่วนสูตรสตรี เข้ารากกัญชา รากสามสิบ ว่านชักมดลูก กินก่อนนอน ๓๐ ซีซี คือ ๑ เป๊ก ดีสำหรับเลือดลมผู้หญิง ปรับสมดุล”

เช่นเดียวกับหมอศุภชัย หมัดหลี หมอพื้นบ้านที่ได้เกียรติบัตรรับรองให้ปรุงยากัญชาเมื่อ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ มากับโหลกัญชาทั้งห้า ดองน้ำผึ้ง

หมอสมคิด ช่วยนุกูล ประธานชมรมหมอพื้นบ้านฯ อำเภอป่าบอน ต้มน้ำกระท่อมและตัวยาอื่นไว้ให้แช่เท้า และมีใบกัญชาสดไว้ต้อนรับแขกเหรื่อเต็มตะกร้าต้นกระจูด

“ผมเป็นหมอพื้นบ้านมา ๑๐ กว่าปี สืบทอดวิชานวดจากพ่อ  ปู่ของพ่อก็เป็นหมอนวดหมอยาสมุนไพร  พ่อเรียนจากปู่ เราสอนให้ลูก ซึ่งตอนนี้เขาเรียนต่อการแพทย์แผนไทย เขาบอกว่าถ้าได้ใบประกอบวิชาชีพ ไปต่อยอดได้มากกว่าหมอ พื้นบ้านที่สืบทอดจากทวดมาพ่อ มาถึงผม ผมสอนลูก และตอนนี้ผมสอนให้หลานด้วยแล้ว”

“ผมสอนให้ตั้งแต่รุ่นพ่อ” วิสุทธิ์ ช่วยนุกูล เป็นพ่อของหมอสมคิด ตอนนี้เขาอายุ ๗๐ แล้ว ยังสอนต่อให้รุ่นเหลนวัย ๙ ขวบด้วย ทั้งเรื่องยาสมุนไพรและการนวด

และผู้เฒ่ายังมีฝีมือด้านงานไม้ด้วย ทั้งกระดึงแขวนคอวัวจากไม้ขนุน ด้ามจับเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องมือการเกษตร ไม้เท้าที่เด่นเด็ดด้วยไม้คนทีดำ ซึ่งเป็นสมุนไพรแก้ปวดเมื่อยได้ดีเช่นเดียวกับกระท่อม
* เพลง “อีสาระภา” มาลีฮวนน่าขับร้อง 
แต่งโดย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

ป้ายบาร์โค้ดที่ชาวบ้านเรียก “ปลอกคอ” เป็นการลงทะเบียนต้นกระท่อมในชุมชนนำร่องศึกษาวิจัยการใช้กระท่อมในวิถีชุมชน ที่เป็นต้นทางนำมาสู่การปลดล็อกกระท่อมจากความเป็นพืชเสพติด (๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๔)
Image
 ที่อำเภอคลองท่อม กระบี่ เริ่มปลูกกระท่อมเป็นต้นไม้ประจำเมือง บนเกาะกลางถนนเพชรเกษม มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
ภาพ : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
กระท่อมเป็นยาชูกำลังที่ช่วยกระตุ้นให้ออกไปทำงานกลางแจ้ง เสริมแรงการทำงานหนักในไร่นา ในสวน จนถึงกลางทะเล  ฤทธิ์ที่ว่าเป็นยาเสพติดเทียบไม่ได้กับเหล้า ฝิ่น  ตามข้างบ้านเรือนคนใต้จึงพบเห็นต้นกระท่อมได้ทั่วไป
Image
“พอถูกกฎหมาย ผู้หญิงก็กินเพื่อรักษาเบาหวาน” หมอผู้เฒ่าเล่าถึงยากระท่อมในตอนนี้

แต่ตัวเขาเองบอกว่ากินมา ๓๐ กว่าปีแล้ว ตั้งแต่อยู่ในวัยใช้แรงทำงานหนัก

“แบกไม้ยางขอนเท่าสุ่ม เพื่อนสองคนยกให้ ผมแบกขึ้นไปดับ (ภาษาใต้ = จัดเรียง) บนรถ  ยาบ้าไม่รู้จัก ยาชูกำลัง อย่างอื่นไม่เคยสนใจ มีแต่ท่อมต้นเดียวที่บ้าน  ตอนกวาดจับกระท่อมหนัก ๆ นาย (เจ้าหน้าที่) มาโค่น มันงอกใหม่ เดือน ๗ ปีนี้ก็ ๗๐ ปีเต็ม ผมยังกินวันละราวขีด ครั้งละสองถึงสามใบ ตามขนาดใบ”

“ผมกินตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี นี่ ๘๐ แล้วยังกิน” ผู้เฒ่าอีกคนพูดจากอ่างแช่เท้าน้ำสมุนไพร

“กินแรกอายุ ๒๓ ตอนนี้ ๖๐ กว่าแล้ว รูดกินเลย บางทีเด็ดแต่หัวออก ใส่ปากเคี้ยวแล้วคาย” คนอง สลับทอง ว่าพลางสาธิตการกินท่อมตามแบบของเขาให้ดูด้วย แล้วชี้ไปที่เชี่ยนท่อมที่มีอยู่ราว ๓๐ ใบ “เท่านี้กินได้ฮายหนึ่ง กินแล้วหวนน้ำ  น้ำเย็นน้ำใส่น้ำแข็งผมไม่กินเลย กินน้ำธรรมชาติดีกว่า มันสดชื่น  ไปนาแต่แรกถือท่อมไปถุงหนึ่ง น้ำในนาใช้มือป้อง ๆ ป่าย ๆ ทำบ่อก็กินได้แล้ว  ฟันหัวนาเคี้ยวท่อมไปพลาง เคี้ยวตลอดทั้งวันทำงานไม่เหนื่อยไม่ร้อน” 

“กลัวฝนไหม”

“ไม่เป็นความจริง อาจเป็นบางคน แต่ผมหาญท้าเลย ถางสวนกลางฝน ๓ ชั่วโมง ผมสู้”

ช่วง ๑๐ กว่าปีมานี้ คนองละจากงานในนาในสวนหันมาให้บริการลับมีดตัดยาง

“ตี ๕ เริ่มงานแล้ว คนกรีดเสร็จเอามาตั้งไว้บนแคร่หน้าบ้าน คนมีสวนยางมากก็ครอบครัวละ ๓-๔ เล่ม ผมตื่นมาลับ ของบ้านทับชุมเห็ด นี่ผมลับวันละ ๕๐-๖๐ เล่ม  ไปเอาจากป่าบากด้วย รวมราว ๙๐ เล่มต่อวัน  ต้องมีเทคนิค ลับไม่ดี ไม่คม ผมใช้หินดี เล่มหนึ่งลับ ๕-๗ นาที ลูบแลต้องคมจนขูดผิวเล็บได้ ค่าลับ ๑๕ บาท แต่เล่มใหม่ ๆ ต้องทำหงอนเป็นชั่วโมงคิด ๕๐ บาท  ลับเสร็จเขียนชื่อติดไว้ เขียนได้งู ๆ ปลา ๆ ไม่ชับหนังสือ ถูกมั่งไม่ถูกมั่ง ช่วงเย็นเจ้าของมีดมารับคืน”

ไม่ได้ตัดยาง ทำนา หันมาทำงานในร่ม แต่คนองยัง “กินท่อม”

“กินมาตั้งแต่ได้ลูกคนแรก ตอนนี้เธออายุ ๓๐ กว่าแล้ว เขาไม่กิน เป็นลูกสาว แต่ลูกชายกิน กินท่อมตั้งแต่ยังไม่เกณฑ์ทหาร” เขาไม่ว่าอะไรที่ลูกกินท่อม แต่ขออย่าดื่ม ๔x๑๐๐

“ตอนหลังบางทีผมขี่รถไปเจอวัยรุ่นกินน้ำท่อม เด็กชวน ‘เอาสักอึกไหมตา’ ผมบอก ‘ไม่เอาลูกเหอ’ กับลูกผมก็เตือนคำเดียวว่า ‘อย่ากินน้ำท่อม รูดใบกินให้เหมือนพ่อ ลูกเอ๊ย กินแล้วทำงาน ถากหญ้า’”
คนใต้โดยเฉพาะคนสูงวัยต้มน้ำท่อมกินเหมือนน้ำชามานานแล้ว โดยเอาใบท่อมมาขยี้เหมือนคั้นใบย่านาง เติมน้ำต้มเคี่ยวด้วยไฟอ่อน ให้สรรพคุณเหมือนกินใบสด แต่สะดวกที่ไม่ต้องเคี้ยว ตอนหลังกลายเป็นของต้องห้ามเมื่อน้ำท่อมถูกวัยรุ่นนำไปปรุงแต่งเป็นเครื่องดื่ม “๔x๑๐๐” พลอยทำให้น้ำท่อมเสียชื่อไปด้วย

