หลากมุมมองคดี "พระพิมลธรรม"

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
“วงการสงฆ์รู้จัก
พระพิมลธรรม (อาจ) 
ในฐานะผู้บุกเบิก”

พระเทพปวรเมธี, รศ.ดร.
รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) 

Image
“ในวงการสงฆ์รู้จักพระพิมลธรรม (อาจ) ในฐานะผู้บุกเบิก ผู้วางรากฐานการศึกษาคณะสงฆ์ บทบาทของท่านกับ มจร และวัดมหาธาตุฯ เด่นมาก ท่านไม่ใช่นักเทศน์  หลังท่านมรณภาพความรับรู้เรื่องพระพิมลธรรม (อาจ) ก็จะอยู่แค่ในแวดวง มจร คนภายนอกรู้เรื่องเดียวคือคดีพระพิมลธรรม (อาจ) ไม่รู้ว่าท่านมีบทบาทอื่น

“ตอนนี้ มจร พยายามให้สาธารณชนรู้ว่าหลวงพ่อต่อสู้วางรากฐานและบริหารงานคณะสงฆ์ไทยไว้อย่างไร รวบรวมงานของท่านในห้องสมุด เตรียมทำนิทรรศการออนไลน์ออฟไลน์ส่งเสริมให้วิจัยประวัติและงานช่วงที่เป็นเจ้าอาวาสที่อยุธยาจนถึงช่วงที่ถูกขัง พิมพ์หนังสือและตำราที่ท่านแต่ง

“ปรกติพระนิสิตเข้าใหม่จะได้เรียนวิชาว่าด้วยพระมหาเถระ หนึ่งในนั้นคือพระพิมลธรรม (อาจ) วันที่ ๑๘ กรกฎาคม วันบูรพาจารย์ เราก็พูดถึงท่าน วันคล้ายวันมรณภาพ ๘ ธันวาคม ก็มีงานใน มจร แต่ละแห่ง  ปี ๒๕๖๔ ครบ ๑๑๘ ปีชาตกาล มีโรคระบาดก็จัดออนไลน์ สวดมนต์ถวายปาฐกถาเรื่องชีวิตและผลงาน  ตอนนี้ มจร มี ๑๑ วิทยาเขต มีวิทยาลัยสงฆ์ สถาบันสมทบในต่างประเทศ ๗ แห่ง  มจร วังน้อย อยุธยา ยังเกิดขึ้นเนื่องจากลูกศิษย์พระพิมลธรรม (อาจ) คือ นายแพทย์รัศมี กับคุณหญิงสมปอง ถวายที่ดิน ๘๔ ไร่ ก่อนซื้อเพิ่มเป็น ๓๒๕ ไร่ สร้างตึกที่ระลึกถวาย”  
“จะอย่างไรก็ตาม สุดท้าย 
พระพิมลธรรม (อาจ) ก็ยังอยู่
ในโครงสร้างของคณะสงฆ์ไทย”

สุรพศ ทวีศักดิ์
นักวิชาการผู้สนใจศึกษาด้านศาสนา 
Image
“จะอย่างไรก็ตาม สุดท้ายพระพิมลธรรม (อาจ) ก็ยังอยู่ในโครงสร้างของคณะสงฆ์ไทย โครงสร้างนี้ผลิตให้ท่านเป็นกลไกของรัฐในท้ายที่สุด แม้กระทั่งท่านพุทธทาสก็อยู่ในข่ายนี้คือถูกรัฐใช้  ที่ประสบชะตากรรมส่วนหนึ่งเนื่องจากโดนมองว่าเป็นพวกเดียวกับ ปรีดี พนมยงค์ มีสายสัมพันธ์ตั้งแต่
ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดารารามที่อยุธยา พระพิมลธรรม (อาจ) เคยพูดว่าปรีดีนั้นพลิกแผ่นดิน จากกษัตริย์เป็นเจ้าของมาเป็นราษฎรเป็นเจ้าของโดยเท่าเทียมกัน (อภิวัฒน์ ๒๔๗๕) พื้นฐานของพระพิมลธรรม (อาจ) เป็นแบบนี้และเติบโตอย่างรวดเร็วในโครงสร้างคณะสงฆ์ไทยภายใต้ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ที่ว่ากันว่าเป็นประชาธิปไตย  

“วงการพระสงฆ์ไทยไม่มีใครคิดเรื่องรัฐฆราวาส กระทั่งอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็แค่เสนอเปลี่ยนแปลงปรับปรุงแต่ไม่ได้ไปถึงขั้นเสนอเรื่องนี้ คือไม่คัดค้าน แต่ก็ไม่ยืนหยัดเรื่องนี้  ผมอยากชวนให้ทุกคนตั้งคำถามมากขึ้นว่าทำไมเราต้องยกอำนาจสาธารณะเราให้กับองค์กรทางศาสนา แล้วเขาก็ใช้
อำนาจแบบเผด็จการ เช่น มหาเถรสมาคมออกมาห้าม พระเทศน์สนับสนุนประชาธิปไตยไม่ได้ แต่ให้มีหน้าที่อุดหนุนชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยใช้กฎหมายที่เป็นอำนาจของเรา ใช้ภาษีของเราดำเนินการ เอาไปใช้ในทางที่ตรงกันข้าม สวนทางกับประชาธิปไตย อยากให้คนรุ่นใหม่ อยากให้สื่อตั้งคำถามกับประเด็นนี้มากขึ้นแทนที่จะตั้งคำถามว่าพระทำอย่างนั้นผิดวินัยหรือไม่ ผมมองว่านั่นเป็นความเชื่อส่วนบุคคล เป็นเรื่องของชุมชนศาสนา”
“อยากให้จังหวัด
ให้ความสำคัญ
กับงานหลวงปู่”