กล่าวกันว่าการกินท่อมที่ถูกต้องควรลอกเส้นใบออก และคายกากทิ้งเหมือนชานหมาก ถ้ากลืนอาจตกค้างสะสมเป็นก้อนแข็งในท้องที่เรียกว่า “ถุงท่อม”

Image
๓  ...ท่อมว่า
หาบคอนยกให้ฉาน

บทเต็มของคำกรองนี้บอกว่า “เหล้าว่าเอาเหวยเอาวา กัญชาว่าช้าก่อน ฝิ่นว่าคิดดูให้แน่นอน กระท่อมว่าหาบคอนยกให้ฉาน”

บอกบุคลิกฤทธิ์ของสิ่งเสพแต่ละอย่าง เหล้า-สูบฉีดเลือดขึ้นหน้าปลุกความกล้าบ้าบิ่น  กัญชา-พาไปทางอ่อนโยนใจเย็น ฝิ่น-เมานิ่งลึก  กระท่อม-กินแล้วสู้งาน

“กินท่อมไม่ไปเตะหน้าใคร ไม่ไปปีนเสาไฟฟ้า คนกินท่อมส่วนใหญ่เป็นคนใช้แรงทำงาน ตัดยาง ตัดปาล์ม” ท่อม ในคำจำกัดความของ ศุภวัฒน์ กล่อมวิเศษ แกนนำคนหนึ่งในการขับเคลื่อนงาน “น้ำพุโมเดล” ที่อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อนนำไปสู่การปลดล็อกกระท่อมสู่เสรีอย่างที่เคยเป็นมาแต่ดึกดำบรรพ์

กระทั่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ตามร้านน้ำชายังมีใบกระท่อมให้กินฟรี และมีมัดใบกระท่อมสดวางขายในตลาด เพิ่งห่างหายไปตอนเจ้าหน้าที่เข้มงวดหลังวัยรุ่นนิยมนำใบกระท่อมไปต้มเป็นเครื่องดื่ม ๔x๑๐๐ 

เชาวลิต พินิจการ ช่างตีเหล็กวัย ๔๐ ปี ยังเคยมีประสบการณ์เก็บใบกระท่อมไปขายในตลาดปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

“บ้านยายอยู่ริมคลองป่าระกำ มีต้นท่อมที่ตาปลูกไว้ ตอนราว ป. ๓ ป. ๔ ก่อนไปโรงเรียนผมต้องขึ้นท่อมมามัดเป็นกำ กำหนึ่งมีสี่มัดหรือที่เราเรียกว่าแบ้ แบ้ละราว ๑๐ ใบ ส่งให้แม่ค้าตลาดปากพนังขายให้ตังเกเรืออวน กรรมกร สมัยก่อนถูกมาก กำละ ๔-๕ บาท ถือเป็นรายได้เสริม เป็นวิถีชีวิตทุกวัน จนท่อมมาถูกโค่นช่วงราว ๑๐ ปีก่อน ที่เขาปราบหนัก ๆ
ตอนวัยรุ่นเอาไปต้มน้ำท่อม ๔x๑๐๐”

กระท่อมถือเป็นใบไม้ที่มีบทบาทหน้าที่ทางสังคมวัฒนธรรมของท้องถิ่นใต้ เป็นยาชูกำลังของท้องถิ่นที่ช่วยกระตุ้นให้ออกไปทำงานกลางแจ้ง เสริมแรงการทำงานหนักในไร่นา ในสวน จนถึงเรืออวนกลางทะเล