บุญสา พรมพา
คนบ้านโต้น เจ้าของบริษัทพีพี ออแกไนซ์เซอร์ ๒๐๑๘ จำกัด ผู้ปรับเปลี่ยนรูปแบบงานชาตกาล พระพิมลธรรม (อาจ) 

Image
“ผมช่วยเจ้าอาวาสวัดศรีพิมลจัดงานรำลึกชาตกาลพระพิมลธรรม (อาจ) เต็มตัวครั้งแรกในปี ๒๕๖๒ ตอนนั้นเกิดปัญหาในท้องถิ่น เจ้าอาวาสเลยเรียกผมไปช่วย ท่านว่าไม่มีเงินให้ แต่จะเซ็นจดหมายให้ไปหาสปอนเซอร์มาจัดงาน ผมไปตามองค์กรใหญ่ ๆ เขาไม่รู้จักว่าพระอะไร ไม่เห็นมีชื่อเสียง สุดท้ายโตโยต้ามาร่วมด้วย สนับสนุนการจัดบูท และก็มีธุรกิจในพื้นที่สนับสนุนเราด้วย

“จากเดิมแค่ทำบุญแล้วจบ ผมลองให้มีรำถวาย จัดให้มีขบวนแห่ เป็นครั้งแรกของบ้านโต้น เราทำจุดเช็กอิน จัดไฟจัดงาน ๖ วัน ๖ คืน คนมาเยอะมาก มีร้านค้ามาออกร้านกันเยอะ ผมเชื่อว่านี่คือการปฏิวัติการจัดงานหลวงปู่  หลังปี ๒๕๖๓ ท้องถิ่นจัดเป็นหลัก ผมมีส่วนช่วยแค่บางจุดและงานเทคนิคเท่านั้น ผมอยากให้จังหวัดขอนแก่นให้ความสำคัญกับงานหลวงปู่ น่าน้อยใจตรงที่หน่วยงานรัฐไม่ใส่ใจ งานแต่ละปียังขึ้นกับว่าใครเป็นประธาน บางคนก็แค่มาหาเสียง แต่เราอยากให้งานมีคุณค่ามากกว่านั้น

“ที่สำคัญคืองานนี้จัดชนกับงานจอมพลสฤษดิ์ในจังหวัดขอนแก่น ผู้ว่าฯ ก็คงเลือกไปงานนั้น”
“อย่างน้อยที่สุด 
หลวงพ่ออาสภทวงคืนศักดิ์ศรี
กลับมาได้หมดแล้ว”


เรืองชัย ตราชู
ชาวขอนแก่น (วัย ๗๕ ปี)

Image
“เมื่อก่อนบ้านผมอยู่ใกล้วัดธาตุ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เราเรียกพระพิมลธรรม (อาจ) ว่า ‘หลวงพ่ออาสภ’ ท่านมาที่วัดธาตุบ่อยและมีส่วนช่วยการศึกษาของพระเณร เจ้าอาวาสวัดธาตุก็ลูกศิษย์หลวงพ่อ คนอีสานสมัยนั้นยากจน เล่าเรียนผ่านการบวช  คุณพ่อผมคือนายโบ ไปทำบุญก็ทำให้ผมได้เคยกราบท่าน ต่อมาคุณพ่อถวายที่ดินให้วัดธาตุ เราย้ายมาที่อยู่ปัจจุบัน คุณพ่อผมก็นิมนต์หลวงพ่ออาสภมาฉันเพลและทำบุญหลายครั้ง

“ตอนท่านโดนคดีคอมมิวนิสต์ผมอยู่ในช่วงวัยรุ่น เจ้าอาวาสวัดธาตุบอกว่า ‘หลวงพ่อเฮาถืก (โดน) จับ’ ข้อหาคอมมิวนิสต์ ก็ยังคิดว่าทำไมทำขนาดนี้ ภาษาสมัยนี้คือรู้สึกไม่เป็นธรรม พระเณรวัดธาตุก็รู้สึกแบบเดียวกันหมด