ใช้เป็นยารักษาโรค เป็นของกินขบเคี้ยวสังสรรค์กับเพื่อนฝูง และต้อนรับแขกที่มาเยือน นับเป็นใบไม้ทางวัฒนธรรมที่ช่วยสานความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม ทั้งในงานประเพณี งานบวช งานแต่ง งานศพ ตามลานกีฬาพื้นบ้าน สนามวัวชน ชนไก่ เซ่นไหว้เจ้าที่ ไหว้ครูหมอ บรรพบุรุษ บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฤทธิ์ที่ว่าเป็นยาเสพติดเทียบไม่ได้กับเหล้า ฝิ่น  ตามข้างบ้านเรือนคนใต้จึงพบเห็นต้นกระท่อมได้ทั่วไป จนถึงแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กระท่อม ในทางวิชาการพฤกษศาสตร์ระบุว่าเป็นพืชวงศ์เดียวกับกาแฟ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. วงศ์ Rubiaceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง  สูงได้ถึง ๓๐ เมตรหรือมากกว่า ลำต้นตรง เปลือกต้นสีเทา
ใบเดี่ยวรูปไข่ เรียงเป็นคู่ตรงกันข้าม  โคนใบป้าน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบลื่น แผ่นใบบาง ด้านท้องใบมีเส้นใบเป็นสันเห็นได้ชัดเจน และมีเส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๕ เส้น ที่เส้นใบเป็นสีแดงเรียกชนิดก้านแดง เส้นใบสีเขียวเรียกชนิดก้านเขียว บางชนิดปลายใบเป็นหยักเรียกหางกั้ง ใบมีขนาดสองถึงสามนิ้วมือหรือเท่าฝ่ามือ แตกต่างกันในแต่ละพื้นถิ่น ออกดอกที่ปลายกิ่ง ดอกเป็นช่อกระจุกแน่นทรงกลม เมื่อแรกบานมีสีขาวนวลแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ เป็นชนิดดอกสมบูรณ์เพศ ผลทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ เซนติเมตร ภายในผลย่อยมีเมล็ดประมาณ ๑๕๐ เมล็ด มีปีกบาง ๆ ปลิวไปได้ไกลตามแรงลม และสามารถแขวนลอยไปกับน้ำได้ง่าย จึงมักพบต้นกระท่อมได้ง่ายตามริมคลองต้นน้ำและที่ชื้นแฉะ ในร่องสวน ทุ่งนา และในป่าธรรมชาติในแถบคาบสมุทรมลายู มาเลเซีย เกาะบอร์เนียว สุมาตรา นิวกินี และฟิลิปปินส์ 
Image
กระท่อมใกล้ชิดอยู่ในวิถีชีวิตคนใต้เหมือนหมากพลู กล่าวกันว่าเห็นเชี่ยนหมากก็เห็นท่อม เป็นของขบเคี้ยวรับแขก เชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชน
ไม้ที่มีใบรสขม ฝาด มัน ถูกปากคนขยันการงาน มีชื่อเรียกขานหลายนามในแต่ละท้องถิ่น ทางภาคใต้เรียกท่อม ภาคกลางเรียกกระท่อม อีถ่าง  มาเลย์เรียกเบี๊ยะ (biak) หรือเคอตุ่ม (ketum) หรือเซบัต (sepat)  ฝรั่งเรียกทับศัพท์ไทยว่า kratom

เป็นใบไม้ที่ชาวบ้านเคยคุ้น ใช้กันอยู่ในวิถีชีวิตอย่างเสรีมายาวนาน โดยยังไม่เคยถูกควบคุมโดยรัฐ และไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย แต่อาจเพราะขวางทางหารายได้ของรัฐ กระท่อมจึงถูกบัญญัติให้เป็นยาเสพติด ซึ่งไทยถือเป็นประเทศแรกในโลกที่กำหนดให้กระท่อมเป็นยาเสพติดครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๘๖ โดยที่ในขณะนั้นกระท่อมยังไม่ได้อยู่ในกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ หรือเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ถูกควบคุม 

ซึ่งจากเอกสารหลักฐานและสถานการณ์ในเวลานั้นล้วนชี้ว่าเป็นการออกกฎหมายเพื่อกีดกันกระท่อมที่ทำให้รัฐเสียรายได้จากการเก็บภาษีฝิ่น

จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงสงครามโลก ผู้ที่เคยเสพฝิ่นจึงหันไปใช้ใบกระท่อมซึ่งถูกกว่า ผู้ที่ขึ้นทะเบียนเสพฝิ่นไว้เข้าโรงฝิ่นน้อยลง รัฐเก็บภาษีได้น้อย จึงหันมาควบคุมการเสพกระท่อมด้วยการออกพระราชบัญญัติพืชกะท่อม พ.ศ. ๒๔๘๖ ซึ่งมีเพียงเจ็ดมาตรา

โดยให้เหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัตินี้ระบุด้วยว่า “กะท่อมเปนพรึกสชาติชนิดหนึ่ง ไบมีรสมึนเมาคล้ายฝิ่น ปรากตว่าประชาชนชาวไทยนิยมเสพกันแพร่หลายมาก การเสพไบกระท่อมเปนการไห้โทสแก่ร่างกายโดยทำไห้ผู้เสพติดและเกิดอาการมึนเมา ท้องอืด เบื่ออาหาร เปนโรคหัวไจอ่อนและโรคประสาทตื่นเต้น เพราะฉะนั้น จึ่งสมควนมีบทบัญญัติบังคับห้ามการปลูก การมีไว้ไนครอบครอง การพาเข้าและส่งออกซึ่งไบกะท่อมและส่วนต่าง ๆ ของต้นกะท่อม ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองป้องกันไห้ความปลอดพัยแก่ประชาชนไห้เกิดผลดีต่อไป”

แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลยังได้ออกประกาศขยายเวลาจดทะเบียนคนเสพฝิ่นหลายครั้ง เนื่องจากผู้มาจดทะเบียนน้อยกว่าที่ราชการคาดการณ์ไว้ 

ทั้งที่ฝิ่นมีอันตรายยิ่งกว่า แต่รัฐบาลไม่ห้ามเสพ กลับส่งเสริมทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดหา อำนวยความสะดวก และการให้สิทธิ์เสพ เนื่องจากฝิ่นสร้างรายได้ให้รัฐในทุกกระบวนการการออกพระราชบัญญัติพืชกระท่อมครั้งแรกในโลกจึงถูกมองว่าน่าจะเป็นเหตุผลด้านรายได้มากกว่าการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน หรือเหตุผลอื่น ๆ ที่กล่าวอ้างในกฎหมาย

และตอกย้ำอีกครั้งด้วยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งกระท่อมถูกจัดให้อยู่ในยาเสพติดประเภท ๕

ทั้งที่ในขณะนั้นยังไม่มีข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ยืนยันชัดเจนว่าพืชกระท่อมมีผลให้เกิดการเสพติดเท่ากับพืชฝิ่น กัญชา หรือใบโคคา
Image
ต้นกระท่อมยักษ์คู่ที่นาสาร สะท้อนลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของไม้ท้องถิ่นชนิดนี้ว่า หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จะสูงใหญ่ได้เหมือนไม้ยืนต้นทั่วไป สามารถปลูกเป็นไม้เศรษฐกิจได้
Image
๔  กระท่อมฟาร์มาซี
กระท่อมเป็นยาเสพติดประเภท ๕ ในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ เช่นเดียวกับกัญชาและฝิ่น แต่ในตำรายาโบราณบอกว่า กระท่อมกับกัญชาเป็นยาบำบัดฝิ่น

“ผมจะเล่าให้ฟัง คนหนุ่มอายุเกือบ ๓๐ แล้ว นั่งร้องไห้อยากยา เงินไม่มี ‘ผมอยากหยุด สงสารแม่ อยากบวชให้แม่’ ‘อยากหยุดจริงหรือ’ ‘จริง’ ผมผลักกระติกใส่ใบท่อมให้ ‘นี่อยากหยุดยา มึงกินเถอะ กูก็ไม่ไปไหน จะนั่งอยู่นี่แหละ’ สามใบแรกจนถึง ๑๕ ใบ น้ำมูกน้ำตาหาย เรี่ยวแรงกลับมาในช่วงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เหมือนที่ข้อมูลทางเคมีบอกว่าสารไมทราไจนีน (mitragynine) ออกฤทธิ์ตั้งแต่ ๓ นาที กระท่อมนี่เป็นตัวหยุดยาเสพติดชนิดอื่น”