“ผมจำฝังใจเรื่องหลวงพ่ออาสภ พอท่านพ้นคดีเราก็ดีใจ คุณพ่อนี่แทบจะร้องไห้ จะว่าเรื่องกรรม หลวงพ่อท่านก็ไม่ได้ทำผิด ทำไมถึงโชคร้ายแบบนั้น ยุคนั้นข้อหาคอมมิวนิสต์แรงมาก บ้านเราทำกิจการโรงพิมพ์ ผมอ่านงานเอียงซ้ายก็ต้องทิ้งไปหลายเล่ม พอปี ๒๕๑๘ พระเณรชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมให้หลวงพ่ออาสภที่วัดมหาธาตุฯ พระเณรจากวัดธาตุก็ไปร่วมที่กรุงเทพฯ หลายรูป  ภายหลังมีการคืนตำแหน่งและสมณศักดิ์ให้ ผมมองว่าต่างวาระ แต่อย่างน้อยที่สุดหลวงพ่อทวงคืนศักดิ์ศรีกลับมาได้หมดแล้ว จากนั้นก็เรื่องกรรมของแต่ละคน ผมมองว่าหลวงพ่อทำถูกที่ไม่เอาความและไม่ผูกเวรกรรมต่อ ท่านเป็นคนแบบนั้น

“ผมประเมินว่าปัจจุบันคนขอนแก่นรู้จักทั้งหลวงพ่ออาสภและจอมพลสฤษดิ์น้อย การศึกษาประวัติศาสตร์บ้านเราควรเรียนทุกมุม เรื่องจอมพลสฤษดิ์ก็เก็บไว้ เรื่องของหลวงพ่ออาสภก็เก็บไว้ ส่วนไหนดีก็ว่าดี ไม่ดีก็ว่าไม่ดี มันจึงจะเดินไปข้างหน้าได้ เรียนแล้วจะทุบรูปปั้นจอมพลทิ้งก็ไม่แปลก ถ้าคนรุ่นใหม่เขาจะคิดแบบนั้น แต่ผมมองว่าเรื่องหลวงพ่ออาสภควรถูกยกขึ้นมาอีกระดับหนึ่งในแง่ของการรับรู้ ไม่ใช่เงียบ ๆ เหมือนกับที่เป็นอยู่ในตอนนี้”
“ความเชื่อว่าสิ่งที่เกิด
กับหลวงพ่อคือกรรมเก่า 
จะใช้ไม่ได้อีก”


นิพนธ์ ขันแก้ว
ศิลปินชาวขอนแก่น
ผู้จัดนิทรรศการศิลปะ “ยาพ่ออาจ”

Image
“หลวงพ่ออาจหรือ ‘ยาพ่ออาจ’ ถูกกระทำจากรัฐ โดนจำคุกเกือบ ๕ ปี ทำให้คนอีสานเกิดความเจ็บแค้น โดยเฉพาะคนขอนแก่น ผมมาศึกษาก็อนาถใจไม่อาจยอมรับได้ ที่รื้อฟื้นเรื่องนี้ เพราะส่วนหนึ่งคล้ายชีวิตตัวเองที่เคยโดนกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ยุคสงครามเย็นและผมก็คนอีสาน จึงอยากเล่าเรื่องของท่านที่สู้ผ่านระบบพระสงฆ์ อยากให้เรื่องของท่านขยายต่อไปยังคนกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคอีสานตระหนักถึงความสำคัญของท่านที่มีกับขอนแก่น

“คนที่มาดูนิทรรศการส่วนมากเป็นคนรุ่นใหม่ ศิลปิน นักศึกษา คนเหล่านี้เข้าใจเรื่องหลวงพ่ออาจมากขึ้นและตั้งคำถามมากขึ้น  จำได้ว่ามีเณรสองรูปจากวัดธาตุ อำเภอเมืองขอนแก่น มาดู ยังเล่าว่าตอนเขาประท้วงขอสมณศักดิ์คืนให้หลวงพ่อก็ไป และพระที่วัดก็รู้เรื่องนี้  ดีที่เรื่องนี้เป็นที่รับรู้มากขึ้น แต่สำหรับคนขอนแก่นทั่วไปยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

“ผมมองว่าการวางพวงมาลาอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ในขอนแก่น คือความพยายามแสดงอำนาจของรัฐผ่านกลไกจังหวัด  เจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องทำเพื่อเอาตัวรอดไปตามระบบ แต่งานวางพวงมาลาจะไม่ใหญ่ไปกว่านี้  ลานตรงอนุสาวรีย์
จอมพลสฤษดิ์ก็แทบจะไม่มีใครไปใช้งาน กลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนบางคน  แต่ที่บ้านโต้น ผมเชื่อว่างานรำลึกชาตกาลหลวงพ่ออาจจะยกระดับได้ เราไม่จำเป็นต้องโค่นอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ แต่มันจะเสื่อมไปด้วยตัวมันเอง เพราะเมื่อคนรับรู้ความจริง ความยุติธรรมก็จะเกิดขึ้น

“ความเชื่อว่าสิ่งที่เกิดกับหลวงพ่ออาจคือกรรมเก่า คำอธิบายนี้จะใช้ไม่ได้อีก ผมเชื่อว่างานศิลปะจะทำหน้าที่นี้ได้”  
อ่านต่อ
"พระกบฏ" ในอดีต