ศุภวัฒน์ยืนยันจากประสบการณ์ตรงในชุมชนน้ำพุ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เขาเป็นคนหนึ่งที่ใช้กระท่อมในชีวิตประจำวันมาตั้งแต่หนุ่ม จนชราฟันฟางเหลือไม่ครบ เคี้ยวไม่คล่อง ต้องหันมาตำด้วยตะบันที่ใช้ตำหมาก หรือบางทีก็ใช้ “บอกบิด” ขยี้ใบกระท่อมให้แหลกก่อนใส่ปากคราวละ ๓ ใบ วันละไม่เกิน ๓๐ ใบ ตามเกณฑ์ประมาณการใช้ในแต่ละคนต่อวันที่ระบุในธรรมนูญชุมชน ซึ่งเขามีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานมาตั้งแต่ต้นเมื่อปี ๒๕๕๙ หลังจากนั้นเขายังคงร่วมขับเคลื่อนเรื่องกระท่อมต่อมา โดยทำงานทั้งกับเยาวชนในท้องถิ่นและนักวิชาการมหาวิทยาลัย ในประเด็นเกี่ยวกับการใช้กระท่อมอย่างปลอดภัยและสอดคล้องกับความสงบสุขของชุมชน 

เรื่องเล่าจากประสบการณ์ส่วนตัวของศุภวัฒน์เป็นข้อมูลเชิงมุขปาฐะที่ผู้อ่านสามารถใช้วิจารณญาณในการรับฟัง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการที่ผ่านการทบทวนวรรณกรรม การปริวรรตตำรายาโบราณ รวมทั้งงานศึกษาวิจัยสมัยใหม่ก็พบว่ากระท่อมเป็นยาถอนยาเสพติดอื่นได้

อย่างยาทำให้คนอดฝิ่น ใน คัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ เล่ม ๓ ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) ระบุให้เอาขี้ยา ๒ สลึง เถาวัลย์เปรียงพอประมาณ กัญชาครึ่งกำ ใบกระท่อมเอาให้มากกว่า ยาอย่างอื่น ต้มกิน ให้กินตามเวลาที่เคยสูบฝิ่น เมื่อกินไป ๑ ถ้วย ให้เติมน้ำ ๑ ถ้วย ให้ทำดังนี้ จนกว่ายาจะจืด เมื่อกินจนน้ำจืดแล้วยังไม่หาย ให้ต้มกินหม้อใหม่ต่อไป

ในตำรับยาแผนโบราณฉบับเดียวกันนี้ ยังระบุถึงสรรพคุณของกระท่อมอีกหลายขนาน ในกลุ่มโรคบิด โรคท้องร่วง

ยาหนุมานจองถนนปิดมหาสมุทร ใช้ใบกระท่อม ใบกระพังโหม ใบทับทิม ใบสะแก เบญกานี ผลกล้วยตีบ ลูกทับทิมอ่อน ชันย้อย ดินกิน กระเทียมกรอบ บดละลายน้ำเปลือกต้นคาง แก้ท้องร่วงอย่างแรง

ยาแก้บิดลงเป็นเลือด ใช้ใบกระท่อม ขมิ้นอ้อย ไพล เมล็ดผักกาด กระพังโหมทั้ง ๒ ตำใส่กระบอกไม้ไผ่สีสุก เอาสุราเป็นน้ำหลามแทรกฝิ่นกิน แก้บิด

ยาแก้บิดหัวลูก ใบกระท่อม ใบพลู ๓ ใบ ใบไม้ทั้งสองปิ้งให้เกรียม กระเทียมสุกบด แทรกฝิ่น  ละลายน้ำปูนใส น้ำกระชายกิน แก้บิด

เช่นเดียวกับรายงานการวิจัยเมื่อปี ๒๕๔๘ เกี่ยวกับภูมิปัญญาการใช้กระท่อมเป็นยาของหมอพื้นบ้านภาคใต้ ๑๔ จังหวัด ที่มีประสบการณ์ใช้สมุนไพรกระท่อมมาเกิน ๑๐ ปีที่ จุไรทิพย์ หวังสินทวีกุล และ ดาริกา ใสงาม อ้างไว้ใน “บริบทของพืชกระท่อมกับการแพทย์แผนไทย” รายงานถึงร้อยละของโรคที่หมอพื้นบ้านภาคใต้เลือกใช้พืชกระท่อมมาเป็นยารักษาห้าอันดับแรก คือ โรคท้องร่วง ร้อยละ ๖๗.๔  โรคเบาหวาน ร้อยละ ๖๓.๓  โรคปวดเมื่อย ร้อยละ ๓๒.๗ แก้ไอ ร้อยละ ๒๖.๕  ขับพยาธิ แก้ปวดท้อง นอนไม่หลับ ร้อยละ ๑๔

โดยใช้ทั้งการเคี้ยวกินใบสด และใช้ใบ กิ่ง เปลือกต้น ราก เนื้อไม้ หรือใช้ต้นกระท่อมต้นเล็ก สับใส่หม้อต้มน้ำกิน

ที่น่าสนใจมากคือการใช้กระท่อมในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งบางตำรับใช้กระท่อมเพียงชนิดเดียว ใช้กระท่อมทั้งห้าส่วน ต้มน้ำรับประทานครั้งละ ๓-๕ ช้อนแกง เช้า-เย็น และเคี้ยวใบวันละหนึ่งใบ นาน ๔๑ วัน
Image
ในเรื่องนี้ยังมีคำยืนยันจากคน “กินท่อม” มาเป็น ๔๐ ปี “ไปหาหมอเจาะเลือด เบาหวาน ความดันไม่มี” คนอง สลับทอง รายงานภาวะสุขภาพของตัวเองในช่วงที่เข้าสู่วัยผู้สูงอายุ “รสขมช่วยบำรุงไฟธาตุ สร้างน้ำย่อยสลายน้ำตาล รสฝาดสร้างเนื้อเยื่อ มันให้กำลัง”

และกระท่อมยังมีสรรพคุณทางยาอีกหลายอย่างที่เขารับรู้ต่อมาจากบุพการีและบรรพชน 

“ม้วนใบเป็นกรวยใส่น้ำผึ้งทรายกิน ๒ วันหาย ไม่ต้องไปหาหมอ  กับสรรพคุณทางยาโดยตรง แก้ท้องเสีย  ส่วนยอดรสเปรี้ยวนำ ช่วยระบาย แก้ท้องผูก”

เป็นการบันทึกสูตรยาสมุนไพรในรูปแบบมุขปาฐะที่มีอยู่ก่อนการแพร่หลายของกระดาษและตัวหนังสือ

ยากระท่อมในตำรับยาพื้นบ้านส่วนหนึ่งสืบต่อกันมาโดยทางนี้ อาจเพราะเป็นพืชพรรณเฉพาะแถบถิ่นใต้ ต่างจากยากัญชาที่มีลายลักษณ์อักษรชัดเจนมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและแพร่หลายกว้างไกลถึงในระดับโลก

คนเมืองหลวงคงได้ยินตำนานเรื่องไม้ขัดหม้อข้าวของชาวเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนขุดทางลัดช่วงหน้าโรงพยาบาลศิริราชถึงวัดอรุณฯ ที่เล่าว่าตามลำน้ำเจ้าพระยาสายเดิมคนเดินเรือต้องอ้อมโค้งไปไกล กินข้าวเช้าแล้วถ่อเรือไปทั้งวัน จนเย็นหยุดพักค้างแรมบนฝั่ง ติดไฟหุงข้าวก็นึกขึ้นได้ว่าลืมไม้
ขัดหม้อไว้ที่หุงข้าวตอนเช้า คนโบราณหุงข้าวด้วยหม้อดินแบบมีหูบนเตาฟืน พอข้าวเดือดต้องรินน้ำออก แล้วใช้ไม้ขัดหม้อข้าวไว้กับหูหม้อตอนเช็ดน้ำและระหว่างดงข้าวต่อไปจนสุก หุงข้าวด้วยวิธีนี้ไม่มีไม้ขัดหม้ออาจหุงไม่สุก ต้องเดินลัดป่ากลับไปเอากลับมาใช้ได้ทันก่อนหม้อข้าวเดือด ทางน้ำที่อ้อมโค้งไกลใช้เวลาถ่อเรือทั้งวัน วกกลับมาเฉียดจุดเดิมในระยะเดินไปกลับได้ในชั่วหม้อข้าวเดือด

ที่พัทลุงก็มีเรื่องเล่าคล้าย ๆ กันนี้ เพียงแต่เปลี่ยนฉากเป็น แม่น้ำสายย่อมกว่าที่ไหลจากเทือกเขาบรรทัดลงสู่ทะเลสาบสงขลา และแตกต่างกันในตอนท้ายเรื่อง แทนที่คนเรือจากแถวกงหราจะวิ่งกลับไปเอาไม้ขัดหม้อข้าวอันเดิมที่ลืมไว้เมื่อเช้า เขาเลือกตัดต้นไม้ใกล้มือแถวนั้นมาทำไม้ขัดหม้อ ไม่ต้องเดินย้อนกลับไปให้เหนื่อย

ตอนหม้อข้าวเดือดใช้ไม้ขัดหม้ออันใหม่คน ๆ ไม่ให้ข้าวสารเกาะก้นหม้อ แล้วเผลอปล่อยทิ้งค้างไว้ชั่วครู่ พอข้าวสุกเปิดฝาหม้อดู ข้าวซ้อมมือกลายเป็นสีดำเหมือนข้าวหอมนิล แต่ข้าวสารหมดแล้วไม่มีจะหุงใหม่ ความหิวทำให้ต้องลองชิมดู รสออกฝาดหน่อย ๆ แต่ก็พอกินได้ ก็ชวนกันกินแล้วพักนอนเอาแรง

เช้ามาปรากฏว่าความปวดเมื่อยอ่อนล้าจากการถ่อเรือเมื่อวันวานหายสิ้น มีกำลังวังชาดี จึงบอกต่อกันว่า ไม้เถาเลื้อยที่มีแก่นเนื้อไม้สีดำ ๆ นั้น คนหม้อทีก็ทำให้ข้าวเป็นสีดำ จึงเรียกชื่อไม้คนทีดำ มีสรรพคุณดีในทางบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย

องค์ความรู้และการใช้กระท่อมที่ต่อเนื่องกันมาในวิถีชีวิตชาวใต้ ส่วนหนึ่งก็บันทึกกันมาในรูปแบบนี้ ซึ่งต่อมาบางส่วนก็ได้รับการบันทึกเป็นตัวอักษรด้วย

“ในบุดดำ หนังสือที่พับไปพับมา ก็บอกไว้ว่ามียาประสะกระท่อมด้วย เขาถอดออกมาอยู่ใน แพทยศาสตร์สงเคราะห์” ผู้เฒ่าอ้างถึงตำราโบราณ “แล้วเขามาสรุปว่าผิดกฎหมาย ว่าท่อมร้าย ท่อมไม่ดี รู้ไหมเขาหลอกให้เราทิ้ง พอเราทิ้งเขาเอาทันที เขาแย่งชิงกันอยู่”

ยาเข้ากระท่อมตามความรู้ของหมอจำเนียร พลอยดำ ว่าเป็นยาแก้ปวดเมื่อย แก้ท้องร่วง “ใช้สี่ตัวยา ท่อม-เหมือนกัน แก้เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ เครียดเหนื่อย ไม่มีแรง ไม้กระดูกไก่
-แก้ปวดเมื่อย  ทำเสา-ใช้ยอดทุกส่วน ถ้าท้องผูกใส่ขี้เหล็ก-ช่วยขับถ่าย  นี่ต้องรู้ ไม่ใช่กินเว้อกินวา”

ใบกระท่อมยังเข้ายาอีกสารพัด

“เด็กนอนไม่หลับ เคี้ยวท่อมโปะกระหม่อมให้  ท่อมใบเดียวม้วนกรวยใส่น้ำตาลทรายแดงกินแก้ไอ นี่รู้มาก่อนเรียนแพทย์แผนไทย เขาบอกต่อ ๆ กันมา”

ตอนนี้จำเนียรถือเป็นหมอพื้นบ้านเต็มตัวและถูกกฎหมาย นับแต่ได้รับใบรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข เขาเล่าถึงเรื่องนี้ตามประสาคนร่ำรวยอารมณ์ขันว่า ถ้าใครจะเรียกเขาว่าหมอ ก็ขอให้ตามด้วยชื่อจริง อย่าได้เรียกหมอเนียนเพราะคำนี้ในภาษาใต้หมายถึงพัง แหลก

สรรพคุณสำคัญที่สุดของกระท่อมที่หมอจำเนียรรู้และยังใช้อยู่ทุกวัน

“ท่อมเป็นยาขยัน แต่อยู่มา ๆ ไปเข้าข่ายยาม้า เท่านั้นผมก็วิบมากแล้ว”